www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ลพบุรี >> วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟ สร้างในสมัยใดไม่ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์สืบมาหลายยุคหลายสมัย ศิลปกรรมที่ปรากฏจึงมีความแตกต่างกันมากเมื่อเข้าไปในวัด จะพบศาลาเปลื้องเครื่องเป็นอันดับแรก

ศาลาเปลื้องเครื่อง นี้ใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เปลี่ยนเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทาง ศาสนา ในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ถัดจากศาลาเปลื้องเครื่อง เป็นวิหารหลวง สร้าง ในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถ ขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นศิลปะแบบฝรั่งเศสทั้งหมด ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวง เป็น พระปรางค์ประธาน องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูนเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธ รูปและพุทธประวัติ อายุประมาณ พ.ศ.1800 ต่อมาได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลวดลายจึงมี ปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้ เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้จำนวนมาก ที่มีชื่อเสียง คือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง

เวลาเปิด-ปิด: วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เปิดให้เข้าชม ระหว่างเวลา 07.00 - 17.00 น. เว้นวันจันทร์ - อังคาร

อัตราเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมเพื่อเข้าชมโบราณสถานอื่น ได้แก่ โบราณสถานบ้านวิชาเยนทร์

 โบราณสถานปรางค์สามยอด โบราณสถานพระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) โบราณสถานวัดพระศรีมหาธาตุ ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.ลพบุรี 036-770096-7
http://www.tourismthailand.org/lopburi

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 27289

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
แผนผังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

แผนผังวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ก่อนที่จะพาไปเดินชมบริเวณต่างๆ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ขอให้ดูแผนผังของวัดจาก Google Earth กันก่อนจะได้อธิบายกันถูก ด้านบนของรูปนี้เป็นด้านทิศเหนือ จุดกลมๆ ตรงกลางพื้นที่สี่เหลี่ยมคือปรางค์ประธาน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใหญ่ๆ ใกล้ปรางค์ประธานคือวิหารหลวง อาคารรูปสี่เหลี่ยมใกล้ๆ วิหารหลวงด้านทิศใต้คือพระอุโบสถ ด้านทิศเหนือเป็นศาลาเปลื้องเครื่อง อาคารสีขาวๆ ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์กว่าอาคารอื่นๆ คือวิหารซึ่งมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ภายใน ปิดล๊อคกุญแจไว้ไม่ได้เปิดให้ชม จุดกลมๆ เล็กๆ รอบๆ พื้นที่ของวัดคือเจดีย์รายและยังมีอาคารน้อยใหญ่อีกหลายอาคารที่ยังเหลือร่องรอยให้เห็นอยู่บ้าง กรอบสี่เหลี่ยมรอบๆ ปรางค์ประธาน วิหารหลวง คือวิหารคด ที่เหลือเป็นเส้นจางๆ เมื่อมองจากภาพดาวเทียม

วิหารพระพุทธไสยาสน์

วิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นอาคารหลังแรกที่ได้เห็นหากเดินเข้ามาจากทิศเหนือของวัด ถ้าเข้าทางสถานีรถไฟลพบุรีจะเป็นประตูด้านตะวันออก เข้ามาจะเห็นวิหารหลวงเด่นกว่าอาคารอื่นๆ ก่อนที่จะเดินเข้ามายังวิหารหลวงจากทิศเหนือจะผ่านเจดีย์รายก่อนแต่เพื่อความเหมาะสมจะเริ่มจากวิหารหลังนี้แล้วไปยังวิหารหลวงก่อนสถานที่อื่นๆ วิหารหลังนี้จากข้อมูลไม่มีประวัติการสร้าง แต่เป็นอาคารเพียงแห่งเดียวที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุดแต่ปิดล็อคกุญแจไว้

ช่องหน้าต่างด้านข้างวิหารหลวง

ช่องหน้าต่างด้านข้างวิหารหลวง ช่องประตูและหน้าต่างของวิหารหลวงเป็นศิลปะผสมผสานไทยและแบบโกธิคของฝรั่งเศสโดยประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิคของฝรั่งเศสแสดงว่าสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ปัจจุบันมีการเอาบันไดไม้มาวางให้เดินเข้าออกทางหน้าต่างได้เนื่องมาจากวิหารหลวงเป็นวิหารขนาดใหญ่มากหากให้เดินเข้าออกทางช่องประตูอย่างเดียวจะไม่สะดวก

ฐานชุกชีและพระพุทธรูปในวิหารหลวง

ฐานชุกชีและพระพุทธรูปในวิหารหลวง สิ่งที่ยังเหลืออยู่ในวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุก็คือส่วนผนังทั้งสี่ด้านที่สูงมากๆ ฐานชุกชีที่สร้างไว้ไม่สูงมากนัก และพระพุทธรูปที่ชำรุดเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนหลายองค์ ด้านหลังองค์พระพุทธรูปมีช่องหน้าต่างพอมองเห็นปรางค์ประธานได้ ส่วนยอดของปรางค์ประธานสูงกว่าผนังที่เหลืออยู่ของวิหารหลวง

ด้านหน้าวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ด้านหน้าวิหารหลวงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ช่องประตูด้านหน้าที่เป็นแบบเหลี่ยม ศิลปะการก่อสร้างแบบไทย ช่องประตูช่องกลางยังพอมีเหลือร่องรอยงานปูนปั้นเหนือช่องประตู ประตูวิหารหลวงหันไปด้านทิศตะวันออก ช่องหน้าต่างทิศเหนือและทิศใต้มองเห็นบริเวณของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้โดยรอบ

ช่องประตูอุโบสถ

ช่องประตูอุโบสถ หากหันหน้าเข้าหาวิหารหลวง อาคารด้านซ้ายคืออุโบสถ เป็นอุโบสถขนาดย่อม ประตูอุโบสถหันไปทางทิศเหนือ ช่องประตูและหน้าต่างเป็นศิลปะแบบโกธิคของฝรั่งเศสทั้งหมดภายในคงเหลือเพียงฐานชุกชี

ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ที่สูงที่สุดในลพบุรี สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ ที่ลายปูนปั้นหน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนา นิกายมหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้นที่ถือว่างามมาก เดิมคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจ แต่ได้รับการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และ สมเด็จพระนารายณ์ ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน พระร่วง ซึ่งมีการขุดพบเป็นจำนวนมาก ซุ้มโคปุระหรือซุ้มประตูด้านหน้ารวมทั้งส่วนหลังคาได้ชำรุดหายไปหมด แต่ด้านข้างและส่วนของปรางค์ยังสมบูรณ์อยู่

ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

ปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระปรางค์ซึ่งพระปรางค์เป็นพระปรางค์องค์เดียวโดด ๆ ไม่ใช่เรียงกันสามองค์เช่น พระปรางค์สามยอดแต่เชื่อว่าสร้างในรุ่นเดียวกัน คือ ระหว่าง พ.ศ.๑๕๐๐ - ๑๘๐๐ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและได้ชื่อว่ามีลวดลายปูนปั้นงามเป็นเลิศ แต่น่าเสียดายในการบูรณะทำให้เสียหายไปไม่ใช่น้อยแต่ยังพอหลงเหลือให้ชมความงามคือทางซ้ายหรือทางใต้ของพระปรางค์

หน้าบันปรางค์ประธาน

หน้าบันปรางค์ประธาน ที่หน้าบันจะเห็นภาพพระอมิตาประทับบนดอกบัวมีก้านในสวรรค์สุขาวดี ตามคติพุทธมหายาน ลายปูนปั้นที่หน้ากระดานแถวบนสุด เป็นลายกระหนกที่รับอิทธิพลขอมศิลปะสมัยละโว้ ลายปูนปั้น มกรคายนาคหน้าบันซุ้มโคปุระ หรือซุ้มหน้าของปรางค์ประธาน เป็นศิลปะละโว้ กับอโยธยา

ภายในปรางค์ประธาน

ภายในปรางค์ประธาน ด้านหน้าที่พอจะเข้ามาชมได้จะเห็นว่าส่วนของหลังคาได้ชำรุดหายไปหมดแต่ยังมีร่องรอยลักษณะการก่อสร้างที่เป็นทรงแหลมขึ้นไปให้เห็น ในองค์ปรางค์ประธานมีลูกกรงปิดล็อคกุญแจไว้แต่พอที่จะมองเห็นภายในได้บ้าง

เจดีย์รายชิดกำแพงด้านทิศเหนือ

เจดีย์รายชิดกำแพงด้านทิศเหนือ เจดีย์รายอยู่รอบพระปรางค์ใกล้ชิดกำแพงวัด หลายองค์ยังมีภาพลวดลายปูนปั้นที่งดงามอยู่ เริ่มจากเจดีย์ด้านทิศเหนือของปรางค์ประธานจุดเด่นคือมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืน

ส่วนยอดเจดีย์รายด้านทิศเหนือของปรางค์ประธาน

ส่วนยอดเจดีย์รายด้านทิศเหนือของปรางค์ประธาน ลักษณะศิลปะการก่อสร้างที่เป็นกลีบมะเฟือง ตรงส่วนยอดมีปูนปั้นเป็นรูปเทพพนมหันออกรอบทิศ ซุ้มเรือนแก้วทรงจตุรมุขที่มีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนอยู่นั้นยังคงมีลวดลายที่ค่อนข้างสมบูรณ์

เจดีย์รายองค์ที่สองด้านทิศเหนือ

เจดีย์รายองค์ที่สองด้านทิศเหนือ จากเจดีย์รายองค์แรกเดินไปด้านทิศตะวันตกห่างกันไม่มากนักลักษณะการสร้างเป็นฐานสี่เหลี่ยมแล้วค่อยเป็นทรงกลมส่วนยอด

ลวดลายงานปูนปั้นเจดีย์รายองค์ที่สอง

ลวดลายงานปูนปั้นเจดีย์รายองค์ที่สอง ส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็นชัดเจนแต่ก็ไม่สมบูรณ์นัก

เจดีย์รายองค์ที่สาม

เจดีย์รายองค์ที่สาม อยู่มุมของกำแพงวัดด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะการก่อสร้างคล้ายกับองค์แรกแต่ก็ยังมีส่วนต่างกันอยู่หลายแห่ง แสดงให้เห็นความหลากหลายของศิลปะการก่อสร้างภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เจดีย์รายองค์นี้มีจุดเด่นอยู่ที่มุมกลีบมะเฟืองซึ่งมีปูนปั้นเทพพนมที่กลีบมะเฟืองทุกมุมและยังคงสมบูรณ์อยู่มาก

ส่วนยอดเจดีย์รายองค์ที่สาม

ส่วนยอดเจดีย์รายองค์ที่สาม ที่มุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้นเป็นรูปเทพพนมหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาดูได้ยากในเมืองไทย

บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุด้านทิศใต้

บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุด้านทิศใต้ กลับมาที่ปรางค์ประธานอีกครั้งคราวนี้ไปดูด้านทิศใต้ของปรางค์ประธาน จะเห็นว่าบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ค่อนข้างกว้างขวาง แม้ว่าจะหลงเหลืออยู่เฉพาะเขตพุทธาวาส เท่านั้น (เขตสังฆวาสโดนบุกรุกหายไปเกือบทั้งหมด) ก็ยังมีพื้นที่ถึงประมาณ 20 ไร่ หากสังเกตุให้ดีจะเห็นเส้นแนววิหารคดหรือระเบียงคดโดยรอบทั้งสี่ด้าน เป็นเส้นตรง 2 เส้นขนานกัน ด้านนอกของวิหารคดจะมีเจดีย์รายชิดกับกำแพงวัด

วิหารคดหรือระเบียงคด

วิหารคดหรือระเบียงคด เป็นทางเดินรอบๆ บริเวณวัดชั้นในภายในจะมีอาคารสำคัญต่างๆ ของวัด โดยทั่วไปจะเห็นวิหารคดหรือระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถของวัดเป็นต้น แต่อาจจะสร้างเพียงรอบอุโบสถ หรืออาจจะสร้างรอบสิ่งอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นปรางค์ประธาน เมื่อมองจากแผนผังจะเห็นว่าวิหารคดของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุสร้างล้อมรอบอาคารสิ่งปลูกสร้างหลายแห่ง เป็นบริเวณกว้าง ภาพนี้เป็นวิหารคดด้านทิศตะวันตกมองจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่หลังปรางค์ประธาน

ปรางค์และเจดีย์ภายในวิหารคด

ปรางค์และเจดีย์ภายในวิหารคด ด้านทิศใต้ของปรางค์ประธานเป็นด้านที่มีการก่อสร้างเจดีย์และปรางค์รูปทรงต่างๆ ไว้หลายแห่ง มีหลายขนาดแตกต่างกันไปปรางค์บางองค์มีลักษณะคล้ายกับปรางค์ประธาน

เจดีย์รายด้านทิศใต้

เจดีย์รายด้านทิศใต้ เป็นส่วนที่อยู่นอกวิหารคดด้านทิศใต้ ยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่มากหากเทียบกับอาคารอื่นๆ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลักษณะการก่อสร้างเจดีย์ทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุจึงเป็นสถานที่ที่น่าศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับศิลปะการก่อสร้างในอดีตได้หลากหลาย

เจดีย์รายทิศตะวันตกเฉียงใต้

เจดีย์รายทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเจดีย์ที่อยู่มุมหนึ่งของวัดนอกวิหารคด องค์นี้เป็นองค์ที่มีศิลปะการก่อสร้างแตกต่างจากองค์อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่รูปทรงภายนอกและลวดลายต่างๆ แต่ก็นับว่าคล้ายกันกับเจดีย์รายองค์ที่สองชิดกำแพงด้านทิศเหนือของวัด ลวดลายพระพุทธรูปปูนปั้นปางขัดสมาธิรอบองค์เจดีย์ ลวดลายเหนือขึ้นไปยังสมบูรณ์อยู่มาก อาจจะมีอายุในการก่อสร้างน้อยกว่าเจดีย์องค์อื่นๆ ของวัดก็เป็นได้

*ข้อมูลบางส่วนจาก http://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ_ลพบุรี เรียบเรียงใหม่โดยทัวร์ออนไทยดอทคอม

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี
Noom Guesthouse เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้าน 4 ห้องนอน 5 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 70 ตร.ม. – บ้านดู่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเดี่ยว 3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 110 ตร.ม. – ใจกลางเมืองลพบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ลิตเติ้ล ลพบุรี วิลเลจ
  1.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
วินด์เซอร์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ท่ากระยาง บราส อาร์ติซาน สเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
Thakrayang Brass Artisan Stay Guesthouse เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
Pannara Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
ราวันด้ารีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
kaewhouse - Home stay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.95 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com