www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุบลราชธานี >> วัดถ้ำคูหาสวรรค์

วัดถ้ำคูหาสวรรค์

 วัดถ้ำคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2222 ก่อนถึงอำเภอโขงเจียมประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดย "หลวงปู่คำคนิง จุลมณี" ซึ่งใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมจำพรรษา ปัจจุบันหลวงปู่ท่านได้มรณภาพแล้ว แต่ร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อย บรรดาลูกศิษย์ได้เก็บร่างของท่านไว้ในโลงแก้วเพื่อบูชา บริเวณวัดมีจุดชมวิวสามารถมองเห็นทัศนียภาพของลำน้ำโขงและฝั่งลาวได้อย่างชัดเจน

 นอกจากนี้วัดถ้ำคูหาสวรรค์ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี โดยนักท่องเที่ยวมากราบไหว้สังขารหลวงปู่คำคนิง จุลมณี ที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านแล้ว ยังคงถือโอกาสชมทิวทัศน์แม่น้ำโขง และแม่น้ำสองสี ตลอดจนทิวทัศน์ของอีกฝั่งคือประเทศลาวได้อย่างชัดเจน เนื่องมาจากบริเวณที่ตั้งของวัดอยู่บนที่ราบสูงริมฝั่งแม่น้ำโขง ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามของแม่น้ำโขง และแม่น้ำมูล ไหลรวมกันกลายเป็นแม่น้ำสองสีอย่างสวยงาม

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714
http://www.tourismthailand.org/ubonratchathani

แก้ไขล่าสุด 2017-02-10 13:05:49 ผู้ชม 26561

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
อุโบสถวัดถ้ำคูหาสวรรค์

อุโบสถวัดถ้ำคูหาสวรรค์ หากเดินทางมาจากอำเภอพิบูลมังสาหารจะมองเห็นวัดถ้ำคูหาสวรรค์อยู่ทางขวามือ สำหรับเราที่มาจากเขมราฐมานอนค้างที่ผาแต้มพอพระอาทิตย์ขึ้นแล้วเราก็เดินทางลงจากผาแต้มมุ่งหน้าอุบลราชธานี ซึ่งใช้เส้นทางทางหลวงหมายเลข 2222 จากโขงเจียมจะใกล้กว่า ทิศทางที่เราขับรถมานั้นทำให้เรามองเห็นพระอุโบสถสีขาวสร้างแบบยกพื้นสูงด้านล่างใช้เป็นศาลาขนาดใหญ่ และยอดพระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิสีทองเหลืออร่ามแต่ไกล ความสวยงามของอุโบสถสีขาวล้วนสะดุดตาเราอย่างมากจนต้องแวะเข้าไปสักการะสังขารหลวงปูคำคะนิงก่อนเดินทางต่อไป

พระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิ

พระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิ เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมสีขาวทั้งหมด ส่วนยอดเป็นสีทองเหลืองอร่ามทุกยอด พระเจดีย์องค์นี้เป็นที่สะดุดตาของทุกคนที่เข้ามาภายในวัดแม้แต่ชาวต่างชาติที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ทุกคนเป็นต้องหยิบเอากล้องออกมาถ่ายรูปกับพระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิ กันถ้วนหน้า ลานจอดรถของวัดถ้ำคูหาสวรรค์ที่อยู่หน้าพระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิพอดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้พระในเจดีย์ได้สะดวกก่อนที่จะเดินต่อไปยังที่อื่นๆ ในวัด

พระพุทธรูปในเจดีย์

พระพุทธรูปในเจดีย์ หลังจากที่ได้ลองตระเวนไปไหว้พระเข้าวัดศึกษาประวัติความเป็นมาของวัดหลายๆ แห่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดที่ขึ้นชื่อในแต่ละจังหวัดได้แก่ วัดหินหมากเป้ง วัดถ้ำกลองเพล วัดผาตากเสื้อ วัดอรัญญบรรพต มาจนถึงวัดถ้ำคูหาสวรรค์แห่งนี้ พบว่าหลายๆ วัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นองค์ประธานในเจดีย์ เห็นแล้วสัมผัสได้ถึงการปฏิบัติธรรมกรรมฐานของเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในวัดนั้นๆ ในพระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิมีผนังแปดด้านติดคำสั่งสอน การปฏิบัติธรรม มงคลชีวิต ฯลฯ ทั้ง 8 ด้าน ให้ประชาชนที่ได้เข้ามาภายในได้ตระหนักถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อยึดถือเป็นหลักในการดำรงชีวิต

พระพุทธรูปปางนาคปรก

พระพุทธรูปปางนาคปรก อยู่ใกล้ๆ กับพระธรรมเจดีย์ศรีไตรภูมิ ก่อนบันไดทางลงไปยังถ้ำอันเป็นที่ตั้งของสังขารหลวงปู่คำคะนิง จุลมณี

บันไดทางลงไปสักการะสังขารหลวงปู่

บันไดทางลงไปสักการะสังขารหลวงปู่

ระเบียงชมวิวแม่น้ำโขง

ระเบียงชมวิวแม่น้ำโขง เดินลงบันไดมาสักหน่อยก็จะถึงระเบียงนี้ เข้าไปชมวิวสวยๆ กันได้ครับ ส่วนถ้ำที่ตั้งสังขารหลวงปู่อยู่ทางซ้ายมือ

ถ้ำคูหาสวรรค์

ถ้ำคูหาสวรรค์ เป็นเหมือนผนังของถ้ำ แต่เป็นผนังผาหินมีด้านเดียว ต่อมามีการสร้างผนังปิดอีกด้านหนึ่งจึงมีลักษณะเป็นโถงของอาคารหรือถ้ำ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยหลายองค์เรียงกัน มีพระพุทธรูปปางอื่นๆ ด้วยสุดทางเป็นทางเข้าไปยังห้องที่ตั้งสังชารหลวงปู่คำคะนิง ทางเข้าออกสร้างคล้ายเป็นปากถ้ำ

สังขารไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่

สังขารไม่เน่าเปื่อยของหลวงปู่ บรรจุไว้ในโลงแก้ว ตั้งอยู่บนฐานคล้ายปราสาทสามยอดเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาสักการะ
ประวัติหลวงปู่คำคะนิง จุลมณี เกิดที่บ้านหนองบัว แขวงคำม่วน ประเทศลาว เมื่อวันพุธ เดือน ๔ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๗ โยมบิดา-โยมมารดา นายคินทะโนราช และนางนุ่น จุลมณี

การบรรพชา หลวงปู่คำคะนิง จุลมณี ท่านเคยเป็นฤาษีชีไพรมาก่อน ๑๕ ปี ท่านบรรพชาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี บวชได้ ๙ วัน เพื่อทดแทนคุณบิดามารดาที่ตายไป หลังจากนั้นพบครบก็ต้องลาสึก แม้ว่าอยากจะบวชต่อเพียงไรแต่เพราะมีหน้าที่ความจำเป็นต้องเลี้ยงดูครอบครัว ท่านแต่งงานเมื่ออายุ ๑๘ ปี มีบุตร ๒ คน แต่ท่านก็ยังยึดมั่นในการปฏิบัติธรรมโดยการทำงานหาเงินให้เมียกับลูกตอนกลางวัน พอกลางคืนท่านก็ไปนอนที่วัด ถือศีลปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนาไม่กลับไปอยู่ที่บ้าน เพียงดูแลลูกและเมียไม่ให้อดอยาก ทำเช่นนี้จนภรรยาทนไม่ได้ที่เห็นสามีปฏิบัติตัวแบบนี้ จึงอนุญาตให้ท่านบวชได้ตามใจปรารถนา
เมื่อเป็นดังนั้น ท่านจึงกลับไปวัดที่ตนเคยบวชสามเณรอีกครั้ง เพื่อพักอาศัยปฏิบัติธรรม อยู่ต่อมาได้ไม่นาน ท่านก็ได้เพื่อนสหมิกธรรมอีกสองคน จึงมีความดำริที่คิดจะออกแสวงหาครูบาอาจารย์ ก่อนจะบวชก็เคยออกสืบเสาะแสวงหาพระอาจารย์ด้านกรรมฐานเก่งๆ ได้มีสหาย ๒ คนร่วมเดินทางไปหาอาจารย์สีทัตถ์ เมืองท่าอุเทน แต่ก็ผิดหวัง เมื่ออาจารย์สีทัตถ์กล่าวปฏิเสธ แต่ก็แนะนำให้ไปหาอาจารย์เหม่ย ทั้งหมดรีบมุ่งไปหาอาจารย์เหม่ย เพื่อมอบตัวเป็นศิษย์ อาจารย์เหม่ยนิ่งฟังแล้ว กล่าวด้วยเสียงห้วนๆ
“ถ้าจะมาเป็นศิษย์เรา ทั้งสามคนนี้จะมีคนตายหนึ่งคน มีใครกลัวตายบ้าง” อาจารย์เหม่ยชี้ถามรายตัว เพื่อนอีกสองคน ยอมรับว่ากลัวตาย ครั้นมาถึงนายคำคะนิง เขาได้ตอบอาจารย์ออกไปว่า “ไม่กลัวตาย”
อาจารย์เหม่ยเลยให้เพื่อนอีกสองคนที่กลัวตายกลับไป แล้วหันมาทางนายคำคะนิงแล้วพูดว่า “การเรียนวิชากับอาจารย์นั้น มีทางตายจริงๆ เพราะมันทุกข์ทรมานอย่างที่สุด” ให้นำเสื้อผ้าที่มีสีสันทิ้งไป ใส่ชุดขาวแทน เป็น “ปะขาว” ในฐานะศิษย์
ในสำนักมีแต่ข้าวตากแห้งกับน้ำเพียงประทังชีวิตพออยู่รอดไปวันๆ เวลานอนก็เอามะพร้าวต่างหมอน นายคำคะนิงอยู่ได้ไม่นานก็เกิดเรื่องการตายขึ้น ของชายผู้หนึ่งที่มาฝากตัวเป็นศิษย์ คนผู้นี้นั่งสมาธิจนตาย อาจารย์สั่งนายคำคะนิงให้แบกศพที่ตายเข้าป่า โดยมีอาจารย์เดินนำหน้า ข้ามเขาลูกหนึ่งไปสิบกว่ากิโลเมตรไปถึงต้นไม้ใหญ่สองคนโอบ แล้วสั่งให้เขามัดศพกับต้นไม้นั้น จากนั้นสั่งกำชับว่า “เจ้าจงเดินเพ่งศพนี้ไปเรื่อยๆ ทั้งวันทั้งคืน อย่าได้หยุด ให้พิจารณาอสุภกรรมฐานอย่างถ่องแท้ พรุ่งนี้เช้าค่อยเจอกัน”
นายคำคะนิงจึงได้เริ่มพิจารณาศพตามที่อาจารย์เหม่ยสั่งไว้ ถึงรุ่งเช้านายคำคะนิงจึงกลับไปสำนักตามที่อาจารย์กำหนด อาจารย์เหม่ยถามขึ้นเป็นประโยคแรกเมื่อเจอหน้า “เป็นอย่างไงบ้าง”
“ศพนั้นก็เหมือนตัวศิษย์ครับอาจารย์ ไม่มีอะไรแตกต่างตรงไหนเลย” นายคำคะนิงบอก
“กลัวไหม” อาจารย์ถาม
“ไม่กลัวครับ เพราะเขาก็เหมือนเรา เราก็เหมือนเขา”
อาจารย์ไม่ถามอะไรอีก สั่งให้ไปเอามีดเล่มหนึ่งทั้งศิษย์และอาจารย์ต่างเดินทางกลับไปหาศพ ณ ที่เดิมพอไปถึง ก็สั่งให้แก้มัดเอาศพออกมานอนราบกับพื้นดิน แล้วสั่งให้นายคำคะนิงผ่าท้องเอาศพออก จากนั้นอาจารย์ก็กล่าวว่า ให้หยิบอะไรออกมา ต้องอธิบายอวัยวะนั้นได้ และต้องบอกดังๆ เมื่อนายคำคะนิงชำแหละศพ ตัดหัวใจ ตับ ปอด ไต กระเพาะ และสิ่งต่างๆ ก็จะตะโกนบอกอาจารย์ด้วยเสียงอันดัง จนครบหมดถูกต้อง
“เอ๊า...คราวนี้ชำแหละเนื้อลอกออกให้เหลือแต่กระดูก” อาจารย์เหม่ยสั่งให้เขาทำต่อ และนั่งดูจนเสร็จเรียบร้อย จึงได้สั่งอีกเอากองเนื้อและเครื่องในไปเผาให้หมด เอากระดูกรวมไว้ต่างหาก แล้วเอาไปต้มล้างให้สะอาด เหลือแต่กระดูกล้วนๆ อย่าให้มีอะไรติดอยู่
นายคำคะนิงปฏิบัติตามที่อาจารย์สั่งทุกประการ เนื้อตัวของนายคำคะนิงเต็มไปด้วยรอยเปื้อนเลือด, น้ำเหลือง และมีกลิ่นศพติดตัวเหม็นคละคลุ้ง อาจารย์เหม่ยยังไม่เลิกรา สั่งต่อไปให้เขานับกระดูกและเรียงให้ถูก เขาลงมือปฏิบัติตามทันที
“กระดูกมีสองร้อย แปดสิบท่อนครับ อาจารย์”
อาจารย์เหม่ยอธิบายอีกว่า คนที่จะบรรลุธรรมด้วยความเพียรบำเพ็ญ ต้องมีกระดูกครบสามร้อยท่อนกระดูก คือ พระวินัย เนื้อหนังมังสาเป็นพระวินอก ส่วนระเบียบคือ หู ตา จมูก ปาก มือ เท้า หลังจากได้เรียนรู้วิชาจากอาจารย์เหม่ยหลายสิ่งหลายอย่าง อาจารย์ก็ไล่ให้ไปสืบเสาะหาความรู้เพิ่มเติมเอาเอง นายคำคะนิงจึงยึดเอาโยคีเป็นรูปแบบภายนอก และถือศีลภาวนาอย่างพระภิกษุตั้งแต่บัดนั้นมา
ท่านได้ออกจาริกธุดงค์ในปีหนึ่ง เดินธุดงค์คราวนี้หลวงพ่อปาน (พระครูวิหารกิจจานุการ) วัดบางนมโค อ.สนา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้นำศิษย์เอก ๔ รูป ไปด้วยมีหลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง) หลวงพ่อฤาษีลิงขาว หลวงพ่อฤาษีลิงเล็ก และพระเขียน หลวงพ่อปานพาลูกศิษย์ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม มุ่งหน้าไปทางภาคเหนือ ข้ามเขตชายแดนลึกเข้าไป กระทั่งเข้าเขตเชียงตุง
วันหนึ่ง...คณะของหลวงพ่อปานได้ผ่านไปถึงถ้ำแห่งหนึ่ง และได้พบกับปะขาวคำคะนิง ขณะนั้นท่านปล่อยผมยาวรุงรังมาถึงเอว หนวดเครางอกยาวรุ่ยร่าย นุ่งห่มด้วยผ้าซึ่งดูไม่ออกว่าเป็นผ้าสีอะไร เพราะปุปะและกระดำกระด่าง หลวงพ่อปานจึงเปรยขึ้นว่า
“นี่พระหรือคน ?”
“ไอ้พระมันอยู่ที่ไหน ? เฮ้ย ! พระมันอยู่ที่ไหนวะ ?” พูดสวนด้วยน้ำเสียงขุ่นเหมือนไม่พอใจ
“อ้าว...ก็เห็นผมยาว ผ้าก็อีหรุปุปะ สีเหลืองก็ไม่มี แล้วใครจะรู้ว่าเป็นคนหรือพระล่ะ ?”
“พระมันอยู่ที่ผมหรือวะ ?”
“ไม่ใช่” หลวงพ่อปานตอบยิ้มๆ
“แล้วพระมันอยู่ที่ไหนเล่า ?”
“พระน่ะอยู่ที่ใจใสสะอาด”
“ถ้าอย่างนั้นละก้อ เสือกมาถามทำไมว่าเป็นพระหรือคน”
“เห็นผมเผ้ารุงรังอย่างนั้นนี่ ใครจะไปรู้เล่า ?”
“ก็ในเมื่อพระไม่ได้อยู่ที่ผม ไม่ได้อยู่ที่ผ้าแล้วเสือกมาถามทำไม ทำไมไม่ดูที่ใจคน ไอ้พระบ้านพระเมืองกินข้าวชาวบ้านแบบนี้อวดดี มันต้องเห็นดีกันละ”
พูดจบ ปะขาวคำคะนิงก็หยิบเอาหวายยาวประมาณหนึ่งวาโยนผลุงไปตรงหน้า หวายเส้นนั้นกลายสภาพเป็นงูตัวใหญ่ยาวหลายวาน่ากลัว ชูคอร่าก่อนจะเลื้อยปราดๆ เข้ามาหาหลวงพ่อปานพระลูกศิษย์เห็นอย่างนั้นต่างถอยไปอยู่เบื้องหลังหลงพ่อปาน
หลวงพ่อปานไม่ได้แสดงอาการแปลกใจหรือตื่นกลัวท่านก้มลงหยิบใบไม้แห้งขึ้นมาใบหนึ่งแล้วโยนไปข้างหน้า ใบไม้นั้นก็กลายเป็นนกขนาดใหญ่คล้ายเหยี่ยวหรือนกอินทรี
นกซึ่งเกิดจากอิทธิฤทธิ์โผเข้าขยุ้มกรงเล็บจับลำตัวงูใหญ่เอาไว้แล้วกระพือปีกลิ่วขึ้นไปเหนือทิวยอดไผ่ ต่อสู้กันเป็นสามารถงูฉกกัดและพยายามม้วนตัวขนดลำตัวรัด ขณะที่นกใหญ่จิกตีและจิกขยุ้มกรงเล็บไม่ยอมปล่อย แต่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแพ้ชนะ ตราบกระทั่งร่วงหล่นลงมาทั้งคู่พอกระทบพื้นดิน งูกลายเป็นช้างป่าตัวมหึมา งายาวงอนส่วนใบไม้แห้งแปรรูปเปลี่ยนเป็นเสือลายพาดกลอน แล้วสองสัตว์ร้ายก็โผนเข้าสู้กันใหม่ เสียงขู่คำรามของเสือเสียงโกญจนาทของพญาคชสารแผดผสานกึกก้องสะท้านป่า
นี่ไม่ใช่ภาพมายา แต่เกิดจากฤทธิ์อภิญญา! ครั้นสองตัวประจัญบานไม่รู้แพ้ชนะได้ครู่หนึ่งก็หายไป ปะขาวยาวหนวดยาวเครารุงรังได้บันดาลให้เกิดไฟลุกโชติช่วงประหนึ่งจะมีเจตนาจะให้ลามมาเผา แต่หลวงพ่อปานก็บันดาลพายุฝนสาดซัดลงมาดับไปเกิดฝุ่นตลบคลุ้งไปทั้งป่า
ลองฤทธิ์กันหลายครั้งหลายครา ปรากฏว่าไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แทนที่ทั้งสองฝ่ายจะโกรธเกรี้ยว กลับทรุดลงนั่งหัวเราะด้วยความขบขัน
คณะศิษย์ของหลวงพ่อปานพากันประหลาดใจ หลวงพ่อปานจึงอธิบายว่า “เขากับฉันเป็นเพื่อนกัน” พร้อมกันนั้นก็หันไปพูดกับปะขาวผมยาวหนวดเครารุงรังว่า ลูกศิษย์ของท่านนั้น “เอาจริง” หมายถึงปรารถนาบรรลุสู่พระนิพพานกันจริงๆ ทุกรูป การที่ท่านและปะขาวผมยาวเล่นฤทธิ์ประลองกันก็เพื่อให้ศิษย์ทุกคนได้เห็น “ของจริง”
แล้วหลวงพ่อปานก็ให้คณะศิษย์ของท่านเข้าไปทำความเคารพ ซึ่งปะขาผมยาวก็ได้นอบน้อมถ่อมตนว่าท่านไม่ได้เก่งกาจเกินว่าหลวงพ่อปานเลยแม้แต่น้อย
หลวงพ่อปานและศิษย์ของท่านพักอยู่กับปะขาวผมยาวนานนับครึ่งเดือน เพื่อให้ทุกรูปได้รับคำแนะนำสั่งสอนด้านอภิญญาเพิ่มเติม เมื่อพักอยู่ที่คูหาถ้ำพอสมควรแก่เวลาแล้ว หลวงพ่อปานและคณะศิษย์ก็ออกธุดงค์ต่อไป ปะขาวผมยาวคนนั้นก็คือปะขาวคำคะนิง หรือหลวงปู่คำคะนิงนั้นเอง
หลังจากหลวงพ่อปาน วัดบางนมโคและคณะศิษย์ของท่านจากไปแล้ว ปะขาวคำคะนิงก็ออกเดินทางต่อไป โยคีคำคะนิงดั้นด้นไปยังภูอีด่าง ซึ่งสมเด็จลุนพระอริยเจ้าแห่งราชอาณาจักรลาวจำพรรษาอยู่ พร้อมแจ้งวัตถุประสงค์ของตนให้ท่านทราบ สมเด็จให้ความปราณีมอบคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ให้โยคีคำคะนิงไปค้นคว้าศึกษา ครั้นท่านโยคีคำคะนิงศึกษาธรรมจากพระคัมภีร์เรียบร้อยก็เอาเก็บไว้ที่เดิม มิได้นำมาเป็นสมบัติส่วนตัว โยคีคำคะนิงลงจากภูเขาได้พบชาวบ้าน และได้ทำการรักษาคนป่วยจนหายทุเลา ท่านเดินทางไปเรื่อย เจอใครก็รักษาโรคภัยให้หมด

การอุปสมบท เรื่องของโยคีตนนี้ ทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา เจ้ามหาชีวิตของประเทศลาวถึงกับสนพระทัย จึงได้โปรดให้โยคีคำคะนิงเข้าเฝ้าท่ามกลางพระญาติและเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงตรัสถาม “ท่านเก่งมีอิทธิฤทธิ์มากหรือไม่”
“ไม่” โยคีคำคะนิงตอบสั้นๆ
“ถ้าไม่เก่งแล้วทำไมคนจึงลือไปทั่วประเทศ” ตรัสถามอีก
“ใครเป็นคนพูด” โยคีคำคะนิงไม่ตอบแต่ถามกลับ
“ประชาชนทั้งประเทศ” พระองค์บอก
“นั่นคนอื่นพูด อาตมาไม่เคยพูด” โยคีคำคะนิงตอบออกไป
พระเจ้าศรีสว่างวัฒนาทรงแย้มพระสรวล ในการตอบตรงๆ ของโยคีคำคะนิง จึงตรัสถามว่า
“ขอปลงผมท่านที่ยาวถึงเอวออกได้ไหม”
คำคะนิงถึงกับอึ้งชั่วครู่ จึงได้กราบทูลไปว่า “ถ้าปลงผม หนวดเคราก็ต้องอุปสมบทเป็นพระภิกษุ”
“ยินดีจะจัดอุปสมบทให้ท่านเป็นพระราชพิธี” เจ้ามหาชีวิตยื่นข้อเสนอให้ โยคีคำคะนิงจึงได้กล่าวตกลง และได้บวชตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ณ วัดหอเก่าแขวงนครจำปาศักดิ์ คือศาสนสถาานที่กำหนดให้เป็นวัดอุปสมบทของปะขาวคำคะนิง มีประกาศป่าวร้องให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ถึงวันอุปสมบทปะขาวคำคะนิง โดยพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ทรงมีพระบรมราชานุเคราะห์ให้จัดขึ้น
พอถึงวันอุปสมบท ประชาชนทุกชนชั้นทุกอาชีพ ตลอดจนข้าราชการทุกหมู่เหล่าต่างมาร่วมในงานพระราชพิธีแน่นขนัดเป็นประวัติการณ์ แต่ละคนเตรียมผ้าไหมแพรทองมาด้วยเพื่อจะมาปูรองรับเส้นเกศาของปะขาวคำคะนิง ตอนแรกจะมีการแจกเส้นเกศาให้แก่ประชาชนโดยทั่วถึงกันหม ครั้นถึงเวลปลงผมจริงๆ ประชาชนกลัวจะไม่ได้เส้นเกศาจึงแออัดยัดเยียดเข้ายื้อแย่งกันอลหม่าน เกินกำลังเจ้าหน้าที่รักษาการจะห้ามปรามสกัดกั้นได้ ในที่สุดเหตุการณ์ก็สงบลงเมื่อเส้นเกศาถูกแย่งเอาไปจนหมด
จากนั้นพระราชพิธีอุปสมบทก็ดำเนินต่อไปโดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ เจ้ามหาชีวิตพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา ทรงเป็นองค์ประธานฝ่ายฆราวาส มีพระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมพิธี ๒๘ รูป เมื่อพิธีการอปุสมบทเสร็จสิ้นปะขาคำคะนิงซึ่งครองเพศพรหมจรรย์ เป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว ได้รับฉายาว่า “สนฺจิตฺโตภิกขุ” หรือ “พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต”
หลังจากเป็นพระภิกษุ พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต ก็กลับขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำบนภูอีด่างเช่นเดิม ดำรงวัตรปฏิบัติตามแนวทางของพระป่าอย่างเคร่งครัด และนับตั้งแต่เป็นพระภิกษุคำคะนิง สนฺจิตฺโต ประชาชนก็ยิ่งหลั่งไหลไต่ภูเขาขึ้นไปกราบนมัสการ และขอความช่วยเหลือจากท่านจนไม่มีเวลาปฏิบัติภาวนาบำเพ็ญธรรม
วันหนึ่ง พระคำคะนิง สนฺจิตฺโต ก็หายไปจากภูอีด่าง และไม่กลับมาอีกเลย ประชาชนลาวรู้แต่ว่าท่านออกธุดงค์สาบสูญไปแล้ว ต่างพากันร่ำไห้โศกเศร้าอย่างน่าสงสาร
หลวงปู่ชอบจารึกธุดงค์ฝั่งลาวเพราะหมู่บ้านยังไม่เยอะเท่าฝั่งไทย ป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ และในช่วงปลายชีวิตท่านก็ตัดสินใจจำพรรษา วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เป็นที่สุดท้ายของท่าน

การมรณภาพ หลวงปู่ป่วยเป็นโรคปอดบวม และได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๑.๑๓ น. ณ โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ ท่านได้อยู่ในเพศฤาษีได้ ๑๕ ปี และอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ได้ ๓๒ พรรษา

พระธรรมเทศนา จงพยายามละกิเลสที่อยู่ในตัวเรา อด อัด อุด บริสุทธิ์ในธรรม
ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8772

รูปเหมือนหลวงปู่คำคะนิง

รูปเหมือนหลวงปู่คำคะนิง อยู่ใใกล้ๆ กับสังขารของหลวงปู่ ถัดมามีพระประจำวันเกิดให้ทำบุญเป็นสิริมงคล

รูปเหมือนหลวงปู่คำคะนิง

รูปเหมือนหลวงปู่คำคะนิง อยู่ที่ปากทางเข้าห้องตั้งสังขารหลวงปู่ ใกล้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัย 7 องค์ ที่เรียงรายกันอยู่ตรงผนังถ้ำ

หอกลอง-หอระฆัง

หอกลอง-หอระฆัง แม้แต่หอกลองและหอระฆังของวัดก็สร้างด้วยสีขาวทั้งหมด หากได้เดินทางมาที่วัดถ้ำคูหาสวรรค์ด้วยตัวเองก็จะรู้สึกว่าได้เดินท่ามกลางเสนาสนะสีขาวทั้งหมดรู้สึกโล่งๆ อย่างบอกไม่ถูกครับ

มณฑปแก้ว

มณฑปแก้ว เป็นมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดับด้วยกระจกทั้งหลัง อยู่ติดกับกำแพงใกล้ประตูทางเข้าหันพระพักตร์เข้าในวัด แลดูสวยงาม

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อุบลราชธานี
โขงเจียม มารีน่า รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
สีแบ เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านก้อนคำ โขงเจียม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมโขงเจียม
  1.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนริมน้ำ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบ้านเคียงน้ำ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบ้านเคียงน้ำรีสอร์ท
  2.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
เบลลานี รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมอารยารีสอร์ท
  2.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
ธารามายา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดถ้ำคูหาสวรรค์ อุบลราชธานี
วัดถ้ำเหวสินธุ์ชัย อุบลราชธานี
  2.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
แม่น้ำสองสี อุบลราชธานี
  2.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ อุบลราชธานี
  4.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขื่อนปากมูล อุบลราชธานี
  8.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชมรมอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้านสิรินธร
  13.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดผาแต้มร่มเย็นวนาราม
  13.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อุบลราชธานี
  14.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ผาแต้ม อุบลราชธานี
  14.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขื่อนสิรินธร อุบลราชธานี
  23.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
แก่งจุการ อุบลราชธานี
  23.75 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com