www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เพชรบุรี >> โครงการชั่งหัวมัน

โครงการชั่งหัวมัน

 โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เป็นโครงการที่มีชื่อแปลกมากโครงการหนึ่ง หลังจากที่ชื่อนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นทุกวันๆ ก็มีคนเข้าไปค้นหาความหมายของชื่อนี้ในอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "โครงการชั่งหัวมันคือ" หรือ "โครงการชั่งหัวมันแปลว่า" อะไรทำนองนี้ พอค้นเจอลองเปิดอ่านๆ ดู บางเว็บเขียนว่ามีความหมายเหมือนกับวลี "ช่างหัวมัน" ซะอย่างนั้น บ้างก็มีเรื่องเล่าอย่างนั้นอย่างนี้มาให้ได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนถวายหัวมันแด่พระเจ้าอยู่หัวแต่ไม่ทรงนำกลับไปด้วย แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปลูกแทน อะไรทำนองนี้ วันนี้ทัวร์ออนไทยดอทคอมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง ได้เข้ามาหาคำตอบให้แล้ว มาลองดูกันว่า "ชั่งหัวมัน" มีที่มาอย่างไรกันแน่ พร้อมกับพาเข้าไปชมโครงการชนิดที่เรียกว่าละเอียดทุกตารางนิ้วกันเลยทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม:โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ 032-472-700
โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา 02-282-8200

แก้ไขล่าสุด 2016-04-21 18:27:50 ผู้ชม 48423

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


ยินดีต้อนรับสู่โครงการชั่งหัวมัน

ยินดีต้อนรับสู่โครงการชั่งหัวมัน โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ 5 บ้านหนองคอไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ 250 ไร่ อยู่ท่ามกลางทุ่งโล่งกว้างมีภูเขาเล็กๆ อยู่บ้าง เดิมทีเดียวเป็นที่ดินแห้งแล้ง หลังจากมีโครงการตามพระราชดำริขึ้นมาจึงได้เห็นทิวทัศน์สีเขียวขจีของพืชเศรษฐกิจมากมายหลายอย่าง แต่หลายคนที่ได้ยินชื่อโครงการนี้คงจินตนาการไปต่างๆ นานาว่าจะมีพื้นที่เป็นยังไงกันบ้าง ผมเองก็มีภาพอยู่ในใจอยู่บ้าง แต่ไม่นึกว่าพอมาถึงสถานที่จริงจะมีอะไรๆ มากมายถึงขนาดนี้ เริ่มตั้งแต่การเดินทางมีเส้นทางเข้ามาถึงโครงการได้หลายทางตั้งแต่อำเภอท่ายางก็ได้แต่ดูจะใช้เวลามากหน่อย ถ้ามาตามถนนเพชรเกษม (เลี่ยงหาดหัวหิน) มาเลี้ยวขวาตรงทางหลวงหมายเลข 1001 (ไม่ต้องกังวลเพราะมีป้ายบอกตลอดทาง) เลี้ยวขวาถนนโยธาธิการ เลี้ยวซ้ายทางหลวงหมายเลข 4002 ไปตามทางจนมาถึงโครงการ มีด่านตรวจอยู่ตรงนี้ แล้วก็ยังเป็นที่สำหรับจอดรถบัสขนาดใหญ่ มีร้านอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟสด ท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่นของแมกไม้ใหญ่ ประดับด้วยกล้วยไม้นานาชนิดออกดอกหลากสี มีน้ำตกเล็กๆ ให้พักผ่อนข้างร้าน ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งที่ริมอ่างเก็บน้ำเป็นลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว

เป็นยังไงครับ แค่ที่เล่ามาก็ไม่เหมือนที่เราคิดไว้แล้วใช่มั้ย มีลานกางเต็นท์บรรยากาศดีๆ ริมอ่างเก็บน้ำด้วย น่ามานอนสักคืนเหมือนกันนะนี่ ตรงด่านมีข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวใกล้ๆ โครงการด้วยแล้วรู้มั้ยครับว่าไม่ไกลจากโครงการชั่งหัวมัน มีทางไปถึงถ้ำแห่งหนึ่งชื่อ ถ้ำเขาเตาหม้อ ซึ่งมีหินงอกหินย้อยที่สวยงามด้วย จากตรงนี้ไปอีก 9 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

เริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการ

เริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการ จากลานดางเต็นท์ริมอ่างเก็บน้ำ มีทางเดินตามแนวสันเขื่อนเล็กๆ มาจนถึงประตูทางเข้าโครงการ จากสันเขื่อนมองเข้าไปในโครงการจะเห็นรถเข้าๆ ออกๆ กันขวักไขว่ หลายคันก็ยังวนหาที่จอดรถเพราะไม่อยากเดินไกล แต่ส่วนใหญ่ก็จะเต็มหมดต้องไปจอดไกลๆ แล้วเดินเข้าโครงการ พอเข้ามาในโครงการแล้วจะมีป้ายข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับโครงการได้แก่ แผนผัง จุดน่าสนใจต่างๆ จุดที่ถ่ายรูปสวยๆ มีบอกทั้งหมด ส่วนอีกป้ายหนึ่งจะเป็นตารางกิจกรรมในโครงการ วันไหนมีกิจกรรมอะไร เวลาเท่าไหร่ บอกไว้อย่างละเอียดเราสนใจเรื่องไหนก็มาให้ตรงกับวันเวลาที่เขียนไว้

โครงการชั่งหัวมัน

ป้ายโครงการเป็นจุดที่คนมาเที่ยวให้ความสนใจมากจุดหนึ่ง ไม่ได้ถ่ายรูปกับป้ายนี้เห็นทีจะไม่ยอมไปไหน ผมต้องรอให้คนที่มาต่อคิวถ่ายรูปได้รูปกันครบหมดแล้วพอป้ายว่างถึงถ่ายรูปนี้มาได้

ฟักยักษ์

ฟักยักษ์ สิ่งหนึ่งที่ใครๆ รู้จักกันดีและตั้งใจมาถ่ายรูปก็คือฟักที่ปลูกในโครงการ จะมีขนาดใหญ่มากใหญ่กว่าที่เห็นตามตลาดทั่วไปเยอะทีเดียว ร้านปลูกฟักนี้อยู่ใกล้ๆ กับทางเข้า ตรงนี้จะมีตราชั่งแบบสองแขนเหมือนๆ กับสัญลักษณ์ของศาลตุลาการ มีมันวางอยู่ในจาน ตรงนี้ก็มีคนรุมถ่ายรูปเยอะเช่นกัน

เริ่มต้นเรียนรู้

เริ่มต้นเรียนรู้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาโครงการชั่งหัวมันเป็นครั้งแรก เมื่อมาถึงทุกคนจะดูงงๆ กับพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล มองหาสถานที่และมุมที่จะถ่ายรูปสวยๆ แต่ส่วนใหญ่ก็จะพากันเดินเข้ามาถึงบริเวณนี้ เพราะนี่ก็ถือว่าไกลพอสมควรแล้วสำหรับการเดินตากแดด พื้นที่ถัดจากที่เราเป็นร้านปลูกฟักลูกใหญ่ๆ มีแปลงผักอีกหลายชนิด สลับกับต้นกล้วย ถ้าเดินตามถนนเข้ามาจะผ่านอาคารหลายหลัง หลังแรกเป็นอาคารมุงหลังคาเปิดโล่งรอบด้านจัดเก้าอี้เอาไว้เยอะ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกคนควรจะแวะเข้าไปเพราะจะมีเจ้าหน้าที่มาบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการให้เราฟัง ก่อนที่จะไปยังจุดที่เราสนใจ เพราะเนื้อที่ 250 ไร่ นับว่ากว้างขวางมากไม่เหมาะที่จะเดินเรื่อยเปื่อยแน่ๆ จากอาคารบรรยาย จะมีร้านต้าของฝาก เดินเข้ามาอีกด้านซ้ายมือจะเป็นแปลงหน่อไม้ฝรั่งเนื้อที่กว้างมากทีเดียวกว่าจะทะลุแปลงนี้มาจนถึงบริเวณลานกว้างจัดเป็นสวนดอกไม้ให้ถ่ายรูป ใกล้ๆ ก็จะมีศาลาสำหรับพักผ่อนหลบแดดร้อน เราจะเห็นแปลงดอกไม้ที่ปลูกเป็นเลข ๙ เอาไว้ ส่วนมากคนก็เดินมาถึงแค่ตรงนี้แล้วก็เดินกลับ มีส่วนน้อยที่จะไปติดต่อหาจักรยานมาปั่นรอบโครงการ ต้องถือว่าเป็นคนรักการปั่นเอามากๆ เท่านั้น แต่ก็สะดวกดีเพราะจะได้จอดที่ที่เราชอบได้ตามต้องการ

กังหันพลังงานลม

กังหันพลังงานลม เป็นจุดเด่นของโครงการอย่างหนึ่งที่ใครๆ หลายคนเมื่อมาที่นี่เป็นอันต้องถ่ายรูปเป็นที่ระลึก กังหันที่นี่มีจำนวนหลายตัวแต่ละตัวปั่นไฟฟ้าได้ ส่วนพื้นที่ว่างตรงกลางมีแผงโซลาร์เซลล์สำหรับเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าที่ได้จากส่วนนี้หลายคนก็คงคิดว่าใช้ในโครงการ แต่ความจริงแล้วพลังงานไฟฟ้าไม่ได้นำมาใช้ในโครงการ แต่นำไปขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในราคาหน่วยละ 8 บาท แล้วนำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าที่จ่ายให้ครัวเรือนมาใช้ในราคาหน่วยละ 5 บาท แบบนี้แล้วทางโครงการก็จะมีรายได้จากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานธรรมชาติด้วย เดี๋ยวผมจะได้นำเอาความรู้เกี่ยวกับรายได้และรายจ่ายของโครงการมาเล่าให้ฟังกัน ว่าทำไมต้องขายไฟฟ้าไปแล้วซื้อไฟฟ้ามา แทนที่จะใช้เอง ความรู้เหล่านี้ผมก็ได้มาจากการฟังบรรยายทั้งในอาคารและระหว่างการนั่งรถชมพื้นที่เหมือนกัน

รถนำเที่ยวในโครงการชั่งหัวมัน

รถนำเที่ยวในโครงการชั่งหัวมัน พอเดินไปได้สักพักทุกคนก็สู้แสงแดดไม่ไหว ส่วนใหญ่ก็เลยเดินกลับมาที่ทางเข้าโครงการ พอดีรถนำเที่ยวที่พานักท่องเที่ยวไปชมพื้นที่รอบโครงการวกกลับมาจอดรับนักท่องเที่ยวชุดใหม่ ทุกคนก็เลยเห็นทางออกแล้วว่าจะไม่ต้องเดินตากแดดไกลๆ ได้ยังไง แต่ไม่ใช่ว่ามาถึงแล้วจะเดินขึ้นรถเลย ลองเดินไปฟังบรรยายความเป็นมาของโครงการกันก่อน แล้วทุกคนจะรักในหลวงของเรามายิ่งขึ้น ไปเลยครับ

ความเป็นมาโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ

ความเป็นมาโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ พอเราเข้ามานั่งบนเก้าอี้ที่เรียงไว้ในอาคารมากพอแล้ว วิทยากรซึ่งทำงานถวายในหลวงมาเป็นเวลาช้านาน ก็เริ่มการบรรยายความเป็นมาให้เราฟัง สาระสำคัญนั้นยาวมากเดี๋ยวลองเล่าแบบย่อๆ ให้พอเป็นความรู้ถ้าสนใจรายละเอียดจริงๆ ก็แนะนำให้ติดต่อสอบถามไปที่โครงการโดยตรงดีกว่านะ

โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่าโครงการชั่งหัวมัน มีจุดเริ่มต้นอยู่เมื่อประมาณ พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อ ที่ดินจากราษฎร ในบริเวณใกล้อ่างเก็บน้ำหนองเสือ บ้านหนองคอไก่ มีเนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ (สมัยนั้นที่ดินบริเวณนี้ถูกมากเพราะความแห้งแล้งกันดารไม่มีคนสนใจเท่าที่ควร) ต่อมาปี 2552 ทรงซื้อเพิ่มอีก 130 ไร่ ที่ดินนี้เจ้าของเดิมปลูกยูคาลิปตัส มีแปลงอ้อยประมาณ 35 ไร่ แปลงมะนาวร้างอีก 30 ไร่ ทรงมีพระราชดำริใช้พื้นที่นี้จัดทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร เพื่อรวมเอาพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายางและพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกรวมไว้

กองงานส่วนพระองค์ ได้เริ่มพัฒนาที่ดินผืนนี้ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2552 โดยร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีก 12 หน่วยงาน (ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยชื่อหน่วยงานทั้งหมดโดยละเอียด) รวมมีบุคคลากร 450 คน ขุดรากต้นยูคาลิปตัส สร้างถนนเข้าโครงการ ขุดสระเก็บน้ำ สร้างอาคารที่จำเป็น ติดตั้งระบบไฟฟ้า ขุดน้ำบาดาล ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นที่ปลูกผักสวนครัวชนิดต่างๆ ผลไม้ นาข้าว ยางพารา และยางนา (เป็นพืชที่มีอยู่มากในอำเภอท่ายางและคงเป็นที่มาของชื่ออำเภอด้วย ยางนาไม่มีราคาดีเท่ายางพาราแต่ก็มีประโยชน์ในด้านการยาเรือ) ในโอกาสนี้ได้พระราชทานหัวมันเทศที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงาน บนพระตำหนักเปี่ยมสุขวังไกลกังวล ก่อนเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร และเมื่อเสด็จกลับมาประทับที่วังไกลกังวล ทรงพบว่าหัวมันที่วางไว้บนตาชั่งแตกใบอ่อนขึ้นมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปแยกปลูกลงในกระถางไว้ และโปรดเกล้าฯ พระราชทานต้นมันเทศนี้มาปลูกขยายพันธุ์ในพื้นที่ของโครงการฯ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "ชั่งหัวมัน" ที่ได้พระราชทานให้แก่โครงการนี้

1 สิงหาคม 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ด้วยพระองค์เอง ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรการดำเนินงานภายในโครงการ ก่อนเสด็จกลับวังไกลกังวล และทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ มาทอดพระเนตรกิจกรรมของโครงการนี้เป็นระยะๆ

ระหว่างการบรรยายความเป็นมาของโครงการ วิทยากร ก็ยังเล่าถึงเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์โดยสอดแทรกเรื่องราวความจริงเบื้องหลังของการทำงานถวายด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เพราะมีหลายเรื่องที่ตลกทุกครั้งที่นึกถึง ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโครงการปลูกผักสวนครัว เมื่อรับพระราชดำริมาแล้วก็หาวิธีปลูกผักต่างๆ ในพื้นที่ ต่างก็ช่วยกันคิดว่าจะปลูกอะไรดี ให้โตเร็วที่สุด ในพื้นที่กันดารแบบนี้ ท้ายที่สุดก็คิดหาผักที่จะปลูกไม่ออกก็จึงได้ซื้อเอาผักที่โตแล้วมาปักลงในแปลง ด้วยความต้องการที่จะได้เห็นพระองค์ทรงปิติยินดีที่ได้เห็นความก้าวหน้าของการดำเนินงาน แต่ก็ไม่พ้นสายพระเนตรของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสังเกตุเห็นว่าผักที่นี่งามและโตเร็วผิดปกติ ยังได้ตรัสล้ออย่างมีพระอารมณ์ขัน ว่าดินที่นี่ไม่เห็นกันดารเลยปลูกอะไรก็โตเร็วราวกับเนรมิต วิทยากรยังเล่าถึงกิจกรรมการพลิกฟื้นแปลงมะนาวร้างให้ออกลูก ต่างก็พากันคิดหาวิธีการต่างๆ นานา ท้ายที่สุดถึงขั้นจุดธูปไหว้เจ้าที่กันก็มี การเตรียมการสำหรับเปิดป้ายชื่อโครงการด้วยวิธีการชั่งหัวมัน ให้กลไกทำงานเมื่อพระองค์ทรงวางหัวมันลงบนตาชั่งให้ป้ายเปิดออก ที่ต้องวางแผนเผื่อกลไกไม่ทำงานซ้อนแผนถึง 3 ชั้น เพื่อให้ทรงเปิดป้ายได้อย่างไม่มีอุปสรรค เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของคณะผู้ดำเนินโครงการ รวมถึงหน่วยงานและองค์กร ภาครัฐและเอกชน ทุกภาคส่วน จนวันนี้พื้นที่บริเวณรอบนอกโครงการมีความอุดมสมบูรณ์ มีราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว

หลังจากจบการบรรยายเราก็ขึ้นรถที่จอดรออยู่หน้าอาคาร รถจะออกเมื่อมีนักท่องเที่ยวมากพอ พาเราไปชมรอบโครงการ เราก็จะได้เห็นฟาร์มวัวนม โรงงานผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำ นอกจากนี้ยังมีโรงเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอาดินที่มีฉี่ไส้เดือนไปใช้เป็นปู่ยในโครงการด้วย

กังหันพลังงานลม

กังหันพลังงานลม จุดถ่ายภาพที่สวยงามจุดหนึ่งในโครงการ ตั้งอยู่ถัดจากอาคารบรรยายและร้านค้า กินพื้นที่กว้างมาก ด้านข้างของกังหันลมมีที่จอดรถอีกมากแต่ไม่ค่อยมีคนอยากจะมาจอดสักเท่าไหร่เพราะต้องเดินไปไกลกว่าลานจอดรถจุดอื่น

หลังจากที่ฟังบรรยายความเป็นมาของโครงการแล้วเราก็มีความเข้าใจในโครงการมากขึ้น อย่างน้อยก็รู้แล้วละว่ามีอะไรน่าสนใจในพื้นที่ 250 ไร่นี้ไม่น้อยเลย ควรอย่างยิ่งที่จะใช้บริการรถนำเที่ยว (ดีกว่าเดินเอาแน่ๆ) รถนำเที่ยวก็พาเราไปเที่ยวละกลุ่มใหญ่ ระหว่างที่รถวิ่งไปก็จะได้ชมส่วนงานแต่ละพื้นที่เรื่อยๆ ต่อจากกังหันลมก็จะมีฟาร์มวัวนม ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่คนสนใจกันมาก หลายคนก็พยายามจะถ่ายรูปคู่กับวัวนมโดยเฉพาะลูกวัวที่แลดูน่ารักน่าเอ็นดู

โครงการชั่งหัวมัน

จากนั้นรถก็พาเราไปเรื่อยๆ ผ่านแปลงมะนาวแป้นซึ่งเป็นมะนาวที่มีราคาดี (ถึงจะถูกบ้างในบางฤดูก็เถอะแต่เฉลี่ยแล้วก็เป็นพืชสร้างรายได้อย่างงามได้เหมือนกัน) แปลงมะนาวแป้นนี้ปลูกด้วยต้นมะนาวยักษ์ ต่อกิ่งมะนาวแป้น เพราะลำต้นของมะนาวแป้นไม่แข็งแรงเท่า แต่ผลของมะนาวยักษ์ไม่นิยมบริโภค ราคาไม่ดีเท่ามะนาวแป้น เมื่อเอาข้อดีของมะนาวสองชนิดมารวมอยู่ในต้นเดียวกัน ก็เลยเป็นแปลงมะนาวตัวอย่างที่เกษตรกรควรมาศึกษาและลองทำดู

เล่าถึงมะนาวแป้นสมัยที่เป็นแปลงมะนาวร้าง เพื่อเป็นการถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ดำเนินโครงการ คนงานทั้งหลายพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มะนาวที่ถูกทิ้งร้างเพราะไม่ออกดอกออกผลจนเจ้าของที่ขายที่เข้าโครงการ ให้ออกผลให้ได้ทันวันเสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรผลการดำเนินงาน เมื่อมะนาวออกผล คณะผู้ตามเสด็จก็ได้ร่วมกิจกรรมเก็บผลมะนาว แล้วต่างก็อยากได้มะนาวในแปลงของพระองค์เก็บไว้เป็นสิริมงคล วิทยากรเล่าให้ฟังว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า "ของทุกอย่างมีต้นทุน" คณะผู้ตามเสด็จก็เลยจ่ายเงินเพื่อซื้อผลมะนาว แต่หลายคนที่ไม่มีแบงค์ย่อย ก็เลยต้องซื้อมะนาวแพงเป็นพิเศษ เพราะพระองค์ไม่มีเงินทอน เล่าถึงตรงนี้วิทยากรและผู้ร่วมฟังบรรยายก็หัวเราะ รายได้ก้อนแรกจากการขายผลมะนาวนับเป็นก้าวที่สำคัญ และได้นำมาเป็นต้นทุนพัฒนาโครงการสืบต่อมา ทีนี้เห็นหรือยังครับว่าโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ไม่ใช่ว่าเอาเงินหลวงมาทำจึงได้เจริญงอกงามใหญ่โต แต่โครงการมีการจัดสรรบันทึกต้นทุนการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ราคาขาย บันทึกกำไรขาดทุนเอาไว้อย่างละเอียด ก็มีบ้างที่พืชบางชนิดพอเก็บขายแล้วขาดทุน แต่ก็ได้รับการศึกษาปรับปรุงกระบวนการ ท้ายสุดก็เปลี่ยนพืชที่นำมาปลูก แม้กระทั่งพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมและโซลาร์เซลล์ ก็นำไปขายให้การไฟฟ้า แล้วซื้อไฟฟ้ามาใช้เหมือนชาวบ้านทั่วไปเป็นการสร้างรายได้ให้โครงการทั้งสิ้น

ถัดจากแปลงมะนาวเราก็จะผ่านแปลงผักและแน่นอนว่าต้องมีแปลงมันเทศซึ่งเป็นมันเทศญี่ปุ่นด้วย

พืชผักในโครงการชั่งหัวมัน

พืชผักในโครงการชั่งหัวมัน จากนั้นก็มาถึงช่วงสุดท้าย เราใกล้จะมาบรรจบกับจุดเริ่มต้นแล้วแต่ถ้าลงไปเดินจริงๆ ก็ไกลเอาเรื่อง พื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแปลงเกษตรผสมผสาน พืชผักสวนครัว และพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดปลูกรวมกัน มีสระน้ำ และศาลาให้นั่งพักผ่อนหลบร้อนระหว่างการเดินทาง ที่เห็นคนลงไปเดินชมแปลงผักเป็นกลุ่มที่ปั่นจักรยานมา ต่อจากนั้นก็มีแปลงนาข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ ต่อด้วยแปลงสับปะรดปัตตาเวีย เหมาะทั้งกินผลและเอาไปแปรรูปบรรจุกระป๋อง แซมด้วยมะพร้าวน้ำหอม ส่วนอีกด้านของถนนเป็นชมพู่ ซึ่งจะเป็นพันธุ์อะไรไปไม่ได้ต้องเป็น ชมพู่เพชรสายรุ้ง ซึ่งเป็นสายพันธุ์เอกลักษณ์ของเพชรบุรี มีราคาสูง อาจจะสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ทีเดียว ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และปริมาณที่เก็บเกี่ยวได้ ชมพู่เพชรสายรุ้งมีปลูกอยู่ในหลายพื้นที่ในตัวเมืองเพชรบุรีก็มีสวนให้ไปศึกษาชมสวนและเลือกซื้อกันได้ จากคำบอกเล่าของเกษตรกรในกลุ่มชุมชน คนที่มีสวนชมพู่เพชรสายรู้งเพียง 2 ไร่ครึ่ง สร้างรายได้ได้ถึง 14000 บาท ในเวลาแค่ 4 วัน ก็มี

โครงการชั่งหัวมัน

ผมลงจากรถนำเที่ยวตรงสวนชมพู่ แล้วจากนั้นก็เดินต่อกลับเองเพราะเห็นว่าพื้นที่ที่รถเข้าไม่ถึงยังมีอะไรที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่นแปลงผักที่เห็นอยู่นี้ปลูกพืชผักหลายอย่างหมุนเวียนกันไป ศาลาพักร้อนของคนงานก็มีพืชผักหลายอย่างปลูกทั้งอาศัยร่มเงา และเก็บมากินได้อย่างสบายใจปลอดภัยไร้กังวล ปิดท้ายด้วยแปลงข้าวที่กำลังออกรวงสีทอง

ขบวนคาราวานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ขบวนคาราวานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จบการนำเที่ยวโครงการชั่งหัวมันไว้เพียงเท่านี้ก่อน มีอะไรเพิ่มเติม ทัวร์ออนไทยจะกลับไปอัพเดตมาเล่าให้ฟังใหม่ วันนี้ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ภูมิภาคภาคกลาง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง ที่จัดคาราวานนำเรามาที่นี่ได้รับความรู้ต่างๆ มากมายและได้รู้ถึงพระอัจฉริยภาพ รวมถึงน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรในถิ่นธุรกันดาร ทรงนำเอาความรู้ในเชิงเกษตรมาสร้างเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการพลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งให้กับมาสร้างรายได้จากการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ อย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์

โครงการชั่งหัวมัน

หลังจากชมโครงการแล้วขบวนคาราวานนำโดยคุณสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการ ภูมิภาคภาคกลางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็นำขบวนคาราวานประกอบด้วยสื่อมวลชนหลายสำนัก และเจ้าหน้าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทุกสำนักงานในภาคกลาง ก็ออกเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ โครงการชั่งหัวมัน เพชรบุรี
เพชรริมธาร รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
เพชรวารินทร์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
วรวีร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา
  20.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไพรเพชร รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
Narinfha Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
อลงกรณ์ฟาร์มแอนด์รีสอร์ท
  21.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
อลงกรณ์ ฟาร์ม แอนด์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนไผ่เพชร รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
แก่งกะจาน เลคฮิลล์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนริเวอร์รีสอร์ต แก่งกระจาน เพชรบุรี
  25.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ โครงการชั่งหัวมัน เพชรบุรี
โครงการสวนกระปุก
  2.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกผาน้ำหยด
  12.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพชรบุรี
  27.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
ถ้ำดาว วัดหนองพลับ
  28.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ล่องแก่งเขื่อนแก่งกระจาน เพชรบุรี
  29.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง เพชรบุรี
  31.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟาร์มแกะเขากลิ้ง khaokling sheep farm
  31.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขื่อนแก่งกระจาน เพชรบุรี
  33.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง เพชรบุรี
  35.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
หมู่บ้านอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าบ้านฝั่งท่า ประจวบคีรีขันธ์
  37.39 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com