www.touronthai.com

หน้าหลัก >> จันทบุรี >> เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางคืน

เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางคืน

 รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฎ การเดินทางเริ่มต้นที่วัดพลวงไปตามถนนที่ลาดชันมาก ระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ทิวทัศน์บนยอดเขาคิชฌกูฏหรือเขาพระบาทนี้เป็นปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาที่นำมาผูกกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาท หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์ บนยอดเขาพระบาทซึ่งมีอากาศเย็นสบายนั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน เฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงช่วงวันมาฆบูชาของทุกปีจะมีประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นจำนวนมาก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ โทร. 0 3945 2074

 ภาพทริปนี้เป็นการเดินทางในช่วงกลางคืน ภาพที่ได้อาจจะไม่คมชัดแต่ถือว่าอ่านเพื่อข้อมูลก็แล้วกันนะครับ ทัวร์ออนไทยมีภาพจากทริปก่อนหน้านี้ซึ่งเดินทางในเวลากลางวันคลิกดูได้ที่ เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางวัน

ข้อมูลเพิ่มเติม:อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ โทร. 0 3945 2074

แก้ไขล่าสุด 2017-07-26 17:37:47 ผู้ชม 307715

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เดินทางถึงวัดพลวง

เดินทางถึงวัดพลวง จุดเริ่มต้นการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาพระบาท หรือที่เรียกกันว่า เขาคิชฌกูฏ คือวัดพลวง โดยการจอดรถไว้ที่ลานจอดรถที่ทางวัดจัดไว้ให้ เมื่อจอดรถเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็เดินไปที่จุดจำหน่ายบัตรสำหรับรถ 4WD เพื่อขึ้นเขา ทางวัดไม่อนุญาตให้ประชาชนเอารถของตัวเองขึ้นไปเพราะการขับบนเส้นทางเขาคิชกูฏต้องใช้ชาวบ้านที่ชำนาญทางเป็นพิเศษ เส้นทางบางช่วงมีการหลบหลีกแบบรู้กันในหมู่คนขับเท่านั้นที่สำคัญบนเขาไม่มีที่จอดรถกว้างพอที่จะรองรับรถของนักท่องเที่ยวทั้งหมดได้ ข้อสำคัญของการขึ้นเขาคิชกูฏอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ศรัทธาเขาคิชกูฏ เดินทางมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อเป็นจำนวนมากเมื่อมาถึงที่จำหน่ายบัตรสำหรับขึ้นรถช่องจำหน่ายบัตรจะเต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก การรอคิวซื้อบัตรขึ้นรถก็ทำได้ช้า และต้องรอรถตามบัตรคิวของตัวเองอีก บางวันอาจจะต้องรอนานมากกว่า 1 ชั่วโมง อย่างเช่นทริปของเราในวันนี้ เดินทางถึงวัดพลวงประมาณเที่ยงคืนเศษแต่ต้องรอรถเกือบตี 3 ถึงจะได้ขึ้น สำหรับผู้ที่เดินทางมาเป็นหมู่คณะแนะนำให้เดินทางขึ้นแบบแยกกันแล้วนัดพบกันที่บนยอดเขาหากจะรอซื้อบัตรขึ้นรถให้ได้คันเดียวกันจะช้ามาก โดยเฉพาะเมื่อก่อนมีการต่อรถที่ช่วงที่ 2 จะยิ่งช้าไปกันใหญ่เพราะต่างคนต่างก็อยากรีบๆ ซื้อบัตรแล้วเดินทางต่อให้เร็วที่สุด การรอให้ได้รถคันเดียวกันจะยากมาก ดีว่าปีนี้ 2560 เค้าตัดให้เหลือนั่งรถต่อเดียวยาวถึงยอดเลยเร็วขึ้นเยอะเลย ระหว่างทางเดินจากลานจอดรถวัดพลวงมายังจุดนี้จะผ่านร้านค้ามากมายสองข้างทาง แต่ละร้านส่วนใหญ่จะจำหน่ายแผ่นทองคำเปลวและพลอยประจำวันเกิดจัดเป็นชุดๆ พร้อมกับดอกดาวเรืองและธูปเทียนเพื่อใช้ในการสักการะบูชาพระธาตุเป็นสิริมงคล สำหรับดอกดาวเรืองและพลอยจะใช้โรยที่รอยพระพุทธบาทบนยอดเขา

ถึงยอดเขาคิชฌกูฏ

ถึงยอดเขาคิชฌกูฏ ระหว่างการเดินทาง ไม่สามารถเก็บภาพมาฝากได้เลยครับเพราะมีแต่ความมืดเท่านั้น จนในที่สุดเราก็มาถึงยอดเขาคิชกูฏ ต่อจากตรงนี้ไปจะต้องเดินเท้าต่อไปหากต้องการไปสักการะรอยพระพุทธบาทระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร หากต้องการเดินไปจนสุดเขตประเทศไทย ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งจะมีการเขียนชื่อของเราลงบนผ้าแดงผืนใหญ่บนยอดเขา บริเวณที่เห็นอยู่นี้ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ องค์หนึ่งที่ประชาชนตั้งใจมากราบไหว้เป็นสิริมงคลคือพระสิวลี หลังจากจุดธูปเทียนบูชาพระ ทุกคนก็จะออกเดินทางด้วยจิตใจตั้งมั่นด้วยศรัทธาว่าจะเดินขึ้นจนถึงยอดเขาให้ได้

ประตูสวรรค์

ประตูสวรรค์ หลังจากการเดินทางที่ยาวนานพอสมควรตามเส้นทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ จะมาถึงประตูสวรรค์ หากเดินทางมากลางวันจะได้เห็นวิวสวยๆ ของเขาคิชกูฏแห่งนี้ได้อย่างดี ระหว่างทางมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่มีการสร้างศาลาเป็นจุดพักระหว่างทางที่ดีของคนที่เดินขึ้นเขา ไหว้พระทำบุญและพักจนหายเหนื่อยแล้วก็เดินต่อไป
ประตูสวรรค์มีลักษณะเป็นหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กัน มีช่องว่างระหว่างหินทั้งสองมีบันไดทางขึ้นสร้างไว้ให้ตอนเดินผ่านประตูสวรรค์ต้องก้มหัวนิดหน่อย

ลอดประตูสวรรค์

ลอดประตูสวรรค์ ทางเดินขึ้นสู่ยอดเขาช่วงนี้มีทางแยกออกเป็นสองทางครับแต่ทางนี้จะนิยมมากกว่าเพราะอย่างน้อยก็จะได้ลอดประตูสวรรค์แห่งนี้ เมื่อลอดประตูสวรรค์แล้วจะถึงลานกว้าง ทางขวามือจะมีถ้ำต่างๆ อย่างเช่นถ้ำปู่ฤๅษี ส่วนบริเวณลานกว้างประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร ประชาชนหลายคนพยายามเสี่ยงโยนเหรียญลงในบาตรพระตามความเชื่อ นอกเหนือจากนั้นบริเวณนี้จะเป็นสถานที่บูชาวัตถุมงคลของวัดมีให้เลือกมากมายหลายอย่างต้องไปเลือกดูกันเองครับ

ประชาชนหลั่งไหลมายอดเขาคิชฌกูฏ

ประชาชนหลั่งไหลมายอดเขาคิชฌกูฏ สำหรับการเดินทางในช่วงกลางคืนพบว่ามีประชาชนหนาแน่นบนยอดเขาดูเหมือนจะมากกว่าช่วงกลางวันด้วยซ้ำเพราะหลายๆ คนเชื่อว่าการเดินขึ้นเขาคิชกูฏในเวลากลางคืนจะไม่ร้อน ทำให้เดินได้อย่างสบาย ระหว่างนี้ก็จะมีพระภิกษุสวดมนต์ให้พรประชาชนและร่วมกันสักการะพระพุทธบาทที่อยู่ไม่ไกลจากจุดนี้ รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ใกล้กับหินบาตรคว่ำ ซึ่งเป็นหินขนาดใหญ่มากลักษณะคล้ายกับบาตรที่คว่ำไว้ เป็นจุดเด่นของยอดเขาพระบาทหรือเขาคิชฌกูฏ แห่งนี้
หลายๆ คนที่เดินทางมาเขาคิชฌกูฏจะหยุดอยู่ที่รอยพระพุทธบาทแล้วเดินลงเขาไป แต่ทางเดินบนยอดเขาแห่งนี้ยังไม่สิ้นสุด จากนี้ไปเป็นเส้นทางเดินไปยังผ้าแดง ระยะทางประมาณเท่าตัวของการเดินจากจุดที่ลงรถแล้วมาถึงตรงนี้ โดยระหว่างทางมีไฟส่องสว่างให้เป็นระยะๆ แต่บางช่วงก็จะมืดมากหากสนใจจะมากลางคืนควรเตรียมไฟฉายมาด้วย

หินบาตรคว่ำและรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ

หินบาตรคว่ำและรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ เมื่อเดินตามเส้นทางมาได้สักพักจะมีสะพานเป็นจุดหนึ่งที่สูงที่สุดของเส้นทางนี้ที่จะมองเห็นหินบาตรคว่ำได้อย่างชัดเจน แต่ระยะทางค่อนข้างไกล และในเวลากลางคืนการถ่ายภาพนี้โดยไม่มีขาตั้งจึงได้ภาพไม่ชัดแต่ก็พอมองรู้เรื่องว่ามีคนมากขนาดไหนที่บริเวณรอยพระพุทธบาทที่หินบาตรคว่ำ

รอยพระพุทธบาทที่เขาคิชฌกูฏนับว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สูงที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 1,000 เมตร

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร(เจ้าแม่กวนอิม)

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร(เจ้าแม่กวนอิม) บนยอดเขาคิชกูฏ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ศรัทธาของประชาชนจำนวนมาก นอกจากพระพุทธรูปแล้วก็มีเจ้าแม่กวนอิม รูปปู่ฤๅษี พระพิฆเนศ พระอินทร์ เป็นต้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะประดิษฐานอยู่จุดต่างๆ ของทางเดินใกล้บ้างไกลบ้าง ประชาชนที่มาที่นี่จะหยุดกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และทำบุญ รวมทั้งพักหายเหนื่อยไปในตัว เมื่อเดินมาถึงตรงนี้อากาศจะเริ่มหนาวเย็นมากกว่าช่วงแรกคือนับตั้งแต่รอยพระพุทธบาทลงไป ถ้าจะมาเดินตอนกลางคืนเหมือนทริปนี้ไม่ควรลืมเสื้อกันหนาวติดมาด้วยนะครับ

รูปปู่ฤๅษี

รูปปู่ฤๅษี ใกล้ๆ กับเจ้าแม่กวนอิมมีรูปปั้นปู่ฤๅษีหลายตนบนหินขนาดใหญ่ การศรัทธานับถือฤาษีนั้นมีมาแต่สมัยพุทธกาลว่าเป็นผู้มีความเพียรบำเพ็ญปฏิบัติและปลีกวิเวกเป็นผู้รู้ญาณในระดับสูง ในปัจจุบันผมเองก็มีโอกาสได้พบกับฤๅษีจริงๆ อยู่ครั้งหนึ่งที่เพชรบูรณ์ และไม่อยากเชื่อว่าปัจจุบันมีฤๅษีอยู่จริง

ศาลท้าวสักกะเทวราช ศาลพระอินทร์

ศาลท้าวสักกะเทวราช ศาลพระอินทร์ เดินต่อมาอีกหน่อยจะพบศาลท้าวสักกะเทวราช และศาลพระอินทร์ ที่จริงท้าวสักกะเทวราชก็คือองค์อินทร์หรือพระอินทร์ตามข้อมูลกล่าวว่า
ท้าวสักกะเทวราขนั้น มีชื่ออยู่หลายชื่อที่เราคงเคยได้ยินมาว่า..เช่น บางองค์มีชื่อเรียกว่า"ท้าวปุรินททะ" บางองค์ชื่อ"ท้าวสักกะ" บางองค์ชื่อ"ท้าวมฆวาน" บางองค์ชื่อ"ท้าววาสวะ" เป็นต้น..
ตามที่พุทธเจ้าได้ตรัสไว้มี ๗ ชื่อด้วยกัน โดยมีชื่อเรียกต่างกันนั้น เพราะเหตุการณ์หรือการกระทำในขณะที่เป็นมนุษย์นั้นไม่เหมือนกัน เช่น
- ท้าววาสวะนั้นได้สร้างเหตุในการให้ที่พักอาศัย.
- ท้าวสักกะนั้นก็ได้สร้างเหตุ คือ เป็นผู้ให้ทานโดยเคารพ
- ท้าวมฆวานนั้นได้ทำเหตุ ในการสร้างทางและที่พักให้ผู้เดินทางได้รับความสะดวกสบาย และยังมีที่ให้พักข้างทางด้วย
บุคคลจะเกิดเป็นท้าวสักกะได้นั้นต้องกระทำ"วัตตบท" ๗ อย่าง (ความประพฤติเป็นประจำไม่ประมาทในความประพฤติ ๗ อย่างนี้) โดยกล่าวคือ...
๑. เลี้ยงดูมารดาบิดา
๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล....
๓. กล่าววาจานุ่มนวลสุภาพ....
๔. ไม่กล่าววาจาส่อเสียด.....
๕. ไม่ตระหนี่มีใจในการบริจาคทาน.....
๖. มีวาจาสัจจริงใจ....
๗. ไม่โกรธ แม้โกรธก็ระงับได้...
คุณธรรมทั้ง ๗ ข้อนี้ ต้องปฏิบัติไปให้ได้ตลอดชีวิต....

ในเมื่อท้าวสักกะเทวราชเป็นองค์เดียวกันกับพระอินทร์การที่วัดพลวงสร้างศาล 2 แห่ง สีต่างกันจุดนี้ผมยังไม่เข้าใจเหมือนกันหากได้ไปคราวหน้าคงได้สอบถามข้อมูลมาฝาก

ร่วมถวายสังฆทานแด่พระภิกษุ

ร่วมถวายสังฆทานแด่พระภิกษุ ประชาชนจำนวนมากร่วมกันถวายเครื่องสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์บนยอดเขาคิชกูฏ ก่อนที่จะเดินต่อไปยังผ้าแดง และทำบุญในตู้บริจาคตามจุดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่มีอยู่มากในบริเวณนี้แล้วแต่ความศรัทธาของแต่ละบุคคลมากน้อยตามกำลังศรัทธา

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และที่ขาดไปไม่ได้เนื่องจากจันทบุรีเป็นเมืองหนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย และเกี่ยวข้องโดยตรงกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บนยอดเขาคิชกูฏ ก็มีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสิน นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวถึงได้ทั้งหมดระหว่างทางที่เดินบนยอดเขา

พระพิฆเนศวร-พระสังกัจจายน์

พระพิฆเนศวร-พระสังกัจจายน์ องค์พระพิฆเณศประดิษฐานบนหินก้อนหนึ่งรูปร่างลักษณะคล้ายเศียรช้างคือมีลายเหมือนส่วนงวง จึงเป็นที่เคารพบูชาและมีประชาชนนำทองมาปิด ใกล้กันนี้มีไหเงินไหทอง พระธาตุหินแก้ว พญาไม้หินเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่เก็บภาพมาไม่ได้เพราะค่อนข้างมืดสนิท นี่คงเป็นข้อเสียอย่างหนึ่งของการเดินเขาคิชกูฏในเวลากลางคืน

เวียนเทียนลอดบาตรใหญ่

เวียนเทียนลอดบาตรใหญ่ เดินมาอีกสักระยะก็มานั่งพักกันบริเวณที่เรียกว่าบาตรใหญ่ เป็นหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายบาตร แต่มีขนาดใหญ่มากมีบันไดทางขึ้นไว้ให้สามารถทำพิธีการเวียนเทียนโดยรอบได้ แม้ช่วงเวลาที่เราไปจะไม่ใช่วันขึ้น 15 ค่ำ แต่ก็มีประชาชนมาเวียนเทียนกันจำนวนมาก
เมื่อหายเหนื่อยแล้วก็ออกเดินทางกันต่อ การเดินมาจนถึงจุดนี้ไม่ใช่ทางราบเรียบเดินสบายๆ หรือหากจะเทียบกับช่วงแรกที่เดินจากจุดจอดรถมาถึงพระพุทธบาทจะรู้สึกว่าเดินจากพระพุทธบาทมาตรงนี้เหนื่อยกว่า แต่อาจจะเป็นเพราะยิ่งดึกยิ่งล้าก็เป็นได้ต่างคนต่างง่วงนอนจนตาเริ่มจะปิดลงได้เองแล้ว

หินลอยได้มหัศจรรย์เขาคิชกูฏ

หินลอยได้มหัศจรรย์เขาคิชกูฏ หลังจากที่ได้นั่งหลับบนยอดเขาเพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ใกล้ๆ กับผ้าแดง แต่วันนี้มีหมอกหนามากล่องลอยอยู่เต็มไปหมดจนไม่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ได้อากาศช่วงเช้ามืดหนาวจับใจ ในตอนแรกที่คิดว่าเราเดินขึ้นเขาร่างกายจะไม่รู้สึกหนาวเลยไม่เอาเสื้อกันหนาวมาเพราะกลัวว่าจะเกะกะและทำให้ร้อนเปล่าๆ แต่ช่วงที่เราเดินจนสุดทางบนเขาคิชกูฏแล้ว รอเวลาที่จะเดินกลับลงเขาหลังมีแสงอาทิตย์ส่องนำทาง เป็นช่วงเวลาที่ต้องทนอยู่ในความหนาวอย่างมาก ลมโกรกตลอดเวลา
เมื่อสว่างแล้วเราก็เดินกลับลงทางที่เรามา ถึงบริเวณนี้จะเห็นมีหินก้อนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวหลายคนต่างเล่าลือกันว่าเป็นหินลอยได้ เรื่องราวของหินลอยได้นั้นได้ยินมาเหมือนกันว่าบนเขาคิชฌกูฏแห่งนี้มีหินอยู่ก้อนหนึ่งสามารถเอาธนบัตรสอดเข้าไปที่ฐานแล้วดึงออกจากอีกด้านหนึ่งได้ และทุกคนก็เชื่อกันว่าคือก้อนที่เราเห็นอยู่ตอนนี้แต่ไม่มีใครลองเอาแบงก์สอดเข้าไปจึงไม่อาจยืนยันได้ หากเดินทางไปลองสอบถามชาวบ้านที่มาขายของบนยอดเขาดูครับ

ศรัทธาจากประชาชน

ศรัทธาจากประชาชน เนื่องจากการเดินทางของเราทริปนี้เป็นเวลากลางคืนจึงเพิ่งได้ถ่ายรูปสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งบนเขาคิชกูฏ นั่นก็คือปรากฏการธูปค้ำหิน มีคนหลายคนที่เชื่อกันว่าหากเห็นหินในลักษณะแปลกๆ ฐานเล็กๆ แต่ไม่ล้มไม่กลิ่งไม่หล่นแบบนี้ จะหาไม้มาค้ำบางคนใช้ธูปในมือเอามาค้ำ เชื่อว่าเป็นการค้ำดวง ค้ำชีวิต ไม่ให้ตกต่ำ

เขียนชื่อบนผ้าแดง

เขียนชื่อบนผ้าแดง การเดินทางมายังเขาคิชฌกูฎแห่งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวก็ควรเขียนลงให้ถูกที่ นักท่องเที่ยวไม่ควรอย่างยิ่งที่จะขีดเขียนลงบนก้อนหินซึ่งพอจะมีให้เห็นอยู่บ้างเป็นการไม่สมควรแก่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
เมื่อลงชื่อบนผ้าแดงแล้ว ก็ทำบุญด้วยการตักบาตรพระพุทธรูปที่อยู่ไม่ไกลจากผ้าแดงมากนัก แล้วถ้าหิวก็จะมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขายพร้อมน้ำร้อนให้อิ่มท้องก่อนที่จะเดินทางลงจากเขาซึ่งต้องใช้พลังงานอีกมาก

เวียนเทียนรอบบาตรใหญ่

เวียนเทียนรอบบาตรใหญ่ กลับมาถึงจุดเดิมที่ถ่ายไว้ตอนมืดๆ ขามา จนถึงตอนขากลับก็ยังมีคนมาทำบุญที่จุดนี้อย่างต่อเนื่อง สภาพอากาศในตอนเช้าระหว่างทางเดินกลับลงจากเขา หมอกหนามากจับกับกิ่งไม้หยดลงเป็นน้ำลงมาให้ความเย็นยะเยือกบนหัวเราตลอดทาง

เป็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อากาศบนเขาหนาวเย็นโดยเฉพาะเวลากลางคืนจนถึงรุ่งเช้า ช่วงที่ปิดเขาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอันสงบส่วนเวลากลางวันอากาศไม่ร้อนมากนักหากเทียบกับข้างล่างที่เชิงเขา หากเดินในเวลากลางวันจะสะดวกกว่าเพราะมีแสงสว่าง หากมากลางคืนก็เย็นสบายกว่า ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน

 เช้าวันนี้อากาศเย็นมีหมอกลงจัดมีหยดน้ำหยดลงมาจากกิ่งไม้ตลอดเวลา

สาวเชือกเดิน

สาวเชือกเดิน และนี่ก็คือเส้นทางที่เราผ่านมาในตอนกลางคืน เรามีไฟฉายติดตัวมาอีกทั้งนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ก็ถือไฟฉายมาคนละอัน หรือกลุ่มละอันเดินตามๆ กันจนได้แสงสว่างเพียงพอด้วยการแบ่งปันกัน แต่ก็ไม่เห็นว่าสภาพทางเดินนั้นเป็นยังไง ชันแค่ไหน สะดุดรากไม้ก็หลายครั้ง หยุดพักก็หลายหน กว่าจะผ่านพ้นมาแต่ละช่วงๆ จนมาเห็นชัดๆ กันตอนขากลับที่สว่างแล้วนี่เอง

เพื่อให้ขาเหนื่อยน้อยลง ก็ต้องมีการใช้แขนช่วยดึงตัวเองขึ้นไปตามเส้นเชือกที่ผูกโยงไว้ให้ ในขาลงสำหรับคนที่ไม่ค่อยถนัดเดินป่าก็ค่อยๆ สาวเชือกเดินถอยหลังลงจะเหนื่อยน้อยกว่า

เสี่ยงลูบฆ้อง

เสี่ยงลูบฆ้อง ฆ้องนี้ห้ามใช้วิธีการตี มีป้ายเขียนบอกไว้ว่าเป็นฆ้องสำหรับลูบ ใครลูบดังแสดงว่ามีบุญวาสนาดีอะไรทำนองนี้ ซึ่งก็เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคลครับผมลองลูบดูแล้วมันไม่มีวี่แววว่าจะดังได้เลยละ

สะพานข้างหินช้าง

สะพานข้างหินช้าง บันไดตรงนี้เป็นบันไดสำหรับเดินข้ามหินก้อนใหญ่ทำให้เดินกันได้สะดวกมากขึ้นเพราะไม่มีทางอื่นๆ ให้เดินหากไม่ข้ามหินก้อนนี้ไป เมื่อขึ้นไปบนสะพานแล้วจะมองเห็นหินที่ว่ากันว่ามีรูปร่างคล้ายกับช้างเชือกใหญ่ยืนตระหง่านอยู่ โดยเฉพาะเวลาหมอกลงจัดแบบนี้จะเห็นเพียงเงาลางๆ เท่านั้น ซึ่งทำให้ดูคล้ายช้างจริงๆ เหมือนกัน

หินรูปช้าง

หินรูปช้าง และนี่ก็คือหินรูปช้างที่เล่าข้างบน เมื่อยืนบนสะพานจะถ่ายรูปนี้ได้แต่อย่าหยุดนานเพราะคนเดินตามกันมาเยอะพอเราหยุดจะมีคนบ่นทันที ไม่รู้ว่าจะรีบไปไหนอยากให้ทำใจเย็นๆ กันบ้างไหนๆ ก็มาทำบุญแล้วเนาะหยุดแค่ไม่ถึงนาทีคงไม่ทำให้บุญหล่นไปไหนหรอกครับ

บรรยากาศกลางหมอกเหนือเขาคิชฌกูฎ

บรรยากาศกลางหมอกเหนือเขาคิชฌกูฎ ก้อนหินบางก้อน (เฉพาะบางก้อนเท่านั้นนะครับ) จะมีทางเดินขึ้นไปนั่งข้างบนได้เหมือนแบบนี้ ถ้าวันฟ้าเปิดจะได้วิวสวยๆ ถ้าวันหมอกลงจัดก็ถ่ายรูปกันกลางหมอกก็สวยเหมือนกันอย่างที่เห็นนี้แหละครับ ตรงนี้ก็อยู่ไม่ไกลจากหินรูปช้างเท่าไหร่ จากจุดนี้ปกติจะมองเห็นหินรูปบาตรคว่ำได้ด้วย แต่อากาศแบบนี้เลยไม่เห็นอะไรเลยนอกจากสีขาวรอบตัวเราเท่านั้น

พระใต้หินความแปลกของเขาคิชฌกูฎ

พระใต้หินความแปลกของเขาคิชฌกูฎ อีกหนึ่งความแปลกแต่เห็นได้บ่อยที่เขาคิชฌกูฎแห่งนี้จนดูเหมือนจะไม่แปลกเสียแล้วก็คือหินขนาดใหญ่ที่วางซ้อนอยู่บนหินอีกก้อนหนึ่งโดยไม่กลิ้งไม่หล่นไม่เอนไม่เอียง อย่างไม่น่าเชื่อ เกินขึ้นเป็นคู่ๆ มีอยู่หลายคู่ แต่ที่ว่าแปลกก็คือที่อื่นไม่ค่อยได้เห็นแบบนี้บ่อยนัก
ใต้หินได้วางพระพุทธรูปบูชาองค์เล็กหลายๆ องค์ไว้ใต้หินยิ่งเป็นภาพที่แปลกตา

ทางเดินลงจากเขา

ทางเดินลงจากเขา นี่เป็นตัวอย่างทางเดินลงช่วงหนึ่งที่ค่อนข้างชันมาก อยู่ระหว่างหินบาตรคว่ำไปยังสะพานใกล้หินช้าง จะเห็นว่ามีคนหลายคนเดินทางมาที่นี่ทำให้การเดินขึ้นลงต้องแบ่งๆ กันเดิน ไม่ว่าจะมากลางวันหรือมากลางคืนบอกได้คำเดียวว่าคนเยอะมากๆ

หินบาตรคว่ำและพระปางอุ้มบาตร

หินบาตรคว่ำและพระปางอุ้มบาตร จุดที่มีประชาชนเดินทางมาและหยุดอยู่ที่นี่มากที่สุดของเขาคิชฌกูฏ หลายคนต้องการเดินทางมาสักการะรอยพระพุทธบาทที่หินบาตรคว่ำแล้วเดินทางกลับเลยด้วยซ้ำ ส่วนการเดินไปยังผ้าแดงในการมาครั้งแรกของใครหลายคนก็ข้ามไปเลยก็มี อย่างตัวผมเองมาครั้งแรกก็มาสักการะรอยพระพุทธบาทเอาพลอยประจำวันเกิดกับดอกดาวเรืองมาโรยแล้วก็กลับ พอมาปีที่ 2 จึงเดินไปผ้าแดง

บรรยากาศสะพานทางเดินท่ามกลางสายหมอก

บรรยากาศสะพานทางเดินท่ามกลางสายหมอก วันนี้อากาศดีมากขาขึ้นขึ้นกลางคืน ขาลงมีหมอกตลอดทางเดินสบายๆ แต่ถ้าหากอยากมากลางคืนบอกก่อนว่าคนเยอะมาก เวลาซื้อบัตรขึ้นรถจะนานกว่ากลางวัน เพราะกลางคืนมีรถบริการน้อยกว่ากลางวัน สะพานนี้สร้างมาได้ยังไม่นานมีการต่อเติมลานเล็กๆ มีระเบียงยื่นออกไปทางซ้ายเป็นจุดชมวิวด้วย
บริเวณนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือรอยเท้าเสือ เป็นรูปรอยเท้าเสือปรากฏอยู่บนหิน เวลาผ่านเลยไปรอยเท้านั้นก็ยังปรากฏอยู่อย่างเด่นชัด มีคนนำธูปเทียนไปจุดบูชาบริเวณนั้นด้วย หินที่เห็นอยู่ด้านขวามือจะเป็นกองสูงใหญ่ซ้อนกันหลายๆ ก้อนอย่างไม่น่าเชื่อ

ตีระฆังขากลับ

ตีระฆังขากลับ สะพานทางเดินตรงนี้มีระฆังแขวนอยู่เป็นจำนวนมาก อาจจะมากถึง 100 ใบ ปกติคนที่มาไหว้พระบูชารอยพระพุทธบาทจะตีระฆังเหล่านี้ในช่วงการเดินขากลับ

จุดขึ้นรถกลับลงจากเขาคิชฌกูฏ

จุดขึ้นรถกลับลงจากเขาคิชฌกูฏ เป็นจุดที่รถมาส่งเราตอนขาขึ้นมา มีภาพตอนกลางคืนให้ดูในช่วงแรกๆ ซึ่งจะเห็นพระสิวลีและพระพุทธรูปอีกหลายองค์ มีประชาชนมากราบไหว้อย่างเนืองแน่นตลอดทั้งวันและตลอดช่วงกลางคืนด้วย ปกติจะมองเห็นควันธูปบริเวณนี้คลุ้งไปทั่วเมื่อมีคนมาจุดธูปไหว้พระจำนวนมากๆ
เมื่อเดินลงมาถึงตรงนี้แล้วต้องรีบไปซื้อบัตรขึ้นรถ หากมากันหลายคนแล้วเดินลงมาถึงจุดนี้ไม่พร้อมกันจะทำให้เดินทางได้ช้าอย่างที่แนะนำไว้ตอนแรกใครมาถึงก่อนก็ลงก่อนดีกว่าแล้วไปเจอกันข้างล่าง ในระหว่างที่รถยังเต็มอยู่และยังไม่ถึงคิวบัตรตามหมายเลขของเราเราก็นั่งพักเอาแรงหลายคนถึงกับนั่งหลับเพราะง่วงและเหนื่อยมากในระหว่างที่ขับรถเดินทางมาที่นี่แล้วมาต่อด้วยการเดินขึ้นเขาอีกต่างหาก

บรรยากาศยอดเขาคิชฌกูฏ

บรรยากาศยอดเขาคิชฌกูฏ ก่อนที่จะขึ้นรถกลับลงมากจากเขา ก็ว่างพอที่จะเก็บภาพหมอกที่ปกคลุมเหนือยอดเขาคิชกูฏ กับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เขียวขจี บริเวณนี้มีคนที่เดินทางขึ้นและกำลังรอรถขาลงจำนวนมาก เวลาสายมากแล้วแต่อากาศยังเย็นสบาย

เส้นทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ

เส้นทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ที่บอกไว้ตอนแรกว่าเขาคิชฌกูฏไม่อนุญาตให้ประชาชนนำรถของตัวเองขึ้นเขาเพราะว่าเส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยวลาดชัน คนขับต้องเป็นคนท้องถิ่นที่รู้ทางกัน อย่างภาพบนขวาจะเห็นว่าทางโค้งในบางช่วงคนขับรถต้องขับชิดขวาแทนการชิดซ้ายตามปกติ ภาพล่างซ้ายก็เหมือนกัน ถ้าเป็นคนทั่วไปอย่างเรามัวแต่จะชิดซ้ายอย่างเดียวบางช่วงคงขึ้นไม่ได้แน่เพราะชันมากเกินไป ราคาค่าโดยสารรถบริการตอนนี้ 100 บาท/คน/เที่ยว รวมแล้วคนละ 200 บาทไป-กลับ ต่อคน ค่าเข้าอุทยาน 10 บาท

ชมธรรมชาติสวยงามบนเขาคิชฌกูฏ

ชมธรรมชาติสวยงามบนเขาคิชฌกูฏ จบการพาชมประเพณีนมัสการพระบาทพลวง ยอดเขาคิชกูฏไว้เพียงเท่านี้ครับ ส่วนภาพนี้เป็นเก็บตกมาจากยอดเขาเป็นดอกไม้สวยๆ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี พืชเหล่านี้เรียกกันว่ากาฝาก คืออาศัยต้นไม้อื่นในการเจริญเติบโตแต่ขึ้นกันอย่างหนาแน่นแบบนี้ก็สวยดีครับ

ชมภาพการเดินทางช่วงกลางวันของทริปก่อนหน้านี้ได้ที่ เขาคิชฌกูฏ(ยอดเขาพระบาท) กลางวัน

รีวิว เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี


 ""

Chonly JC
2018-01-31 13:31:37


 "บรรยากาศเขาคิชฌกูฎตอนกลางวัน ปี 2560"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-02-10 07:59:52

เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี


 "งานนมัสการรอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ที่วันนี้เปิดให้ประชาชน พุทธศาสนิกชน นักแสวงบุญขึ้นไปกราบไหว้ ขอพร รอยพระพุทธบาทบนยอดเขาวันแรก ช่วงเช้าก่อนแปดโมงเกิดความชุลมุนวุ่นวายเนื่องจากมีประชาชนจากทั่วสารทิศมาแออัดรอขึ้นรถคิวทั้ง 3 คิวอย่างเนืองแน่น ที่ผ่านมาประชาชนที่เดินทางมาถึงสามารถขึ้นรถคิวไปบนยอดเขาได้เลย แต่ปีนี้เพื่อความปลอดภัยทางจังหวัดได้วางระเบียบและมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติหลายเรื่อง โดยรถคิวเปิดให้วิ่งเที่ยวปฐมฤกษ์เวลา 8 โมงเช้า ทำให้จำนวนคนที่มารอขึ้นเขามีมากกว่าจำนวนรถที่ให้บริการและเกิดการชุลมุนวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ต้องทำความเข้าใจ และยืนยันว่าทุกคนที่มา จะได้ขึ้นไปบนยอดเขาไม่มีตกค้างแน่นอน
หลังจากรถเที่ยวแรกรับคนขึ้นเขาได้ ต่อมาในช่วงสาย หลังเที่ยงบรรยากาศก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังรถคิวทยอยส่งคนขึ้นเขาได้อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้มีรถคิวที่รอบริการขึ้นเขาคิชฌกูฏทั้งสิ้น 142 คัน แบ่งเป็น 3 คิว คือที่วัดพลวง / วัดกระทิง และ หน้าที่ว่าการอำเภอเขาคิชฌกูฏ มีการเปลี่ยนแปลงให้รถวิ่งยาวจากพื้นราบไปบนยอดเขาจุดพระศิวลีไม่มีการต่อรถกลางเขาเหมือนทุกปีที่ผ่านมา อัตราค่าโดยสารเที่ยวละ 100 บาท
และปีนี้อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏได้เก็บค่าธรรมเนียมแต่เรียกเก็บในอัตราถูก ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท ส่วนชาวต่างชาติเสียค่าธรรมเนียม 100 บาท เด็ก 50 บาท และเปิดให้ขึ้น ลง เขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้ที่ประสงค์จะเดินขึ้นเขาก็สามารถเดินขึ้นลงเขาได้ตามสะดวก
และในปีนี้ทางจังหวัดได้จัดระเบียบ เน้นเรื่องของความปลอดภัย และ ความสะอาด อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้านค้าที่เคยแออัดขายของบนยอดเขา ยกเลิกไม่ให้มีร้านค้าทั้งสิ้น ส่วนดอกไม้โดยเฉพาะดอกดาวเรืองให้ผู้ที่ขึ้นไปกราบไหว้วางไว้ได้ที่เนินพระเมตตา ซึ่งอยู่ห่างจากรอยพระพุทธบาทประมาณ 800 เมตร ในส่วนของรอยพระพุทธบาทห้ามนำดอกไม้เข้าไปวางสักการะ เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้เห็นรอยพระพุทธบาทอย่างชัดเจนและเป็นการบริหารจัดการเรื่องขยะ
ส่วนอาหารและน้ำให้นำขึ้นไปด้วยตนเองเท่าที่จำเป็นและหลังจากรับประทานเสร็จให้เก็บขยะลงมาทิ้งด้านล่าง เนื่องจากร้านอาหารด้านบนที่เคยมีถูกยกเลิกการให้บริการทั้งหมดเพื่อให้ประชาชนที่ขึ้นไปได้ชื่นชมทัศนียภาพ ธรรมชาติที่สวยงามของอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏอย่างเต็มที่
ปีนี้จะเปิดให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบไหว้ขอพรได้จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2560
ภาพ สุนทร เพชรใสดี"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-01-31 13:57:19

เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี


0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี
บ้านสวนพฤกษาโฮมสเตย์
  6.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านต้นน้ำจันทร์โฮมสเตย์
  7.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
AKANTUKA HOMESTAY เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านอีโคฟาร์ม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ing Nern Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไอยารา รีสอร์ท จันทบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ เนเจอรัล การ์เด้น รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
Greenhill Soidou เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนสอยดาว วิลลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
โอ้ ทรี รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.64 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com