www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุตรดิตถ์ >> บ่อเหล็กน้ำพี้

บ่อเหล็กน้ำพี้

 บ่อเหล็กน้ำพี้ อยู่ที่หมู่ 1 บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 56 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1245 เป็นโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งเหล็กกล้า ที่นำมาทำพระแสงดาบตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมมีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ มีบ่อหนึ่งเรียกว่า บ่อพระแสง ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ โดยสงวนไว้ใช้ทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น และ บ่อพระขรรค์ เป็นบ่อที่ในสมัยโบราณมีช่างทำพระขรรค์ถวายพระมหากษัตริย์ ได้นำแร่เหล็กน้ำพี้จากบ่อพระขรรค์ไปถลุงทำพระขรรค์

 ภายในบริเวณมี พิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้ รวบรวมหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับประวัติเหล็กน้ำพี้ โดยจัดแสดงและจำลองให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนการตีเหล็กน้ำพี้ ตั้งแต่การขุดแร่เหล็กน้ำพี้จนตีเป็นดาบที่มีความแกร่งและความคมเป็นเลิศ ดาบน้ำพี้จึงเป็นอาวุธคู่กายของขุนศึกและนักรบไทยในสมัยโบราณตลอดมา

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2542 เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

 เหล็กน้ำพี้ในสมัยโบราณ นิยมนำไปตีเป็นพระแสงราชศัสตราของพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีความเชื่อว่าเป็นเหล็กศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถแก้อาถรรพณ์ อยู่ยงคงกรพันและป้องกันภูตผีปีศาจได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องเดินทาไปในถิ่นแปลกที่อยู่เป็นประจำ และผู้ที่ต้องพักค้างอ้างแรมในสถานที่ต่างๆอยู่เสมอ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานแพร่ 0 5452 1118-9, 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2017-02-10 12:15:12 ผู้ชม 32644

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดน้ำพี้

วัดน้ำพี้ หลังจากที่เลี้ยวเข้ามาตามถนนสู่อำเภอทองแสนขัน เพื่อเดินทางไปบ้านน้ำพี้ ที่จริงถนนที่เข้าถึงบ่อเหล็กน้ำพี้มาได้หลายสาย แต่ทางที่สะดวกที่สุดเป็นทางหลวงหมายเลข 1244 ตรงบ้านน้ำอ่าง (เป็นทางตรงจะได้ไม่สับสน) ทีนี้พอมาถึงบ้านน้ำพี้ก็จะมีทางแยกอีกที พอเลี้ยวมาก็จะเป็นวัดน้ำพี้อย่างที่เห็น มีถนนเลียบไปด้านข้างซ้ายมือของวัด

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ พอมาตามป้ายบอกทางข้างวัดน้ำพี้ ทีนี้เราก็จะมาถึงบริเวณที่เรียกกันว่าบ่อเหล็กน้ำพี้แล้วครับ บรรยากาศที่นี่ต่างจากที่ผมจินตนาการเอาไว้มาก ทีแรกนึกว่าจะเป็นลานโล่งๆ มีแต่ดินแดงๆ เหมือนกับเหมืองแร่ที่อื่น แต่ที่นี่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างที่เห็น บรรยากาศร่มรื่น การจัดการด้วยระบบที่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว แม้ว่าบ่อเหล็กน้ำพี้จะอยู่ลึกจากถนนหลัก แต่พอมาถึงก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก ก่อนที่จะมาถึงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เราจะผ่านร้านค้ามากมายที่ขายสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเหล็กน้ำพี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบรรดามีด พล้า วัตถุมงคล ฯลฯ

ตำนานเหล็กน้ำพี้

ตำนานของเหล็กน้ำพี้ เป็นเล่าขานกันมาปากต่อปาก เป็นนิทานปรัมปรามาจนทุกวันนี้ มีอยู่ว่า เมื่อครั้งสมัยก่อนผ่านมาเป็นเวลานานแล้ว มีชายหนุ่มสองคนพี่น้อง มีอาชีพทำไร่ ทำนา และมีที่พักอาศัยอยู่กลางป่า ใกล้ๆ บริเวณบ่อเหล็กน้ำพี้ อยุ่มาวันหนึ่งพระราชาเสด็จประพาสป่าเพื่อล่าสัตว์ (พระราชาองค์นี้เชื่อกันว่า ในครั้งนั้นครองเมืองอยู่บริเวณทุ่งกะโล ที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน เนื่องจากมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุได้หลายชิ้น) และได้เกิดพลัดหลงทางกับเสนาอำมาตย์ผู้ติดตาม จนกระทั่งได้มาพบกระท่อมของชายหนุ่มทั้งสองและได้ขอพักอาศัยค้างคืนด้วย ชายหนุ่มทั้งสองได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีด้วยอัธยาศัยไมตรีดียิ่ง ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบมาก่อนเลยว่าชายผู้นั้นคือพระราชา ยังผลทำให้พระราชาพอพระทัยมาก วันรุ่งขึ้นก่อนเสด็จกลับพระราชาจึงได้บอกความจริงว่าพระองค์เป็นกษัตริย์ และถ้ามีโอกาสก็ให้สองคนพี่น้องไปเยี่ยมเยือนบ้าง

วันหนึ่งขณะที่ชายผู้พี่กำลังทำงานอยู่ในไร่ มีวัวตัวหนึ่งบุกรุกเข้ามากินพืชไร่ของตน ด้วยความโมโหจึงหยิบเอาก้อนหินบริเวณนั้นขว้างไปยังวัวตัวนั้นเพื่อขับไล่ ปรากฏว่าก้อนหินที่ขว้างไปนั้นถูกหัววัวแตกเลือดไหลไม่หยุดถึงแก่ความตาย ทำให้เขาประหลาดใจมาก จึงได้หยิบก้อนหินนั้นมาพิจารณาดู ก็พบว่ามีน้ำหนักมากกว่าหินทั่วไป ทั้งมีสีสันแปลกคือค่อนข้างดำคล้ำและมีสีคล้ายสนิมมีด เขาจึงเอาก้อนหินนั้นกลับบ้านด้วย แล้วเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้น้องชายฟัง น้องชายคิดว่าน่าจะลองนำมาหลอมให้เป็นเหล็ก จึงตัดสินใจช่วยกันหลอมแล้วเข่นออกมาเป็นมีดอีโต้เล่มหนึ่ง เมื่อมีโอกาสเข้าไปในเมืองได้นำมีดอีโต้ไปด้วย เพื่อถวายแด่พระราชา เมื่อไปถึงพระราชวัง มหาดเล็กไม่ยอมให้เข้าเฝ้า แต่ชายผู้พี่ดื้อจะเข้าเฝ้าให้ได้ เมื่อพระราชได้ทอดพระเนตรก็ทรงจำได้และให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ก่อนกลับชายผู้พี่ได้ถวายมีดอีโต้ที่เตรียมมาแต่พระราชาไม่ยอมรับ ขอให้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในอาชีพของตน ทำให้ชายผู้พี่เกิดความน้อยใจมาก คิดว่าพระราชาไม่รับมีดเพราะรังเกียจ ที่ตนไม่นำของดีๆ มาถวาย จึงรีบกราบบังคมทูลลากลับและลาดมีดอีโต้ออกมาด้วยความเสียใจ จนคมมีดกรีดโดนท้องพระโรง ปรากฏว่าพื้นท้องพระโรงที่แข็งแกร่งด้วยศิลาอย่างดีก็พลันแตกแยกออกตามรอยคมมีด พระราชาเสด็จฯ ตามออกมาเห็นพื้นท้องพระโรงแตกแยกด้วยมีดอีโต้ เช่นนั้นก็ประหลาดใจเป็นอันมาก ให้มหาดเล็กรีบไปตามชายผู้พี่กลับมาแต่ก็ไม่ทันเพราะชายผู้พี่เสียใจมากเขาได้โยนมีดอีโต้ทิ้งลงไปในหนองน้ำด้วยความน้อยใจเสียแล้ว

พระราชาจึงสั่งให้ทหารช่วยกันงมหามีดอีโต้เล่มนั้น กว่าจะได้ก็สูญเสียชีวิตทหารไปถึงสามพันคน หนองน้ำแห่งนั้นจึงมีชื่อเรียกว่า "วังสามพัน" หรือ "บึงสามพัน" จนทุกวันนี้ เมื่อได้มีดอีโต้มาแล้ว พระราชาทรงมีรับสั่งให้ช่างตีเหล็กนำไปทำเป็นพระแสงและทรงชักชวนให้ชายผู้พี่อยู่รับราชการด้วย แต่เขาปฏิเสธเพราะไม่มีความรู้ พระองค์ได้พระราชทานเงินทองและปูนบำเหน็จเป็นการตอบแทนแก่ชายทั้งสองคนพี่น้อง ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุยตามอัตถภาพจนสิ้นชีวิต ความศักดิ์สิทธิ์ของดวงวิญญาณชายผู้พี่ได้สิงสถิตในบริเวณบ่อเหล็กน้ำพี้แห่งนั้น ชาวบ้านต่างก็ให้ความเคารพนับถือกันมาก พากันขนานนามท่านว่า "เจ้าพ่อเหล็กน้ำพี้" หรือ "เจ้าพ่อพระแสง" และพร้อมใจกันสร้างศาลเพื่อเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณ ในเวลาต่อมา "เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก" คือคำขวัญของจังหวัดอุตรดิตถ์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ พอมาถึงแล้วก็เดินเข้ามาดูในบริเวณสักหน่อย เริ่มต้นทางเดินจะเป็นอาคารหลังหนึ่ง มีลักษณะเป็นห้องเรียงแถวเดียว ยาวๆ แต่ละห้องเป็นการแสดงการจำลองการหลอม การขึ้นรูปตีเหล็กน้ำพี้ เห็นแบบนี้แล้วเราก็จะได้รู้ว่ากว่าจะมาเป็นเหล็กน้ำพี้อันลือชื่อนั้น มันไม่ใช่ง่ายๆ ดาบเหล็กน้ำพี้กอบกู้เอกราชของชาติไทยมาตั้งแต่อดีต

การถลุงแร่ให้ได้เนื้อเหล็กโดยการใช้ถ่านไม่สักเป็นเชื้อเพลิงและใช้สูบลมเร่งความร้อนจนแร่เหล็กละลายรวมกัน ส่วนเศษหิน ดิน ทราย จะรวมตัวกันเรียกว่า "ตะกัน" ซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เหตุที่ใช้ถ่านไม้สักในการถลุงเหล็ก เนื่องจากน้ำหนักเบาให้ความร้อนสูง สามารถเร่งความร้อนได้เร็ว ถ่านไม่แตกเป็นสะเก็ดไฟ และให้ความร้อนได้นาน

อีกภาพเป็นการจำลองการตีเหล็กน้ำพี้ เพื่อเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ตามความต้องการ ซึ่งมีอุปกรณ์ในการตีเหล็ก คือเตาเผา ทั่ง ค้อน คีมจับเหล็กสูบลม ถ่าน ตะไบ ในการตีเหล็กเริ่มจาก นำเหล็กที่ได้จากการถลุงมาแล้วเข้าเตาเผาจนเหล็กร้อนแดง และอ่อนตัว จึงนำไปตีบนทั่ง ใช้ช่างสำหรับตีเหล็กจำนวน 2-3 คน ใช้เวลาตีประมาณ 2 ชั่วโมงก็จะได้เครื่องมือ เครื่องใช้ ถ้าตีเป็นรูปดาบ เหล็กน้ำหนัก 0.80 กิโลกรัม จะตีเป็นดาบได้ความยาวประมาณ 19 นิ้ว ดาบเหล็กน้ำพี้ 1 เล่ม จะใช้เวลาทำประมาณ 3-4 ชั่วโมง ไม่รวมการทำฝักและฐานดาบ

สุดท้ายของอาคารพิพิธภัณฑ์เป็น ตู้แสดงพระแสงและพระขรรค์ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เถลิงถวัลย์ราชสมบัติหลวงจรุงราษฎรเจริญ นายอำเภอตรอนสมัยนั้น ได้นำเหล็กน้ำพี้มอบให้พระยาวิเศษฤๅไชย (มล.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) ข้าหลวงประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ (พ.ศ. 2469 - 2471) ทำพระแสงดาบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นพระแสงขรรค์ชัยศรี พระแสงศาสตราวุธ เป็นหนึ่งในเครื่อง "เบญจราชกกุธภัณฑ์" (เครื่องหมายความเป็นพระราชาธิบดี ที่แสดงไว้ในพระบรมราชาภิเษก ตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา) ซึ่งประกอบด้วย "พระมหาพิชัยมงกุฏ , พระแสงขรรค์ชัยศรี, ธารพระกรวาลวีชนี (พัดกับแส้จามรี) และฉลองพระบาทเชิงงอน" มาจนทุกวันนี้

เรื่องราวของพระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกคู่พระทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้กล้าชาวอุตรดิตถ์ ใช้ดาบที่ตีจากเหล็กน้ำพี้ชื่อ "นันทกาวุธ" เป็นดาบคู่มือถืออยู่ในมือซ้าย ส่วนดาบข้างขวาเป็นดาบกันซึ่งตีจากเหล็กธรรมดา เมื่อรบกับพม่าอย่างตะลุมบอน ทำให้ดาบข้างขวาหักจนได้สมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก" ตั้งแต่บัดนั้น

ศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้

ศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานเกี่ยวกับเหล็กน้ำพี้ ที่เล่าไปแล้ว ชาวบ้านที่บ้านน้ำพื้และพื้นที่ใกล้เคียงเคารพศรัทธามาก มีคนมากราบไหว้อยู่เป็นประจำ แม้แต่ในวันธรรมดา ที่ผมมาก็ยังมีคนมาไหว้พร้อมเครื่องแก้บนต่างๆ ชาวบ้านเล่าว่าศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ขอโชคของลาภก็สมปรารถนา

ศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้หลังเก่า

ศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้หลังเก่า

บ่อเหล็กน้ำพี้

รูปเหมือนหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

รูปเหมือนหลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ผู้มีความสำคัญต่อชาวบ้านบ่อเหล็กน้ำพี้ หรือบ้านน้ำพี้แห่งนี้เป็นอย่างมาก ในระหว่างที่ท่านอยู่ที่บ้านน้ำพี้ ท่านทำประคำเหล็กน้ำพี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนมีประชาชนที่ศรัทธาเดินทางมาขอไว้ติดตัวเป็นสิริมงคล มากเข้าๆ ท่านจึงสอนให้ชาวบ้านทำประคำเหล็กน้ำพี้ขึ้นมาแล้วปลุกเสกให้ ต่อมาชาวบ้านได้นำความรู้การทำลูกประคำเหล็กน้ำพี้มาทำเป็นรายได้เสริม มาจนถึงทุกวันนี้

ชาวบ้านน้ำพี้จึงสร้างศาลาพร้อมสร้างรูปเหมือนของท่านไว้ให้เป็นที่สักการะบูชา

บ่อพระแสง

บ่อพระแสง บ่อเหล็กน้ำพื้เพียงบ่อเดียวที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้มาตกแร่เหล็กน้ำพี้ ห้ามนักท่องเที่ยวเก็บเหล็กน้ำพี้จากบริเวณอื่นเด็ดขาด บ่อนี้ดูไปก็เหมือนกับบ่อดินธรรมดาๆ แต่ชาวบ้านบอกว่าถ้าเอาแม่เหล็กที่ผูกกับเชือกปลายไม้ไผ่หย่อนลงไป จะมีเหล็กน้ำพี้ดูดติดขึ้นมา ว่ากันว่าจะได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับดวงของแต่ละคน บางคนตกรอบเดียวได้เหล็กน้ำพี้จำนวนมาก บางคนไม่ได้เลยถึงขั้นให้เพื่อนตกให้ก็มี ก่อนจะตกเหล็กน้ำพี้ด้วยแม่เหล็ก ให้อธิษฐานของเหล็กน้ำพี้จากศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้เสียก่อน พอได้แล้วก็เอาติดตัวไว้เป็นเครื่องราง เพราะเชื่อว่าเหล็กน้ำพี้มีอาถรรพ์ในตัวเองขจัดสิ่งชั่วร้ายได้ แล้วบริจาคตามศรัทธา

ตกเหล็กน้ำพี้

ตกเหล็กน้ำพี้ หลังจากที่ผมอธิษฐานของเหล็กน้ำพี้จากศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้แล้ว ผมก็หย่อนแม่เหล็กลงไป ได้มาเต็มอย่างที่เห็นนี่แหละครับ ที่ขอบบ่อจะมีถุงซิปให้ เราก็รูดเอาเหล็กน้ำพี้ที่ตกได้ใส่ไปในถุงหรืออยากจะเก็บให้ดูดีหน่อยก็ไปซื้อปลอกพลาสติกมีฝาปิดหัวท้ายมีขายที่ร้านของที่ระลึก

ร้านของที่ระลึกบ่อเหล็กน้ำพี้

ร้านของที่ระลึกบ่อเหล็กน้ำพี้ หลังจากเดินชมบ่อเหล็กน้ำพี้ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ไปที่ศาลเจ้าพ่อบ่อเหล็กน้ำพี้ ชมศาลาประวัติอาจารย์ฝั้น กับการสร้างประคำน้ำพี้ เดินมาที่บ่อพระแสง ตกเหล็กน้ำพี้ได้ 1 ถุง จบท้าย เดินกลับลานจอดรถ มายังร้านของที่ระลึกบ่อเหล็กน้ำพี้ มีของที่ทำจากเหล็กน้ำพี้มากมายหลายอย่างไม่เฉพาะ มีดหรือดาบ ยังมีวัตถุมงคล อย่างเช่นหลวงปู่ทวดที่หล่อด้วยเหล็กน้ำพี้อีกด้วย เรียกว่าพุทธคุณคูณ 2 เลยครับ

ไหลดำ-ไหลเขียว

ไหลดำ-ไหลเขียว ไหลดำและไหลเขียว เป็นชื่อเรียกของแร่อย่างหนึ่งที่มีสีดำหรือเขียว พบเห็นอยู่ในบ้านน้ำพี้เช่นเดียวกันกับเหล็กน้ำพี้ ชาวบ้านจะเอามาหลอมให้ละลายออกจากหิน ไหลลงไปอยู่ในเบ้าหลอม เป่าไฟเลี้ยงไว้ให้เย็นตัวลงอย่างช้าๆ รูปวงกลม ไหลดำมีสีดำสนิท ส่วนไหลเขียวเป็นเขียวใสเหมือนพลอย ไหลดำ ไหลเขียวไม่สามารถเอามาเจียรไนได้ เพราะจะแตก ชาวบ้านเชื่อกันว่าเหล็กน้ำพี้ ไหลดำและไหลเขียวเป็นแร่มีอาถรรพ์เข้มขลัง พกติดตัวไว้เป็นเครื่องรางป้องกันเรื่องไม่ดีได้

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ บ่อเหล็กน้ำพี้ อุตรดิตถ์
ล้อมรัก รีสอร์ต อุตรดิตถ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  35.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
สิริ อพาร์ตเมนต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  36.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
จงรักษ์พักดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  36.88 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไลท์เฮาท์รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  36.97 km | แผนที่ | เส้นทาง
Good Room เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  37.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสีหราช เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  37.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฟรายเดย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  37.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
O.U.M.HOTEL เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  38.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุนี บูทีก โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  38.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
JUTHAMANSION HAPPINESS เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ บ่อเหล็กน้ำพี้ อุตรดิตถ์
วัดพระฝาง อุตรดิตถ์
  21.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
วนอุทยานถ้ำจัน อุตรดิตถ์
  22.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
กลุ่มหัตถกรรมผลิตภัณฑ์ผักตบชวา อุตรดิตถ์
  30.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประเพณีไหลแพไฟเฉลิมพระเกียรติฯ อุตรดิตถ์
  36.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดใหญ่ท่าเสา อุตรดิตถ์
  36.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกลาง อุตรดิตถ์
  36.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดธรรมาธิปไตย อุตรดิตถ์
  37.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน อุตรดิตถ์
  37.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก อุตรดิตถ์
  37.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
  38.90 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com