วัดบ้านกร่าง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุร่วม 400 ปี เป็นวัดที่มีกรุพระขุนแผนบ้านกร่าง เป็นเนื้อดินเผาศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช เมื่อตอนยกทัพกลับผ่านอำเภอศรีประจันต์ ได้พักทัพริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ทรงรับสั่งให้ทหารสร้างพระเครื่องซึ่งเล่ากันว่า เป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ บรรจุในกรุวัดบ้านกร่าง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ทหารที่เสียชีวิต พระพิมพ์บ้านกร่างคู่เป็นพระที่มีความหมายมาก ในการสร้างพระครั้งนี้แม่พิมพ์แกะเป็นสององค์คู่กัน โดยสมมติให้เป็นองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ พระรูปแบบนี้หายากในกรุอื่นๆ ทั่วประเทศไทย
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่
พระอุโบสถและวิหาร เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยอู่ทอง ใบเสมาที่เรียงรายรอบพระอุโบสถมีที่มาจากการนำพระวัดกร่างพิมพ์ทรงพลใหญ่มาจำลองให้มีขนาดเท่าใบเสมา ใบเสมาของวัดนี้จึงมีลักษณะโดดเด่นไม่เหมือนวัดใด ส่วนวิหารมีอายุราว 450 ปี ประดิษฐานหลวงพ่อแก้วและพระประธานภายในวิหาร
มณฑป อยู่ถัดจากวิหาร ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2476 ด้านหลังวิหาร ประดิษฐาน เจดีย์ ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ จากองค์เดิมที่สร้างในสมัยอยุธยาซึ่งชำรุด ความสูงจากฐานถึงยอดเจดีย์ราว 5.70 เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระเครื่องตระกูลวัดบ้านกร่าง(พระขุนแผน) และภายในพระเจดีย์ เคยพบพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์จำนวน 20-30 องค์ และพระเครื่องซึ่งมีลักษณะเป็นแก้วสีเขียว
บริเวณริมแม่น้ำประดิษฐาน เจดีย์กลางน้ำ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอายุราว 150 ปี มีลักษณะย่อมุมไม้สิบสองแต่เดิมองค์พระเจดีย์ตั้งอยู่กลางแม่น้ำท่าจีน สร้างขึ้นไว้สำหรับคนทั่วไปสักการะบูชาในวันลอยกระทง แต่เนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ เป็นเหตุให้พระเจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จทรงนมัสการเจดีย์กลางน้ำองค์นี้ คราวเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2451 และตั้งพลับพลาที่ตำบลบ้านกร่าง
บริเวณหน้าวัดริมแม่น้ำมีปลาอาศัยจำนวนมาก ทางวัดสร้างแพหลังคาทรงไทยขนาดใหญ่ให้ผู้มาเที่ยวชมสามารถทำบุญเลี้ยงปลา นับเป็นอุทยานมัจฉา แห่งหนึ่งของจังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้จะสังเกตเห็นเรือนแถวหน้าทางเข้าวัดบ้านกร่าง เป็นเรือนแถวไม้สองชั้น แบบโบราณ บรรยากาศเงียบสงบ สะท้อนความเป็นอยู่เรียบง่ายแบบดั้งเดิมของผู้คนแถวนี้
การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 340 ผ่านอำเภอศรีประจันต์ เข้าทางหลวงหมายเลข 3038 กิโลเมตรที่ 14-15 ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี(แม่น้ำท่าจีน) คนละฝั่งกับที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ ห่างจากจังหวัดประมาณ 20 กิโลเมตร
ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สุพรรณบุรี โทร.035 525 880
Facebook tat_suphanburi
แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 6194
การเดินทาง
แผนที่
ที่เที่ยว/ที่พัก
กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ