www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กรุงเทพมหานคร >> วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อยู่ที่ถนนเฟื่องนคร เป็นวัดที่มีเสมาขนาดใหญ่ทำเป็นเสาศิลาสลักรูปเสมาธรรมจักรอยู่บนเสาตั้งอยู่ที่กำแพงวัดทั้ง 8 ทิศ บริเวณวัดนี้เดิมเป็นวังของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ วัดราชบพิธฯ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาล เมื่อ พ.ศ. 2412 เสร็จในปี พ.ศ. 2413 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงคหริรักษ์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีมหาเสมาหรือเสมาใหญ่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสวรวิหารมาจำพรรษาอยู่ พร้อมกับอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ ศิลปกรรมที่สำคัญในวัดได้แก่ บานประตู และหน้าต่างของพระอุโบสถที่มีลายไทยลงรักประดับมุกเป็นรูปดวงตราครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ สวยงามมาก

 วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล

สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารมีสุสานหลวงซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของวัด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจนพระราชโอรสธิดา และมีบางส่วนที่พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสร้างขึ้นในสมัยหลัง อนุสาวรีย์ที่สุสานหลวงนี้ทำเป็นรูปเจดีย์ ปรางค์ และอาคารศิลปะยุโรป เช่น
 สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้า มหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
 เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
 สุขุมาลย์นฤมิตร บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
 อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ
 อนุสาวรีย์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เรียบเรียงใหม่โดยทัวร์ออนไทยดอทคอม

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00–20.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2222 3930, 0 2221 0904

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 49519

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทริปนี้เป็นการเดินทางด้วยการเดิน ด้วยจุดประสงค์จะเดินทางไหว้พระ 9 วัดรัตนโกสินทร์ เราเดินมาจากวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามซึ่งยังอยู่ในระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ ข้ามคลองมายังราชบพิตรทางถนนราชบพิตร ทันทีที่ก้าวเดินเข้าประตูด้านทิศเหนือมาภายในวัดจะได้พบภาพที่งดงามของพระอุโบสถวัดราชบพิตรที่สร้างในรูปแบบไทยผสมตะวันตก ลักษณะของพระอุโบสถสร้างเป็นอาคารหนึ่งใน 4 อาคารที่ล้อมรอบพระมหาเจดีย์ทรงกลม อาคารทั้งสี่เชื่อมถึงกันด้วยพระวิหารคดรอบพระมหาเจดีย์ ทั้งหมดประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ตลอด จึงได้รับการขนานนามว่า "พระอารามเครื่องเบญจรงค์" อาคารอีกหลังหนึ่งคือพระวิหาร ส่วนอีก 2 หลังเป็นพระวิหารทิศ

ช่องประตูด้านหน้าพระอุโบสถ

ช่องประตูด้านหน้าพระอุโบสถ ด้านหน้าของพระอุโบสถมีช่องประตู 3 ช่อง โดยมีช่องกลางสูงที่สุดอีก 2 ช่องมีขนาดลดลงมาตามแบบอย่างการสร้างประตูอุโบสถทั่วไป จุดเด่นของวัดราชบพิตรอีกอย่างหนึ่งก็คือบานประตูและหน้าต่างประดับด้วยมุกเป็นรูปเครื่องหมายพระราชอิสริยาภรณ์ต่างๆ สวยงามมาก

เริ่มต้นเดินชมวัด

เริ่มต้นเดินชมวัด ด้านข้างช่องประตูทางเข้าพระอุโบสถที่เห็นมีส่วนยื่นออกมาสั้นๆ เรียกว่า "มุกเด็จ" เป็นความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ที่ใช้เรียกส่วนต่างๆ ของอาคารครับ ก่อนที่จะเดินเข้าไปในพระอุโบสถ สักการะพระปฏิมาประธาน พระพุทธอังคีรส และพระพุทธรูปสำคัญ พระนิรันตราย (จำลอง) เราจะพาไปชมสถาปัตยกรรมการก่อสร้างวัดที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของประเทศไทย เราเริ่มเดินเวียนขวารอบพระอุโบสถและรอบพระมหาเจดีย์เพื่อชมบริเวณวัดภายใน

หน้าต่างพระอุโบสถวัดราชบพิตร

หน้าต่างพระอุโบสถวัดราชบพิตร เพียงแค่ได้เห็นจากภายนอกก็รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก ความสวยงามของวัดราชบพิตรนั้นสวยมากจริงๆ

อาคารอื่นๆ ในวัด

อาคารอื่นๆ ในวัด ระหว่างที่เดินอยู่บนลานทักษินรูปวงกลมก็จะได้เห็นอาคารอื่นๆ ของวัด และอาคารที่ใช้เป็นที่พำนักจำวัดของสงฆ์ในเขตสังฆาวาส บนลานทักษินปูด้วยหินอ่อนทั้งหมด มีศาลาราย รอบนอกของลานทักษินทั้งสี่ทิศ

พระมหาเจดีย์วัดราชบพิตร

พระมหาเจดีย์วัดราชบพิตร พระมหาเจดีย์ เป็นแบบทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณ ประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์อัดพิมพ์นูนทั้งองค์ ฐานทักษิณเจาะเป็นซุ้ม 16 ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ 14 ซุ้ม และพระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช ในด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก อีก 2 ซุ้ม เป็นประตูเข้าออกภายในพระเจดีย์ ภายในพระเจดีย์มีชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรกอยู่ เป็นศิลปะแบบลพบุรี เล่ากันว่า มีการขุดพบใต้ต้นตะเคียนริมคลองหลอด ซึ่งเชื่อกันว่าคนที่อยากมีลูกมาขอพรก็จะมีลูกสมใจ พระมหาเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือที่เรียกกันว่าทรงลังกา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้สร้างตามแบบวัดโบราณ คือยึดพระเจดีย์เป็นหลักของวัดแล้วสร้างผังของวัด ในส่วนที่เหลือ พระระเบียงคด หรือพระวิหารคด ล้อมรอบแบ่งเขตพุทธาวาส ออกจากเขตสังฆาวาส ยอดพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ข้างบานประตูเข้า-ออกพระมหาเจดีย์

ข้างบานประตูเข้า-ออกพระมหาเจดีย์ ระหว่างพระมหาเจดีย์ พระอุโบสถ และพระวิหารจะมีประตูเข้าออก ด้านละ 3 ช่อง แต่ละช่องประตูจะมีเทพเฝ้าประตูที่เรียกกันว่า เซี่ยวกาง ประดับอย่างสวยงามทั้ง 2 ข้างของแต่ละช่องประตูรวมทั้งหมดมี 6 ข้าง เช่นเดียวกันกับด้านหน้าพระอุโบสถและด้านหน้าของพระวิหารก็มีเช่นเดียวกัน

ลวดลายบานประตูประดับมุก

ลวดลายบานประตูประดับมุก ช่องประตูด้านหลังพระอุโบสถซึ่งหันเข้าด้านในพระวิหารคดจึงมองเห็นบานประตูนี้ได้เมื่อเข้ามาในบริเวณพระมหาเจดีย์แล้ว บานประตูทั้งสองบานมีลักษณะแบบเดียวกัน คือลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวงเรียงตามลำดับ ได้แก่ นพรัตน์ราชวราภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก และ ประถมาภรณ์มงกุฎไทย

บานหน้าต่างพระวิหาร

บานหน้าต่างพระวิหาร นอกจากจะสร้างบานหน้าต่างและบานประตูด้วยลายประดับมุกที่พระอุโบสถ ส่วนพระวิหารก็มีลวดลายสีทองประดับกระจกสีที่สวยงามไปอีกแบบหนึ่ง

ลวดลายเบญรงค์ตลอดพระวิหารคด

ลวดลายเบญรงค์ตลอดพระวิหารคด จากภาพนี้จะเห็นได้ว่าพระวิหารคดที่เชื่อมถึงอาคารทั้ง 4 มีลวดลายที่สวยงามประดับอยู่โดยตลอดแลดูกลมกลืนกับลวดลายบนอาคาร

เขตสังฆาวาสในปัจจุบัน

เขตสังฆาวาสในปัจจุบัน ด้านทิศใต้ของพระมหาเจดีย์เป็นเขตสังฆาวาส ประกอบด้วยอาคารหลายหลัง มีอยู่หลังหนึ่งที่เป็นตึก 3 ชั้น รูปแบบอาคารในสมัยก่อน

พระมหาเจดีย์จากมุมด้านทิศใต้

พระมหาเจดีย์จากมุมด้านทิศใต้ เมื่อเดินมาจนสุดเขตบริเวณนี้แล้วก็จะเดินกลับออกด้านหน้าที่เข้ามา สถานที่ที่น่าสนใจในวัดราชบพิตรยังมีสุสานหลวงด้วยครับแต่ในวันนี้คงยังไม่ได้เข้าไป เท่านี้ก็ได้เห็นสิ่งสวยงามมากแล้ว ไหว้พระสบายใจแล้วเดินทางกันต่อเพื่อให้ครบ 9 วัดครับ

หอกลองวัดราชบพิธฯ

หอกลองวัดราชบพิธฯ หอกลองและหอระฆังวัดราชบพิธสร้างในลักษณะเดียวกัน หอกลองอยู่ด้านทิศตะวันตก ส่วนหอระฆังอยู่ด้านทิศตะวันออก ตกแต่งอย่างสวยงาม

พระพุทธอังคีรส

พระพุทธอังคีรส หลังจากที่เดินชมรอบๆ อาคารต่างๆ รอบพระมหาเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารทิศ จากนั้นก็ถึงเวลาเข้าสักการะพระปฏิมาประธานในพระอุโบสถ

พระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พระนาม "พระพุทธอังคีรส" แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ กระไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นท่องที่แต่งพระองค์รัชกาลที่ ๕ ที่ฐานบัลลังก์กระไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุ
- พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระบรมอัฐิพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 3
- และพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลรัชกาลที่ 5 แต่ทรงพระเยาว์

ภายในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าวัดแห่งอื่นๆ ของไทยหลายอย่างเช่น สถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน ภายนอกเป็นศิลปะแบบไทย ประดับกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ที่งามวิจิตรแห่งเดียวในประเทศไทย ภายในเป็นศิลปะแบบโกธิค บานประตูหน้าต่างด้านนอกประดับมุกลวดลายจำลองเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ภายในปิดทองลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ แต่ภายหลังเมื่อปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ. 2472 มีการเขียนลายดอกไม้ร่วงสีทองแทนภาพพุทธประวัติเดิม

ด้านในพระอุโบสถตรงบานประตู

ด้านในพระอุโบสถตรงบานประตู ลวดลายบนบานประตูด้านในพระอุโบสถทั้ง 3 ช่องที่ปิดสนิทเพราะวันนี้เป็นวันที่ทางวัดต้องเตรียมทำความสะอาดเพื่อรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนในวันพรุ่งนี้ ทำให้เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นด้านหลังของบานประตูพระอุโบสถ

กระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ประดับพระวิหาร

กระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ประดับพระวิหาร พระวิหารซึ่งอยู่ในทิศตรงกันข้ามกับพระอุโบสถซึ่งสร้างในลักษณะแบบเดียวกัน

กระเบื้องเคลือบเบญจรงค์

กระเบื้องเคลือบเบญจรงค์ ภาพขยายลวดลายที่สวยงามและการประดิษฐ์ลายด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์จำนวนนับไม่ถ้วนบนพระอุโบสถและพระวิหารรอบพระมหาเจดีย์วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เสาศิลาจำหลักใบเสมา

เสาศิลาจำหลักใบเสมา เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวัดแห่งนี้ที่ไม่มีให้เห็นที่ไหนก็คือเสาศิลาจำหลัก ยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งประจำกำแพงทั้ง 8 ทิศ อันเป็นที่มาของสร้อยนาม "สถิตมหาสีมาราม" หมายถึงอารามที่มีมหาสีมาหรือมีเสมาขนาดใหญ่ สามารถทำสังฆกรรมใดๆ ก็ได้ในเขตเสมานี้ ปกติใบเสมาซึ่งเป็นสิ่งกำหนดเขตของพระอุโบสถหรือเขตพุทธาวาส จะอยู่รอบๆ พระอุโบสถห่างกันไม่มากนัก โดยมากอาจจะสร้างใบเสมาไว้บนลานทักษินรอบพระอุโบสถ แต่ใบเสมาของวัดราชบพิธฯ เป็นเสาที่ตั้งอยู่ที่กำแพงวัด ทำให้มีเขตพุทธาวาสที่กว้างใหญ่ เสาหนึ่งที่อยู่ตรงหน้าพระอุโบสถพอดีเสานี้เป็นเพียงหนึ่งในทั้งหมด 8 เสา

สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อยู่นอกเขตกำแพงรอบวัดด้านตะวันตกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น เพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา ตลอดจนพระราชโอรสธิดา และมีบางส่วนที่พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงสร้างขึ้นในสมัยหลัง อนุสาวรีย์ที่สุสานหลวงนี้ทำเป็นรูปเจดีย์ ปรางค์ และอาคารศิลปะยุโรป เช่น
สุนันทานุสาวรีย์ บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รังษีวัฒนา บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
เสาวภาประดิษฐาน บรรจุพระสรีรางคาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
สุขุมาลย์นฤมิตร บรรจุพระสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ
อนุสาวรีย์พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

สำหรับภาพในสุสานหลวงคงไม่สามารถที่จะลงภาพได้ทั้งหมด ขอลงเพียงบางส่วนให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้นครับ

สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จบการแนะนำสถานที่สำคัญของไทยวัดประจำรัชกาลที่ ๕ และบริเวณต่างๆ รอบๆ วัดอย่างสมบูรณ์ไว้เพียงเท่านี้ครับ หากมีเวลาได้เดินทางเข้ามาที่กรุงเทพมหานคร และมีโอกาสได้ไหว้พระในวัดสำคัญๆ ต่างๆ ซึ่งมีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ให้เราได้ศึกษาเช่นวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แห่งนี้ก็ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะรู้จักวัดแห่งนี้โดยละเอียดอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
เฟื่องนคร บัลโคนี่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
ISSARA by d HOSTEL เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิ อซาแดง บีแอนด์บี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
แบงค็อก เบด แอนด์ ไบค์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเดี่ยว 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 76 ตร.ม. – ข้าวสาร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ภูธร เบดแอนด์เบรคฟาสต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
เนบเบอร์ ภูธร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
วิวิธ โฮสเทล แบงค็อก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศิริ พอชเทล กรุงเทพฯ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ แกรนด์ พาเลส โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประเพณีเดินเทียน ตักบาตรดอกไม้ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  0.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
  0.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร
  0.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพร่งภูธร เขตพระนคร กรุงเทพ
  0.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพร่งนรา เขตพระนคร กรุงเทพ
  0.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
โขน ศาลาเฉลิมกรุง กรุงเทพมหานคร
  0.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
  0.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพร่งสรรพศาสตร์ พระนคร กรุงเทพ
  0.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ กรุงเทพมหานคร
  0.81 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com