www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ชลบุรี >> สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

 สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล อยู่ติดกับมหาวิทยาลัยบูรพา ก่อนถึงชายหาดบางแสน มีเนื้อที่ 30 ไร่ ภายในแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม ซึ่งมีสัตว์ทะเลนานาชนิดจัดแสดงไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล พร้อมกับเปิด BigTank ใหม่ขนาด 1000 ตัน
 เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์ เวลา 8.30 - 16.00 น. วันหยุดราชการเปิดถึง 17.00 น. สาธิตดำน้ำให้อาหารปลาเวลา 14.30 น. วันหยุดเพิ่มรอบ 10.30 น.
 อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท โทร. 0 3839 1671-3
http://www.bims.buu.ac.th

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. พัทยา โทร. 0 3842 7667, 0 3842 8750 Call Center 1337
http://www.tourismthailand.org/pattaya

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 17678

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล อาคารรูปทรงยาวๆ ที่เราเห็นอยู่นี้คือสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยบูรพาถนนลงหาดบางแสนหาง่ายมากครับ เข้ามาแล้วมีลานจอดรถขนาดใหญ่สะดวกสบาย หน้าอาคารมีน้ำพุรูปปลาโลมา ใกล้ๆ กันมีร้านอาหารเครื่องดื่มแบบง่ายๆ เบาๆ เป็นของกินเล่นอย่างลูกชิ้นปิ้งให้รองทอง

โครงกระดูวาฬ

โครงกระดูวาฬ เป็นสิ่งหนึ่งที่มักจะมีตั้งอยู่หน้าสถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับปลาทะเลแทบทุกที่ เช่นสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน หรือชลทัศนสถานบนเกาะสีชังก็มีโครงกระดูกวาฬบรูด้า เดินตรงไปอีกหน่อยเป็นช่องจำหน่ายบัตรเข้าชม ผู้ใหญ่คนละ 100 บาท รอบๆ บริเวณนี้ยังมีตู้ปลาทะเลให้เราได้ชมเป็นบางชนิดด้วย

ปลาการ์ตูนนีโม่

ปลาการ์ตูนนีโม่ เมื่อเข้ามาด้านในจัดแสดงปลาทะเลชนิดต่างๆ อยู่ในตู้หลายขนาดตั้งเรียงกันไปตามทางเดินที่จะพาเราไปเรื่อยๆ มีปลาทะเลหลายชนิดแต่ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำแทบทุกแห่งก็คือปลาการ์ตูนส้มตัวเอกการ์ตูนดังนีโม่นั่นเอง

ปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเล

ปลาการ์ตูนกับดอกไม้ทะเล เป็นที่รู้กันดีว่าดอกไม้ทะเลเป็นที่อยู่อาศัยที่จำเป็นสำหรับเจ้าปลาการ์ตูน มันจะอาศัยอยู่เป็นคู่ตามดอกไม้ทะเลเพื่อเป็นที่ฟักไข่ ดอกไม้ทะเลหลายชนิดมีพิษแต่ไม่ทำร้ายปลาการ์ตูน ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่แปลกมากเมื่อเกิดมามันจะยังไม่แสดงเพศ จนเวลาผ่านไประยะหนึ่งมันจะแสดงเป็นเพศเมียบ้างเพศผู้บ้าง โดยตัวที่โตที่สุดจะเป็นเพศเมีย หากเพศเมียตายไปตัวหนึ่งเพศผู้ที่ขนาดรองลงมาจะกลายมาเป็นเพศเมียได้

ปลาทะเลสวยงาม

ปลาทะเลสวยงาม ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลมีปลาทะเลจำนวนมากมายหลายชนิดแต่ละชนิดแบ่งให้อยู่ในตู้ตามความเหมาะสมของขนาดของมัน หลายชนิดที่อยู่รวมกันได้ก็จะอยู่ในตู้เดียวกัน บางชนิดต้องแยกออกไปอยู่ในตู้เฉพาะเดี่ยวๆ หากได้ไปเดินชมสถานแสดงพันธุ์สัตว์ทะเลมาบ้างจะเห็นว่าที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งนี้มีปลาทะเลหลายชนิดมากกว่าหลายๆ ที่ในประเทศไทย

ปลาหมึก

ปลาหมึก เป็นสัตว์ทะเลอย่างหนึ่งที่คนชอบกินกัน หมึกมีหนวดยาวๆ โดยที่หนวดแต่ละเส้นของมันมีปุ่มสำหรับจับยึดได้ดี ดูตอนที่มันมีชีวิตอยู่ไม่ค่อยน่ากินออกไปทางน่ากลัวมากกว่า หมึกจะชอบซ่อนตัวรอเหยื่ออยู่ในมุมต่างๆ อย่างเช่นปะการัง หรือในเปลืกหอย

ปลาสิงโตปีกยาว

ปลาสิงโตปีกยาว เป็นปลาทะเลที่มีรูปร่างน่ากลัวมากครับ
ชื่อสามัญ : Lionfish ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterois volltans
ลักษณะทั่วไป : ลำตัวแบนด้านข้างกลมเล็กน้อย พื้นสีน้ำตาลอ่อนและมีลวดลายสีน้ำแดงคาดตามขวาง ครีบหูแผ่กว้างมากมีก้านครีบแข็งยาวยื่นออกไป ขนาดความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร
แหล่งอาศัย : พบตามซอกหินและแนวปะการัง ทางฝั่งทะเลอันดามัน

ปลาไหลทะเล

ปลาไหลทะเล ปลาไหลทะเลเป็นสัตว์ที่พบได้ในแนวปะการังอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมักอาศัยอยู่ตามโพรงหิน สามารถขุดโพรงเป็นที่หลบซ่อนตัว และออกมาหากินในเวลากลางคืน ในธรรมชาติอาจพบอยู่ตัวเดียวหรืออยู่เป็นกลุ่มก็ได้ ปลาชนิดนี้จะผสมพันธุ์และวางไข่ในที่มีสาหร่ายหรือหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์

ม้าน้ำ

ม้าน้ำ เป็นสัตว์ทะเลอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก เจ้าม้าน้ำส่วนใหญ่จะเอาหางเกาะพืชในทะเลอยู่นิ่งๆ แต่มันก็ไหวเอนไปตามกระแสน้ำ ในตู้แสดงปลาทะเลที่มีออกซิเจน จนน้ำกระเพื่อมตลอดเวลาแม้ว่ามันจะเกาะอะไรอยู่เหมือนนิ่งๆ แต่ก็ไม่นิ่งจริงๆ การโงนเงนของมันทำให้มันเป็นสัตว์ที่ถ่ายรูปยากมากอย่างหนึ่ง
ม้าน้ำ (อังกฤษ: Seahorse) เป็นปลากระดูกแข็งที่อาศัยอยู่ในทะเลจำพวกหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Hippocampinae (ซึ่งมีอยู่ 2 สกุล คือหนึ่งสกุลนั้นคือ ปลาจิ้มฟันจระเข้สัน ที่อยู่ในสกุล Histiogamphelus มีรูปร่างคล้ายปลาจิ้มฟันจระเข้ผสมกับม้าน้ำ) ในวงศ์ Syngnathidae อันเป็นวงศ์เดียวกับปลาจิ้มฟันจระเข้และมังกรทะเล ในอันดับ Syngnathiformes
สำหรับม้าน้ำนั้นจะมีอยู่เพียงสกุลเดียว คือ Hippocampus ซึ่งมาจากภาษากรีกโบราณ คำว่า "hippo" หรือ "hippos" ที่แปลว่า "ม้า" และ "campus" ที่แปลว่า "สัตว์ประหลาดทะเล"

ม้าน้ำ เป็นปลาที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากปลาชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ มีกระดูกหรือก้างมาห่อหุ้มเป็นเกราะอยู่ภายนอกตัวแทนเกล็ด ส่วนหางของแทนที่จะเป็นครีบสำหรับว่ายน้ำไปมาอย่างปลาชนิดอื่น กลับมีหางยาวเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน มีไว้เพียงเพื่อเกี่ยวยึดตัวเองกับพืชน้ำหรือปะการังในน้ำ มีครีบอกและมีครีบบางใสตรงเอวอีกครีบหนึ่งช่วยโบกพัดกระพือ โดยครีบทั้ง 2 นี้จะโบกพัดด้วยความเร็วประมาณ 20-30 ครั้งต่อวินาที ทำให้เคลื่อนไหวไปมาได้อย่างช้า ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วม้าน้ำมักจะว่ายน้ำเป็นไปในลักษณะขึ้น-ลง มากกว่าไปมาข้างหน้า-ข้างหลังเหมือนปลาชนิดอื่น ปากยื่นยาวคล้ายท่อไม่มีกราม ตรงปลายมีที่เปิด ใช้สำหรับดูดกินอาหาร จำพวกแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ๆ
ม้าน้ำ เหมือนกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในวงศ์เดียวกันนี้ คือ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง โดยมีอวัยวะตรงบริเว๊ณหน้าท้องคล้ายถุง ใช้สำหรับเก็บไข่และฟักเป็นตัว เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ม้าน้ำตัวผู้จะปรับเปลี่ยนสีของลำตัวเพื่อดึงดูดม้าน้ำตัวเมีย จากนั้นตัวผู้จะใช้หางโอบกอดตัวเมียพร้อมกับแอ่นท้องประกบกับท้องเข้าหากัน ตัวเมียจะออกไข่ใส่ลงในถุงหน้าท้องของตัวผู้ และม้าน้ำตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าผสมกับไข่และฟักเป็นตัวอ่อนภายในถุงหน้าท้อง โดยใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจำนวนไข่ประมาณ 100-200 ฟอง มากที่สุดคือ 1,500 ฟอง ตามแต่ละชนิด เมื่อคลอด พ่อม้าน้ำก็จะบีบกล้ามเนื้อส่วนท้องและพ่นลูกม้าน้ำทั้งหมด ให้ออกจากกระเป๋าหน้าท้อง โดยที่ม้าน้ำมีพฤติกรรมแบบคู่เดียวตลอดทั้งชีวิต กล่าวคือ จะจับคู่อยู่กันเพียงตัวเดียว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอันเป็นไป ก็จะไม่หาคู่ใหม่

ที่มา th.wikipedia.org/wiki/ม้าน้ำ

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล สำหรับปลาทะเลที่จัดแสดงไว้ที่นี่มีจำนวนมากมายหลายชนิดคงไม่สามารถถ่ายรูปมาให้ครบได้ครับ จากตรงนี้ไปจะเอารูปปลาเหล่านี้มาย่อเล็กๆ ให้ชมกันหลายๆ ตัวปลาตัวหนึ่งในภาพบนซ้ายเรียกว่าปลาอมไข่จุดแดง

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาพบนซ้ายคือปลาสินสมุทรจักรพรรดิ ครับ ปลาสินสมุทรจักรพรรดิลำตัวแบนกว้าง ปากเล็ก ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบหลังเชื่อมต่อกัน ครีบหูใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบท้องยาวแหลม ครีบทวารโค้งมน ครีบหางปลายตัดและโค้งเล็กน้อย ขนาดความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร พื้นลำตัวมีสีเหลืองอมเขียว และมีเส้นแถบสีเหลืองจำนวนมากคาดตามยาว บริเวณตามีแถบคาดสีดำขอบน้ำเงิน พาดลงมาข้างแก้มซึ่งมีหนามแหลมยาวแล้ววกขึ้นไปบริเวณแก้ม ทำให้ฐานครีบหูมีสีดำ ปลาสินสมุทรชนิดนี้อาศัยอยู่ตามกองหิน เกาะแก่งและแนวปะการังฝั่งมหาสมุทรอินเดีย แต่ไม่พบในอ่าวไทย

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาพล่างซ้ายปลาผีเสื้อครีบยาว เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ของปลาผีเสื้ออีกหลายชนิด ปลาผีเสื้อเป็นปลาที่เพิ่มความสวยงามให้กับปะการังปกติเมื่อไปเที่ยวดำน้ำชมปะการังน้ำตื้นตามเกาะต่างๆ ของไทยมักจะพบเห็นปลาชนิดนี้ได้บ่อยๆ

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาพล่างขวาปลาสร้อยนกเขาลายตรง

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาพบนขวาปลาผีเสื้อลายตรง ส่วน 2 ภาพข้างล่างเป็นปลาผีเสื้อปากยาวครับ

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล

ปลาทะเลชนิดต่างๆ ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาพบนซ้ายปลากะรังแดงจุดฟ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Plectropomus leopardus ในวงศ์ปลากะรัง (Serranidae) วงศ์ย่อย Epinephelinae มีลำตัวแบนยาว บริเวณรอบดวงตาแบน ไม่มีเกล็ด ก้านซี่เหงือกจำนวน 6-10 อัน หลังมีก้านครีบแข็ง 7-8 ก้านครีบที่ 3 หรือ 4 ยาวที่สุด ก้านครีบอ่อน 10-12 อัน ครีบอกมีก้านครีบอ่อน 15 ถึง 17 อัน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 3 อัน และก้านครีบอ่อน 8 อัน หางเป็นแบบตรงเว้ากลางเล็กน้อย สีลำตัวมีหลากหลายตั้งแต่ สีเขียวมะกอกถึงแดงน้ำตาล สีส้มแดงถึงแดงเข้ม จะมีจุดสีฟ้าเล็ก ๆ บนหัวและแก้มมากกว่า 10 จุด และที่ลำตัว ยกเว้นใต้ท้อง มีความยาวลำตัวได้จนถึง 120 เซนติเมตร พบในทะเลความลึกตั้งแต่ 3-100 เมตร พบชุกชุมแถบทะเลเขตร้อน ได้แก่ ประเทศไทย , อินเดีย , ศรีลังกา, พม่า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ออสเตรเลียตอนเหนือ, ทะเลแดง, ทะเลอาหรับและทวีปแอฟริกาตอนใต้ ในเขตอบอุ่นพบบ้างแต่ไม่มากเท่า

สืบพันธุ์วางไข่ในทะเลและลูกปลาจะเข้ามาเจริญเติบโตอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล หรือปากแม่น้ำ สามารถเปลี่ยนเพศได้ ขนาดสมบูรณ์เพศอายุประมาณ 3 ปี น้ำหนักตัวประมาณ 3 กิโลกรัม จะเป็นเพศเมียทั้งหมด เมื่อปลาเจริญเติบโตมีน้ำหนักตัวประมาณ 7 กิโลกรัม ก็จะเปลี่ยนเป็นเพศผู้ ดังนั้นการผสมพันธุ์ของปลาชนิดนี้ในธรรมชาติจะเกิดจากปลาเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่กับปลาเพศเมียที่มีขนาดเล็กกว่า โดยฤดูกาลผสมพันธุ์ระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงเมษายน โดยสามารถวางไข่ได้ 208,000-269,500 ฟองต่อตัว ซึ่งปริมาณและคุณภาพของไข่ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวปลา

ปลากะรังจุดฟ้าเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีเนื้อรสชาติอร่อย มีราคาขายที่สูงกว่าปลากะรังชนิดอื่น ๆ โดยมีราคาขายตกถึงตัวละ 750-800 บาท จึงมีการเพาะเลี้ยงกันในกระชัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า "ปลากุดสลาด" หรือ "ปลาย่ำสวาท" เป็นต้น

ที่มา th.wikipedia.org/wiki/ปลากะรังจุดฟ้า

นิทรรศการความรู้เรื่องปะการัง

นิทรรศการความรู้เรื่องปะการัง ทะลุออกมาจากทางเดินที่มีตู้แสดงพันธุ์ปลาทะเลจำนวนมากได้แล้วจะมีช่วงว่างๆ ช่วงหนึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับความรู้เรื่องปะการัง ประโยชน์ของปะการัง ระบบนิเวศน์รอบๆ ปะการัง มีตู้แสดงปะการังชนิดต่างๆ บางอย่างอยู่ในตู้เดียวกันกับปลาทะเล บางอย่างแยกอยู่เฉพาะปะการัง แต่ละชนิดมีความสวยงามต่างกันไป ในท้องทะเลอาจจะหาดูได้ยากมากแล้ว

อุโมงค์ใต้ทะเล

อุโมงค์ใต้ทะเล ที่สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลนอกจาจะมีตู้ปลาจัดให้ชมเป็นจุดๆ ตามทางเดินแล้ว มาสุดที่ห้องสุดท้ายเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่มีปลาทะเลหลายชนิดตัวใหญ่ๆ ว่ายไปมา เป็นสถานที่ที่ดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมโดยเฉพาะเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี ด้านนอกของอุโมงเป็นเสมือนตู้ปลาขนาดใหญ่ มีที่นั่งสำหรับชมปลากันแบบครอบครัว นอกจากนี้สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลยังมีโชว์ BigTank ใหม่ขนาด 1000 ตัน เปิดให้เข้าชมทุกวันเว้นวันจันทร์ เวลา 8.30 - 16.00 น. วันหยุดราชการเปิดถึง 17.00 น. สาธิตดำน้ำให้อาหารปลาเวลา 14.30 น. วันหยุดเพิ่มรอบ 10.30 น. อีกด้วยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ชลบุรี
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 44 ตร.ม. – บางแสน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
1BR Apartment near Bang Sean beach by favstay 1-1 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิชชี่เฮ้าซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
เอ็มเจ โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะ บาย ดี คอนโด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
สามขวัญ วิลเลจ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
We by Samkwan เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
บูรพา สวีท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
BR Hotel & Residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
สิมิลัน แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.80 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com