www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ชัยนาท >> วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

 วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ที่บ้านท้ายเมือง ตำบลชัยนาท เป็นพระอารามหลวงชั้นโท เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ภายในวัดนี้มีเจดีย์พระบรมธาตุรูปแบบสถาปัตยกรรมอู่ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในจังหวัดชัยนาท และจังหวัดใกล้เคียง มีงานเทศกาลสมโภชพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี

สิ่งสำคัญในวัดพระบรมธาตุคือ

เจดีย์พระบรมธาตุองค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เจดีย์เป็นทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งต่อมุมขึ้นไปรองรับ ใต้องค์ระฆังมีซุ้มจระนำเล็กๆทั้ง 4 ด้าน ภายในประดิษฐาน พระปรางค์นาคปรกทั้ง 4 ทิศ หน้าบันของซุ้มจระนำมีสองชั้นซ้อนกัน มีปูนปั้นประดับเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานบัวหงาย 4 กลับอยู่ตรงกลาง หน้าตักกว้าง 23 เซนติเมตร สูงจากฐานจรดพระเศียร 31 เซนติเมตร ทรงจีวรแบบห่มตอง หรือห่มเฉียง ผ้าสังฆาฏิพาดลงมาเกือบถึงฝ่าพระบาท
 ลักษณะของพระเศียรและพระพักต์มีเค้าของศิลปะลพบุหรือหรืออู่ทองรุ่นแรก ระหว่างซุ่มจระนำนี้มีผนังทำเป็นมุมเหลี่ยม ขึ้นไปรองรับองค์ระฆัง และเหนือมุมระหว่างหน้าบันของซุ้มจระนำยังทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอีกหลายองค์เรียงรายอยู่โดยรอบ จากนั้นถึงองค์ระฆังทรงกลมรองรับ ปลีย่อส่วนบนสุดมีลักษณะเป็นโลกประดับ ทำนองเป็นฉัตรประดับอีกต่อหนึ่ง จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอู่ทอง(อยุธยาตอนต้น)ที่นิยมใช้เจดีย์เล็กๆประดับ

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด สันนิฐานว่าเดิมคงสร้างขึ้นพร้อมเจดีย์พระบรมธาตุ แต่มีร่องการการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในระยะหลัง ปัจจุบันพระวิหารดังกล่าวเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 24 เมตร

พระอุโบสถ อยู่ทางด้านใต้ติดกับพระวิหาร เชื่อว่าสร้างกับพระวิหาร มีร่องรอยการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 24 เมตร มีพระประธานภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปแบบสรรคบุรี ลงรักปิดทองขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ลักษณะเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรีโดยเฉพาะ รอบนอกพระอุโบสถมีใยเสมาสลักด้วยหินทราย เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยาปรากฏอยู่

แผ่นศิลาจารึก สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งมีข้อความกล่าวงถึงการฉลองการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ ปัจจุบันแผ่นศิลาจารึกนี้ ประดิษฐานอยู่ที่ฝาผนังวิหารด้านหลังติดกับองค์พระธาตุ

การเดินทางอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยนาทประมาณ 4 กิโลเมตร จากอำเภอเมืองใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 340 จนถึงสี่แยกตัดกับเส้นทางหลวงหมายเลข 3183 เลี้ยวซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตร หรือรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ – วัดสิงห์

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.ลพบุรี 036-770096-7
http://www.tourismthailand.org/lopburi

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 14805

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเข้าวัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ทางเข้าวัดพระบรมธาตุวรวิหาร จากตัวเมืองชัยนาทใช้ทางหลวงหมายเลข 340 (สุพรรณบุรี) มุ่งหน้าลงมาทางทิศใต้ ข้ามแม่น้ำเพียงไม่นานจะมีทางแยก ทางหลวงหมายเลข 3183 ให้เลี้ยวซ้าย เป็นทางไปวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ถึงหน้าวัดมีป้ายวัดสวยงามแบบนี้ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ตรงทางแยกเข้าวัด จากถนนมีเส้นทางสายเล็กๆ ไปยังซุ้มประตูวัดอีกที

ซุ้มประตูวัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ซุ้มประตูวัดพระบรมธาตุวรวิหาร

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ เมื่อเข้าซุ้มประตูวัดมา จะมีกุฏิอยู่ซ้ายมือ เปิดเป็นสถานที่สำหรับจองวัตถุมงคลของวัดพระบรมธาตุ ส่วนด้านขวามือมีพื้นที่ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่พอจะมีพื้นที่สำหรับจอดรถ จากนั้นเดินตรงเข้าไปตามทางจะเห็นอุโบสถสีขาวล้วน มองจากภายนอกไม่ค่อยมีการตกแต่งมากนัก ที่สะดุดตากว่าที่เคยเห็นวัดอื่นๆ ก็คือตำแหน่งของเสมาของพระอุโบสถ ที่ตั้งอยู่บนฐานชั้นบนสร้างมีลักษณะคล้ายขอบระเบียงยกสูงจากพื้นโบสถ์ วัดพระบรมธาตุวรวิหารปกติไม่ได้เปิดให้นมัสการพระประธานในพระอุโบสถ เพราะปูชนียสถานที่สำคัญของวัดที่ชาวบ้านเดินทางมากราบไหว้คือพระวิหารและพระธาตุ

ศิลปะหน้าบันแบบเรียบง่าย

ศิลปะหน้าบันแบบเรียบง่าย งานศิลปะทรงคุณค่าบนหน้าบันที่ดูเกือบเรียบทั้งแผ่น เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของวัด ชิ้นงานหน้าบันที่สวยงามและเก่าแก่มากชิ้นหนึ่งอยู่ที่ศาลาติดซุ้มประตูด้านติดแม่น้ำ

พระบรมธาตุและพระวิหาร

พระบรมธาตุและพระวิหาร ในวันที่ฝนฟ้าครึ้มมาครึ่งวันอย่างในวันนี้ ตอนที่ผมตระเวนเก็บภาพสถานที่ต่างๆ ในชัยนาท ตอนแรกผมคิดว่าวันนี้คงจะไม่ได้ภาพท้องฟ้าสดใสสวยงามแบบนี้ซะแล้ว เพราะครึ่งวันแรกมีฟ้าครึ้มเมฆก้อนใหญ่ปกคลุมเต็มท้องฟ้า มีฝนปรอยๆ สลับกันทั้งวัน หลังจากที่ได้เจ้าไปนมัสการหลวงพ่อหิน ที่ริมเขื่อนเจ้าพระยา ขอพรหลวงพ่อหินขอภาพสวยๆ กลับมาเขียนเว็บ หลังจากออกมาจากโบสถ์หลวงพ่อหินก็ปรากฏว่าท้องฟ้าแจ่มใสอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้ จากนั้นผมเดินทางมาที่วัดพระบรมธาตุต่อ จนถึงตอนเดินเข้ามาในวัด ท้องฟ้าก็ยังคงแจ่มใสสวยงาม แสงสว่างของแดดจัดๆ ทำให้สีขาวขององค์พระธาตุดูเด่นงดงามขึ้นมาก
พระธาตุในวัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ที่หน้าวิหาร ซึ่งดูคล้ายแบบทางเหนือที่นิยมสร้างพระธาตุหรือเจดีย์อยู่ด้านหลังวิหาร จะต่างกันตรงที่พระธาตุองค์นี้อยู่ด้านหน้า แต่พอลองพิจารณาการประดิษฐานพระประธานในพระวิหาร จะว่าประตูตรงพระธาตุเป็นด้านหน้าของวิหารก็ได้ไม่เต็มปากนักเพราะองค์พระประธานหันพระพักตร์ไปอีกด้านหนึ่ง หันด้านหลังให้พระธาตุ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ตามการสร้างพระธาตุกับวิหารในตอนแรก ด้านหน้าของวิหารอยู่อีกด้านหนึ่ง แล้วด้านหลังของวิหารติดกับองค์พระธาตุ แต่พอระยะหลัง การจะเดินไปเข้าวิหารจากทางด้านหน้าอาจจะไม่สะดวกเท่ากับเข้าจากด้านหลัง หลังจากที่สักการะองค์พระธาตุแล้วจึงค่อยเข้าไปในพระวิหาร จึงอาจจะทำให้ด้านหลังเปลี่ยนเป็นด้านหน้าเหมือนดังที่เป็นอยู่

พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ , พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มีพระราชวินิจฉัยว่า "สร้างมาก่อนสมัยขอม จำหลักจากหินทั้งองค์ แปลกกว่าพระเจดีย์องค์อื่น เป็นฝีมือช่างอินเดีย" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน มาทรงกราบนมัสการ เมื่อ 27 กันยายน 2498 และสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิด วรวิหาร เมื่อ 17 พฤษภาคม 2499

การบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้กระทำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไม่เห็นเค้าโครงเจดีย์หิน คงดูเหมือนพระธาตุเจดีย์ที่สร้างค่อนข้างใหม่ หากต้องการชมภาพในอดีตเมื่อครั้งก่อนบูรณปฏิสังขรณ์ให้เดินไปชมภาพได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขัยนาทมุนี

พระบรมธาตุในอดีต

พระบรมธาตุในอดีต เป็นภาพที่เดินไปถ่ายมาจากภาพที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนี เพื่อประกอบให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ไหว้พระหน้าวิหาร

ไหว้พระหน้าวิหาร หลังจากที่ได้สักการะนมัสการองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมจะพาเข้าไปชมภายในวิหาร ตอนนี้ก็ต้องกราบพระที่ประดิษฐานที่บริเวณผนังด้านหน้าตรงทางเข้าก่อน

ศิลาจารึก

ศิลาจารึก เป็นแผ่นศิลาขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุ ข้อความนี้ยาวประมาณ 1 หน้ากระดาษ ผมก็พยายามจะยืนอ่านแต่ด้วยอายุของศิลาจารึกจึงมีหลายคำที่ยากเกินกว่าจะอ่านได้ ศิลาจารึกแผ่นนี้ได้ติดอยู่บนฝาผนังของวิหารใกล้ประตูทางเข้าหลังวิหาร (ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นด้านหน้าไปโดยปริยาย)

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์กลางวิหาร

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์กลางวิหาร และพอเข้ามาในวิหาร สิ่งที่สร้างความแปลกใจ เป็นความมหัศจรรย์ของวัดพระบรมธาตุก็คือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่ตรงกลางวิหารอย่างที่เห็น ทางวัดได้สร้างบ่อล้อมด้วยกระจกเป็นรูปแปดเหลี่ยม บานพระจกเปิดเข้าไปตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้ แต่ทางวัดก็อำนวยความสะดวกด้วยการบรรจุขวดตั้งไว้ให้ในวิหารทำบุญแล้วหยิบเอาขวดน้ำนั้นได้เลย

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์กลางวิหาร

บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์กลางวิหาร

พระประธานในวิหาร

พระประธานในวิหาร จากบริเวณขอบบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งผมเดาเอานะครับว่าเป็นบ่อน้ำที่มีน้ำผุดขึ้นมาตลอดเวลา สามารถตักเอาไปดื่มตามความเชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคลก็เอาไปตั้งไว้ที่บ้านบ้างก็แล้วแต่คน ขอบบ่ออยู่ห่างจากฐานพระประธานไม่มากนัก เหลือที่น้อยๆ ไว้สำหรับกราบนมัสการพระประธาน

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ หลังจากที่ได้สักการะนมัสการพระธาตุเจดีย์ พระประธานในวิหาร กันแล้ว ตอนนี้ก็จะไปชมพิพิธภัณฑ์ของวัดพระบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งมีโบราณวัตถุ โดยเฉพาะพระพุทธรูปและพระบูชา หรือพระเครื่องซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงการ ว่ามีพระกรุแตกของวัด

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ

พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุ มีพระพุทธรูปเก่าแก่มากมายหลายองค์ พระจากกรุของวัด ผมจะให้ชมภาพเพียงบางส่วน จากทั้งหมดที่มีจำนวนค่อนข้างมาก ควรจะเข้าไปชมด้วยตัวเอง

ธรรมาสสมัยรัชกาลที่ ๕

ธรรมาสสมัยรัชกาลที่ ๕ หนึ่งในโบราณวัตถุล้ำค่าของวัดคือธรรมมาสนี้ สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2444 - 2449

วัดพระบรมธาตุวรวิหาร

ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมรุเก่า ซึ่งมีการดีดหรือยกสูงขึ้นเพื่อให้พ้นจากน้ำท่วม ศิลปะการก่อสร้างซุ้มเรือนยอดที่สวยงามที่ทางวัดพยายามเก็บรักษาไว้ ส่วนอื่นๆ ที่ประกอบเป็นเมรุเผาศพก็แยกออกหมด เหลือเพียงส่วนเดียวที่จะนำการสร้างเป็นมณฑปเก็บรักษาพระพุทธรูป

ประตูวัดด้านทิศเหนือ

ประตูวัดด้านทิศเหนือ เป็นด้านที่ติดแม่น้ำ เดินออกประตูนี้ไปจะมีท่าน้ำเป็นแพสำหรับลงให้อาหารปลา เป็นเขตอภัยทาน

ท่าน้ำวัดพระบรมธาตุ

ท่าน้ำวัดพระบรมธาตุ ปิดท้ายด้วยภาพนี้ครับ ผ่านไปชัยนาทลองเข้าไปชมความงดงามของวัดแห่งนี้ด้วยตัวเองสักครั้ง สักการะพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ 3 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ ชมศิลปะวัตถุต่างๆ ที่เก่าแก่หาชมยาก อีกด้านหนึ่งของวัดติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนีด้วยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระบรมธาตุวรวิหาร ชัยนาท
บ้านสวนรีสอร์ท&กาแฟสด จ.ชัยนาท
  3.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุวรรณา ริเวอร์ไซด์
  3.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจ้าพระยาธารา ริเวอร์ไซด์
  3.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเจ้าพระยาธารา ริเวอร์ไซด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป๋วย เลิร์นนิง เซ็นเตอร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมชัยนาทธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
แฟนตาซี รีสอร์ต ชัยนาท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
111 รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านต้นแจงรีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
สไมล์ บัฟฟาโล รีสอร์ท
  19.81 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com