www.touronthai.com

หน้าหลัก >> น่าน >> วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

 ตั้งอยู่ที่ ถนนสุริยพงษ์ ตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมืองน่าน เดิมเรียก "วัดหลวง" หรือ "วัดหลวงกลางเวียง" สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตามศิลาจารึกหลักที่ 74 ซึ่งถูกค้นพบภายในวัดกล่าวว่า พญาพลเทพฤาชัย เจ้าเมืองน่านได้ปฏิสังขรณ์บูรณะวิหารหลวงเมื่อ พ.ศ. 2091

    ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดพระธาตุช้างค้ำนี้สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย อาทิ เจดีย์ทรงลังกา (ทรงระฆัง) รอบฐานองค์พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนและปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก ดูคล้ายจะเอาหลังหนุน หรือ "ค้ำ" องค์เจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย และภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดยืนปางประทานอภัย อายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย มีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปปางประทานอภัยที่วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งของเมืองน่าน

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานแพร่ (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2016-05-27 12:30:11 ผู้ชม 16192

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เริ่มจากชื่อวัด

เริ่มจากชื่อวัด แนวกำแพงสีขาวนี้อยู่ริมถนนเลยครับ เดินทางไปตัวเมืองน่านจะหาวัดพระธาตุช้างค้ำไม่ใช้เรื่องยากเลย เพราะวัดนี้ตั้งอยู่บนถนนสุริยพงษ์ ถนนสายหลักกลางเมืองน่าน และอยู่ตรงข้ามกับศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเมืองน่าน จุดเริ่มต้นสำหรับการสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเมืองน่านของนักท่องเที่ยวที่เพิ่งจะเคยมาที่น่าน นอกจากนั้นยังมีบริการรถนำเที่ยวเมืองน่าน ราคา 30 บาท ซึ่งเป็นแนวคิดและการจัดการการท่องเที่ยวที่ดีมาก ไม่ต้องให้นักท่องเที่ยวทุกคนขับรถรอบเมืองกันเองให้รถติดเปลืองพลังงานเปล่าๆ

ผมมักจะเริ่มการท่องเที่ยวเมืองน่านจากวัดภูมินทร์เสมอๆ บางทีก็มาที่วัดพระธาตุช้างค้ำเป็นวัดแรกก็มีบ้าง ทั้งสองวัดอยู่เยื้องๆ บนทางแยกไฟแดงเดียวกันเดินไปเที่ยว 2 วัดได้สบาย

พระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง เสนาสนะที่สำคัญอันดับต้นๆ ของวัดก็คือองค์พระธาตุและพระวิหารหลวงที่อยู่ติดกัน เฉกเช่นวัดอื่นๆ ในภาคเหนือที่นิยมสร้างแบบเดียวกันนี้ทั้งหมด องค์พระธาตุเด่นตระหง่านสีทองที่สูงเลยกำแพงวัดขึ้นมามาก เป็นที่สะดุดตาสำหรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมากลางเมืองน่าน

พระธาตุช้างค้ำ

พระธาตุช้างค้ำ เอกลักษณ์ของพระธาตุอยู่ที่รูปปั้นช้างครึ่งตัวยืนรอบฐานทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีให้เห็นหลายแห่งในสุโขทัย มองดูคล้ายกับช้างเหล่านี้ยืนค้ำพระธาตุเอาไว้ รูปปั้นช้างมีด้านละ 5 เชือก ที่มุมอีกมุมละ 1 เชือก

เจดีย์พระธาตุช้างค้ำ เป็นปูชนียสถานสำคัญที่เป็นประธานของวัด ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสตรงแนวตะวันตกด้านหลังวิหารหลวง ก่อเป็นเจดีย์สวมพระบรมธาตุไว้ภายในชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุหลวง เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์สร้างด้วยอิฐถือปูน ชั้นล่างสุดยกขึ้นไปประมาณ 5 วา ฐานชั้นที่ 2 ทำรูปช้างโผล่หน้าลอยออกมาครึ้งตัว ขาหน้าคู่ยืนพ้นออกมานอกเหลี่ยมฐานลักษณะแตกต่างจากช้างเชือกอื่นๆ ที่อยู่ด้านหลัง ซึ่งมิได้ตกแต่งประดับประดาสิ่งใด เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ซ้อนกัน 3 ชั้น และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ที่ปรากฏอยู่ทางเหนือทั่วไป ต่อจากองค์ระฆังทำเป็นฐานเบียงรองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นส่วนยอด ตรงยอดทำเป็นปลี ภาษาเหนือเรียกว่า มานข้าว หุ้มด้วยทองจังโก้สวมยอดฉัตรมีความสวยงามมาก

พระธาตุช้างค้ำ

พระธาตุช้างค้ำ

พระเจ้าหลวง

พระเจ้าหลวง คือพระประธานภายในวัดพระธาตุช้างค้ำ ประดิษฐานภายในพระวิหาร ศิลปะสุโขทัย ผนังพระวิหารยังมีภาพจิตรกรรมที่ค่อนข้างลบเลือนไปมาก

  พระเจ้าทันใจ

พระเจ้าทันใจ เดินมาทางด้านหลังของวิหารหลวงและพระธาตุช้างค้ำ เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทันใจครับ เข้าไปไหว้ขอพรพระให้สมปรารถนาทันใจกันดีกว่า

พระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พงศาวดารเมืองน่านบันทึกไว้ว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ ทรงสร้างขึ้นหลังจากเดินทางไปเฝ้าพระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อพุทธศักราช 2331 พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ หมายถึง พระพุทธรูปที่สร้างสำเร็จโดยรวดเร็วทันใจปรารถนา ภายในวันเดียว ถือว่ามีอานิสงส์มาก โดยมีความเชื่อว่าต้องเริ่มสร้างตั้งแต่รุ่งเช้าเมื่อพระอาทิตย์แรกขึ้น ทั้งการปั้นหล่อตกแต่งให้ได้พุทธลักษณะที่งดงามจนถึงพระอาทิตย์ตกดินเป็นเวลาสิ้นสุดการสร้าง

นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่า ผู้ร่วมสร้างพระเจ้าทันใจต้องรักษาศิลให้บริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจสร้างด้วยอานิสงส์ความศรัทธาอย่างแรงกล้าเช่นนี้ จึงนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลแก่ผู้กราบไหว้บูชาสัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนา

พระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง เห็นว่าหน้าบันสวยงามดีก็เลยเก็บภาพมาให้ชมลวดลายสวยๆ กันครับ

วิหารพระนันทบุรีศรีศากยมุนี

วิหารพระนันทบุรีศรีศากยมุนี วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร หรือวัดหลวงกลางเวียง เป็นวัดหลวงประจำเมืองแต่ในอดีต สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 1949 โดยพญาภูเข่ง เจ้าผู้ครองเมืองน่าน และได้รับการบูรณะอีกหลายยุคหลายสมัย โดยในปี พ.ศ. 1969 เจ้างั่วผาสุม (เจ้าผู้ครองเมืองน่านองค์ที่ 14) โปรดให้สร้างพระพุทธนันทศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2453 พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช (เจ้าผู้ครองเมืองน่านองค์ที่ 63) ทรงรับสั่งให้สร้างหอพระไตรปิฎกขึ้น เพื่อเป็นที่เก็บและรวบรวมใบลานจารึกอักษรธรรมต่างๆ โบราณสถานภายในวัดส่วนใหญ่มีเอกลักษณ์เฉพาะแบบพื้นเมืองน่าน

พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี คือพระพุทธรูปลีลาสมัยสุโขทัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์อย่างดีมีส่วนทองผสมประมาณ 65 เปอร์เซนต์ ส่วนสูง 145 เซนติเมตร มีข้อความจารึกไว้ที่ฐานว่าพระเจ้าลารผาสุมเป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ เดือน 8 ใต้ จุลศักราช 788 พ.ศ. 1969 เดิมลงรักพอกปูน หุ้มไว้และประดิษฐานอยู่ภายในโขรพระเจดีย์ทิพย์ด้านทิศตะวันออก เพิ่งพบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 โดยนายไกรศรี นิมมาน-เหมินทร์ และนายอเล็กซานเดอร์ เบราว์ กริสโวสต์ นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ซึ่งมาศึกษาและค้นคว้าศิลปกรรมในจังหวัดน่าน ได้ตรวจพระพุทธรูปองค์นี้แล้ววินิจฉัยว่า ไม่ใช่พระพุทธรูปปูนปั้น จึงใช้ฆ้อนกระเทาะปูนที่หุ้มแตกออก ปรากฏว่าพระวรการข้างในทารักทับไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อขูดดูจนเห็นเนื้อทองสุกปลั่ง ได้เคาะเอาปูนออกหมดทั้งองค์ตกแต่งขัดสีใหม่เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะสวยงามมาก

เจ้าอาวาสสมัยนั้นคือ พระชยานันทมุนี (พรหม) จึงได้ถวายพระนามตามตำแหน่งสมณศักดิ์เจ้าคณะจังหวัดว่า พระพุทธนันทบุรี ศรีศากยมุนี ปัจจุบันประดิษฐานไว้ในหอพระไตรปิฎกซึ่งได้บูรณะปรับปรุงให้เป็นวิหารพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ถือเป็นพระอันศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองแต่เนื่องจากพระเกตุโมลีของพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนีถูกตัดมาแต่เดิม ต่อมาใน พ.ศ. 2522 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท โดยนายอนันต์ สงวนนาม เลขาธิการเร่งรัดฯ รับพระราชทานกฐินพระราชทานมาทอดถวาย ณ ที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารได้ปรารภถึงยอดพระโมลีควรจะได้หล่อสวมให้สมบูรณ์ ได้ฝากกับ พ.ท.อุดม เพชรศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมกับข้าราชการแผนกต่างๆ ศรัทธาประชาชนในจังหวัดได้ร่วมกันบริจาคทองเพื่อหล่อพระเมาลี โดยนายอนันต์ สงวนนาม เลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นประธาน และคณะได้บริจาคทองสมทบอีก และมาร่วมพิธีหล่อพระเมาลีและพุทธาภิเษกพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พร้อมด้วยเหรียญจำลองขึ้น ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2523 เมื่อหล่อพระเมาลีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้นำยอดเมาลีไปเก็บรักษาไว้ที่ธนาคารกสิกรไทย และทางผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินสวมพระเมาลีพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี แทนพระองค์ ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2524 เมื่อทรงสวมพระเมาลีเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ได้นำประดิษฐาน ณ ห้องพระที่สร้างขึ้นใหม่ติดกับกุฎิเจ้าอาวาส ปัจจุบันทางวัดได้บูรณะหอพระไตรปิฎก และปรับปรุงเป็นวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

ตอนนี้มาชมบริเวณของวัดพระธาตุช้างค้ำจากภายนอกกันบ้างครับ ถนนสายหนึ่งข้างวัดพระธาตุช้างค้ำ ตัดผ่านระหว่างวัดกับพื้นที่บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ใกล้กับถนนมีเส้นทางเดินเท้าสำหรับนักท่องเที่ยว มีแนวต้นลีลาวดียาวเรียงราย 2 ข้างของทางเดิน ถัดไปก็จะเป็นแนวกำแพงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ส่วนสีทองเหลืองอร่ามขององค์พระธาตุที่สูงเลยกำแพงขึ้นมาทำให้มุมนี้กลายเป็นมุมนิยมสำหรับถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวหลายคน

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร น่าน
IG's house Him Na homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนม่วนใจ บูทิค เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
พีเอ็กซ์122 ดีเบสต์ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมน่านนครา บูทิก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูมินทร์เพลซ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
Mintara Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านฮิมวัด โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
คุ้มเมืองมินทร์ บูติค โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเฮือนข่วงน่าน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
น่าน เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.51 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com