www.touronthai.com

หน้าหลัก >> นครพนม >> พระธาตุพนม

พระธาตุพนม

 ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ในเขตอำเภอธาตุพนม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 50 กิโลเมตร การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200–1400 ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น "วรมหาวิหาร"

    พระธาตุพนมไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนมเท่านั้น พระธาตุพนมยังเป็นที่เคารพของชาวไทยภาคอื่น ๆ และชาวลาวอีกด้วย ว่ากันว่าถ้าใครได้มานมัสการพระธาตุครบ 7 ครั้ง จะถือว่าเป็น "ลูกพระธาตุ" เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและจะมีความเจริญรุ่งเรือง หรือแม้แต่การได้มากราบพระธาตุพนม 1 ครั้ง ก็ถือเป็นมงคลแก่ชีวิตแล้ว

    ในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนมและประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ

    ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม งานนมัสการองค์พระธาตุเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี พระธาตุพนมถือเป็นพระธาตุปีเกิดของคนเกิดปีวอก และเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้เกิดวันอาทิตย์

การเดินทาง จากสถานีขนส่งในอำเภอเมืองฯ มีรถปรับอากาศและรถธรรมดา คิวรถอยู่ข้างธนาคารทหารไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานนครพนม (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) 0 4251 3490-1
http://www.tourismthailand.org/nakhonphanom

แก้ไขล่าสุด 2017-08-07 09:42:20 ผู้ชม 50846

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


ลานจอดรถวัดพระธาตุพนม

ลานจอดรถวัดพระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม เป็นพระธาตุที่มีความสำคัญยิ่งต่อชาวภาคอีสานและชาวไทย มีประชาชนทั้งใกล้และไกลเดินทางมาสักการะพระธาตุพนมไม่เคยขาดสาย ไม่ว่าจะตรงกับวันหยุดหรือวันธรรมดา ผมเคยมาที่พระธาตุพนมแห่งนี้ถึง 5 ครั้ง มีทั้งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มีทั้งวันธรรมดา มีทั้งช่วงเทศกาล และงานนมัสการพระธาตุพนม คนเยอะทุกครั้งที่มาเลยครับ ทางวัดจัดเตรียมที่จอดรถสำหรับประชาชนเอาไว้มากมายหลายจุดมีทั้งในกำแพงวัดและนอกกำแพงวัด แต่ที่ได้รับความนิยมมากหน่อยก็จะอยู่ในวัด ส่วนด้านหน้าก็พอจะหาที่จอดได้บ้าง แต่ก็จะเดินไกลหน่อย วันนี้ผมเริ่มต้นเดินเข้าวัดพระธาตุพนมจากด้านหน้าที่จอดรถเอาไว้

ก่อนหน้านี้ผมจอดในวัด บริเวณลานจอดรถวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ทางเดินมาสักการะองค์พระธาตุค่อนข้างไกล แล้วจึงได้รู้ทีหลังว่าอีกประตูหนึ่งซึ่งเป็นประตูตรงเข้าองค์พระธาตุจะมีลานจอดรถที่เดินใกล้กว่าอยู่อีกด้านหนึ่งของถนนหน้าวัดอยู่ระหว่างวัดกับแม่น้ำโขง นอกจากเดินใกล้กว่าแล้วยังได้ถ่ายรูปหน้าวัดสวยๆ แบบนี้ได้ด้วย

ข้างพระวิหารหลวง

ข้างพระวิหารหลวง เดินผ่านซุ้มประตูวัดเข้ามา จะมีระเบียงคดหรือวิหารคดล้อมองค์พระธาตุพนม และพระวิหารหลวง ระเบียงคดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหลายองค์ ส่วนลานกว้างตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นองค์พระประธาน (พระพุทธมารวิชัยศาสดา) แล้วมีพระพุทธรูปประจำวันเกิดให้ประชาชนได้ขึ้นไปนมัสการเป็นสิริมงคล จากลานพระพุทธรูปมีทางเดินข้างวิหารหลวง มีกำแพงแก้วล้อมรอบลานประทักษินขององค์พระธาตุพนม ตรงมุมของกำแพงแก้วมีหอระฆังเล็กๆ ที่สามารถเดินขึ้นไปตีได้ ซุ้มประตูทางเข้ากำแพงแก้วสวยงามมากด้วยครับ จะมีทางเข้าพระธาตุพนมอยู่ด้านหลังของพระวิหารหลวง และด้านหน้าตรงกับองค์พระธาตุพนมพอดี

ยอดพระธาตุพนม

ยอดพระธาตุพนม เดินมาทางด้านหลังพระวิหารหลวง เข้ามาในเขตกำแพงแก้วรอบลานประทักษิน จะเห็นส่วนยอดพระธาตุพนม ตรงยอดขององค์พระธาตุเป็นฉัตรทองคำ ลวดลายบนองค์พระธาตุงดงามเป็นเอกลักษณ์ของพระธาตุในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รอบๆ ฐานพระธาตุพนมก็จะมีกำแพงอีกชั้นหนึ่งด้วย กำแพงชั้นในนี้จะไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปครับ ซุ้มประตุทั้ง 4 ทิศจะปิดไว้ทั้งหมด ก็จะมีเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่จะเข้าไปทำการห่มผ้าพระธาตุ

นับเป็นครั้งแรกที่สามารถเก็บภาพพระธาตุพนมแบบเต็มองค์ได้ในวันนี้เพราะเอาเลนส์มุมกว้างมาด้วย

ประวัติของพระธาตุพนม
 ตามตำนานอุรังคธาตุ กล่าวว่า ท้าวพญาทั้งห้าผู้เป็นใหญ่ ได้แก่พญาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหานหลวง พญาคำแดง เจ้าเมืองหนองหานน้อย พญาจุลณีพรหมทัต เจ้าเมืองจุลนีพรหมทัต พญาอินทรปัตถ์ เจ้าเมืองอินทปัตถนคร และพญานันทเสน เจ้านครศรีโคตรบูรณ์อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุ ได้สร้างอูบมูงขึ้นเพื่อประดิษฐานพระอุรังคธาตุ ตามพุทธพยากรณ์ โดยก่อสร้างด้วยดินดิบ (อิฐดิบ) ฐานพระธาตุพนมได้ขุดลงไปจนเป็นอูบมุง (อุโมง) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กระดูกส่วนหน้าอก เมื่อก่อด้วยดินดิบเสร็จแล้ว จึงได้ก่อไฟเผาพระธาตุเป็นเวลากว่าหลายวัน อิฐจึงได้แห้งสนิทจรดกัน ในพระธาตุพนม บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งประมาณ พ.ศ. 8 พระอุตรเถระและพระโสณเถระ สมรทูตของพระเจ้าอโศกมหาราช ได้อัญเชิญมา และพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง

 พ.ศ. 2223-2225 และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน
 พ.ศ. 2233 พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) ปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น
 พ.ศ. 2483 รัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้น
 พ.ศ. 2518 องค์พระธาตุพนมชำรุดล้มลง ทางราชการได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ ให้คงสภาพเดิม
 พ.ศ. 2522 การบูรณะโดยภาครัฐและเอกชน

 เมื่อปี พ.ศ. 2485 วัดพระธาตุพนมฯ ได้รับการยกฐานะเป็น พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร" ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. ด้วยเหตุที่มีฝนตกพายุพัดแรงติดต่อมาหลายวันและความเก่าแก่ขององค์พระธาตุ พระธาตุพนมจึงได้ล้มทลายลงมาทั้งองค์ ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 นอกจากจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในองค์พระธาตุดั่งเดิมแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้นบรรจุและประดับไว้ในองค์พระธาตุอีกด้วย โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึง 110 กิโลกรัม

 ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/พระธาตุพนม

พระธาตุพนม

หลังจากเก็บภาพด้านหน้าตรง ก็ขยับมาเก็บภาพที่มุมขององค์พระธาตุ การเดินทางมานมัสการพระธาตุพนมถึง 5 ครั้ง ทำให้ผมมีภาพหลายภาพหลายบรรยากาศ เลือกเอาภาพที่ถ่ายได้ในวันที่ท้องฟ้าสดใส ดูสวยงามมาให้ชม

สักการะพระธาตุพนม

สักการะพระธาตุพนม รอบๆ ลานทักษินองค์พระธาตุพนม จะเป็นสถานที่สำหรับสักการะบูชาองค์พระธาตุ โดยเฉพาะด้านหน้ามีประชาชนเดินทางมากราบไหว้บูชาองค์พระธาตุอย่างไม่ขาดสายในทุกๆ วัน ในวันสำคัญทางศาสนาเราก็จะได้เห็นการนำเอาพานบายศรีขนาดใหญ่แบบนี้มากราบไหว้องค์พระธาตุ สำหรับการปิดทององค์พระธาตุเนื่องจากรอบองค์พระธาตุมีกำแพงรอบอีกชั้นหนึ่งและไม่อนุญาตให้เข้าไปด้านใน หลายคนที่มาไหว้พระธาตุพนมก็จะปิดทองลงบนบานประตูแทน

คำไหว้พระธาตุพนม
ตั้งนะโม 3 จบ
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต มหากัสสะ เปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิฯ
คำไหว้ยอด
เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะอุรังคะ เจติย์ อะทัง วันทามิ สัพพาทา

ลานประทักษินรอบพระธาตุพนม

ลานประทักษินรอบพระธาตุพนม ภายในชั้นกำแพงแก้วพระธาตุพนม มีลานทักษินพื้นที่กว้างขวาง สำหรับในวันประเพณีไหว้พระธาตุพนมพื้นที่กว้างๆ ที่เห็น ก็ยังไม่เพียงพอที่ประชาชนจะเข้ามาเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุเลยครับ ซุ้มประตูทางเข้ากำแพงแก้วรอบองค์พระธาตุสวยงามมาก ส่วนที่เราเห็นอยู่เป็นอาคารขนาดเล็กใกล้ๆ ซุ้มประตูก็คือพระวิหารที่เดินผ่านเข้ามาในตอนแรก

พระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง หลังจากที่ได้กระทำประทักษิน หรือการเดินเวียนเทียน 3 รอบ ตามภาษาชาวบ้านแล้ว ผมก็จะเดินออกมาไหว้พระในวิหารหลังนี้เป็นอันดับต่อไปครับ ภายในจะมีพระภิกษุนั่งรออยู่สำหรับผู้ที่ศรัทธาต้องการถวายสังฆทานก็ทำในวิหารหลังนี้เลย

ถวายสังฆทาน

ถวายสังฆทาน ภายในพระวิหารหลวง หลังจากถวายสังฆทานเรียบร้อยแล้วก็เป็นอันว่าวันนี้ได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุ นมัสการพระพุทธรูป และทำบุญถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์ ครบทุกขั้นตอนในวัดเดียวเลยครับ ภายในพระวิหารหลวงนั้นตกแต่งแบบเรียบๆ ยังไม่มีจิตรกรรม แต่ส่วนฐานที่ประดิษฐานพระประธานที่สร้างได้งดงามมาก

เสาอินทขีล

เสาอินทขีล เสาอินทขีล อยู่ตรงทางเข้าองค์พระธาตุพนม หากเดินทางมาจากด้านหน้าพระวิหารหลวงเสาอินทขีลจะอยู่ด้านซ้ายมือ หรืออยู่ระหว่างพระวิหารหลวงกับซุ้มประตูกำแพงแก้วพระธาตุพนม มีอยู่ด้วยกันหลายแห่งด้วยกัน เสาอินทขีลเหล่านี้มีมาตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ. 5 - 8 (พิมพ์ไม่ผิดหรอกครับเป็นเลขตัวเดียวจริงๆ)

ซุ้มประตูระเบียงคด

ซุ้มประตูระเบียงคด หลังจากที่นมัสการพระธาตุ ไหว้พระพุทธมารวิชัยศาสดา ถวายสังฆทานแล้ว อยากจะแนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบกลับหรือเดินทางต่อไปที่ไหน ลองเดินมาออกซุ้มประตูระเบียงคดด้านข้างขององค์พระธาตุ มีอีกสถานที่หนึ่งที่ควรจะไปชมกันครับ นั่นก็คือพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุพนมวรวิหาร เป็นสถานที่สำหรับเก็บรักษาปูชนียวัตถุมากมายหลายอย่างที่พบเมื่อคราวที่องค์พระธาตุพนมชำรุดทรุดลงมา

รอบนอกองค์พระธาตุ

รอบนอกองค์พระธาตุ พอเดินออกมาแล้วจะพบพับพระพุทธรูปที่งดงามอีกองค์หนึ่งครับ เพิ่งสร้างไม่นานเท่าไหร่ เพราะตอนที่ไปแรกๆ ยังไม่เห็น ใกล้ๆ กับองค์พระพุทธรูปองค์นี้จะมีทางเดินไปอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผมไม่ได้ถ่ายรุปภายในพิพิธภัณฑ์มาด้วย ไว้โอกาสหน้าถ้าทางวัดอนุญาตให้ถ่ายผมจะเอารุปมาเพิ่มให้ชมกันใหม่ครับ

สถูปพระธาตุพนมองค์เดิม

สถูปพระธาตุพนมองค์เดิม หลังจากที่ไหว้พระทำบุญชมรอบบริเวณวัดแล้ว ลองเดินมาที่ถนนหน้าวัดดูครับ ถ้าจอดรถไว้แถวหน้าวัดอยู่แล้วน่าจะเคยเห็น พระธาตุองค์ใหญ่ๆ แต่ไม่สูงมากนักองค์นี้ เป็นสถูปครับ สถูปพระธาตุพนมองค์เดิมนั่นเอง สร้างอยู่กลางน้ำ มีสะพานเชื่อมเข้าไป 4 ด้าน แต่จะมีเพียงไม่กี่ด้านที่มีคนมาเดินบ่อยๆ ถัดจากสถูปนี้ไปอีกไม่ไกลก็จะเป็นท่าน้ำริมฝั่งโขง มีตลาดริมโขงและถนนคนเดินนครพนมด้วย

เลี้ยงปลารอบสถูป

เลี้ยงปลารอบสถูป รอบๆ สถูปพระธาตุพนมองค์เดิม ที่บอกว่ามีน้ำรอบ ในน้ำนั้นมีปลาอยู่จำนวนมากเลยครับ แต่ละตัวโตๆ ทั้งนั้น ที่สำคัญกว่าอื่นใดก็คือมันมีปลาบึกอยู่ด้วย มีคนเอาอาหารปลามาเดินขายอยู่ตลอดวัน ถุงละ 10 บาท อยากเห็นปลาบึกก็ลองเอาอาหารปลามาหว่านลงไป เดี๋ยวได้เห็นแน่ ใหญ่ซะด้วย

พระพุทธมารวิชัยศาสดา

พระพุทธมารวิชัยศาสดา ยามโพล้เพล้ เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางวัดจะเปิดไฟส่องสว่างทำให้องค์พระธาตุพนมและบริเวณรอบๆ ดูสวยงามมากยิ่งขึ้น สำหรับครั้งแรกที่ได้เดินทางไปสักการะองค์พระธาตุพนม ผมไม่ได้เก็บภาพในเวลากลางคืนมาด้วย แต่หลังจากนั้นได้เดินทางผ่านไปที่นครพนมครั้งใดก็จะแวะสักการะองค์พระธาตุพนมเสมอ รวมทั้งหมดก็ 5 ครั้ง มีภาพกลางคืนจากทริปล่าสุดมาให้ดูกันด้วยครับ พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าขององค์พระธาตุพอดี หลายปีก่อนเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนามว่าพระพุทธมารวิชัยศาสดา

คำบูชาพระพุทธมารวิชัยศาสดา

พุทธอุรงฺคเจติยสุส ปุริมายฺ ทิสายฺ ปติฏฐิตํ ยสวนฺตํ เดชวนฺตํ พุทธมารวิชยํ อหํ วนฺทามิ สพฺพทาฯ
ข้าพเจ้ากราบไหว้ พระพุทธมารวิชัยศาสดา อันมหาชนนับถือเป็นสิริมงคล ที่ประดิษฐาน ณ ทิศเบื้องหน้าองค์พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ตลอดกาลเทอญฯ

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จากเวลากลางวัน ตอนนี้จะพามาชมองค์พระธาตุพนมในเวลากลางคืนครับ ผมอยู่ที่อำเภอธาตุพนมตลอด 2 วัน จึงจะเก็บภาพได้ครบหลายๆ สภาพแสง ตั้งแต่กลางวันยันกลางคืนแบบนี้ คืนนี้ผมเริ่มจากมุมกว้างๆ ด้านหน้าวัด เวลาประมาณเกือบ 3 ทุ่ม ทางวัดจะยังไม่ปิดไฟ ในเมืองธาตุพนมจะสงบมาก ไม่ค่อยมีผู้คนสัญจรผ่านหน้าวัดมากเท่าไหร่ พอที่จะหาจังหวะในการเก็บภาพบริเวณหน้าวัดได้กว้างๆ แบบนี้เลย

พระพุทธมารวิชัยศาสดา

พระพุทธมารวิชัยศาสดา บริเวณลานพระหน้าองค์พระธาตุเป็นพื้นที่ที่จะเปิดไฟสว่างในเวลากลางคืน แสงไฟจะทำให้รู้สีกเหมือนกับว่าทุกอย่างเป็นสีทองเลยครับ

พระพุทธมารวิชัยศาสดา

พระพุทธมารวิชัยศาสดา

พระธาตุพนมยามกลางคืน

พระธาตุพนมยามกลางคืน อีกบรรยากาศหนึ่งขององค์พระธาตุ ที่ดูสวยงามไม่แพ้เวลากลางวัน ในช่วงเวลากลางคืนเองไม่ใช่ว่าจะมีคนมาไหว้พระธาตุน้อยเลย ในช่วงเย็นของบางวันมีนักปฏิบัติธรรมมากระทำพิธีนมัสการองค์พระธาตุและนั่งสมาธิกันเยอะด้วยครับ

พระธาตุพนม

ห่มผ้าพระธาตุพนม

ห่มผ้าพระธาตุพนม เป็นภาพที่สวยมากและประทับใจมากที่ได้มาสักการะองค์พระธาตุพนมถึง 5 ครั้ง ในปี 2006 2009 และ 2010 (2 ครั้ง) แล้วก็ในปี 2013 เดือนมีนาคม และยังมีแผนจะมาอีกครั้ง 2013 เดือน พฤษภาคม เป็นครั้งที่ 6 หากได้มีโอกาสไปนครพนมอีกก็คงจะไปอีกครับติดตามการอัพเดตความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พระธาตุพนม นครพนม
โรงแรมณ ธาตุพนม เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
สีฟอง โฮมเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแสงทองริมโขง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพรนฤมิตร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
White House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
ธาตุพนม ริเวอร์ วิว โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทอแสง รีสอรท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเอ็น.เจ. เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
ริมโขงวิว รีสอร์ท ธาตุพนม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
Thatphanom View Hotel Nakhon เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.85 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com