www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> วัดศรีสุพรรณ

วัดศรีสุพรรณ

 วัดศรีสุพรรณ ตั้งอยู่ที่ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมือง สร้างขี้นเมือพุทธศักราช 2043 รัฐสมัยของพระเจ้าเมืองแก้ว กษัตริย์ในราชวงค์มังราย และทำการผูก พันธสีมาพระอุโบสถ พุทธศักราช 2052 ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมของคณะสงฆ์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปาฏิหารย์ (พระเจ้า 500 ปี) ของวัดศรีสุพรรณมาโดยตลอด และอุโบสถหลังนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม และจะได้มีการสร้างอุโบสถใหม่เป็นอุโบสถเงิน

    ในการสร้างอุโบสถเงินครั้งนี้ ได้ดำเนินการในเขตพันธสีมาและฐานเดิม แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของรูปทรงให้เป็นแบบ สถาปัตยกรรมล้านนาโบราณ โครงสร้างก่ออิฐถือปูน และประดับตกแต่งลวดลายทุกส่วนด้วยอลูมิเนียมและเงิน สลักลวดลายภาพ สามมิติ เรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศิลป์ปริศนาธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ของวัดและชุมชน ตลอดถึงวิธีการ ขั้น ตอนลวดลาย ประจำตระกูลช่างเครื่องเงินของบ้านศรีสุพรรณ โดยช่าง (สล่า ) เครื่องเงินของบ้านศรีสุพรรณ ซึ่งนอกจากจะเป็นการ สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการทำเครื่องเงินไว้เป็นมรดกสืบทอดไปสู่อนุชนรุ่นหลังให้ ยั่งยืนต่อไป ดังนั้นทางวัดจึงได้จะทำโครงการสร้างอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณนี้ขึ้นโดยมีปณิธานว่าจะร่วมสร้างสรรค์ ส่งเสริม สนับสนุน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างศิลป์เป็นอนุสรณ์แก่แผ่นดินถิ่นล้านนา และถวายไว้ในบวรพระพุทธศานาสืบต่อไป

    เข้าไปดูรายละเอียดที่ http://www.watsrisuphan.org

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 2016-09-04 02:47:39 ผู้ชม 31898

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


ซุ้มประตูเงินวัดศรีสุพรรณ

ซุ้มประตูเงินวัดศรีสุพรรณ เดินทางสู่วัดศรีสุพรรณ ทำได้ง่ายๆ คือการขับรถรอบคูเมืองด้านนอกเวียนขวาไปเรื่อยๆ จะถึงทางแยกถนนวัวลายจากนั้นขับตามถนนมาเรื่อยๆ เห็นแยกเข้าวัด ลักษณะคล้ายๆ ในภาพบนซ้าย ซึ่งจะมีซุ้มประตูทำด้วยเงินทั้งซุ้ม เป็นถนนที่ใช้เป็นที่ขายของ เดินเข้าออก และใช้มอเตอร์ไซค์ ถ้าจะเอารถเข้าไปจอดในวัดต้องตรงไปอีกหน่อยจะมีทางเข้าวัดไปจอดในบริเวณโรงเรียน แต่ถ้าหากเดินทางมาในช่วงที่มีถนนคนเดินคงต้องไปหาที่จอดรถแล้วค่อยเดินเข้ามาในถนนวัวลายครับ

ซุ้มประตูทางเข้าวัดจากถนนคนเดินถนนวัวลายทำจากเงินอย่างยิ่งใหญ่สมเป็นวัดที่ตั้งใจจะสร้างอุโบสถเงินทั้งหลัง จากถนนคนเดินมีทางเข้าได้ 2 ทางแต่ละทางมีซุ้มประตูที่ทำด้วยเงินเหมือนกัน จากถนนคนเดินเดินเข้าไปยังวัดศรีสุพรรณเพียงไม่กี่สิบเมตร เมื่อเข้ามาด้านหน้า (นอกจากเอารถเข้ามาจอดในโรงเรียนอย่างที่บอกไว้ข้างต้น) ก็จะเห็นซุ้มสำหรับบูชาดอกไม้ธูปเทียนสำหรับไหว้พระประธานในพระวิหาร เยื้องๆ กับซุ้มบูชาดอกไม้ จะมีอาคารเล็กๆ หลังหนึ่งมีป้ายที่ทำด้วยเงินข้อความว่า สถานฝึกอบรมศิลปหัตถกรรม เครื่องเงินและเครื่องประดับวัดศรีสุพรรณในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งจะได้พาไปชมกันต่อไป แต่ตอนนี้กลับมาที่เรื่องวัดศรีสุพรรณกันต่อ สิ่งหนึ่งที่จะได้เห็นตั้งแต่แรกเข้ามาในบริเวณวัด มองไปด้านขวามือจะเห็นพระอุโบสถซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนประดับตกแต่งผนังและหลังคาด้วยเครื่องเงินทั้งหลังซึ่งในอนาคตเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นก็จะมองไม่เห็นส่วนที่เป็นคอนกรีตอีกต่อไป

พระวิหารวัดศรีสุพรรณ

พระวิหารวัดศรีสุพรรณ เป็นอาคารที่เห็นได้เด่นชัดเพราะอยู่ตรงกับประตูเข้าวัด เป็นวิหารที่สวยงามมาก โดยฉพาะลวดลายที่ตกแต่งทั้งบริเวณหน้าบันและเสา รวมไปถึงพญานาคที่บันไดนาค มองลึกเข้าไปจะมองเห็นองค์พระพุทธรูปประธานของพระวิหารอยู่ด้านใน สำหรับพระวิหารหลังนี้สุภาพสตรีจะเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปได้ตามปกติ แต่พื้นที่ของพระอุโบสถเงินจะห้ามสุภาพสตรีขึ้นไปครับ โดยที่ทางขึ้นพระอุโบสถจะมีป้ายข้อความเขียนเอาไว้ว่า

ใต้ฐานอุโบสถเขตพัทธสีมา (ภายในกำแพงแก้ว) ฝังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ของมีค่า คาถาอาคมและเครื่องรางของขลัง ไว้กว่า 500 ปี อาจก่อให้เกิดความเสื่อมแก่สถานที่หรือตัวสุภาพสตรีเอง ตามจารีตล้านนา จึงห้ามสุภาพสตรีขึ้นอุโบสถหลังนี้

พระประธานในพระวิหาร

พระประธานในพระวิหาร อาคารแรกที่จะเห็นได้ทันทีเมื่อเดินเข้ามาในวัด มีความสวยงามตามแบบชาวเหนือตอนเย็นหัวค่ำมีการเปิดไฟสว่างได้ภาพสวยงามอีกแบบ เมื่อเข้ามาด้านในจะเห็นลักษณะที่สวยงามขององค์พระพุทธรูป ปัจจุบันผนังด้านในของพระวิหารประดับด้วยภาพพระพุทธประวัติและภาพอื่นๆ ซึ่งทำด้วยวิธีการดุนลายแผ่นเงิน (มีภาพให้ชมกันครับอ่านต่อไปเรื่อยๆ)

ภาพประดับฝาผนังพระวิหารวัดศรีสุพรรณ

ภาพประดับฝาผนังพระวิหารวัดศรีสุพรรณ แผ่นเงินดุนลายขนาดประมาณ 60 เซนติเมตร มีหลายภาพ ติดประดับอยู่ที่ฝาผนังด้านในพระวิหาร และยังคงมีการประดิษฐ์งานหัตถกรรมเครื่องเงินในลักษณะเดียวกันนี้ไปเรื่อยๆ ในอนาคตคงได้ภาพฝาผนังที่งดงามหลายชิ้นเต็มพื้นที่ของพระวิหาร

อุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ

อุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ หลังจากไหว้พระในพระวิหารแล้ว ก็จะเข้าไปชมในพระอุโบสถกันครับ มีกฎอย่างที่บอกไว้แล้วว่าห้ามสุภาพสตรีขึ้นไป ระหว่างทางจากพระวิหารไปยังอุโบสถเงินมีรูปพระพิฆเนศประดิษฐานบนฐานสูงสง่าเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไป

การประดับตกแต่งพระอุโบสถเงิน

การประดับตกแต่งพระอุโบสถเงิน เมื่อเดินเข้ามาใกล้ๆ จะเห็นฐานใบเสมาอยู่ที่กำแพงแก้ว บนกำแพงแก้วมีบาตรเรียงรายโดยรอบ ประชาชนที่มาก็จะร่วมทำบุญด้วยการนำเหรียญมาใส่ลงในบาตรเหล่านี้ แต่ที่ฐานเสมาทำให้เราได้เห็นว่านี่คงจะเป็นการสร้างฐานใบเสมาที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของวัดไทย

ภาพบนขวา บันไดนาควัดศรีสุพรรณ เริ่มต้นที่จะเดินเข้าไปในโบสถ์โดยเข้าทางบันไดนาคด้านหน้าอุโบสถ ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างของการติดเกล็ดพญานาคที่ำทำด้วยเงินประดับด้วยพลอยสีต่างๆ หลายสีเป็นงานที่ละเอียดปราณีตมาก

ภาพล่างซ้าย ผนังด้านในพระอุโบสถเงิน สำหรับฝาผนังด้านในได้ทำเป็นช่องไว้สำหรับบรรจุพระคัมภีร์ต่างๆ โดยแต่ละช่องจะมีการทำฝามาปิดเป็นบานพับปิด-เปิดได้ ซึ่งทำมาจากเงิน บนแผ่นฝาแต่ละแผ่นมีงานหัตถกรรมดุนลายเครื่องเงินลักษณะลายไทยที่งดงามมาก

ภาพล่างขวา ป้ายบอกทางไปสุขาเงิน เป็นป้ายบอกทางไปสุขาที่น่าจะแพงที่สุดก็ว่าได้ ลวดลายบนแผ่นเงินที่ทำลูกศรพร้อมกับอักษรบอกทางไปสุขาก็ยังทำอย่างปราณีต เพื่อให้สมกับเป็นศูนย์กลางหัตถกรรมเครื่องเงินของชาวบ้านละแวกนี้ ป้ายบอกทางไปสุขานี้อยู่เลยพระอุโบสถเงินไปเล็กน้อย

พระพุทธปาฏิหาริย์มิ่งขวัญพระเมืองแก้ว นพบุรีศรีนครเชียงใหม่

พระพุทธปาฏิหาริย์มิ่งขวัญพระเมืองแก้ว นพบุรีศรีนครเชียงใหม่ ภายในพระอุโบสถเงินส่วนผนังหลังคาก็ทำด้วยแผ่นเงินทั้งหมด สภาพแสงภายในจะดูแตกต่างจากอุโบสถทั่วไปเล็กน้อยเนื่องจากการสะท้อนของเงิน
ประวัติพระเจ้าเจ็ดตื้อ
ประวัติพระพุทธปาฏิหาริย์มิ่งขวัญพระเมืองแก้ว นพบุรีศรีนครเชียงใหม่ (พระเจ้าเจ็ดตื้อ) พระประธานอุโบสถเงินวัดศรีสุพรรณ ชุมชนหัตถกรรมเครื่องเงินถนนวัวลาย ตามข้อความในหลักศิลาจารึกประวัติวัดศรีสุพรรณ กล่าวว่า พระเมืองแก้ว หรือพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช ร่วมกับพระราชมารดาเจ้า โปรดเกล้าให้ขุนหลวงจ่าคำ นำพระพุทธรูปองค์ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๔ ศอก ปางมารวิชัย เนื้อทองสัมฤทธิ์ ฝีมือช่างหลวง มาประดิษฐานพร้อมสร้าง "ศรีสุพรรณอาราม" ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๔๓

ต่อมาได้สร้างอุโบสถเสร็จแล้วโปรดให้ทำพิธีผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ.๒๐๕๒ และนำพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถตั้งแต่บัดนั้นมาถึงปัจจุบัน มีตำนานเล่าขานสืบกันมาว่า พระประธานในอุโบสถองค์นี้ แสดงพุทธปาฏิหาริย์ลงสรงน้ำในสระข้างอุโบสถอยู่เป็นประจำ ประทานความสำเร็จสมปรารถนาสำหรับผู้มาอธิษฐานจิตกราบไหว้อยู่เนืองนิตย์ สถิตในจิตใจเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านศรีสุพรรณ และประชาชนทั่วไปตลอดมา

ข้อมูล http://www.watsrisuphan.org/

นอกเหนือจากพระพุทธรูปพระเจ้าเจ็ดตื้อ แล้ว การประดับฐานพระพุทธรูปด้วยเครื่องเงินดุนลายทั้งหมด รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่โดยรอบพระพุทธรูปล้วนแต่เป็นงานหัตถกรรมที่งดงามในรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์เพียงแห่งเดียวของพระอุโบสถเงิน

พระเจ้าเจ็ดตื้อ

พระเจ้าเจ็ดตื้อ ภาพสวยๆ อีกภาพหนึ่งขององค์พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถเงิน

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดอีกหลายส่วนของพระอุโบสถที่อยู่ในระหว่างการตกแต่งลวดลายเครื่องเงินเข้าไปตามแบบที่วางเอาไว้ การก่อสร้างที่เป็นไปอย่างช้าๆ แต่คงไว้ซึ่งความปราณีตในทุกชิ้นส่วนของอุโบสถหลังนี้ จะคงเป็นถาวรวัตถุในบวรพระพุทธศาสนาสืบต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสมทบทุนการก่อสร้างให้แล้วเสร็จกันด้วยครับ

ติดต่อวัดศรีสุพรรณ ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ
๑๐๐ ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ๕๐๑๐๐

โทรศัพท์/แฟกซ์ ๐๕๓-๒๐๐๓๓๒, ๐๘๔-๑๗๗๑๔๑๑, ๐๘๔-๖๑๕๙๘๐๑

แผ่นเงินดุนลายสำหรับผนังพระอุโบสถเงิน

แผ่นเงินดุนลายสำหรับผนังพระอุโบสถเงิน นี่เป็นภาพตัวอย่างบางส่วนของชิ้นงานแผ่นเงินดุนลายที่จะนำมาประกอบกันบนฝาผนังพระอุโบสถ ทีละชิ้นๆ ซึ่งเราจะพาไปดูขั้นตอนการประดิษฐ์แผ่นเงินกันต่อจากนี้

ข่วงสล่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มาของพระอุโบสถเงิน

ข่วงสล่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มาของพระอุโบสถเงิน ขั้นตอนหนึ่งของการก่อสร้างพระอุโบสถเงินได้แก่
1.ปั้นขึ้นโครงสร้างด้วยซีเมนต์อิฐทนไฟ
2.บุอลูมิเนียมตามโครงสร้างหุ่น
3.ตอกและดุนลายเครื่องทรงมาประกอบ
4.ประดับและตกแต่งด้วยทับทิมและพลอย

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าอุโบสถเงินทำไมมีปูนซีเมนต์ด้วย เพราะการสร้างจากเงินทั้งหมดคงต้องใช้แร่เงินหนักหลายตันนั่นเอง

สำหรับสถานที่เรียนการทำหัตถกรรมเครื่องเงินของวัดศรีสุพรรณ บ้านวัวลาย สร้างเป็นศาลาหลังเล็กๆ อยู่ที่ด้านข้างของพระวิหาร มีทางเดินเข้าไป หากมาตรงกับเวลาการเรียนการทำเครื่องเงินของสามเณรก็จะได้เห็นสามเณรจำนวนมากนั่งเรียนการดุนลายแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประดิษฐ์หัตถกรรมเครื่องเงิน ภาพการ์ตูนแบบง่ายๆ เอามาติดกับแผ่นเงินขนาดกำลังดี แล้วค่อยๆ ใช้ค้อนตีดุนลายย้ำซ้ำๆ ตามลายเส้น โดยน้ำหนักของค้อนจะต้องพอเหมาะไม่หนักไป ไม่เบาไป ย้ำในระยะที่เท่าๆ กันไปเรื่อยๆ จะเกิดเป็นลายที่สวยงาม ส่วนที่ไม่โดนค้อนก็จะนูนขึ้นมามีมิติ

การประดิษฐ์ชิ้นเงินประดับอุโบสถจะทำโดยช่างที่ชำนาญงานมีฝีมือปราณีต ชิ้นงานแต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งทำให้การสร้างพระอุโบสถเงินซึ่งประกอบด้วยชิ้นงานจำนวนมาก ต้องอาศัยเวลา ชิ้นงานแต่ละชิ้นจะมีช่างศิลป์อีกท่านหนึ่งเป็นผู้ร่างแบบลงบนกระดาษขนาดใหญ่เท่าชิ้นงานจริง

ยักษ์แบกแท่น

ยักษ์แบกแท่น ชมสิ่งสำคัญๆ ของวัดศรีสุพรรณอย่างพระวิหาร พระอุโบสถเงิน และการเรียนการประดิษฐ์หัตถกรรมเครื่องเงิน ขั้นตอนการสร้างอุโบสถเงิน แล้ว ก็เดินตรงเข้าไปด้านหลังพระวิหารซึ่งเป็นโรงเรียนและลานจอดรถ เห็นด้านข้างของพระวิหารมีการสร้างที่สวยงามซ่อนอยู่ เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของวัดศรีสุพรรณงานปูนปั้นยักษ์รูปร่างอ้วนใหญ่ยืนแบกแท่นซึ่งอยู่ใต้ช่องหน้าต่างของพระวิหาร

ซุ้มพระธาตุตวงเงินตวงคำ

ซุ้มพระธาตุตวงเงินตวงคำ ซุ้มพระธาตุตวงเงินตวงคำ (ทอง) อยู่ด้านหลังพระวิหารของวัดซึ่งเป็นบริเวณติดกับโรงเรียน หากเป็นเวลากลางวัน ไม่ใช่ช่วงเช้าหรือหลังเลิกเรียนสามารถนำรถมาจอดรอบๆ บริเวณนี้ได้ ส่วนภาพขวาเป็นพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่ ซึ่งพิจารณาตามหลักทั่วไปแล้ว การสร้างพระวิหารในวัดของแบบชาวเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะพบว่ามีการสร้างพระธาตุเจดีย์อยู่ด้านหลังเสมอ

ภาพสวยพระวิหารวัดศรีสุพรรณยามเย็น

ภาพสวยพระวิหารวัดศรีสุพรรณยามเย็น เดินชมความสวยงามกันจนเย็นแล้วก่อนที่จะเดินทางกลับ หรือว่ามากันช่วงๆ เย็นๆ ก็แล้วแต่ก็อย่าลืมมาชมความสวยงามของพระวิหารและพระอุโบสถเงินที่จะเปิดไฟส่องสว่างสวยงาม หลังจากนั้นก็ไปเดินถนนคนเดินกันต่อ ก็เป็นแผนการเดินทางที่ดีแบบหนึ่ง

พระพิฆเนศเนื้อเงิน

พระพิฆเนศเนื้อเงิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนเคารพศรัทธากันอย่างแพร่หลาย เมื่อมาสร้างที่วัดศรีสุพรรณ ก็ต้องคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของวัดด้วยการสร้างเนื้อเงิน ที่เห็นอยู่นี้มีขนาดใหญ่มากครับ แล้วก็ขอจบการนำเที่ยววัดศรีสุพรรณไว้เท่านี้ก่อนไว้มีโอกาสคงได้มาชมพระอุโบสถเงินที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วกันอีก

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดศรีสุพรรณ เชียงใหม่
โรงแรมตรีญาณรส โคโลเนียล เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
ธีรยา บูทิค ดอร์มิโทรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฮายคิน เรียวกัง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศรีงาช้าง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
วิลลา โอรานจ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.23 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัวลาย บูทิก โฮเต็ล เชียงใหม่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมไอวัวลาย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเดี่ยว 2 ห้องนอน 3 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 96 ตร.ม. – วัวลาย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
Tha Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
คลาวน์ โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.39 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com