ข้อมูลเพิ่มเติม:อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล โทร. 0 5351 8762
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
เดินทางสู่อุทยานแห่งชาติขุนตาล วันนี้เป็นวันดีของการเดินทางเที่ยวลำปาง ปกติในจังหวัดลำปางเวลามาเที่ยวไม่ค่อยได้แวะอะไรมาก เค้าถึงได้เรียกว่าเป็นเมืองรอง หรือเมืองทางผ่าน จน ททท. มาเปิดเมืองลำปาง โดยใช้ชื่อโครงการว่าเมืองต้องห้าม...พลาด ลำปางเป็นหนึ่งใน 12 จังหวัดที่ถูกเลือก การสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เคยเข้ามาเลยก็เริ่มขึ้น เส้นทางลำปาง - ลำพูน ที่จะขึ้นเชียงใหม่ ก่อนจะถึง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ใครเคยสังเกตุมั้ยว่า มีทางแยกเข้าอุทยานแห่งชาติขุนดาล อยู่ตั้ง 2 ที่ คือเข้าได้ 2 ทาง ก็เลยเลี้ยวเข้ามาดูหน่อยว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
เส้นทางจากทางแยกเข้ามา ระยะทางไม่ไกลมากมาย แต่ทำความเร็วแทบไม่ได้ เพราะเป็นทางโค้งและชัน ใครได้ลองขับรถเข้าอุทยานแห่งชาติขุนตาลน่าจะรู้ดี ทางชันเป็นทางขึ้นเขา พอขึ้นไปสุดเนินแล้วจะลาดลงทันทีและชันมากด้วย พอลงไปสุดก็จะชันลาดขึ้นอีก ไม่เคยเจอเส้นทางแบบนี้มาก่อนเลย
แยกเข้าขุนตาล ในที่สุดเราก็เข้ามาในเขตที่ทำการ ขับไปตามถนนเรื่อยๆ เจอด่านเก็บค่าธรรมเนียมก็จ่ายเค้าไป
บ้านพัก อช.ขุนตาล ในอุทยานแห่งนี้ มีบ้านพักอยู่หลายหลัง แต่ละหลังกระจายอยู่ตามเส้นทางตั้งแต่ที่ทำการและศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ยาวขึ้นไปจนถึงลานกางเต็นท์ ทำเลของบ้านพักต่างกันไปมากมายหลายแบบให้เลือก แต่ถ้าจองออนไลน์คงนึกภาพไม่ออก ต้องมาดูของจริงว่าชอบแบบไหน
จุดเริ่มต้นเดินศึกษาธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติขุนตาล มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเส้นทางหลัก เรียกว่า ย.1 - ย.4 จะเดินไปแค่ ย.2 หรือย.3 แล้วกลับก็ได้แล้วแต่สะดวก แต่ถ้าจะเดินกันถึง ย.4 ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางไป ต้องเตรียมเต็นท์ไปกาง แล้วค่อยกลับมาเช้าวันใหม่ ระยะทางรวม ย.1 - ย.4 ประมาณ 7 กิโลเมตรกว่าๆ
ร้านสวัสดิการ ตรงนี้คือจุดสูงสุดที่รถจะขึ้นมาได้ มีลานกางเต็นท์และบ้านพักอีกหลายหลัง บ้านพักที่ผ่านมาในช่วงแรก ส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางต้นไม้ แต่โซนนี้จะอยู่บนเนินเขาที่เห็นวิวสวยๆ
บ้านพักและลานกางเต็นท์
พื้นที่ก่อกองไฟ
สถานที่ท่องเที่ยวอช.ดอยขุนตาล พื้นที่ของอุทยานมีที่เที่ยวเยอะ แต่ต้องเดินไปตามเส้นทางมีระยะทางต่างกันไป แต่ละจุดก็เรียกว่า ย.1 ย.2 ย.3 และย.4 วันนี้มาคนเดียวเลยไม่มีเพื่อนไปเดินกางเต็นท์ที่ ย.4 ไว้มีโอกาสค่อยมาใหม่
บรรยากาศรอบบริเวณมีอุโมงค์รถไฟจำลองสำหรับเดินลอดถ่ายรูป มีจุดชมวิวให้ทั้งลานกางเต็นท์ด้านบนและที่ใกล้ๆ ที่ทำการอุทยาน
เส้นแบ่งลำปาง-ลำพูน หน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีถนนตัดผ่าน ใช้เส้นกึ่งกลางของถนน เป็นเส้นแบ่งเขตสองจังหวัด คือลำปาง และลำพูน อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล จะบอกว่าอยู่ลำปางก็ได้ อยู่ลำพูนก็ได้ แต่ส่วนมากดูที่ทำการอุทยานว่าตั้งอยู่ในเชตจังหวัดอะไร ซึ่งก็คือลำพูนนั่นเอง
สถานีรถไฟขุนตาน ไฮไลท์ของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาลก็คืออุโมงค์ขุนตาน สถานที่ที่ทำให้เราสับสนเรื่องภาษาไทย เพราะบางทีเราก็สะกดคำว่า ขุนตาล ของทั้งอุทยานฯ และของอุโมงค์ เหมือนๆ กัน ใช้ ล.ลิง แต่บางทีเราก็ใช้ น.หนู ทั้งสองที่เหมือนกัน สรุปว่า มันไม่เหมือนกันนะครับ สังเกตุให้ดี สถานีรถไฟขุนดาน อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ประมาณ 1.5 กิโลเมตร สามารถเดินเท้าขึ้นไปได้ หลายคนมาเที่ยวด้วยรถไฟ ลงสถานีนี้แล้วเดินขึ้นไปถ่ายเส้นแบ่งจังหวัด แล้วก็กลับลงมานั่งรถไฟกลับบ้าน หรือไปเที่ยวกันต่อ
สถานีรถไฟขุนตาน พอลงรถไฟแล้วจะมีบันไดทางเดินขึ้นไปอุทยานภาพบนซ้าย ส่วนภาพบนขวาคือหลุมศพของวิศกรผู้ออกแบบอุโมงค์ขุนตาน เป็นชาวต่างชาติ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ (ชาวเยอรมัน) ทำให้เรามีอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ส่วนภาพล่าง 2 ภาพ เป็นบ่อน้ำ 2 บ่อ แต่ละบ่อถูกขุดขึ้นมาอยู่คนละฝั่งของเส้นแบ่งจังหวัดลำปาง และลำพูน
ศาลเจ้าพ่อขุนตาน เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างไว้ตรงปากอุโมงค์ขุนตาน ตามประวัติในพงศาวดารโยนก กล่าวไว้ว่า "ในปี จ.ศ.624 พระยาเม็งรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นและทรงเห็นว่าล้านนาไทยนี้แยกเป็นหลายวงศ์ ควรรวบรวมเป็นแผ่นดินเดียวกันเสีย ดำริแล้วจึงยกทัพไปตีเมืองมอบไร เมืองฝาง เมืองเชียงของ และเมืองเซิง ต่อมาจะตีเมืองหริภุญชัย เพราะทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่คับคั่งเมืองหนึ่ง แต่ขุนนางของพระยาเม็งราย ชื่อ ขุนฟ้า ได้คัดค้านว่าคงจะเป็นการยาก เพราะกำลังข้าศึกของเมืองหริภุญชัยนั้นแข็งนัก ควรใช้อุบายยุยงให้แตกกันเสียก่อน จึงจะสามารถเข้าตีชิงเมืองได้โดยง่าย ครั้งแล้วพระยาเม็งรายจึงทำอุบายเนรเทศขุนฟ้าให้ออกจากเมืองฐานขบถ ขุนฟ้าจึงได้ไปขอรับราชการอยู่กับพระยายีบา เจ้าเมืองหริภุญชัย นานถึง 7 ปี และได้ทำอุบายต่างๆ ให้พระยายีบากดขึ่ราษฎรจนชาวเมืองพากันเกลียดชังพระยายีบา ครั้นแล้วพระยาเม็งรายก็ยกทัพไปตีเมืองหริภุญชัยได้โดยง่ายในปี จ.ศ. 643 ส่วนพระยายีบาก็หนีมาอยู่กับพระยาเบิก เจ้าเมืองเขลางค์ ผู้เป็นโอรส โดยที่พระยาเบิกได้หาหนทางที่จะตีชิงเมืองหริภุญชัยคืนให้กับพระบิดาอยู่ตลอดมา จนเวลาล่วงมาได้ 14 ปี พระยาเบิกทรงช้างชื่อ ปานแสนพล ยกทัพไปหมายจะตีชิงเมืองหริภุญชัย ส่วนพระยาเม็งรายรู้ข่าว ก็ได้ให้เจ้าขุนสงคราม ผู้เป็นโอรส ทรงช้างชื่อแก้วไชยมงคลออกรับศึก ทั้งสองได้ทำยุทธหัตถีกันที่บ้าน ขัวมุงขุนช้าง พระยาเบิกขึ่ช้างพลายปานแสนพล ติดน้ำมันหน้าหลังไสเข้าชนกับช้างที่นั่งของเจ้าขุนสงคราม ได้ล่างแทงถูกพระยาเบิก พระยาเบิกก็เกี่ยวช้างแล่นหนี ฝ่ายกองทัพของพระยาเบิกมีมากก็ช่วยป้องกันช้างพระที่นั่งออกมาได้ แต่ภายหลังเจ้าขุนสงครามได้รวมทัพเป็นกองใหญ่ และยกทัพติดตามจนกระทั่งมาทันพระยาเบิกที่เขตแม่ตาน ชายแดนหริภุญชัยกับเมืองเขลางค์นคร ทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งกันอีกจนเป็นที่สุดความสามารถ เจ้าขุนสงครามจับกุมตัวพระยาเบิกได้จึงปลงพระชนม์ในที่นั้น และเมื่อเหล่าทหารชาวเขลางค์นครทราบข่าว ก็พยายามเข้าชิงพระศพของพระยาเบิก หมายจะนำกลับไปประกอบพิธีให้สมพระเกียรติ หากแต่ฝ่ายทหารของเจ้าขุนสงครามติดตามมาอย่างกระชั้นชิด เมื่อเข้าเขตเมืองเขลางค์จังได้ทำการฝังพระศพของพระยาเบิกชั่วคราว ที่ชายป่าริมฝั่งแม่น้ำแม่ตาน...ฯ"
ด้วยจิตอันกล้าหาญและเต็มเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวทิตาของพระยาเบิกในครั้งนั้น จึงทำให้เป็นที่เลื่องลือและนับถือของผู้ที่ทราบข่าว และในภายหลังต่อมาจึงได้รับการขนานนามว่า เจ้าพ่อขุนตาน ตามชื่อสถานที่ๆ พระองค์เสียชีวิต
อุโมงค์ขุนตาน อุโมงค์ขุนตาน เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย จากจำนวนทั้งสิ้น 7 อุโมงค์ มีความยาวถึง 1,352.15 เมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน ระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2450 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2461 โดยการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม ที่มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยาการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินเป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทั้งหมด ใช้เวลาสร้างทั้งหมด 11 ปี ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1,362,050 บาท อุโมงค์ขุนตาน มีขนาดกว้าง 5.20 เมตร สูง 5.50 เมตร และยาว 1,352.15 เมตร เป็นอุโมงค์ชนิดคอนกรีตเสริมเหล็กตลอดแนว อุโมงค์ด้านเหนือสูงกว่าด้านใต้ประมาณ 14 เมตร ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/อุโมงค์ขุนตาน
อุโมงค์ขุนตาน ไหนๆ ก็มาแล้ว ต้องมาเก็บภาพช่วงรถไฟลอดอุโมงค์ สถานีรถไฟขุนตานจะมีรถไฟผ่าน 9 ขบวน มาจากกรุงเทพฯ 4 มาจากเชียงใหม่ 5 ถ้าอยากได้ภาพหัวรถไฟลอดออกมาจากอุโมงค์แบบนี้ ต้องมารอรถเที่ยวล่อง จากเชียงใหม่ ถ้ามาจากกรุงเทพฯ เราจะได้ท้ายขบวนแทน ตารางเวลารถไฟเที่ยวล่องจากเชียงใหม่ มาขุนตาน
1 เลขขบวน 102 ออกจากเชียงใหม่ 5.45 ถึงขุนตาล 7.13
2 เลขขบวน 408 ออกจากเชียงใหม่ 9.20 ถึงขุนตาล 10.38
3 เลขขบวน 14* ออกจากเชียงใหม่ 16.00 ถึงขุนตาล 17.21
4 เลขขบวน 2* ออกจากเชียงใหม่ 17.00 ถึงขุนตาล 18.21
5 เลขขบวน 52 ออกจากเชียงใหม่ 17.30 ถึงขุนตาล 18.51
สถานีรถไฟขุนตาน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ