www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ประจวบคีรีขันธ์ >> อุทยานราชภักดิ์

อุทยานราชภักดิ์

     อุทยานราชภักดิ์ เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์ 

ซึ่งทุกพระองค์ล้วนทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ 

ประชาชนชาวไทยต่างเดินทางไปกราบไหว้ เพื่อแสดงความจงรักภักดี กันตั้งแต่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์ยังไม่ครบทุกพระองค์เลยค่ะ  เมื่อตั้งครบทุกพระองค์แล้ว และมีการบวงสรวงไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 และจัดพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558 ข่าวก็แพร่สะพัดไป นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล ต่างก็เดินทางมากราบไหว้บูชา ขอพร และถ่ายภาพเป็นที่ระลึก กันเต็มลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม

       อุทยานราชภักดิ์นี้จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับ 1 ของหัวหิน จ.ประจวบฯ ไปแล้ว ใครที่มาเที่ยวหัวหินหรือใช้เส้นทางผ่านมาทางนี้แล้วจะต้องมาที่ อุทยานราชภักดิ์ กันทุกคนค่ะ  

      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองทัพบกจัดสร้าง"พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม" พร้อมจัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์

       โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อว่า “อุทยานราชภักดิ์" ซึ่งเป็นอุทยานที่สร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณสมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ๗ พระองค์ ได้แก่

๑.พ่อขุนรามคำแหง (สมัยกรุงสุโขทัย)

๒.สมเด็จพระนเรศวร (สมัยกรุงศรีอยุธยา)

๓.สมเด็จพระนารายณ์ (สมัยกรุงศรีอยุธยา)

๔.สมเด็จพระเจ้าตากสิน (สมัยกรุงธนบุรี)

๕.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

๖.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

๗.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)


 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.ประจวบคีรีขันธ์ โทร.0 3251 3885, 0 3251 3871, 0 3251 3854
http://www.tourismthailand.org/prachuapkhirikhan

แก้ไขล่าสุด 2016-04-27 13:51:12 ผู้ชม 17842

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัตถุประสงค์การจัดสร้าง อุทยานราชภักดิ์

วัตถุประสงค์การจัดสร้าง อุทยานราชภักดิ์  

1.เพื่อเป็นการเทิดทูนและประกาศเกียรติคุณ สมเด็จพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ทรงสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติ อันนำมาสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นปึกแผ่นของชาติไทยตราบจนทุกวันนี้

2.เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับกระทำพิธีที่สำคัญของกองทัพบก และรับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศในโอกาสที่มาเยือนกองทัพบกอย่างเป็นทางการ

3.เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ สำหรับให้กำลังพลและครอบครัวของกองทัพบก รวมถึงนักเรียนทหาร ตลอดจนประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เข้ามาทัศนศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย

ข้อมูลจาก http://www.rta.mi.th/RTAweb/pageinfor/weppage.html

 

อุทยานราชภักดิ์

อุทยานราชภักดิ์เปิดเป็นทางการ วันที่ 26 กันยายน 2558 มีพิธีเปิดสุดอลังการ ด้วยการแสดง แสง สี เสียงและสื่อผสม 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มาเป็นประธานทรงเปิดอุทยานราชภักดิ์

 

หลายคนคงมีคำถามหรืออาจจำต้องตอบคำถามของเด็กๆ และลูกหลานว่า พระมหากษัตริย์ของไทยมีมากมาย ทำไมจึงเลือกสร้างพระมหากษัตริย์ ทั้ง 7 พระองค์นี้ พระองค์ท่านสำคัญอย่างไร แต่ละพระองค์ทรงสร้างคุณงามความดี และสร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ต่อประเทศชาติอย่างไร เรามีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์  ได้แก่

 

๑.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

๑.พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย 

เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง

ครองราชย์ ประมาณพ.ศ. 1822 ถึงประมาณ พ.ศ. 1841 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ได้รับ

การยกย่องเป็น "มหาราช" 

ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่

- ทรงครองราชย์โดยใช้ระบบปิตุราชาธิปไตยหรือ "พ่อปกครองลูก" 

- ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยจนเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง

- ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. 1826 และใช้สืบทอดกันมากว่าเจ็ดร้อยปี

- ทรงส่งเสริมพุทธศาสนา โดยอาราธนาพระมหาเถรสังฆราชผู้เรียนจบพระไตรปิฎกมาจากนครศรีธรรมราช 

  ให้มาเผยแผ่ พุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย จนกระทั่งกลายเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาจนถึงทุกวันนี้

- ทรงสร้าง ศิลาจารึก เพื่อเป็นข้อมูลหลักฐานในการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์สุโขทัย

- ทรงส่งเสริมการค้าขายอย่างเสรีภายในราชอาณาจักรด้วยการไม่เก็บภาษีผ่านด่านหรือ “จกอบ” (จังกอบ)

- ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจอย่าง "จีน" และโปรดให้นำช่างจากชาวจีนมาเพื่อก่อตั้งโรงงานตั้งเตา

ทำ "ชามสังคโลก" เพื่อใช้ในประเทศ และส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง

 

๒.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

๒.สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย 

มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์  และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 

 ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ

ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่

-ทรงได้รับสถาปนาให้ปกครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษา และทรงเสด็จครองราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา 

-ทรงทำสงครามยุทธหัตถี พระมหาอุปราชา ผู้นำทัพพม่า จนกระทั่งสามารถเอาพระแสงง้าวฟันพระมหาอุปราชาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์ ที่หนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี

-ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง และกวาดต้อนคนไทยกลับกรุงศรีอยุธยา 

-ทรงเสด็จออกร่วมรบกับทหารโดยขับไล่กองทัพเขมรได้สำเร็จ

-ทรงทำสงครามขับไล่พระยาจีนจันตุออกไปจากกรุงศรีอยุธยา 

-ทรงรักษาเอกราช ครั้งที่พม่ายกกองทัพมาตีไทยถึง ๔ ครั้ง แต่ถูกไทยตีแตกพ่ายกลับไป 

-ทรงยกกองทัพไปตีเขมรและจับพระยาละแวกทำพิธีปฐมกรรม 

-ทรงกรีฑาทัพไปตีกรุงหงสาวดีถึง 2 ครั้ง

๓.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

๓.สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา 

เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175

เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระนางศิริธิดา ต่อมาภายหลังยกเป็นพระราชเทวี

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2199  เมื่อพระชนมายุ 25 พรรษา มีพระนามจารึก

ในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 3

ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่

-ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เลื่องลือพระเกียรติยศ ในด้านเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ รักษาเอกราชของชาติให้พ้นจากการเบียดเบียนของชาวต่างชาติ เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ก็ทรงแก้ไขด้วยความเฉลียวฉลาด และรับผลประโยชน์ทั้งทางวิทยาการและเศรษฐกิจที่ชนต่างชาตินำเข้ามาสร้างความรุ่งเรืองให้ประเทศไทย

- ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

-  ทรงพระปรีชาในด้านกวี และทรงส่งเสริมการกวี จนเป็นเหตุให้เกิดมีกวีที่มีชื่อเสียงหลายคน มีวรรณคดีเกิดขึ้นหลายเล่ม นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดีไทย

- หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุก ๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน ดังที่ปัจจุบันได้มีการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขึ้นทุกปี ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์  จังหวัดลพบุรี

๔.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

๔.สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรืออีกพระนามหนึ่งว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ  สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยอาณาจักรธนบุรี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระนามเดิมว่าสิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง 

เจ้าตากทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ตามแบบพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 มีพระชนมายุ 34 พรรษา

ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่

- ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทย ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2310 และสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ของไทย 

- ทรงปราบปรามผู้ก่อตั้งชุมนุมต่างๆ จนราบคาบ และรวบรวมประเทศชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

-ทรงกระทำสงครามจนได้รับชัยชนะ ขยายอาณาเขตประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง

-ทรงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และการศึกษา

เนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อแผ่นดินไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปีเป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และยังทรงได้รับสมัญญานาม มหาราช

๕.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

๕.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันพุธ ที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2279 มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง  ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา 

พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก)

ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 46 พรรษา

ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่

- ทรงเป็นแม่ทัพทำราชการสงครามกับพม่า เขมร และลาว จนมีความชอบในราชการมากมาย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราช ดังนั้น จึงได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ

- ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ทรงกระทำศึกสงครามกับพม่า ทั้งหมด 7 ครั้ง สงครามครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สงครามเก้าทัพ

- ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของไทย 

- ทรงสร้างปราสาทราชวัง

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้า

- ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทร์ สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดอื่นๆ

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สังคยานาพระไตรปิฎก ได้ริเริ่มให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย โปรดเกล้าฯให้มีการสอบพระปริยัติธรรม

- ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช

- ทรงปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ชำระกฎหมาย จัดเป็นประมวล กฎหมายตราสามดวง ขึ้น

- ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่อง รามเกียรติ์ และโปรดให้แต่งบทละครต่างๆ 

๖.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๖.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์"

เสด็จพระราชสมภพในวันพฤหัสบดี ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 และเป็นลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ พ.ศ. 2394 และทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่

- ทรงเป็นบิดานักดาราศาสตร์ไทย ทรงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำในวันที่ 18 สิงหาคมพ.. 2411ทรงคำนวณล่วงหน้า 2 ปี

-ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง โดยทรงตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ขึ้น เป็นนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนา ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและระเบียบแบบแผน

- ทรงเจริญพระราชไมตรีกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง มีการทำสัญญากับต่างประเทศถึง 10 ประเทศ ทรงยึดนโยบาย "ผ่อนสั้น ผ่อนยาว" มาใช้กับประเทศมหาอำนาจเป็นพระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ อันทำให้ไทยสามารถดำรงเอกราชอยู่ได้จนทุกวันนี้

- ทรงส่งคณะทูตไทย นำพระราชสาส์นไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษนับเป็นความคิดริเริ่มให้มีการเดินทางออกนอกประเทศได้ และ ทรงโปรดเกล้าให้ชาวต่างประเทศรับราชการเป็นกงสุลไทยเป็นครั้งแรก

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา สำหรับพระราชวงศ์ เสนาบดี ทหารและพลเรือนทั้งหลายต่างดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ทั่วทุกคน พระองค์จึงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการฝึกทหารแบบยุโรป และให้มิชชันนารี สอนภาษาอังกฤษ ในพระบรมมหาราชวัง

- ทรงทำสงครามพม่าที่เมืองเชียงตุง ( เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่าง ไทย - พม่า )

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นบำเหน็จความดีความชอบ

- ทรงริเริ่มสร้างกำปั่นเรือกลไฟ

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในวัง เรียกว่า "โรงราชกิจจานุเบกษา" เพื่อออกราชกิจจานุเบกษาเสนอข่าวราชการเป็นครั้งแรก

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์ขึ้นแห่งแรกในประเทศไทยในพระบรมมหาราชวัง เพื่อผลิตเหรียญเงินราคาต่างๆ แทนเงิน พดด้วง พระราชทานนามว่า "โรงกษาปณ์สิทธิการ"

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนและขุดคลอง สร้างถนนเจริญกรุง เป็นสายแรก ส่วนคลองสายแรกคือ คลองผดุงกรุงเกษม 

- ทรงสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล

๗.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช

๗.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชา เป็นที่รักยิ่งของประชาชน ผู้คนมักออกพระนามว่า "พระปิยมหาราช" แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก และออกนามพระองค์ว่า "พระพุทธเจ้าหลวง"

พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี 

เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอังคาร ที่  20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี 

ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2411 ขณะมีพระชนมายุได้ 15 พรรษา รวมสิริดำรงราชสมบัติ 42 ปี 22 วัน

เสด็จสวรรคต เมื่อวันเสาร์ ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ด้วยโรคพระวักกะ(ไต) รวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา

 รัฐบาลได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช และเป็นวันหยุดราชการ

 

ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์แก่แผ่นดิน ได้แก่

- ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย 

- ทรงรักษาเอกราชของไทยไว้มิให้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ ด้วยการสอมเสียดินแดนบางส่วนไป จนประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น

- ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ

- ทรงโปรดเกล้าฯ นำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่การใช้ธนบัตรและเหรียญ

- ทรงโปรดเกล้าฯ สร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง เมืองนครราชสีมา พุทธศักราช 2433

- ทรงก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร การรถไฟ ส่วนการคมนาคม ให้มีการขุดคลองหลายแห่ง

- ทรงโปรดเกล้าฯ ยกเลิกระบบไพร่ นับเป็นการเกิดระบบทหารอาชีพครั้งแรกในประเทศไทย

- ทรงโปรดเกล้าฯ จัดตั้งระบบสภาเป็นครั้งแรก

- ทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435

- ทรงริเริ่มการปกครองแบบเทศาภิบาล ในพ.ศ. 2437 ทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบหัวเมืองแบบเก่า (ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราช) จัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน ทำให้สยามกลายเป็นรัฐชาติที่มั่นคง มีเขตแดนที่ชัดเจนแน่นอน นับเป็นการรักษาเอกราชของประเทศ และทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

- ทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศที่ท่าฉลอม พ.ศ. 2448

- ทรงเสด็จประพาสต้นและประพาสหัวเมือง เพื่อดูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร  ทั้งเสด็จทางเรือ  เสด็จทางรถไฟอย่างสามัญชน  ทรงแต่งพระองค์อย่างคนธรรมดา ทำให้ได้พบปะพูดคุยกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด บางครั้งทรงได้รับเลี้ยงอาหารจากชาวบ้าน โดยที่ชาวบ้านบางคนไม่รู้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้พระองค์ทราบทุกข์สุขและความเป็นไปของราษฎรตลอดจนทางปฏิบัติงานของข้าราชการในส่วนท้องถิ่น

-ทรงพระราชนิพนธ์ ทั้งหมด 10 เรื่อง ได้แก่ ไกลบ้าน ,เงาะป่า ,นิทราชาคริต ,พระราชพิธีสิบสองเดือน ,กาพย์เห่เรือ ,คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา ,ตำราทำกับข้าวฝรั่ง ,พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี, โคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์ และโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

อุทยานราชภักดิ์

อุทยานราชภักดิ์

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงปลูกต้นตาลฟ้า

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงปลูกต้นตาลฟ้า ในครั้งที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเปิดงาน และทรงจักรยานนำขบวนนักปั่นจักรยานรับเชิญ ในกิจกรรม "ราชภักดิ์ ไบค์ แอนด์ คอนเสิร์ต แทนคุณแผ่นดิน" วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2558

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม    จำนวน ๗ พระองค์ในยามเย็น

 

 

อุทยานราชภักดิ์

ที่ตั้งอุทยานราชภักดิ์

อุทยานราชภักดิ์ตั้งอยู่ริมถนน เพชรเกษม ตำบล หนองแก อำเภอ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์

การเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์

อุทยานราชภักดิ์อยู่ใกล้กับสวนสนประดิพัทธ์เลยค่ะ ถ้าใครเคยไปสวนสนประดิพัทธ์ หรือเคยขับรถผ่าน ก็จะง่ายมากค่ะถ้าใครยังไม่เคยไป มีเส้นทางให้เลือก 2 เส้นทางค่ะ

เดินทางโดยรถส่วนตัว

เส้นทางที่ 1 เส้นผ่านชะอำและหัวหิน

จากกรุงเทพฯ ใช้ ถ. เพชรเกษม ถนนหมายเลข 4 หรือใช้ ถ.ธนบุรี-ปากท่อ ถนนหมายเลข 35 ก็ได้ค่ะ 2 เส้นทางนี้จะไปบรรจบกันที่แยกวังมะนาวค่ะ ให้ขับตรงไปทางเพชรบุรี -ประจวบฯ พอจะเข้าตัวเมืองชะอำ ผ่านสวิส ชีพ ฟาร์ม จะมีแยกตัว Y ให้เลือก เส้น ผ่าน ชะอำ ผ่านเมืองหัวหิน ถนนหมายเลข 4 ก็ขับตรงไปอีกประมาณ 8 กิโลเมตร พอเห็นกำแพงสวนสนฯ ทางด้านซ้ายมือ  จะเห็นกำแพงอุทยานราชภักดิ์อยู่ด้านขวามือ มองเข้าไปจะเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน ๗ พระองค์ ตั้งตระหง่านอยู่ด้านใน ก็เตรียมเลี้ยวขวาเข้าอุทยานราชภักดิ์ได้เลยค่ะ

เส้นทางนี้จะเป็นทางตรงไม่อ้อม แต่ช่วงเวลาวันหยุดรถจะติดนะคะ ระยะทางจากแยกเลี่ยงเมืองมาถึงอุทยานราชภักดิ์ ประมาณ 39 กิโลเมตร

เส้นทางที่ 2 เส้นเลี่ยงเมืองชะอำและหัวหิน

จากกรุงเทพฯ ใช้ ถ. เพชรเกษม ถนนหมายเลข 4 หรือใช้ ถ.ธนบุรี-ปากท่อ ถนนหมายเลข 35   2 เส้นทางนี้จะไปบรรจบกันที่แยกวังมะนาวเช่นกันค่ะ ให้ขับตรงไปทางเพชรบุรี -ประจวบฯ พอจะเข้าตัวเมืองชะอำ ผ่านสวิส ชีพ ฟาร์ม จะมีแยกตัว Y ให้เลือกเส้นเลี่ยงเมือง (ขวามือ) ถนนสายเอเซีย (AH2) ถนนหมายเลข 37 แล้วขับตรงไปเรื่อยๆ ผ่านแยกทางเข้าวัดห้วยมงคล จนถนนมาบรรจบกับ ถ. เพชรเกษม ให้เลี้ยวซ้ายกลับมาทางหัวหิน ขับตรงมาเรื่อยๆ จะถึงโรงเรียนนายสิบทหารบกอยู่ทางซ้ายมือก่อนนะคะ และขับมาอีกนิดจะเห็นสวนสนประดิพัทธ์ อยู่ทางขวามือ จากจุดนี้ก็จะเห็นอุทยานราชภักดิ์แล้วค่ะ

เส้นทางนี้จะอ้อมหน่อยแต่ช่วงเวลาวันหยุดจะเร็วกว่าเส้นหัวหิน เพราะเส้นหัวหินรถจะติดนะคะ ระยะทางจากแยกเลี่ยงเมืองมาถึงอุทยานราชภักดิ์ ประมาณ 59 กิโลเมตร

 

 

อุทยานราชภักดิ์

ขอขอบคุณ

กองตลาดภาคกลาง ภูมิภาค ภาคกลาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

กองประชาสัมพันธ์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานราชภักดิ์ ประจวบคีรีขันธ์
Autumn Condo 90/164 with beautiful Pool view. เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
Chelona By Favstay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
Wora Wana Hua Hin Hotel & Convention เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
Your lovely home in Hua-Hin 2min walk to the beach เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
Autumn Takiab beach Hua Hin เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
Auutumn - Ocean Bird Eyes View เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
Autumn - Happy Smile with Pool Acess เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
พูล แอคเซส ออทัมน์ หัวหิน เขาตะเกียบ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
Autumn - Blossom Green Grass เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
Autumn - Garden Home เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.19 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com