www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ชลบุรี >> พระจุฑาธุชราชฐาน

พระจุฑาธุชราชฐาน

 พระจุฑาธุชราชฐาน ห่างจากท่าเทววงศ์ลงมาทางใต้ของเกาะ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ประทับในฤดูร้อน ภายในบริเวณมีสภาพภูมิทัศน์ที่งดงาม ด้านหน้าเป็นชายหาดท่าวัง ถัดขึ้นไปเป็นตึกวัฒนา พระตำหนักทรงปั้นหยา เรือนไม้ลวดลายขนมปังขิง ตึกผ่องศรีหรือศาลาแปดเหลี่ยม ตึกอภิรมย์ และวัดวัดอัษฎางค์นิมิตรบนยอดเขาซึ่งก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตก ส่วนพระราชวังซึ่งทำด้วยไม้สักได้รื้อไปก่อสร้างเป็นพระที่นั่งวิมานเมฆ ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ได้แก่ สระน้ำ บ่อน้ำ สะพานท่าเทียบเรือ (สะพานอัษฎางค์) และประภาคาร

ความสำคัญและความเป็นมา
 พระจุฑาธุชราชฐาน เป็นพระราชวังบนเกาะแห่งเดียวในประเทศไทย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเริ่มสร้างอาคารที่พักต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 และใช้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ จนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส รศ.112 ซึ่งมีกองทหารบุกขึ้นเกาะสีชังและปิดอ่าวไทย การก่อสร้างพระที่นั่งและพระตำหนักต่างๆ จึงยุติลง และในปี พ.ศ.2435 โปรดให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไปสร้างในที่อื่น แต่นั้นมาเป็นอันเลิกพระราชวังที่เกาะสีชัง

 ในปี พ.ศ. 2521 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับมอบสิทธิการใช้ที่ดินจากกรมธนารักษ์ โดยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 5 ไร่) จัดตั้งสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล และศูนย์ฝึกนิสิต พร้อมทั้งดูแลโบราณสถานและโบราณวัตถุในเขตที่ดินดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ปัจจุบันพื้นที่สถานีวิจัยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และพื้นที่ในส่วนพระราชฐาน ประมาณ 219 ไร่ อยู่ในความดูแลของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาฯ พื้นที่ในส่วนนี้ได้มีการปรับปรุงร่วมกับกรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มีการซ่อมแซมอาคารต่างๆ ที่คงเหลืออยู่จำนวน 5 หลัง ประกอบด้วยเรือนไม้ริมทะเล ตึกผ่องศรี ตึกอภิรมย์ ตึกวัฒนา และพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร มีสระ บ่อ ธาร พุ น้ำตก จำนวน 27 แห่ง บันได จำนวน 21 แห่ง สวน ถ้ำและทางเดิน ซึ่งล้วนแต่มีชื่อพระราชฐานทั้งสิ้น

 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้งบประมาณแผ่นดินจำนวนหนึ่งเพื่อดำเนินการปรับปรุงพระราชฐานแห่งนี้ให้สวยงาม และเพื่อจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันนี้ได้ทำการปรับพื้นที่ เตรียมการฟื้นฟูปรับปรุงสภาพอาคารต่างๆ ที่ได้ปรับปรุงไว้แล้วแต่เกิดความเสียหายให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย

 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2547 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์จุฑาธุชราชฐาน

 พิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 น. - 17.00 น. ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชม ปีละประมาณ 80,000 คน

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. พัทยา โทร. 0 3842 7667, 0 3842 8750 Call Center 1337
http://www.tourismthailand.org/pattaya

แก้ไขล่าสุด 2016-04-19 13:01:03 ผู้ชม 21826

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ซุ้มประตูทางเข้าพระจุฑาธุชราชฐาน

ซุ้มประตูทางเข้าพระจุฑาธุชราชฐาน นั่งรถจากศิลาจารึกสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงจารึกไว้เมื่อครั้งเสด็จมาประทับเกาะสีชัง มาไม่กี่นาทีก็มองเห็นซุ้มทางเข้าพระจุฑาธุชราชฐานและสะพานอัษฎางค์สำหรับเทียบเรือ หาดท่าวังอันสวยงามและลือชื่อ

สะพานอัษฎางค์

สะพานอัษฎางค์ สะพานอัษฎางค์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ จุฑาธุชราชฐาน หลายๆ เว็บไซต์ หรือนิตยสารท่องเที่ยวจะมีภาพสะพานแห่งนี้อยู่ วันนี้มีเรือประมงขนาดเล็กจอดเรียงรายอยู่ 3-4 ลำ เอามาทำเป็นองค์ประกอบภาพได้อย่างลงตัว
สวยใสทั้งทะเลและท้องฟ้า วันนี้ช่างเป็นโชคดีของเราหลังจากที่กรมอุตุเตือนว่าจะมีฝนตกตลอดเจ็ดวันเมื่อช่วงวันที่ 12 - 18 กันยายน 52 ทั้งภาคกลางและภาคตะวันออก วันก่อนเดินทางฝนตกหนักเทลงมาห่าใหญ่ คงเป็นเพราะเหตุนี้เอง วันนี้ถึงได้ฟ้าใสจับใจ

หาดท่าวัง

หาดท่าวัง เอาแบบสวยๆ อีกภาพละกัน สำหรับผู้ใดที่ก๊อปปี้ภาพนี้ไปกรุณาอย่าครอปโลโก และลิงค์กลับมายังเราด้วยนะครับ ภาพนี้เป็นภาพที่จะมีให้ดาว์นโหลดที่หน้า wall paper ด้วย
การเดินชมพระจุฑาธุชราชฐานนั้นสามารถเดินเข้าด้านขวามือเริ่มจากศาลศรีชโลธรเทพ หรือตรงมาที่หาดท่าวังแล้วค่อยๆ เดินเข้าสู่พระราชฐานก็ได้ เราเลือกทางที่ 2 เพราะเกรงว่าหากเข้าภายในก่อนแล้วค่อยกลับออกมา สภาพแสงจะเปลี่ยนไป

ท่าเรือเกาะสีชัง

ท่าเรือเกาะสีชัง จากหาดท่าวังมองเห็นท่าเรือเกาะสีชังได้ชัดเจน เห็นศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่อาจจะเล็กไปหน่อย ส่วนบนสุดของเขาที่เห็นสีขาวๆ คือมณฑปพระพุทธบาทบนเขาพระจุลจอมเกล้า

ฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์

ฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ เดิมทีมีพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังซึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ด้วยกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเมื่อ รศ.๑๑๒ มีกองทหารบุกขึ้นเกาะสีชังและมีการปิดอ่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้หยุดการก่อสร้างทั้งหมดและรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ไปสร้างในที่อื่น เมื่อ พ.ศ. 2435 แต่นั้นมาเป็นอันเลิกพระราชวังที่เกาะสีชัง

ฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์

ฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากจุดนี้จะมองเห็นเป็นรูปแปดเหลี่ยม แต่ฐานฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์นั้นมีลักษณะยาวกว่ารูปแปดเหลี่ยมที่เห็นนี้ประมาณ 5 เท่า ซึ่งต้องมองจากทางอากาศจะเห็นได้ชัดเจน
พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์เป็นพระที่นั่งองค์สำคัญในพระจุฑาธุชราชฐาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสร้างพระที่นั่งองค์นี้และพระราชฐานพร้อมกัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปีพุทธศักราช 2435 การก่อสร้างดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
จนถึงปีพุทธศักราช 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส กองทหารฝรั่งเศสหมวดหนึ่งได้ขึ้นยึดเกาะสีชัง ทำให้การก่อสร้างพระที่นั่งต้องหยุดชะงักลง ครั้นปีพุทธศักราช 2443 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อองค์พระที่นั่งมาสร้าง ณ ข้างอ่างหยกในพระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร พระราชทานนามใหม่ว่า "พระที่นั่งวิมานเมฆ"

วิวหน้าเรือนไม้ริมทะเล

วิวหน้าเรือนไม้ริมทะเล ถัดจากฐานพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ มาประมาณ 10 เมตรก็ถึงเรือนไม้ริมทะเล และหาดด้านหน้าเห็นเป็นวิวสวยเมื่อยามบ่าย แต่ถ้าจะถ่ายภาพเรือนไม้ริมทะเลกลับได้มุมย้อนแสงแทน หาดหน้าเรือนไม้ริมทะเล เป็นหาดยาวประมาณ 100 เมตรมีบันไดเดินลงไปแต่ช่วงบ่ายวันนี้น้ำทะเลขึ้นสูงทำให้ไม่เห็นหาดเสียแล้ว ที่เกาะสีชังช่วงที่เราไป (เดือนกันยายน) น้ำลงตอนเช้า และขึ้นตอนบ่ายครับ

เรือนไม้ริมทะเล

เรือนไม้ริมทะเล สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างในปีใด สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะใช้เป็นเรือนตากอากาศของชาวต่างประเทศมาแต่ก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงเป็นที่ประทับแรมของราชวงศ์ก่อนที่จะมีการสร้างพระจุฑาธุชราชฐานในปี พ.ศ. 2435

เรือนไม้ริมทะเล เกาะสีชัง

เรือนไม้ริมทะเล เกาะสีชัง ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นร้านกาแฟเล็กๆ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ มีกาแฟจำหน่ายให้นักพักผ่อนทั้งหน้าระเบียงและภายใน

ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว

ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ตั้งแสดงไว้ในเรือนไม้ริมทะเล เรือนไม้ริมทะเลจะเปิดให้เข้าชมได้เฉพาะชั้นล่าง และห้ามถ่ายภาพภายใน (มีป้ายบอกไว้) แต่เราขออนุญาตถ่ายภาพเพื่อมานำเสนอแฟนๆ ทัวร์ออนไทยโดยเฉพาะ ข้อมูลที่ตั้งแสดงอยู่ในเรือนไม้ริมทะเลเป็นข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาคารต่างๆ ภายในพระจุฑาธุชราชฐาน ซึ่งจะอธิบายในรูปต่อๆ ไป

เรือนวัฒนา

เรือนวัฒนา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาไศรย์สฐาน เมื่อปีพุทธศักราช 2432 เพื่อเป็นที่พักฟื้นสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่อมาใช้เป็นเรือนประทับของพระราชวงศ์ ก่อนที่จะมีการสร้างพระจุฑาธุชราชฐานในปีพุทธศักราช 2435 ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเกาะสีชังในสมัยรัชกาลที่ ๕

ประตูเรือนวัฒนา

ประตูเรือนวัฒนา วันนี้ทัวร์ออนไทยจะนำเข้าไปดูภายในเรือนวัฒนากัน

ข้อมูลที่แสดงในเรือนวัฒนา

ข้อมูลที่แสดงในเรือนวัฒนา ภาพเหล่านี้เป็นภาพวาดและข้อมูลประกอบเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เกิดขึ้นบนเกาะสีชังแห่งนี้ นอกจากที่เห็นนี้ยังมีแสดงไว้อีกหลายภาพ รอบห้อง รวมทั้งชั้นบนก็มีอีกบางส่วน เรือนวัฒนาอนุญาตให้ถ่ายภาพได้ทั้งภายในภายนอก และทั้งชั้นบน-ชั้นล่างด้วย

รายการสะบัดช่อกับไกด์เยาวชน

รายการสะบัดช่อกับไกด์เยาวชน มาถึงเกือบพร้อมกันอีกแล้วกับกองถ่ายสะบัดช่อ หลังจากที่เจอกันที่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ในเรือนไม้ริมทะเลปัจจุบันเป็นสถานที่บริการนักท่องเที่ยวติดต่อไกด์เยาวชนท้องถิ่นได้ด้วยนะครับ

บันไดและทางสัญจรในพระจุฑาธุชราชฐาน

บันไดและทางสัญจรในพระจุฑาธุชราชฐาน ตรงนี้เป็น 1 ในบันได ที่มีรวมทั้งหมด 21 แห่งแต่ละแห่งมีชื่อเรียกด้วยได้แก่
บันไดเนรคันถี บันไดรีฟันม้า บันไดคาประเยนนูน บันไดมูนโสตนหนา บันไดศิลาทอง บันไดผองผลึก บันไดบึกพระกาฬ บันไดปานแห่งหยก บันไดปกนาคสวาด บันไดลาดนาคสวย บันไดรวยศิลาแร่ บันไดแพร่เพชรน้ำค้าง บันไดพร่างนิลน้ำขาว บันไดพราวตากระต่าย บันไดพรายคัมเมียว บันไดเขี้ยวหนุมาน บันไดผสานโมรา บันไดศิลาสีอ่อน บันไดท่อนมาเบอร์ บันไดเสมอกรุ่นผา บันไดศิลาอ่อนลาย

บ่อน้ำและสระน้ำในพระจุฑาธชราชฐาน

บ่อน้ำและสระน้ำในพระจุฑาธชราชฐาน เช่นเดียวกันกับบันได บรรดาบ่อน้ำและสระน้ำต่างๆ ในพระจุฑาธุชราชฐานต่างก็มีชื่อเรียกเหมือนกัน ได้แก่
บ่อเชิญสรวล บ่อชวนดู บ่อชูจิตร บ่อพิศเพลิน บ่อเจริญใจ บ่อหทัยเย็น บ่อเพ็ญสำราญ บ่อศิลารอบ บ่อชอบก่อ บ่อล้อหอย บ่อน้อยเขา บ่อเลาเหมือนคู่ บ่อดูเหมือนต่อ
สระน้ำ สระเทพนันทา สระมหาโนดาดต์ สระประพาสชลธาร

บันไดจากเรือนวัฒนา

บันไดจากเรือนวัฒนา

เรือนผ่องศรี

เรือนผ่องศรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาไศรย์สฐาน เมื่อปีพุทธศักราช 2432 เพื่อเป็นที่พักฟื้นสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศ ต่อมาใช้เป็นเรือนประทับของพระราชวงศ์ ก่อนที่จะมีการสร้างพระจุฑาธุชราชฐานในปีพุทธศักราช 2435
ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ พระราชประวัติและประวัติบุคคลผู้มีบทบาทำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเกาะสีชังในสมัยรัชกาลที่ ๕

เรือนอภิรมย์

เรือนอภิรมย์ อยู่ห่างจากเรือนผ่องศรีประมาณ 20 เมตร จัดแสดงนิทรรศการสิ่งปลูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕

พระบรมรูปในเรือนผ่องศรี

พระบรมรูปในเรือนผ่องศรี พระบรมรูปนี้ปั้นหล่อจากพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีบันทึกไว้ว่า "ทรงฉาย ณ เกาะสีชัง" สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในราวปีพุทธศักราช 2435-2436 (พระบรมรูปและพระรูปจากซ้าย) สมเด็จพระเ้จ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ

นิทรรศการเรือนผ่องศรี

นิทรรศการเรือนผ่องศรี

ทางสัญจรในพระจุฑาธุชราชฐาน

ทางสัญจรในพระจุฑาธุชราชฐาน จากเรือนผ่องศรีจะเดินทางต่อไปยังวัดอัษฎางคนิมิตร ระยะทางรวมประมาณ 145 เมตร ลักษณะทางสัญจรส่วนใหญ่ในพระจุฑาะธุชราชฐาน มีต้นไม้ตลอดสองข้างทาง มีช่วงเนินขึ้นวัดอัษฎางคนิมิตรเท่านั้นที่ดูโล่ง ทางสัญจรในพระจุฑาธุชราชฐานก็มีชื่อเหมือนกับที่ สระ บ่อ และ บันได เช่น ทางแผลงทองหุ้ม ทางคุ้มทองหลอด เป็นต้น

ลานหินระฆัง

ลานหินระฆัง บริเวณนี้มีหินระฆังอยู่ (ด้านบนสุดของลานหิน) ลักษณะของหินบนลานหินนี้มีแสงประกายระยิบระยับ เห็นร่องรอยของการกัดเซาะของธาร มีพระเจดีย์อยู่อีกด้านหนึ่งของลานหิน หินระฆัง เมื่อเอามาเคาะกันจะมีเสียงดังกังวานคล้ายเสียงตีระฆัง

พระเจดีย์

พระเจดีย์ ไม่ปรากฏหลักฐานหรือข้อมูลใดๆ เท่าที่ค้นหามาเกี่ยวกับพระเจดีย์องค์นี้ แต่ด้วยระยะทางจากพระเจดีย์ถึงพระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร พระเจดีย์นี้น่าจะเป็นศาสนสถานส่วนหนึ่งของวัด

หินที่ลานหินระฆัง

หินที่ลานหินระฆัง มีแสงประกายสะท้อนแสงแดด ระยิบระยับ เนื้อหินมีลักษณะหยาบ เดินไม่ลื่น

พระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

พระเจดีย์อุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ แห่งหนึ่งของเกาะสีชังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2435 แทนวัดปลายแหลมที่มีมาแต่เดิม พระอุโบสถเป็นอาคารรูปทรงกลมมีเจดีย์ทรงลังกาซ้อนอยู่ข้างบน ลักษณะแปลกอีกประการหนึ่งคือมีการประดับตกแต่งตามศิลปะแบบโกธิก กล่าวคือประตูและหน้าต่างเป็นรูปโค้งยอดแหลม ช่องแสงประดับด้วยกระจกสีเป็นลวดลาย

ภายในพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

ภายในพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

พระประธานในอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

พระประธานในอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร ลวดลายบนพื้น และลักษณะของช่องแสงที่มีเข้ามารอบด้านดูสวยงามมาก วันที่ไปถ่ายภาพนั้นมีกองถ่ายสะบัดช่อไปพอดี นอกจากนี้ยังมีการเรียนถ่ายภาพนอกสถานที่ที่นี่ด้วย

วิวรอบพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร

วิวรอบพระอุโบสถวัดอัษฎางคนิมิตร บริเวณรอบๆ พระอุโบสถมีลานกว้างประมาณ 6-8 เมตรจากพระอุโบสถไปยังกำแพงที่ล้อมรอบอยู่ บนกำแพงมีศิลาจารึกตั้งอยู่ 8 หลัก มีเนื้อหาแตกต่างกันไป

ศิลาจารึกหลักที่ ๔

ศิลาจารึกหลักที่ ๔ ศิลาจารึกหลักที่ ๔ อยู่ด้านหน้าของพระอุโบสถพอดี ถัดไปนอกกำแพงแก้วมีต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปลูกไว้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2435 โดยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงอันเชิญหน่อมาจาก ตำบลพุทธคยา อันเป็นสถานที่แห่งการตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕

พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ในวันที่เดินทางไปเก็บภาพมีการประดับบริเวณพระบรมรูปด้วยดอกกุหลาบและผ้าด้วยสีชมพู อย่างสวยงาม เนื่องจากวันที่ 19-20 กันยายน จะเป็นวันงานรำลึก 100 ปี ชาวสีชังทั้งเกาะถวายราชสักการะพระปิยมหาราช ประจำปี 2552

บริเวณการจัดงานรำลึก 100 ปี

บริเวณการจัดงานรำลึก 100 ปี

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง
พวงพยอม รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
เกาะสีชัง รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
โมรอค โฮม รีสอร์ต เกาะสีชัง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
Rakbankerd House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
เบนซ์ บังกะโล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
บิ๊กเฮาส์ เกาะสีชัง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
วิไลลักษณ์ บังกะโล แอท เกาะสีชัง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
สีชัง วิลลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
เกาะสีชัง ริมทะเล รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
นิวตรอน บังกะโล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.39 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com