www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กรุงเทพมหานคร >> วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

 วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นศรีสง่าแก่พระนคร ได้พระราชทานนามไว้ว่า วัดมหาสุทธาวาส จากนั้นทรงอัญเชิญพระพุทธรูปโลหะปางมารวิชัย ซึ่งหล่อขึ้นตั้งแต่สมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ที่เรียกกันว่า พระโต หรือ พระใหญ่ จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุจังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ แต่สร้างยังมิทันสำเร็จ ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงดำเนินงานต่อ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระอุโบสถและหล่อพระประธานขึ้นใหม่ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพวราราม จากเดิมที่เรียกกันว่า วัดพระโต สร้างเสร็จสมบูรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงถวายพระนาม พระโต ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารว่า พระพุทธศรีศากยมุนี และพระประธานในพระอุโบสถว่า พระพุทธตรีโลกเชฏฐ์

 ที่วัดสุทัศนเทพวรารามไม่มีเจดีย์เหมือนวัดอื่นๆ เพราะมีสัตตมหาสถานเป็นอุเทสิกเจดีย์ (ต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา 7 ชนิด) แทนที่อยู่แล้ว

 สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ พระศรีศากยมุนี (หลวงพ่อโต) พระประธานของวัดที่ได้ชะลอมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) และบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

 เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30–21.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2224 9845, 0 2222 9632

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok

แก้ไขล่าสุด 2017-07-28 09:10:18 ผู้ชม 46294

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ประตูพระวิหารคดหรือพระระเบียงคดพระวิหารหลวง

ประตูพระวิหารคดหรือพระระเบียงคดพระวิหารหลวง เมื่อเดินเข้าประตูวัดด้านทิศเหนือเข้ามาจะมีซุ้มประตูพระวิหารคด ซึ่งอยู่กึ่งกลางทั้งสี่ด้านของพระวิหารคด ที่มุมของพระวิหารคดหรือพระระเบียงคด มีซุ้มหลังคาทรงจตุรมุขเช่นเดียวกันกับซุ้มประตู หน้าบรรณลำยองไม้แกะจำหลัก ปิดทองประดับด้วยกระจกสี กลางกรอบแกะเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ บานประตูพระวิหารคดเป็นบานไม้ขนาดใหญ่ มีลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง (ทวารบาล) ยืนบนหลังกิเลน เชิงบานเป็นภาพสัตว์หิมพานต์ต่างๆ ประตูด้านทิศเหนือเป็นจุดชำระค่าเข้าชมของชาวต่างชาติ

ศาลาทศบารมีธรรม

ศาลาทศบารมีธรรม ตามแนวกำแพงวัดด้านใน ระหว่างซุ้มประตูจุลมงกุฎ ทางเข้า-ออกแต่ละด้านของวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร จะมีศาลาอยู่ ซึ่งสร้างเป็นแบบเดียวกัน ซุ้มประตูด้านตะวันออกตรงหน้าพระอุโบสถมีศาลา 2 หลัง คือศาลาทศพิธราชธรรม และศาลาทศบารมีธรรม อีกประตูหนึ่งมีศาลาต้นโพธิ์ มีพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ประดิษฐานใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ รายล้อมด้วยพญามารที่มาผจญ เป็นต้น

ซุ้มประตูรอบพระอุโบสถ

ซุ้มประตูรอบพระอุโบสถ เมื่อเดินมาถึงบันไดขึ้นสู่พระอุโบสถจะมีรูปปั้นลักษณะเครื่องแต่งกายแบบตะวันตกในอดีต อยู่ 2 ข้างของบันได บนลานประทักษินชั้นล่างนอกกำแพงแก้ว ลานประทักษินชั้นล่างของพระอุโบสถปูด้วยหินจากประเทศจีน ซุ้มประตูทางขึ้น-ลงแต่ละซุ้มสร้างเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ทำด้วยหินอ่อนเป็นซุ้มคูหาหน้านางยอดทรงมงกุฎ หน้าบรรณเป็นปูนปั้นลายดอกไม้ปิดทองคำเปลว มีอยู่ด้านละ 2 ซุ้ม รวมเป็น 8 ซุ้ม บานประตูสีพื้นสีเขียวมีภาพสีน้ำมันรูปครุฑยุดนาคสวยงามทุกบาน สีพื้นบานประตูด้านในเป็นสีแดง

วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านซุ้มประตูหินอ่อนขึ้นมาแล้วจะมีบันไดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง รูปปั้นบนราวบันไดนี้แตกต่างกับรูปปั้นที่ข้างบันไดชั้นแรก พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็น พระอุโบสถที่ยาวที่สุดในประเทศไทย *ข้อมูลเมื่อปี 2553 คือมีขนาดกว้าง ๒๒.๖ เมตร ยาว ๗๒.๒๕ เมตร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๗๗ เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๓๘๖ เป็นอาคารขนาดใหญ่มากมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา ๖๘ ต้น หลังคา ๔ ชั้น และชั้นลด ๓ ชั้น หน้าบรรณมุขด้านตะวันออกแกะสลักลายพระอาทิตย์ประทับนั่งบนราชรถเทียมราชสีห์ ด้านหลังสลักเป็นรูปพระจันทร์ประทับนั่งบนบุษบกบนราชรถเทียมม้า

ประตูเข้า-ออกพระอุโบสถ

ประตูเข้า-ออกพระอุโบสถ พระอุโบสถวัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร มีประตูเข้า-ออก ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 2 ช่อง ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปประธานจำลองเพื่อให้จุดเทียนธูปสักการะบูชาด้านนอก มีหน้าต่างด้านละ ๑๓ ช่อง รวมเป็น ๒๖ ช่องซุ้มประตูและหน้าต่างทำด้วยปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสีเหนือซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มบันแถลงสองชั้น

ภาพจิตรกรรมเหนือช่องหน้าต่างพระอุโบสถ

ภาพจิตรกรรมเหนือช่องหน้าต่างพระอุโบสถ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของวัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ภาพเหนือช่องหน้าต่างและประตูพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นภาพในเรื่องรามเกียรติ์ใส่กรอบตั้งประดับเหนือช่องประตูและหน้าต่างช่องละ ๓ ภาพ ทั้งหมดมี ๙๐ ภาพ เป็นการแสดงให้เห็นการปราบข้าศึกอันเปรียบด้วยกฤดาภินิหารของพระมหากษัตริย์ ภาพที่แสดงเรียกว่า ภาพจับ เป็นท่าครู เป็นการยกย่องวรรณกรรมนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรัชกาลที่ ๑ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒

เกยโปรยทาน

เกยโปรยทาน เกยโปรยทานตั้งอยู่บนกำแพงแก้วพระอุโบสถ อยู่ระหว่างซุ้มใบเสมา มีทั้งหมด ๘ เกย ใช้เป็นที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์สมัยก่อนเพื่อโปรยทานแก่พสกนิกรในคราวเสด็จพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทานบารมี ลักษณะคล้ายเกยหามแต่ทำด้วยหินอ่อน ด้านหลังมีบันไดทางขึ้นและลง

บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม

บานหน้าต่างพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม บานหน้าต่าง ทั้ง ๒๖ ช่องของวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เป็นบานไม้เขียนลายรดน้ำ ผนังข้างหน้าต่าง(ด้านนอก) ติดกระเบื้องเคลือบลายดอกไม้ร่วง ซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มบันแถลงสองชั้น ทรงพิชัยมหามงกุฎ

พระพุทธรูปบนพระวิหารคด

พระพุทธรูปบนพระวิหารคด พระวิหารคดหรือพระระเบียงคดล้อมรอบพระวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวน ๑๕๖ องค์ (เลข ๕๖ มากจากจำนวนพยางค์ในบทพุทธคุณ (อิติปิโส ฯลฯ) ) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองคำเปลว ปางสมาธิราบ ประดิษฐานบนฐานชุกชี ที่มุมพระวิหารคดมีซุ้มหลังคาจตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสี่มุม

พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม

พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อก้าวผ่านซุ้มประตูพระวิหารคดหรือพระระเบียงคดเข้ามาจะมองเห็นพระวิหารหลวงและรู้สึกได้ถึงขนาดพระวิหารที่ใหญ่มาก เนื่องด้วยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ที่โปรดจะสร้างพระวิหารให้มีขนาดใหญ่เท่ากับพระวิหารวัดพนัญเชิง จากมุมนี้มองเห็นหน้าบรรณหลังคามุขแกะสลักไม้ปิดทองเช่นเดียวกันกับหลังคาประธานต่างแต่รูปในกรอบตรงกลางเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ หมายเป็นพระมหากษัตริย์แบ่งภาคมาจากเทพเพื่อคุ้มครองโลกมนุษย์ ที่เห็นลักษณะคล้ายๆ ศาลาที่มุมทั้งสี่ของพระวิหารหลวงเรียกว่า พระวิหารทิศ ตั้งอยู่บนฐานพระวิหารหลวงชั้นบน สร้างเหมือนกันทั้งสี่หลัง

    ช่อฟ้าใบระกาหางหางส์นาคสะดุ้ง เป็นไม้จำหลักลายลงรักประดับกระจกสี แต่ละหลังประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ กันหลังละ ๒ องค์ ลานประทักษินพระวิหารหลวงชั้นล่างด้านหลังยังมีภูเขาที่สลักจากศิลาจีน คือเขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์ มีรูปฤๅษีและสัตว์ที่สลักศิลาเช่นกันประดับอยู่โดยรอบสมมติเป็นเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล เขาลูกนี้เดิมเป็นฉากในการแสดงโขนกลางแปลงในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อเสด็จสวรรคตไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายพระอารามแห่งนี้

พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม

พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม ภาพมุมกว้างแสดงให้เห็นอาณาบริเวณที่กว้างขวางระหว่างพระวิหารหลวงและแนวพระวิหารคด หรือพระระเบียงคด ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีขนาดกว้าง ๘๙.๖๐ เมตร ยาว ๙๘.๘๗ เมตร พระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม วรมหาวิหาร เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด ๕ ห้องกว้าง ๒๓.๘๔ เมตร ยาว ๒๖.๒๕ เมตร โครงหลังคาเป็นจั่วมีหลังคาประธาน ๑ ตับ มีชั้นซ้อน หรือ หลังคามุข ทั้งด้านหน้าและด้านหลังและมีหลังคาปีกนกลาดลงจากหลังคาประธานข้างละ ๓ ตับ หลังคามุขทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีหลังคาปีกนกลาดลงข้างละ ๒ ตับn มีเสารับมุขเป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๑๒ ต้น และเสานางเรียงด้านข้างข้างละ ๖ ต้น

    มุมพระวิหารหลวงทั้ง 4 มุม ชั้นล่างและชั้นกลางมีม้าหล่อด้วยสำริด หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๙ โดยช่างไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นที่รำลึกถึงม้ากัณฐกะซึ่งเป็นพาหนะที่นำเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชn เจดีย์ศิลปะแบบจีนรายล้อมพระวิหารหลวง 28 องค์ เรียกว่า ถะรายพระวิหาร คำว่า ถะ เป็นเครื่องศิลาแบบจีนรูปแบบคล้ายอาคารหกเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไป ๖ ชั้น แต่ะลชั้นเป็นช่องโปร่งซึ่งเป็นลักษณะของเรือนไฟใช้ตามประทีป ถะรายพระวิหารมี 28 ถะ หมายถึงพุทธ ๒๘ พระองค์ ตั้งอยู่บนพนักฐานพระวิหารชั้นที่ 2 พระวิหารหลวงเป็นอาคารเครื่องก่อ มีความสูงเด่นกว่าศาสนสถานอื่นทั้งหมด คือมีฐาน 3 ชั้น สูงชั้นละประมาณ 2 เมตร รวมความสูงประมาณ 6 เมตร จากพื้นดิน ตามแนวฝาผนังด้านนอกมีเสานางแนบด้านละ 6 ต้น

พระบรมราชานุสรณ์

พระบรมราชานุสรณ์ พระบรมราชานุสรณ์นี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรทั้งปวง ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาด้วยพระราชศรัทธาปสาทอันมั่นคง ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็นพระสังฆราช (แพ ติสุสเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม ทรงเป็นประธานคณะสงฆ์ถวายศาสโนวาทและถวายศีล เมื่อเสด็จสวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระอนุชาธิราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสริรางคาร มาประดิษฐาน ณ ผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม และถวายพระราชทรัพย์เป็นประถมให้วัดตั้งมูลนิธิ พระราชทานนามว่า "มูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อพระบรมราชานุสรณ์ ณ วันจันทร์ที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด ณ วันเสาร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๗

เสาพ่อฟ้า-แม่ดิน

เสาพ่อฟ้า-แม่ดิน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม ตรงทางขึ้นบันไดทั้ง 2 ข้างของพระวิหารหลวง ประดับโคมไฟสีแดงแบบจีน ตรงกลางคือเก๋งจีนหน้าพระวิหาร เครื่องศิลาสลักจีนอยู่ที่ลานประทักษินชั้นล่างด้านหน้าพระวิหารหลวง เดิมตั้งอยู่บนลานประทักษินชั้นบนย้ายลงมาชั้นล่างในสมัยพระบาทสมเด็จอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ จากลักษณะที่ตั้งเดิมหมายถึงวิมานไพชยนต์ของพระอินทร์แห่งเมืองสุทัสสนนครบนเขาพระสุเมรุ

คำบูชาเสา พ่อฟ้า-แม่ดิน เพื่อประเทศชาติมั่นคง-ประชาชนมั่งคั่ง สาวัง คุณัง วิชชา พะลัง เตชัง วิริยัง สิทธิกัมมัง ธัมมัง สัจจัง นิพพานัง โมกขัง คุยหะกัง ทานัง สีลัง ปัญญา เนกขัง ปุญญัง ภาค์ยัง ตะปัง ยะสัง สุขัง สิริรูปัง จะตุวีสะติ เทสะนาติ เอวัง สะหะ มันตะ รูปะเทเสนะ วาเจตัพพะมิทัง นะโม พุทธัสสะ นะโม ธัมมัสสะ นะโม สังฆัสสะ เสยยะถีทัง หูลู หูลู หูลู ส์วาหายะ

ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม

ประตูพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม สิ่งที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งของวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหารคือบานประตูพระวิหาร ซึ่งเป็นศิลปกรรมชั้นเยี่ยมทางด้านการแกะสลักในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะคู่ที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้นำไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร บานประตูช่องกลางด้านหลังจึงได้ย้ายมาไว้ที่ซุ้มประตูกลางด้านหน้าพระวิหารหลวง แล้วทำการสร้างบานประตูช่องกลางด้านหลังพระวิหารหลวงขึ้นมาใหม่ บานประตูทุกบานเป็นไม้แผ่นเดียวงดงามตลอดทั้งแผ่น ซุ้มประตูและหน้าต่างพระวิหารหลวงเป็นซุ้มบันแถลงที่ซ้อนกัน ๒ ชั้นเป็นปูนปั้นปิดทองประดับกระจกสี

พระศรีศากยมุนี

พระศรีศากยมุนี พระศรีศากยมุนี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ ๖.๒๕ เมตรประดิษฐานบนฐานชุกชีแบบฐานลายแข้งสิงห์ ปิดทองประดับกระจกสีงดงามด้านหลังฐานชุกชีมีภาพสลักศิลานูนต่ำสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษ ๑๒-๑๓) สูง ๒.๔ เมตร กว้าง ๐.๙๕ เมตรเป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของวัดชิ้นหนึ่ง สันนิษฐานว่าย้ายมาจากจังหวัดนครปฐม เป็นภาพสลักพระพุทธประวัติ ๒ ตอน คือปางยมกปาฏิหาริย์และปางเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพระศรีศากยมุนีคือเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสริรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสริรางคาร มาประดิษฐาน ณ ผ้าทิพย์พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีในพระวิหารหลวงแห่งนี้ ภาพจิตรกรรมในพระวิหารหลวง เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในมีจิตรกรรมประดับอยู่โดยตลอดไม่มีส่วนที่ว่าง ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังจากเชิงผนังจรดเพดาน เป็นภาพเรื่องพระอดีตพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์มีศิลาจารึกอธิบายภาพกำกับไว้ใต้ห้องภาพ พรรณาถึงพระประวัติพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ จิตรกรรมที่เสาในประธานมี ๘ ต้น มีจิตรกรรมทั้งสี่ด้านเรื่องไตรภูมิโลกยสัณฐาน มีศิลาจารึกกำกับที่โคนเสา

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
บ้านเดี่ยว 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 76 ตร.ม. – ข้าวสาร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
เชิญ โฮสเท็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
Chingcha Bangkok เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฟื่องนคร บัลโคนี่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
Luck-Yimm Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
Once Again Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
ISSARA by d HOSTEL เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
Namjaithai hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
เนบเบอร์ ภูธร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ภูธร เบดแอนด์เบรคฟาสต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
เสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร
  0.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนรมณีนาถ กรุงเทพมหานคร
  0.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
โขน ศาลาเฉลิมกรุง กรุงเทพมหานคร
  0.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลาว่าการกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร
  0.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
  0.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประเพณีเดินเทียน ตักบาตรดอกไม้ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
  0.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพร่งนรา เขตพระนคร กรุงเทพ
  0.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพร่งภูธร เขตพระนคร กรุงเทพ
  0.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลเจ้าพ่อเสือ กรุงเทพมหานคร
  0.79 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com