www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กรุงเทพมหานคร >> วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

 วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดพระอารามหลวงประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้มีพระราชดำรัสให้จัดสร้างขึ้นให้เป็นวัดขนาดเล็กที่เรียบง่าย มุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยสูงสุด เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในลักษณะ 3 ประสาน คือ บ้าน วัด โรงเรียน หรือที่เรียกว่า บวร

ความเป็นมา
 เมื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ตามโครงการบึงพระราม ๙ ดำเนินการไปได้ระดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๑ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงสภาพพื้นที่ และชุมชนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับโครงการบึงพระราม ๙ ดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ให้มีการจัดตั้งวัดขึ้นในที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน ๘ – ๒ – ๕๔ ไร่ และได้รับการอนุญาตให้สร้างวัดจากกรมการศาสนา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ” โดยมีสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นองค์อุปถัมภ์ฝ่ายฆารวาส ในการนี้ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานก่อสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกขึ้น โดยมีนายจริย์ ตุลยานนท์ กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการก่อสร้างวัด ทำหน้าที่ในรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างวัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ในลักษณะวัดขนาดเล็กที่มีลักษณะเรียบง่าย ประหยัด และทันสมัย เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ และศรัทธา เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ ทั้งทางศาสนา สังคม และจริยธรรม แก่เยาวชน และประชาชนในชุมชน เพื่อขัดเกลาจิตใจของชุมชนให้มีจิตสำนึกต่อสังคมโดยส่วนรวมอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

วัดพระราม 9 ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง ในเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ พระอุโบสถมีขนาดกระทัดรัดเพื่อให้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชน วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นของที่ผลิตในประเทศ เป็นรูปแบบผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย หลังคามุงกระเบื้องทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว เครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้น ที่หน้าบันพระอุโบสถประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ

 การดำเนินการก่อสร้าง วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เริ่มดำเนินการโดยการถมดินปรับพื้นที่โครงการก่อสร้างวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ที่บริเวณบึงพระราม ๙ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๓๘ และเริ่มงานก่อสร้างอาคารวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙

 จากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๓๙ เวลาประมาณ ๖.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และทรงเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

 พระประธานในพระอุโบสถ คือ พระพุทธกาญจนธรรมสถิต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยมีพุทธลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ ผสมผสานระหว่างอุดมคติและเหมือนจริงด้วยการห่มจีวรแบบพระสงฆ์ที่เหมือนจริง แต่มีพระเกศาเป็นแบบอุดมคติ พระเกศพระประธานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok

แก้ไขล่าสุด 2017-07-26 20:19:35 ผู้ชม 50003

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

ที่ตั้งของวัดอยู่ในซอยพระราม 9 ซอย 19 ซึ่งสามารถเข้าจากถนนประดิษฐ์มนูญธรรม หรือจากถนนพระราม 9 ก็ได้ ซอยวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกเป็นซอยขนาดไม่ใหญ่นัก เข้ามาถึงจะมีพื้นที่โล่งอยู่ใกล้ๆ บริเวณวัด เนื่องจากการสร้างวัดแห่งนี้เป็นไปตามพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งเน้นความเรียบง่าย จึงไม่มีจุดสังเกตุมากนัก จะมีเพียงอาคารเรียนของโรงเรียนวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกที่สูงหลายชั้นอยู่กลางซอย กำแพงวัดมีประตูเข้า-ออก เลี้ยวเข้ามาก็หาที่จอดรถได้ตามที่จัดไว้ให้ ซึ่งจะมีสระน้ำอยู่กลางวัด ด้านหนึ่งของสระน้ำจัดเป็นศาลาสำหรับพักผ่อนให้ความร่มรื่น มีประชาชนเดินทางมาพักผ่อนในวัดพอสมควรในวันหยุด

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

ภายในศาลาพักผ่อนริมสระน้ำ

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

ปลาในสระน้ำมีจำนวนมาก หลายชนิด มีเต่ารวมอยู่ด้วย บริเวณขอบสระจะมีป้ายเขียนห้ามให้อาหารปลาและนกภายในวัด เนื่องจากปริมาณอาหารที่โปรยลงไปจำนวนมากทำให้น้ำเน่าเสีย แต่ก็ยังมีหลายคนที่เอาอาหารมาโปรย เลยขอประชาสัมพันธ์ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ ป้ายห้ามให้อาหารปลาอยู่ริมสระ ให้อ่านให้ดีด้วยครับ

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

ศาลาริมสระน้ำ

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

กังหันน้ำชัยพัฒนา (RX-2)

กังหันน้ำชัยพัฒนา (RX-2) หากศึกษาความเป็นมาของวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เราจะพบบันทึกส่วนหนึ่งเกี่ยวกับวัดดังนี้
"...เมื่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ตามโครงการบึงพระราม ๙ ดำเนินการไปได้ระดับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๑ ให้มีการดำเนินการปรับปรุงสภาพพื้นที่ และชุมชนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับโครงการบึงพระราม ๙ ดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็ให้มีการจัดตั้งวัดขึ้นในที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงกัน..."
เราจะเห็นว่าสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของโครงการในพระราชดำริคือการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ระบบการบำบัดน้ำเสียอย่างหนึ่งที่พระองค์พระราชทานรูปแบบการประดิษฐ์ เพื่อใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำและเป็นเครื่องเติมอากาศก็คือกังหันน้ำชัยพัฒนา (RX-2) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรเลขที่ 3127 แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536
กังหันน้ำชัยพัฒนาประกอบด้วย
1. กังหันรูป 12 เหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร
2. ช่องตักน้ำขนาด 110 ลิตร 6 ช่อง เจาะรูพรุน
3. ทุ่นลอยน้ำ จำนวน 2 ทุ่น
4. ระบบส่งกำลังด้วยเกียร์มอเตอร์ ขนาด 2 แรงม้า อัตราทดรอบ 1:300
5. แผ่นไฮโดรฟอยล์ 2 แผ่น ลดการโยกตัวช่วยขับเคลื่อนน้ำ
หลักการทำงานของกังหันน้ำชัยพัฒนาจะหมุนด้วยความเร็ว 5 รอบ/นาที ขณะที่หมุนจะวิดน้ำขึ้นไป และกระจายเป็นฝอยให้น้ำสัมผัสกับอากาศ และน้ำที่สัมผัสกับอากาศจะจมลงใต้ผิวน้ำ ขณะเดียวกันสามารถผลักดันน้ำด้วยความเร็ว 0.20 เมตร/วินาที ระยะห่างประมาณ 10 เมตร
กังหันน้ำชัยพัฒนาจึงตั้งอยู่ในวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ให้เราได้ศึกษา นอกจากนี้ยังมีแผนภูมิระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้ในบึงพระราม 9 และวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก รวมทั้งพืชชนิดต่างๆ ที่ปลูกริมน้ำและในน้ำ เพื่อช่วยให้การบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่นต้นพุทธรักษาใช้ในการกรองน้ำและดักตะกอน

อุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

อุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก แรกเริ่ม การออกแบบพระอุโบสถ นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม สถาปนิก ๑๐ กรมศิลปากร (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมในวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ได้นำแบบพระอุโบสถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร มีรับสั่งให้ย่อลง ให้มีขนาดกระทัดรัด สอดคล้องกับลักษณะของชุมชน ด้วยไม่โปรดสิ่งที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น มีพระราชประสงค์ให้วัดนี้เป็นวัดของชุมชนพระราม ๙ เพื่อให้ประกอบศาสนกิจ จากเดิมที่ออกแบบให้ภายในพระอุโบสถจุคนได้ ๑๐๐ คนเศษ ทรงให้ลดเหลือเพียง ๓๐ — ๔๐ คน ลดงบประมาณจากที่ตั้งไว้ ดิม ๕๗ ล้านบาท เป็นไม่เกิน ๓ ล้านบาท เหล่านี้ ชี้ให้เห็นพระราชนิยมที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นเพียงการใช้ประโยชน์สูงสุดที่สำคัญ และมีพระราชประสงค์ให้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชนอีกด้วย

นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น จึงน้อมรับพระราชกระแสมาออกแบบพระอุโบสถใหม่ โดยเน้นประโยชน์ในอาคารอย่างคุ้มค่า วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นของที่ผลิตในประเทศ ส่วนรูปแบบทางศิลปกรรมเป็นการผสมผสานรูปแบบอย่างสถาปัตยกรรมปัจจุบัน โดยได้ต้นเค้าจากพระอุโบสถวัดต่างๆ ดังนี้

พระอุโบสถวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร เช่น รูปทรงเสาของเสาอุโบสถ
พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์จังหวัดนครปฐม เช่น ความเรียบง่ายและมุขประเจิด
พระอุโบสถวัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบในการผูกลายปูนปั้นประดับหน้าบัน

โครงสร้างอุโบสถวันพระราม ๙ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหลังคมมุงกระเบื้องทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้นปิดทองเฉพาะที่ตราพระราชลัญจกร ประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ ช่อฟ้า ใบระกาเป็นลวดลายปูนปั้นไม่ปิดทองประดับกระจก ผนังและเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก เพดานพระอุโบสถเป็นเพดานไม้เรียบ แต่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายโคมระย้าเป็นพุทธบูชาประดับไว้แทนรวม ๔ ช่อ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้จารึกคาถาเยธมมาฯ ณ ที่นี้ ใช้อักษรอริยกะ ซึ่งเป็นอักษรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงประดิษฐ์ขึ้น แบบเดียวกับที่พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์

ต้นไม้ทรงปลูก

ต้นไม้ทรงปลูก ด้านหน้าพระอุโบสถทั้ง 2 ข้างมีต้นไม้ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ทรงปลูก ได้แก่ต้นมุจลินท์ และต้นเกด

พระระเบียงคต

พระระเบียงคต อยู่ด้านข้างพระอุโบสถซึ่งปกติจะเห็นการสร้างพระระเบียงคตล้อมรอบ 4 ด้าน สำหรับในวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก มีเพียงด้านเดียว

ห้องสมุดชุมชน

ห้องสมุดชุมชน

บ่อปลาคาร์พ

บ่อปลาคาร์พ ปิดท้ายด้วยภาพนี้เลยครับ นี่เป็นบริเวณวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก แบบคร่าวๆ ครับ วัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๙ ลองเข้ามาศึกษาหาความรู้ทั้งเรื่องการบำบัดน้ำเสียอันเป็นพระอัจฉริยภาพ การประหยัด เรียบง่าย จากพระราชดำริเกี่ยวกับการสร้างวัดขนาดกะทัดรัด เหมาะกับพื้นที่ชุมชน อันเป็นแบบอย่างที่ดี

หาข้อมูลวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกเพิ่มเติมได้จาก http://www.rama9temple.org

รีวิว วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร


 "พระอารามหลวงดูร่มรื่นมากครับ หวังไว้ว่าสักวันกระผมคงจะมีโอกาสได้เข้าไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสและได้ชื่นชมทัศนียภาพโดยรอบพระอารามหลวงครับ"

วิษณุ อำไพเพชร
2018-06-22 16:41:07


5/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร
อพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 69 ตร.ม. – รัชดาภิเษก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
แจซโซเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Kinn เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดูเพล็กซ์ 21 อพาร์ตเมนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
รอยัล แปซิฟิค
  1.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 60 ตร.ม. – รัชดาภิเษก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชาราวิลล์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baansuan six station to chatuchak เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
6 stations to Chatuchak Market - Large Bed เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมโรยัล สวีท กรุงเทพฯ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร
ตลาดน้ำขวัญเรียม กรุงเทพมหานคร
  3.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงละครกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร
  3.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
สยามนิรมิต กรุงเทพมหานคร
  3.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดภาษี กรุงเทพมหานคร
  3.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเทพลีลา
  3.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร
  3.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงห์เสนี) กรุงเทพมหานคร
  4.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
เมืองไทยรัชดาลัยเธียร์เตอร์ กรุงเทพมหานคร
  4.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์ภาพจิตรกรรม 3 มิติ เอสพลานาด รัชดาภิเษก
  4.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดนัดรถไฟรัชดา
  4.53 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com