www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

 วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อยู่ที่ถนนพระปกเกล้า วัดนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงใหม่พอดี ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1913-1954) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2024 และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.2011-2091 นานถึง 80 ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2088 ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร

    วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ และในวัดเจีย์หลวงนี้ยังมี เสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง

เวลาเปิด-ปิด:07:00 - 18:00

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 2016-04-24 22:56:08 ผู้ชม 31790

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ประตูวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

ประตูวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ภายในวัดมีบริเวณกว้างขวางสามารถจอดรถในวัดได้ สำหรับถนนพระปกเกล้าหน้าวัดก็สามารถจอดได้สลับเลน วันคู่วันคี่ เลือกได้ตามวัน เมื่อจอดรถได้แล้วก็ได้เวลาเดินเข้าไปชมวัดเริ่มตั้งแต่หน้าประตู

ป้ายวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร 3 ภาษา

ป้ายวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร 3 ภาษา ป้ายข้างประตูทางเข้าวัดโดดเด่นด้วยสีแดงมีชื่อวัดและที่อยู่ เขียนเป็น 3 ภาษา ซึ่งโดยทั่วไปวัดในเชียงใหม่หลายแห่งจะมี 3 ภาษา

วัดเจดีย์หลวง หรือวัดโชติการาม หรือราชกูฏ หรือกุฏาราม สร้างในสมัยพญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1928 - 1944) โอรสของพญากือนา ต่อมารวมพื้นที่กับวัดสุขมินท์วัดหอธรรมวัดสบฝางหรือป่าฝาง และบางส่วนของวัดพันเตาเรียกว่าวัดเจดีย์หลวง

บริเวณวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

บริเวณวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ด้านหน้าของวัด เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้ามาจะเห็นวิหารหลวงขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ด้านซ้ายมือมีเสาอินทขิล หรือ เสาหลักเมือง สร้างขึ้นเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1839 ประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุขทรงไทยหลังเล็กๆ เสาอินทขิลนี้สร้างด้วยไม้ซุงต้นใหญ่ ฝังอยู่ใต้ดิน ทุกปีในวันแรม 12 ค่ำเดือน 8 (เหนือ) หรือประมาณเดือนพฤษภาคมจะมีงานเรียกว่า เข้าอินทขิล เป็นการฉลองหลักเมือง

จุดเทียนธูปบูชาพระหน้าวิหาร

จุดเทียนธูปบูชาพระหน้าวิหาร สำหรับด้านในพระวิหารหลังนี้ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปที่งดงามมาก จะไม่ให้มีการจุดเทียนธูปในพระวิหาร จึงมีสถานที่สำหรับการจุดเทียนธูปสำหรับประชาชนที่เดินทางมากราบไหว้พระที่วัดเจดีย์หลวงอยู่ด้านหน้าพระวิหาร

บันไดนาคเข้าพระวิหารหลวง

บันไดนาคเข้าพระวิหารหลวง ด้านหน้าพระวิหารหลวงซึ่งเป็นสีขาวทั้งหลังนี้มีบันไดนาคเข้าทางด้านหน้า ซึ่งจากประตูสามารถมองเห็นพระพุทธรูปปางประทับยืนองค์หนึ่งขนาดใหญ่มากประดิษฐานอยู่ตรงกลางภายในพระวิหาร

วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ

ภายในพระวิหารวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

ภายในพระวิหารวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เข้ามาภายในพระวิหารหลวง จะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สูงตระหง่านได้เด่นชัด ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์ประธานมีพระพุทธรูปมากมายหลายองค์ ในฤดูกฐินทางวัดประดับโคมมากมายหลายสีบนเพดานวิหารหลวง ดูสวยงามมาก

พระอัฏฐารส

พระอัฏฐารส พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ที่ น.ณ. ปากน้ำ (คุณประยูร อุลอชาฏะ) ปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมกล่าวไว้ว่า "พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ศิลปะเชียงใหม่ตอนต้นที่ได้รับอิทธิพลต้นแบบจากศิลปะปาละ (อินเดีย)"
พระพุทธอัฏฐารส หล่อด้วยทองสำริดสูงใหญ่ ปางห้ามญาติสูง 8.23 เมตร มีพระพุทธลักษณะสง่างามที่สุดในอาณาจักรล้านนา โดยเฉพาะส่วนพระพักตร์มีลักษณะอ่อนโยนงดงามยิ่งนัก เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยกับพระพุทธรูปแบบเชียงแสนหรือพระสิงห์ซึ่งได้วิวัฒนาการงานศิลป์มาจากปาละด้วยเช่นกัน ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาสกุลช่างศิลป์ในแคว้นหรืออาณาจักรต่างๆ ของชนชาติสมัยนั้น (ยกเว้นสกุลช่างศิลป์สุโขทัย) จะหล่อพระพุทธรูปยืนที่มีขนาดใหญ่ได้สัดส่วนกลมกลืนงดงามถึงเพียงนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองผาสุกของบ้านเมืองและผู้คนในยุคนั้น

พระอัฏฐารสองค์นี้ สร้างขึ้นในสม้ยพระเจ้าสามฝั่งแกนรัชกาลที่ ๘ แห่งราชวังศ์มังราย พระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแสนเมืองมาและพระนางติโลกจุฑา เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมาพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ พระนางติโลกจุฑามหาเทวีพระราชมารดาจึงทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระยะหนึ่ง พระนางติโลกจุฑาและยุวกษัตริย์สามฝั่งแกนได้ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงต่อจากที่พระเจ้าแสนเมืองมอทรงสร้างค้างไว้จนแล้วเสร็จ "ถัดแต่นั้นมาพระนางติโลกจุฑาก็ให้สร้างวิหารหลังหนึ่งและพระนางจึงให้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งสูง 18 ศอก กับพระอัครสาวกทั้ง 2 องค์ประดิษฐานไว้ในวิหารนั้น"

วิหารที่พระนางติโลกจุฑาทรงสร้างดังกล่าวนั้น คือพระวิหารหลวงของวัดเจดีย์หลวงแต่มิใช่หลังปัจจุบัน เพราะมีการรื้อสร้างใหม่ในที่เก่าเป็นครั้งที่ 7 กับครั้งนี้สร้างไว้ทางทิศตะวันออกองค์พระธาตุเจดีย์หลวง
ที่กล่าวว่า "หล่อพระองค์หนึ่งสูง 18 ศอก" ก็คือพระอัฏฐารสในพระวิหารหลวงนั่นเอง พระพุทธปฏิมาอัฏฐารส ความจริงสูง 8.23 เมตร (16 ศอก 23 ซม. ศอกมาตรฐานคือ 24 นิ้ว เป็น 1 ศอก) พระโมคคัลลานะ อัครสาวกซ้าย สูง 4.43 เมตร พระสารีบุตร อัครสาวกขวา สูง 4.19 เมตร และยังหล่อพระพุทธรูปปาง และขนาดต่างๆ อีกจำนวนมากเมื่อปี พ.ศ. 1955

ในครั้งนั้นได้ตั้งโรงหล่อเผาเบ้าหลอมทองในบริเวณที่ตั้งวัดพันเตาปัจจุบัน เพราะต้องเททองพระพุทธรูปเป็นร้อยเป็นพันเบ้า จึงเป็นที่มาของวัดพันเตา "เมื่อครั้งหล่อพระพุทธรูปอุฏฐารสนั้น พระเถระชื่อว่านราจาริยะ ผู้เป็นเจ้าอาวาสวัดโชติการาม (วัดเจดีย์หลวง) ใคร่ลองบุญญาภินิหารของท่าน กระทำสัตยาธิษฐาน แล้วอุ้มเบ้าทองอันร้อนด้วยมือยกขึ้นตั้งเหนือศรีษะนำไปหล่อเบ้านั้นก็ไม่ทำให้ร้อนไหม้ คนทั้งหลายเห็นแปลกดังนั้นก็เกิดอัศจรรย์พากันสาธุการเอิกเกริกทั่วทั้งเวียง"

ความจริงแล้วพระอัฏฐารสไม่ได้แปลว่า พระพุทธรูปสูง 18 ศอก พระอัฏฐารส แปลว่า พระสิบแปด ไม่มีคำว่าศอกแต่อย่างใด ความหมายที่แท้จริงท่านหมายถึงพุทธธรรม 18 ประการ อันเป็นพระคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ ไม่ได้หมายความว่าพระพุทธรูป 18 ศอกดังที่เข้าใจกัน องค์พระพุทธปฏิมาอัฏฐารสอาจจะสูงต่ำกว่านั้นหรือจะสูง 18 ศอกก็ย่อมได้ ที่ตั้งชื่อพระพุทธรูปเช่นนั้นก็เพื่อเป็นอุบายธรรมสื่อนำไปสู่ความเข้าใจในพุทธคุณอันประเสริฐของพระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นศาสดาของมนุษย์และเทพเจ้าทั้งหลาย ดังพระบาลีในอาฏานาฏิยปริตรว่า : "อุเปดาพุทฺธธมฺเมหิ อฏญารสหิ นายกา พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้เป็นนายกคือผู้นำ ทรงประกอบด้วยพุทธธรรม 18 ประการ"

พระพุทธรูปภายในพระวิหารหลวง

พระพุทธรูปภายในพระวิหารหลวง นอกเหนือจากพระอัฏฐารส พระปฏิมาประธานในพระวิหารหลวงวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ยังมีพระพุทธรูปปางต่างๆ ขนาดต่างๆ กันดังปรากฏในประวัติการสร้างพระอัฏฐารส พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่เบื้องหน้าของพระพุทธรูปอีกหลายองค์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามมาก

พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล)

พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) รูปเหมือนของพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) อยู่ที่เบื้องซ้ายขององค์พระพุทธรูปในพระวิหารหลวง พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เป็นอดีตเจ้าอาวาสของวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พระพุทธพจนวราภรณ์ นามเดิม จันทร์ แสงทอง เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 เป็นบุตรของ นายจารินต๊ะ และ นางแสง แสงทอง เมื่ออายุได้ 15 ปี ได้บรรพาเป็นสามเณร ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้ทำการอุปสมบท ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ได้รับฉายาว่า “กุสโล” พระพุทธพจนวราภรณ์ ได้มรณภาพลงเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ในเวลา 18.33น. ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ด้วยโรคถุงลมโป่งพองและโรคปอด ได้รับพระราชทานเพลิงศพ และพวงมาลาทั้งหมดอัญเชิญมาไว้ในพระวิหารหลวงเช่นเดียวกัน

ทางไปพระเจดีย์หลวง

ทางไปพระเจดีย์หลวง หลังจากไหว้พระในพระวิหารหลวง แล้วก็ออกมาทางด้านหน้า เดินเลียบพระวิหารหลวง ก็จะเห็นพระเจดีย์หลวงองค์ใหญ่เด่นตระหง่านอยู่ด้านหลังพระวิหารหลวงทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของวัดเจดีย์หลวงวรวิหารแห่งนี้ ทุกๆ คนที่เดินทางมาที่ก็จะมากราบไหว้สักการะองค์พระธาตุเจดีย์

พระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร

พระเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เจดีย์หลวง เจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (พ.ศ.1913-1954) ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2024 และอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานระหว่าง พ.ศ.2011-2091 นานถึง 80 ปี ต่อมาในสมัยพระนางจิระประภา ได้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2088 ทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง ปัจจุบันเจดีย์มีความสูงคงเหลือ 40.8 เมตร ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร

เจดีย์หลวงด้านข้าง

เจดีย์หลวงด้านข้าง เมื่อเดินมาด้านข้างขององค์เจดีย์หลวงเห็นบันไดถูกเปลี่ยนเป็นทางลาดชันลงตามแนวบันไดเดิม อาจจะเนื่องมาจากไม่ให้บุคคลใดเดินขึ้นไปได้ หรือ เนื่องจากบันไดชำรุดไปมากและอันตราย และป้องกันพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่บนเจดีย์จากมิจฉาชีพ เจดีย์ด้านนี้มีรูปปูนปั้นช้างล้อม ส่วนด้านอื่นๆ แทบจะไม่มีช้างเหลืออยู่แล้ว

ด้านข้างพระเจดีย์หลวง

ด้านข้างพระเจดีย์หลวง พระธาตุเจดีย์หลวง เป็นพระธาตุเจดีย์เก่าแก่อายุกว่า 600 ปี สูงที่สุดในอาณาจักรล้านนาไทยและประเทศไทย สร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 1934 สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราชย์ พ.ศ. 1929-1944) สร้างอยู่ 10 ปี ยังไม่แล้วเสร็จพระเจ้าแสนเมืองมาเสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาปี พ.ศ. 1951 พระนางติโลกจุฑา พระมเหสีของพระเจ้าแสนเมืองมาผู้สำเร็จราชการแทนยุวกษัตริย์สามฝั่งแกน พระราชโอรส ให้ทรงก่อสร้างต่อจากหน้ามุของค์พระเจดีย์ขึ้นไป นาน 4 ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1955 เป็นพระเจดีย์ที่มีฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 20 วา สูง 39 วา สามารถมองเห็นได้แม้อยู่ไกล 2,000 วา

ปี พ.ศ. 2022-2024 สมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราชย์ พ.ศ.1985-2030) ได้ทำการสร้างเสริมพระเจดีย์ใหม่ให้มีส่วนสูง 40 วา ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 28 วา โดยให้ทำการปรับปรุงดัดแปลง / ผสมผสานด้านสถาปัตยกรรมโครงสร้าง / รูปลักษณ์พระเจดีย์เสียใหม่ให้เป็นแบบ "พุทธศิลปสถาปัตยกรรมล้านนาผสมโลหะปราสาทลังกาและทรงเจดีย์แบบพุกามพม่า" ที่สำคัญคือได้ดัดแปลงซุ้มจระนำมุขเจดีย์ด้านทิศตะวันออกให้เป็นซุ้มและแท่นฐานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต

ตลอด 80 ปี ที่พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ ณ นครเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2011-2091 ก็ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง 1 ปี ประดิษฐาน ณ ซุ้มจระนำมุขตะวันออกของพระธาตุเจดีย์หลวงอีก 79 ปี ปัจจุบันซุ้มจระนำมุขตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเฉลิมสิริราช (พระแก้วหยกเชียงใหม่) ที่สร้างเมื่อสมโภช 600 ปี พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อ พ.ศ. 2538

ปี พ.ศ.2055 สมัยพระเมืองแก้ว กษัตริย์ รัชกาลที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราชย์ พ.ศ. 2088-2089) เกิดพายุฝนตกหนักแผ่นดินไหวทำให้พระเจดีย์หักพังทลายลง เหลือเพียงครึ่งองค์ สุดที่จะทำการซ่อมแซมบูรณะให้ดีดังเดิมได้ จึงถูกทิ้งร้างเป็นเจดีย์ปรักหักพังมานานกว่า 4 ศตวรรษ
4 มิถุนายน 2533 รัฐบาลโดยกรมศิลปากรได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทศีวกรการช่าง จำกัด ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวง ใช้ทุนบูรณะ 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535 พระธาตุเจดีย์หลวงเมื่อบูรณะแล้ว ฐานกว้างด้านละ 60 เมตร ทั้ง 4 ด้าน สูง 42 เมตร

พระธาตุเจดีย์หลวง ชื่อนี้เรียกขานมานานแล้ว ในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ที่ท่านพระรัตนปัญญาเถระ ชาวพะเยา ผู้เป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้ามังรายแต่งไว้เมื่อปี พ.ศ.2060 ขณะที่ท่านพำนักอยู่ ณ วัดเจ็ดยอด นครเชียงใหม่ กล่าวว่า "...พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีระเบียบกระพุ่มยอดเป็นอันเดียวกัน..." ผู้รู้บางท่านเห็นว่าชื่อ พระธาตุเจดีย์หลวง นั้นเป็นศัพท์ซ้ำซ้อนกัน (คำว่า ธาตุ = เจดีย์ ก็อันเดียวกัน) ควรจะเป็นมหาเจดีย์ - มหาธาตุ หรือ พระเจดีย์หลวง ความจริงชื่อพระธาตุเจดีย์หลวงถูกต้องแล้ว ธาตุในที่นี้หมายถึงอัฐิธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์หมายถึงเขจติยสถานองค์พระเจดีย์ เริ่มแรกที่พระพุทธศาสนาแพร่เข้ามานั้น สมณทูต "ที่มีพระโสณะและพระอุตตระเป็นประธานนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในที่นี้" (เจดีย์เล็กที่พระธาตุเจดีย์หลวงสร้างคร่อม)
สมัยโบราณ พระธาตุเจดีย์หลวง มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น เจดีย์ลักษบุราคม หรือพระเจดีย์ที่เจ้าแสนเมืองมาสร้าง ตามพระนามองค์ผู้สร้างครั้งแรก ใน พ.ศ.1934
เจดีย์หลวง - เจดีย์กู่หลวง , พระมหาเจดีย์ , พระมหาธาตุเจดีย์ อันเป็นลักษณะนาม เรียกตามความสูงใหญ่ขององค์พระเจดีย์ หลังพระเจ้าติโลกราชทรงบูรณะสร้างเสริมเสร็จแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2024
สิริราชกุฏเจดีย์ เรียกตามชื่อพระอาราม ฯลฯ

พระพุทธเฉลิมสิริราช

พระพุทธเฉลิมสิริราช ประดิษฐานอยู่บนเจดีย์ ด้านวิหารหลวง มีบันไดทางขึ้น มีป้ายเขียนไว้ว่าพระแก้วหยกเชียงใหม่ 20 เมษายน 2538

วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์

วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์ อยู่ถัดจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์ เป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อัฐิธาตุพระสงฆ์สุปฏิปันโน สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์สร้างไว้เคียงคู่กับวิหารบูรพาจารย์หลวงปู่มั่น หันหน้าสู่ทิศตะวันออก มีบันไดทอดลงสู่ลานประทักษินด้านทิศตะวันตกองค์พระธาตุเจดีย์หลวง ได้ทำการฉลองสมโภชถวายเป็นสมบัติพระศาสนาในวันที่ 13-14 มกราคม พ.ศ.2549

วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์ เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านล้านนาลำปาง จำลองแบบมาจากมณฑปจตุรมุขวัดปงสนุกใต้ (กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้เป็นวัดปงสนุกเหนือ อันเป็นวัดพี่น้องในชุมชนเดียวกัน เพียงแต่แยกเป็นเหนือ/ใต้) ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชนปงสนุก ตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ชุมชนปงสนุกนี้เป็นชาวโยนกเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาสมัยเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 2 (พระเจ้าดวงทิพย์) บริเวณชุมชนปงสนุกนี้ เคยเป็นวัดเก่าแก่สิบทอดมาแต่ครั้งพระเจ้าอนันตยศ โอรสพระนางจามเทวี ชาวโยนกเชียงแสนได้ฟื้นฟูขึ้นเป็นวัดอีกครั้ง ต่อมาในสมัยเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 7-8 (ราว พ.ศ. 2429-2430) พระอาโนชัยธรรมจินดามุณี (ครูบาโน) จึงได้สร้างมณฑปจตุรมุขอันเป็นสถาปัตยกรรมทรัพย์สิน "ทางศรัทธา" ชั้นเยี่ยมของเมืองลำปาง

แต่วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์สร้างให้มีขนาดใหญ่กว่ามณฑปต้นแบบ คือ กว้าง 10.50 เมตร ยาว 10.50 เมตร และส่วนที่สร้างให้แตกต่างจากต้นแบบก็คือ มุขด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นประตูทางเข้าเพียงด้านเดียวนั้น ได้ทำทางลดระดับยาว 9 เมตร กว้าง 2.80 เมตร ปูด้วยกระเบื้องเซรามิค เชื่อมต่อทอดลงสู่ลานประทักษินของพระธาตุเจดีย์หลวง มี "มอม" สัตว์โบราณคดีของล้านนาอยู่ 2 ข้างทางขึ้น (มอม สัตว์ในจินตนาการกลายพันธุ์) พร้อมทั้งทำหลังตากันแดดกันฝนลดหลั่นเป็นชั้นๆ ดูงามกลมกลืนอย่างลงตัว
วิหารจตุรมุขบูรพาจารย์หลังนี้ มีฐานคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 1.20 เมตร โครงสร้างด้านบนเป็นไม้สักแกะสลักและไม้มีค่าทั้งหมด หลังคาวิหารทำเป็นลักษณะกุฎาคารหรือปราสาทยอด 3 ชั้น ส่วนยอดปราสาทติดตั้งแตรทองเหลืองแบบพม่า ห้องโถงวิหารตั้งธรรมาสน์ใช้เสาไม้กลม 8 ต้น ค้ำยันเพดาน เสาแต่ละต้นสูง 6 เมตร วัดรอบเสาได้ 40 เซนติเมตร และใช้เสาไม้เหลี่ยมจำนวน 53 ต้น รองรับอเสและคร่าวสำหรับประกอบฝาข้องสองสลับลูกกรง เสาแต่ละต้นสูง 3 เมตร วัดรอบเสาได้ 20 เซนติเมตร ประดับด้วยลวดลายฉลุปิดทองปูพื้นด้วยกระเบื้องเซรามิค สีภายในวิหารใช้โทนสีแบบโบราณออกน้ำตาลแดง เพดานประดับด้วยลายดอกบัวติดพระจกสี
ตรงกลางห้องโถงของวิหาร สร้างเป็นธรรมมาสน์ปราสาม ฐานคอนกรีต (เฉพาะฐานสูง 1.33 เมตร) โครงสร้างข้างบนเป็นไม้วัดรอบได้ 4.80 เมตร สูง 4.23 เมตร ศิลปะแบบพื้นถิ่นล้านนา ธรรมาสน์นี้สำหรับเป็นที่ประดิษฐานบุษบกบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อีกชั้นหนึ่งรอบๆ ฐานบุษบกจะเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนขนาดเล็กของพระอาจารย์กรรมฐานสายหลวงปู่มั่น หลายรูป พร้อมทั้งอัฐิของแต่ละท่านที่ได้กลายเป็นพระธาตุแล้วบรรจุไว้ในมณฑปซึ่งทุกท่านสามารถเดินชมกราบไหว้บูชาได้
ตรงฐานด้านหน้าธรรมาสน์ สร้างเป็นแท่นฐานคอนกรีตสูง 85 เซนติเมตร วัดรอบได้ 3.40 เมตร ประดับด้วยลวดลายพื้นบ้านล้านนา สำหรับเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งเท่าองค์จริงของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปันฺโน)

วิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

วิหารหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หรือพระอาจารย์มั่นเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่ประชาชนมีความศรัทธาสูง โดยเฉพาะชาวภาคเหนือ ในวัดต่างๆ ของภาคเหนือมักจะมีรูป หรือ หุ่นขี้ผึ้งของท่านอยู่แทบทุกวัด วิหารหลังนี้กำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซมส่วนหลังคา ภายนอกมีความสวยงามไม่แพ้ภายใน ข้อมูลเกี่ยวกับวิหารบูรพาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต

วิหารหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
วิหารบูรพาจารย์เป็นสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านนา โดยได้จำลองแบบมาจากวิหารวัดต้นเกว๋น หรือวัดอินทาวาส หมู่ 4 ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ สร้างเมื่อราว พ.ศ.2399-2412 สมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (พ.ศ.2399-2413) วิหารวัดต้นเกว๋นที่จำลองแบบมาสร้างวิหารบูรพาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตในครั้งนี้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2401 เป็นศิลปสกุลช่างล้านนา ซึ่งเป็นศิลปสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่สมบูรณ์แบบ และงดงามอีกแห่งหนึ่งจนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อ พ.ศ.2532

วิหารบูรพาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่จำลองแบบมาจากวิหารวัดต้นเกว๋นมาสร้างในวัดเจดีย์หลวงนี้ ครั้งนี้เป็นอาคารมีขนาดความกว้าง 8 เมตร ความยาว 12 เมตร ซึ่งสถานที่สร้างวิหารบูรพาจารย์หลวงปู่มั่น ณ บริเวณใต้ต้นยางทางทิศตะวันตกองค์พระธาตุเจดีย์หลวงนี้นั้น เคยเป็นที่ตั้งกุฎิทัณฑเขต กุฎิที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เคยพำนักอยู่เมื่อครั้งท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดเจดีย์หลวงปี พ.ศ. 2475 กุฎิทัณฑเขต พระทัณฑเขตประชานุการ พัศดีเรือนจำเชียงใหม่ และนางทัณฑเขตประชานุการ (สา) ภรรยา สร้างถวายเป็นกุฎิไม้มุงสังกะสีมี 2 ห้องนอน หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พุทฺธาจาโร ก็เคยพำนัก พระราชเจติยาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหารผู้ให้ข้อมูลเรื่องกุฎิทัณฑเขต ก็เคยพำนักอยู่หลายพรรษากับพระเดช เทวินทะ พี่ชายของท่านเมื่อตอนอุปสมบทใหม่ๆ (พระเดชลาสิขาไปทำงานที่โรงพยาบาลสวนดอกและถึงแก่กรรมนานแล้ว) ต่อมากุฎิทัณฑเขตและเสนาสนะต่างๆ ของวัดที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทางวัดจึงรื้อถอนออกเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์เขตพุทธาวาส สังฆวาสให้เป็นสัดส่วนดังที่เห็นอยู่ปัจจุบัน

บุษบกที่ประดิษฐานฏกศบรรจุอัฐิธาตุและฟันกรามของหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต สร้างด้วยไม้สักลงรักปิดทอง มีรูปทรงเป็นแบบศิลปะสกุลช่างล้านนา มีขนาดความกว้างของฐาน 1.24 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด 4.80 เมตร

รูปเหมือนหลวงปู่มั่น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2545 ณ สวนแสดงธรรม อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม ได้ทำพิธีเททองหล่อรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺโต สูง 1.75 เมตร ในอิริยาบถยืน หล่อด้วยทองสำริดรมดำ ส่วนหนึ่งของทองที่ใช้หล่อครั้งนี้ เป็นแผ่นทองจังโกที่ได้จากการขุดค้นในการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวง ระหว่างปี พ.ศ. 2533-2535 (แผ่นทองหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวงนี้เมื่อครั้งพระเจ้าติโลกราชทรงสร้างเสริมพระธาตุเจดีย์หลวง พ.ศ. 2022-2024)
เมื่อหล่อเสร็จแล้วได้อาราธนามาไว้ในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร โดยการตั้งขบวนแห่ต้อนรับรูปเหมือนตั้งแต่ประตูลี้ เมืองลำพูนมาสู่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ขณะนี้อาราธนาประดิษฐานไว้ในวิหารบูรพาจารย์เรียบร้อยแล้วพร้อมทั้งรูปหล่อหุ่นขี้ผึ้งอิริยาบถนั่งสมาธิเท่าองค์จริงหลวงปู่มั่น

อนึ่งในพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหารก่อนบูรณะครั้งล่าสุดนี้ มีรูปเหมือนหลวงปู่มั่นให้ประชาชนสักการะอยู่ 2 องค์ คือ
- รูปหล่อด้วนสำริดรมดำอิริยาบถนั่งสมาธิเท่าองค์จริง หล่อเมื่อปี พ.ศ. 2517 ณ มณฑลพิธีด้านเหนือพระวิหารหลวง วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
- รูปหล่อเหมือนอีกองค์ของหลวงปู่มั่นเป็นรูปหล่อด้วยสำริดรมดำในอิริยาบถยืน สูง 1.73 เมตร

จบการนำเที่ยวชมวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ไว้เท่านี้ก่อนครับหากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะมาอัพเดตกันใหม่ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปศึกษาได้จากเว็บไซต์ของวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เชียงใหม่
คาลดี คอฟฟี่ เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
Na Ma Me Ma Colonial Boutique House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
Jomkitti Boutique Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะ แคลิฟอร์เนีย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.23 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมยู เชียงใหม่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านลุงหมี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
KT House, private double room at old city center เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูทะวีเฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
3 ซิส วาเคชั่น ลอดจ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
TCH Guesthouse เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.30 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com