www.touronthai.com

หน้าหลัก >> น่าน >> วัดพระธาตุแช่แห้ง

วัดพระธาตุแช่แห้ง

 เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนเนินทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน บริเวณที่เป็นศูนย์กลางเมืองน่านเดิม หลังจากที่ย้ายมาจากเมืองปัว วัดพระบรมธาตุแช่แห้งสร้างในสมัยเจ้าพระยาการเมือง (เจ้าผู้ครองนครน่านระหว่าง พ.ศ.1869-1902) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ พระพิมพ์เงินและพระพิมพ์ทอง ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาการเมืองเสด็จไปช่วยสร้างวัดหลวงอภัย (วัดป่ามะม่วง จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน) ในปีพ.ศ. 1897

    องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง รูปแบบของพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลจากเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยรอบองค์บุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลืองผสมทองแดง) ทางขึ้นสู่องค์พระธาตุเป็นตัวพญานาค หน้าบันเหนือประตูทางเข้าพระวิหารเป็นปูนปั้นลายนาคเกี้ยว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมเมืองน่าน

    พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ชาวล้านนาเชื่อว่า หากได้เดินทางไป "ชุธาตุ" หรือนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดจะได้รับอานิสงส์อย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวัดพระธาตุแช่แห้งได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-18.00 น.

    การเดินทาง วัดพระบรมธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงตึ๊ด จากตัวเมืองข้ามสะพานแม่น้ำน่าน ไปตามเส้นทางสายน่าน-แม่จริม หรือทางหลวงหมายเลข 1168 ประมาณ 3 กิโลเมตร

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานแพร่ (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์) โทรศัพท์ 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2017-02-12 03:12:38 ผู้ชม 30471

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
มองจากภายนอก

มองจากภายนอก จากลานจอดรถเดินเข้ามาในบริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง ประมาณ เกือบ 100 เมตร แต่จะสามารถมองเห็นองค์พระธาตุซึ่งสูงพ้นแนวกำแพงขึ้นมา บริเวณลานจอดรถและหน้าวัดเป็นลานโล่งมีทางเดินจากถนนไปจนถึงองค์พระธาตุได้ สองข้างของทางเดินเป็นพญานาคตัวยาวลักษณะเหมือนกับการสร้างบันไดนาค แต่ที่นี่ไม่มีบันได ปกติลานจอดรถของวัดพระธาตุแช่แห้งมีอยู่ด้านในวัดด้วย แต่บางทีคนมาไหว้พระธาตุกันเยอะก็ต้องได้จอดด้านนอกที่อยู่อีกฟากของถนนแล้วเดินไกลหน่อย

พระมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง

พระมหาเจดีย์ชเวดากองจำลอง จากที่จอดรถเดินเข้าลานกว้างตรงหน้าวัดมีร้านค้ามาเปิดร้านบริการเครื่องดื่มของกินเล่น และของฝากมากมายหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นโดดเด่นกว่าอย่างอื่นก็คือเจดีย์สีขาวองค์ใหญ่ ที่ตั้งอยู่นอกระเบียงคตที่ล้อมองค์พระธาตุแช่แห้ง จนดูเหมือนว่าเจดีย์ชเวดากองนี้อยู่นอกวัด ทางวัดจัดสร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เกิดนปีมะเมียได้สักการะ เพราะพระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเถาะ เป็นวัดสำคัญประจำจังหวัดน่าน ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาสักการะมากมายแม้ว่าจะไม่ได้เกิดปีเถาะก็ตาม เช่นเดียวกับผมเองที่เกิดปีมะเส็ง ก็มาไหว้พระธาตุแช่แห้งทุกครั้งที่มาจังหวัดน่าน หากบังเอิญว่าเป็นผู้เกิดปีมะเมียก็มาสักการะองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากองจำลององค์นี้ได้เลย

วิหารพระพุทธไสยาสน์

วิหารพระพุทธไสยาสน์ อีกด้านหนึ่งของส่วนหน้าวัดพระธาตุแช่แห้ง อยู่ตรงข้ามกับเจดีย์ชเวดากองก็ว่าได้ เป็นที่ตั้งของวิหารหลังหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพูทธไสยาสน์หรือพระนอน ด้านหน้าวิหารมีเจดีย์ประจำปีเกิดจำลองอีก 1 องค์ เชื่อกันว่าพระนอนในวิหารหลังนี้เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากเดี๋ยวเข้าไปด้านในพร้อมกันจะบอกว่าศักดิ์สิทธิ์ยังไง ผมว่าถ้าได้เห็นแล้วคงจะอึ้งเหมือนกับผมที่หาคำตอบไม่ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่ตรงหน้านั้นคืออะไร

ก่อนที่จะเข้าไปพบความมหัศจรรย์ มารู้เรื่องราวความเป็นมาประวัติของวิหารพระพุทธไสยาสน์ ดังนี้ครับ

วิหารพระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช ตามความดังนี้ " แลเมื่อ ร.ศ. 126 พุทธศักราช 2450 สร้างวิหารพระพุทธไสยาสน์ 1 หลัง ยาว 10 วา 2 ศอก 10 นิ้ว กว้าง 4 วา 2 ศอก 10 นิ้ว ซ่อมแซมฐานพระไสยาสน์ ก่อด้วยอิฐถือปูน มุงกระเบื้องไม้ยม เพดานลงรักปิดทอง ก่อกำแพงแก้วรอบวิหาร 4 ด้าน ยาวด้านละ 18 วา 2 ศอก 10 นิ้ว สิ้นเงิน 4,000 บาท "

ปูชนียวัตถุในวิหารพระพุทธไสยาสน์ พระประธานในวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ยาว 14 เมตร สูง 2 เมตร พร้อมด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานบนฐานชุกชี สร้างด้วยอิฐถือปูน หน้าตัก 70 เซนติเมตร สูง 100 เซนติเมตร สร้างในสมัยพระยาหน่อคำเสถียร ไชยสงคราม ในปีพุทธศักราช 2129 โดยมหาอุยาสิกานามว่า นางแสนพาลา เพื่อเป็นที่สักการะบูชาแก่คนทั้งหลาย

การบูรณปฏิสังขรณ์ ปีพุทธศักราช 2549 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง พร้อมด้วยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกับพุทธศาสนิกชน ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 5 ล้านบาท ให้กรมศิลปากรทำการบูรณปฏิสังขรณ์วิหารและองค์พระ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ ในวโรกาสเจริญพระชนมายุ 52 พรรษา และได้เชิญสเสด็จมาทรงสักการะพระพุทธไสยาสน์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพระราชพิธีสืบดวงพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ณ สถานที่นี้ด้วย เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2550

พระเจดีย์พระพุทธไสยาสน์ สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช ตามความดังนี้ " แลเมื่อ ร.ศ. 128 พุทธศักราช 2452 สร้างพระเจดีย์ในบริเวณวิหารพระไสยาสน์แช่แห้ง 1 หลัง ทำเป็นรูปพระปรางค์ก่อหลูบพระเจดีย์ซึ่งชำรุด สิ้นเงิน 1,300 บาท "

พระนอนวัดพระธาตุแช่แห้ง

พระนอนวัดพระธาตุแช่แห้ง เมื่อเข้ามาภายในวิหาร ก็จะเห็นพระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนประดิษฐานบนแท่นมีขนาดใหญ่พอสมควรเหมือนกัน รอบๆ แท่นพระนอนมีพื้นที่กว้างพอที่จะเดินได้รอบๆ ประชาชนจำนวนมากเข้ามาไหว้พระนอนองค์นี้ มีทั้งมาไหว้พระก่อนเข้าพระธาตุ และทั้งเข้าพระธาตุก่อนแล้วมาไหว้พระนอน ที่เห็นจากลักษณะภายนอกก็เหมือนกับพระนอนทั่วไปในวัดอื่นๆ ที่เคยไปมา แต่เรื่องความศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่จะเล่าต่อจากภาพนี้แหละ เชื่อว่าใครหลายคนคงจะไม่เคยได้ยิน หรือเคยได้ยินมาก็ไม่เคยเห็นของจริงเหมือนกับที่ผมเพิ่งจะเห็นเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เรามาวัดแห่งนี้หลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นสักครั้ง อ่านมาถึงตรงนี้แล้วคงจะหงุดหงิดว่ามันคืออะไรกันแน่ ภาพต่อไปเฉลยเลยครับ

เสี่ยงทายติดเหรียญพระนอน

เสี่ยงทายติดเหรียญพระนอน นี่ก็คือสิ่งมหัศจรรย์มากอย่างหนึ่งที่ผมเคยเห็น นั่นก็คือเหรียญที่ประชาชนมาเสี่ยงติดบนองค์พระนอน เหรียญเหล่านี้ก็เป็นเงินเหรียญบาทบ้าง เหรียญ 5 บาทบ้าง ติดบนองค์พระนอนโดยเฉพาะบริเวณพระพุทธบาท บางคนเห็นแล้วก็บอกว่าธรรมดางั้นๆ แหละ คงจะกดลงไปจนบุ๋มเหรียญก็เลยไม่หล่น อันนี้ผมยืนยันได้เลยครับว่า ไม่มีการกดลงบนเนื้อขององค์พระ ไม่ได้ใช้กาว หรืออะไรที่ทำให้เหรียญติดบนองค์พระที่ราบเรียบได้เลย แค่เอาเหรียญแปะลงบนองค์พระเบาๆ เหรียญก็ค้างอยู่อย่างนี้ละ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะแปะได้ อย่างผมเองลองเอาเหรียญไปแปะ เหรียญก็ตกลงพื้นตามปกติ ทีแรกผมคิดว่าในองค์พระคงมีแม่เหล็ก แต่ดูๆ แล้วน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ไม่น่าจะมีแม่เหล็กได้ อีกอย่างแม่เหล็กดูดติดเหรียญยุคใหม่ก็จริง แต่เหรียญที่แปะอยู่ที่เห็นก็มีหลายเหรียญที่เป็นยุคเก่าที่ไม่เหล็กดูดไม่ติด หลายคนเอาเหรียญมาแปะครั้งแรกไม่ติดพอพนมมืออธิษฐาน แล้วแปะใหม่กลับติดอยู่กับองค์พระได้อย่างมหัศจรรย์ มีทั้งที่บริเวณพระพุทธบาทอย่างในรูปนี้ กับที่บริเวณด้านหลังขององค์พระ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ของแบบนี้ต้องลองไปพิสูจน์เองถึงจะรู้ได้

ลานพระประจำวันเกิด

ลานพระประจำวันเกิด จากด้านข้างที่ีมีเจดีย์ชเวดากอง กับวิหารพระนอนแล้ว ตอนนี้เดินขยับมาตรงกลางใกล้ๆ กับทางเข้าระเบียงคตของพระธาตุแช่แห้ง บริเวณนี้เป็นพื้นที่สำหรับการทำบุญ มีบริจาคกระเบื้องที่ดิน บูชาดอกไม้ธูปเทียน ฯลฯ มีต้นโพธิ์สูงใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่ว ด้านโคนต้นเป็นที่ประดิษฐานพระประจำวันเกิดให้เราได้ทำบุญเสริมชะตากันไป

พระธาตุแช่แห้ง

พระธาตุแช่แห้ง ช่วงเวลายามใกล้ๆ เที่ยง พระอาทิตย์ลอยอยู่เหนือพระธาตุ เยื้องไปเพียงหน่อยเดียว ช่วงเวลาแบบนี้จะถ่ายรูปองค์พระธาตุได้ท้องฟ้าสีไม่ค่อยเข้ม ก็เลยเปลี่ยนการถ่ายภาพนิดหน่อยเป็นถ่ายให้ติดดวงอาทิตย์มาด้วยเลยอย่างที่เห็น จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีอากาศเย็นยาวนานหลายเดือน แต่เวลากลางวันก็ร้อนไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ เค้าเหมือนกัน ความร้อนขนาดนี้ ไม่ได้ทำให้จำนวนประชาชนที่เดินทางมาสักการะองค์พระธาตุน้อยลงไปเลย ไม่ได้มาไหว้พระธาตุกันเพียงอย่างเดียว หลายๆ คนก็ถือดอกไม้ธูปเทียนเดินเวียนเทียนประทักษินอีก 3 รอบ พิสูจน์ศรัทธาท้าแสงแดดกันไปเลย

พระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง ด้านข้างขององค์พระธาตุแช่แห้งภายในระเบียงคต มีวิหารอยู่หลังหนึ่ง ซึ่งแปลกว่าการสร้างพระวิหารทั่วไปตามแบบชาวเหนือที่เราเคยเห็น เพราะปกติตำแหน่งของพระวิหารกับพระธาตุ จะมีพระธาตุอยู่ด้านหลังของพระวิหาร แต่พระธาตุแช่แห้งอยู่ด้านข้าง เป็นวิหารหลังไม่ใหญ่มาก ภายในประดิษฐานพระเจ้าอุ่นเมือง (พระประธาน) และพระพุทธรูปทองคำ พระเจ้าล้านทอง

  ประวัติพระธาตุแช่แห้ง

ประวัติพระธาตุแช่แห้ง พระมหาธาตุแหงนี้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างสมัยใด ในตำนานกล่าวว่าเมื่อครั้งพุทธกาล ภูเพียงแช่แห้งแห่งนี้ได้ประดิษฐานพระเกศาธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุข้อพระหัตถ์ซ้าย และเศษของพระสรีรังคารธาตุมาประดิษฐานไว้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มนุษย์และเทวดาได้สักการะตราบ 5,000 พระวัสสา

เท่าที่สืบหาหลักฐานได้พระมหาธาตุแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 1896 ตรงกับสมัยของพระยาการเมือง แห่งราชวงศ์ภูคา ครองเมืองน่าน (พ.ศ. 1896-1906) พระองค์ได้เสด็จลงไปสร้างวัดหลวงอภัย ที่อาณาจักรสุโขทัย เมื่อภารกิจทั้งมวลแล้วเสร็จ พระมหาธรรมราชาลิไทได้ถวายพระมหาชินธาตุเจ้า 7 พระองค์ มี พระวรรณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด สุกใสดังแก้ว 2 พระองค์ มีพระวรรณดั่งมุก 3 พระองค์ มีวรรณะดั่งทองคำ เท่าเมล็ดงาดำ 2 พระองค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์เงินพิมพ์ทองอันงามประณีต อย่างละ 20 องค์ ให้แก่พระยาการเมือง เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาถึงเมืองน่าน ได้ทรงปรึกษากับพระมหาเถระธรรมบาล และเห็นสมควรประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้ที่เนินภูเพียงแช่แห้ง ระหว่างแม่น้ำเตี๋ยน (แม่น้ำเกี๋ยนปัจจุบัน) และแม่น้ำลิงค์ (น้ำลิ่งแม่น้ำน่านปัจจุบัน) พระยาการเมืองโปรดให้ช่างหล้อเต้าปูนสำริดขนาดใหญ่แล้วทรงนำพระบรมสารีริกธาตุพร้อมด้วยพระพิมพ์เงินพิมพ์ทองลงบรรจุไว้ปิดฝาสนิทพอกหุ้มด้วยสะตายจีน (ปูนผสมแบบโบราณ) เป็นก้อยกลมเกลี้ยงเหมือนศิลา เสร็จแล้วพระองค์โปรดให้ขุดหลุมลึก 1 วา แล้วอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ และพระพิมพ์เงินพิมพ์ทองลงประดิษฐานไว้และก่ออิฐทับครอบเป็นเจดีย์สูง 1 วา ตลอดรัชกาลของพระองค์ ทรงให้ความสำคัญแก่วัดนี้มากถึงกับย้ายเมืองจากวรนครเมืองพลัวมาสร้างเมืองใหม่ โดยมีวัดพระธาตุแช่แห้งเป็นวัดประจำราชสำนัก หลักฐานของการย้ายเมืองครั้งนั้นก็คือแนวกำแพงเมืองและคูเมืองโบราณที่สร้างไว้ถึง 2 ชั้น เมื่อพ.ศ. 1902 อายุกว่า 600 ปี ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เมื่อสิ้นราชวงศ์ภูคาแล้ว เมืองนานจะถูกปกครองโดยเชียงใหม่ (พ.ศ.1993 - 2101) หรือโดยพม่า (พ.ศ. 2101 - 2331) และที่สุดจะขึ้นตรงต่อกรุงรัตนโกสินทร์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบันก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่าวัดพระธาตุแช่แห้งนี้ เจ้าผู้ครองนครน่านทุกพระองค์ที่ผ่านมาได้เอาพระทัยใส่ดูแลปฏิสังขรณ์บูรณะซ่อมแซมสืบต่อกันมาจนได้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ลงตัวและมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ดังปรากฏให้เห็นตราบทุกวันนี้

พระมหาธาตุแช่แห้ง เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติ มีความสำคัญทั้งในด้านแบบแผนทางศิลปกรรม เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดน่าน มีความยาวของฐานล่าง ซึ่งเป็นฐานเขียงรูปแท่งสี่เหลี่ยม ด้านละ 19.25 เมตร และมีความสูงจากฐานต่างระดับพื้นดินจนถึงปลายสดของดอกไม้ทิพย์ มีความสูง 43.49 เมตร นับเป็นประธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของแผ่นดินล้านนา เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดน่านและพุทธศาสนิกชนทั่วไป จะมีงานประเพณีนมัสการพระมหาธาตุทุกปี ในวันเพ็ญเดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ใต้)

พระธาตุแช่แห้งได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 61 ตอนที่ 65 ลงวันที่ 14 ตะลาคม พ.ศ.2487 ประกาศขอบแขตในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2523

พระธาตุแช่แห้งองค์เดิม

พระธาตุแช่แห้งองค์เดิม ด้านล่างจะมีป้ายข้อมูลเกี่ยวกับองค์พระธาตุไว้ว่าที่เห็นอยู่บนฐานเล็กๆ ด้าหน้าองค์พระธาตุขนาดใหญ่สีทองเป็นพระธาตุเก่าแก่โบราณที่มีมาตั้งแต่แรก แล้วจึงมีการสร้างองค์ใหม่ขึ้นในภายหลัง เท่าที่เคยเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ส่วนใหญ่การสร้างองค์พระธาตุเจดีย์องค์ใหม่แทนองค์เดิมจะใช้วิธีการสร้างครอบองค์เดิมไว้ แต่เพิ่งจะเห็นที่นี่ที่มีการสร้างขึ้นใหม่โดยที่ของเดิมอยู่ด้านนอก

พระธาตุแช่แห้งยามเย็น

พระธาตุแช่แห้งยามเย็น กิจกรรมอย่างหนึ่งที่ช่างภาพมักจะไม่อยากพลาดก็คือการถ่ายภาพสถานที่สำคัญๆ พระธาตุ พระเจดีย์ หรือโบสถ์สวยๆ ในช่วงเย็นที่แสงพระอาทิตย์ลับไปจากท้องฟ้า และเริ่มเข้าสู่ช่วงเวลากลางคืน ภาพแนวนี้จะเน้นพระธาตุให้ดูโดดเด่นท่ามกลางฉากหลังที่ไม่ดำสนิท มีสีน้ำเงินเข้มสวยๆ หรือบางวันมีแสงสีอื่นๆ อย่างส้มหรือม่วงเข้ามาด้วย ก็จะยิ่งสวยงามมากยิ่งขึ้นไปอีก

ระเบียงคตรอบองค์พระธาตุแช่แห้ง ทางวัดจะปิดเวลา 18.00 น. โดยประมาณ แต่ในวันนี้มีพุทธศาสนิกชนเดินทางมาอย่างต่อเนื่องจนถึงเย็น แล้วยังเวียนเทียนกันไม่เสร็จ ก็เป็นช่วงนาทีทองที่คนถ่ายรูปอย่างเราๆ จะได้รูปสวยๆ กลับมา

พระเจ้าอุ่นเมือง

พระเจ้าอุ่นเมือง องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นองค์พระประธานของวิหารหลวงวัดพระธาตุแช่แห้ง ส่วนพระพุทธรูปทองคำมีพระนามว่าพระเจ้าล้านทอง

วัดพระธาตุแช่แห้ง

ในที่สุดท้องฟ้าก็เริ่มเปลี่ยนสี เจ้าหน้าที่ก็เตือนประชาชนด้านในระเบียงคตรอบองค์พระธาตุว่าวัดได้เวลาปิดแล้ว เราก็มองหามุมใหม่ๆ ย้ายไปย้ายมาเก็บภาพให้มากที่สุด ส่วนคนที่เวียนเทียนไหว้พระธาตุก็ยังคงมีอยู่ ทางวัดเปิดไฟส่ององค์พระธาตุสีทองเมลืองมลัง ยิ่งทำให้องค์พระธาตุโดดเด่นมากยิ่งขึ้น สรุปว่าในหนึ่งวันผมใช้เวลาอยู่ที่นี่เกือบทั้งวันเลยทีเดียว จะมีก็แต่ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น จนถึงสายๆ ที่ผมอยู่บนวัดพระธาตุเขาน้อย และขับรถเที่ยววัดต่างๆ ในเมืองน่านมาหลายวัด แต่ถ้าไม่อยู่ให้นานๆ รอจนกว่าจะได้แสงสวยๆ ภาพดีๆ แบบนี้ก็คงไม่เกิดแน่

ปั้นเทียนสะเดาะเคราะห์

ปั้นเทียนสะเดาะเคราะห์ จบท้ายการนำเที่ยววัดพระธาตุแช่แห้งด้วยภาพนี้ครับ หากมีอะไรอัพเดตจะนำมาโพสต์เป็นแกลเลอรี่ให้ชมแบบภาพย่อด้านล่าง ภาพที่เห็นตอนนี้เป็นภาพของผู้สูงอายุจำนวนหลายคนมานั่งล้อมวงกันปั้นเทียนสะเดาะเคราะห์ เทียนแบบนี้จะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ มีความเชื่อว่าเป็นการจุดเพื่อสะเดาะเคราะห์ และการต่ออายุ จะพบเห็นในวัดหลายวัดในภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ คุณยายเหล่านี้จะมานั่งปั้นเทียนเพื่อให้ทันวันเข้าพรรษา ที่ประชาชนคงจะมาเวียนเทียนทำบุญไหว้พระที่วัดพระธาตุแช่แห้งกันมากเป็นพิเศษ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระธาตุแช่แห้ง น่าน
บ้านปันทา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปาโกด้า ไซท์ เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
รพีพงศ์ รีสอร์ท น่านไท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
น่าน ซีซันส์ บูติก รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
เวียงแก้ว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสบายน่าน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
NirvaNAN House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
ยินดี แทรเวลเลอร์ ลอดจ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฮักเฮอฮิม น่าน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านรพีพงศ์ บูติก โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.14 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com