www.touronthai.com

หน้าหลัก >> แพร่ >> ถ้ำผานางคอย

ถ้ำผานางคอย

 ถ้ำผานางคอยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแพร่ - ร้องกวาง (ทางหลวงหมายเลข 101) ถึงกิโลเมตรที่ 58 - 59 เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 800 เมตร ถึงหน้าถ้ำผานางคอย ตัวถ้ำอยู่บนหน้าผาสูง 50 เมตร เป็นอุโมงค์ลึกยาว 150 เมตร กว้าง 10 เมตร ลักษณะของถ้ำโค้งงอเป็นข้อศอกไปทางซ้าย และทางขวาเป็น 3 ตอนด้วยกัน ภายในถ้ำมีหินงอก หินย้อยลักษณะต่างๆ ทั้งที่เป็นเกล็ดหินประกายระยิบระยับ หรือเป็นชะง่อนหินยาวถึงพื้นถ้ำ สุดทางของถ้ำมีก้อนหินรูปร่างคล้ายหญิงสาวนั่งอุ้มลูกน้อยรอคอยคนรัก ชาวบ้านเรียกหินก้อนนี้ว่า หินนางคอย ตามตำนานพื้นบ้านของถ้ำแห่งนี้ เบื้องหน้าของหินนางคอยมีหินย้อย ลักษณะคล้ายรูปหัวใจดูแปลกตาสวยงาม นอกจากนี้ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของชาวแพร่

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5567 1466
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 19447

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางสู่ถ้ำผานางคอย

การเดินทางสู่ถ้ำผานางคอย จากตัวอำเภอร้องกวางไปตามทางหลวงหมายเลข 101 (ทางไปจังหวัดน่าน) ประมาณ 4.5 กิโลเมตร มีทางแยกกับป้ายบอกทางไปถ้ำผานางคอย เลี้ยวเข้าไปอีกไม่ไกลก็ถึงลานจอดรถ เป็นจุดที่เราจะต้องจอดรถไว้ที่นี่แล้วเดินเท้าต่ออีกไม่กี่ร้อยเมตร บริเวณนี้จะมีวัดถ้ำผานางคอย มีป้ายบอกว่าทางเดินขึ้นไปยังถ้ำผานางคอยได้ทั้ง 2 ทาง ทางแรกเข้าตรงกรงสัตว์ อีกทางให้ไปข้างซุ้มประตูวัด ผมเห็นทางเดินที่กรงสัตว์ (เลี้ยงไว้ให้ชม อย่างเช่น แกะ และนกยูง) มันอยู่สูงกว่า ถ้าจะไปทางซุ้มประตูวัด จะต้องเดินลงเนินไป แล้วค่อยขึ้นบันได ผมกะว่าถ้าเดินจากจุดแรกจะเดินสั้นกว่า เพราะถ้าลงเนินไปที่ประตูวัดแล้วเดินขึ้นเขาน่าจะสูงกว่า แต่ทั้งสองทางระยะทางไม่ต่างกันมากและไปบรรจบกันที่หน้าปากทางเข้าถ้ำผานางคอย ทางเดินขึ้นบันไดทำเอาเหนื่อยนิดหน่อย แต่พอขึ้นไปแล้วอากาศเย็น มองเห็นป่าเชิงเขาเป็นแนวกว้างสบายตามาก

การเดินทางขึ้นถ้ำผานางคอยยังมีอีกเส้นทางหนึ่งเป็นทางขึ้นด้านหลังของถ้ำ สามารถนำรถขึ้นไปได้ ด้านหลังของถ้ำมีโพรงทางเข้าถ้ำซึ่งจะไปเข้าตรงหินนางคอยได้เลย แต่เส้นทางการเดินชมถ้ำก็จะมาทะลุที่โพรงด้านหน้าแล้วก็ต้องเดิกลับไปที่รถ ส่วนจะเลือกทางไหนก็แล้วแต่ความสะดวก ส่วนมากทางด้านหลังถ้ำจะเหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ

ปากถ้ำผานางคอย

ปากถ้ำผานางคอย ไม่กี่นาทีก็เดินมาถึงที่ปากถ้ำ บริเวณนี้มีแอ่งน้ำ และกล่องสำหรับบริจาคเพราะการเข้ามาชมถ้ำไม่มีการเก็บค่าเข้า ผมก็เลยเอาเงินใส่กล่องบ้างเป็นค่าไฟ พอมองเข้าไปในถ้ำเราจะเห็นไฟส่องสว่างเป็นไฟแสงสีที่ดูสวยงามผิดจากถ้ำอื่นๆ ในเมืองไทย เดิมทีเดียวในถ้ำจะเปิดไฟนีออนหลอดสีขาวธรรมดา จนเมื่อปี 2550 อดีตนายอำเภอร้องกวางได้เปลี่ยนระบบไฟฟ้าใหม่เป็นไฟสปอตไลท์สีแดง เหลือง น้ำเงิน หลายคนบอกว่าทำลายธรรมชาติถ้ำบ้าง หลายคนบอกว่าสวยดีบ้าง คนอายุมากบอกว่าเดินลำบากกว่าไฟนีออน อันนี้ก็แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน แต่ที่จริงถ้ำผานางคอยมีระบบการจัดการที่ดี มีผู้ดูแลที่เอาใจใส่งานบริการนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ก่อนที่ผมจะเดินขึ้นเขา หลอดไฟทั้งหมดปิดอยู่ พอผมจอดรถแล้วเริ่มเดินเท้า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลถ้ำจะเดินไปเปิดไฟ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความร้อนจากแสงไฟส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของหินงอกหินย้อย ถ้าเดินมาถึงปากถ้ำแล้วไฟมืดหมด ให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ จะมีเบอร์โทรติดอยู่หน้าถ้ำ

ก่อนที่จะเข้าไปในถ้ำควรทำความเข้าใจว่า ในถ้ำผานางคอยมีสายไฟฟ้าและหลอดไฟอยู่หลายจุดเดินสายภายในถ้ำโดยทำให้กลมกลืนกับธรรมชาติของหินงอกหินย้อย บางจุดมีการเดินสายไฟใกล้ลำธารในถ้ำ ไม่ควรเดินเข้าใกล้บริเวณที่มีแหล่งน้ำหรือลงน้ำเป็นอันขาด จุดที่มีแอ่งน้ำขังหรือธารน้ำจะมีป้ายบอกทุกจุดเรื่องห้ามลงน้ำ พื้นถ้ำส่วนใหญ่ก็จะเป็นสะพานทางเดินเหนือพื้นถ้ำที่เปียกชื้น ถ้าสนใจเรื่องตำนานของถ้ำผานางคอยจะมีประวัติติดไว้ที่ปากถ้ำ ถ้าอ่านสักหน่อยก่อนจะเดินเข้าไป เราจะเข้าใจจุดหินงอกหินย้อยสวยๆ ในถ้ำได้มากขึ้น เพราะเป็นเรื่องราวที่บรรยายถึงการมาพำนักอาศัยถ้ำของพระนาง

ก้าวแรกในถ้ำผานางคอย

ก้าวแรกในถ้ำผานางคอย ความสวยงามที่เราเห็นไฟแสงสีลอดออกมา ตั้งแต่ตอนที่อยู่นอกถ้ำ ยอมรับว่าประหลาดใจเพราะไม่ค่อยจะมีถ้ำไหนประดับไฟสวยๆ รอแบบนี้ ผมเตรียมเอาไฟฉายกับเทียนติดตัวมาด้วยเพราะคิดว่าในถ้ำจะดูมืดๆ ถ่ายรูปยากๆ เหมือนถ้ำอื่นๆ เจอแบบนี้ก็เบาใจครับ งานนี้หามุมกับวัดแสงแม่นๆ ก็น่าจะได้รูปสวยๆ มาแบบไม่ยาก

หินย้อยจุดแรก

หินย้อยจุดแรก เริ่มตั้งแต่จุดแรก จะมีการตั้งชื่อหินงอกหินย้อย จุดต่างๆ อย่างคล้องจองกัน และสอดคล้องกับตำนานเรื่องพระนางอรัญญาณีคอยชายคนรัก น่าเสียดายที่ผมเองก็จำชื่อหินงอกหินย้อยเหล่านี้ไม่ได้ แต่ก็ยังคงจำความหมายของการตั้งชื่อได้ อย่างจุดแรกนี้จะเป็นหินย้อยจากเพดานถ้ำที่มีลักษณะเป็นโพรงสูงขึ้นไป ถ้ามองจากปากถ้ำเข้ามาจะไม่เห็นหินย้อยที่จุดนี้ เพราะเพดานถ้ำได้บังเอาไว้หมด เป็นรื่องราวของเทพยดาที่บันดาลให้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่พักพิงของเจ้าหญิงในระหว่างการหลบหนีเหล่าทหาร และพรางพระนางจนไม่มีใครหาเจอ

ทางเดินในถ้ำ

ทางเดินในถ้ำ พอเดินเข้ามาได้ประมาณ 50 เมตร จะเริ่มเห็นทางเดินที่สร้างเป็นสะพานไม้ ข้างล่างเป็นพื้นหินที่ลื่นในบางช่วงและบางช่วงมีน้ำไหลผ่าน โดยเฉพาะหน้าฝนจะมีน้ำค่อนข้างสูง ในถ้ำผานางคอยที่มีสายไฟทอดยาวอยู่ทั้งที่พื้น ผนัง และเพดานถ้ำ ก็ขอบอกเลยว่าเดินบนสะพานไม้นี้จะปลอดภัยที่สุด สิ่งที่ตระการตากว่าอื่นใดก็คือระบบการจัดวางตำแหน่งและสีของไฟ ทำให้การเดินถ้ำในวันนี้ไม่เหมือนถ้ำหินตามธรรมชาติสักเท่าไหร่ เหมือนเดินอยู่ในอีกมิติหนึ่งมากกว่า

อ่างสรงน้ำนางคอย

อ่างสรงน้ำนางคอย นับเป็นจุดที่สอง บริเวณนี้มีแสงสีตระการตาเป็นพิเศษ หินย้อยที่เกิดจากการทรุดตัวของผนังถ้ำ เกิดเป็นแอ่งเล็กๆ เรียงกันหลายชั้น ในฤดูฝนจะมีน้ำขังในแอ่งจะยิ่งสวยงามกว่านี้ ตามตำนานเล่าว่าเมื่อพระนางเดินทางมาถึงถ้ำแห่งนี้เทพเทวดาบันดาลให้ผนังถ้ำตรงนี้ทรุดลงเป็นแอ่งน้ำ เพื่อให้พระนางได้ลงสรงน้ำก่อนที่จะเดินเข้าไปหาที่ปลอดภัยในถ้ำเพื่อรอคนรัก ก่อนที่ผมจะเล่าไปถึงส่วนอื่นๆ ของถ้ำ เดี๋ยวคนอ่านจะจินตนาการตามไม่ทัน เอาประวัติตำนานถ้ำผานางคอยมาให้อ่านกันก่อนครับ

ถ้ำผานางคอย เป็นถ้ำที่มีอยู่ก่อนมานานแล้ว แต่ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาและไม่ได้มีการบูรณะ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 นายชลอ ธรรมศิริ (อดีตนายอำเภอร้องกวาง) ได้บูรณะให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และได้ร่วมกับสำนักวิปัสสนา วัดศรีบุญเรือง จังหวัดแพร่ ค้นคว้าประวัติความเป็นมาและได้ริเริ่มจัดงานประจำปีขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าชมความงามของถ้ำโดยกำหนดเอาวันที่ 13-20 เมษายน ของทุกปีมาจนปัจจุบัน

ตำนานถ้ำผานางคอย
เมื่อ 800 ปีล่วงมาแล้ว อาณาจักรแสนหวีมีกษัตริย์องค์หนึ่ง ปกครองด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์มีราชธิดาทรงเลอโฉม นามว่า อรัญญาณี พระนางทรงมีพระทัยโอบอ้อมอารีย์ ในคราวหนึ่งพระนางทรงสำราญทางชลมารคพร้อมด้วยข้าราชบริพาร เรือพระที่นั่งถูกพายุพัดพระหน่ำจมลง พวกข้าราชบริพารพากันเอาตัวรอดตามลำพัง เว้นแต่คนองเดช หัวหน้าฝีพายหนุ่มได้เข้าช่วยพระนางไว้ทันและพาพระนางขึ้นฝั่งโดยปลอดภัย ด้วยความใกล้ชิดและสำนึกในบุญคุณ ความจงรักภักดีที่ช่วยพยุงฝ่าอันตราย จึงเกิดเป็นความรักอมตะในดวงใจระหว่างข้ากับเจ้า ไม่ว่าบุรุษสตรีใดในพิภพนี้ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงซึ่งโลกีย์วิสัยไปได้ พระนางได้ประพฤติล่วงราชประเพณีผิดกฎมณเฑียรบาล จึงถูกลงโทษขณะทรงตั้งครรภ์ คนองเดชผู้ซื่อสัตย์ได้เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วยพระนางและหนีไปพร้อมกันมุ่งมาทางทิศใต้ ทหารหลวงออกติดตามมาพบและเล็งธนูหมายจะยิงคนองเดช แต่ลูกธนูพลาดไปถูกพระนางกลางพระอุระ จวบเป็นเวลาพลบค่ำ คะนองเดชจึงอุ้มเจ้าหญิงเข้ามายังถ้ำแห่งนี้ ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ พระนางได้บอกให้รีบหนีไปเสียก่อนที่ทหารจะตามมาพบ เจ้าหญิงได้พูดกับคะนองเดชว่า "หญิงจะรออยู่ที่นี่จนชั่วกัลปวสาน" ด้วยแรงอธิษฐาน ทำให้ร่างของนางกลายเป็นหิน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มือโอบพระโอรสไว้บนตัก เบื้องหน้าของพระนางมีหินย้อยรูปหัวใจอันขาวบริสุทธิ์ ประดับด้วยเพชรกลิ้งอยู่แวววาว อันเป็นสัญลักษณ์ของดวงใจอันใสสะอาดปรากฏอยู่ตราบจนทุกวันนี้

ถ้ำผานางคอย

อีกมุมหนึ่งของแอ่งสรงน้ำ ก่อนที่จะเดินเข้ามาได้เห็นภาพแอ่งนี้ตอนที่มีน้ำรู้สึกว่าสวยมากๆ จริงๆ ครับ แต่พอมาหน้าหนาวน้ำแห้งหมด แต่ก็ยังเห็นชั้นแอ่งหินย้อยที่สวยงาม

ป่าเขาลำเนาไพร

ป่าเขาลำเนาไพร ต่อจากอ่างสรงน้ำ ทางเดินจะเริ่มเลี้ยวไปทางซ้าย ความยิ่งใหญ่โอ่โถงโล่งกว้างของถ้ำแห่งนี้น่าทึ่งมาก ไม่นึกว่าจะมีถ้ำที่โถงใหญ่และมีความลึกยาวต่อเนื่องกันได้ขนาดนี้ จุดที่เห็นในภาพเป็นลักษณะหินย้อยที่เกิดตรงผนังและเพดานของถ้ำ ด้านขวาเป็นรูปร่างคล้ายกับวิวทิวทัศน์ของป่าเขาต้นไม้แน่นหนา ส่วนทางซ้ายเป็นลักษณะคล้ายน้ำตกที่สวยงาม ตามตำนานผูกเรื่องราวของถ้ำในจุดนี้ไว้ว่า เมื่อพระนางเดินเข้ามาคอยคนรักอยู่เป็นเวลานานก็เกรงว่าจะเบื่อหน่าย ความโศกเศร้าที่ต้องจากคนรัก เทวดาจึงบันดาลให้หินงอกหินย้อยตรงจุดนี้มีลักษณะเป็นเหมือนภาพวิวป่าเขาและน้ำตก ด้านล่างมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ คนดูแลเล่าให้ฟังว่าเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน มีคนเอาปลามาปล่อยในแอ่งน้ำ จนทุกวันนี้ปลาเหล่านั้นก็ยังคงมีชีวิตอยู่ แสดงให้เห็นว่าแอ่งน้ำในถ้ำผานางคอยไม่เคยเหือดแห้ง แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ปลาเหล่านั้นเป็นปลาธรรมชาติไม่ใช่ปลาที่เกิดในถ้ำ ที่นี่จึงไม่มีอาหารสำหรับมัน ก็เป็นภาระของคนดูแลถ้ำที่ต้องเอาอาหารปลามาเลี้ยงมันทุกวัน

ม่านหินย้อย

ม่านหินย้อย ถัดจากแอ่งน้ำเข้ามาอีกประมาณ 10 เมตร จะมาถึงม่านหินย้อยแห่งนี้ นับว่าเป็นหินย้อยที่มีความสวยงามและสูงที่สุดในถ้ำผานางคอยเลยก็ว่าได้ ที่มาของชื่อก็คือลักษณะที่เหมือนริ้วผ้าม่านผืนใหญ่นี่เอง จากจุดนี้เดินไปอีกไม่ไกลก็จะเป็นทางเลี้ยวไปซ้ายมืออีกครั้ง

อีกด้านหนึ่งของม่านหินย้อย

อีกด้านหนึ่งของม่านหินย้อย เดินต่อมาอีกหน่อยจากม่านหินย้อยด้านหน้า ที่มีแนวรั้วเล็กๆ เป็นเครื่องหมายว่าห้ามเดินเข้าไป ผมลืมบอกไปอีกแล้วว่า ถ้ำผานางคอยยังคงเป็นถ้ำเป็น คือยังไม่ตาย หินงอกหินย้อยเหล่านี้มีการเติบโตตลอดเวลา ถ้าเอามือไปจับเหงื่อที่มือจะทำปฏิกิริยากับหินย้อยจนตายไปคือไม่เติบโตต่อแล้วประกายเพชรบนหินงอกหินย้อยก็จะหายไปด้วย เก็บถ้ำสวยๆ เหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานอย่าเอามือไปจับหรือเหยียบหินงอกหินย้อยนะครับ

มรกตเพริศแพร้ววิจิตรา

มรกตเพริศแพร้ววิจิตรา ชื่อนี้เป็นชื่อเดียวที่ผมจำได้ อย่างที่บอกว่าเหล่าหินงอกหินย้อยในถ้ำผานางคอยจะมีชื่อที่ตั้งอย่างคล้องจองกันทั้งหมดตั้งแต่จุดแรกจนถึงจุดสุดท้าย มรกตเพริศแพร้ววิจิตรานั้นหมายถึงหินก้อนหนึ่งที่อยู่ตรงกลางทางแยก เป็นทางที่เราจะต้องเดินไปทางซ้าย ส่วนทางขวามีโพรงเดินต่อไปได้สั้นๆ ลักษณะเหมือนสามแยก หินก้อนนี้เปรียบเสมือนจุดที่ 3 โลกมาบรรจบกัน เดิมทีคงเปิดไฟส่องด้วยสีเขียว พอหลังจากนั้นดูเหมือนแสงสีแดงจะแรงกว่า ก็เลยไม่เห็นเป็นสีมรกต

ศึกษาถ้ำ

ศึกษาถ้ำ พอเลี้ยวมาได้นิดเดียวผมหันกลับไปมองหินที่อยู่กลาง 3 แยก พอดีเห็นเส้นสีดำๆ เรียงกันหลายเส้นบนผนังถ้ำ เส้นต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นถ้ำในอดีต หมายความว่าพื้นที่เราเหยียบอยู่นี้แต่เดิมมันเคยอยู่สูงกว่านี้เป็นเมตรเลยทีเดียว ในระหว่างการเปลี่ยนเส้นทางน้ำใต้ดินในบริเวณถ้ำ พื้นถ้ำได้ทรุดลง แต่ก่อนหินก้อนนี้ก็ยังมองไม่เห็น พอพื้นถ้ำยุบลงอย่างมากแล้วจึงมองเห็นหินที่หลงเหลือจากการกัดเซาะทางเคมีและกรดภายในถ้ำอยู่ตรงนี้นั่นเอง การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกตลอดเวลาหลายล้านปีที่ผ่านมา คงหลงเหลือให้เราศึกษาได้อย่างในถ้ำนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง นอกเหนือจากความสวยงามวิจิตรพิศดารในถ้ำ

โพรงฤๅษี

โพรงฤๅษี ตามตำนานแล้วกล่าวว่านอกเหนือจากเทพเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลนางคอย ก็ยังมีฤๅษีเหล่านี้ที่คอยให้การปกป้องคุ้มครองดูแลนางคอยด้วย โพรงฤๅษีนี้อยู่ตรงใกล้ๆ 3 แยกที่ผ่านมาด้านซ้ายมือ ตามประวัติไม่ได้บอกว่ามีรูปฤๅษีอยู่ในถ้ำแห่งนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ชาวบ้านก็มากราบไหว้กันเป็นประจำ

ทางเดินช่วงหนึ่งในถ้ำผานางคอย

ทางเดินช่วงหนึ่งในถ้ำผานางคอย ช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่เรียกว่าเพดานถ้ำต่ำกว่าช่วงอื่นๆ ตอนนี้เราก็เดินมาได้ประมาณ 100 เมตรแล้ว ในถ้ำยังคงสว่างไสวด้วยไฟแสงสีต่างๆ สร้างความสวยงามให้แก่ผูพบเห็นได้ถ่ายรูปเป็นระยะๆ เนินที่เราเห็นด้านขวามือน่าจะเป็นผนังหรือเพดานถ้ำทลายลงมาเป็นกองดิน แล้วหลังจากนั้นก็มีหินย้อยเกิดขึ้นปกคลุมผิวดินจนหมด ทางด้านซ้ายของภาพจะเห็นลำธารเล็กๆ ที่ยังคงไหลอยู่ในถ้ำ

หินนางคอย

หินนางคอย จากทางเดินรูปข้างบน เดินมาอีกหน่อยจะมีทางเลี้ยวขวา ระหว่างนั้นจะผ่านหินย้อยที่ตามตำนานเล่าว่าเป็นน้ำตาของนางคอย ด้วยความเศร้าเสียใจที่ต้องพรากจากคนรักการรอคอยที่ยาวนานอย่างไม่มีกำหนด จึงได้เสียใจร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายธาร เป็นหินย้อยในที่สุด จากนั้นก็จะมีโขลงช้าง หินย้อยที่มีลักษณะเหมือนหัวช้างจำนวนมาก ต่อจากนั้นก็จะเป็นม่านกั้นห้องนางคอย เพื่อให้พระนางได้มีห้องสำหรับอาศัยอย่างเป็นส่วนตัว เทวดาจึงบันดาลให้ถ้ำมีหินย้อยลงมาเหมือนม่านกั้นห้อง ส่วนหินนางคอยนั้นอยู่ตรงกลาง มีประชาชนมากราบไหว้เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้วหินนางคอยก็เป็นหินที่เหลือจากการเซาะของน้ำ และการกัดกร่อนของกรดในถ้ำ รูปร่างของหินเหมือนผู้หญิงที่กำลังอุ้มลูกน้อยไว้บนตัก ชาวบ้านศรัทธาและเชื่อว่า พระนางเป็นผู้ที่มั่นคงซื่อสัตย์ยึดมั่นในความรัก

บริเวณหินโขลงช้าง

บริเวณหินโขลงช้าง ตอนขามาจะเห็นหินย้อยบริเวณนี้มีรูปร่างเหมือนหัวช้างหลายตัว พอเดินผ่านมาแล้วรูปร่างของหินที่เรามองเห็นก็จะเปลี่ยนไป แต่ในแง่ของการชมถ้ำ หินย้อยในลักษณะนี้มีความสวยงามและแปลกตากว่าเสาหินอีกครับ

ไหว้พระท้ายถ้ำ

ไหว้พระท้ายถ้ำ สุดทางเดินถ้ำผานางคอยจะมีโพรงทะลุออกอีกด้านได้ โพรงนี้คนดูแลบอกว่าเอารถมาจอดได้เลยไม่ต้องเดินขึ้นเขา ชาวบ้านละแวกนี้ใช้เข้าถ้ำมาไหว้พระ และหินนางคอย ปกติจะมีพระสงฆ์ขึ้นมานั่งปฏิบัติสมาธิบ้างในบางวัน เราก็สามารถทำบุญกับท่านได้ หรือจะเอาเงินใส่ตู้ไว้ก็ได้ครับ

ถ้ำผานางคอย

จบการนำเที่ยวถ้ำผานางคอยเท่านี้ครับ ผมพยายามถ่ายรูปจากหลายๆ มุมมาให้ชมกัน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ของแบบนี้ต้องลองไปดูด้วยตัวเอง แล้วลองอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับหินงอกหินย้อยที่นำมาผูกเข้ากับตำนานถ้ำผานางคอย ภูมิปัญญาชาวบ้าน มีเรื่องราวเล่าขานสู่ลูกหลาน ประจวบเหมาะกับธรรมชาติที่สร้างสรรปั้นแต่ง จนรู้สึกว่าเรื่องนางคอยเป็นเรื่องจริงเลยทีเดียว ถ้าใครไปลองมองหาหินงอกหินย้อยหน้าหินนางคอย เค้าบอกว่ามีรูปหัวใจสีขาวประกายเพชรระยิบระยับ แสดงถึงความรักอันบริสุทธ์ ดูสิว่าจะเห็นหรือเปล่า ลงจากถ้ำผานางคอย หน้าปากทางเข้าถ้ำมีทางเดินเล็กๆ มีศาลนางคอยอยู่ด้วย จากนี้ไปเที่ยวน้ำตกห้วยโรงกันต่อเลยดีกว่า

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ถ้ำผานางคอย แพร่
โรงแรมแพรภูมิบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
ร้องเข็ม-ซิตี โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิ อินดิโก้ เฮ้าส์ แพร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  47.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
นานา อพาร์ทเมนท์
  51.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนนานา จอมสวรรค์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  51.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
i-Sabai@JomSwan hostel Phrae เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
พลพล แอนด์ นวลละออ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแม่ยมพาเลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมภราดร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  52.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฮัก อินน์ แพร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  53.50 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com