www.touronthai.com

หน้าหลัก >> จันทบุรี >> วัดมังกรบุปผาราม

วัดมังกรบุปผาราม

 วัดมังกรบุปผาราม มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ มีพื้นที่จำนวน 8 ไร่เศษ มีประวัติเกี่ยวข้องกับ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ และวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวคือ

  ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านพระอาจารย์สกเห็งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เดินทางเข้ามาเพื่อนมัสการปูชนียสถานในประเทศไทย เมื่อแรกที่ท่านเข้ามานั้นได้จำพรรษาอยู่ ณ วิหารพระกวนอิมข้างวัดกุศลสมาคร ชาวจีนในพระนครเห็นความเคร่งครัดในศิลาจารวัตรก็พากันเลื่อมใสจึงชวนกันเรี่ยไรเงินบูรณะเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายชื่อ วัดย่งฮกยี่ ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต” จึงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จีนจำพรรษาตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีพระสงฆ์จีนมากขึ้น

 ท่านพระอาจารย์สกเห็งเห็นว่า ควรจักขยับขยายวัดฝ่ายจีนนิกายให้กว้างออกไป ท่านได้เลือกชัยภูมิแห่งหนึ่งตรงบริเวณถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบฯ สร้างอารามใหญ่ขึ้น ทั้งนี้โดยพระบรมราชูปถัมภ์และการช่วยเหลือของพุทธบริษัทไทย-จีน ได้ชื่อทางภาษาจีนว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” ต่อมาพระอาจารย์สกเห็งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่าวัดมังกรกมลาวาส

 ต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) กับศิษย์ผู้หนึ่งชื่อ “พระกวยเล้ง” ได้ไปสร้างวัดเล่งฮกยี่ หรือ “วัดจีนประชาสโมสร” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และท่านเตรียมจะสร้างวัดเล่งฮั้วยี่ หรือวัดมังกรบุปผาราม ที่จังหวัดจันทบุรี อีกแห่งหนึ่ง โดยท่านได้จาริกมาจำพรรษาที่นี่ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2417

 ซึ่งต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ได้นำคณะพุทธศาสนิกชนชาวจีนเข้ารับเสด็จ และกราบทูลรายงานการก่อสร้างวัด เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกพลิ้ว ปีวอก พ.ศ. 2427 (มีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาค 24 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออก)

 แต่ต่อมาท่านพระอาจารย์สกเห็ง เกิดอาพาธถึงแก่มรณภาพเสียก่อน จึงเหลือแต่มงคลนามสำนักแห่งนี้ ซึ่งท่านได้ตั้งชื่อภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ ศิษย์ของท่าน คือ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (กวยล้ง) ได้ดำเนินการต่อ แต่ท่านพระอาจารย์กวยเล้ง ก็ได้มรณภาพลงเสียก่อน สำนักแห่งนี้จึงไม่สำเร็จตามโครงการที่วางไว้

 หลังจากนั้นเป็นเวลา 80 ปีเศษ สำนักแห่งนี้รกร้างและมีหลักฐานเป็นที่ดินแปลงหนึ่งของธรณีสงฆ์ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าน้ำตกพลิ้ว ด้วยเหตุที่การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน และยังชุกชุมด้วยไข้ป่า ทางราชการสมัยนั้น จึงได้ยกธรณีสงฆ์แห่งนี้ถวายวัดเขตต์นาบุญญาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ในสังกัดอนัมนิกายปกครองรักษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเหลือแต่มงคลนามของวัด

 จนประมาณปี พ.ศ. 2508 ได้มีพระเจตชฎา ฉายาเย็นฮ้วง ศิษย์ของท่านพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย บังเกิดกุศลเจตนาที่จะสืบสานงานก่อสร้าง สำนักวัดมังกรบุปผาราม(เล่งฮั้วยี่) ให้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ โดยท่านได้ปฏิบัติธรรมหาความวิเวกเดินตามแนวทางของท่านอาจารย์จีนนิกายในอดีต ณ บริเวณน้ำตกพลิ้ว อาศัยพุทธบารมีเป็นที่ตั้ง ด้วยความศรัทธามั่นคงของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดในการนำของอุบาสก-อุบาสิกา ได้แก่
 1.อึ้งชุงฮ้อกอี
 2.จีนล่งเส็งอี
 3.บ้วนแซอี
 4.นายสำรอง จิตตสงวน
 5.นายซ้อน ริผล
 จึงได้รวบรวมปัจจัย ทั้งด้านทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและแรงงานเพื่อพระพุทธศาสนาได้จัดหาที่ดินแปลงหนึ่ง เป็นสถานที่ก่อสร้างวัดที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีความยินดีได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิสังขรณ์ก่อสร้างวัดมังกรบุปผารามขึ้นใหม่ แต่ต่อมาพระเย็นฮ้วง มรณภาพลงด้วยไข้มาเลเรีย เมื่อ พ.ศ. 2518 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายในครั้งนั้น จึงได้มีบัญชามอบภารกิจให้ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต(เย็นบุญ) เจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร ได้ดูแลนำพุทธศาสนิกชนร่วมสนับสนุนจนการก่อสร้างวัดได้สำเร็จลง

 วัดมงกรบุปผาราม ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท เส้นทางสายจันทบุรี-ขลุง ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 16 กิโลเมตร (ใกล้ทางแยกเข้าน้ำตกพลิ้ว) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2520 เป็นวัดในพุทธศาสนา นิกายมหายาน มีศาลาและพระอุโบสถที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกเป็นลวดลายต่างๆอย่างงดงาม ภายในวัดมีบรรยากาศที่เงียบสงบ และร่มรื่น เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม ซึ่งทางวัดยินดีจะอำนวยความสะดวกในด้านที่พัก

 วัดแห่งนี้มีงานประจำปีที่สำคัญ 2 งาน คือ งานบุญกฐินจะจัดขึ้นหลังช่วงเทศกาลออกพรรษา และงานทำบุญประจำปีของวัด ซึ่งจะจัดขึ้นหลังวันตรุษจีน 21 วัน ซึ่งจะมีประชาชนเดินทางมาร่วมทำบุญถือศีล และพำนักที่วัดตลอดช่วงการจัดงานนาน 7-10 วัน

ข้อมูลเพิ่มเติม:เบอร์โทรศัพท์ : 0 3865 5420 - 1, 0 3866 4585

แก้ไขล่าสุด 2017-07-26 17:34:09 ผู้ชม 35994

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ซุ้มประตูวัดมงกรบุปผาราม

ซุ้มประตูวัดมงกรบุปผาราม ประมาณ 14 กิโลเมตรจากแยกในตัวเมืองจันทบุรีตามเส้นทางสู่อำเภอขลุง พาเรามาหยุดอยู่ที่หน้าซุ้มประตูวัดศิลปะแบบจีนที่สวยงามของวัดมงกรบุปผาราม ปัจจุบันมีต้นไม้ปกคลุมตามแนวกำแพงจนอาจจะสังเกตุเห็นวัดได้ยากสักหน่อย แต่ก็ยังเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะเราจะเห็นทางแยกซ้ายมือเข้าน้ำตกพลิ้ว นั่นหมายความว่าเราได้มาอยู่ที่วัดมังกรบุปผารามเรียบร้อยแล้ว มองเข้าไปด้านในจากไกลๆ เราจะเห็นอุโบสถสูงพ้นกำแพงของวัดด้านหลังเป็นแนวเขามีเมฆปกคลุมสวยงามมาก

พระโพธิสัตว์กวนอิม

พระโพธิสัตว์กวนอิม  อยู่ตรงกลางน้ำพุด้านหน้าทางเข้าอุโบสถ อาคารที่เห็นอยู่ด้านหลังของเจ้าแม่กวนอิมเป็นอาคารศิลปะแบบจีนยาวตลอดแนว ทัศนียภาพด้านหลังที่เป็นแนวเขาปกคลุมด้วยเมฆหมอกสวยงามมาก

ประตูทางเข้าอุโบสถ

ประตูทางเข้าอุโบสถ  เดินอ้อมน้ำพุเจ้าแม่กวนอิมมาจะเห็นมีประตูขนาดใหญ่ให้เข้าไปด้านใน ภายในนี้มีพระสกันทโพธิสัตว์ (อุ่ยท้อผู่สัก) ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง อุ่ยท้อผู่สักมีความหมายว่า ผู้มีอานุภาพสนองปฏิการะ เป็นมหาเทพโพธิสัตว์องค์หนึ่ง มีหน้าที่รักษาพระศาสนา ในห้องนี้รายล้อมไปด้วยเทพอีกหลายองค์ เช่น ท้าววิรุฬหกมหาราช แต่เป็นลักษณะศิลปะจีนมหายาน เดินทะลุออกไปอีกด้านหนึ่งจะมีกระถางธูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง เดินไปยังอุโบสถบูชาธูปเทียนเพื่อกราบไหว้ จากนั้นจะมีหมายเลขบอกลำดับการไหว้ก่อนหลัง

ประตูทางเข้าอุโบสถ

ประตูทางเข้าอุโบสถ เดินอ้อมน้ำพุเจ้าแม่กวนอิมมาจะเห็นมีประตูขนาดใหญ่ให้เข้าไปด้านใน ภายในนี้มีพระสกันทโพธิสัตว์ (อุ่ยท้อผู่สัก) ประดิษฐานอยู่ตรงกลาง อุ่ยท้อผู่สักมีความหมายว่า ผู้มีอานุภาพสนองปฏิการะ เป็นมหาเทพโพธิสัตว์องค์หนึ่ง มีหน้าที่รักษาพระศาสนา ในห้องนี้รายล้อมไปด้วยเทพอีกหลายองค์ เช่น ท้าววิรุฬหกมหาราช แต่เป็นลักษณะศิลปะจีนมหายาน เดินทะลุออกไปอีกด้านหนึ่งจะมีกระถางธูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางแจ้ง เดินไปยังอุโบสถบูชาธูปเทียนเพื่อกราบไหว้ จากนั้นจะมีหมายเลขบอกลำดับการไหว้ก่อนหลัง

ท้าววิรุฬหกมหาราชและทวยเทพ

ท้าววิรุฬหกมหาราชและทวยเทพ

รอบๆ วัดมังกรบุปผาราม

รอบๆ วัดมังกรบุปผาราม นอกจากที่กล่าวมานี้ยังมี วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(กวนซีอิมผ่อสัก) ปางสหัสรหัตถ์สหัสรเนตร (พระกวนอิมปางพันมือพันตา) วิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์(ตี่จั่งอ้วงผ่อสัก) วิหารบรรพบุรุษเป็นที่สาธุชนตั้งป้ายบูชาวิญญาณผู้ล่วงลับ และสถูปเจดีย์ทรงธิเบตที่บรรจุอัฐิบูรพาจารย์ด้านหลังวัด แวดล้อมด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ โรงครัว โรงอาหาร ที่พักผู้ปฏิบัติธรรม เรียงรายอยู่โดยรอบอย่างเป็นระเบียบทางเดินภายในวัดส่วนใหญ่เป็นหินขัด

วัดมังกรบุปผาราม

อุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานสามพระองค์ เมื่อเราหันหน้าสู่ภายในอุโบสถ คือองค์กลางพระศากยมุนีพุทธเจ้า(เซ็กเกียหม่อนี้ฮุก) องค์ซ้ายพระอมิตาภพุทธเจ้า (ออมีท้อฮุก) องค์ขวาพระไภษัชยคุรุ พุทธเจ้า(เอี๊ยะซือฮุก) พร้อมด้วยพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปเถระ(เกียเหี๊ยะจุนเจี้ย) และพระอานนท์(ออหนั่งท้อจุนเจี้ย) ด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์(บุ่งซู่ผ่อสัก) ผู้เลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์(โผวเฮี้ยงผ่อสัก) ผู้เลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา อันหมายถึงบารมีหก ที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ รูปเคารพทั้งหลายปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีนบนฐานชุกชี ภายในมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองแบบศิลปะจีนอย่างสวยงาม พื้นภายในเป็นหินขัดยอดหลังคาอุโบสถเป็นเจดีย์ พื้นอุโบสถด้านนอกเป็นหินขัดลายจีน อุโบสถมี 3 ชั้นด้วยกัน มีอาคารอยู่รอบด้าน เป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก 

วัดมังกรบุปผาราม

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ในวัดมังกรบุปผารามยังมีเทพอีกมากมายหลายองค์ ประดิษฐานอยู่ด้านซ้ายและขวาของหลายๆ ห้อง เรียกว่าถ้าจะกราบไหว้ขอพรให้ครบต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว

ด้านหลังอุโบสถ

ด้านหลังอุโบสถ ยังไม่หมดเท่านี้นะครับ จากอุโบสถกลางวัด มีประตูทะลุมาออกด้านหลัง มาเห็นด้านหลังก็จะได้เห็นใบเสมาเหมือนๆ กับวัดของไทย แล้วยังมีพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 8 องค์ อยู่ผนังด้านหลังด้วย

วัดมังกรบุปผาราม

มองไปทางด้านหลังจะเห็นอาคารในสุดของวัด เป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าอีกหลายองค์ด้วยกัน โดยเฉพาะ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(กวนซีอิมผ่อสัก) ปางสหัสรหัตถ์สหัสรเนตร (พระกวนอิมปางพันเนตรพันกร) ที่งดงามมากอยู่ คนดูแลวัดจะบอกให้เราขึ้นไปกราบขอพรให้ได้

วัดมังกรบุปผาราม

พระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันเนตรพันกร

พระโพธิสัตว์กวนอิมปางพันเนตรพันกร ประดิษฐานอยู่ในอาคารหลังในสุดชั้นบน ก่อนจะเดินทางมาถึงวิหารนี้จะผ่านเทพอีกมากมายที่ทางวัดจัดทำลูกศรลำดับการกราบไหว้บอกไว้ องค์จริงอยู่บนฐานล้อมด้วยกระจก แล้วมีองค์จำลองอยู่ด้านหน้า ศิลปะงดงามทั้งสององค์

เทพอีกหลายองค์ในวัดมังกรบุปผาราม

เทพอีกหลายองค์ในวัดมังกรบุปผาราม

วัดมังกรบุปผาราม

จากวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมที่เราอยู่บนชั้นสอง มองลงมาจะเห็นอุโบสถกลางวัดที่เราเดินผ่านมาตอนแรก เป็นอีกมุมสวยๆ ของวัดแห่งนี้

วัดมังกรบุปผาราม

สุดท้ายเป็นวิหารสองหลังที่อยู่ด้านหน้าใกล้ๆ กับกำแพงวัด หลังนี้อยู่ซ้ายมือ เห็นปิดเอาไว้เลยไม่ได้ดูว่ามีอะไรอยู่ด้านใน

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดมังกรบุปผาราม จันทบุรี
Ingkhao resort chanthaburi เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ingkhaoresortchanthaburi เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
พลิ้วรีสอร์ท
  5.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan koh intanin เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 6 ห้องนอน 6 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 4 ตร.ม. – ขลุง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
แม่วรรณา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Rim Ao เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนฤดี รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
บางมะนาว
  14.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
แอท ริมน้ำ จันทร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.38 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com