www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ปราจีนบุรี >> ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

 ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ตั้งอยู่เลขที่ 32/7 หมู่ 12 ถนนปราจีนอนุสรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2.5 กิโลเมตร ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นโดยทรัพย์สินส่วนตัว ในปี พ.ศ.2452 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสมณฑลปราจีน มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นตึกสองชั้นแบบยุโรป สมัยเรอเนสซองส์ มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกเป็นปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในตกแต่งแบบตะวันตก

 ชั้นล่าง มีการจัดแสดงเครื่องมือทางการแพทย์ในสมัยก่อน รวมทั้งสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคต่างๆ

 ชั้นบน มีการจัดแสดงหนังสือและตำรายาโบราณ และหินบดยาในสมัยทวารวดี โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ภายในตึกจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร โดยจะเป็นศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร และการแพทย์ของท้องถิ่น

 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดยารักษาโรค มีการนวด อบ ประคบ ฝังเข็ม และมีการแปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง จำหน่ายในราคาย่อมเยา โดยใช้ชื่อว่า ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สมุนไพรอภัยภูเบศร

เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-20.30 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3721 1088 เว็บไซต์ www.abhaiherb.com , e-mail : webmaster@abhaiherb.com

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทร. 0 3721 1088
เว็บไซต์ http://www.abhaiherb.com/
e-mail : webmaster@abhaiherb.com

แก้ไขล่าสุด 2016-05-29 19:34:09 ผู้ชม 23102

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ภาพที่เราจะเห็นกันบ่อยที่สุดเวลาค้นหาตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ก็คือภาพด้านหน้าของอาคารที่มีสถาปัตยกรรมเก่าแก่ สีเหลือง มีสวนดอกไม้อยู่ด้านหน้า วันนี้เรามาในโอกาสวันวิสาขบูชา เราเลือกที่จะมาเวียนเทียนรอบต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ก่อนจะถึงเวลาการเวียนเทียนในช่วงเย็น การได้เข้ามาชมสถานที่สำคัญๆ ประจำจังหวัด ก็เป็นเรื่องที่ควรจะทำ แต่ไม่เพียงเฉพาะการได้ถ่ายรูปตึกจากด้านหน้าเหมือนๆ กับที่เคยเห็นทั่วไปเท่านั้น วันนี้ทัวร์ออนไทยพาบุกเข้าไปชมให้ทั่วๆ กันเลย

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เดินเข้ามาด้านหน้าอาคาร มีชั้นวางรองเท้าให้เราถอดรองเท้าวางไว้ในชั้น มีเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ดื่มกันฟรีๆ แล้วจากนั้นก็เดินเข้าในอาคาร ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นอาคารหลังใหญ่ ด้วยสถาปัตยกรรมแบบที่เราจะเห็นกันได้บ่อยๆ เวลาไปชมอาคารเก่าแก่ต่างๆ คือจะนิยมสร้างอาคารแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ มีโถงตรงกลาง แล้วก็มีปีกซ้ายและขวาของอาคาร ห้องโถงตรงกลางเป็นห้องรับแขกตกแต่งอย่างสวยงามมีรูปท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คนมาชมอาคารหลังนี้หลายคนก็มีมาไหว้ท่านด้วย เพราะประโยชน์ที่ท่านได้สร้างไว้ให้กับประเทศไทยอย่างมาก

ปีกขวาของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ปีกขวาของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คำว่าปีกขวาของอาคารคือต้องหันหน้าตามอาคาร ถ้าเราเดินหันหน้าเข้าหาอาคาร ปีกขวาก็หมายถึงโซนที่อยู่ด้านซ้ายมือของเรานะครับ หลังจากเก็บภาพจากห้องโถงที่สวยงามแล้ว ตอนนี้เราเดินเลี้ยวมาทางซ้ายก่อน เป็นห้องที่มีขนาดเล็กกว่าโถงกลางอาคารสักหน่อย ห้องนี้จัดแสดงพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แล้วก็ประวัติของตึกหลังนี้ด้วย ผมจะเล่าคร่าวๆ สั้นๆ แบบสรุปย่อ เพราะเนื้อหาทั้งหมดนั้นยาวมากดังนี้

ประวัติตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2452 โดยท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เพื่อใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ทรงสิ้นพระชนม์ก่อน ต่อมาตึกหลังนี้ได้ใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2455 และเชื้อพระวงศ์อีกหลายพระองค์ ตึกหลังนี้สร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2452 โดยบริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน ซึ่งเป็นแบบเดียวกัน กับตึกของ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่พระตะบอง นอกจากใช้รับเสด็จรัชกาลที่ 6 แล้ว ยังได้ใช้ รับเสด็จ เชื้อพระวงศ์ ในสมัยต่าง ๆ รวมถึงการรับเสด็จ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ครั้งเสด็จประพาสจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พักส่วนตัวของท่าน แต่อย่างใด เมื่อท่านอสัญกรรม จึงได้ใช้ตึกหลังนี้ตั้งบำเพ็ญกุศลศพเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น

ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ป่วยเป็นโรคเรื้อรังมาหลายปี จนถึง วันที่ 27 สิงหาคม 2465 ถึงแก่อสัญกรรม หลังจากที่ท่านอสัญกรรม พระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ ( ช่วง อภัยวงศ์ ) บุตรชายที่เกิดจาก หม่อมสอิ้ง ซึ่งเป็นบุตร วัยอาวุโสกว่าคนอื่นได้รับพินัยกรรมให้เป็น ผู้จัดการมรดกต่อมาปี พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ซึ่งเป็น ธิดาของพระยาอภัยภูเบศร ( เลื่อม อภัยวงศ์ ) ซึ่งเป็นพี่ชายของพระยาอภัยวงศ์วรเศรษฐ ( ช่วง อภัยวงศ์ ) จึงได้ถวายตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรและสิ่งปลูกสร้าง ให้แด่ พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี และพระนางเจ้า ฯ ได้น้อมเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา พระองค์ได้ทรงมอบตึกหลังนี้ คืนให้กับ พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี หลายปีต่อมาพระนางเจ้า ฯ ได้ทรงมอบตึกหลังนี้ให้กับรัฐบาลเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลและประโยชน์ต่อส่วนรวม

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดทำการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 จัดเป็น 1 ใน 19 โรงพยาบาลประจำจังหวัด ยุคแรกของประเทศไทย เดิมใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลปราจีนบุรี ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็น "โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2509 เนื่อง จากหอผู้ป่วยหลังแรก คือตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรนั้น สร้างโดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ตึกนั้นมีคุณค่าทั้งความงามด้านสถาปัตยกรรม และทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันตึกหลังนี้ใช้เป็นที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย

ที่มา http://www.abhaiherb.com/about/chaophraya-tower

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์มีข้าวของเครื่องใช้หลายอย่าง รวมทั้งกระดุมเสื้อท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ตรายางประทับ เงินในยุคนั้น ทั้งเหรียญของไทยและของจีน เสาบันไดไม้ของเดิม หุ่นจำลองเกวียนเมื่อครั้งที่ท่านเจ้าพระยาอพยพจากพระตะบองมาอยู่ที่สยาม ฯลฯ

อบสมุนไพรแบบอภัยภูเบศร

อบสมุนไพรแบบอภัยภูเบศร จากห้องพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้เดินออกมาตรงระเบียงหน้าตึก เดินยาวมาจนถึงปีกอาคารด้านซ้าย ตรงนี้มีเจ้าหน้าที่สาธิตการทำเครื่องอบสมุนไพรแบบไทยๆ มีคนให้ความสนใจกันมาก เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป สมุนไพรสำหรับการอบก็มีหลายอย่างที่หาง่าย การทำห้องอบใช้เองแบบง่ายๆ คือเอาผ้ามาล้อมเป็นห้องเล็กๆ สำหรับคนเดียวเข้าไปนั่งอบภายใน นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เพราะทำเองที่บ้านได้ สนใจลองสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ

ครูและบริวาร

ครูและบริวาร ปีกซ้ายของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของอาคาร เพราะเป็นที่ตั้งของร้านยาไทย โพธิ์เงินโอสถ จำหน่ายยาสมุนไพรไทยล้วนๆ เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป มีคนเดินทางมาเจียดยาที่นี่ประจำ ในห้องนี้ยังมีมรดกของหมอพลอยหลายอย่างที่เกี่ยวกับยาไทย เริ่มจากครูและบริวารซึ่งหมอพลอย เป็นสิ่งซึ่งมีความสำคัญมากับหมอไทยในอดีต เพราะจะเป็นทั้งสื่อพลังที่จะทำให้การรักษาเป็นผลสำเร็จ และเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของหมอไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง หมอพลอยจะมีพิธีไหว้ครูทุกปีในเดือนห้า ที่เราเรียกกันว่าหมอพลอยนั้นท่านก็คือหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) โดยนายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลานตาของหมื่นชำนาญแพทยา ผู้สืบสานวิญญาณของแพทย์แผนไทยและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) ท่านได้มอบพิพิธภัณฑ์วัตถุอันมีเครื่องมือทำยาซึ่งเป็นมรดกของตระกูล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ด้วยอิทธิพลการแพทย์อายุรเวชของอินเดืยที่เชื่อกันว่าฤๅษีเป็นผู้สืบทอดความรู้วิชาแพทย์มาจากสวรรค์ ฤๅษีสามองค์แรกคืออัตรี มีบุตรคือท่านอัจฉริยะได้รวบรวมพื้นฐานของศาสตร์เหล่านั้น และต่อมามีศิษย์ผู้เชี่ยวชาญอีกหกองค์ ผู้ที่จะเป็นไทยจะต้องเป็นผู้ที่มีความกตัญญูรู้คุณครู ไม่กระทำผิดใดๆ ที่เป็นบาป ต้องมีการบูชาครูเป็นประจำ ครูของแพทย์แผนไทยก็คือ ฤๅษี ครูเหล่านั้นเป็นของหมื่นชำนาญแพทยา

ร้านยาไทยต้นแบบโพธิ์เงิน – อภัยภูเบศร โอสถ

ร้านยาไทยต้นแบบโพธิ์เงิน – อภัยภูเบศร โอสถ เกิดขึ้นเนื่องจากความตั้งใจและความต้องการในการสืบสานการแพทย์แผนไทยให้คงอยู่กับประชาชนในปัจจุบัน เนื่องจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถือได้ว่าเป็นผู้นำด้านการศึกษาองค์ความรู้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน รวมถึงตัวยาสมุนไพรมากมาย ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่ง จึงมีความปรารถนาที่จะให้บริการรักษากับประชาชนทั่วไปด้วยศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย การตรวจรักษาด้วยยาสมุนไพรแบบโบราณ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดความรู้ของบรรพบุรุษได้

จนกระทั่ง คุณปัญญา มี้เจริญ หลานชายของก๋งจู๋เจ้าของร้านยาโพธิ์เงิน ดั้งเดิม ได้ติดต่อเพื่อมอบตู้ยา รวมทั้งตำรายา และเครื่องยาต่างๆที่มีให้กับทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยคุณปัญญาได้เล่าถึงประวัติของร้านยาโพธิ์เงินให้ฟังว่า ก๋งจู๋ เป็นคนจีน แต่มาเกิดที่ประเทศไทย มีลูกคนสุดท้อง ชื่อ ทองอ่อน ซึ่งพ่อทองอ่อน เป็นบิดาของคุณปัญญาผู้เล่า จุดเริ่มต้นของร้านยานั้นเกิดขึ้นจาก เดิมก๋งจู๋กับลูกๆ อยู่ที่พระประแดง และมีอยู่ช่วงหนึ่งท่านไม่สบายมีคนมารักษาท่านด้วยยาไทยแล้วอาการดีขึ้น จึงเกิดความศรัทธาในยาสมุนไพรไทย กอปรกับในช่วงนั้นที่บ้านท่านมีสวนสมุนไพรอยู่บ้าง จึงได้ค้นคว้าและเรียนรู้จากผู้รู้หลายท่าน จากนั้นได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่ตลาดพลู และได้เปิดร้านขายยาที่ตลาดพลู

ก๋งจู๋ คือหนึ่งในผู้สืบทอดศาสตร์การแพทย์แผนไทย และร้านยาสมุนไพรชื่อดังอันดับต้นๆ ในแผ่นดินไทยย่านตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อร้านว่า โพธิ์เงินโอสถ มีเครื่องหมายการค้าเป็น ตรานางกินนร จนกระทั่งท่านจากไป

ตู้ยาอภัยภูเบศร

ตู้ยาอภัยภูเบศร

สมุนไพรเกี่ยวกับผิวหน้าและความงาม

สมุนไพรเกี่ยวกับผิวหน้าและความงาม

มรดกหมอพลอย

มรดกหมอพลอย เล่าเรื่องครูและบริวารซึ่ง นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ หลานหมอพลอยบริจาคให้กับตึกอภัยภูเบศร ทีนี้ก็มาดูเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือการทำยาสมุนไพร ภาพบนซ้ายเป็นมีดหมอ เป็นสิ่งที่จะได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น เชื่อกันว่ามีดหมอสามารถขับไล่ภูติผีปิศาจได้ รักษาโรคทางจิตเวชได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมและความเชื่อ ภาพขวาบนและขวาล่างเป็นเครื่องมือสำหรับการบดยาและการชั่งน้ำหนัก ส่วนภาพล่างซ้ายเป็นยาบู่ ซึ่งเป็นกระตูกของสัตว์ ยาแบบนี้จะมีความแข็ง การจะนำไปใช้ก็ต้องมีการบด

การปรุงยาสมุนไพร

การปรุงยาสมุนไพร ตอนนี้ขึ้นมาอยู่ชั้น 2 แล้วครับ เพราะว่าชั้นแรกนั้นเราก็ได้เข้าไปชมกันหมดแล้วทั้งห้องโถงกลาง ปีกขวาแล้วก็ปีกซ้าย ชั้น 2 ก็สามารถขึ้นมาชมได้เช่นกัน หลายคนไม่มั่นใจไม่กล้าขึ้นมา ก็เดินดูกันตั้งแต่โผล่มาจากขั้นบันไดเป็นห้องเล็กๆ กั้นแยกจากห้องใหญ่ที่มีอยู่ 3 ห้อง เหมือนกับชั้นล่าง ห้องเล็กๆ นี้เป็นพิพิธภัณฑ์การปรุงยาแบบต่างๆ และการใช้ยาในการรักษาที่มีทั้งยาสำหรับดื่มกิน ยาสำหรับการชะล้าง ยาสำหรับการประคบ ขั้นตอนการปรุงก็มีการต้ม การบดผสม การตำ ฯลฯ การนำเสนอเป็นรูปแบบการ์ตูน แล้วก็ย่อส่วนให้เล็กจิ๋ว เหมาะสำหรับเด็กๆ ที่จะเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพรแบบเข้าใจง่าย

ห้องยาและตำรายา

ห้องยาและตำรายา มาถึงปีกซ้ายของอาคารแต่เป็นชั้นบน ตรงนี้ตรงกับห้องโพธิ๋เงินโอสถที่อยู่ชั้นล่างนั่นเอง มีตู้อยู่ด้วยกันหลายใบ เก็บรักษายาสมุนไพรในอดีต มีการบรรจุใส่ขวด ใส่โหล ตรงกลางเป็นตู้กระจกใสที่เราจะได้เห็นตำราเก่าแก่ อย่างหนังสือใบลาน สมุดข่อยประมาณนั้นเลย ล้วนแต่เป็นของมีค่าหายากทั้งสิ้น

โรงงานยาสมุนไพรบุณยะรัตเวช

โรงงานยาสมุนไพรบุณยะรัตเวช เป็นตัวอย่างโรงงานยาไทย รักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญา พัฒนาเทคโนโลยี คงความดีสมุนไพร ให้อยู่คู่ไทยและคงให้ไทยคงอยู่คู่โลกา... เป็นการบริจาคเครื่องมือการผลิตยา ได้แก่เครื่องแร่งยา เครื่องอัดเม็ดยา เครื่องบดลูกกลิ้งใหญ่ เครื่องบรรจุผงยา ตู้อบไฟฟ้า ตู้ยา อุปกรณ์วิจัยสมุนไพรเพื่อใช้ในการผลิตยาหอม ยาอุทัยกฤษณา ไหยอหมกเกลือ ซึ่งนับว่ามีคุณค่าในประวัติศาสตร์ยาไทย เมื่อเดือนเมษายน 2554 จากโรงงานบุณยะรัตเวช มีให้ชมที่ตึกอภัยภูเบศรชั้นบนที่ปีกอาคารด้านซ้าย

ตำราโบราณ

ตำราโบราณ ในตู้กระจกกลางห้อง จะมีตำราโบราณแบบต่างๆ ให้ศึกษา จะเห็นว่าระบบการเรียนของไทยในอดีตเป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายๆ ตำราแต่ละเล่มนั้นเขียนขึ้นมาจากมือ และสืบทอดรุ่นต่อรุ่น มีทั้งตำราตัวอักษร และที่เป็นแบบภาพเขียน

ระเบียงชั้นบน

ระเบียงชั้นบน หลังจากที่เดินชมรอบๆ แล้วตอนนี้ออกมานั่งพักที่ระเบียง เดี๋ยวต้องลงไปเดินศึกษาสมุนไพรไทยในสวนสมุนไพรอภัยภูเบศรกันต่อ ระเบียงที่จัดไว้อย่างสวยงามนี้นั่งพักได้นะครับ และก็เป็นมุมถ่ายรูปสวยๆ ของใครหลายๆ คนด้วย

ระเบียงชั้นล่าง

ระเบียงชั้นล่าง

สวนสมุนไพรอภัยภูเบศศร

สวนสมุนไพรอภัยภูเบศศร ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะเดินสวนกันแล้วครับ รองเท้าถอดเอาไว้ด้านหน้า ต้องเดินไปด้านหน้าเอารองเท้าแล้วเดินอ้อมไปด้านหลังเพื่อเข้าสวนสมุนไพร ถ้าใครเข้ามาในตึกจากทางด้านหลังก็เดินออกไปได้เลย เพราะมีประตูทะลุออกไปได้ ภายในสวนสมุนไพรตกแต่งเอาไว้อย่างสวยงามร่มรื่น น่าพักผ่อน แต่สวนนี้อุดมไปด้วยพืชที่สามารถนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้ทั้งสวน นอกจากนั้นก็มีไม้ดอกประดับสวนสวยๆ อย่างกุหลาบด้วย อีกอย่างสมุนไพรไทยหลายอย่างก็เป็นไม้ดอก ไม่ใช่จะมีแต่ใบเขียวๆ ไปทั้งหมด ตึกอภัยภูเบศรอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงทำให้สวนสมุนไพรมีคนแวะเวียนเข้ามาพักผ่อนทั้งคนไข้และก็บรรดาญาติๆ ด้วย

สมุนไพรไทย

สมุนไพรไทย ในสวนสมุนไพรอภัยภูเบศรมีสมุนไพรหลายอย่างมากมาย ไม่สามารถจะถ่ายรูปมาให้ชมได้ทั้งหมด ขอเอาสมุนไพรยางอย่างมาให้ชมกันก่อน เริ่มจาก
หนุมานประสานกาย (ภาพซ้าย)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-4 เมตร แตกกิ่งก้านต่ำใกล้พื้นดิน เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ใบ เป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 6-8 ใบ รูปรี กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 5-8 ซม. โคนใบแหลม ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ดอกเล็กสีขาวนวล ผล เป็นผลมีเนื้อ รูปทรงกลม ขนาดเล็ก

ส่วนที่ใช้ : ใบสด
สรรพคุณ :รักษาโรคหืด โรคแพ้อากาศ ขับเสมหะ รักษาโรคหลอดลมอักเสบ รักษาวัณโรคปอด แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นเลือด ตำพอกแผลห้ามเลือด ห้ามเลือด

โยทะกา (ภาพขวาบน) เดิมทีเดียวเรารู้จักต้นไม้ชนิดนี้ในฐานะของไม้ประดับ มีดอกสวยงาม 2 สี คือสีม่วงและสีขาวในต้นเดียวกัน เป็นพืชใบแฝด พบชื่อนี้ในวรรณคดีเช่น “แก้วกาหลงชงโค ยี่สุ่นยี่โถโยธกา” (ลิลิตเตลงพ่าย) ต้นไม้ ๓ ชนิดที่ประกอบกันเป็น “สามใบเถา” ในที่นี้ก็คือ กาหลง ชงโค และโยทะกา เพราะทั้งสามอยู่ในสกุล BAUHINIA เหมือนกัน การพูดถึงประโยชน์ของโยทะกาในแง่ของสมุนไพรสมัยก่อน นั้นยังไม่มี แต่ความจริงโยทะกามีสรรพคุณ ต้านไวรัส ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่ม แก้ปวด ขับปัสสาวะ

ว่านสิงหโมรา (ภาพขวาล่าง)
ลักษณะ : เป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าใต้ดิน ลำต้น มีสีชมพูอ่อน ใบเดี่ยวรูปหัวใจปลายแหลม แก้มย้อยแหลมคล้ายใบดอกหน้าวัว พื้นใบสีเขียวเข้ม มีจุดลายสีแดงก้านกลมยาวประมาณ 30-50 ซม. มีหนามเล็กสีดำ ดอกเล็กๆ อัดเป็นช่อ แท่งกลมยาวคล้ายดอกหน้าวัว กาบหุ้มสีน้ำตาล ผล เป็นผลสด จะมีเนื้อนุ่มหุ้มข้างนอก ส่วนข้างในจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมากขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด พบได้ตามบริเวณลำธารที่พื้นดินเป็นโคลนเลนตามป่าดิบชื้นทั่วไปที่ร่มร่ำไร

สรพพคุณ : ก้านช่อดอกหั่นตากแห้งหรือดอกกับสุราดื่ม รักษาริดสีดวงทวาร ก้านใบหั่นตากแห้ง ดอกสุราเป็นยาเจริญอาหารและบำรุงโลหิต บางอาจารย์ท่านเรียกว่า ว่านปอบ ใช้ปรุงยาดูดพิษต่างๆ ภายในร่างกายได้ทุกชนิด ช่วยบำรุงโลหิตและบำรุงกำลัง บำรุงกล้ามเนื้อและบำรุงเส้นเอ็น ช่วยรักษาโรคโลหิตจาง มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาริดสีดวงทวาร ช่วยกำจัดสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย

ผลิตภัณฑ์อภัยภูเบศร

ผลิตภัณฑ์อภัยภูเบศร หลังจากเดินชมและพักผ่อนในสวนสมุนไพรจนหายร้อนดีแล้ว ตอนนี้ก็ได้เวลาเดินทางกันต่อไปเที่ยวที่อื่่น ก่อนจะจากกันก็เดินไปที่ตึกโรงพยาบาลมีห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของอภัยภูเบศรมีทั้งพืชผักปลอดสารพิษ ยาสมุนไพรต่างๆ ที่มีทั้งเพื่อสุขภาพ รักษาโรค และความสวยความงาม นอกจากนี้ทุกวันจันทร์ จะมีการนำผักปลอดสารพิษมากมายหลายชนิดมาจำหน่ายหน้าอาคารอภัยภูเบศร ให้เลือกซื้อกันด้วย ที่จริงอยากให้มีทุกวันครับ

สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องราวของสมุนไพรแบบเจาะลึกจริงจัง ให้ติดต่อที่ตึกอภัยภูเบศร จะมีบริการให้ความรู้มากมายหลายอย่าง แล้วก็ยังมีแหล่งวัตถุดิบสมุนไพรไทยของอภัยภูเบศรอยู่ที่บ้านดงบัง อีกด้วย

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
Ausgust Riverside เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
วรรณิดา การ์เด้น รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
อรุณสวัสดิ์ ริเวอร์วิว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
สันติสุข เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
Home Stay Baan Suan Mea Ta เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไม้เค็ดโฮมสเตย์
  17.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพีเค รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านมีสุข รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมวิลลา วิชาลัย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
Nonplern Garden Home Khaoyai เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
เดย์สปาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ปราจีนบุรี
  0.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
บึงบัวปราจีนบุรี
  1.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดแก้วพิจิตร ปราจีนบุรี
  1.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
ถนนดอกคูณ ปราจีนบุรี
  3.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
  3.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเล่าเรื่อง เมืองสมุนไพร ปราจีนบุรี
  4.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ ปราจีนบุรี
  5.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสง่างาม ปราจีนบุรี
  6.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดบางคาง ปราจีนบุรี
  10.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดโบสถ์ ปราจีนบุรี
  10.93 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com