ข้อมูลเพิ่มเติม:สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 0 2270 0395-7
สำนักงานสุพรรณบุรีโทร. 0 3558 1668
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
ด้านหน้าบ้านควาย หลังจากเดินทางมาถึงบ้านควาย ประมาณ 20 นาที เศษๆ จากตัวเมืองสุพรรณตามเส้นทางเดียวกันกับบึงฉวาก มาถึงด้านหน้ามีลานจอดรถขนาดใหญ่เลือกจอดกันใกล้ทางเข้าที่สุด แล้วก็มาซื้อบัตรเข้าชม เรามาถึง บ่ายโมง ก็เลยถามรายละเอียดต่างๆ กะว่าจะได้ชมโชว์ด้วย แต่เวลาในการแสดงกับเวลาที่เรามาถึงช่างห่างกันมากเหลือเกิน ก็เลยยังไม่ได้ชมการแสดงในทริปนี้ไว้มาคราวหน้าคงจะไม่พลาด คราวนี้เลยซื้อบัตรเข้าชมอย่างเดียว แต่มีรายละเอียดค่าบัตรมาให้เลือกชมตามอัธยาศัยตามนี้ครับ
ค่าเข้าชม
ชาวไทยบัตรรวม
ผู้ใหญ่ 60 บาท / ท่าน เด็ก 40 บาท / ท่าน
บัตรแยกตามจุด
ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 30 บาท / ท่าน เด็ก 20 บาท / ท่าน
การแสดง
ผู้ใหญ่ 20 บาท / ท่าน เด็ก 10 บาท / ท่าน
นั่งเกวียน
ผู้ใหญ่ 20 บาท / ท่าน เด็ก 10 บาท / ท่าน
ชาวต่างชาติบัตรรวม
ผู้ใหญ่ 300 บาท / ท่าน เด็ก 210 บาท / ท่าน
บัตรแยกตามจุด
ค่าเข้าชม
ผู้ใหญ่ 150 บาท / ท่าน เด็ก 70 บาท / ท่าน
การแสดง
ผู้ใหญ่ 100 บาท / ท่าน เด็ก 70 บาท / ท่าน
นั่งเกวียน
ผู้ใหญ่ 100 บาท / ท่าน เด็ก 70 บาท / ท่าน
หลังจากซื้อบัตรก็เดินเข้าด้านใน ภาพที่เราคิดว่าจะเป็นเพียงคอกควายมีควายยืนให้ถ่ายรูปก็มลายหายไปจากความคิด เพราะภายในไม่ได้เป็นเพียงคอกควายให้เราเดินดูอย่างเดียว แค่ด้านหน้าทางเข้าก็มีการตกแต่งจัดสวนให้ร่มรื่น มีแอ่งน้ำ มีกล้วยไม้ ดอกไม้หลายๆ อย่างให้ชมเพลินตา พอเดินๆ ไปเกิดร้อนก็หลบเข้าร่มไม้แล้วค่อยเดินกันต่อ
ทางเดินในบ้านควาย เอาละคราวนี้เดินเข้าไปดูกันว่าภายในนี้มีอะไรบ้าง เดินมาได้ไม่ถึง 10 เมตร ก็จะเห็นทางแยก แบบนี้ด้านหน้าตรงเข้าไปจะมีร้านขายของฝากของที่ระลึก มีกาแฟสดบริการด้วย ส่วนแยกซ้ายเป็นทางไปบ้านที่จำลองไว้ว่าบ้านเรือนในสมัยก่อนนั้นมีลักษณะเป็นยังไง เพราะสมัยนี้การสร้างบ้านเรือนเปลี่ยนไปเยอะ เป็นบ้านปูนทั้งหมด
ภาพด้านบนซ้ายและขวา เป็นบ้านจำลอง บ้านไม้ทั้งหลังที่สร้างตามแบบบ้านภาคกลาง ประกอบไปด้วยเครื่องเรือน เครื่องครัว ทั้งหมดเป็นแบบสมัยก่อน ชั้นล่างมีเครื่องสาน หมายถึงเครื่องใช้ที่ทำจากการจักสานเอาไว้ใช้ในบ้านเรือนสมัยนั้น
ส่วนอีกแยกหนึ่งพาเราเดินตรงเข้าไปด้านใน มีหุ่นควายตัวใหญ่ยืนจังก้าต้อนรับเราอยู่ ถึงทางแยกอีกทีที่สระน้ำมีป้ายบอกทางไปอาคารสัมมนา ทางไปคอกควาย อยู่คนละทางกัน ร้านของที่ระลึกร้านสุดท้าย มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกะลา ส่วนมากเป็นรูปควายหน้าตาน่ารัก น่าสะสมดีเหมือนกัน
บ้านไทยภาคกลางในอดีต มาถึงตรงนี้มีทางเดินเข้ามาชมบ้านไทยได้อีกทาง พอดีมาเจอคุณ มานิตย์ บัวทอง ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บ้านควาย คุณมานิตย์ก็เลยได้พาเราเข้ามาชมอีกครั้งพร้อมกับบรรยายถึงที่มาในการสร้างบ้านหลังนี้ แล้วก็ยังใจดีพาเราเดินชมไปรอบๆ บริเวณทั้งหมดอีกด้วย
บริเวณจัดงานแต่งงานไทย นอกเหนือไปจากบริการจัดประชุมสัมมนา กิจกรรมเพื่อความสามัคคีที่ทางบ้านควายจัดไว้บริการองค์กรต่างๆ ที่มาเป็นหมู่คณะ ในพื้นที่ 100 กว่าไร่ นี้ ยังแบ่งออกเป็นสวนสมุนไพร และอุทยานย่อมๆ โดยมีบ้านทรงไทยหลังใหญ่อยู่ตรงกลางติดสระน้ำขนาดใหญ่ บ้านทรงไทยนี้มีไว้ให้บริการสำหรับการจัดงานมงคลสมรส แต่งงานแบบไทยๆ ในบ้านทรงไทย ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่นล้อมรอบไปด้วยดอกไม้หลายชนิด
นอกจากนี้ยังมีบ้านพักทรงไทยเรียกว่าเรือนโหราจารย์ สามารถเข้าพักได้ในราคา วันธรรมดา 1100 บาท วันหยุด 1400 บาท ไว้บริการด้วย
เดินๆ ชมเรือนไทยหลังใหญ่ ไปสักพักก็เดินตามกลุ่มไปที่คอกควายซึ่งมีทางแยกไปอีกทาง คุณมานิตย์ยังคงทำหน้าที่ไกด์พาเราเดินชมไปทั่ว พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับควายที่อยู่ที่นี่ เริ่มตั้งแต่มีควายทั้งหมด เกือบ 40 ตัว ที่อยู่ในบ้านควาย และอีกเกือบ 40 ตัวที่ฝากชาวบ้านเลี้ยงไว้ ควายที่นี่มีทั้งควายที่มีสีปกติคือสีเทาเข้ม กับควายเผือก ที่ในหลายพื้นที่เรียกว่าควายดอน นั่นเอง ควายที่นี่อ้วนท้วนอุดทสมบูรณ์มาก แต่ละตัวมีอายุหลายปี ในคอกแรกจะมีควายไม่กี่ตัว พอเดินไปอีกสักพักจะถึงคอกที่ยาวหน่อยมีควายยืนเรียงรายเป็นสิบ สังเกตุที่หัวควายตัวไหนมีหมวก นั่นคือควายดารา หมายความว่ามันมีผลงานการแสดง ไม่ว่าจะเป็นหนังหรือละคร บางตัวมีผลงานอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว ควายแต่ละคอกจะมีผู้ดูแลยืนอยู่ใกล้ๆ สนใจข้อมูลควายตัวไหนเล่นเรื่องอะไรบ้างเข้าไปถามคนดูแลได้เลย
ระหว่างที่เราเดินชมควายในคอกอยู่นี้เราจะอยู่ตรงข้ามกับเรือนไทยที่มีสระน้ำกั้นอยู่ตรงกลาง ริมสระน้ำมีแพลงไปให้อาหารปลาได้ อาหารปลามีขายที่ร้านของฝากครับ
รู้เรื่องเขาควาย ในคอกควายที่มีควายอยู่หลายตัวไม่ใช่ว่าจะเอาควายที่เป็นดาราเล่นหนังมาให้เราดูอย่างเดียว ในนี้ยังมีควายที่มีความแตกต่างกันอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน เพื่อให้เป็นความรู้สำหรับคนไทย และโดยเฉพาะเด็กๆ รุ่นหลังที่จะหาดูควายตามท้องไร่ท้องนาได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนการใช้ควายทำนาได้ทุกกระบวนการแล้ว
ควายที่อยู่ในคอกที่เราเห็น คุณมานิตย์ อธิบายให้ฟังว่ามีเขารูปแบบต่างๆ กัน 4 แบบ
เรียงจากภาพบนซ้าย เรียกว่าเขากาง มีลักษณะของเขากางออกกว้างกว่าปกติ แลดูน่าเกรงขาม ในหนังเรื่องบางระจันคงมีคนเดยเห็นอยู่บ้าง
ภาพบนขวา เป็นเขาตก หรือเขาทุย
ภาพล่างซ้าย เป็นเขากอบหรือเขาปกติของควายทั่วๆ ไป
ภาพล่างขวา เป็นเขาแบบเดียวกับกระทิง ควายที่มีเขาแบบนี้อยู่คอกสุดท้าย ใกล้ๆ กับดาราชื่อเจ้าหลง คนดูแลบอกว่าอย่าเข้าใกล้ควายที่มีเขากระทิงเพราะมันค่อนข้างดุ
พญาควาย เอาละ เราก็ดูควายมาหลายรูปแบบหลายลักษณะแล้ว แล้วเรารู้หรือไม่ว่า มีควายที่มีลักษณะที่เรียกว่าพญาควายด้วยครับ การสังเกตุคัดเลือกควายลักษณะดีที่เรียกว่าพญาควายนั้น มีจุดสังเกตุคล้ายกับกระบวนการสังเกตุช้างพิเศษเลยครับ อย่างหนึ่งที่เห็นได้ไม่ยากคือพญาควายจะมีปลายลิ้นดำ คนดูแลจะเอามือลูบที่จมูกมันมันก็จะเลียจมูกให้เราเห็นปลายลิ้นแบบนี้ละครับ กว่าจะถ่ายรูปปลายลิ้นดำได้มันก็ต้องเลียจมูกซะจนจมูกเปียกไปหมด
ลักษณะพญาควาย "หน้าดอก - หางแบน - ข้อเท้าด่าง - ปากคาบแก้ว - เท้าขุนนาง"
เชื่อกันว่าบ้านใดมีพญาควายไว้ในครอบครองจะมีคุณมหาศาล ทำมาหากินคล่องมีแต่ความเจริญ ยังมีความเชื่ออีกว่าใครกินเนื้อพญาควายเข้าไปจะพบกับความวิบัติฉิบหาย พญาควายจะเข้าตำราต้องมีลักษณะครบทั้ง 5 อย่าง
สวนสมุนไพร จบคอกควายคอกสุดท้าย มีทางเดินต่อไปอีก ดูเหมือนว่าจะวนไปได้อีกไกล ส่วนด้านตรงข้ามกับคอกควาย มีทางเดินเล็กๆ เข้าไปในสวน สวนแห่งนี้คือสวนสมุนไพร อยู่ริมสระน้ำด้านหนึ่ง ก่อนจะเข้าสวนก็มีร้านเครื่องดื่มบริการอยู่ตรงนี้ แต่ถ้ามาวันธรรมดาก็อาจจะปิดเร็วหน่อยนะครับ
พิพิธภัณฑ์ชาวนา เดินต่อไปอีกไหนๆ ก็มาถึงนี่แล้วคงต้องเดินให้รอบแล้วละ ส่วนคอกควายนั้นหมดไปแล้วครับ บางคนเดินย้อนกลับออกทางเดิม สำหรับการดูการแสดงก็ต้องไปรอที่ลานแสดง แต่วันนี้รอไม่ไหวจริงๆ ไว้ผมจะกลับมาซ่อมให้ ตรงนี้ที่ยืนอยู่เป็นพิพิธภัณฑ์ชาวนา มีอุปกรณ์เครื่องมือในการทำนาให้เราดู แต่ต่อไปคงหาเครื่องมือแบบนี้ในท้องนาจริงได้ยาก ด้านหลังติดกับทุ่งนาผืนเล็กๆ (จะว่าไปก็ไม่เล็กเท่าไหร่ แต่ไม่ใหญ่ขนาดเท่านาจริงๆ ที่เราเห็นอยู่ข้างถนน) ท้องนานี้เป็นท้องนาที่ปลูกข้าวจริงๆ เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การทำนาด้วยการลงมือปฏิบัติจริงๆ ตั้งแต่หว่านจนถึงเกี่ยวข้าว นวดข้าว นู่นเลย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยุ่กับว่านักท่องเที่ยวเข้ามาชมบ้านควายในช่วงไหนนของการทำนา
สวนสัตว์ย่อมๆ เอาละเดินต่อมาอีกหน่อย คราวนี้เจอเจ้ากวางน้อยที่นอนหลบแดดอยู่ไกลๆ จากขอบรั้ว กวางในกรงนี้มีอยู่หลายตัว กวางตัวโตจะมายืนใกล้รั้วรอรับหญ้าจากนักท่องเที่ยวที่ยื่นให้ แต่เจ้าตัวน้อยคงยังไม่สนใจที่จะกินหญ้าเพราะมันยังเล็กอยู่ สวนสัตว์ย่อมๆ ที่มีสัตว์อื่นๆ ให้เราได้ดูนับเป็นบริการพิเศษให้กับนักท่องเที่ยวเพราะกลัวว่าดูควายอย่างเดียวจะเบื่อ
นอกจากนี้ยังมีสัตว์อื่นๆ อีก ได้แก่ นกกระจอกเทศ หมีขอ แกะ เป็นต้น
บ้านไทยรีสอร์ท อีกหนึ่งบริการจากบ้านควาย บ้านพักภายในโครงการ มีหลายแบบให้เลือก ราคาก็ต่างกันไป ในรูปนี้เรียกว่าบ้านเดี่ยว
มีจำนวนห้องพัก 16 ห้อง
ราคาวันธรรมดา อาทิตย์ - พฤหัสบดี ราคา 950 บาท
ราคาวันหยุด ศุกร์ - เสาร์ ราคา 1,150 บาท
พร้อมอาหารเช้า 2 ท่าน
บ้านไทยรีสอร์ท เดินมาเรื่อยๆ ผ่านบ้านมาหลายหลังตรงนี้เป็นฟรอนท์ของรีสอร์ทมีอาหารบริการที่นี่
รีสอร์ทสไตล์บาหลี ด้านหลังฟรอนท์ เราก็จะเห็นสระว่ายน้ำแบบนี้ อีกฟากหนึ่งของสระว่ายน้ำ มีห้องพักเก๋ๆ
Bali Deluxe Twin/Incl.ABF
มีจำนวนห้องพัก 2 ห้อง
ราคาวันธรรมดา อาทิตย์ - พฤหัสบดี ราคา 1,450.00 บาท
ราคาวันหยุด ศุกร์ - เสาร์ ราคา 1,750.00 บาท
พร้อมอาหารเช้า 2 ท่าน
Bali Deluxe Single/Incl.ABF
มีจำนวนห้องพัก 2 ห้อง
ราคาวันธรรมดา อาทิตย์ - พฤหัสบดี ราคา 1,450.00 บาท
ราคาวันหยุด ศุกร์ - เสาร์ ราคา 1,750.00 บาท
พร้อมอาหารเช้า 2 ท่าน
ภายในห้องสไตล์บาหลี มองจากด้านนอกอย่างเดียวคงไม่พอ เราก็เลยขอเปิดห้องเข้าไปชมภายในกันหน่อยว่าเป็นยังไง เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน อีกด้านหนึ่งของบ้านพักมองไปจะเป็นวิวของท้องทุ่งนาเขียวขจี ห้องน้ำสวยหรูมีอ่างอาบน้ำด้านซ้ายส่วนด้านขวาเป็นห้องอาบน้ำฝักบัว โต๊ะเครื่องแป้งอยู่ส่วนหน้าของห้องน้ำ ออกแบบเรื่องแสงได้อย่างลงตัว เห็นแล้วก็อยากจะมาพักสักคืนเหมือนกันครับ
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบ้านควาย บ้านไทยรีสอร์ท ห้องประชุมสัมมนา งานแต่งงานแบบไทยบนเรือนไทย ได้ที่
222 ถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี 72140
สุพรรณ 0-3558-1668
เบอร์โทรฉุกเฉิน 08-9036-4445,08-6345-9814,08-6345-9815
โทรสาร 0-3558-2893
กรุงเทพฯ 0-2270-0395-7
โทรสาร 0-2271-3183
manit_nat@hotmail.com
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ