www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ราชบุรี >> พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน

 พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ตั้งอยู่ที่วัดขนอน ตำบลสร้อยฟ้า ริมแม่น้ำแม่กลอง อยู่ห่างจากตัวอำเภอโพธารามประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเรือนไทย จัดแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ ประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่และกรรมวิธีการแกะสลักตัวหนังใหญ่ มีตัวหนังจำนวน 313 ตัวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ แบ่งเป็นชุดหนุมานถวายแหวน ชุดสหัสสกุมาร และเผากรุงลงกา ชุดศึกอินทรชิตครั้งที่ 1 เป็นโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะหนังใหญ่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการละเล่นชั้นสูง ตัวหนังมีการแกะสลักลวดลาย ใช้วงมโหรีปี่พาทย์เป็นเครื่องดนตรีประกอบ พร้อมกับลีลาของคนเชิดประกอบบทพาทย์และบทร้อง ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยกันอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ ซึ่งท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้สร้างขื้น ด้วยท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างและประกอบกับในขณะนั้นมีตัวหนังอยู่บ้างที่วัด ท่านจึงมีความคิดที่จะสร้างตัวหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจึงได้ชักชวนครูอั๋งผู้เคยเป็นโขนคณะเจ้าเมืองราชบุรี ช่างจาดและช่างจ๊ะชาวราชบุรี และช่างพ่วงชาวบ้านโป่งมาช่วยกันสร้างตัวหนัง ชุดแรกคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวมเก้าชุด นับเป็นสมบัติของวัดที่ได้ร่วมรักษาสืบทอดกันมา ทางวัดจึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น นับเป็นวัดเดียวที่มีมหรสพของวัด ตัวหนังและคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดและยังคงมีการจัดการแสดงหนังใหญ่สืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ทางวัดได้จัดแสดงเชิดหนังใหญ่ทุกวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-11.00 น. เพียงรอบเดียว โดยนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอน (สำหรับวันธรรมดาโปรดติดต่อล่วงหน้า โดยจะมีค่าใช้จ่ายรอบละ 2,000 บาท)

 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เจ้าอาวาสวัดขนอน โทร. 0 3223 3386, 0 1753 1230 โทรสาร 0 3235 4979

การเดินทาง

 รถยนต์ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษมผ่านนครปฐม สู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นเลี้ยวขวาที่สี่แยกอำเภอบางแพ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3090 เข้าสู่อำเภอโพธาราม ข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3089 ประมาณ 3 กิโลเมตร วัดขนอนอยู่ทางขวามือ

 รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารออกจากสถานีขนส่งสายใต้ สายกรุงเทพฯ-โพธาราม มาลงที่ท่ารถโพธาราม แล้วจากท่ารถ นั่งรถสองแถวสายบ้านโป่ง-โพธารามมาลงที่หน้าวัดขนอน หรือใช้รถจักรยานยนต์รับจ้าง ใช้เวลาประมาณ 5 นาที

ข้อมูลเพิ่มเติม:การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานราชบุรี
โทร.032 919 176-8
เฟสบุค https://www.facebook.com/tatratchaburioffice/

แก้ไขล่าสุด 2016-05-20 19:01:05 ผู้ชม 22800

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ตัวละครหนังใหญ่เผชิญหน้า

ตัวละครหนังใหญ่เผชิญหน้า แทบไม่ได้เกริ่นนำการเดินทางและข้อมูลอื่นๆ ของวัดขนอนกันเลยนั่นเป็นเพราะว่าเราเดินทางมาถึงวัดขนอนก็มีการแสดงเชิดหนังใหญ่กันอยู่ หลังจากที่จอดรถแบบไม่ค่อยเรียบร้อยเท่าไหร่นัก ก็รีบเดินไปทางเสียงดนตรีประกอบหนังที่ดังมาจากด้านในสุดของวัด ฉากการเผชิญหน้าของหนังกำลังเข้าขั้นสนุก การแสดงเชิดหนังใหญ่เป็นศิลปะการแสดงที่จะหาดูได้ที่วัดขนอนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น หนังใหญ่เป็นการแสดงที่คล้ายกับโขนผสมกับตะลุง มีการใช้ฉากที่ส่องแสงสว่างมาจากด้านหลัง แต่ตัวหนังของหนังใหญ่รวมทั้งคนเชิดจะอยู่ด้านหน้าของฉาก การแสดท่าทางต่างๆ ของหนังจะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในเรื่องออกมาด้วยท่าทางของผู้เชิด

ฉากการสู้รบของหนังใหญ่

ฉากการสู้รบของหนังใหญ่ หลังจากการเผชิญหน้ากันของตัวละครหากมีการสู้รบกันตามท้องเรื่องท่าทางการสู้รบก็จะถ่ายทอดออกมาด้วยท่าของผู้เชิดอย่างสวยงาม

โรงละครหนังใหญ่

โรงละครหนังใหญ่ ที่วัดขนอนใช้ศาลาหลังหนึ่งจัดเรียงวางเก้าอี้จำนวนมากสำหรับเป็นที่นั่งชมหนังใหญ่กันแบบสบายๆ แล้วยังมีเก้าอี้ที่วางเพิ่มไปด้านหน้าของศาลาอีกเป็นจำนวนมาก เหมือนโรงหนังเลยครับ แต่ต้องเน้นว่า การแสดงวันเสาร์ รอบเดียวครับ 10.00-11.00 น. หากต้องการชมรอบพิเศษในวันอื่นๆ หรือแบบเป็นหมู่คณะหรือกลุ่มใหญ่ ค่าชมรอบละ 2,000 บาท

จอหนังใหญ่

จอหนังใหญ่ หนังใหญ่ คือมหรสพที่แพร่หลายของคนไทยอีกอย่างหนึ่ง ตัวหนังจะใช้แผ่นหนังวัวฉลุเป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ และมีไม้ผูกทาบตัวหนังไว้ทั้งสองข้าง เพื่อให้ตัวหนังตั้งตรงไม่งอ และทำให้มีคันยื่นลงมาใต้ตัวหนังเป็นสองข้างสำหรับจับถือและยกได้ถนัด สถานที่เล่นจะปลูกโรงผ้าใช้ผ้าขาวคาดเป็นจอ ส่วนด้านหลังจอจะจุดไต้และก่อไฟไว้ เพื่อให้แสงทำให้เห็นเงาตัวหนังซึ่งมีลวดลายวิจิตรมาติดอยู่ที่จอผ้าขาว และการเชิดนั้นคนเชิดต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรีและบทพากย์บทเจรจาด้วย การแสดงโขนก็ประกอบไปด้วยการพากย์ เจรจา ขับร้อง และการเต้นทำท่าตามบทพากย์ จึงกล่าวได้ว่าโขนนำเอาการพากย์ เจรจา และท่าทางการเต้นการแสดงมาจากหนังใหญ่ ปัจจุบันเหลือคณะหนังใหญ่อยู่ทั้งหมด 3 คณะได้แก่
หนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี
หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง
หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี
ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/หนังใหญ่

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน หลังจากที่ได้ชมการแสดงเชิดหนังใหญ่ ซึ่งปกติจะมีการแสดงเพียงรอบเดียวในวันเสาร์ เวลา 10.00-11.00 น. สำหรับผู้ที่ต้องการชมรอบพิเศษค่าชมรอบละ 2000 บาท โดยมากเมื่อมีทัวร์มาเป็นหมู่คณะจะให้แสดงในวัดใดก็ได้โดยการติดต่อมาล่วงหน้า สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในวัดขนอนก็คือพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เป็นสถานที่จัดเก็บรักษาหนังใหญ่จำนวนมาก บนอาคารไม้ทรงไทยสวยงามมาก

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่

ทางเข้าพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เดินขึ้นบันไดมาก็จะเจอประตูไม้แบบเก่าๆ เปิดโล่งหลายบานมองเห็นหนังใหญ่อยู่ด้านใน การเก็บรักษาและแสดงหนังใหญ่ในพิพิธภัณฑ์จะตั้งหนังใหญ่ติดกับฉากมีหลอดไฟติดไว้ตรงกลางของฉาก จึงตั้งหนังใหญ่ได้ 2 ด้าน เข้าไปดูข้างในกันดีกว่าครับ

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน

พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เดินเข้ามาข้างในแล้วจะเริ่มเข้าใจมากกว่าที่บรรยายไป หนังใหญ่จำนวนมากเก็บรักษาไว้ที่นี่ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานการสร้างที่ใช้เวลายาวนาน มีรายละเอียดปราณีต เป็นตัวละครในรามเกียรติ์ วางฉากไว้ 2 ด้านมีหลอดไฟอยู่ตรงกลาง ฉากที่ตั้งหนังใหญ่จะแบ่งเหมือนเป็นห้องเล็กๆ เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเก็บแผ่นหนังจำนวนมาก (313 ตัว) ภายในพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนสามารถถ่ายรูปได้ทั้งหมด หนังแต่ละแผ่นมีข้อมูลของตัวละครหนังนั้นกำกับไว้ให้ได้ศึกษา

บรรยากาศพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน

บรรยากาศพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน การจัดเรียงฉากสลับซับซ้อน ในพื้นที่จำกัดสามารถจัดเรียงหนังจำนวนมากให้เราได้ชม

หนังใหญ่วัดขนอน

หนังใหญ่วัดขนอน เอาลักษณะการจัดเก็บรักษาหนังใหญ่มาให้ชมกันหลายภาพพอสมควรจะได้เข้าใจได้กระจ่างกว่าคำบรรยายจากจุดนี้ไปจะเอาตัวอย่างและข้อมูลของหนังซึ่งเป็นตัวละครในตอนต่างๆ ของรามเกียรติ์

หนังใหญ่วัดขนอน

หนังใหญ่วัดขนอน เราจะเริ่มศึกษาข้อมูลของตัวหนังกันละครับ ภาพที่เห็นเป็นหนังใหญ่ที่แสดงต่อจากนี้ไปเป็นหนังใหญ่เก่าแก่ล้ำค่าของวัดขนอน การทำตัวหนังใหญ่มีมาช้านานในเมืองไทยแต่ลดน้อยลงไปมากในปัจจุบันครับ ลวดลายบนตัวหนังเป็นงานที่ละเอียดพิถีพิถัน

ทศกัณฐ์เข้าหาสีดา

ทศกัณฐ์เข้าหาสีดา ทศกัณฐ์เข้าหาสีดาที่ตำหนักในสวนเข้าปลอบโยนและเกี้ยวพา สีดาก็ด่าทอเสียดสีทศกัณฐ์และเมื่อทศกัณฐ์เข้าใกล้สีดาก็ร้องดังเพลิงพิษ ในที่สุดทศกัณฐ์ ก็จำต้องออกมาจากตำหนักด้วยความอับอายและกริ้วเกรี้ยวกราดพวกนางกำนัลที่เฝ้าประจบสอพลอ

อากาศตไล

อากาศตไล นางอสูรเสื้อเมือง เป็นนายกลองตระเวนเฝ้ากรุงลงกา มีชื่อว่า อากาศตไล หน้าแดงเสน มีสี่หน้า แปดมือ เมื่อเห็นหนุมานเหาะมาจะเข้ากรุงลงกาก็ออกสกัดกั้นและสั่งพลพรรคพวกให้ช่วยกันรุมล้อมจับหนุมานให้ได้

หนุมานรบกับอากาศตไล

หนุมานรบกับอากาศตไล หนุมานเมื่อถูกอากาศตไล ถือคทากรไล่ตีสกัดกั้นก็เข้าต่อสู้หลอกล่อด้วยกลยุทธ์ต่างๆ และไล่ฆ่าพวกพลกุมภัณฑ์ตายไปจนหมดสิ้น แล้วเข้าต่อสู้กับอากาศตไลตัวต่อตัวอย่างดุเดือด

รถทศกัณฐ์

รถทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์ลักพาตัวนางสีดามาไว้ที่สวนขวัญ กรุงลงกาโดยให้อยู่ที่พลับพลากลางสวน หลายวันต่อมาทศกัณฐ์จึงเสด็จขึ้นราชรถมาเพื่อเกี้ยวพาราสีนางสีดา

อีกด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน

อีกด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน เดินชมหนังใหญ่กันจนเพลินมาถึงด้านหลัง มีทางเดินไปบรรจบที่ด้านหน้าได้อีกทาง กับหนังใหญ่ที่ยังมีอีกมากเอามาให้ชมกันพอสังเขปนะครับ ดูกันทั้งหมดเต็มๆ ต้องไปที่สถานที่จริง หลังจากนี้เราก็จะเดินชมบริเวณอื่นๆ ของวัดขนอนกัน

ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่

ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ตอนนี้ก็เดินลงมาชั้นล่างแล้วครับ ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ มีอาคารไม้ทรงไทยอีกหลังหนึ่งมีพิพิธภัณฑ์แสดงของใช้เก่าแก่หลายชิ้นของวัดขนอน แต่ก่อนที่จะขึ้นไปบนอาคารหลังนั้นจะเห็นมุมนี้อยู่ด้านล่างของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เป็นที่สำหรับติดต่อสอบถามข้อมูลต่างๆ

ขั้นตอนการทำหนังใหญ่

ขั้นตอนการทำหนังใหญ่ พื้นที่ส่วนหนึ่งใต้อาคารมีการแสดงวิธีการสร้างหนังใหญ่ ด้วยอุปกรณ์จริง ทำจริงให้ดูกันเอาแบบพอเข้าใจ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปชมก็จะมีหลวงพ่อท่านมาเจาะหนังใหญ่ให้ดูพอสังเขปครับนอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ในการทำหนังใหญ่ให้ชมกันแบบครบครัน

พิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อม

พิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อม ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) อดีตเจ้าอาวาสวัดขนอนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดปีวอก พ.ศ. 2391 มรณภาพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2485 รวมอายุได้ 95 ปี เป็นผู้สร้างหนังใหญ่ขึ้น ด้วยท่านเป็นผู้มีความรู้ทางด้านช่างและประกอบกับในขณะนั้นมีตัวหนังอยู่บ้างที่วัด ท่านจึงมีความคิดที่จะสร้างตัวหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิมจึงได้ชักชวนครูอั๋งผู้เคยเป็นโขนคณะเจ้าเมืองราชบุรี ช่างจาดและช่างจ๊ะชาวราชบุรี และช่างพ่วงชาวบ้านโป่งมาช่วยกันสร้างตัวหนัง ชุดแรกคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวมเก้าชุด วัดขนอนจึงได้มีการเก็บรักษาเครื่องใช้เก่าแก่ได้แก่ถ้วย โถ โอชาม ซึ่งเป็นของในสมัยหลวงปู่กล่อมรวมไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ บนอาคารไม้ทรงไทยใกล้กับพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ และสร้างรูปเหมือนหลวงปู่กล่อมไว้ให้ประชาชนได้สักการะบูชา

รูปเหมือนหลวงปู่กล่อม

รูปเหมือนหลวงปู่กล่อม

พระพุทธรูปเก่าแก่

พระพุทธรูปเก่าแก่ เป็นพระพุทธรูปที่เก็บรักษาไว้มีจำนวนหลายองค์บนพิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อม มีห้องปิดด้วยกระจกใสพอมองเห็นด้านในได้ พระพุทธรูปเหล่านี้อยู่ข้างๆ กับรูปเหมือนหลวงปู่กล่อม

ตู้คัมภีร์

ตู้คัมภีร์ ตู้ไม้มีช่องกระจกใส 4 ด้านลวดลายงดงามเก็บรักษาหนังสือและคัมภีร์ต่างๆ

ลวดลายบนถ้วยชาม

ลวดลายบนถ้วยชาม นอกจากที่เห็นนี้ก็ยังมีอีกมาก อย่างเช่นสมุดข่อย เป็นสิ่งที่จะหาดูได้ยากมากขึ้นทุกวันๆ

หอระฆัง 90 ปี

หอระฆัง 90 ปี เป็นหอระฆังเก่าแก่ของวัดขนอนสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2461 ข้อความจารึกบนหอระฆังเป็นการสะกดคำอย่างโบราณ ข้อความว่า "ส้างแล้วเมื่อ พ.ศ.2461" เป็นหอระฆังที่อยู่ตรงทางขึ้นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน และอยู่ด้านข้างของพิพิธภัณฑ์หลวงปู่กล่อม

อนุสรณ์ ACCU

อนุสรณ์ ACCU เป็นสัญลักษณ์ของ องค์กร UNESCO ACCU ย่อมาจาก Asia-Pacific Cultural Centre for UNESCO หนังใหญ่วัดขนอนได้รับรางวัลยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม ปี 2550 กว่าคณะหนังใหญ่วัดขนอนจะเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทางคณะล้วนเผชิญกับปัญหานานัปการ ทั้งความนิยมในการเล่นหนังใหญ่ที่นับวันจะซบเซาลงเรื่อยๆ เนื่องจากการเข้ามาทดแทนของสื่อบันเทิงสมัยใหม่ และตัวหนังที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม การร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะการแสดงแขนงนี้ของทั้งวัด ชาวบ้าน หน่วยงานราชการในจังหวัด และพระราชดำริของสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้จัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ทดแทนชุดเก่าที่ชำรุด ทำให้คณะหนังใหญ่วัดขนอนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง วัดขนอนได้กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์และเรียนรู้ฝึกฝนศิลปะการทำตัวหนัง การเชิดหนัง การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงหนัง รวมถึงมีพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ที่เก็บรักษาตัวหนังเก่าแก่ล้ำค่าเอาไว้

วัดขนอน

วัดขนอน บริเวณสถานที่ภายในวัดขนอน มองผิวเผินคงไม่รู้ว่าเป็นสถานที่เก็บสมบัติทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่ามากๆ เอาไว้ ต้องเข้ามาสัมผัสด้วยตัวเองครับ

ซุ้มประตูทางไปวัดขนอน

ซุ้มประตูทางไปวัดขนอน ปิดท้ายกันนิดหน่อยกับลักษณะการสร้างซุ้มแบบที่เราจะเห็นกันอยู่ทั่วไปบนถนนสายต่างๆ การสร้างซุ้มแบบนี้จะมีจุดเด่นของท้องถิ่นในชุมชนนั้นมาตกแต่งซุ้ม สำหรับซุ้มบนถนนทางไปวัดขนอนก็ต้องมีการทำรูปหนังใหญ่ประดับอยู่

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน ราชบุรี
Photharam Guess House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
Katom Satu เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสุขพันธ์โพธาราม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Antique Riverside Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
Phingphayla Photharam เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนศิลป์บ้านดิน รีสอร์ท
  13.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลอลลอป รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 35 ตร.ม. – บ้านโป่ง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านโป่งแมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
Pattaya web star Apartment/The base/boundless pool เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.55 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com