www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ลำพูน >> วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน คือ ถนนอัฎฐารสทางทิศเหนือ ถนนชัยมงคลทางทิศใต้ ถนนรอบเมืองทางทิศตะวันออก และถนนอินทยงยศทางทิศตะวันตก ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 150 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีระกา

 ความเชื่อและวิธีการบูชา ตามคติการบูชาพระธาตุประจำปีเกิดของภาคเหนือนั้นเชื่อว่า หากเกิดปีระกาถ้าได้มาสักการะบูชาแล้ว ชีวิตจะประสบความสำเร็จในสิ่งทั้งปวงดังความปรารถนา สำหรับบุคคลทั่วไปนั้นถ้าได้มาบูชาพระธาตุนั้นแล้วจะช่วยส่งเสริมให้ชีวิตมีความสำเร็จรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน

งานนมัสการและสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา

เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 06.00 - 18.00 น.

ชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชม 20 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. 0 5351 1104 โทรสาร 0 5353 0753 หรือ www.hariphunchaitemple.org

ข้อมูลเพิ่มเติม:การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลำปาง โทร. 054-222-214
https://www.facebook.com/lampang.tourism/

แก้ไขล่าสุด 2017-10-13 23:09:57 ผู้ชม 23477

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
หน้าประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย

หน้าประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย จากถนนไฮเวย์ลำปาง - เชียงใหม่ หลายต่อหลายครั้งที่จะแวะเข้าไปสักการะพระธาตุลำปางหลวง เวลาผ่านเนิ่นนานมาหลายปี คราวนี้ขอตั้งใจแวะเข้ามาสักการะพระธาตุหริภุญชัย แห่งจังหวัดลำพูนดูบ้าง เป็นจังหวัดพี่จังหวัดน้องกับลำปางแต่ส่วนใหญ่จะผ่านเข้าเชียงใหม่ตลอด ไม่ได้แวะเข้ามาเสียที ปีใหม่ 2555 ก็เลยเข้ามาเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ลานจอดรถวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อยู่ตรงหน้าวัด แต่ถ้ามาในช่วงเทศกาลก็เป็นไปได้ว่าทั้งด้านหน้าและด้านใน ลานจอดรถจะเต็มทั้งหมด ก็ต้องจอดเรียงราบบาวต่อไปบนถนนหน้าวัด แล้วเดินย้อนกลับมาที่ประตูทางเข้า

ซุ้มประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย

ซุ้มประตูวัดพระธาตุหริภุญชัย ก่อนเข้าไปในบริเวณวัด จะผ่านซุ้มประตูฝีมือโบราณสมัยศรีวิชัย ก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตรพิสดาร ประกอบด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ หน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่คู่หนึ่งยืนเป็นสง่าบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร สิงห์คู่นี้ปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชเมื่อทรงถวายวังให้เป็นสังฆาราม

วิหารหลวง

วิหารหลวง เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้ว จะเห็นวิหารหลังใหญ่เรียกว่า "วิหารหลวง" เป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้าน มีมุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่แทนวิหารหลังเก่า ซึ่งถูกพายุพัดพังทลายไปเมื่อ พ.ศ. 2458 ขนาดของวิหารหลวงใหญ่มาก ประชาชนที่มาที่วัดนี้ส่วนใหญ่ก็จะเข้าสักการะนมัสการ พระพุทธรูปองค์ประธานในวิหารหลวงให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงไปสักการะองค์พระธาตุหริภุญชัยที่อยู่ทางด้านหลังของวิหารหลวง

พระประธานวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย

พระประธานวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย วิหารหลวงใช้เป็นที่บำเพ็ญกุศล และประกอบศาสนกิจทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาใหญ่ 3 องค์ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองบนแท่นแก้วและมีพระพุทธปฏิมาโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์

พระธาตุหริภุญชัย

พระธาตุหริภุญชัย หลังจากสักการะองค์พระปฏิมาประธานในวิหารหลวงแล้วคราวนี้ก็มาสักการะ เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ ประจวบกับวันปีใหม่ ทางวัดมีการจัดงานประเพณีห่มผ้าองค์พระธาตุหริภุญชัยพอดี นับเป็นโชคอันดีแก่สมาชิกในทริปนี้ ซึ่งมีคนเกิดปีระกาถึง 2 คน นับเป็นสิริมงคลอย่างสูงยิ่งของสมาชิก 2 คนนั้น

พระบรมธาตุหริภุญชัย

พระบรมธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่หลังวิหารหลวง ประดิษฐานพระเกศธาตุบรรจุในโกศทองคำ เจดีย์ประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ต่อจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม เจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสัตถบัญชร (ระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น สำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม หอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ บรรจุพระพุทธรูปนั่งทุกหอ นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระบรมธาตุนี้นับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการ และสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1440 พระเจ้าอาทิตยราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูนได้สร้างมณฑปครอบโกศทองคำ บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในและมีการสร้างเสริมกันต่อมาอีกหลายสมัย

    ต่อมาใน พ.ศ. 1986 พระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ปฏิสังขรณ์บูรณะเสริมองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบลังกา ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทั้งนี้เพราะในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับลังกา ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระเจ้าอาทิตยราชเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อุบัติขึ้นในเขตพระราชวง แรกสร้างเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ต่อมในสมัยพระเจ้าสววาธิสิทธิ แห่งอาณาจักรหริภุญไชย ได้ทรงก่อพอกองค์พระธาตุให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมไว้ ครั้งพระยามังรายตีเมืองหริภุญไชยได้ในพุทธศตวรรษที่ 19 ได้ทรงก่อเจดีย์ทรงกลมครอบทับองค์เจดีย์เดิมไว้

    ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์โดยบูรพกษัตริย์ล้านนาสืบเนื่องมาอีกหลายพระองค์ ส่วนรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นผลจากการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช ในปลายพุทธศตวรรษที่ 20 โดยผสมผสานเจดีย์ทรงระฆังแบบพุกามและเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ได้รับการยอมรับว่ามีรูปแบบที่สง่างามและส่งอิทธิพลให้แก่การสร้างเจดีย์ประธานในวัดต่างๆ จำนวนมาก พระธาตุหริภุญชัย เป็นปฐมเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในอาณาจักรหริภุญไชยและได้รับการเคารพสักการะจากพุทธศาสนิกชนและบุรพกษัตริย์ สืบมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 900 ปี ถือเป็น 1 ใน 8 จอมเจดีย์ของไทย และยังเป็น 1 ในสัตตมหาสถาน ที่พระมหากษัตริย์เมื่อแรกเสวยราชย์จะต้องแต่งเครื่องสักการบูชาถวายตามโบราณราชประเพณี

วิหารด้านทิศใต้

วิหารด้านทิศใต้ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่อยู่ภายใน ตามลักษณะการสร้างวัดและเสนาสนะในภาคเหนือ หลายๆ วัดจะได้เห็นวิหารทิศรายล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ อย่างเช่น วัดพระธาตุลำปางหลวง จะมีวิหารพระพุทธอยู่ตำแหน่งเดียวกันนี้เหมือนกัน

พระประธานในวิหาร

พระประธานในวิหาร เพื่อความเป็นสิริมงคลเราก็เข้ามาสักการะองค์พระพุทธรูปในวิหารหลังเล็กข้างองค์พระบรมธาตุด้วยเหมือนกัน

หอธรรม

หอธรรม ตั้งอยู่ข้างวิหารหลวง มีขนาดเล็กสร้างฐานสูงขึ้นไปมีลักษณะสวยงามโดดเด่นตั้งแต่เดินเข้าไปในซุ้มประตูของวัด หอธรรมหรือหอพระไตรปิฎกนี้มีประวัติการก่อสร้างปรากฏตามหลักฐานศิลาจารึกพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร (ลพ.15) ว่าสร้างโดยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ และพระราชมารดาใน พ.ศ.2053 โดยในครั้งนั้นได้โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกและพระพุทธรูปทองคำมาประดิษฐานในหอธรรมที่สร้างขึ้นด้วย ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นอาคาร 2 ชั้น หันหน้าไปทางทิศตะวันตกแผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกเก็จ 2 ชั้น ทั้งด้านหน้าและด้านหลังอาคารชั้นล่างก่ออิฐถือปูน มีบันไดทางขึ้นทอดยาวขึ้นไปสู่อาคารชั้นบน ซึ่งเป็นเครื่องไม้ ตกแต่งไม้โครงสร้างด้วยการแกะสลักลายพันธุ์พฤกษาปิดทองล่องชาด ผนังอาคารตกแต่งด้วยลายฉลุไม้ปิดทองล่องชาดประดับกระจก หลังคามุงด้วยกระเบื้องโลหะ

รอบๆ วิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย

รอบๆ วิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัย จากทางด้านซ้ายมือของเราคราวนี้ลองเดินอ้อมด้านหน้าวิหารหลวงมาทางด้านขวามือของเราดูบ้างครับ จะเห็นหอกลอง หอระฆัง สูงใหญ่ มีสีแดงเข้ม เดินตรงเข้าไปทางด้านขวามือขององค์พระธาตุจะเห็น พระสุวรรณเจดีย์ หรือ ปทุมวดีเจดีย์ ตั้งอยู่ทางขวาของพระบรมธาตุ สร้างขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระนางปทุมวดี อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ภายหลังจากสร้างพระบรมธาตุเสร็จได้ 4 ปี พระสุวรรณเจดีย์องค์นี้เป็นทรงปรางค์ 4 เหลี่ยม ฝีมือช่างละโว้ มีพระพุทธรูปประจำซุ้ม ฝีมือแบบขอมปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง ยอดพระเจดีย์มีทองเหลืองหุ้มอยู่ ภายใต้ฐานล่างเป็นกรุบรรจุพระเครื่อง พระสุวรรณเจดีย์ หรือ ปทุมวดีเจดีย์ อยู่หลังวิหารพระเจ้าละโว้ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระบรมธาตุหริภุญชัยตัววิหารสร้างขึ้นใหม่ ภายใน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ เรียกว่า "พระเจ้าละโว้" ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้สร้างโดยพระเจ้ากาวิละ และเครือญาติ ในปีพ.ศ.2334 จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเฉพาะในวันสำคัญ นอกจากนี้ ถัดไปด้านหลังของวิหารพระเจ้าละโว้ ยังมีวิหารข้างเคียง ชื่อว่า "วิหารพระพันตน" ซึ่งภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมาก

วิหารพระเจ้าแดง

วิหารพระเจ้าแดง ถัดจากพระสุวรรณเจดีย์ หรือ ปทุมวดีเจดีย์ เดินตรงเข้ามาอีกหน่อยตรงมุมระเบียงคด จะมีวิหารพระเจ้าแดง (การเรียกองค์พระพุทธรูปทางภาคเหนือ เรียกว่า พระเจ้า คล้ายกับที่เราจะเรียกว่า หลวงพ่อ) วิหารพระเจ้าแดงเป็นที่พระดิษฐานพระพุทธรูปองค์สีแดงทั้งองค์ เดี๋ยวเข้าไปชมภายในวิหารและสักการะพระเจ้าแดงกันครับ

พระเจ้าแดง

พระเจ้าแดง วิหารพระเจ้ากลักเกลือ หรืออีกชื่อหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมเรียกคือ วิหารพระเจ้าแดง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ วิหารพระเจ้าทันใจ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ทาสีผ้าห่มคลุมด้วยสีแดง เป็นที่แปลกตา ชาวบ้านจึงนิยมเรียกกันว่า "พระเจ้าแดง" สันนิษฐานว่า พระกลักเกลือองค์นี้คงจะสร้างขึ้นมาทดแทนองค์เดิมที่พังทลายลง

    ประวัติโดขสังเชปวิหารพระเจ้าแดง บูรณะเมื่อพุทธศักราช 2536 โดยนายช่างขุดลึก 2 เมตรครึ่งเพื่อทำฐานเสา พบหินศิลาแลง ก้อนละ 1 ตรม. ทั่วพื้นที่และพบพระเกศา (ก้นหอย) กว้าง 6 นิ้ว เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เหตุที่วิหารพระเจ้าแดงมีหลายชื่อ ได้แก่ พระเจ้าแดง, พระเจ้าเผ้อเล้อ, พระเจ้ากลักเกลือ เป็นต้น สันนิษฐานว่าสมัยก่อนไม่มีสีไล้ทาพระพุทธรูป คนโบราณนำก้อนอิญมาบดให้ละเอียด แล้วแช่น้ำ จากนั้นนำสีแดงที่เกิดจากก้อนอิฐ มาไล้ทาพระพุทธรูป เพราะฉะนั้น จีวรของพระพุทธรูปองค์นี้จึงมีสีแดง คำว่า "เผ้อเล้อ" เป็นภาษาเมืองเหนือขยาย "แดง" (มีสีแดงมาก) คำว่า "กลักเกลือ", บอกเกลือ ในครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์ได้เสด็จมาในถิ่นนี้มีชาวบ้านป่าคนหนึ่งนำผล "สมอ" (ภาษาไทยเรียกว่า สมอไทย ภาษาเมืองเหนือเรียกว่า ผลหมากนะ หรือผลบ่นะ) มาถวายพระองค์พร้อมด้วยกลักเกลือ (กระบอกเกลือ) จุดนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร

พระพุทธรูปปางฉันสมอ

พระพุทธรูปปางฉันสมอ เป็นพุทธรูปลักษณะคล้ายปางมาวิชัย ต่างกันที่พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบอกเกลือ พระหัตถ์ขวาทรงถือผลสมอ แยกตามภาษาบาลีว่า หริ แปลว่าผลสมอ, ภุญช แปลว่า เสวย, ย แปลว่า ผู้ประพฤติ รวมความว่า ผู้เสวยผลสมอ จากเหตุผลดังกล่าว สัญลักษณ์ของวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร คือ พระพุทธรูปปางฉันสมอ

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน ประดิษฐานอยู่ในวิหารตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุหริภุญชัย โดยอยู่นอกเขตพุทธาวาสออกมา ด้านข้างของซุ้มประตูสิงห์ เปิดให้เข้านมัสการทุกวัน หากผู้ใดเข้าวัดทางฝั่งถนนประตูท่าสิงห์ หรือฝั่งตะวันออกจะพบกับ วิหารนี้ เป็นสิ่งแรก แต่ที่นำมาเขียนปิดท้ายเพราะเราเข้าสักการะนมัสการพระพุทธรูปในวิหารนี้เป็นลำดับท้ายสุดก่อนที่จะขึ้นรถออกเดินทางกันต่อ...

รีวิว วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน


 "ประเพณียี่เป็งเมืองหละปูน 60 จุดโคมยี่เป็ง 30000 ดวง สวยมักๆ"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-11-01 17:26:28

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน


 "บรรยากาศของวัดพระธาตุหริภุญชัย
ภาพ ig nong_hnam"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-10-18 10:38:30

วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน


5/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน
Lamphun Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมอีซี่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
จามาเดวี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
พญา อินน์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านทุ่งโฮมสเตย์ ลำพูน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบ้านหละปูน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมลำพูน วิลล์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลำพูน เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ แกรนด์จามจุรี รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านก๋งโฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ลำพูน
หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าฝ้ายเวียงยอง ขัวมุงท่าสิงห์
  0.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน
  0.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์ชุมชนเมืองลำพูน
  0.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ลำพูน
  0.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาวัน ลำพูน
  1.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระคงฤาษี ลำพูน
  1.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสันป่ายางหลวง จังหวัดลำพูน
  1.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระยืน (พฤทธมหาสถาน) ลำพูน
  1.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดจามเทวี ลำพูน
  2.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
กู่ช้าง-กู่ม้า ลำพูน
  2.37 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com