www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุบลราชธานี >> ผาแต้ม

ผาแต้ม

 ตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 95 กิโลเมตร อยู่ในภูหินทราย เรียก "ภูผาขาม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน ตามเส้นทางไปผาแต้มนั้นจะพบ "เสาเฉลียง" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่บังเอิญเกิดขึ้น เป็นเสาหินคล้ายเห็ด ที่เกิดขึ้นโดยการถูกกัดเซาะของชั้นหิน ด้วยการกระทำของน้ำที่ไหลผ่าน อีกทั้งบริเวณนี้ร้อน จึงทำให้เกิดการพังทลายของชั้นหินอย่างรุนแรง

 ตรงบริเวณหน้าผา ปรากฏหลักฐานและร่องรอยทางโบราณคดี ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ "ภาพเขียนสี" มีอายุราว 3,000-4,000 ปี เป็นภาพที่ถูกเขียนโดยสีฝุ่นที่มีสีแดงเป็นส่วนใหญ่ มีสีดำเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มักพบกระจัดกระจายอยู่ตามแนวหน้าหินผาริมโขง ได้แก่ โหง่นแต้ม ถ้ำฝ่ามือแดง ผาเจ๊ก ผาเมย ผาขาม และโดยเฉพาะที่ผาแต้ม มีภาพเขียนมากมายกว่า 300 ภาพ เรียงรายตามความยาวของหน้าผา ติดต่อกันราว 18 เมตร เป็นรูปภาพปลาบึก ช้าง ผู้ชาย ผู้หญิง ก้างปลา (คล้ายภาพเอ็กซเรย์) ตุ้ม (เครื่องมือจับปลา) ฝ่ามือ รวมทั้งลายเส้นรูปสามเหลี่ยมและรูปทรงขนาน

 นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบ "โลงศพ" ของมนุษย์อยู่ภายในซอกหินบนภูโลง เป็นโลงศพที่ทำจากไม้ ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพดี เพราะไม่ถูกแดดถูกฝน สันนิษฐานว่า เป็นของมนุษย์ในสมัยก่อน ส่วนกระดูกและสิ่งของภายในโลง ได้หายไปก่อนที่จะถูกค้นพบ

ผาแต้มนับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีลักษณะเด่นที่ภาพเขียนสีที่ผนัง ตลอดจนภูมิประเทศโดยรอบสวยงาม ด้านตรงข้าม จะเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจ จะชมดวงอาทิตย์ขึ้นก่อนที่แห่งใดในประเทศไทย ในบริเวณดังกล่าว ในลักษณะเดียวกันกับที่หมู่บ้านเวินบึกที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ไม่ไกลจากแม่น้ำสองสีมากนัก ซึ่งทุกวันนี้จะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก

 ที่มา: http://guideubon.com

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714
http://www.tourismthailand.org/ubonratchathani

แก้ไขล่าสุด 2016-05-30 18:04:07 ผู้ชม 53709

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวผาแต้ม

ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวผาแต้ม การเดินทางมาเที่ยวชมผาแต้มต้องเข้าทางอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จากอำเภอโขงเจียมใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 2112 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากตัวอำเภอ เลี้ยวขวาที่ทางหลวงหมายเลข 2368 ประมาณ 5 กิโลเมตร ผ่านต่านตรวจของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ชำระค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติ จากนั้นขับตามเส้นทางถนนลาดยางขึ้นมาจนสุดถนน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร โดยจะผ่านเสาเฉลียงอยู่ซ้ายมือและทางแยกเข้าลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จอดรถที่หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว แล้วจากนั้นเดินต่อไปยังผาแต้มระยะทางประมาณ 100 เมตร

ผาแต้ม

ผาแต้ม จุดชมวิวพระอาทิตย์ก่อนใครในสยามเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวขาวไทยและชาวต่างชาติ ทิวทัศน์ของผาแต้มมองเห็น 2 ฝั่งริมแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว โดยจะมีเทือกเขาในพรมแดนของลาวยาวขนานกับเทือกเขาที่เป็นที่ตั้งของผาแต้มที่เรากำลังยืนชมวิวที่สวยงามนี้อยู่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกวันที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ แบบนี้เราเองก็เคยผิดหวังเหมือนกันที่เกิดฟ้าปิดในช่วงเช้า ส่วนภาพนี้เป็นภาพที่ถ่ายได้เมื่อหลายปีก่อน ปีนี้ไปอีกต้นไม้ต้นนี้ก็ไม่ได้โตขึ้นสักเท่าไหร่เลยครับ

ผาแต้ม

ผาแต้ม บนจุดชมวิวของผาแต้มมีสิ่งที่น่าสนใจรออยู่เบื้องล่างนั่นก็คือภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์อายุมากกว่า 3,000 ปี ที่เจ้าหน้าที่จะต้องรักษาสภาพของภาพวาดสีแดงที่อยู่บนผนังของผาแต้มเอาไว้ให้นานที่สุด เป็นอีกสิ่งหนึ่งนอกเหนือไปจากการขึ้นมาชมพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งบริเวณอำเภอโขงเจียมเป็นส่วนที่อยู่ด้านตะวันออกที่สุดของประเทศไทย ผาแต้มและผาชะนะไดจึงกลายมาเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่จะมองเห็นดวงอาทิตย์ก่อนพื้นที่อื่นๆ ของไทยนั่นเอง

บนผาแต้มมองลงไปพอจะเห็นทางเดินชมภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์เบื้องล่าง ในขณะเดียวกัน ถ้าเราลงไปเดินชมภาพวาดโบราณ ก็จะมองเห็นยอดผาแต้มอันเป็นจุดชมวิวที่เรายืนอยู่นั่นเอง

ทิวทัศน์สองฝั่งโขงผาแต้ม

ทิวทัศน์สองฝั่งโขงผาแต้ม หลังจากที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้วเราจะมองเห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงามของฝั่งโขงได้ชัดเจนมากขึ้น เบื้องล่างของผาแต้มมีถนนอีกสายหนึ่งที่ขนานกับแม่น้ำโขง มีชุมชนอาศัยอยู่เบื้องล่างเพราะมีที่ราบค่อนข้างกว้าง เพียงพอต่อการเกษตรกรรม

ป้ายผาแต้ม

ป้ายผาแต้ม มุมถ่ายรูปยอดนิยมของผาแต้มก็คือตรงป้ายที่เขียนว่า ผาแต้ม มีป้ายแบบคล้ายๆ กันอยู่บนจุดชมวิวผาแต้ม 2 ป้าย มีข้อความต่างกันเล็กน้อย ทั้ง 2 ป้ายเป็นมุมถ่ายรูปที่ได้รับความนิยมอย่างมากของทุกคนที่มาเที่ยวผาแต้ม แม้ว่าในวันที่ไม่เห็นพระอาทิตย์โผล่พ้นยอดเขาขึ้นมาก็ยังถ่ายรูปกับป้ายไว้ก็ยังดี

แผนผังการเดินชมภาพวาดโบราณ

แผนผังการเดินชมภาพวาดโบราณ หลังจากที่พระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมาสูงพอสมควร การถ่ายรูปจุดชมวิวก็สิ้นสุดลงไปด้วย ต่อจากนี้จะเป็นการเดินลงไปชมภาพวาดโบราณก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งได้รับการยืนยันหลังจากทำการศึกษาแล้วว่ามีอายุมากกว่า 3000 ปี เส้นทางบนแผนผังบอกให้รู้ว่าระยะทางในการเดินชมภาพวาดนี้ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร โดยปกตินักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกที่จะลงไปชมภาพวาดกลุ่มที่ 2 ชื่อผาแต้ม อันเป็นจุดที่มีภาพวาดมากมายเรียงรายกันอยู่บนผาหิน ยาวประมาณ 20 เมตร ห่างจากภาพวาดโบราณกลุ่มแรกผาขาม ประมาณ 300 เมตร รวมระยะทางจากจุดเริ่มต้นทางเดินประมาณ 800 เมตร หลังจากนั้นก็จะเดินกลับขึ้นมาตามทางที่เดินลงไป มากกว่าที่จะเดินต่อไปจนครบ 4 กลุ่มแล้วเดินขึ้นมาบนผาหมอน ซึ่งจะต้องเดินกลับมายังลานจอดรถหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 4 กิโลเมตร

เส้นทางชมภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม

เส้นทางชมภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม หลังจากได้ศึกษาเส้นทางการเดินศึกษาภาพวาดก่อนประวัติศาสตร์กันแล้วก็ออกเดินทางกันได้ ทางลงจากผาแต้มมีป้ายบอกทางไว้เดินลงไปจะเห็นบันไดค่อยๆ ลาดลงไปข้างล่าง มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ป้ายหินอ่อน พระสัญลักษณ์ประจำพระองค์ พระนามาภิไธยย่อ สธ ติดอยู่บนผาหิน มีวันที่ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนผาแต้มระบุไว้ว่า 20 พฤษภาคม 2531 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษในขณะที่เดินชมภาพวาดโบราณก็จะมีผึ้ง ผึ้งมาทำรังเกาะผาหินมีความสูงของรังแตกต่างกันไป แต่จะดูแปลกตากว่าที่อื่นๆ เพราะผึ้งที่นี่ทำรังใกล้กันเป็นกลุ่ม บางแห่งมีเกือบ 10 รัง มีหลายๆ รังที่กำลังอยู่ในช่วงการสะสมน้ำหวาน เป็นรังใหม่ บางส่วนก็มีน้ำหวานมากเพียงพอแล้วจึงเห็นมีผึ้งจำนวนมากเกาะกันเป็นกลุ่มใหญ่เฝ้าระวังรังของมันจากศัตรูที่มารบกวน
ภาพด้านล่างขวาเป็นภาพระเบียงสำหรับขึ้นไปชมภาพวาดโบราณซึ่งจะมีอยู่เป็นระยะๆ ตรงหน้าภาพวาดของกลุ่มที่ 1 ผาขาม และกลุ่มที่ 2 ผาแต้ม หลังจากนั้นก็จะไม่มีระเบียงอีกแต่จะมองเห็นภาพวาดสีแดงบนผนังผาหินที่เราเดินอยู่ได้อย่างชัดเจนหลายจุด

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 1 ผาขาม

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 1 ผาขาม เป็นกลุ่มภาพเขียนสีจุดแรกตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติความสูงจากยอดเขาถึงทางราบตามแนวหน้าผา 260 เมตร ผาขาม เป็นภาพเขียนสีในบริเวณนี้ อาจจะมองเห็นไม่ชัดเจนมากนักต้องสังเกตุผนังมาทางด้านซ้ายมือ บริเวณด้านหน้าระเบียงที่พักนักท่องเที่ยวซึ่งจะมีชั้นหินแถบสีแดง จะปรากฏภาพที่ระบายด้วยสีแดงออกจะคล้ำคล้ายสีน้ำหมาก เป็นภาพปลา ภาพสัตว์สี่เท้า ที่ค่อนข้างเลือน จำนวน 1 ตัว โดยมีเส้นตั้ง เส้นเฉียง เส้นนอน วาดทับบนรูปเหล่านี้ ลักษณะของภาพปลา จะเป็นแบบแสดงโครงร่างภายใน หรือเรียกว่าภาพ เอกซเรย์ (X-ray) ขนาดของภาพจะแตกต่างกันไป และมีภาพช้าง เขียนแบบโครงร่างภายนอก ตกแต่งด้วยเส้นขีดเป็นริ้ว
ส่วนที่นำมาให้ชมกันในรูปนี้ก็เป็นเส้นสีแดงทึบหนา ลักษณะคล้ายตัวอักษรบางอย่าง ดูเหมือนกับที่จะเห็นในหนังที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ โบราณคดี อะไรทำนองนี้ครับ

ลํกษณะผาและทางเดิน

ลํกษณะผาและทางเดิน หลังจากที่ชมภาพเขียนชุดแรกที่ผาขามไปแล้ว แม้จะได้มองเห็นการวาดรูปปลาที่เห็นเป็นรูปก้างปลา ลายเส้นหลายเส้นที่ไม่ค่อยเข้าใจความหมายของภาพเขียน ต่อไปจากผาชามเป็นเส้นทางไปชมภาพวาดโบราณก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มที่ 2 คือผาแต้ม ซึ่งเป็นไฮไลท์ของทางเดินสายนี้ บางช่วงของทางเดินเป็นทางแคบมีหินลาดเอียงเข้ามาตามทางเดิน จะมีป้ายระวังศรีษะบอกไว้เพราะหากมัวแต่มองหน้าผาอาจจะเดินชนหินข้างหน้าได้

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 2 ผาแต้ม

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 2 ผาแต้ม ภาพเขียนโบราณที่มีรายละเอียดและจำนวนภาพมากที่สุดของทางเดินศึกษาภาพโบราณของผาแต้ม มีระเบียงให้ขึ้นไปยืนชมจะได้ไม่ต้องแหงนคอให้เมื่อย ภาพเขียนเหล่านี้ไม่อาจประเมินค่าได้ในแง่ของมรดกทางวัฒนธรรมเดียวที่คนโบราณได้วาดเอาไว้ หลายๆ ภาพก็พอที่จะตีความหมายของภาพได้ ดูเหมือนจะเป็นภาพของการดำเนินชีวิตของคนในสมัยนั้น มีเรื่องราวของการจับสัตว์ การเกษตรปลูกพืช ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องมีการรักษาไว้ แต่ก็มีบางคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์มาขีดเขียนผนังหินของผาบริเวณผาแต้มหลายแห่ง ในที่สุดก็ต้องสร้างรั้วกั้นอย่างแน่นหนา แต่กาลเวลาที่ผ่านพ้นไปหลายพันปี ผนังหินก็เริ่มมีรอยกระเทาะออกมาให้เห็นในบางส่วน

ภาพวาดโบราณผาแต้ม

ภาพวาดโบราณผาแต้ม ส่วนหนึ่งของภาพวาดที่มีอยู่หลายภาพเรียงต่อกันยาวหลายแมตรเป็นรูปร่างคล้ายๆ กับพยายามที่จะวาดรูปคน แต่ดูๆ ก็เหมือนมนุษย์ต่างดาวในหนังที่เห็นอยู่บ่อยๆ เหมือนกันครับ
ภาพวาดโบราณของผาแต้ม เป็นภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อายุประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว "ผาแต้ม" เป็นชื่อหน้าผาหินทรายที่ทอดยาวไปตามลำน้ำโขง มีภาพเขียนสีเป็นรูปต่างๆ เขียนโดยคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่าผาแต้ม ภาพเขียนสีเหล่านี้ได้เล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้น โดยมากจะเกี่ยวของกับการดักจับปลา และการล่าสัตว์เป็นต้น

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 3 ผาหมอนน้อย

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 3 ผาหมอนน้อย ระยะทางเดินเลียบผาจากภาพเขียนกลุ่มที่ 2 ผาแต้ม มายังผาหมอนน้อย ประมาณ 865 เมตร ผ่านผาหินสูงตลอดระยะทางเดิน บางช่วงเป็นผาหินเรียบ มีร่องรอยการเขียนชื่อของคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่มากมาย มองให้สูงเข้าไว้จะเห็นภาพเขียนดั้งเดิมที่เขียนด้วยสีแดงอยู่เป็นระยะๆ หลายภาพก็จะมองเห็นได้ชัดเจนด้วยสีแดงเข้ม หลายภาพก็จะเห็นเป็นภาพที่เลือนลางมาก ในที่สุดเราก็จะมาถึงภาพวาดที่อยู่เป็นกลุ่มรวมกันหลายภาพ เป็นบริเวณผาหินที่เรียกกันว่าผาหมอนน้อย

ภาพวาดโบราณผาหมอนน้อย

ภาพวาดโบราณผาหมอนน้อย เป็นภาพที่ตีความหมายว่าเป็นการทำนาเมือง มีรูปต้นข้าวเรียงกันอยู่หลายต้นเหมือนทุ่งนา ด้านขวาของภาพมีรูปวัว หรือ ควาย ตัวเล็กๆ อยู่ด้วย ระหว่างทางเดินก็จะยังมีรังผึ้งมากมายกระจายตามจุดต่างๆ ของแนวผาซึ่งควรระวังเรื่องผึ้งด้วยครับ

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 4 ผาหมอน

ภาพวาดโบราณกลุ่มที่ 4 ผาหมอน ระยะทางจากภาพวาดกลุ่มที่ 3 ผาหมอนน้อย ประมาณ 750 เมตร เป็นกลุ่มภาพวาดกลุ่มสุดท้าย บริเวณผาหินตรงนี้มีก้อนหินเหลี่ยมรูปกล่องยื่นออกมาจากผนังผาหินขนาดใหญ่เหมือนตั้งใจจะสกัดหินตรงบริเวณนี้ให้เป็นรูปร่างเหลี่ยมอย่างที่เห็น แต่หินที่ดูเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมใบใหญ่ยื่นออกมาจากผามานานหลายพันปีเลยทีเดียว ภาพวาดบนกล่องหินเป็นลักษณะภาพตาข่ายที่ดูไม่เข้าใจเลย เหมือนการวาดเพื่อให้เกิดความสวยงามโดยไม่มีความหมายอื่น

ภาพวาดโบราณผาหมอน

ภาพวาดโบราณผาหมอน นับตั้งแต่ระเบียงสำหรับขึ้นไปชมภาพวาดโบราณที่สร้างขึ้นมาตรงกับกลุ่มภาพวาดกลุ่มที่ 1 และ 2 จากนั้นมาก็ไม่มีระเบียงอีก เราจะต้องเดินชมภาพแบบช้าๆ ค่อยๆ มองและสังเกตุให้ดีจะเห็นภาพวาดเหล่านี้มีอยู่มากมายกระจายไปตามแนวผนังผา ไม่เป็นกลุ่มเลยก็มีให้เห็นได้ครับ ภาพวาดหลายภาพบนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่เรียกกันว่า เส้นทางศิลปะถ้ำ มีหลายภาพที่ใช้วิธีเอามือจุ่มสีแล้วแปะลงบนผนังหิน จะเกิดเป็นรูปมือ และก็จะมีอีกหลายภาพที่ใช้มือวางบนผนังหินแล้วทาสีรอบๆ เกิดเป็นช่องว่างรูปมือแทน

ผนังหินราบเรียบที่ผาแต้ม

ผนังหินราบเรียบที่ผาแต้ม ช่วงนี้เป็นช่วงท้ายๆ ของเส้นทางเดินชมศิลปะถ้ำ ระยะทางที่เดินทางมาประมาณ 2.4 กิโลเมตร ผ่านภาพวาดมากมายนับร้อยภาพ เส้นทางบางช่วงก็ชัน บางช่วงก็ราบเรียบ มีบันไดที่ใช้ก้อนหินเรียงกันเป็นชั้นๆ ให้เดิน ด้วยระยะทางขนาดนี้ก็ทำให้หลายคนลงมาดูภาพวาดโบราณเพียงกลุ่มที่ 2 แล้วเดินกลับเลยก็มี

ทางเดินเลียบผาหมอน

ทางเดินเลียบผาหมอน โค้งสุดท้ายของการเดินทางเลียบผา อีกไม่ไกลก็จะเป็นบันไดให้เราเดินขึ้นไปอยู่บนหน้าผาอีกครั้งเพื่อเดินทางกลับไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ทางแคบช่องเบียดสาว

ทางแคบช่องเบียดสาว ภาพแรกด้านซ้ายมือเป็นทางเดินแคบๆ ระหว่างซอกหิน ปลายทางมีหินอีกก้อนใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่มองเหมือนทางตันแต่มีทางเดินเลี่ยงเล็กๆ อยู่ขวามือ พอให้เบียดลอดออกไปเดินต่อได้ ส่วนภาพกลางและภาพขวา เป็นช่องระหว่างหินก้อนใหญ่ เหลือข่องทางเดินแคบๆ ให้เราเดินเข้าไปทะลุข่องออกมาจะมีลักษณะทางเดินเล็กๆ ระหว่างหิน ในภาพขวามือ เรียกว่าช่องเบียดสาว พ้นจากช่องเบียดสาวไปได้แล้วจะมีบันไดขึ้นบนผาหมอน

บันไดสู่ผาหมอน

บันไดสู่ผาหมอน

ทางเดินกลับลานจอดรถ

ทางเดินกลับลานจอดรถ ชึ้นมาบนผาหินแล้วจะเห็นเป็นลานหินกว้างใหญ่ ยาวไปตามแนวเขา ลานหินที่ดูเหมือนเรียบหากดูให้ดีก็จะเห็นลักษณะของเส้นคลื่น เหมือนกับคลื่นบนผิวน้ำ ลายเส้นเหล่านี้พอจะบอกเราได้ว่าเขาลูกนี้เดิมทีอาจจะเคยเป็นลาวา หรือหินเหลวที่ร้อนมาก ไหลมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ ต่อมาลาวาเย็นตัวลงก็กลายเป็นแบบที่เห็นอยู่นี้ ลักษณะของเขาแบบนี้พบเห็นได้หลายแห่งในภาคอิสาน บนลานกว้างและยาวมากนี้มีพืชหลายชนิดขึ้นและเจริญเติบโตได้อย่างช้าๆ และแห้งเหี่ยวเป็นสีเหลืองในฤดูแล้ง ในฤดูฝนจะกลายเป็นสีเขียวขจี ดอกไม้ป่าหลายชนิดก็จะผลิดอกบานสวยงามไปทั่วบริเวณ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมกันได้อย่างมาก นับตั้งแต่นี้ไประยะทางในการเดินกลับลานจอดรถประมาณ 1500 เมตร รวมระยะทางที่เดินชมศิลปะถ้ำหลายพันปีในช่วงที่ผ่านมาก็ประมาณ 4 กิโลเมตรครับ

ศาลารับเสด็จ

ศาลารับเสด็จ เป็นศาลาที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับ สำหรับรับเสด็จ อยู่บนผาหมอนมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามริม 2 ฝั่งโขง

ชมวิวสวยบนผาหมอน

ชมวิวสวยบนผาหมอน เมื่อเดินขึ้นมาจากทางเดินเลียบผาชมภาพวาดโบราณก็เหนื่อยเอาการ เหมาะมากที่จะพักที่ผาหมอนชมวิวสวยๆ กันก่อนที่จะเดินกลับ
"ผาหมอน" เป็นชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียกเพิงผาหินแห่งนี้ เนื่องจากว่ามีหินขนาดใหญ่ 2 ก้อน เรียงคู่กันอยู่บริเวณหน้าผาชั้นบน (ถ้ำผาหมอน) ซึ่งถ้ามองจากด้านล่างขึ้นมาจะเห็นก้อนหินทั้งสองคล้ายหมอนหิน 2 ใบ วางเรียงกันอยู่ จากลักษณะของหินที่คล้ายหมอนหินดังกล่าว จึงเป็นที่มาของชื่อ "ผาหมอน" ที่ชาวบ้านใช้เรียกขานมาหลายชั่วอายุคนตราบจนทุกวันนี้
หมายเหตุ ผาหมอน เป็นแหล่งที่พบภาพเขียนกลุ่มที่ 3 และ 4 ภาพเขียนที่เด่นๆ มีภาพคน ภาพสัตว์ ภาพวาดลายเส้น และภาพฝ่ามือ เป็นต้น

ชมวิวระหว่างทาง

ชมวิวระหว่างทาง ถัดจากผาหมอนมาได้ไม่ไกลนักก็จะเป็นทางเดินให้เราเดินตามไปที่หน้าผาแห่งนี้ ซึ่งมีทิวทัศน์สวยงามไม่แพ้ผาหมอน จากนั้นเส้นทางจะพาเรากลับเข้าบริเวณกลางลานหินต่อไป

ปลายทางเส้นทางชมศิลปะถ้ำ

ปลายทางเส้นทางชมศิลปะถ้ำ ในที่สุดระยะทาง 1500 เมตรก็เหลืออยู่ไม่เท่าไหร่แล้ว ภาพวาดโบราณสูงค่ายิ่งยังอยู่ให้เราเข้าไปชมได้อีก แต่จะนานแค่ไหนก็อยู่กับการดูแลรักษาของเราทุกคน เพื่อคงไว้ให้คนในอีกพันปีข้างหน้าได้ชมกันครับ อีกอย่างอย่าไปขีดเขียนเพิ่มเติมภาพที่สวยอยู่แล้วกันเลยครับ แค่ทำให้มันไม่เลือนไปกว่านี้ก็ยากยิ่งแล้ว
จากจุดนี้เป็นปลายสุดของแนวผา ที่อยู่สูงกว่าผาแต้ม ถ้ามองมาจากผาแต้มจะเห็นผาชั้นนี้เป็นลานกว้างยกสูงขึ้นไป มองจากบนผาแห่งนี้ก็จะเห็นผาแต้มทั่วบริเวณ รวมทั้งลานจอดรถและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมไปถึงร้านอาหาร ด้วยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ผาแต้ม อุบลราชธานี
วิจิตรา แค็มปิ้งส์ แอนด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนกะยอม ไวท์ เมอรัลติ เฮาส์ แอนด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
โขงเจียม มารีน่า รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
สีแบ เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
โขงเจียม ออร์คิด ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนริมน้ำ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบ้านเคียงน้ำรีสอร์ท
  14.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบ้านเคียงน้ำ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเศรษฐปุระ บาย ทอแสง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านก้อนคำ โขงเจียม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ผาแต้ม อุบลราชธานี
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุบลราชธานี
  0.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดผาแต้มร่มเย็นวนาราม
  3.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อุบลราชธานี
  14.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
แม่น้ำสองสี อุบลราชธานี
  14.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกสร้อยสวรรค์และทุ่งดอกหญ้า อุบลราชธานี
  15.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดถ้ำเหวสินธุ์ชัย อุบลราชธานี
  16.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อุบลราชธานี
  18.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขื่อนปากมูล อุบลราชธานี
  22.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกแสงจันทร์ (น้ำตกลงรู) อุบลราชธานี
  24.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
แก่งจุการ อุบลราชธานี
  25.78 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com