www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พิษณุโลก >> วัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะ

 วัดราชบูรณะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ทางใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุ พระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ ที่ชายคาตกแต่งด้วยนาค 3 เศียร มีลักษณะอ่อนช้อยงดงาม พิจารณาดูตามชื่อแล้ว วัดราชบูรณะน่าจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง เชื่อว่าเป็นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ เนื่องจากทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกถึง 25 ปี และทรงมีบทบาททางบำรุงพระศาสนาที่พิษณุโลกมากที่สุด

 อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งของการสร้างวัดราชบูรณะแห่งนี้ก็คือ เป็นวัดที่สร้างในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระยาลิไท คงจะทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหรือบูรณะครั้งใหญ่ จึงได้ชื่อว่าวัดราชบูรณะ เพราะพระมหาธรรมราชาที่ 1 ได้เสด็จครองราชย์ที่เมืองพิษณุโลก 7 ปี ในระหว่างปี พ.ศ. 1905 ถึง พ.ศ. 1912 พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงซ่อมแซมโบราณสถาน และโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดในสมัยสุโขทัยตอนปลาย

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.พิษณุโลก โทร.0 5525 2742-3, 0 5525 9907, 0 5523 1063
http://www.tourismthailand.org/phitsanulok

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 29280

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
หน้าวัดราชบูรณะ

หน้าวัดราชบูรณะ การเดินทางมายังวัดราชบูรณะจะเข้าทางประตูวัดติดถนนมิตรภาพ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดนางพญา ที่ในอดีตเป็นวัดพี่วัดน้องมีอาณาเขตติดกัน และเนื่องจากวัดนางพญาไม่มีอุโบสถ จึงดูเหมือนกับว่าวัดนางพญากับวัดราชบูรณะเป็นวัดเดียวกัน โดยมีพระอุโบสถของวัดราชบูรณะอยู่ตรงกลาง

ต่อมาเมื่อมีการตัดถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ทำให้วัดราชบูรณะกับวัดนางพญาแยกออกจากกันชัดเจน ทำให้สามารถเดินทางเข้าวัดราชบูรณะได้ 2 ทาง คือถนนมิตรภาพ กับถนนเลียบแม่น้ำน่าน

เจดีย์ด้านตะวันออก

เจดีย์ด้านตะวันออก ในวันนี้เราเริ่มเดินเข้าวัดจากประตูด้านทิศเหนือติดกับถนนมิตรภาพ เข้ามาในบริเวณวัดจะเห็นเจดีย์องค์นี้ก่อนสิ่งอื่นๆ แต่เจดีย์องค์นี้ถูกสร้างขึ้นมาในรุ่นหลังแล้ว

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ อาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 10 เมตร ผนังหนาราว 50 เซนติเมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีทางขึ้น 2 ทาง มีประตู 2 คู่ มีหน้าต่างด้านละ 4 คู่ พื้นภายในพระอุโบสถยกระดับสูงจากพื้นดินประมาณ 1.75 เมตร มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร เดือนเมษายน พ.ศ.2502 มีการตัดถนนมิตรภาพ (พิษณุโลก-หล่มสัก) ผ่านระหว่างวัดราชบูรณะ กับวัดนางพญา (เดิมทีทั้งสองวัดมีพื้นที่ติดกัน วัดนางพญาไม่มีอุโบสถ จึงดูเหมือนทั้งสองวัดนี้เป็นวัดเดียวกัน) ในการตัดถนนสายนี้ทำให้มีพื้นที่บางส่วนของพระอุโบสถวัดราชบูรณะถูกตัดออกไปเป็นถนน ใบเสมามุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือต้องรื้อถอนแล้วสร้างใหม่

อุโบสถ มีสถาปัตยกรรมแบบทรงโรง มี 6 ห้อง ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย มีหลังคาโค้งตรงกลางเล็กน้อย มุงด้วยกระเบื้องดินเผาสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคานั้นเป็นปีกนกคลุมสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบเกล็ดพระยานาค จั่วหน้าหลังเป็นจั่วแบบภควัม การเข้าไม้แบบฝาประกนมี 3 ชั้น ไม่มีการแกะสลักลวดลาย มีประดับด้วยกระจกสีน้ำเงินและเหลือง มีช่อฟ้าบนหลังคาหน้าหลัง มีรวยระกาที่หน้าบรรณ ลำยองไม่ทำเป็นงวงแบบนาคสดุ้ง หางหงส์และนาคปักทำเป็นนาคเบือน ตามลักษณะความแหลมตามแนวหลังคา ทำเป็นรูปปูนปั้นมีนาคสามเศียรด้านหน้า 4 ตน และด้านหลัง 4 ตน (ตรงมุมหลังคา) เป็นศิลปะแบบเก่าที่ใช้กับรวยระกาและป้านลมสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย

บานประตูทั้ง 4 คู่แกะสลักดอกไม้สี่กลีบแบบดอกลำดวน ประดับกระจกสีน้ำเงินและเหลือง

ลานประทักษินรอบพระอุโบสถมีใบเสมาหินทรายตั้งอยู่บนฐานบัวคลุ่มกลีบซ้อนเรียงกัน 8 ชั้น มีทั้งใบเสมาเดี่ยวและใบเสมาคู่แต่เหลือเพียง 7 ที่ ใบเสมาถูกย้ายที่ไป 1 ที่ในการสร้างถนน ใบเสมาคู่เป็นจุดที่พบพระนางพญาบรรจุไห 3 ใบ ในปี พ.ศ. 2548

พระประธานในพระอุโบสถ

พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางมารวิชัยลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีก่ออิฐถือปูนชั้นล่างเป็นฐานเท้าสิงห์ 2 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ปิดทองประดับกระจกสี

ตู้พระไตรปิฎกและภายในพระอุโบสถ

ตู้พระไตรปิฎกและภายในพระอุโบสถ อุโบสถวัดราชบูรณะ สร้างแบบก่ออิฐถือปูน เสาสอบ (ยอดเสาแคบกว่าโคนเสา) มีทางเข้าออก เป็นประตูด้านละ 2 ช่อง ตรงกัน ด้วยลักษณะการสร้างแบบเสาสอบเราจึงรู้สึกได้ว่าฝาผนังโบสถ์เอียงเข้า

ตู้เก็บพระไตรปิฎกดูค่อนข้างมีอายุ ลวดลายสวยงาม

จิตรกรรมฝาผนัง

จิตรกรรมฝาผนัง ภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านในพระอุโบสถเป็นเรื่องรามเกียรติ์ฝีมือสกุลช่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ภาพเขียนที่สำคัญคือ ภาพตอนทศกัณฑ์สั่งเมือง

ตอนล่างของภาพรามเกียรติ์เขียนเป็นภาพชนชาติต่างๆ ภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพการละเล่นพื้นบ้าน ดังปรากฏในหนังสือจดหมายระยะทางพิษณุโลก ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ (2506 : 26) เมื่อคราวเสด็จมาวัดราชบูรณะครั้งเสด็จเมืองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2444

ตักบาตร 108

ตักบาตร 108 ตุ๊กตารูปพระภิกษุขนาดเล็กๆ ตั้งเรียงกันอยู่จำนวนมากตั้งแต่ประตูอุโบสถด้านหน้าเรียงกันไปตามผนังด้านในทางทิศเหนือ ไว้ให้ทำบุญเหมือนการตักบาตรพระ ด้วยการหยอดเหรียญลงไป

โรงเก็บเรือพระที่นั่งรับเสด็จ ร.๕

โรงเก็บเรือพระที่นั่งรับเสด็จ ร.๕ สร้างเป็นศาลาหลังคาคลุมไว้ ด้านข้างเปิดโล่งทุกด้านมองเห็นเรือลำหนึ่งที่เก็บรักษาเป็นอย่างดี มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้บูชาและลอดใต้เรือด้วยความเชื่อว่าจะมีโชคลาภ ศาลาที่เก็บเรือพระที่นั่งรับเสด็จ อยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารหลวง

เรือพระที่นั่งรับเสด็จสมัย ร.๕

เรือพระที่นั่งรับเสด็จสมัย ร.๕ ประวัติเรือพระที่นั่งรับเสด็จสมัย ร.๕

ตามคำบอกเล่า ของอดีตเจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ คนเก่าคนแก่ของวัดและชาวพิษณุโลก เรือลำนี้เป็นเรือพระที่นั่งรับเสด็จ สมัย ร.๕ ยาว 12 เมตร กว้าง 1.7 เมตร สมัยเสด็จขึ้นมานมัสการพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก เสด็จไปที่ต่างๆ เพื่อนมัสการศาสนสถาน และเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ ได้ใช้เรือลำนี้เป็นเรือพระที่นั่งแทนเรือพระที่นั่งที่มจากเมืองหลวง (บางกอก) ในสมัยที่เสด็จมาในคราวนั้น

เมื่อปี พ.ศ. 2527 ทหารค่ายสฤษณ์เสนา ได้มาพัฒนาวัดราชบูรณะ ใช้ทหาร 300 นาย พัฒนา 3 วัน 3 คืน ได้ขุดเอาเรือพระที่นั่งรับเสด็จลำนี้ขึ้นมา ทำการบูรณะซ่อมแซม และได้จัดตั้งไว้กลางลานวัดหน้ากุฎิไม้ในปัจจุบัน (เดิมเรือพระที่นั่งรับเสด็จลำนี้ จมดินเหลือแต่ท้ายเรือเท่านั้นที่พ้นดิน)

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2533 ฉลอง 400 ปี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทางศึกษาธิการจังหวัดพิษณุโลกได้มาอัญเชิญเรือพระที่นั่งรับเสด็จสมัย ร.๕ ลำนี้ไปทำการบูรณะซ่อมแซมอีกครั้ง และได้นำลงแม่น้ำน่านเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เคยนำลงน้ำมาเป็นเวลานับร้อยปี เพื่อฉลองครบรอบ 400 ปี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในนามเรือ "พระยาจีนจัตตุ" หลังจากนั้นได้อัญเชิญขึ้นมาไว้ที่วัดราชบูรณะดังเดิมจนถึงปัจจุบัน

พระวิหารหลวงวัดราชบูรณะ

พระวิหารหลวงวัดราชบูรณะ อาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 18 เมตร ยาว 23 เมตร สูง 13 เมตรหันไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีทางขึ้นลง 3 ทาง ประตู 3 คู่ หน้าต่างด้านละ 7 คู่ พื้นวิหารยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1.75 เมตร พระวิหารมีสถาปัตยกรรมทรงโรง 9 ห้อง ศิลปะสมัยสุโขทัยด้านหน้ามีระเบียงเสาหานร่วมเรียงในรองรับ 4 เสา มีบัวหัวเสาเป็นบัว 2 ชั้นมีกลีบยาว ส่วนหลังคาสร้างแบบเดียวกันกับพระอุโบสถ ต่างกันที่ใช้พญานาคเศียรเดียว พระอุโบสถเป็นพญานาคสามเศียร

บานประตูหน้า 3 คู่ หลัง 2 คู่ แกะสลักลวดลายดอกบัวตูมเรียงต่อกัน เสาในพระวิหารมี 2 แถว แถวละ 7 ต้น เป็นเสาศิลาแลงก่ออิฐถือปูนทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ทาสีแดงฉลุสีทองที่โคนเสาและปลายเสาเพื่อรองรับตัวขื่อที่บัวหัวเสาเป็นบัวกลีบซ้อนกัน 5 ชั้น ที่คานบนมีลายดอกไม้เขียนพื้นไม้สีดำลายฉลุทอง

หลวงพ่อทองดำ

หลวงพ่อทองดำ พระประธานในพระวิหารหลวง วัดราชบูรณะ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 5.50 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อทองดำ ที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนกราบไว้บูชาขอพรขอโชคขอลาภล้วนประสิทธิผล

พระพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธชินราชมาก ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 2 ชั้น สูง 1.50 เมตร ชั้นล่างสูง 1 เมตร เป็นรูปเท้าสิงห์ ชั้นบนสูง 0.5 เมตร เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย

พิพิธภัณฑ์วัดราชบูรณะ

พิพิธภัณฑ์วัดราชบูรณะ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของวัดคือพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บข้าวของเครื่องใช้โบราณหลายอย่างไว้ในพระวิหารหลวงแห่งนี้ อย่างเช่นโล่สำหรับใช้ในสงคราม ซึ่งหาดูได้ยากชิ้นนี้

พิพิธภัณฑ์วัดราชบูรณะ

พิพิธภัณฑ์วัดราชบูรณะ เครื่องใช้ทองเหลือง และพัดลมสมัยโบราณ รวมไปถึงจักรยานมากมายที่ใช้กันในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็มีให้ชมและศึกษาหาความรู้ได้ นอกจากที่เห็นอยู่นี้ยังมีศิลปวัตถุ โบราณวัตถุอีกหลายอย่างในตู้กระจกรอบๆ พระวิหารหลวง

ฝาผนังด้านในของพระวิหารหลวงมีภาพจิตรกรรมที่สวยงามสมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ได้ชำรุดหายไปมาก

เจดีย์หลวง

เจดีย์หลวง ตั้งอยู่หลังพระวิหารหลวง ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ติดถนนริมฝั่งแม่น้ำน่าน เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมทำเป็นขั้นๆ ขึ้นไปจนถึงบนสุด เป็นฐานเจดีย์ทรงกลมใหญ่ศิลปะสมัยอยุธยา เป็นเจดีย์ที่สูงใหญ่แกนในของฐานเป็นดินภายนอกก่ออิฐ หน้ากระดาน 8 เหลี่ยม ยาวด้านละ 9 เมตร สูง 24 เมตร ซ้อนขึ้นไป 12 ชั้น มุมฐานชั้นบนสุดมีจุลเจดีย์ประดับที่มุม ระหว่างจุลเจดีย์ทำเป็นพนักระเบียงติดต่อกันโดยรอบ

ตรงกลางเป็นเจดีย์ประธานมีมาลัยเถาซ้อนกัน 5 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นทรงระฆังทรงกลมแต่ชำรุดสูญหายไป เหลือแต่ฐานบัลลังก์เหนือคอระฆังจึงสันนิษฐานว่า จุลเจดีย์น่าจะมีลักษณะเหมือนเจดีย์ประธานแต่มีขนาดย่อส่วนลง

พระเจดีย์วัดราชบูรณะองค์นี้เป็นพระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสูงที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก

พ.ศ. 2533 กรมศิลปากรได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์รากฐานและก่อยอดเจดีย์วัดราชบูรณะ ให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์

วัดราชบูรณะ

สิ่งอื่นๆ ในวัดราชบูรณะ

สิ่งอื่นๆ ในวัดราชบูรณะ สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดนอกจากสถานที่สำคัญๆ อย่างเจดีย์ พระวิหารหลวง พระอุโบสถแล้วก็มี ต้นโพธิ์อายุนับร้อยปี มีบันไดเงินบันไดทองให้เดินขึ้นเป็นการลอดต้นโพธิ์ตามความเชื่อว่าจะทำให้มีโชคลาภดี เสริมดวงชะตา

ส่วนภาพขวาเป็นหอไตรเสากลม เป็นหอไตรคอนกรีตกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 11 เมตร มีเสาปูนกลมเรียง 4 แถว แถวละ 4 ต้น สูงต้นละ 4 เมตร มีบัวหัวเสากลับ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นหอระฆัง ชั้นบนเป็นหอไตรเก็บรักษาพระคัมภีร์ต่างๆ หอไตรทำด้วยไม้สับแบบฝาประกน มีประตูทางเข้า 1 ประตู ทางด้านทิศใต้มีระเบียงกว้าง 1 เมตร เดินได้โดยรอบ มีหน้าบัน 4 ทิศ เป็นปูนปั้น มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ทุกมุมทั้ง 8 มุม ทิศเหนือและทิศใต้มีลายปูนปั้นรูปพระยาครุฑจับพระยานาค ยอดหอไตร มียอดเรียวแหลมคล้ายยอดของพระเจดีย์ที่มียอดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง รอบหอระฆังมีกำแพงแก้วล้อมรอบยาว 10 เมตร มีซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านทิศใต้

หอไตรนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่หากพิจารณาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้วน่าจะสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย

โรงเรียนปริยัติธรรม

โรงเรียนปริยัติธรรม อาคารเก่าแก่รูปทรงโบราณ มีความสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดด้านกว้างและด้านยาว อยู่ระหว่างหอไตรเสากลมและศาลาการเปรียญ

มณฑปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

มณฑปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันวัดราชบูรณะกำลังก่อสร้างมณฑป สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และปรับปรุงภูมิทัศน์ สำหรับท่านใดมีจิตศรัทธาขอเชิญมาร่วมสร้างมณฑปและบูรณะปูชนียสถานสำคัญของวัดไว้ให้อยู่ถึงคนรุ่นหลัง

สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นศาลาทรงสูงขนาดใหญ่ มีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ชั้นบน มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้สักการะอย่างไม่ขาดสาย

พระบรมสารีริกธาตุวัดราชบูรณะ

พระบรมสารีริกธาตุวัดราชบูรณะ เมื่อเดินขึ้นมาบนศาลาก็จะมีสถานที่สำหรับสักการะพระบรมสารีริกธาตุ จัดเตรียมไว้

ตำนานพระบรมสารีริกธาตุวัดราชบูรณะ
จากเอกสารเขียนโดยพระทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) เรื่องพระปฐมเจดีย์ได้กล่าวถึงตำนานพระปฐมเจดีย์ ฉบับพระยามหาอรรคนิกรและฉบับนายทอง ซึ่งมีข้อความบางตอนคล้ายคลึงกันมีเขียนไว้ว่า
"...จะกล่าวถึงพระมหาไหล่ลายเป็นบุตรนายเชนกษัตริย์ เป็นเชื้อวงศ์พระยาศรีสิทธิไชย เมื่อมหาไหล่ลายยังไม่ได้บวช ได้เป็นมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดินละโว้ และกระทำชู้ด้วยนางพระสนมของพระยาเธอ ถูกจับได้จึงสักไหล่เสียข้างหนึ่งแล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าม้า จึงได้นามปรากฏว่ามหาไหล่ลาย

ครั้นอยู่มามหาไหล่ลายกับนายเชนกษัตริย์บิดา หนีไปเมืองหลวงต่อแดนเมืองเชียงใหม่จะขอบวชเป็นพระภิกษุแต่คณะสงฆ์ไม่ให้บวช มหาไหล่ลายจึงบวชเป็นสามเณร อยู่มารู้ว่าจะมีสำเภาไปเมืองลังกาเจ้าเณรไหล่ลายก็เอาบาตรกับไม้เท้าลงในกระโล่ลอยไปถึงเมืองลังกา เมื่อไปถึงเมืองลังกาเจ้าเณรไหล่ลายอาศัยอยู่กับพระภิกษุผู้เฒ่าและได้พาเข้าไปหาพระสังฆราช พระสังฆราชจึงถามว่า เจ้าเณรมาลังกาครั้งนี้เพื่อประโยชน์สิ่งใด เจ้าเณรแจ้งว่าจะขอบวชเป็นพระภิกษุ คณะสงฆ์จึงแจ้งว่าเจ้าเณรนี้เป็นนักโทษหนีออกมาจากเมืองชมพูทวีปจะบวชให้นั้นมิได้ ดังนั้นเจ้าเณรไหล่ลายจึงว่า พระผู้เป็นเจ้าจงนำข้าพเจ้าไปนมัสการยังคณะเจดีย์ด้วยเถิด พระสังฆราชและพระสงฆ์ทั้งปวงจึงนำสามเณรมายังต้นโพธิ์กระทำทักษินาสามรอบ แล้วกิ่งมหาโพธิ์ข้างทิศทักษินก็น้อมลงมาให้เจ้าเณรจับใส่เศียรเกล้า แล้วพระบรมสารีริกธาตุก็เสด็จออกมาปาฏิหาริย์อยู่เหนือศรีษะเจ้าเณร มีรัศมีต่างๆ เป็นประจักษ์แก่สายตาของคณะสงฆ์ คณะสงฆ์จึงบวชให้เจ้าเณรเป็นภิกษุชื่อว่า พระมหาไหล่ลาย และได้ไปนมัสการพระพุทธบาทกับเจดีย์อื่นๆ ทั่วลังกาแล้วก็จะเดินทางกลับชมพูทวีป

เมื่อพระมหาไหล่ลายจะกลับชมพูทวีป พระสังฆราชลังกาทรงมอบพระบรมสารีริกธาตุให้จำนวน 650 องค์ กับผลพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อพระมหาไหล่ลายกลับมาถึงนครไชยศรีวัดพระเชตุพน ได้นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในมหาเจดีย์พระเสตาทั้ง 4 จำนวน 16 องค์ บรรจุไว้ในพระไสยาสน์นอกพระประธานใหญ่ จำนวน 36 องค์ บรรจุไว้ในทรองเมืองชัยนาท จำนวน 36 องค์ และผลมหาโพธิ์นั้นมหาไหล่ลายปลูกไว้ริมหนองทะเลนอกวัดเขมาปากน้ำจึงได้ปรากฏชื่อว่า มหาโพธิ์

พระมหาไหล่ลายได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ไปบรรจุไว้หน้าพระธาตุเมืองโยธา จำนวน 16 องค์ พระพุทธบาท จำนวน 36 องค์ เขานครสวรรค์ จำนวน 36 องค์ อ่างทอง จำนวน 36 องค์ เอาไปบรรจุไว้ในป่าตาผีคุด จำนวน 36 องค์ พระมหาไหล่ลายขึ้นไปทางเหนือถึงเมืองสุโขทัย ได้นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระธาตุหิน จำนวน 36 องค์ บรรจุไว้ในต่อม จำนวน 36 องค์ เอาขึ้นไปในเมืองหลวงสวงแก้ว จำนวน 36 องค์

พระมหาไหล่ลายได้เดินทางไปเมืองพิษณุโลก ได้นำไปบรรจุไว้ในวัดเสนาสน์ จำนวน 36 องค์ วัดบูรพาราม จำนวน 30 องค์ บรรจุไว้ในวัดมหาสถานจำนวน 30 องค์..." (วัดมหาเจดีย์ หรือวัดมหาสถาน ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคือวัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน)

จากหลักฐานการบันทึกเหล่านี้และตำนานการสร้างวัดราชบูรณะที่สอดคล้องกัน แสดงว่าพระบรมสารีริกธาตุกับวัดราชบูรณะอยู่คู่กันมาโดยตลอด

เมื่อปี พ.ศ. 2528 กรมศิลปากรได้ขุดค้นเจดีย์หลวงวัดราชบูรณะเพื่อจำทำการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ ได้ขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในคอระฆังของเจดีย์หลวงซึ่งบรรจุไว้ในผอบ และเจดีย์จำลองเล็กๆ ที่ทำจากทองสำริด ซึ่งทางวัดได้นำออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้สักการบูชาที่ศาลาการเปรียญ

ข้องมหาชัย

ข้องมหาชัย ตามความเชื่อของคนโบราณ จะมีการนำเอาเงินมาเก็บใส่ไว้ในข้อง เพื่อให้ชีวิตไม่ขัดข้อง และสุขภาพร่างกายแข็งแรง วัดราชบูรณะมีทั้งข้องทั้งไซสำหรับดักปลาทำเป็นขนาดใหญ่ ตั้งไว้ตรงบันไดทางขึ้นศาลา เพื่อให้ประชาชนได้บริจาคปัจจัยใส่ลงไปในข้อง

รถนำเที่ยวไหว้พระพิษณุโลก

รถนำเที่ยวไหว้พระพิษณุโลก ตอนนี้มีกิจกรรมนั่งรถไหว้พระจังหวัดพิษณุโลก มีรถบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งมีจุดขึ้นรถที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(อาจจะมีจุดอื่นๆ หรือมีการเปลี่ยนแปลงได้ตรวจสอบอีกครั้งกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 1672) โดยนำนักท่องเที่ยวไหว้พระชมวัดต่างๆ ได้แก่

- วัดนางพญา
- วัดจุฬามณี
- วัดราชบูรณะ
- วัดเสนาสน์
- วัดศรีรัตนาราม
- วัดอรัญญิก

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดราชบูรณะ พิษณุโลก
คาร์มา โฮม โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมไพลิน พิษณุโลก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมท็อปแลนด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมโยเดีย เฮอริเทจ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
วังจันทน์ ริเวอร์วิว โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแกรนด์ ริเวอร์ไซด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดีสิบเอ็ด โฮเต็ล พิษณุโลก
  1.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมอมรินทร์นคร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมดราก้อน ริเวอร์ อเวนิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 9 ห้องนอน 0 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 24 ตร.ม. – ตัวเมืองพิษณุโลก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.44 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com