www.touronthai.com

หน้าหลัก >> นครปฐม >> พุทธมณฑล

พุทธมณฑล

 พุทธมณฑล เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ พุทธมณฑลเป็นสถานที่ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมใจกันจัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาได้ถึง 2,500 ปี บริเวณจุดศูนย์กลางของพุทธมณฑลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา เป็นพระประธานของพุทธมณฑลมีความสูง 2,500 กระเบียด (ประมาณ 15.875 เมตร) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามว่า พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

 รอบองค์พระประธานเป็นสถานที่จำลองของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ตำบลอันเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ พระวิหารพุทธมณฑล ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช และที่พำนักสงฆ์อาคันตุกะ หอประชุมทางกิจการพระพุทธศาสนา ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน พิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา หอสมุดพระพุทธศาสนา สวนไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ และในปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น

เปิดเวลา 05.00-19.00 น. ผู้ที่จะเข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดแจ้งความจำนงได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์พุทธมณฑล โทร. 0 2441 9012, 0 2441 9009, 0 2441 9801-2, 0 2441 9440 กองพุทธสารนิเทศ โทร. 0 2441 4515

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง คือเดินทางไปตามถนนเพชรเกษมถึงประมาณกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แล้วแยกเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปเล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยใช้ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แยกเข้าสู่ถนนอุทยาน(อักษะ) เพื่อมุ่งเข้าสู่พุทธมณฑลได้ ถนนอุทยาน(อักษะ)เป็นถนนที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยแนวเสาไฟประดับรูปกินรี น้ำพุและไม้ประดับต่างๆ มีทัศนียภาพที่สวยงาม

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานราชบุรี 032 919176-8

แก้ไขล่าสุด 2017-02-12 02:22:40 ผู้ชม 51295

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศานา

พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศานา สถานที่แห่งแรกที่จะนำเข้ามาชมในพื้นที่ของพุทธมณฑลคงทำให้หลายคนประหลาดใจว่าเหตุใดไม่เริ่มภาพแรกเปิดหน้าด้วยรูปองค์พระประธาน พระพุทธรูปปางประทับยืนองค์ใหญ่กลางพุทธมณฑล นั่นก็เพราะว่าพื้นที่ในพุทธมณฑลนั้นกว้างใหญ่มาก มีพระประธานประดิษฐานอยู่ตรงกลาง หากไปเริ่มที่องค์พระประธานคงจะได้ขับรถวนไปวนมาหลายรอบ เราจึงเลือกที่จะเริ่มต้นจากมุมใดมุมหนึ่งแล้วจะได้ขับรถไปตามเส้นทางในพุทธมณฑลแบบขับทางเดียวไม่ต้องย้อนกลับ
การเดินทางมายังพุทธมณฑลนั้นเราได้เลือกใช้ถนนพระบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) ขับมาข้างล่างเรื่อยๆ ถึงแยกพุทธมณฑลมีป้ายใหญ่ๆ บอกไว้คู่กับศาลายา ไม่ต้องกลัวว่าจะหลง เลี้ยวซ้ายตามลูกศรมาไม่กี่ร้อยเมตรต้องเตรียมชิดขวาไว้ พุทธมณฑลอยู่ขวามือมีทางแยกเข้าไป ภายในพื้นที่มีลานจอดรถอยู่ตามจุดสำคัญๆ ต่างๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา พระประธาน มหาวิหารพระไตรปิฎกหินอ่อน เป็นต้น

กลับมาที่เรื่องพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนากันต่อ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยสองชั้น มีลักษณะเป็นวงกลมสองระดับ คือวงกลมใน และวงกลมนอก ขนาด 13,240 ตารางเมตร รูปวงกลมวงแหวนด้านนอกด้านล่างเป็นบริเวณจัดแสดง ส่วนบนเป็นที่เก็บของ ชั้นลอยสำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ทำงาน ผนังวงแหวนด้านนอกไม่มีหน้าต่าง เพื่อสะดวกในการรักษาความปลอดภัยในการจัดแสดง ในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
1.ส่วนการแสดงโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งแต่ละแผนกผู้เข้าชมสามารถเดินทะลุถึงกันได้
2. ส่วนจัดนิทรรศการการบรรยาย
3. ส่วนบริการห้องน้ำห้องสุขา ฯลฯ
เปิดเวลา 09.00 - 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ

นิทรรศการพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา

นิทรรศการพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา เข้ามาในอาคารจะเห็นนิทรรศการเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระราชกรณียกิจทางพระพุทธศาสนา สุดนิทรรศการมีประตูเชื่อมต่อไปยังส่วนต่อไป เกี่ยวกับพระพุทธประวัติต่างๆ มีการแสดงด้วยภาพ และหุ่นจำลองในตู้กระจกพร้อมกับข้อมูลเกี่ยวกับภาพนั้นๆ ให้เราได้ศึกษาเรื่องราวพระพุทธประวัติต่างๆ

นิทรรศการพระพุทธศาสนา

นิทรรศการพระพุทธศาสนา เดินต่อเข้ามาเรื่อยๆ เป็นทางเดินยาวๆ มีภาพชาดกต่างๆ หุ่นจำลองพระพุทธประวัติในตอนที่สำคัญๆ ได้แก่ การประสูติ การออกผนวช การตรัสรู้ การแสดงปฐมเทศนา

หุ่นจำลองพระพุทธเจ้าใต้ต้นศรีมหาโพธิ์

หุ่นจำลองพระพุทธเจ้าใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ทางเดินชมนิทรรศการจะแบ่งออกเป็นห้องต่างๆ อย่างเป็นหมวดหมู่ ได้แก่ห้องพุทธานุสรณ์แสดงพระธาตุเจดีย์สำคัญๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่นพระธาตุหริภุญชัย พระธาตุพนม ฯลฯ เดินทะลุห้องพุทธานุสรณ์เข้าไปเป็นห้องบัว แล้วก็จะมีประตูทางออกแต่ปกติจะปิดล็อคเอาไว้ ทำให้เราต้องเดินย้อนกลับมาออกที่ทางเข้า

ประตูเข้าสู่นิทรรศการ

ประตูเข้าสู่นิทรรศการ ช่องสี่เหลี่ยมที่เห็นอยู่ในรูปเป็นช่องประตูเข้าออกห้องแสดงนิทรรศการ ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ด้านบนเป็นภาพพระพุทธรูปสีทองตกแต่งดูคล้ายหน้าผาหินขนาดใหญ่อลังการมาก

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ องค์พระพุทธรูปที่เป็นสัญลักษณ์ของพุทธมณฑล มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่าองค์พระประธาน อยู่บริเวณตรงกลางของพุทธมณฑล ค่อนไปด้านหน้า (เมื่อดูจากผังของพุทธมณฑล)
ประวัติการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณใต้ฐานองค์พระประธานเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2500 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฯ เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม
พุทธลักษณะ "พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" เป็นพระพุทธรูปยืนปางลีลาขนาดใหญ่ พุทธลักษณะทรงยกพระบาทขวาจะก้าว ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้าเป็นกิริยาเดิน หล่อด้วยทองสำริดหนัก 17,543 กิโลกรัม โดยแบ่งหล่อเป็นชิ้นต่างๆ ขององค์พระ รวม 137 ชิ้น แล้วจึงนำไปประกอบกับโครงเหล็กบนฐานพระพุทธรูป เพื่อเชื่อมรอยต่อ และปรับแต่งให้เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปสูง 15.875 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปลีลา หล่อด้วยทองสำริดที่มีลักษณะงดงาม และมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยประยุกต์พุทธลักษณะ มาจากพระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ชาวอิตาลี เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งในตอนแรกที่ออกแบบไว้นั้น พระพุทธรูปมีความสูงเพียง 2.14 เมตร แต่เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสที่พระพุทธศาสนาอายุครบ 2,500 ปี จึงได้มีการขยายขนาดเพื่อให้ได้เป็น 2,500 กระเบียด (1 กระเบียดเท่ากับ 1/4 นิ้ว) ดังนั้นพระศรีศากยะทศพลญาณฯ ในปัจจุบัน จึงมีความสูงถึง 15.875 เมตร ใหญ่กว่าขนาดต้นแบบ 7.5 เท่า
ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ไม้ปาริฉัตตกะ ณ ดาวดึงส์เทวปโลก เมื่อออกพรรษามหาปวารณาแล้ว จึงเสด็จลงจากเทวโลก ในการเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกกันว่า "เทโวโรหณสมาคม"

ที่มา http://th.wikipedia.org/

เวียนเทียนรอบพระประธาน

เวียนเทียนรอบพระประธาน พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พระประธานในพุทธมณฑล นับเป็นสถานที่หนึ่งที่ประชาชนนิยมมาเวียนเทียนในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา เป็นประจำทุกปี ประชาชนหลายคนที่เดินทางมาเวียนเทียนที่นี่มักจะแต่งกายในชุดสีขาว ทั้งในช่วงเวลากลางวัน ช่วงเย็นไปจนถึงเวลากลางคืนก็มีประชาชนมาเวียนเทียนกันไม่ขาดสาย

พระวิหารพุทธมณฑล

พระวิหารพุทธมณฑล เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น 2 ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลายภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป 8 องค์ และพระโพธิสัตว์ 2 องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 25 พุทธศตวรรษขนาด 2,500 มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2518

ตามคำจารึกการก่อสร้างพระวิหารพุทธมณฑล มีประวัติการก่อสร้างดังนี้
พระวิหารพุทธมณฑลแห่งนี้ ได้สร้างขึ้นโดยความดำริของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ขณะนั้นยังมิได้จัดสร้างขึ้นทันที เพราะขาดทุนทรัพย์ที่จะดำเนินการครั้นต่อมาในสมัย ฯพณฯ จอมพล ประภาส จารุเสถียร ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการจัดสร้างพุทธมณฑล เห็นสมควรดำเนินการต่อไป จึงได้ดำเนินการก่อสร้างพระวิหารแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 5,100,000 บาท และได้มอบหมายให้ นายจิตร บัวบุศย์ เป็นผู้ออกแบบ และควบคุมฝ่ายศิลป์ การก่อสร้างพระวิหารได้ดำเนินการเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๗ ฯพณฯ พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาเห็นว่า ลวดลายที่ประกอบพระวิหารนั้นควรจะได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้สวยงามขึ้น เป็นกรณีพิเศษกว่าพระวิหารแห่งอื่นๆ เพราะต่อไปภายหน้าจะต้องเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย จึงได้ขอให้กรมศิลปากรโดย นายสนิท ดิษฐพันธุ์ ผู้อำนวยการกองหัตถศิลป ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมลวดลาย ให้สวยงามและสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นกว่าเดิม การก่อสร้างพระวิหารแห่งนี้ ได้สำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๘
พระวิหารแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปยืน ปางพุทธลีลา จัดสร้างขึ้นโดยสำนักธรรมพานิช ใช้ทองสัมฤทธิ์หล่อทั้งองค์ สูง 2.50 เมตร พระพุทธรูปองค์นี้กระทำพุทธาภิเษกแล้ว จึงมีความศักดิ์สิทธิ์กอปรด้วยพระพุทธคุณเป็นเอนกประการ

ทุ่งทานตะวันพุทธมณฑล

ทุ่งทานตะวันพุทธมณฑล หลังจากที่ได้เกิดมหาวิกฤติอุทกภัยขึ้นในปี 2554 น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่พุทธมณฑลสร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ที่อยู่ในพื้นที่ ยืนต้นตายไปเป็นจำนวนมาก ในวาระวันมาฆบูชา 2555 ซึ่งเป็นวาระพุทธชยันตี ครบรอบ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประชาชนและองค์กรหน่วยงานต่างๆ ได้มาทำกิจกรรมฟื้นฟูพุทธมณฑล ปลูกต้นไม้ใหม่ โดยเลือกปลูกทานตะวันจำนวนมากบริเวณด้านหน้าพระวิหารพุทธมณฑล ดอกทานตะวันเหล่านี้บานในช่วงวันมาฆบูชาพอดี เป็นภาพที่สวยงามอย่างยิ่ง

ทุ่งทานตะวันพุทธมณฑล

ทุ่งทานตะวันพุทธมณฑล

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงปลูก

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงปลูก เป็นต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ทางด้านขวาขององค์พระประธาน เด่นตระหง่านอยู่กลางลานกว้าง ล้อมรอบไปด้วยร่มเงาของจามจุรี เป็นที่พักผ่อนของประชาชนทั่วไป ต้นพระศรีมหาโพธิ์ทรงปลูกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็นผู้แทนพระองค์ในการรับหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากสังเวชนียสถาน พุทธคยา ประเทศอินเดีย ที่นางลีลา กฤษณา มุรติ โปนัปปา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดีย ประจำประเทศไทย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 25 กันยายน พระพุทธศักราช 2545 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จากนั้นจึงทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อันเปรียบประดุจการประดิษฐานโพธิปัญญา พระราชทานลงในดวงจิตของปวงชนชาวไทย เพื่อความสถาะรแห่งความรู้แจ้ง ในทางพ้นทุกข์ทั้งปวง ตามพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า สืบไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระภัทรมหาราช องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันวิสาขาบูชา และทรงปลูกหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ จากสังเวชนียสถาน พุทธคยา ประเทศอินเดีย ณ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๕ พฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๕๔๖ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม ร.ศ. ๒๒๑

ทางเดินสู่องค์พระประธาน

ทางเดินสู่องค์พระประธาน จากบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์มองเห็นองค์พระประธานพุทธมณฑลอยู่ไกลๆ

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล

สังเวชนียสถาน 4 ตำบล ธรรมจักรขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางเนินเตี้ยๆ มีพื้นที่บริเวณโดยรอบค่อนข้างกว้างนี้เป็นส่วนหนึ่งของสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ของพุทธมณฑล อันประกอบด้วย ตำบลประสูติ ตำบลตรัสรู้ ตำบลปฐมเทศนา ตำบลปรินิพพาน สังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล เรียงรอบพื้นที่ด้านหลังองค์พระประธานพุทธมณฑล ในลักษณะของวงกลม และมีสวนลัฏฐิวัน (สวนตาล) เป็นส่วนหนึ่งของวงกลมรอบองค์พระ บริเวณที่กล่าวมานี้ทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างร่มรื่นด้วยร่มไม้ขนาดใหญ่ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนจำนวนมาก สังเวชนียสถาน และพุทธมณฑล เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงองค์พระพุทธเจ้า เมื่ออยู่ในบริเวณพุทธมณฑล จึงควรสำรวม และไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควร สังเวชนียสถาน มีความสำคัญในพระพุทธศาสนายังไงคงพอรู้กันอยู่บ้าง ผมขอเอาเรื่องสวนลัฏฐิวัน มาให้อ่านเป็นเกร็ดความรู้จะดีกว่า
สวนลัฏฐิวัน หรือสวนตาล อยู่บริเวณสังเวชนียสถานปรินิพพาน ระหว่างทางเข้าไปสู่องค์พระประธานพุทธมณฑล สวนลัฏฐิวันในพระพุทธประวัติ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระนครราชคฤห์ เชิงภูเขาปัพภาระ แคว้นมคธ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธพร้อมด้วยราชบริพาร จำนวน 110,000 คน เสด็จต้อนรับพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยหมู่ภิกษุสาวกซึ่งเสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวัน บรรดาราชบริพารเหล่านี้ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงตรัสถาม พระอุรุเวลากัสสะปะ ผู้ที่ชาวนครราชคฤห์นับถือมาก ว่าทำไมจึงเลิกบูชาไฟ พระอุรุเวลากัสสะปะกราบทูลประกาศความไม่มีแก่นสารแห่งลัทธิเดิม บรรดาราชบริพารทราบแล้วก็เชื่อถือ จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์แสดง พระเจ้าพิมพิสารและราชบริพารจำนวนมาก เมื่อสดับพระธรรมเทศนาได้ธรรมจักษุ พระเจ้าพิมพิสารประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ที่นี้

มหาวิหารพระไตรปิฎกหินอ่อน

มหาวิหารพระไตรปิฎกหินอ่อน จากด้านหลังขององค์พระประธานพุทธมณฑล มีถนนตรงไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าจะต้องผ่านสังเวชนียสถานเลยไปอีกไกลพอสมควร จะเห็นอาคารหลังหนึ่งที่สร้างคล้ายศาลามีเสาและหลังคาคลุม ส่วนด้านข้างเปิดโล่งทั้งหมด สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุขทั้งสี่ทิศที่เราเห็นนี้ สร้างบนพื้นที่ 9 ไร่ ขนาด 5,824 ตารางเมตร กลางพื้นที่มีพระเจดีย์เก้ายอดประดิษฐานอยู่ เห็นส่วนยอดเลยหลังคาขึ้นมา ภายในอาคารมีแผ่นจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อนขนาด 1.10 x 2.00 เมตร จำนวน 1,418 แผ่น ด้านบนเพดานโดยรอบองค์เจดีย์เป็นภาพพุทธประวัติ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ ประวัติการสังคายนาพระไตรปิฎก การประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และประวัติความเป็นมาพร้อมทั้งขั้นตอนการดำเนินงานการจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ภาพล่างขวาเป็นภาพภายในเจดีย์ มีรูปเหมือนหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ (ภาษีเจริญ) นั่งอยู่ตรงกลาง รูปเหมือนนี้สร้างด้วยหินอ่อนเช่นเดียวกัน ส่วนเพดานเป็นภาพเขียนหลวงพ่อสด มีเทพพนมล้อมรอบเป็นวงกลมสวยงามสะดุดตาแก่ผู้มาพบเห็น

เจดีย์เก้ายอด

เจดีย์เก้ายอด เจดีย์ที่อยู่ตรงกลางของอาคารพระไตรปิฎกหินอ่อนส่วนฐานเป็นสี่เหลี่ยมย่อมุม ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ด้วยความที่อาคารล้อมรอบองค์เจดีย์อันเป็นที่ตั้งของแผ่นจารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน เป็นอาคารขนาดใหญ่มาก จึงเป็นสถานที่ที่ประชาชนจำนวนมากมาอาศัยร่มเงาใต้หลังคาเป็นที่พักผ่อน โดยรอบของมหาวิหารพระไตรปิฎกมีน้ำล้อมรอบ อากาศจึงเย็นกว่าพื้นที่อื่นๆ

บรรยากาศทั่วไปในพุทธมณฑล

บรรยากาศทั่วไปในพุทธมณฑล พื้นที่ 2,500 ไร่ของพุทธมณฑลส่วนใหญ่เป็นที่ปลูกไม้ยืนต้นสลับกับบริเวณที่เป็นส่วนน้ำ นับเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้
ภาพบนซ้าย เป็นบริเวณด้านหน้ามหาวิหารพระไตรปิฎกหินอ่อน มีปลาอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีคนมาซื้ออาหารปลาเพื่อเลี้ยงปลาบริเวณนี้
ภาพบนขวา บริเวณสังเวชนียสถานตำบลประสูติ อยู่เยื้องมาทางด้านหลังขององค์พระประธานพุทธมณฑล
ภาพล่างซ้าย พื้นที่บริเวณสังเวชนียสถานปรินิพพาน
ภาพล่างขวา เป็นบริเวณสวนพุทธบูชา ด้านหลังเลยไปเป็นทางไปสำนักงานพุทธมณฑล หอประชุม และโรงอาหาร

พิธีเวียนเทียนมาฆบูชา 2555

พิธีเวียนเทียนมาฆบูชา 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ประกอบพิธีเวียนเทียนที่ลานองค์พระประธานพุทธมณฑล ในวันมาฆบูชา 7 มีนาคม 2555

พระประธานพุทธมณฑล

พระประธานพุทธมณฑล เป็นภาพยามเย็นที่พระอาทิตย์เคลื่อนที่ลงต่ำเรื่อยๆ ตามเวลา จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่มุมของพระอาทิตย์จะตรงกับพระเศียรขององค์พระ มีช่างภาพหลายคนที่รอจังหวะสำคัญนี้เพื่อที่จะเก็บรูปกันเป็นที่ระลึก

ศรัทธาวัยเยาว์

ศรัทธาวัยเยาว์ วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มาฆบูชา เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนจำนวนมากมาเวียนเทียนที่พุทธมณฑล โดยหลายๆ ครอบครัวได้พาเด็กๆ มาเวียนเทียนด้วย เพื่อเป็นการปลูกฝังประเพณีวัฒนธรรมอันดีแก่เด็กๆ

เวียนเทียนพุทธมณฑล

เวียนเทียนพุทธมณฑล ภาพหนึ่งที่หลายๆ คนเฝ้ารอตั้งแต่ช่วงบ่ายก็คือการได้เก็บภาพประชาชนจำนวนหลายร้อยคนเดินเวียนเทียนรอบลานพระประธานพุทธมณฑล ในเวลาเย็นที่แสงสุดท้ายของวันจะช่วยแต่งแต้มสีสันให้กับภาพ พร้อมกับสายแสงเทียนที่หลังไหลรอบลานพระอย่างสวยงาม

สายแห่งศรัทธา

สายแห่งศรัทธา เวลาผ่านพ้นล่วงเลยไป ตั้งแต่เช้าจนถึง 2 ทุ่ม ก็ยังไม่เห็นว่าลานองค์พระประธานพุทธมณฑลจะเว้นว่างไปจากแสงเทียนและควันธูป เพราะประชาชนที่เดินทางมาเวียนเทียนมีตลอดทั้งวัน เวียนเทียนคราวหน้า ลองไปที่พุทธมณฑลกันดูนะครับ
สถานที่สำคัญๆ ในพุทธมณฑลยังไม่หมด ยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่ได้กล่าวถึงเพราะเวลา 1 วัน เดินทางถ่ายรูปไปรอบๆ บริเวณพุทธมณฑล ขนาด 2,500 ไร่ มันไม่พอครับ

รีวิว พุทธมณฑล นครปฐม


 "ทุ่งปอเทืองสวยๆที่พุทธมณฑล ณ เวลานี้
ภาพ Kitty Tong"

Akkasid Tom Wisesklin
2018-11-30 10:45:46

พุทธมณฑล นครปฐม


 "อัพเดทกันหน่อยจ้า วันนี้ที่พุทธมณฑลมีทุ่งปอเทืองสวยๆให้เที่ยวแล้วนะ ไม่ไปเดี๋ยวตกเทรนนะจ๊ะ "

Akkasid Tom Wisesklin
2018-11-30 10:44:52

พุทธมณฑล นครปฐม


10/10 จาก 2 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พุทธมณฑล นครปฐม
Papasstar Residence Deluxe 2 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 20 ตร.ม. – สามพราน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชัชฐนันท์ ลักส์ซูรี่ อพาร์ตเมนต์
  2.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลายาพาวิลเลียนโฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Box Residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
พริมโรส เพลซ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนไทย สปา แอนด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
Loft Salaya เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุคนธาแมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ เซ็ปเท็มเบอร์ ศาลายา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.44 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com