www.touronthai.com

หน้าหลัก >> น่าน >> วัดภูมินทร์

วัดภูมินทร์

 เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อตำบลในเวียงในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ.2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ"วัดพรหมมินทร์"แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์     จุดเด่นของวัดนี้คือเป็นวัดที่สร้างทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ได้จำลองพระวิหารหลังนี้ไว้ด้วย     สามร้อยปีต่อมา วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ "ฮูบแต้ม" ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนาแต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพเช่น ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่ จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ "อยู่ข่วง" หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า "เอาคำ ไปป่องกั๋น" หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน     การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา "เป๊อะ" ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ๆคล้ายภาพสมัยใหม่     ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกชานมีเรือนเล็กๆตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า "ร้านน้ำ" ส่วนชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน ภาพชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานแพร่ (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2017-04-27 15:52:17 ผู้ชม 17647

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


ด้านหน้าวัดภูมินทร์

ด้านหน้าวัดภูมินทร์ วัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองน่าน เรียกได้ว่าเป็นวัดที่ทุกคนที่มาเที่ยวน่านควรจะได้มาชม และไหว้พระทำบุญที่นี่ เป็นลำดับต้นๆ กว่าวัดไหนๆ เพราะโบสถ์หลังนี้เป็นโบสถ์ที่เคยปรากฏเป็นภาพบนธนบัตรของประเทศไทยในอดีต ด้านตรงข้ามด้านหนึ่งของวัดเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจังหวัดน่าน เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการนั่งรถนำเที่ยวรอบเมืองน่าน (คนละ 30 บาท) ด้านตรงข้ามอีกด้านหนึ่งของสี่แยกใกล้วัดภูมินทร์เป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของสถานที่สำคัญๆ ของจังหวัดอยู่ใกล้กันหมด นอกเหนือจากนั้นยังมีภาพจิตรกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลก คือปู่ม่าน ย่าม่าน ในภาพที่เรียกกันว่า กระซิบรักบันลือโลก อีกด้วย บรรยายสรรพคุณกันขนาดนี้แล้ว เราเข้าไปดูด้านในกันต่อดีกว่า

สภาพทั่วไปของวัดภูมินทร์มีข่วงอยู่หน้าวัด (ข่วง แปลว่าลานกว้าง ซึ่งใช้เป็นที่สาธารณะ) จากถนนสุริยพงษ์ ซึ่งเป็นทางแยกตัดถนนผากอง มองเข้าไปจะเป็นพื้นที่โล่งกว้าง มองเห็นอุโบสถวัดภูมินทร์เด่นตระหง่านอยู่ไกลๆ รอบๆ วัดภูมินทร์จะเห็นรถมาจอดเรียงกันมากมายทั้ง 2 ฟากของถนน เพราะหลายคนเลือกที่จะใช้บริการรถนำเที่ยวของ ททท. น่าน ในการนั่งชมเมืองและสถานที่สำคัญๆ ของเมืองน่านได้แบบทั่วๆ โดยไม่ต้องกางแผนที่ กำแพงวัดภูมินทร์เป็นกำแพงก่อด้วยอิฐแบ่งแยกระหว่างพื้นที่ข่วง กับพื้นที่ของวัด มีช่องประตูตรงกลาง ประดับด้วยรูปปั้นสิงห์คู่เด่นสง่าอยู่เหนือเสากำแพง ช่องประตูกว้างพอที่จะมองเห็นด้านหน้าของโบสถ์ได้ชัดเจนเลยทีเดียว การที่จะมาถ่ายรูปด้านหน้าโบสถ์หลังนี้ต้องมาตอนเช้า ส่วนด้านหลังที่เห็นเป็นหางพญานาคให้มาตอนบ่าย เพื่อที่จะได้ท้องฟ้าสีฟ้าเข้ม พอสายหน่อยแสงจะเริ่มเข้าหน้าเลนส์ทำให้โบสถ์ดูมืดๆ

วัดภูมินทร์

ผ่านประตูสิงห์คู่เข้ามาแล้วก็เก็บภาพอีกสักหน่อย ความประทับใจเมื่อแรกเห็นวัดภูมินทร์คงทำให้หลายๆ คนกดชัตเตอร์เก็บภาพไปไม่น้อยกว่า 10 ภาพ อุโบสถและพระวิหารที่สร้างในหลังเดียวกันด้วยทรงจตุรมุขหลังนี้ กรมศิลปกรได้สันนิษฐานว่าเป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทย

โบสถ์ด้านหน้าส่วนหัวพญานาค

โบสถ์ด้านหน้าส่วนหัวพญานาค อย่างที่รู้กันว่า อุโบสถและพระวิหารรวมทั้งพระเจดีย์ประธานของวัดภูมินทร์รวมอยู่ในอาคารหลังเดียวกัน ทำให้บริเวณวัดดูโล่งๆ เพราะมีเสนาสนะน้อย ความพิเศษพิสดารกว่าวัดอื่นๆ ก็คือการสร้างพญานาคส่วนหัวอยู่ด้านหน้าโบสถ์ ส่วนหางอยู่ด้านหลังโบสถ์ มองด้านข้างเหมือนกับโบสถ์ถูกสร้างขึ้นบนหลังของพญานาค 2 ตัว น่าเสียดายที่พื้นที่ด้านข้างมีไม่มากพอที่จะเก็บภาพโบสถ์ทั้งหลังที่มองเห็นตั้งแต่หัวจรดหางของพญานาคได้ ลักษณะการสร้างแบบจตุรมุขเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน มีประตูเข้า-ออกเปิดได้ทั้งหมด แต่ที่นิยมเดินเข้ากันมากก็คือประตูหน้ากับประตูหลัง บันไดด้านข้างของโบสถ์หลังนี้ใช้สิงห์คู่อยู่ตรงราวบันได

หน้าบันและซุ้มประตู

หน้าบันและซุ้มประตู ลวดลายที่สวยงามของหน้าบันและซุ้มประตูที่สร้างเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน

วัดพระธาตุช้างค้ำ

วัดพระธาตุช้างค้ำ คือสิ่งที่เราจะมองเห็นได้เมื่อยืนอยู่ตรงหน้าประตูด้านหน้าของโบสถ์วัดภูมินทร์ พร้อมทั้งหัวของพญานาคทั้งสองที่อยู่ตรงราวบันไดที่เราเพิ่งจะเดินเข้ามา

พระประธานวัดภูมินทร์

พระประธานวัดภูมินทร์ สิ่งที่น่าสนใจอันดับสองหลังจากที่ชมอุโบสถและพระวิหารหลังเดียวกันเทินบนหลังพญานาคไปแล้ว คราวนี้ก็ต้องเป็นองค์พระปฏิมาประธานในอุโบสถ พระพุทธมหาพรหมอุดมสักยมุนี คำว่ามหาพรหม ในพระนามของพระประธาน น่าจะมาจากพระพรหมที่มี 4 หน้า เพราะพระประธานที่วัดภูมินทร์นั้นมี 4 องค์ ประดิษฐานบนฐานชุกชีเดียวกัน ผินพระปฤษฎางค์ (หลัง) เข้าหากันหรือหันหลังชนกัน ผินพระพักตร์ออกไปยังสี่ทิศ ตรงกับช่องประตูของพระอูโบสถและพระวิหาร ทรงจตุรมุขทั้งสี่ด้าน ด้วยภูมิปัญญาของช่างผู้สร้างที่ต้องการให้ประชาชนเดินขึ้นบันไดมาได้พบพระพักตร์ของพระพุทธรูปเหมือนกันทุกด้าน เมื่อสร้างพระอุโบสถและพระวิหารอยู่ในหลังเดียวกันแล้ว ก็มีการแบ่งส่วนที่เป็นพระวิหาร และพระอุโบสถโดยถือว่า อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ ภาพนี้เป็นพระพุทธรูปที่ผินพระพักตร์ไปด้านทิศตะวันออก คือประตูหน้าของอุโบสถ

พระพุทธมหาพรหมอุดมสักยมุนี

พระพุทธมหาพรหมอุดมสักยมุนี ภาพจากอีกมุมหนึ่งที่ใครหลายๆ คนคงจะได้ถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกก็คือมุมทแยงระหว่างองค์พระพุทธรูป 2 องค์เพื่อให้เห็นว่ามีพระพุทธรูปหันหลังชนกันอยู่ 4 ทิศ ด้านหน้าขององค์พระพุทธรูปที่ผินพระพักตร์ไปทางทิศใต้มีปราสาทบุษบกเก่าแก่ที่สวยงามตั้งอยู่ด้วย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ ผนังด้านในของอุโบสถทั้ง 4 ด้าน มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สำคัญของจังหวัดน่านและของประเทศไทย ภาพจิตรกรรมเก่าแก่ที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ค่อนข้างมากของวัดภูมินทร์เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อม นานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็น ชาดกในพุทธศาสนาแต่ถ้าพิจารณารายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น มีภาพที่น่าสนใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพเด่น ของ ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน ซึ่งเป็นคำเรียกผู้ชายผู้หญิงชาวไทลื้อในสมัยโบราณกระซิบสนทนากัน ผู้ชายสักหมึก ผู้หญิง แต่งกายไตลื้ออย่างเต็มยศ ภาพวาดของหนุ่มสาวคู่นี้มีความประณีตมาก ภาพนี้ได้รับการ ยกย่องว่าเป็นภาพที่งามเป็นเยี่ยมของวัดภูมินทร์ ภาพปู่ม่าน ย่าม่าน นั้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ด้านทิศเหนือของอุโบสถ ผมเลยถ่ายภาพผนังมาทั้งผืน ปู่ม่าน ย่าม่านกระซิบรักนั้นอยู่ข้างบานประตูด้านซ้ายมือของเรา

เนื่องจากภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นของเก่าแก่ โบราณทรงคุณค่าและจะหาที่ไหนทดแทนไม่ได้แล้ว เราควรจะรู้อย่างหนึ่งว่า การอนุรักษ์ สิ่งเหล่านี้เอาไว้เป็นเรื่องยากมาก เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังมักจะเลือนลางลงไปตามกาลเวลา เราช่วยกันรักษาภาพอันประเมินค่ามิได้นี้ได้ง่ายด้วยการไม่จับต้องภาพเขียน

กระซิบรักบันลือโลก

กระซิบรักบันลือโลก ภาพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานจิตรกรรมที่ยอดเยี่ยมของเมืองน่าน มีการใช้สีแดง ฟ้าดำ น้ำตาลเข้มเป็นปื้นใหญ่ๆ คล้ายภาพสมัยใหม่ ของหนุ่มสาวไตลื้อกำลังกระซิบบอกรัก นอกเหนือจากผลงานภาพปู่ม่านย่าม่าน แล้วยังมีภาพอีกมากมายหลายภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวน่านในยุคสมัยนั้น ผมขอเอาภาพอีกส่วนหนึ่งมาแสดงในแกลเลอรีภาพย่อเล็กด้านล่างของหน้านี้ เพื่อไม่ให้หน้าเว็บโหลดมากเกินไป สนใจชมรูปไหนก็คลิกให้ขยายขึ้นมาได้นะครับ

วัดภูมินทร์

หลังจากไหว้พระทำบุญเก็บภาพด้านในของพระอุโบสถแล้ว ตอนนี้มาเดินเก็บภาพภายนอกเพิ่มเติมเพื่อให้ทั่วหลายๆ มุมสำหรับให้ชมให้ศึกษาหาความรู้กันครับ เริ่มจากมุมด้านหน้าของอุโบสถที่เน้นจะให้เห็นอุโบสถทั้งหลังกับส่วนหัวของพญานาค ทั้งหมดอยู่บนฐานที่ยกสูงขึ้นจากพื้น ฐานของใบเสมาก็จะเห็นอยู่เล็กๆ บนฐานรอบๆ อุโบสถ

ด้านหลังส่วนหางพญานาค

ด้านหลังส่วนหางพญานาค เห็นมั้ยละครับว่า เป็นโบสถ์หลังเดียวในประเทศไทยจริงๆ ที่สร้างไว้กลางลำตัวของพญานาค บันไดด้านหน้าและหลังของโบสถ์ใช้ส่วนหัวและส่วนหางของพญานาคเป็นราวบันได แต่ไม่ว่าจะมองจากด้านไหนผนัง ซุ้มประตูไปจนถึงหน้าบันมีลักษณะเหมือนกันหมดทุกด้าน

เสาโคมไฟเรือยาว

เสาโคมไฟเรือยาว เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดน่านก็คือเรือยาว ซึ่งได้รับคัดเลือกมาเป็นยอดเสาสำหรับโคมไฟส่องสว่างในเมืองน่าน เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ที่จะใช้สัญลักษณ์ของตัวเองในการทำเป็นยอกเสา

นรกภูมิ

นรกภูมิ อาคารที่มีลักษณะเหมือนโดมทรงกลม อยู่เยื้องด้านหน้าขวามือของเราเวลาหันเข้าหาโบสถ์ ภายในเป็นรูปปั้นจำลองนรกหรืออบายภูมิเพื่อเตือนสติเราว่าอย่าได้กระทำความชั่ว

พิพิธภัณฑ์วัดภูมินทร์

พิพิธภัณฑ์วัดภูมินทร์ ท้ายสุดที่จะแนะนำในวัดภูมินทร์สำหรับวันนี้ก็คืออาคารหลังเล็กๆ ที่อยู่ด้านหลังของโบสถ์ ส่วนหนึ่งของอาคารเป็นที่บูชาดอกไม้ธูปเทียน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับถวายสังฆทาน มีพระนั่งรออยู่ ส่วนหนึ่งเป็นอาคารสำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุของวัดภูมินทร์ มีอยู่มากมายหลายอย่าง ไหว้พระเสร็จแล้วอย่าลืมแวะเข้าไปชม

รีวิว วัดภูมินทร์ น่าน


 ""


2019-11-07 11:35:00

วัดภูมินทร์ น่าน


 ""

ปิยหทัย บุ๋มบิ๋ม
2018-11-04 14:59:55


0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดภูมินทร์ น่าน
โรงแรมน่านนครา บูทิก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูมินทร์เพลซ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านฮิมวัด โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
พีเอ็กซ์122 ดีเบสต์ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
Diamondhomestay Nan เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
คุ้มเมืองมินทร์ บูติค โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
Mintara Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเวียงภูมินทร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
IG's house Him Na homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนม่วนใจ บูทิค เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.52 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com