www.touronthai.com

หน้าหลัก >> หนองคาย >> วัดหินหมากเป้ง

วัดหินหมากเป้ง

 ตั้งอยู่ที่บ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่) ถึง กม. 64 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2186 วัดจะอยู่ริมถนนด้านขวามือ รวมระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 75 กิโลเมตร มีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่นด้วยพรรณไม้ บริเวณวัดโดยรอบสะอาด เรียบร้อยและเงียบสงบ มีพื้นที่ด้านหนึ่งติดกับลำน้ำโขงซึ่งมองเห็นทัศนียภาพสวยงาม อาจารย์เทสก์ เทสรังสี เกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคอีสาน ได้ริเริ่มจัดตั้งให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของภิกษุสงฆ์ แม่ชี และผู้แสวงบุญทั้งหลาย หลังจากท่านมรณภาพ มีการก่อสร้างเจดีย์ เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน ภายในมีรูปปั้นของอาจารย์เทสก์ พร้อมจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารและชีวประวัติของท่านอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานอุดรธานี 0 4232 5406-7
http://www.tourismthailand.org/udonthani

แก้ไขล่าสุด 2017-02-12 03:27:36 ผู้ชม 46812

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ซุ้มประตูวัดหินหมากเป้ง

ซุ้มประตูวัดหินหมากเป้ง วัดหินหมากเป้งเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่มากๆ มีกำแพงล้อมรอบพื้นที่อาณาเขตของวัด บนทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-สังคม) จะมองเห็นกำแพงสีขาวยาวเหยียดขนานอยู่กับถนน ในที่สุดก็จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัด จากภายนอกมองเข้ามาในบริเวณวัดจะมองเห็นเพียงต้นไม้น้อยใหญ่นานาชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จนมองไม่เห็นเสนาสนะหรืออาคารต่างๆ ภายในวัดจนกว่าจะเลี้ยวเข้ามาในวัด จะเห็นมีทางแยก ทางหนึ่งตรงเข้าไป อีกทางเป็นแยกเลี้ยวซ้ายซึ่งจะตรงไปยังเจดีย์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ตอนนี้เราเลือกขับตรงเข้าไปก่อน บรรยากาศที่มีไม้ดอกหลายชนิดริมทางตกแต่งบริเวณวัดอย่างสวยงาม มองลึกเข้าไปทางซ้ายมือจะเห็นเมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มีสระน้ำคั่นอยู่ตรงกลางมีศาลาริมน้ำหลังเล็กๆ ขับเข้าไปประมาณ 300 เมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายมือ ไปยังเมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสถานที่แรกที่เราเลือกเข้าไปชมเพื่อเป็นการรำลึกถึงหลวงปู่

เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภาพนี้เป็นภาพที่มองจากอีกฟากหนึ่งของสระน้ำขนาดใหญ่ตรงศาลาริมน้ำ

เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

เมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ขับตามทางเข้ามาเรื่อยๆ จะมีที่จอดรถเล็กๆ อยู่ด้านหน้า เมรุนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานเพลิงศพ พระราชนิโรธรังสีฯ (เทสก์ เทสรังสี) เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2539 โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง 7,000,000 บาท

รูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

รูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลังจากเสร็จสิ้น การพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่แล้ว สถานที่แห่งนี้ก็เปลี่ยนเป็นที่ตั้งรูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ ให้ประชาชน ศิษยานุศิษย์ ได้มาเคารพสักการะหลวงปู่ ซึ่งก็มีประชาชนเดินทางมากราบไหว้ทุกวันไม่ขาดสาย

เจดีย์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

เจดีย์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี นับเป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ชื่ออย่างเป็นทางการเรียกว่า เจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระราชนิโรธรังสีฯ วางศิลาฤกษ์ 26 เมษายน 2534 เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2534 สิ้นงบประมาณ 18,000,000 บาท เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน ทรงบรรจุอัฐิพระราชนิโรธรังสีฯ (เทสก์ เทสรังสี) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 เจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระราชนิโรธรังสีฯ (เทสก์ เทสรังสี) นับเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของวัดหินหมากเป้ง ที่ประชาชนที่มาวัดนี้ควรจะต้องเข้าสักการะรูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ และชมเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ที่ท่านใช้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นในการออกจาริกแสวงบุญ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ

เจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระราชนิโรธรังสีฯ (เทสก์ เทสรังสี) อยู่ห่างจากเมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ประมาณ 500 เมตร

รูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

รูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เข้ามาภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระราชนิโรธรังสีฯ (เทสก์ เทสรังสี) จะเห็นรูปเหมือนของหลวงปู่เทสก์ อยู่ตรงกลาง โดยรอบผนังด้านในสร้างเป็นตู้กระจกจัดเก็บเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ด้านหน้ารูปเหมือนของหลวงปู่ มีตู้กระจกใสภายในมีราชรถบรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่เทสก์ เพื่อให้ประชาชนได้มาสักการะ

เพดานเจดีย์ตกแต่งอย่างสวยงาม

เพดานเจดีย์ตกแต่งอย่างสวยงาม รูปทรงเจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระราชนิโรธรังสีฯ (เทสก์ เทสรังสี) สร้างเป็นลักษณะแปดเหลี่ยม มีประตูเข้าออก 4 ทางแบบจตุรมุข บนเพดานและผนังด้านในตกแต่งอย่างสวยงาม

ราชรถอัฐิธาตุหลวงปู่เทสก์

ราชรถอัฐิธาตุหลวงปู่เทสก์

หนังสือธรรมะหลวงปู่เทสก์

หนังสือธรรมะหลวงปู่เทสก์ ตู้กระจกด้านหนึ่งแสดงพัดยศของหลวงปู่ แล้วอีกด้านหนึ่งจัดแสดงหนังสือธรรมะต่างๆ อันเป็นคำสอนของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หนังสือธรรมะอีกมากมายที่หลวงปู่อ่านเพื่อศึกษาพระธรรม หนังสือเหล่านี้จะดูเก่ามาก

เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่เทสก์

เครื่องอัฐบริขารหลวงปู่เทสก์ สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับศิษยานุศิษย์ ได้ระลึกถึงพระบูรพาจารย์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ก็คือเครื่องอัฐบริขารที่หลวงปู่ใช้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ได้แก่ ไตรจีวร บาตร นาฬิกา มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ ช้อน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระภิกษุในยามออกธุดงค์ ตามสายทางของพระปฏิบัติ ที่ยึดถือหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็น

ภาพวาดหินหมากเป้ง

ภาพวาดหินหมากเป้ง ออกจากเจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระราชนิโรธรังสีฯ (เทสก์ เทสรังสี) ขับรถย้อนทางเดิมผ่านเมรุหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าไปยังเสนาสนะอื่นๆ ของวัดหินหมากเป้ง วัดแห่งนี้ยังมีความแปลกอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่เข้ามาพบเห็น กล่าวคือ พื้นที่ของวัดมีกว้างใหญ่มาก ส่วนใหญ่ (เกือบ 90%) เป็นป่าที่ปลูกต้นไม้หนาแน่น แล้วแบ่งเอาพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่ใหญ่มากนักหากเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด เป็นสถานที่สำหรับสร้างเขตพุทธาวาส ได้แก่พระอุโบสถ และเขตสังฆาวาส ได้แก่กุฎิสงฆ์ มีป้ายบอกทางให้เดินไปชมหินหมากเป้งอยู่ข้างอุโบสถ เราจึงเลือกเดินไปที่นั่นก่อน และได้เห็นงานเขียนชิ้นนี้ดูจากลักษณะแล้วคงจะมีอายุหลายสิบปี ทางวัดได้นำมาแสดงไว้ตรงระเบียงหินหมากเป้งพร้อมกับที่มาของชื่อหินหมากเป้ง

ประวัติหินหมากเป้ง
หินหมากเป้งเป็นชื่อหินสามก้อน ซึ่งตั้งเรียงกันอยู่ตรงนี้ อันมีลักษณะคล้ายตุ้มเครื่องชั่งทองสมัยเก่า คำว่า หมากเป้ง เป็นภาษาภาคนี้ มีคนเฒ่าคนแก่เล่าปรัมปราสืบกันมาว่า หินหมากเป้งก้อนที่ 1 เป็นของหลวงพระบาง ก้อนที่ 2 เป็นของบางกอก ก้อนที่ 3 เป็นของเวียงจันทน์ ต่อไปอนาคตข้างหน้าจะมีกษัตริย์ทั้งสามนครมาสร้างให้เจริญ

ศาลาบนหินหมากเป้ง

ศาลาบนหินหมากเป้ง เมื่อดูรูปวาดจะเห็นศาลาหนึ่งหลัง มีสีขาว ตั้งเด่นตระหง่านอยู่บนหินหมากเป้ง บริเวณศาลาหลังนี้มีป้ายเขียนไว้ว่าเป็นหินหมากเป้งก้อนที่ 1 ซึ่งอยู่ใต้ระเบียงที่เรายืนอยู่ เป็นเหตุว่าทำไมเราจึงมองไม่เห็นหินหมากเป้งในขณะที่เราอยู่ในวัดหินหมากเป้ง เพราะเรายืนอยู่บนหินแล้วนั่นเอง หากต้องการจะชมหินหมากเป้งต้งใช้บริการล่องเรือไปชมกลางลำน้ำโขง

หินหมากเป้งก้อนที่ 3

หินหมากเป้งก้อนที่ 3 ระเบียงบนหินหมากเป้งมีลักษณะคล้ายผาหินริมน้ำโขง ที่เราสามารถจะมองเห็นได้ก็คือหินหมากเป้งก้อนที่ 3 ที่อยู่ใต้ระเบียงและยื่นออกมาจากหินหมากเป้งก้อนอื่นๆ เป็นจุดชมวิวริมน้ำโขงที่สวยงามของวัดหินหมากเป้ง

ลานหินริมโขงวัดหินหมากเป้ง

ลานหินริมโขงวัดหินหมากเป้ง จากระเบียงบนหินหมากเป้ง เราจะมองเห็นลานหินกว้างใหญ่เบื้องล่างริมแม่น้ำโขง ทางลงไปยังลานหินนี้ต้องเดินผ่านกุฎิที่สร้างเรียงรายลาดลงไปตามแนวตลิ่ง

ศาลาการเปรียญวัดหินหมากเป้ง

ศาลาการเปรียญวัดหินหมากเป้ง เป็นศาลาขนาดใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ ย้อนจากหินหมากเป้งกลับมาตรงอุโบสถก็จะมองเห็นศาลาการเปรียญหลังนี้ เป็นเส้นทางเดินไปยังศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และมณฑปหลวงปู่เทสก์

ศาลารูปเหมือนหลวงปู่เทสก์

ศาลารูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ อยู่ด้านข้างมณฑปหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เดินจากอุโบสถมา จะถึงศาลาแห่งนี้ก่อน ภายในมีรูปเหมือนหลวงปู่เทสก์อยู่ในท่านั่ง เป็นสถานที่ที่มีประชาชนเดินทางมาสักการะหลวงปู่เทสก์ มากที่สุด เพราะมีกระถางธูป เชิงเทียน พร้อมที่วางดอกไม้ไว้ให้ ศิษย์สายหลวงปู่เทสก์ ก่อนจะออกธุดงค์ จะมาสักการะหลวงปู่ที่นี่ก่อนเสมอเหมือนกับที่เห็นอยู่ในภาพ

มณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

มณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มณฑปหลังนี้เป็นศาสนสถานที่มีลักษณะของศิลปกรรมแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งสำเร็จลงด้วยความร่วมมือของศิษยานุศิษย์ ผู้มีจิตศรัทธาในองค์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เริ่มทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2522 รวมงบประมาณการก่อสร้างประมาณ 5,000,000 บาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอันเชิญสู่ยอดมณฑปด้วยฉัตร เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2524 สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาสนะมหาเถระ) ได้ทรงเมตตาเสด็จมาประทับแรม และทรงเป็นองค์ประธานในพิธีฉลองเมื่อวันที่ 25-26 เมษายน 2525 อันเป็นโอกาสเดียวกับการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

ที่ตั้งของมณฑปอนุสรณ์หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสถานที่อันเป็นกุฎิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีเดิม ปกติหลวงปู่จะใช้เป็นสถานที่รับรองศิษย์ หรือแขกที่เดินทางมาพบหลวงปู่ ณ ที่แห่งนี้ ด้านข้างของมณฑป มีบันไดทางเดินลงไปด้านล่างได้ มีระเบียงสำหรับชมวิวน้ำโขงและเป็นสถานที่ที่มีความสงบมาก

ศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จากมณฑปอนุสรณ์ เดินย้อนขึ้นมาทางศาลาการเปรียญ กลับมายังลานจอดรถก็จะผ่านศาลาหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นสถานที่สุดท้ายที่จะพาเข้ามาชมสำหรับวัดหินหมากเป้งแห่งนี้

หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ภายในศาลามีหุ่นขี้ผึ้งลักษณะกำลังก้าวย่างของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มีขนาดเท่าจริง และมีความเหมือนจริงอย่างมาก เมื่อเข้ามาพบเห็นรู้สึกเหมือนกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสียังมีชีวิตอยู่ หุ่นขี้ผึ้งยืนอยู่บนฐานที่ค่อนข้างกว้าง มีป้ายกำกับว่าห้ามจับหุ่นหลวงปู่ ผนังด้านในของศาลาหุ่นขี้ผึ้ง เป็นประวัติการเดินทางคร่าวๆ ของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่เดินทางจำพรรษาไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยอย่างไม่น่าเชื่อ นิทรรศการชุดนี้เรียกว่า 72 พรรษาของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จังหวัดต่างๆ ที่หลวงปู่ได้ไปจำพรรษา อย่างเช่น หนองคาย จันทบุรี พังงา ภูเก็ต จนกระทั่งมรณภาพที่วัดถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดหินหมากเป้ง หนองคาย
แม่โขง จีเวล เรสซิเดนซ์
  11.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
Bann Loft Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปูเป้ รีสอร์ท
  13.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
เพชรสวรรค์ เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุขสา แวนเซย์ เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
Song Rak Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
Khong Eyes Villa Resort and Spa เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
Khong Eyes Villa Resort and Spa เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมคำเสนอ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
คำเสนอ อพาร์ตเมนต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.67 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com