www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พิษณุโลก >> วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร

 วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกขานกันว่า วัดใหญ่ หรือวัดพระศรี กันจนติดปาก แม้นพระประธานองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานในวิหารคือ พระพุทธชินราช ชาวเมืองพิษณุโลกก็นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ ตามไปด้วย วัดใหญ่นับเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญของจังหวัด เพราะเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวเมืองและชาวไทยทั้งประเทศ ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองเมื่อปี พ.ศ. 1900 ภายในวัดสิ่งโบราณสถานโบราณวัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ

    พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามและวัดบวรนิเวศวิหารตามลำดับ

    บานประตูประดับมุก ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ ตรงกลางประตูมีสันอกเลาประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สองข้างเป็นลายกนกก้านแย่ง ช่วงกลางอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกว่า นมอกเลา เป็นรูปบุษบก มีรูปพระอุณาโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ในบุษบก สองข้างเป็นรูปชุมสายซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตรสามชั้น ใต้ฐานบุษบกมีหนุมานแบกฐานไว้ ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ยืนถือกระบองท่าสำแดงฤทธิ์ ส่วนลวดลายบานประตูเป็นลายกนกที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรีรำ และภาพสัตว์อื่น ๆ และยังมีลาย อีแปะ ด้านละ 9 วงมัดนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม หรือวงกลมเป็นลายกรุยเชิง มีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประตู เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราชทำด้วยไม้สักแกะสลัก เมื่อทำบานประตูประดับมุกเสร็จแล้ว บานประตูเก่าได้นำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์

    พระเหลือ พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ โดยคนในท้องถิ่นเชื่อว่าหากได้นมัสการ ก็จะเป็นมงคลโดยเฉพาะนักธุรกิจ พ่อค้า และคนที่อยู่ในแวดวงการเงิน เนื่องจากชื่อ "พระเหลือ" มีความหมายพ้องกับ "เหลือกิน เหลือใช้" บทสวดบูชา พุทธะบูชา มหาเตชะวันโต ธัมมะบูชา มหาปัญญะวันโต สังฆะบูชา มหาโภคะวะโหติโลกา นากัง อภิปูชะยามะฯ

    พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1811 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง

    พระปรางค์ประธาน ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา

    วิหารแกลบ

    พระเจ้าเข้านิพพาน เป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยา นับว่าเป็นชิ้นสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร ถือว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตราการ ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ

    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เปิดทุกวัน เวลา 6.30-18.00 น. ส่วนพิพิธภัณฑ์ในวัดเปิดเวลา 8.30-16.30 น.

ข้อมูลเพิ่มเติม:Tel. 0 5525 2742-3, 0 5525 9907

แก้ไขล่าสุด 2017-08-25 20:26:01 ผู้ชม 41020

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วิหารพระพุทธชินราช

วิหารพระพุทธชินราช หันหน้าไปทางทิศตะวันตก หรือหันไปทางแม่น้ำน่าน ตรงกับประตูวัดแต่เป็นทางเดินห้ามนำรถเข้าทางนี้ หากนำรถมาเองให้นำเข้าตรงป้ายใหญ่ๆ หน้าวัดจะมีทางบังคับเข้าไปยังลานจอดรถ ใกล้ศูนย์บูชาพระเครื่องมีลานจอดรับ-ส่งชั่วคราวให้ส่งคนลงตรงนี้ได้แล้วค่อยขับรถเข้าไปลานจอดรถ เนื่องจากวัดมีขนาดใหญ่มากจากลานจอดรถมายังวิหารพระพุทธชินราชจะต้องเดินกันไกลทีเดียว แต่เพื่อความเป็นระเบียบก็ต้องปฏิบัติตามครับไม่งั้นถ้าทุกคนจอดรถไว้หน้าวัดกันหมดถนนพุทธบูชาคงใช้สัญจรไม่ได้แน่ วิหารพระพุทธชินราชมีระเบียงคดเชื่อมต่อมาทั้งด้านซ้ายและขวา (วิหารอยู่กึ่งกลางระเบียงคด) ผังก่อสร้างของวัดมีระเบียงคดเป็นรูปสี่เหลี่ยม 2 ชั้น ชั้นนอกเชื่อมต่อระหว่างวิหาร ระเบียงคดด้านทิศตะวันออกไม่มีวิหารเพราะในอดีตมีวิหารพระอัฏฐารส อยู่นอกระเบียงคด ส่วนระเบียงคดชั้นในล้อมรอบพระปรางค์ประธาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ ใช้ระเบียงคดด้านทิศตะวันออกร่วมกันกับระเบียงคดชั้นนอก มีวิหารพระพุทธชินสีห์อยู่ด้านทิศเหนือ วิหารพระศรีศาสดาอยู่ด้านทิศใต้ ส่วนพระอุโบสถอยู่ด้านนอกระเบียงคด อยู่ทางใต้ของวิหารพระอัฏฐารส

พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช หนึ่งในภาพพระพุทธรูปที่ผมภาคภูมิใจมาก กฏในการถ่ายภาพพระพุทธชินราชคือห้ามยืนถ่ายมีป้ายเขียนบอกไว้ชัดเจนตรงทางเข้าวิหาร อีกข้อหนึ่งซึ่งไม่มีป้ายเขียนบอกไว้แต่ต้องปฏิบัติตามก็คือห้ามใช้ขาตั้งกล้องเว้นแต่จะทำหนังสือขออนุญาตมาล่วงหน้า
ประวัติพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว และสูง 7 ศอก ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง พระหัตถ์มีปลายนิ้วทั้งสี่เสมอกัน ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษเรียกว่า ทีฒงฺคุลี ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกร มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และตัวเหรา (คล้ายจระเข้) อยู่ตรงกลาง และมีเทพอสุราคอยปกป้ององค์พระอยู่ 2 องค์ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามและวัดบวรนิเวศวิหารตามลำดับ

บานประตูภายในวิหาร

บานประตูภายในวิหาร เป็นอีกภาพหนึ่งที่ผมชอบมากเป็นการส่วนตัว ปกติไม่ค่อยได้เห็นใครถ่ายภาพนี้ลงเว็บหรือตามหนังสือ ไม่ทราบว่าเป็นเหมือนผมเหรือเปล่า คือหลายๆ ครั้งที่ไปกราบพระพุทธชินราชก็อยากมีภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกหลายครั้งที่ไปใจจะจดจ่ออยู่กับการถ่ายภาพพระพุทธรูป จนไม่ได้หันไปมองอย่างอื่นรอบๆ ตัว อย่างหนึ่งที่ผมคิดขึ้นมาได้โดยบังเอิญก็คือเวลาเราไปเยี่ยมชมวัดเพื่อไหว้พระ ส่วนใหญ่โบสถ์และวิหารจะมีจุดเด่นอีกจุดหนึ่งก็คือประตูหรือหน้าต่าง มักจะมีความสำคัญหรือมีงานศิลปะที่สวยงามวิจิตรบรรจงอยู่เสมอ คิดได้ดังนั้นแล้วผมก็หันไปมองข้างหลังจนได้พบช่องประตูที่มองจากด้านนอกไม่มีจุดเด่นอะไร เพราะสายตาเราจะมองมายังพระพุทธชินราชรวมทั้งมีป้ายต่างๆ มีคนเดินไปเดินมา จนไม่ได้สังเกตุว่าช่องและบานประตูวิหารมีลักษณะอย่างไร แต่ก็ยังอดเสียดายไม่ได้ที่ไม่ได้ถ่ายให้เห็นรายละเอียดของบานประตูทั้งคู่นี้ให้เห็นชัดๆ เพราะวันนั้นไปตอนกลางคืน บานประตูประดับมุก ที่ทางเข้าพระวิหารด้านหน้า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2299 เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมโกศ ตรงกลางประตูมีสันอกเลาประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สองข้างเป็นลายกนกก้านแย่ง ช่วงกลางอกเลามีรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกว่า นมอกเลา เป็นรูปบุษบก มีรูปพระอุณาโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ในบุษบก สองข้างเป็นรูปชุมสายซึ่งเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่ง เป็นรูปฉัตรสามชั้น ใต้ฐานบุษบกมีหนุมานแบกฐานไว้ ส่วนเชิงล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ยืนถือกระบองท่าสำแดงฤทธิ์ ส่วนลวดลายบานประตูเป็นลายกนกที่มีภาพสัตว์หิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรีรำ และภาพสัตว์อื่นๆ และยังมีลาย อีแปะ ด้านละ 9 วง มัดนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม หรือวงกลมเป็นลายกรุยเชิง มีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประตู เดิมบานประตูวิหารพระพุทธชินราชทำด้วยไม้สักแกะสลัก เมื่อทำบานประตูประดับมุกเสร็จแล้ว บานประตูเก่าได้นำไปประดับประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์

ระเบียงคดทางเดินไปวิหารพระพุทธชินสีห์

ระเบียงคดทางเดินไปวิหารพระพุทธชินสีห์ ด้านข้างของวิหารพระพุทธชินราชซึ่งมีระเบียงคดต่อออกไป (ด้านซ้ายมือของเรา) มีช่องประตูเล็กๆ ให้เดินเข้าไปภายในชั้นระเบียงคดชั้นนอกได้ เป็นทางลัดไปยังวิหารพระพุทธชินสีห์องค์จำลองเนื่องจากองค์จริงได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างทางเดินจะมองเห็นยอดพระปรางค์ประธานของวัดซึ่งอยู่ในระเบียงคดชั้นในอีกชั้นหนึ่ง ระเบียงคดชั้นนอกมีผนังอยู่ด้านนอก ส่วนระเบียงคดชั้นในมีผนังอยู่ด้านใน เมื่อเราเดินเข้าไปจึงมองเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบนฐานรอบระเบียงคดหันเข้ามาหาเรา พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ตามระเบียงคดเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดต่างๆ กัน

พระพุทธชินสีห์

พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช และพระศาสดา ได้ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกมาแต่ต้น ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2372 ตำนานการสร้างพระพุทธรูปทั้ง 3 พระองค์ ของเมืองพิษณุโลกนั้น มีตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 1500 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมหาราช แห่งเมืองเชียงแสน เสด็จมาตีเมืองสองแควได้ จึงทรงสร้างเมืองสองแควขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองพิษณุโลก ทำนองว่าเป็นเมืองอันพระวิษณุกรรมเสด็จลงมาสร้าง ครั้นสร้างพระนครเสร็จแล้ว มีพระราชศรัทธาสร้างวัดวาอาราม มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง แล้วทรงหล่อพระพุทธรูป 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โปรดให้ประดิษฐานพระพุทธชินราช ณ พระวิหารใหญ่ ทิศตะวันตกของพระมหาธาตุประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ณ พระวิหารทางทิศเหนือองค์หนึ่ง ทิศใต้องค์หนึ่ง พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา จึงประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกันตลอดมา ถึง 900 กว่าปี จนกระทั่งมีการอัญเชิญลงมากรุงเทพฯ ทั้งสององค์ คือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา

พระพุทธชินสีห์ แต่เดิมประดิษฐานไว้มุขหลังของพระอุโบสถของวัดบวรนิเวศวิหาร ที่เป็นจตุรมุข ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อยังทรงผนวช และครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาเป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคารพนับถือพระพุทธชินสีห์มาก ได้โปรดให้กะไหล่รัศมีองค์พระด้วยทองคำ ฝังพระเนตรฝังเพชรที่พระอุณาโลม แล้วปิดทองทั้งองค์พระ เมื่อ พ.ศ. 2393 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2397 ได้โปรดให้หล่อฐานด้วยทองสัมฤทธิ์ ปิดทองใหม่ทั้งองค์พระและฐาน แล้วให้มีการสมโภช 5 วัน

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธชินสีห์_(วัดบวรฯ)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ เครื่องประดับและโบราณวัตถุอื่นๆ เก็บรักษาไว้ในบริเวณวิหารพระพุทธชินสีห์ เรียกว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช เปิดให้ชมเวลา 8.00-16.00 น. มีอยู่หลายตู้หลายชั้นแต่ขอเอามาแสดงให้ดูเพียงภาพเดียวเป็นตัวอย่าง หากเดินทางมาไหว้พระพุทธชินราชก็ควรมาไหว้พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ชมพิพิธภัณฑ์ด้วยครับ ในภาพนี้ส่วนใหญ่เป็นถ้วยชามสังคโลกสมัยสุโขทัย-อยุธยา พุทธศตวรรษ 19-22

พระอัฏฐารส-พระปรางค์ประธาน

พระอัฏฐารส-พระปรางค์ประธาน พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติด้านหลังพระวิหาร สูง 18 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ราว พ.ศ. 1811 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3-4 ต้น เรียกว่า เนินวิหารเก้าห้อง ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบเป็นสวนมีดอกไม้ปลูกเป็นแนว รอบนอกมีต้นไม้ให้ร่มเงาได้นั่งพักผ่อน ในบริเวณเนินวิหารเก้าห้อง นี้เป็นฐานวิหารโล่งกว้างกลางวันแดดจัดร้อนมากครับแต่ก็ได้ภาพที่สวยมากเหมือนกันด้านหลังเป็นมุมที่เห็นพระปรางค์ประธานได้ชัดกว่าด้านอื่นๆ

พระปรางค์ประธาน ศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น ฐานย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยแท้ ต่อมาถูกแปลงให้เป็นพระปรางค์ในสมัยอยุธยา

อาคารที่สำคัญของวัด

อาคารที่สำคัญของวัด ภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารมีอาคารที่สำคัญๆ ที่บางครั้งประชาชนไม่ได้เดินชมอย่างทั่วถึงเพราะเวลามีน้อยบ้างเพราะวัดมีพื้นที่กว้างขวางจนเดินไม่ไหวและอากาศร้อนบ้างผมก็พยายามที่จะเก็บมาให้มากที่สุดในภาพนี้ประกอบไปด้วยพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานที่งดงามพร้อมพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพบนขวาวิหารหลวงพ่อขาวและวิหารหลวงพ่อคง สร้างรูปแบบเดียวกันอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับเนินวิหารเก้าห้องพื้นที่รอบๆ ทำเป็นสวนหย่อมเล็กๆ
ภาพล่างซ้ายคือวิหารทิศใต้สถานที่ประดิษฐานพระศรีศาสดา ก่อนที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานในกรุงเทพฯ ปัจจุบันสร้างพระศรีศาสดาองค์จำลองประดิษฐานแทน
ภาพล่างขวาวิหารเจ้าแม่กวนอิม เป็นศาลากลางน้ำมีสะพานเชื่อมถึงกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังของวิหาร ทำให้เป็นทางเดินจากลานจอดรถมายังอุโบสถของวัดได้อีกทางหนึ่ง จากบริเวณเนินวิหารเก้าห้องไปอีกประมาณ 50 เมตร เป็นพื้นที่ที่ทางวัดจัดไว้ให้เป็นลานจอดรถ ถนนภายในวัดมีร้านค้ามาเปิดจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมายหลายชนิดทั้งของกินและของฝากของที่ระลึก รวมทั้งอาคารที่เป็นศูนย์บูชาวัตถุมงคลของวัดด้วย ถัดจากประตูเข้าวิหารพระศรีศาสดาจะมีวิหารพระเจ้าเข้านิพพานซึ่งอยู่นอกระเบียงคดด้านทิศใต้ เป็นสถานที่หนึ่งที่ยังไม่ได้เข้าไปสักการะและเก็บภาพ พระเจ้าเข้านิพพาน เป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยา นับว่าเป็นชิ้นสำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร ถือว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพ ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตราการ ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ

พระประธานในพระอุโบสถ

พระประธานในพระอุโบสถ เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่เดินทางมาไหว้พระพุทธชินราช หลายคนลงรถด้านหน้าทางเข้าวัดแล้วเดินเข้าวิหารพระพุทธชินราช แล้วก็กลับพระอุโบสถจึงเป็นสถานที่ที่ค่อนข้างสงบ อากาศภายในค่อนข้างเย็นแม้ว่าจะเป็นวันที่อากาศร้อน ผมเห็นหลายคนมานั่งสมาธิในพระอุโบสถหลังนี้อยู่นานก่อนจะไหว้พระลากลับ หลายเดือนก่อนมีการลงลวดลายภาพจิตรกรรมฝาผนังสีสันจึงสวยสดงดงามมองดูมีชีวิต

เพดานและฝาผนังพระอุโบสถ

เพดานและฝาผนังพระอุโบสถ บนเพดานพระอุโบสถประดับไว้อย่างเรียบง่ายไม่มีภาพจิตรกรรมใดๆ ส่วนบนฝาผนังทั้งหมดมีภาพเกี่ยวกับพระนเรศวร เช่น พระนเรศวรทรงนำทหารมานมัสการพระพุทธชินราช และสวดชัยมงคลคาถาก่อนออกรบ และภายหลังการรบได้นำศัตราวุธมาถวายเป็นพุทธบูชาทุกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรสังหารลักไวทำมูแม่ทัพพม่าด้วยพระแสงทวนที่ทุ่งลุมพลี พ.ศ.2129 พระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา ณ หนองสาหร่าย เมืองสุพรรบุรี พ.ศ. 2135 เป็นต้น

หลวงพ่อดำ

หลวงพ่อดำ ภายวิหารด้านทิศใต้ซึ่งประดิษฐานพระศรีศาสดา เมื่อเดินเข้าประตูวิหารจะพบหลวงพ่อดำและพระพุทธรูปอื่นๆ อีกมีคำสวดบูชาพระพุทธชินราชตั้งอยู่ด้านหน้า เบื้องหลังหลวงพ่อดำมีทางเดินเข้าวิหารพระศรีศาสดา

พระศรีศาสดา

พระศรีศาสดา เป็นองค์จำลองที่สร้างขึ้นมาใหม่แทนองค์ที่อัญเชิญไปประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ข้อสังเกตุที่โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ จะมีงาช้างตั้งอยู่ด้านหน้า เป็นลักษณะโต๊ะหมู่บูชาที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุทัยธานี และมีประเพณีตั้งโต๊ะหมู่งาช้าง เป็นประจำทุกปี หลังจากพิธีตักบาตรเทโว

สิ่งที่น่าสนใจในวิหารพระศรีศาสดา

สิ่งที่น่าสนใจในวิหารพระศรีศาสดา ภายในวิหารที่มีขนาดไม่กว้างมากนักมีประชาชนเดินทางมากราบไหว้พระศรีศาสดาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ เพราะหลายคนเชื่อว่าเมื่อมาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้วต้องกราบพระทั้ง 3 องค์ให้ครบ นอกเหนือจากพระศรีศาสดาที่ประดิษฐานอยู่กลางวิหาร มีเครื่องใช้โบราณเก่าแก่อย่างเช่นที่เห็นในภาพนอกจากนี้ยังมีอีกมากมายหลายชิ้นและห้ามถ่ายภาพครับ

วิหารพระเหลือ

วิหารพระเหลือ พระเหลือ พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา มารวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดเล็ก เรียกว่า พระเหลือ และพระสาวกยืนอีก 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองได้นำมารวมกันบนฐานชุกชี พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นหนึ่งหลัง อัญเชิญพระเหลือกับพระสาวกไปประดิษฐาน เรียกว่า วิหารพระเหลือ โดยคนในท้องถิ่นเชื่อว่าหากได้นมัสการ ก็จะเป็นมงคลโดยเฉพาะนักธุรกิจ พ่อค้า และคนที่อยู่ในแวดวงการเงิน เนื่องจากชื่อ "พระเหลือ" มีความหมายพ้องกับ "เหลือกิน เหลือใช้" บทสวดบูชา พุทธะบูชา มหาเตชะวันโต ธัมมะบูชา มหาปัญญะวันโต สังฆะบูชา มหาโภคะวะโหติโลกา นากัง อภิปูชะยามะฯ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เอาละครับได้เวลาเก็บภาพส่วนที่เหลือเอามาเติมเต็มให้ความสมบูรณ์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแล้ว หลังจากที่ได้เดินทางมาสักการะพระพุทธชินราชหลายต่อหลายครั้ง คราวนี้นอกจากสักการะพระพุทธชินราชแล้วก็ต้องเก็บภาพส่วนที่เหลือในวัดที่ยังขาดอยู่มาเติมต่อท้ายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ สิ่งแรกก็คือป้ายหน้าวัดที่โดดเด่นสวยงามอยู่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำน่าน เป็นสิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ของใครหลายๆ คนที่จะมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก

วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน

วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน เป็นอาคารหลังหนึ่งซึ่งอยู่นอกพระระเบียงคด ด้วยเหตุนี้เองเมื่อไปสักการะพระพุทธชินราชคราวใดจึงไม่ค่อยจะได้เดินผ่านวิหารหลังนี้จนเพิ่งได้รู้ว่าภายในวิหารมีความสำคัญคือมีพระพุทธรูปบรรจุหีบพระบรมศพ (หลังจากเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน) ที่จะหาดูได้ยากมาก วิหารพระเจ้าเข้านิพพานสร้างในสมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานหีบพระบรมศพจำลองของพระพุทธเจ้า นับว่าเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญของวัด ถือว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า

หีบพระบรมศพ

หีบพระบรมศพ มีลักษณะเป็นหีบบรรจุพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตกาธานประดับด้วยลวดลายลงรักปิดทอง ที่ปลายหีบมีพระบาทจำลองทั้งสองของพระพุทธเจ้ายื่นออกมา มีสาวกคือพระมหากัสสปเถระ นั่งอยู่ทางด้านพระบาทของพระพุทธเจ้าและพระสาวกอื่นๆ นั่งนมัสการรอบพระบรมศพ ซึ่งโบราณวัตถุศิลปะเช่นนี้ในประเทศไทยมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

บานประตูประดับมุก

บานประตูประดับมุก สิ่งหนึ่งที่สวยงามและโดดเด่นของวิหารพระเจ้าเข้านิพพานก็คือบานประตูประดับมุกรูปพระพุทธเจ้ามีหลายรูปด้วยกัน บานหนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) เป็นภาพสุดท้ายของการแนะนำวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และเป็นอันว่าได้ภาพและข้อมูลสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ภายในวัดมาให้ชมอย่างครบถ้วนกันด้วยนะครับ หากได้มีโอกาสเดินทางไปสักการะนมัสการพระพุทธชินราชก็ลองเดินชมรอบๆ บริเวณวัดจะได้เห็นสิ่งสำคัญๆ อีกหลายอย่างตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิษณุโลก
โรงแรมโยเดีย เฮอริเทจ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.23 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมท็อปแลนด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
คาร์มา โฮม โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดีสิบเอ็ด โฮเต็ล พิษณุโลก
  0.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมไพลิน พิษณุโลก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมดราก้อน ริเวอร์ อเวนิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
วังจันทน์ ริเวอร์วิว โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
พีวัน เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
สลีป300 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมไอยรา แกรนด์ พาเลซ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิษณุโลก
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร พิษณุโลก
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดนางพญา พิษณุโลก
  0.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลหลักเมืองพิษณุโลก
  0.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดราชบูรณะ พิษณุโลก
  0.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ พิษณุโลก
  0.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
แม่น้ำน่าน พิษณุโลก
  0.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิษณุโลก
  1.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเจดีย์ยอดทอง พิษณุโลก
  1.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
กำแพงเมืองคูเมือง พิษณุโลก
  1.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานเอกาทศรถ พิษณุโลก
  1.58 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com