www.touronthai.com

หน้าหลัก >> แพร่ >> บ้านนาตอง

บ้านนาตอง

 บ้านนาตอง หมู่ 9 ตำบลช่อแฮ ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 20 กิโลเมตร สภาพทางค่อนข้างลำบากในหน้าฝนต้องใช้รถกระบะแรงดี บ้านนาตองมีประชากรประมาณ 100 หลังคาเรือน จัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ (Home Stay) ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ในช่วงนอกฤดูทำนาจะปลูกถั่วลิสงโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และเก็บยอดใบเมี่ยงทุก 2 เดือน นอกจากวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแตกต่างจากคนเมืองแล้ว ที่บ้านนาตองยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เต่าปูลู ซึ่งเป็นเต่าหางยาว มีถิ่นกำเนิดบริเวณรอยต่อ 3 ประเทศ คือ ภาคเหนือของประเทศไทย ภาคตะวันออกของประเทศพม่า และทางตอนใต้ของจีน ปัจจุบันเต่าปูลูอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ จะอาศัยอยู่ในเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำสะอาดเท่านั้น และมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ กินปู กุ้ง และหอยเป็นอาหารหลัก พื้นที่บ้านนาตองนั้นเป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำน่าน และใกล้ ๆ หมู่บ้านจะมีถ้ำนาตอง และน้ำตกผาบ่องที่สามารถเข้าไปเที่ยวได้ ผู้ที่ต้องการมาศึกษาชีวิตที่เรียบง่ายที่นี่ ติดต่อได้ที่ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านนาตอง 05452 9060-1 โดยเสียค่าใช้จ่าย 390 บาท/คน ไม่รวมค่าเดินทาง ใช้เวลาพัก 1 วัน 1 คืน

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5567 1466
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2017-09-20 15:46:52 ผู้ชม 32812

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางสู่บ้านนาตอง

การเดินทางสู่บ้านนาตอง ในวันที่เดินทางมายังที่นี่ แน่นอนว่าผมก็ศึกษาข้อมูลมาบ้างเล็กน้อย ในฤดูฝนว่ากันว่าการเดินทางมาที่นี่ควรจะเป็นรถกระบะ เพราะถนนลื่นและบางทีก็อาจจะมีดินโคลนไหลลงมาบนถนน ส่วนในฤดูอื่นๆ บ้านนาตองถือว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ที่การคมนาคมทางรถยนต์สะดวกทีเดียว จากเมืองแพร่ ใช้เส้นทางเดียวกันกับวัดพระธาตุช่อแฮ แวะไหว้พระธาตุเพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นไปวัดพระธาตุจอมแจ้ง ผมลองถามๆ แม่ค้าขายของในวัดได้ความว่าการเดินทางมายังหมู่บ้านนาตองนั้น มีถนนลาดยางตลอดเข้าได้สบายกว่าในอดีตมาก เพียงแต่ถนนค่อนข้างแคบและเป็นทางลงเขาชัน ผมออกเดินทางจากวัดพระธาตุจอมแจ้งกลับมาที่วัดพระธาตุช่อแฮ จากนั้นใช้เส้นทางด้านข้างเลียบกำแพงวัด ถนนสายนี้ทอดยาวไปจนถึงเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์เลยทีเดียว แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นขุนเขายาว ทางลาดชันและคดเคี้ยวจนมีเพียงจำนวนน้อยที่จะใช้เส้นทางนี้ในการสัญจร เส้นทางที่พูดถึงนี้คือทางหลวงหมายเลข 1022 ระยะทางประมาณ เกือบ 30 กิโลเมตร ผ่านวัดพระธาตุดอยเล็งจุดชมวิวเมืองแพร่ และน้ำตกเชิงทอง จะถึงทางแยกเข้าหมู่บ้านนาตอง มีรูปปั้นเต่าปูลูขนาดใหญ่ยืนจังก้าอยู่ตรงทางแยก ตั้งแต่จุดนี้ไปจะเป็นเส้นทางลงเขาเป็นส่วนใหญ่ อีก 8 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านนาตองสองข้างทางมีดอกหญ้าสีขาวบานสะพรั่งไปตลอดทางถนนสายนี้จึงดูสบายตาสบายใจเป็นพิเศษ

บ้านนาตอง

ในขณะที่เข้าหมู่บ้านมาผมมองหาจุดที่ผมจะใช้เป็นที่พัก ตามคำแนะนำของพระภิกษุรูปหนึ่งที่วัดจอมแจ้งว่าผมควรจะไปติดต่อหาที่นอนในวัดธรรมานุภาพ นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาที่บ้านนาตองก็คงเคยใช้วัดธรรมานุภาพเป็นที่พึ่งพิง แต่ความจริงแล้วในหมู่บ้านมีโฮมสเตย์ 3 หลัง เพียงแต่ไม่มีป้ายบอกว่าหลังไหนให้บริการโฮมสเตย์ ก็อาศัยการถามเอา แต่ผมก็ยังคงปักหลักที่จะนอนในวัดธรรมานุภาพ ก่อนที่ผมจะหาวัดเจอ ผมเห็นป้ายเล็กๆ ข้างทางในหมู่บ้านเขียนลูกศรชี้ไปที่บ้านหลังหนึ่งบนเนินติดถนน เขียนว่าเต่าปูลูและถ้ำปู่ปันตาหมี หรือที่เรียกว่าถ้ำบ้านนาตองในเวลาต่อมา ก็เลยเข้าไปถามว่ามีเต่าปูลูให้ดูจริงหรือเปล่า ชาวบ้านก็ตอบว่ามีอยู่ 1 ตัว ในบ่อ ทีแรกผมก็รู้สึกไม่ดีเท่าไหร่ที่เต่าตัวหนึ่งจะถูกขังไว้ที่นี่เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาดู แต่พอมารู้ทีหลังว่ามันหายากมากตามธรรมชาติ ชาวบ้านจึงจับเต่าปูลูตัวเล็กมาเลี้ยงไว้จนมันเริ่มโต เพราะอย่างน้อยคนที่ดั้นด้นมาถึงที่บ้านนาตองยังคงได้เห็นอะไรบ้าง ดีกว่ากลับไปมือเปล่าด้วยความผิดหวัง

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินไปถ้ำปู่ปันตาหมี หรือถ้ำบ้านนาตอง ระยะทาง 500 เมตร เพียงแต่วันนี้มันช้าเกินไปที่จะเดินเที่ยว เวลาเริ่มเข้าสู่ช่วงเย็นแล้ว ผมต้องไปพบหลวงพ่อวัดธรรมานุภาพเพื่อขออาศัยนอนในพื้นที่วัดด้วยการกางเต็นท์ (ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามีโฮมสเตย์เพราะไม่มีป้ายบอก)

วัดธรรมานุภาพ

วัดธรรมานุภาพ ขับเข้าหมู่บ้านลึกเข้ามาเรื่อยๆ ผ่านโรงเรียนบ้านนาตอง จนในที่สุดก็เห็นวัดแห่งนี้ ผมเข้าไปถามหลวงพ่อในวัดว่าจะขอค้างคืนในวัด ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่มีกำแพงอะไร ลานว่างๆ หน้าศาลาก็เพียงพอสำหรับการนอนในคืนนี้ หลวงพ่อบอกให้นอนที่ลานหน้าศาลาหลังนี้ได้เลย เรื่องที่นอนเป็นอันจบ ต่อไปก็คือการหาคนที่จะพาไปดูเต่าปูลู หลายคนก็เล่าเรื่องเต่าตัวนี้ให้ฟัง ว่ามันเป็นเต่าหากินกลางคืน ปกติในเวลากลางวันจะไม่เห็นเต่าตัวนี้สักเท่าไหร่ ต้องเป็นเวลากลางคืน หลายๆ คนก็แนะนำชื่อผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยัด เป็นผู้ให้บริการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเป็นเวลาหลายปีจนถึงปัจจุบัน บ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยังเป็นโฮมสเตย์อีกด้วย ก็เลยต้องขับรถหาบ้านผู้ช่วยฯ

เจดีย์วัดธรรมานุภาพ

เจดีย์วัดธรรมานุภาพ เป็นเจดีย์ที่อยู่บนเขาพื้นที่ของวัด จากศาลาที่ผมอาศัยนอน เดินขึ้นไปอีกประมาณ 100 เมตรก็จะถึงเจดีย์

เจดีย์วัดธรรมานุภาพ

เจดีย์วัดธรรมานุภาพ

ยามเย็นที่บ้านนาตอง

ยามเย็นที่บ้านนาตอง ความเรียบง่ายของชาวบ้านในหมู่บ้าน ทำให้ผมไม่รู้สึกว่าเดินทางคนเดียวเลย ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนชาวบ้านนาตองจะทักทายพูดคุยเหมือนรู้จักกัน เหมือนว่าผมเป็นชาวบ้านที่นี่ มีหลายคนพูดภาษาไทยไม่เก่งก็ยังทักทายกับเราเป็นภาษาท้องถิ่นที่พอจะฟังออก ถ้าเราถามคำถามไป จะได้คำตอบกลับมาทุกครั้ง อัธยาศัยไมตรีอันดีของชาวบ้านนาตองยังมีอีกมากมายหลายเรื่องซึ่งจะทยอยเล่าไปเรื่อยๆ แต่ก่อนที่ตะวันจะลับขอบฟ้าหายไปผมจำเป็นต้องไปหาผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านยัด ให้พาไปดูเต่าปูลูในเวลากลางคืนให้ได้ก่อน จากลำห้วยแม่ก๋อนอันเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของบ้านนาตองที่ไหลผ่านหน้าวัด ผมก็ขับรถถามทางไปบ้านผู้ช่วยฯ ไปเรื่อยๆ

บรรยากาศการเดินหาเต่าปูลู

บรรยากาศการเดินหาเต่าปูลู หลังจากที่ได้เจอผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผู้ทำหน้าที่นำนักท่องเที่ยวเดินชมเต่าปูลูเป็นงานอดิเรก เปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์อีกด้วย เรานัดแนะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเดินหาเต่าปูลู สัตว์หากินกลางคืนพันธุ์หายากของไทยที่พบอยู่เพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้น เราออกเดินที่เวลา 2 ทุ่ม ระยะทางในการเดินประมาณ 2 กิโลเมตร รวมเวลาเดินไป-กลับ 2 ชั่วโมงเศษ น่าเสียดายที่เราไม่เจอเต่าปูลูเลยสักตัวเดียว แต่ก็ได้เจอปลาท้องถิ่นที่เรียกว่าปลากั้งออกมาหากิน ชาวบ้านที่นี่มักใช้เวลาว่างในการตกปลากั้งเพื่อเป็นอาหารเย็น ปลากั้งมีอยู่มากพอสมควรในลำห้วยแม่ก๋อนแห่งนี้ หน้าตาคล้ายปลาช่อนแต่ตัวเล็กกว่ามาก เมื่อโตเต็มที่มันจะมีขนาดลำตัวเพียงไม่กี่เซนติเมตร แต่มันก็เป็นอาหารที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งที่หาได้ตามธรรมชาติสำหรับชาวนาตอง เราเจอเต่าธรรมดาๆ ตัวเดียว แล้วก็มีกุ้งที่อาศัยลำห้วยแห่งนี้มีจำนวนมาก เจอปูซึ่งมีพฤติกรรมคล้ายเต่าปูลู คือเมื่อมันเจอเรามันจะกลับเข้ารูทำให้น้ำขุ่นขึ้นมา เต่าปูลูเองก็อาศัยอยู่ในโพรงเป็นที่พรางตัว เมื่อเจอเรามันก็จะหลบเข้าโพรง ทำให้เราไม่ได้เห็นตัวมันง่ายๆ

ผู้ช่วยฯ ยัด เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนชาวนาตองกินเต่าปูลูเป็นอาหาร วันหนึ่งเดินจับเต่าปูลูตัวขนาดน้ำหนักเป็นกิโลขึ้นไป จะจับได้ไม่ต่ำกว่า 10 ตัว เอาไปกินกัน หลังจากที่เต่าชนิดนี้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วและกลายเป็นสัตว์ที่ต้องอนุรักษ์ การกินเต่าปูลูก็หายไป รวมทั้งตัวเต่าปูลูเองก็เริ่มจะหายไปด้วย การจะได้เจอเต่าชนิดนี้ง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่มีอีกแล้ว การเดินหาเต่าปูลูแบบเอาจริงเอาจังอาจจะต้องใช้ระยะทางเดินมากกว่า 4 กิโลเมตร ในที่สุดเมื่อไม่เจอเราก็เดินกลับ ขากลับไม่เดินตามลำห้วยแต่เดินลัดสวน ชาวบ้านที่นี่ปลูกลางสาด ลองกอง และกาแฟ แต่ก็ไม่กี่ต้น เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนบ้านนาตอง

ลืมเล่าไปอีกส่วนหนึ่งว่า ก่อนที่จะเดินหาเต่าปูลูผมไปซื้ออุปกรณ์ที่ร้านค้าที่มีอยู่เพียง 2 ร้านในหมู่บ้าน อุปกรณ์ที่จำเป็นก็คือไฟฉายต้องใช้แบบดีๆ หน่อยมีแบตเตอรี่ไฟแรงๆ แล้วก็รองเท้าบูตยาง ง่ายต่อการเดินเลาะลำห้วยไม่ควรเอารองเท้าผ้าใบเดินป่า เพราะมันจะเปียก ไม่มีเวลาตากให้แห้งและจะส่งกลิ่นเหม็นในระหว่างเดินทางกลับ ร้านขายของร้านแรกอยู่กลางหมู่บ้านติดโรงเรียนบ้านนาตอง อีกร้านอยู่ค่อนไปทางท้ายหมู่บ้าน ถ้าต้องการสอบถามข้อมูลอะไรเกี่ยวกับบ้านนาตอง ไปที่ร้านค้าจะดีที่สุดนอกจากบ้านผู้ช่วยฯ ยัด แล้วก็ยังมีอีก 2 หลังที่เปิดเป็นโฮมสเตย์ แต่ผมก็ไม่ได้ไปสำรวจทุกหลัง ถ้าใครจะไปเที่ยวบ้านนาตองไม่กางเต็นท์ที่ลานวัดก็ลองถามหาบ้านโฮมสเตย์ดูกันได้ครับ ที่นี่ไม่ค่อยใช้โทรศัพท์กัน ก็เลยไม่มีเบอร์โทรมาให้

ชมวิวสวยบ้านนาตอง

ชมวิวสวยบ้านนาตอง หลังจากที่การเดินหาเต่าปูลูล้มเหลว เวลาผ่านไป 5 ทุ่ม ผมกลับถึงลานวัดก็อาบน้ำนอน ตอนเช้าตั้งใจว่าจะขับรถตระเวนหาที่ถ่ายรูปสวยๆ ของหมู่บ้าน พอดีรู้มาว่าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน ตั้งอยู่บนที่สูงมองลงมาเห็นบ้านนาตองจากมุมสูงน่าจะสวย ความเย็นในเวลากลางคืนเมื่อได้รับความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์ในรุ่งเช้าเราก็หวังว่าจะได้พบกับทะเลหมอก แต่เนื่องจากหมู่บ้านนาตองตั้งอยู่ในหุบเขาเล็กๆ หมอกก็เลยไม่มีมากมายเหมือนที่เราจะพบเห็นบนดอยสูงๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดในเช้าวันนี้ก็คือพระเจดีย์วัดธรรมานุภาพ ส่วนบริเวณอื่นของวัดรวมทั้งหมู่บ้านถูกปกคลุมไปด้วยหมอกสีขาวจางๆ หลังจากชมวิวที่หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ก๋อน ผมก็รีบลงมาที่หมู่บ้านเพื่อหามุมสวยๆ ในการเก็บภาพต่อไป

หน่วยจัดการต้นน้ำห้วยแม่ก๋อนมีทางขึ้นก่อนเข้าหมู่บ้านนาตองไม่ไกลนัก แต่ทางค่อนข้างชันในช่วงแรก การขึ้นในเวลาเช้าจะทำให้ดินลื่นรถเก๋งไม่แนะนำให้ขึ้นไป ที่หน่วยมีลานพอที่จะกางเต็นท์ได้ ถ้าลองติดต่อสอบถามดูอาจจะได้นอนบนดอยสูงชมวิวสวยตอนเช้าได้ด้วย

บรรยากาศยามเช้าในบ้านนาตอง

บรรยากาศยามเช้าในบ้านนาตอง ขับตระเวนไปมาในหมู่บ้าน มีเพียงส่วนท้ายของหมู่บ้านที่จะเห็นลำห้วยไหลมาเป็นสายผ่านฝายน้ำล้นที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านนาตอง เรียกว่าขับไปขับมาก็มาจบที่มุมเดิม แต่ถ้าคนชอบถ่ายรูปจริงๆ ลองใช้วิธีการเดินหามุมแทนการขับรถบางทีอาจจะเจอมุมสวยๆ ซุกซ่อนอยู่ในหมู่บ้านก็เป็นได้

ท้ายบ้านนาตอง

ท้ายบ้านนาตอง เป็นบริเวณสุดท้ายของถนนคอนกรีต จากจุดนี้ต่อไปจะเป็นถนนดิน มีเพียงมอเตอร์ไซค์เท่านั้นที่จะไปได้ ชาวบ้านที่ขี่รถมาจากท้ายบ้าน เห็นผมยืนถ่ายรูปอยู่กลางถนน แกเบรครถแล้วบอกว่า ขอสูมาเต๊อะ ก็แปลว่า ขอโทษ ขอผ่านไปหน่อย อะไรทำนองนี้ แต่ถ้าเป็นแถวกรุงเทพฯ ที่เราอยู่ ยืนถ่ายรูปกลางถนน เป็นอันได้รับคำสรรเสริญต่างๆ นานา ไม่ต้องบอกนะว่าจะมีคำว่าอะไรกันบ้าง นี่ละความแตกต่างอันมีเสน่ห์อย่างยิ่งที่หาไม่ได้จากหมู่บ้านในเมืองอันเจริญแล้ว ชาวบ้านนาตองเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด รุ่นแล้วรุ่นเล่า ความเรียบง่ายแบบนี้ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านรู้ดีว่าธรรมชาติมีค่าขนาดไหน เขาจึงได้ร่วมมือกันรักษาป่าไม้ และสายน้ำ จะว่าไปตั้งแต่เข้าหมู่บ้านมาจำได้ว่าไม่เห็นมีขยะให้เห็นเลยนับเป็นหมู่บ้านที่มีความสะอาดระดับสุดยอด

บ้านนาตอง

บรรยากาศความเรียบง่ายของการซื้อขายในบ้านนาตอง มีร้านค้าอยู่ 2 ร้านที่ใหญ่หน่อย อาจจะมีร้านเล็กๆ อีก 1 ร้านแต่มองไม่เห็น อาจจะเล็กไปหน่อย ร้านแรกอยู่กลางหมู่บ้านใกล้โรงเรียนบ้านนาตอง เป็นร้านค้าที่ทุกคนที่มาเที่ยวบ้านนาตองควรจะรู้จัก ท่ามกลางกระแสความเรียบง่ายก็ยังคงมีร้านกาแฟสดให้ดื่มด่ำกับรสชาดกาแฟแท้ได้ในภาพบนขวา มีเพียงร้านเดียวที่ขายกาแฟ ซึ่งเมล็ดกาแฟก็น่าจะมาจากไร่กาแฟเล็กๆ จำนวนหลักสิบต้นเท่านั้นที่ผมเห็นในหมู่บ้านนาตอง ภาพล่างซ้ายเป็นบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยแบบเดลิเวอรี่ ส่งถึงหน้าบ้าน รถกระบะคันนี้เป็นของร้านค้าร้านหนึ่งในหมู่บ้าน ที่จะใช้เวลาตอนเย็นจัดแจงเอาของที่จะขายใส่รถเร่ขายไปทั่วหมู่บ้าน เท่าที่เห็นมีรถกระบะ 2 คันที่ใช้วิธีนี้ ชาวบ้านก็เพียงมารอที่หน้าบ้านเพื่อที่จะซื้อของกินบางอย่าง ในรถจะมีของกินเท่านั้น อย่างอื่นจะมีน้อยมากๆ เพราะชาวบ้านที่นี่ก็จะซื้อเฉพาะกับข้าวบางอย่างเท่านั้นไม่ซื้อมากมายหลายอย่างเผื่อกินหลายมื้อ ส่วนใหญ่ก็จะถือกับข้าวใส่ถุงเล็กๆ กลับบ้าน

ส่วนภาพล่างขวา ภาพสุดท้ายนี้เป็นบ้านผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ยัด ซึ่งเป็นโฮมสเตย์ และบริการนำเที่ยวเดินป่าหาเต่า

ถ้ำปู่ปันตาหมี

ถ้ำปู่ปันตาหมี เป็นถ้ำที่เก็บความรู้ด้านโบราณคดีของมนุษย์สมัยที่ใช้หินเป็นเครื่องมือ ถ้ำแห่งนี้ถูกขุดพบโครงกระดูกและของใช้ที่ทำจากหินได้ไม่นานนัก โครงกระดูกที่พบมี 2 โครง ชาวบ้านนาตองเคารพถ้ำแห่งนี้มาก เพราะเป็นบรรพบุรุษอายุหลายร้อยปี เป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่มาอาศัยพื้นที่บ้านนาตองในการดำรงชีวิต ข้าวของเครื่องใช้ที่พบในหลุม ก็ถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง รวมทั้งโครงกระดูกด้วย สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือกองหินย้อยด้านหลังพระพุทธรูป มีการค้นพบว่าใต้หินย้อยที่ดูเป็นกองใหญ่ๆ เกิดจากหินย้อยค่อยๆ งอกทับกองดิน เป็นกองดินกองใหญ่ที่น่าจะเกิดจากการขุดดินเพื่อค้นหาอะไรบางอย่างเมื่อไม่น้อยกว่า 500 ปีก่อน หลังจากนั้นหินย้อยค่อยๆ งอกมาทับกองดินจนเกือบหมด เดินลึกเข้าไปในถ้ำจะมีหลุมที่ขุดพบโครงกระดูกหลุมที่ 2 เรื่องราวความรู้และสิ่งที่พบในถ้ำจัดทำเป็นนิทรรศการอยู่ปากถ้ำ แต่ปัจจุบันนี้ได้ผุผังลงไปเกือบหมดแล้ว แต่ก็ยังพอมีข้อมูลให้อ่านอย่างที่ผมเล่ามาย่อๆ ประมาณนี้แหละครับ

ถ้ำพระ

ถ้ำพระ เป็นถ้ำที่อยู่ติดกับถ้ำปู่ปันตาหมี มีปากถ้ำสูงกว่านิดหน่อยต้องปีนมาจากปากถ้ำปู่ปันตาหมี พอเข้ามาในถ้ำพระเราจะเห็นโพรงทะลุออกไปได้อีก 2 โพรงด้วยกัน จึงทำให้ในนี้ค่อนข้างสว่าง มีพระพุทธรูปประดิษฐานและมีขวดน้ำ พวงมาลัยที่ชาวบ้านขึ้นมากราบไหว้อยู่ด้วย ตอนเข้ามาในถ้ำนี้ทีแรกผมรู้สึกเหมือนอยู่ในโบสถ์ มีพระพุทธรูปส่วนหินงอกหินย้อย ต้นไม้ เหมือนเป็นภาพจิตรกรรมประดับโบสถ์ยังไงยังงั้น

พิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง

พิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง เป็นการร่วมมือกันระหว่างชุมชนบ้านนาตอง SPAFA และกรมศิลปากร ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้โบราณคดีชุมชนบ้านนาตอง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จัดการขุดค้นศึกษาถ้ำบ้านนาตองหรือถ้ำปู่ปันตาหยี นำเอาวัตถุโบราณที่ขุดค้นพบมาเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง โดยใช้อาคารเรียนหลังหนึ่งของโรงเรียนบ้านนาตองซึ่งไม่ได้ใช้งาน (เนื่องจากมีเด็กนักเรียนน้อยเกินไป เด็กๆ ชาวนาตอง 8 คน จึงต้องไปเรียนที่โรงเรียนในชุมฃนใกล้เคียงโดยมีรถรับ-ส่ง)

พิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง

พิพิธภัณฑ์บ้านนาตอง สิ่งที่ขุดพบในถ้ำบ้านนาตองได้แก่โครงกระดูกมนุษย์ในลักษณะค่อนข้างสมบูรณ์ ชิ้นส่วนเครื่องมือที่ทำจากหินหลายชิ้นซึ่งหินที่นำมาเป็นเครื่องมือดังกล่าวเป็นหินภูเขาไฟ ซึ่งไม่มีอยู่ในบ้านนาตอง จึงยังเป็นปริศนาว่ามนุษย์ในถ้ำไปเอาหินมาจากที่ไหนในการประดิษฐ์เครื่องมือ อีกอย่างที่สร้างความสงสัยให้กับเรามากก็คือหินที่มีลักษณะเป็นรูปโดนัท ที่ไม่รู้ว่านำมาใช้เป็นอะไรได้ เพราะในถ้ำบ้านนาตองมีหินลักษณะโดนัทอยู่เป็นจำนวนมาก

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ บ้านนาตอง แพร่
ภูสายธารา รีสอร์ท
  21.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ร่มไม้สายธาร รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนแก้ว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ban Noi Resort Phrae เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนอัมพร รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนันตยา โฮม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
พลพล แอนด์ นวลละออ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำทอง แพร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  29.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้าน ไอ อินสปาย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  29.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมภูมิไทย การ์เดน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  30.46 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com