www.touronthai.com

หน้าหลัก >> นครพนม >> พระธาตุมรุกขนคร

พระธาตุมรุกขนคร

 องค์พระธาตุมรุกขนคร ประดิษฐานที่วัดมรุกขนคร อ.ธาตุพนม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กม. องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนเป็นผังสี่เหลี่ยม ลักษณะคล้ายพระธาตุพนม แต่เล็กกว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 พระมหาธาตุเจดีย์ สูง 50.9 เมตร ฐานกว้างด้านละ 20 เมตร สิ้นค้าก่อสร้าง 35,000,000 บาท ได้รับการอุปถัมภ์จากหม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ ราชเลขาธิการ และคุณหญิงแม่บุญศรีสนธยางกูล พร้อมด้วยศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศ พระธาตุสูง 50.9 เมตร มีความหมายว่าสร้างขึ้นเพื่อสิริราชสมบัติในหลวงทรงครองราชย์ ๕๐ ปี และ จุด ๙ นั้นหมายถึงราชกาลที่ ๙

สิ่งของบูชาพระธาตุ
 ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกบัว ธูป 17 ดอก เทียน 2 เล่ม

คำนมัสการพระธาตุมรุกขนคร
 นะวาหัง ปะระมะสารีริกธาตุโย มรุกขะนะคะระวะหะเย มหาธาตุเจติยัคเค ปติฏฐิตา สิระสา นะมามิ

 พระธาตุมรุกขนคร เป็นพระธาตุบริวารของพระธาตุพนมองค์ที่อายุน้อยที่สุดในบรรดาพระธาตุบริวารทั้งเจ็ดองค์ สร้างมายังไม่ถึงยี่สิบปี ตั้งอยู่ที่บ้านดอนนางหงส์ท่า ต ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม วัดมรุกขนครที่ประดิษฐานพระธาตุองค์นี้มีอายุเกือบสามร้อยปีมาแล้ว สร้างโดยพระบรมราชาเจ้าแอวก่าน เจ้าเมืองมรุกขนคร วัดนี้เป็นวัดประจำเมืองที่มีความเจริญมากต่อมาจึงร้างไป ซากเดิมตั้งอยู่ที่โรงเรียนดอนนางหงส์สงเคราะห์ตรงข้ามที่ตั้งวัดเดิมในปัจจุบัน กั้นด้วยห้วยบังฮวกซึ่งเป็นห้วยที่ไหลมาจากแม่นำโขง หลังจากนั้นจึงได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านโพธิ์ (บริเวณที่เป็นตัวเมืองนครพนมในปัจจุบัน)

ประวัติเมืองมรุกขนคร
 เมืองมรุกขนคร เดิมชื่อ เมืองศรีโคตรบูร ครั้งแรกตั้งอยู่ที่ปากห้วยหินบูร ฝั่งประเทศลาว ตรงกันข้ามอำเภอท่าอุเทน ครั้งที่สองย้ายมาตั้งที่ปากห้วยศรีมัง คือ เมืองท่าแขกในประเทศลาว พญานาครานุรักษ์ (คำสิงห์) ได้เปลี่ยนเป็นชื่อเมืองมรุกขนคร พระบรมราชา (กู่แก้ว) ผู้ครองเมืองรุกขนนคร ได้ย้ายจากเมืองท่าแขกมาตั้งที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยบังฮวก เมื่อ พ.ศ. 2300 ได้สร้างวัดในเมือง 1 วัด ให้ชื่อวัดตามชื่อเมืองว่า "มรุกขนคร" เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่กลางเมือง เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ปัจจุบันเหลือแต่ฐานอุโบสถอยู่บริเวณโรงเรียนดอนนางหงส์สงเคราะห์ ทิศเหนือของห้วยบังฮวก เมื่อก่อนเป็นเขตพุทธาวาส ฝั่งทิศใต้เป็นเขตสังฆาวาส (เป็นที่ตั้งวัดมรุกขนครในปัจจุบัน ที่ดินของวัดจึงเหลือเพียงส่วนเดียว) ต่อมาก็มีการสร้างวัดรอบๆ ได้แก่

  1. วัดดอนกอง (อยู่ระหว่างบ้านดอนกอง ต่อกับบ้านดงขวาง)
  2. วัดดงขวางท่า (อยู่ริมถนนชยางกูรทิศตะวันตกเหนือสุดบ้านดงขวางท่า )  
  3. วัดขอนแก่น (อยู่ริมห้วยบังฮวกลึกเข้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)
  4. วัดนาถ่อนท่า /ดอนศาลเจ้า (บ้านนาถ่อนท่าอยู่ริมถนนชยางกูรด้านทิศตะวันออก)

 สถานที่ตั้งเมืองมรุกถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังอยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งเกิดโรคระบาด มีผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ในปี พ.ศ. 2320 จึงได้ย้ายตัวเมืองไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ตำบล ท่าค้อแทนได้ปรากฏชื่อว่าบ้านเมืองเก่าจนถึงปัจจุบัน เหลือหลักฐานส่วนฐานของศาสนสถานรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทางโรงเรียนได้นำอิฐมาก่อล้อมซากอาคารอายุประมาณปลายสมัยอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของตำบล

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานนครพนม (นครพนม สกลนคร มุกดาหาร) 0 4251 3490-1
http://www.tourismthailand.org/nakhonphanom

แก้ไขล่าสุด 2017-05-29 17:41:44 ผู้ชม 41099

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


พระธาตุมรุกขนคร

วัดนี้เป็นวัดที่สำคัญและเก่าแก่มากแห่งหนึ่งของนครพนม ตั้งแต่สมัยที่เป็นเมืองมรุกขนคร ส่วนพระธาตุเป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นในยุคหลัง แม้ว่าตามแผนที่พระธาตุองค์นี้อยู่ในเขตอำเภอธาตุพนม เหมือนๆ กับพระธาตุพนม แต่ด้วยระยะทางแล้ว พระธาตุมรุกขนครอยู่ใกล้กับพระธาตุเรณูมากกว่า ดังนั้นพระธาตุมรุกขนครจึงเป็นพระธาตุลำดับที่ 4 ตามแผนการเดินทางทริปไหว้ 8 พระธาตุประจำวันเกิด อ่านรายละเอียดของการเดินทางได้ใน ไหว้ 8 พระธาตุประจำวันเกิด

การเดินทางมาตามทางหลวงหมายเลข 212 เป็นถนนสายเลียบแม่น้ำโขงที่ผ่านหลายอำเภอในจังหวัดนครพนม จากพระธาตุพนม มีทางแยกเข้าพระธาตุเรณู จากนั้นก็มาพระธาตุมรุกขนคร ต่อจากนั้นยังไปถึงพระธาตุท่าอุเทน ได้อีกด้วย เมื่อเข้ามาในวัดจะเห็นอุโบสถอยู่ตรงหน้าทางเข้าวัด มีทางข้างโบสถ์ไปถึงสระน้ำ ขับมาถึงด้านหลังของโบสถก็จะเห็นพระธาตุมรุกขนคร ในกำแพงแก้วล้อมรอบ มีซุ้มประตู 4 ทิศ ที่สร้างอย่างสวยงาม

ด้านข้างขององค์พระธาตุ

ด้านข้างขององค์พระธาตุ ภาพนี้เป็นภาพที่ตั้งใจจะเน้นลวดลายที่ประดับอยู่บนองค์พระธาตุ ตั้งแต่ส่วนยอดลงมาจนถึงส่วนฐานมีความคล้ายกับพระธาตุพนม ที่เป็นพระธาตุสำคัญประจำจังหวัดเป็นอย่างมาก จุดเด่นส่วนหนึ่งที่แตกต่างกันก็คือสัญลักษณ์มหามงคลครองสิริราชย์สมบัติ 50 ปี ที่อยู่ตรงส่วนกลางขององค์พระธาตุ เป็นเครื่องหมายว่าพระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นในปี 2539 เป็นพระธาตุบริวารของพระธาตุพนมที่มีอายุน้อยที่สุด และเป็นการถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในมหามงคลวโรกาส

คาถาบูชาดวงประจำวันเกิด วันพุธกลางคืน
คะ พุท ปัน ทูธัม วะ ตะ
ชื่อคาถาพระนารายณ์พลิกแผ่นดินใช้ทางแก้ความผิดประจำทิศพายัพ (ตะวันออกเฉียงเหนือ)

สิ่งของบูชาพระธาตุ
ข้าวตอก น้ำอบ ข้าวเหนียวปิ้ง ดอกบัว ธูป 17 ดอก เทียน 2 เล่ม

คำนมัสการพระธาตุมรุกขนคร
นะวาหัง ปะระมะสารีริกธาตุโย มรุกขะนะคะระวะหะเย มหาธาตุเจติยัคเค ปติฏฐิตา สิระสา นะมามิ

ซุ้มประตูด้านหลัง

ซุ้มประตูด้านหลัง

หลวงพ่อดำ

หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ตรงหน้าองค์พระธาตุมรุกขนคร เป็นจุดที่เราจะบูชาดอกไม้ธูปเทียนเพื่อนมัสการองค์พระธาตุ

ภายในพระธาตุมรุกขนคร

ภายในพระธาตุมรุกขนคร เป็นพระธาตุเพียงองค์เดียวในบรรดาพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 8 องค์ ที่เปิดฐานชั้นล่างให้เดินเข้าไปได้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่งดงาม ปางประทานพร มีบันไดเดินขึ้นไปชั้นบนขององค์พระธาตุได้ เพียงแต่จะมีประตูปิดเอาไว้ เราจึงเข้าได้เพียงฐานชั้นล่างเท่านั้น

อุโบสถวัดมรุกขนคร

อุโบสถวัดมรุกขนคร หลังจากนมัสการพระธาตุแล้วก็เป็นเวลาที่เราจะเดินสำรวจรอบวัดอีกสักหน่อยก่อนที่จะเดินทางไปยังวัดต่อไป ด้านหน้าของอุโบสถเราเห็นสัญลักษณ์ครองสิริราชย์สมบัติ 50 ปี อยู่บนหน้าบันที่สวยงาม ปกติภายในอุโบสถไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะองค์พระประธาน

พญานาคล้อมต้นไม้

พญานาคล้อมต้นไม้ วัดมรุกขนคร เป็นอุทยานการศึกษาวัดแห่งแรกของประเทศไทย สถานที่ปฏิบบัติธรรมกัมมัฏฐานถาวรของประเทศและภูมิภาค พระปริยัติธีรคุณ เล่าว่า บริเวณแห่งนี้เป็นศาลเจ้าเมืองเก่ามรุกขนครชื่อ "เจ้าเมืองวิชัยธงยศ, เจ้าฟ้ามุมเมือง, เจ้าศรีระชวา" ส่วนข้างในวัดเข้าไปมีต้นไม้ใหญ่นั้นเป็น "ศาลเจ้าปู่ขอม" ปกปักรักษา

สำหรับพญานาค 3 ตน ดั่งที่ปรากฏเห็นนี้ พระปริยัติธีรคุณเล่าว่า ครั้งสมัยหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย อ.ปลาปาก เกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งสยามประเทศได้มาปฏิบัติธรรมกรรมฐานที่วัดมรุกขนครแห่งนี้ ได้นั่งสมาธิและบอกให้สร้าง "พญานาคล้อมต้นไม้ใหญ่" ดังกล่าวนี้โดยกล่าวว่า "พญานาค 7 ตน ที่รักษาองค์พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม ได้มารักษาที่วัดมรุกขนคร 3 ตน ต่อไปจะเจริญรุ่งเรือง ตามคำบอกเล่าของหลวงปู่ บริเวณนี้เป็น สถานที่ของพญานาคราชหลายตน" ในบางคราวในวันพระวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะปรากฏสิ่งแปลกประหลาด เช่น ปรากฏรอยเท้าทางเดินกลับกัน (ตรงข้ามกับการเดินของคนทั่วไป) "หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปญฺโญ" ได้ปรารภว่า "ให้จัดเป็นรูปปฏิบัติธรรมประจำปี ระหว่างวันที่ 16-25 มกราคม ของทุกปี" ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จากที่วัดมีเพียงศาลาหลังเล็กๆ ชื่อ "ฟ้าประทาน" ปัจจุบันด้วยแรงศรัทธา จึงเกิดศาลาอุโบสถ ศาลาริมน้ำ มหาธาตุเจดีย์ ฯลฯ กระทั่งการขยายที่วัดออกไปทางด้านหลังวัด โดยญาติโยมจากทั่วทุกสารทิศ ร่วมบริจาคปัจจัยซื้อถวายขยายที่วัด

ที่ประทับพระโพธิสัตว์กวนอิม

ที่ประทับพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นสถานที่สุดท้ายสำหรับการไหว้พระทำบุญนมัสการพระธาตุมรุกขนครของเราสำหรับวันนี้ ที่แห่งนี้ก็คล้ายๆ กับวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมที่มักจะสร้างอยู่ในวัดหลายแห่ง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะเป็นสิริมงคล

พระโพธิสัตว์กวนอิม

พระโพธิสัตว์กวนอิม

รีวิว พระธาตุมรุกขนคร นครพนม


 "กลับมาอีกทีแทบจำไม่ได้เลยครับ เปลี่ยนไปเยอะมากและสวยมากแนะนำเลยว่าควรจะได้มาไหว้สักครั้งถึงจะไม่ได้เกิดวันพุธกลางคืนก็ไหว้ได้ครับ"

Akkasid Tom Wisesklin
2022-05-21 19:05:34

พระธาตุมรุกขนคร นครพนม


 "ขอพรพญานาค 3 ตน โคนต้นประดู่ สร้างโดยคำแนะนำของหลวงปู่คำพันธ์ "

Akkasid Tom Wisesklin
2021-12-28 12:01:23

พระธาตุมรุกขนคร นครพนม


10/10 จาก 2 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พระธาตุมรุกขนคร นครพนม
Thatphanom View Hotel Nakhon เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
ริมโขงวิว รีสอร์ท ธาตุพนม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเอ็น.เจ. เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทอแสง รีสอรท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
ธาตุพนม ริเวอร์ วิว โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
White House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
สีฟอง โฮมเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแสงทองริมโขง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมณ ธาตุพนม เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพรนฤมิตร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  29.19 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com