www.touronthai.com

หน้าหลัก >> น่าน >> พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

     พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน อยู่ที่ถนนผากอง ตรงข้ามกับวัดพระธาตุช้างค้ำ ใกล้กับวัดภูมินทร์ เป็นอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน เดิมเป็น "หอคำ" ซึ่งเป็นที่ประทับและที่ว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2475 ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 อาคารแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งให้เป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ลักษณะการจัดพิพิธภัณฑ์จะใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ทำให้เพลิดเพลินในการเดินชมสิ่งของที่จัดแสดง

    ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ส่วนชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่ งาช้างดำ วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน เป็นงาช้างข้างซ้าย ยาว 94 เซนติเมตร วัดโดยรอบส่วนที่ใหญ่สุดได้ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 18 กิโลกรัม ได้มาในสมัยพระยาการเมืองเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 เครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก ตำบลสวก อำเภอเมือง น่าน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 พานพระศรีเครื่องเงินลงยา ซึ่งเป็นเครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวัน เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร 0 5471 0561 , 0 5477 2777

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานแพร่ (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2017-02-12 03:25:12 ผู้ชม 11246

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเดินหน้าพิพิธภัณฑ์

ทางเดินหน้าพิพิธภัณฑ์ สี่แยกวัดภูมินทร์ จุดเริ่มต้นการท่องเที่ยวในเมื่องน่านของใครหลายๆ คน รวมทั้งผมด้วยในหลายๆ ทริปที่ไปน่าน หากว่าอยากจะเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ทำบุญไหว้พระวัดต่างๆ ในเมือง การมาเริ่มที่สี่แยกนี้ก็จะสะดวกหลายอย่าง เพราะที่นี่ มีวัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เรียกว่าเริ่มบริเวณนี้ได้อย่างน้อยก็ 3 แห่งแล้วครับ

ที่สี่แยกแห่งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน อยู่ตรงข้ามกับวัดภูมินทร์ และวัดพระธาตุช้างค้ำ ทางเดินตรงหน้าบริเวณโล่งกว้าง ปูตัวหนอน พร้อมกับลีลาวดีเรียงเป็นแนวอยุ่ทั้ง 2 ข้างของทางเดิน ไม่ว่าจะมาในช่วงที่ดอกไม้บ้านเต็มต้น หรือมาในช่วงที่ทิ้งใบเหลือแต่กิ่งก้านมากมายโน้มเข้าหากัน ทางเตินตรงนี้ก็ยังคงเป็นมุมนิยมของนักท่องเที่ยวที่จะมาถ่ายภาพกันมากมายตลอดวัน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้มของอดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน ถนนผากอง ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน มีพื้นที่ 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็น "หอคำ" ที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่าน ทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับเมื่อ พ.ศ. 2446 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น มีมุขยื่นออกด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านาย บุตรหลาน ของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงได้มอบหอคำแห่งนี้ พร้อมที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดน่าน ต่อมาพ.ศ. 2475 กระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ในปีพ.ศ. 2517 และประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านขึ้นในปี พ.ศ.2528 อย่างเป็นทางการ

วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2530 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ

ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์ เจ้าผู้ครองนครน่าน คือพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ มหาอำมาตย์เอก เป็นโอรสของเจ้าอนันตวรฤทธิ์เดชฯ และแม่เจ้าสุนันทา ประสูติในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2374 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น เจ้าผู้ครองนครน่าน พ.ศ. 2436 ถึงแก่พิราสัย เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2461 สิริชนมายุได้ 87 พรรษา ครองนครน่านได้ 25 ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ สถาปนาเลื่อนฐานันดรศักดิ์มหาอำมาตย์เอกเจ้าสริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็น พระเจ้านครน่าน พ.ศ. 2446 พระอิสริยยศนับเนื่อง เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช กุลเชษฐมหันต์ไชยนันทบุรี มหาราชวงศาธิบดีสุจริตจารีราชานุภาวรักษ์ วิบุลยศักดิ์ กิติไพศาล ภูบาลบพิตร์สถิตย์ ณ นันทราชวงศ์ (สุริยะ ณ น่าน)

ภายในพิพิธภัณฑ์

ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น แต่ละชั้นมีห้องแยกออกไปหลายห้อง บัตรเข้าชมคนละ 20 บาท เดิมทีเดียวมีการห้ามการถ่ายรูปภายในพิพิธภัณฑ์ ก่อนหน้านี้ผมก็เลยไม่มีภาพ พอมาตอนหลังก็มีการอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะให้ถ่ายได้อีกนานหรือเปล่า หลังจากซื้อบัตรเข้าชมแล้วเราก็เดินไปที่ห้องด้านในของชั้นแรก ประตูห้องแยกออกไปทางขวามือ ด้านบนของประตูเขียนป้ายติดไว้ว่า ประวัติการคลังของไทย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นห้องจัดแสดงเรื่องราวของเงินๆ ทองๆ เงินในแต่ละยุคแต่ละสมัย จะมีแสดงให้ชมกันอยู่ในตู้กระจกหลายตู้ มีคำอธิบายบอกไว้ว่าเป็นเงินอะไร ใช้ในสมัยใด ผมเอามาให้ชมกันส่วนหนึ่งก็แล้วกัน รายละเอียดควรศึกษากันเพิ่มเติมเอาเอง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

อาคารชั้นล่างส่วนหน้า จัดแสดงเรื่องราวทางด้านชาติพันธุ์วิทยาน เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยพื้นเมืองเหนือ ลักษณะบ้านเรือน ร้านน้ำ ห้องนอน ครัวไฟ สิ่งของเครื่องใช้ชีวิตประจำวัน การทอผ้าและตัวอย่างผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ และประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับ พิธีสืบชะตา ทานสลากภัต บุญบั้งไฟ การแข่งเรือยาว และบุญสงกรานต์

ประเพณีวัฒนธรรมชาวน่าน

ประเพณีวัฒนธรรมชาวน่าน หลังจากที่เดินผ่านเรื่องราวบ้านเรือนของชาวไทยพื้นเมืองน่านแล้ว เดินมาอีกห้องหนึ่ง จะเป็นเรื่องราวของประเพณีต่างๆ ของชาวน่าน อันได้แก่การแข่งเรือยาวที่สืบทอดกันมาช้านาน จนมีสัญลักษณ์เรือยาวบนยอดเสาโคมไฟส่องทาง ทั่วจังหวัด

ทานก๋วยสลาก

ทานก๋วยสลาก วัฒนธรรมความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวเหนือก็คือประเพณีการทำบุญทานให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว เรียกกันว่าการทานก๋วยสลาก หนึ่งในหลายๆ วัฒนธรรมที่ถ่ายทอดให้เราได้ศึกษาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เรามารู้จักคำว่า ทานก๋วยสลากให้มากขึ้นหน่อยตามนี้ครับ

ทานก๋วยสลาก "เจตนาหมายมี ศรัทธา ...(ชื่อผู้ถวาย)... ได้ตานสลากฮองนี้ก็เพื่อว่าจั๊กตานไปหาผู้ตี่ล่วงลับ มีนามก๋อนจื่อว่า ...(ชื่อผู้ล่วงลับ) ... ขอฮือได้กิ๋นได้ตานแต้ดีหลี "

เสียงพระให้พรข้างต้นบอกให้รู้ว่างานบุญทานก๋วยสลากได้เสร็จสิ้นไปแล้วอีกวาระหนึ่ง การถวายทานสลากจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม โดยจะให้วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหารซึ่งเป็นวัดหลวงจัดงานบุญนี้กอน จากนั้นวัดอื่นจึงจะทำได้ เชื่อกันว่าผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกทั้งภูต ผี เปรต ปิศาจทั้งหลายจะได้รับส่วนแบ่งบุญกุศล ที่ผู้คนอุทิศถวาย

ในชุมชนระดับหมู่บ้านอาจจะไม่จัดงานทานสลากทุกปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลที่ได้ในปีนั้นๆ เครื่องประกอบก๋วยสลากมีมากขึ้นเช่น ข้าวสาร กับข้าวของแห้ง ขนมหวาน ผลไม้ในฤดูกาล พริก เกลือ หมากพลู ยาสูบ สมุดดินสอ และซะนี ผ้าผูกห้อยร้อยติดอยู่ปลายไม้ที่ปักบนปากก๋วย การจัดทานก๋วยสลากอาจให้มีได้ทั้งอย่างเล็กอย่างใหญ่ หรือทั้งสองอย่างควบคู่กันไป ถ้าเป็นก๋วยสลากใหญ่ (สลากโชค) ก็จะมีเครื่องไทยทานมากเป็นพิเศษ

พอ "วันห้างดา" (วันสุกดิบ) มาถึง พ่อบ้านจะนำก๋วยที่สานรอไว้แต่แรกออกมาให้แม่บ้านและลูกๆ ช่วยกันจัดเครียมตกแต่งเครื่องไทยทานให้พร้อมสรรพ สำหรับถวายในวันรุ่งขึ้น

ชาวเผ่าพื้นเมืองน่าน

ชาวเผ่าพื้นเมืองน่าน เมืองน่าน หรือ นันทบุรีนครรัฐของกลุ่มชนชาวไทย ที่รวมตัวกันตั้งขึ้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ครั้งมนุษย์ยังใช้เครื่องมือที่ทำด้วยหิน

เมืองน่านประกอบด้วยประชากรหลายกลุ่มชน อาศัยในพื้นที่ราบหุบเขา เช่นชาวพื้นเมืองเหนือ ชาวไทลื้อ ชาวม้ง ชาวเย้า ชาวถิ่น ชาวตองเหลือง ฯลฯ จึงทำให้น่านมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง อารยธรรมทางศิลปกรรมของน่าน แสดงอย่างชัดเจนถึงการติดต่อสัมพันธ์กับแคว้นสุโขทัย ตลอดจนช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 เมื่อเมืองน่านได้รับการผนวกเข้ากับแคว้นล้านนาแล้ว รูปแบบทางศิลปกรรมของเมืองน่าน ได้แสดงภาพรวมของการเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาอย่างชัดเจน

ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราจะได้เห็นวัฒนธรรมการแต่กาย วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเผ่าต่างๆ

ห้องศิลปินแห่งชาติชาวจังหวัดน่าน

ห้องศิลปินแห่งชาติชาวจังหวัดน่าน เรื่องราวในห้องนี้จะเป็นการเชิดชูเกียรติสำหรับศิลปินแห่งชาติที่เป็นชาวจังหวัดน่าน ที่ผนังห้องด้านหนึ่งมีพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสะล้อ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ณ พระตำหนักธงน้อย

สะล้อ

สะล้อ สะล้อเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนาชนิดหนึ่ง เป็นประเภทเครื่องสีซึ่งมีทั้ง 2 สายและ 3 สาย คันชักสำหรับสีจะอยู่ข้างนอกเหมือนคันชักซอสามสาย สะล้อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทร้อ หรือ ซะล้อ มีรูปร่างคล้ายซออู้ของภาคกลาง ใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ปิดปากกะลาทำหลักที่หัวสำหรับพาดทองเหลือง ด้านหลังกะโหลกเจาะเป็นรูปลวดลายต่าง ๆ เช่น รูปหนุมาน รูปหัวใจ ส่วนด้านล่างของกะโหลก เจาะทะลุลง ข้างล่าง เพื่อสอดคันทวนที่ทำด้วยไม้ชิงชัน ยาวประมาณ 64 ซม ตรงกลางคันทวนมีรัดอกทำด้วยหวาย ปลายคันทวนด้านบนเจาะรูสำหรับสอดลูกบิด ซึ่งมี 2 หรือ 3 อัน สำหรับขึงสายซอ จากปลายลูกบิดลงมาถึงด้านกลางของกะโหลกมีหย่องสำหรับ หนุนสายสะล้อเพื่อให้เกิดเสียงเวลาสี คันชักสะล้อทำด้วยไม้ดัดเป็นรูปโค้ง ขึงด้วยหางม้าหรือพลาสติก เวลาสีใช้ยางสนถูทำให้เกิดเสียงได้

สะล้อใช้บรรเลงประกอบการแสดงหรือบรรเลงร่วมกับบทร้องและทำนองเพลงได้ทุกชนิดเช่น เข้ากับปี่ในวงช่างซอ เข้ากับซึงในวงพื้นเมือง หรือใช้เดี่ยวคลอร้องก็ได้

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/สะล้อ

เครื่องประกอบอิสริยยศเจ้าผู้ครองนครน่าน

เครื่องประกอบอิสริยยศเจ้าผู้ครองนครน่าน

ห้องโถงชั้น 2

ห้องโถงชั้น 2 ตอนนี้เราชมสิ่งต่างๆ มากมายหลายอย่างในพิพิธภัณฑ์ชั้นล่าง ต่อไปก็เดินขึ้นมาชั้นบน สิ่งแรกที่เราจะได้เห็นคือห้องโถงกว้าง มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่ผนังด้านในสุด กลางห้องโถงมีโบราณวัตถุ ปูชนียวัตถุุมากมาย ควรค่าแก่การศึกษา

พระพุทธรูปไม้แกะสลัก

พระพุทธรูปไม้แกะสลัก เป็นปูชนียวัตถุที่มีอยู่มากมายหลายชิ้น อยู่ในตู้กระจกตามห้องต่างๆ ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์ ผมขอเอามาให้ชมกันส่วนเดียวก็พอนะครับ เพราะโบราณวัตถุเหล่านี้ความจริงแล้วจะถ่ายภาพมาเผยแพร่ทั้งหมด ก็จะเป็นอันตรายได้

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

งาช้างดำ

งาช้างดำ งาช้างดำ เป็นวัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองของเมืองน่าน มีลักษณะเป็นงาปลีสีน้ำตาลเข้ม ยาว 97 ซม. วัดโดยรอบ 47 ซม. มีจารึกอักษรธรรมล้านนาภาษาไทยสลักไว้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่งหมื่นห้าพัน" เป็นการบอกมาตราส่วนน้ำหนักเท่ากับ 18 กิโลกรัม ประวัติความเป็นมาของงาช้างดำนี้ไม่ปรากฏชัด เพียงแต่เล่าสืบต่อกันมาว่า อดีตเจ้าผู้ครองนครน่านได้มาจากเมืองเชียงตุง เดิมเก็บรักษาไว้ใน "หอคำ" หรือวังของเจ้าผู้ครองนคร ต่อมาเมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ. 2474 แล้ว เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนคร ได้มอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินและเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลาง จังหวัดน่าน ต่อมากรมศิลปากรได้รับมอบนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2525

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
เฮือนม่วนใจ บูทิค เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
IG's house Him Na homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
พีเอ็กซ์122 ดีเบสต์ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเฮือนข่วงน่าน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
น่าน เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมน่านนครา บูทิก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูมินทร์เพลซ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านในเวียง โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านฮิมวัด โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพรบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.52 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com