www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ราชบุรี >> วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

 วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลแพงพวย ถนนบางแพ-ดำเนินสะดวก หากเดินทางมาจากบางแพ วัดอยู่ขวามือก่อนถึงแยกดำเนินสะดวก 10 กิโลเมตร พระอุโบสถสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายและเป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูปหยกปางต่าง ๆ ภายในวัดมีอุทยานการศึกษาและสวนป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯพื้นที่กว่า 200 ไร่ วัดนี้ได้รับรางวัลสวนป่าดีเด่นจากกรมป่าไม้ ประจำปี 2539 นอกจากนี้ยังเป็นสำนักเรียนภาษาบาลีประจำจังหวัด มีนิทรรศการเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ และมีการสอนปฏิบัติธรรมวิปัสสนาสำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.30-12.30 น. และมีการอบรมธรรมปฏิบัติทุกปีๆ ละ 2 รุ่น

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3224 6090-6 ต่อ 190,220 หรือที่เว็บไซต์ www.dhammakaya.org , E-mail: info@dhammakaya.org

ข้อมูลเพิ่มเติม:การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานราชบุรี
โทร.032 919 176-8
เฟสบุค https://www.facebook.com/tatratchaburioffice/

แก้ไขล่าสุด 2016-05-20 19:09:31 ผู้ชม 21140

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วิหารกลางน้ำ

วิหารกลางน้ำ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งที่ศึกษาฝึกวิปัสสนาวิชชาธรรมกาย ประจำครอบครัว เนื่องด้วยคุณแม่ของภรรยาผมเองเป็นศิษย์หลวงพ่อสดมาช้านาน ฝึกสมาธิที่นี่ แล้วหลังจากนั้นก็มาชวนผมและภรรยาไปนั่งฝึกสมาธิกัน ในช่วงนั้นกระแสเกี่ยวกับวัดธรรมกายก็มีออกมาหลายด้าน หลายคนก็มองว่ามาวัดธรรมกายไม่ค่อยจะเห็นด้วย เหมือนผมในตอนแรก แต่พอมาที่นี่ก็รู้สึกว่าเหมือนกับวัดที่สอนสมาธิและวิปัสสนาทั่วไป ส่วนที่วัดธรรมกายที่ปทุมธานีผมยังไม่เคยไป ก็ไม่รู้ว่ามีความเป็นมายังไงแน่ และทำไมจึงมีกระแสออกมามากมาย แต่ถ้าไม่ได้สัมผัสเองผมจะไม่ออกความเห็น เพียงแต่ว่าวัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามที่ราชบุรี ก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกว่ามีอะไรไม่ปรกติ ทุกอย่างก็เหมือนกับวัดอื่นๆ ที่ผมไปมา (ผมไปมาแล้วเกือบ 200 วัดนะ) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง วัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามมีลักษณะเหมือนกับวัดปากน้ำ ที่ภาษีเจริญนั่นเอง คืออยู่ร่วมกับธรรมชาติ หลักธรรมคำสอนก็เหมือนกับการฝึกสมาธิ ผมก็เลยมาที่นี่บ่อยกว่าที่อื่นๆ ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าวัดธรรมกายที่ปทุมธานีมีอะไรไม่ปกติ เพียงแต่ผมไม่ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง ก็เลยไม่ขอแสดงความคิดเห็นต่อกระแสใดๆ ที่เกิดขึ้น และถ้ามีโอกาสผมก็คงจะได้เดินทางไปวัดพระธรรมกายดูสักครั้งเหมือนกันครับ

การเดินทางมายังวัดหลวงพ่อสดฯ ก็แล้วแต่ถนัดถ้าใกล้กับเส้นทางราชบุรี บางแพ ก็มาทางนั้น เข้าถนนที่ไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก วัดอยู่ขวามือ ก็จะสังเกตุไม่ยากเตรียมพร้อมที่จะกลับรถ ถ้ามาทางสมุทรสงคราม ตลาดอัมพวา เลยมาถึงดำเนินสะดวก ก็เลยมาอีก วัดอยู่ซ้ายมือ มีประตูทางเข้า 2 ทาง ปกติผมจะเข้าประตูแรกที่ถึงก่อน พอเข้ามาแล้วจะมีลักษณะเป็นสวนป่า ต้นไม้เยอะ ให้เลียบไปตามแนวกำแพงหน้าวัด จะมีทางแยกเข้าศาลาเอนกประสงค์ หรือจะตรงมาวิหารกลางน้ำแห่งนี้ก็ได้ หน้าวิหารมีที่จอดรถไม่เยอะ เลี้ยวเข้าไปจอดศาลาเอนกประสงค์แล้วเดินตรงมาทางด้านหลังของอุโบสถก็ทะลุมาที่วิหารกลางน้ำได้เหมือนกัน

ถ้าถามว่าทำไมผมมาเริ่มต้นที่วิหารกลางน้ำ เพราะเห็นว่าเป็นวิหารที่มีทิวทัศน์สวยงาม ถ้ามาวันอาทิตย์จะเห็นนักปฏิบัติธรรมนั่งเจริญภาวนาอยู่ในวิหาร การเข้าไปไหว้พระจะไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ แต่ทางวัดก็ไม่ได้ห้าม ขอแค่สำรวมและเข้าไปอย่างสงบไม่รบกวนผู้อื่นก็พอแล้ว ครั้งแรกที่ผมมาที่วัดแห่งนี้ หอฉันหรือศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ ยังสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำไป วิหารกลางน้ำเองก็เพิ่งจะมีการลงเสาในน้ำกว่าจะเสร็จสมบูรณ์จริงๆ ก็ใช้เวลาเป็นปี หลังจากที่สร้างเสร็จแล้วนับว่าเป็นวิหารกลางน้ำที่มีความสวยงามมากแห่งหนึ่งของประเทศไทยเลยทีเดียว วิหารหลังนี้ชื่อ วิหารพุทธภาวนา วิชชาธรรมกาย

วิหารพุทธภาวนา

วิหารพุทธภาวนา ลักษณะการก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยงามอยู่กลางน้ำ มีสะพานเชื่อมเข้าไปถึงวิหาร ต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ที่สะพานฝั่งนี้ หรือจะเลือกขับรถไปจอดหลังวิหารก็ได้ มีประตูทางเข้าด้านหลังเดินใกล้กว่า แต่ผมก็เลือกวิธีทั่วไปคือเดินเข้าทางด้านหน้า ถอดรองเท้าไว้ฝั่งนี้

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ

พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ สิ่งหนึ่งที่เราจะสังเกตุเห็นความแตกต่างระหว่างวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม กับวัดแห่งอื่นก็คือ พระประธาน และพระพุทธรูปจำนวนมากในวัด มักจะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ โดยเฉพาะพระประธานในวิหารพุทธภาวนา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามกว่าองค์อื่น นอกจากนั้นก็ยังมีพระพุทธรูปหินหยกที่งดงาม รูปเหมือนหลวงพ่อสด สมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่สิ่งสำคัญก็คือลูกแก้วใสขนาดต่างๆ สำหรับการฝึกเจริญสมาธิในวิหาร

พระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ อยู่ด้านซ้ายมือประดิษฐานบนบุษบกสวยงาม ในขณะที่เราเข้ามาสักการะนมัสการ ให้สำรวมอย่างสงบ

บรรยากาศในวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

บรรยากาศในวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จากด้านหลังของวิหารกลางน้ำ มีสะพานเชื่อมไปยังพื้นที่ของพระอุโบสถ พื้นที่ในวัดมีอยู่มากมาย ส่วนหนึ่งก็จะสร้างให้เป็นน้ำ ล้อมรอบพื้นที่ต่างๆ ของวัด มีปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ อาศัยอยู่ชุกชุม ได้แก่ ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาแรด เต่า ตะพาบ ฯลฯ ประชาชนในละแวกนี้ก็ได้อาศัยพื้นที่ภายในวัดเป็นสถานที่พักผ่อน ได้พาเด็กๆ มาเลี้ยงอาหารปลาและนก ศาลาพักผ่อนริมน้ำมีอยู่หลายจุด หรือแม้กระทั่ง บริเวณอื่นๆ หากได้โยนอาหารปลาลงไปก็จะได้เห็นปลาตัวใหญ่ๆ จำนวนมากมารุมล้อมอย่างรวดเร็ว

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

อุโบสถวัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามได้รับรางวัล "อนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยดีเด่น" เมื่อปี พ.ศ.2539 มี 3 ชั้น
ชั้นบน
มีห้องพระ เป็นห้องกระจก เป็นที่ประดิษฐานพระประธานและพระคู่บารมีพระประธาน
ชั้นที่ 2
เป็นชั้นลอย มีห้องเก็บรักษาพระบูชาของวัด ผนังด้านนอก เป็นที่จารึกรายชื่อผู้ทำบุญสร้างอุโบสถ โดยจารึกลงในแผ่นหินอ่อนแล้วปิดทอง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งบุญอันสำคัญในการที่เหล่าพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันสร้างอุโบสถแห่งนี้ขึ้น พื้นที่ด้านนอก ใช้เป็นที่สอนภาวนา ต่อธรรมะสำหรับผู้เห็นดวงเห็นกายให้ถึงธรรมกาย
ชั้นล่างสุด
เป็นห้องโถง สามารถจุคนได้ประมาณ 100 คน ใช้เป็นที่สอนภาวนาเบื้องต้นได้ ที่ฝาผนังมีแผ่นหินอ่อน จารึกประวัติการสร้างวัดและกฎระเบียบวัดไว้เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบถึงประวัติของวัดแห่งนี้

ตัวสีมาสำเร็จจากทองเหลือง ก่ออยู่บนฐานปูนปั้นปูหินอ่อน อยู่รายรอบอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เป็นเครื่องหมายอันประกาศให้รู้ถึงเขตแดนที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม และเป็นเครื่องเตือนสติด้วยว่าเมื่อเข้าสู่เขตของอุโบสถแล้ว "เราต้องสำรวม"

วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

อาคารรอบอุโบสถ ประกอบด้วย วิหารแกลบ 2 หลัง และศาลาราย 4 หลัง
วิหารแกลบ
คือ วิหารเล็ก 2 หลัง ที่สร้างขนาบกับตัวอุโบสถเพื่อเสริมอุโบสถให้สูงเด่นขึ้น โดยวิหารแกลบด้านทิศใต้ของอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระต้นแบบของพระประธานในอุโบสถ พร้อมทั้งประดิษฐานพระหินทรายสมัยทวาราวดี อันมีค่าประมาณมิได้ และพระที่สำเร็จจากรัตนชาติอื่นๆ อีกมาก ส่วนวิหารแกลบด้านทิศเหนือ เป็นสถานที่จะนำพระพุทธรูปเข้าประดิษฐานต่อไป

ศาลาราย
คือ ศาลาหลังเล็กๆ 4 หลัง ที่มุมทั้ง 4 ของอุโบสถ เป็นส่วนเสริมอุโบสถให้เด่นขึ้น ใช้เป็นสถานที่สอนภาวนาธรรม และศาลารายหลังอุโบสถ เป็นที่ที่หลวงพ่อเจ้าอาวาส ใช้ต้อนรับแขกและญาติโยม ที่ต้องการพบด้วย

พระประธานในอุโบสถ

พระประธานในอุโบสถ รัตนบัลลังก์ทั้งหมดเป็นศิลปะปูนปั้นช่างพื้นบ้านสุพรรณบุรี ประดับรัตนชาติชนิดต่างๆ เช่น ทับทิม พลอยสีต่างๆ หยก หินผลึกและรัตนชาติอื่นๆ อีกมากมาย ฝาผนัง เป็นลายไทยลงรักปิดทอง ผนังด้านหลังประธาน ประกอบด้วยซุ้ม 5 ซุ้ม ซุ้มใหญ่ 3 ซุ้ม เจาะผนังเป็นช่องบรรจุผอบหรือโล้ว ซึ่งภายในผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ เพื่อให้มนุษย์และปวงเทพเทวาได้กราบไหว้บูชา ส่วนด้านนอกของห้องพระ เป็นบริเวณพื้นที่ที่พระภิกษุใช้ทำสังฆกรรมต่างๆ เช่น บรรพชาอุปสมบทกุลบุตร ฟังพระปาฏิโมกข์ รวมทั้งใช้เป็นสถานที่เจริญภาวนาชั้นสูงของผู้ถึงธรรมกายด้วย บานประตู และบานหน้าต่าง สำเร็จด้วยทองแดงเป็นลายดุนนูน แสดงปริศนาธรรม เพื่อความคงทนถาวรและสะดวกในการบำรุงรักษา และให้ผู้ศึกษาสัมมาปฏิบัติ ได้ทราบความหมายจากปริศนาธรรมนั้น

พระพุทธรูปสำคัญในอุโบสถ เนื่องจากมีบานกระจกใสกั้นอยู่ เราจึงมองเห็นพระพุทธรูปที่อยู่ภายในได้ไม่ชัดเจน ทุกองค์มีความงดงามมาก ประกอบด้วย
พระพุทธชัยมงคล พระพุทธรูปจำลองธรรมกายพระประธานประจำอุโบสถนี้ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เกตุดอกบัวตูม ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนองค์ฌาน (ฐานเขียง) ทรงจีวรพลิ้ว สำเร็จด้วยหยกพม่าแท้ (เจไดท์) สีเขียวปนขาว หน้าตักขนาด 21 นิ้ว (53 เซนติเมตร) ความสูงเฉพาะองค์พระ 23.5 นิ้ว (62 เซนติเมตร) น้ำหนักประมาณ 99 กิโลกรัม (ก้อนหยกที่ใช้แกะเดิมมีน้ำหนักประมาณ 285 กิโลกรัม มูลค่า 1 ล้านบาทเศษ กรรมการมูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกายเป็นเจ้าภาพถวาย) แกะโดยช่างศิลป์ชาวพม่า หลวงพ่อพระภาวนาวิสุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม เป็นผู้ออกแบบและนำหินหยกชิ้นนี้ไปให้ร้านทองทวี อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นผู้รับแกะสลัก ใช้เวลาในการแกะสลักประมาณ 6 เดือน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ภายในพระเกตุโมลีขององค์พระ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน บรรจุอยู่ในผอบทองคำ คือ 1) พระบรมสารีริกธาตุ 2) พระหทัยธาตุ 3) พระโลหิตธาตุ โดยเจ้าประคุณหลวงพ่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อุปเสณมหาเถระ) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นองค์ประธานในพิธีอัญเชิญพระประธานและพระคู่บารมีพระประธาน ประดิษฐานบนชุกชีในอุโบสถ ในปี พ.ศ. 2534

พระธรรมกายชัยมงคล พระพุทธปฏิมาจำลองธรรมกาย ปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนองค์ฌาน ทรงจีวรพลิ้ว สำเร็จด้วยหินผลึกขาวใส (Rock Crystal ) จากเมืองอมริตสา ประเทศอินเดีย ขนาดหน้าตัก 16 นิ้ว (40 เซนติเมตร) แกะโดยช่างศิลป์ชาวอินเดียฮินดู ที่เมือง Jaipur ประเทศอินเดีย หลวงพ่อ พระภาวนาวิสุทธิคุณ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง โดยใช้ระยะเวลา 6 เดือน จึงสำเร็จ ได้นำมาประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 นายปิยะบุตร และนางสุจินตนา ชลวิจารณ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสหธนาคาร จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพสร้างถวาย เป็นมูลค่า 450,000 บาท

พระพรหมยานชัยมงคล พระพุทธรูปคู่บารมีพระประธาน (องค์รองเบื้องขวา) ปางปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนองค์ฌาน (ฐานเขียง) ยกพระหัตถ์ขวาขึ้น กรีดนิ้วเกือบเป็นวงกลม พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา นิ้วชี้ไปที่พระนาภี (ศูนย์กลางกาย) ทรงจีวรพลิ้ว สำเร็จด้วยหินผลึกอเวนเจอรีนสีม่วงแก่ (Blue Aventurene) จากประเทศ บราซิล ขนาดหน้าตัก 15.5 นิ้ว (39 เซนติเมตร) ความสูงเฉพาะองค์พระ 20 นิ้ว (50 เซนติเมตร) ฝีมือช่างแกะสลักชาวไทย ร้านทองทวี อ.แม่สาย จ.เชียงราย หลวงพ่อพระภาวนาวิสุทธิคุณ เป็นผู้ออกแบบ ใช้เวลาแกะสลัก 3 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ มูลนิธิพุทธภาวนาวิชชาธรรมกายพร้อมด้วยสาธุชนร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างถวาย เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2534

พระพุทธชัยมงคลบพิตร พระพุทธรูปคู่บารมีพระประธานองค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ปางมารวิชัย เกตุตุ้ม ทรงจีวรพลิ้ว ปลายจีวรพาดบนไหล่ซ้ายห้อยยาวลงมาเพียงพระนาภี ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แบบพระพุทธรูปพม่า สำเร็จด้วยโลหะทองดอกบวบ ขนาดหน้าตัก 17 นิ้ว (43 เซนติเมตร) ความสูงเฉพาะองค์พระ 23 นิ้ว (58 เซนติเมตร) ลงรักปิดทองไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นพระพุทธรูปที่อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ได้บูชามาจากลำปาง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2514 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2529 ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ นางอุไร พลพัฒนาฤทธิ์ โยมอุปัฏฐายิกาจึงได้นำมาถวาย ณ วัดหลวงพ่อสดฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2534

พระพุทธประสิทธิชัยมงคล พระพุทธรูปคู่บารมีพระประธานเบื้องซ้าย เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ปางมารวิชัย เกตุตุ้ม ทรงจีวรพลิ้ว ปลายจีวรพาดบนไหล่ซ้าย ยาวลงมาเพียงพระนาภี ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร แบบพระพุทธรูปพม่า สำเร็จด้วยทองนาก ขนาดหน้าตัก 11 นิ้ว (28 เซ็นติเมตร) ความสูงเฉพาะองค์พระ 18 นิ้ว (45 เซ็นติเมตร) เป็นพระพุทธรูปที่อาจารย์เสริมชัย พลพัฒนาฤทธิ์ ได้บูชามาจากจังหวัดเชียงราย เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2512 ต่อมาเมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ นางอุไร พลพัฒนาฤทธิ์ โยมอุปัฏฐายิกา จึงได้นำมาถวาย ณ วัดหลวงพ่อสดฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2534

พระธรรมยานชัยมงคล พระพุทธปฏิมาจำลอง ที่สำเร็จด้วยหินรัตนชาติหยกจีน (บ่อใหม่) สีเขียวอ่อน เป็นพระพุทธรูปศิลปะจีน ปางประทานพร หงายฝ่าพระหัตถ์ซ้ายลงตรงพระชานุ (เข่า) เกตุตุ้ม ติ่งพระกรรณหนา ทรงจีวรย้วย พาดบนไหล่ทั้งซ้าย-ขวา เปิดอกกว้าง ไม่พาดสังฆาฏิ ขนาดหน้าตัก 17 นิ้ว (42.5 เซนติเมตร) ความสูงเฉพาะ องค์พระ 23 นิ้ว (59 เซนติเมตร) มีกระบังพระรัศมีติดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ สูงพ้นองค์พระไปอีก 7.5 นิ้ว หลวงพ่อพระภาวนาวิสุทธิคุณ ได้นำมาจากเมืองจีนจำลอง สมัยราชวงศ์ถัง ประเทศสิงคโปร์ และมีญาติโยมสาธุชนร่วมเป็นเจ้าภาพ สร้างถวายเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท

พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร 2 องค์ (พระพี่-พระน้อง) สำเร็จด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทอง มีความสูงจากฐานถึงยอดพระเกศ 75 นิ้ว (240 เซนติเมตร) ประดิษฐานอยู่นอกกระจกของฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีพุทธลักษณะสวยงามที่สุดคู่หนึ่ง ที่จะหาชมที่ไหนได้ยาก โดยเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้มาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อเมื่อ 6 มีนาคม 2543 พระภาวนาวิสุทธิคุณ นางอุไร พลพัฒนาฤทธิ์ เป็นเจ้าภาพองค์พี่ (300,000 บาท) คุณนัทธมน เลิศมหโชค และสาธุชน ร่วมกันเป็นเจ้าภาพองค์น้อง (300,000 บาท)

ศาลาเอนกประสงค์

ศาลาเอนกประสงค์ หลังจากที่ได้ชมความงดงามของวิหารและอุโบสถของวัดแล้ว ตอนนี้เรามาที่ศาลาเอนกประสงค์ เป็นอาคารขนาดใหญ่ปกคลุมด้วยร่มไม้ขนาดใหญ่หลายต้น ระหว่างศาลาเอนกประสงค์กับอุโบสถ มีคูน้ำกั้น ข้างศาลาก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีคนมาให้อาหารปลาจำนวนมาก มองจากภายนอกต้นไม้ทั้งหลายปิดบังส่วนของศาลาจนไม่เห็นหมดทั้งหลัง เลยถ่ายรูปด้านบนศาลามาให้ชมรูปเดียวก็แล้วกัน ศาลาหลังนี้มีลักษณะโล่งกว้าง มีพระประธาน และหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อสด ด้านขวามือของเราจะมีบรมสารีริกธาตุชนิดต่างๆ ให้เราได้สักการะ ส่วนด้านซ้ายมีเจ้าแม่กวนอิม และหินชนิดต่างๆ ที่หาชมได้ยาก ในเนื้อหินที่ผ่าตรงกลางออกมามีความสวยงามเหมือนอัญมณี ถ้ามาแล้วควรขึ้นไปชมกันครับ

ให้อาหารปลาวัดหลวงพ่อสด

ให้อาหารปลาวัดหลวงพ่อสด คูน้ำที่ขุดรอบๆ บริเวณวัดคดเคี้ยวไปมา มีต้นไม่ร่มเงามากมายหลายจุด ทางวัดจะตั้งม้านั่งไว้ให้ ใครมาก็จะมาเลี้ยงปลาตามอัธยาศัย โปรยอาหารลงไปตรงไหนก็จะมีปลาขึ้นมากินตรงนั้นเลยทีเดียว จุดที่นิยมมากที่สุดคือศาลาข้างร้านค้าของวัด มีคนมาเลี้ยงอาหารปลาทุกวัน ทำให้มีปลาตรงจุดนั้นมากเป็นพิเศษ

วิหารหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ

วิหารหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ อยู่ด้านหน้าของศาลาเอนกประสงค์ มีทางเดินที่สงบร่มรื่นตรงเข้าไปถึงวิหาร เป็นที่ตั้งรูปหล่อหลวงพ่อสดองค์ใหญ่

วิหารหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ

วิหารหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ผมขอจบภาพวัดหลวงพ่อสดธรรมกายารามไว้เท่านี้ นอกจากที่ได้ถ่ายรูปมาให้ชมกันนี้ทางวัดยังมีสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่งอย่างเช่น ศาลาสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีขนาดใหญ่ สูง 3 ชั้น เป็นที่ฝึกปฏิบัติธรรมสำหรับวันที่มีนักปฏิบัติธรรมมากันมาก เพราะจะรองรับคนได้หลายร้อยคน รวมทั้งเป็นโรงทานและหอฉันด้วย มีหอระฆังที่มีความสวยงามสร้างด้วยศิลปะแบบเดียวกับอุโบสถ อยู่หลังอุโบสถ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ราชบุรี
Secret Space ราชบุรี
  9.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
โคโค่ สวีท โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
Pattaya web star Apartment/The base/boundless pool เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
คุ้มดำเนินรีสอร์ท
  15.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
Khum Damnoen Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
Maa Damnoen B&B เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
ผึ้งหลวง รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไม้แก้วดำเนิน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Peace Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดำเนินแคร์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม ราชบุรี
รอยัลไทย แฮนด์ดิคราฟ เซ็นเตอร์ ราชบุรี
  4.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานกล้วยไม้เดอะบลูมส์ออร์คิดพาร์ค ราชบุรี
  9.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Blooms Orcid Park
  9.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุนทรีแลนด์ แดนตุ๊กตา ราชบุรี
  10.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จ.ราชบุรี
  16.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ราชบุรี
  16.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์เรียนรู้การเกษตรสวนแม่ทองหยิบ
  17.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
ณ สัทธา อุทยานไทย
  17.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ราชบุรี
  17.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
ช้างเผือกฟาร์ม
  18.66 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com