www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กาญจนบุรี >> อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

 เมืองสิงห์เป็นหลักฐานความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในจังหวัดกาญจนบุรีมาตั้งแต่อดีตโดยมีหลักฐานปรากฎอยู่มากมาย ได้แก่ ตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร มีคูเมือง คันดินและกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ ที่เกลางเมืองมีโบราณสถานทรงปราสาทสร้างขึ้นตามลักษณะขอมแบบบายน

 นอกจากตัวเมืองโบราณ และโบราณสถานแล้วยังพบโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมตามลักษณะขอมแบบบายน ซึ่งจากลักษณะทางศิลปกรรมสามารถกำหนดอายุได้ว่าเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ น่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ของประเทศกัมพูชา ตามที่ปรากฎศิลาจารึกหลักหนึ่ง พบที่ปราสาทพระขรรค์ซึ่งทำขึ้นโดยเจ้าชายวีรกุมารพระราชโอรสองค์หนึ่งงของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีข้อความสรรเสริญความกล้าหาญ และการบุญกุศลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีตอนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ โดยได้ระบุชื่อเมือง 6 เมือง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองในภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ อโวทยะปุระ สวรรณปุระ ศัมพูกะปัฏฏนะ ชัยราชบุรี ศรีชัยสิงห์บุรี และศรีชัยวัชรบุรี ซึ่งเข้าใจกันว่าเมืองศรีชัยสิงห์บุรี ก็คือเมืองสิงห์ที่ตั้งปราสาทเมืองสิงห์ในจังหวัดกาญจนบุรี

 ลักษณะของเมืองสิงห์เป็นเมืองมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตั้งอยู่บนที่ราบริมฝั่งแม่น้ำแควน้อย มีเนื้อที่ประมาณ 641 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงขนาดกว้างประมาณ 880 เมตร ส่วนแนวด้านทิศเหนือ-ใต้ ยาวจรดแม่น้ำ 1400 เมตร ตัวกำแพงสูง 7 เมตร มีประตูทางเข้า-ออกทั้ง 4 ด้านกำแพงด้านในถมดินลาด ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศตะวันตกมีคูน้ำคันดินล้อมรอบอีก 7 ชั้น ส่วนด้านทิศใต้กำแพงเมืองคดโค้งไปตามลำน้ำแควน้อยโดยใช้ลำน้ำเป็นคูเมืองจึงมีผลทำให้ลักษณะของกำแพงเมืองด้านนี้มีรูปร่างเป็นไปตามแนวแม่น้ำด้วยไม่เป็นเส้นตรงเหมือนอีก 3 ด้าน ภายในตัวเมืองมีสระน้ำ 6 สระและสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนาอีก 4 แห่ง

การเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 323 เส้นทางสายกาญจนบุรี – ไทรโยค จนถึงกิโลเมตรที่ 15 จะมีทางแยกซ้ายไปปราสาทเมืองสิงห์อีก 7 กิโลเมตร

 อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 16.30 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท

 เปิดให้เข้าชมฟรี ในวันเด็กแห่งชาติ วันอนุรักษ์มรดกไทย (2 เมษายน) และวันเข้าพรรษา สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 3452 8456-7

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทร 0 3452 8456-7

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 30567

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ผังเมืองสิงห์

ผังเมืองสิงห์ เริ่มต้นจากแผนผังก่อนภาพนี้สแกนมาจากเอกสารประกอบการชมอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กรมศิลปากรจะเห็นว่าเมืองสิงห์เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มากในอดีต เส้นรอบๆ เมืองคือคูน้ำคันดินและกำแพง 3 ด้านเป็นเส้นตรงส่วนด้านที่อยู่ติดลำน้ำจะทำตามรูปร่างของลำน้ำ ทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก (ขวามือของรูปนี้) หลังจากซื้อบัตรเข้าชมแล้วขับตรงไปจะมีสวนหินอยู่ขวามือตรงหมายเลข 16 ตรงเข้าไปอีกจะเป็นโบราณสถานหมายเลข 1 ซึ่งสมบูรณ์ที่สุดของเมืองสิงห์

โบราณสถานหมายเลข 1

โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นกลุ่มอาคารส่วนใหญ่ยึดแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตกเป็นหลัก โดยเมื่อผ่านประตูเมืองด้านทิศตะวันออกเข้าไป 227 เมตรก็จะถึงชานศิลาแลง (ที่เห็นเป็นทางเดินในรูปนี่ละครับที่เรียกว่าชาน) ลักษณะเป็นชานศิลาแลงรูปกากบาทตัวชานทำเป็นฐานเขียงลดชั้นขึ้นมาเป็นเส้นลวดลายและฐานบัวคว่ำมีหน้ากระดานเป็นลูกฟักส่วนบนทำเป็นกระดานเรียบ ปลายด้านทิศตะวันตกต่อกับประตูทางเข้าซุ้มกำแพงแก้ว ปลายด้านทิศตะวันออก เหนือและใต้ ทำเป็นบันไดทางขึ้น (เป็นบันไดที่เราเดินขึ้นมานี่เอง)
ที่ขอบชานโดยรอบสกัดเป็นร่องตื้นๆ กว้างประมาณ 1 ฟุต ยาวขนานไปกับขอบของชานคล้ายว่าจะทำเป็นระเบียงขอบชานหรือเมื่อเปรียบเทียบกับโบราณสถานของขอมที่อื่นๆ แล้วก็คือราวสะพานนาค แต่ที่ไม่ปรากฎราวสะพานนาคหรือระเบียง อาจเป็นเพราะยังสร้างไม่เสร็จ หรือชำรุดสูญหายไปหมดแล้ว (ส่วนร่องจะมองเห็นในรูปที่เป็นชานจากกึ่งกลางรูปไปทางขวามือของรูป)

กำแพงแก้ว

กำแพงแก้ว ถัดจากสะพานนาคเป็นกำแพงแก้ว ซึ่งเป็นกำแพงล้อมรอบปราสาท ขนาดกว้างประมาณ 81.20 เมตร ความยาวโดยรอบ 97.6 เมตร กำแพงส่วนใหญ่พังเกือบหมดแล้วแต่ยังคงเหลือแนวกำแพงที่สมบูรณ์อยู่เป็นบางตอนที่ตรงกลางของกำแพงด้านตะวันออกและตะวันตกเป็นช่องประตูทางเข้าด้านหน้าและด้านหลัง

ลานศิลาแลง

ลานศิลาแลง ผ่านกำแพงแก้วเข้าไปจะเป็นลานศิลาแลง (ในรูปอาจจะมองยากสักหน่อยนะครับ) สี่เหลี่ยมกว้าง 23.6 เมตรอละยาว 25.6 เมตร เป็นลานทางเดินประกอบด้วยแนวทางเดิน 3 แนว ซึ่งเชื่อมต่อกันและตัดกันเป็นรูปกากบาท แนวทางเดินดังกล่าวยกสูงจากระดับพื้นเล็กน้อยจึงทำให้เกิดเป็นแอ่งตื้นๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสคั่นอยู่ระหว่างแนวทางเดิน เป็นจำนวน 4 แอ่ง มีหลุมสี่เหลี่ยมประมาณ 34-35 หลุมเรียงกันเป็นระยะ สันนิษฐานว่าคงจะเป็นหลุมเสารองรับหลังคาคลุมทางเดินกากบาทลานทางเดินนี้เชื่อมระหว่างบันไดทางขึ้นโคปุระด้านทิศตะวันออกกับประตูกำแพงแก้ว

บันไดขึ้นสู่ปราสาทและโคปุระ

บันไดขึ้นสู่ปราสาทและโคปุระ ถัดจากลานหน้าปราสาทมีบันไดขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาทหลังเดียวหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ขนาดด้านตะวันออกและตะวันตก ยาวประมาณ 36.4 เมตร ส่วนด้านทิศเหนือและทิศใต้ยาว 42.5 เมตร และตรงกลางของระเบียงคดแต่ละด้านมีซุ้มประตูหรือโคปุระซึ่งมีลักษณะระเบียงคดโคปุระด้านหน้าเหลือส่วนยอดด้านหน้าเพียงด้านเดียว โคปุระด้านทิศเหนือและทิศใต้พังทลายจนเหลือแต่ฐาน โคปุระที่สมบูรณ์ที่สุดคือโคปุระด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตก ลักษณะของโคปุระทีองค์เรือนธาตุเป็นฐานบัวคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานเขียง มีเส้นลวดลายสามเส้นวัดโดยรอบส่วนบนของโคปุระทำเป็นชั้นรัดเกล้าซ้อนกัน 3 ชั้น ต่อจากชั้นรัดเกล้าทำเป็นลักษณะโค้งมนคล้ายบัวคว่ำ แล้วจึงต่อยอดสุดด้วยอัมลกะหรือหมวกแขก ลักษณะเป็นแฉกๆ คล้ายกับกลีบดอกไม้

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

เดินอ้อมมาด้านข้างของปราสาทก็ยังมีช่องให้มองเห็นองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้เหมือนด้านหน้าและด้านหลัง

ภายในปราสาทเมืองสิงห์

ภายในปราสาทเมืองสิงห์ จากโคปุระด้านทิศตะวันออกจะเป็นทางผ่านเข้าสู่มุขด้านหน้าของปราสาทประธานซึ่งเป็นลานปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อระหว่างปราสาทประธานกับโคปุระ ด้านทิศตะวันออกที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของลานนี้เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือที่เรียกว่า บรรณาลัย ขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 5.5 เมตร ฐานเป็นฐานบัวคว่ำ มีช่องประดูทางเข้าด้านทิศตะวันตกเพียงด้านเดียว ผนังด้านทิศตะวันออกทำเป็นประตูหลอกที่ผนังด้านทิศเหนือและใต้ทำเป็นช่องแสงเล็กๆ ด้านละ 4 ช่อง ส่วนบนของอาคารพังทลายไปหมด

ภายในเป็นที่ประดิษฐานของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ในศาสนาพุทธนิกายมหายานพระโพธิสัตว์หมายถึงผู้ที่ได้ตรัสรู้เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
 กึ่งกลางของกลุ่มอาคารนี้เป็นปราสาทประธาน ลักษณะเป็นปราสาทองค์เดียว ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้ 20 ขนาดกว้าง 13.2 เมตร มีมุขยื่นออกไปรับกับมุขด้านในของโคปุระทั้ง 4 ทิศ มุขด้านทิศตะวันออกมีขนาดยาวกว่าด้านอื่นๆ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐานปัทม์หรือบัวคว่ำ และบัวหงายซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น เรือนธาตุเป็นฐานบัวคว่ำ บริเวณส่วนบนขององค์ปราสาทพังทลายหมด มีบันไดทางเข้าที่มุขด้านทิศตะวันออกด้านทิศเหนือและทิศใต้

 จากภายในองค์ปราสาทด้านทิศเหนือมีรางน้ำมนต์รองรับน้ำสรงรูปเคารพให้ไหลออกมาด้านนอก และมีแอ่งรับน้ำปรากฎอยู่ที่บริเวณฐานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ปราสาทประธาน นอกจากนี้ที่ผนังด้านนอกของมุขทางด้านทิศตะวันตกยังมีร่องรอยการถากศิลาแลง อาจทำเป็นหน้าต่างหลอก และที่ด้านหน้าองค์ปราสาทมีฐานประติมากรรม 2 ชิ้นทำด้วยหินทรายตั้งอยู่ทางด้านหลังของปราสาทประธานเป็นโคปุระและระเบียงคดด้านทิศตะวันตกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกและชานปูด้วยศิลาแลงเป็นรูปกากบาทมีลักษณะเช่นเดียวกับชานด้านหน้าโดยมีลานด้านหนึ่งเชื่อมกับซุ้มประตูกำแพงแก้วเช่นเดียวกัน

ส่วนภาพขวามือ นางปรัชญาปารมิตา เทพีแห่งความเฉลียวฉลาดในพุทธศาสนานิกายมหายาน ในรูปจะเห็นว่าฐานที่ตั้งรูปเคารพต่างๆ มีร่องเล็กๆ ไปทางขวามือเพื่อให้น้ำสรงหรือน้ำมนต์ไหลออกไป

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์

ภาพซ้าย ช่องหน้าต่างของปราสาท อยู่ด้านทิศตะวันตกของปราสาทที่มีนางปรัชญาปารมิตา ภาพขวา เป็นระเบียงคดด้านทิศใต้ ที่ยังคงความสมบูรณ์อยู่ ส่วนด้านอื่นๆ ไม่สมบูรณ์นัก

โบราณสถานหมายเลข 1

โบราณสถานหมายเลข 1 เป็นมุมด้านทิศใต้จะมีโคปุระหรือซุ้มประตูเหมือนทิศอื่นๆ ของปราสาท

โบราณสถานหมายเลข 2

โบราณสถานหมายเลข 2 เดินออกมาจากโบราณสถานหมายเลข 1 ได้ไม่กี่เมตรก็ถึง โบราณสถานหมายเลข 2 เป็นกลุ่มอาคารเช่นเดียวกันกับโบราณสถานหมายเลข 1 ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบนอกกำแพงแก้วใกล้มุมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานหมายเลข 1 กลุ่มอาคารทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าชนิดซ้อนกัน 2 ชั้น ฐานล่างกว้าง 33.9 เมตร บาว 54.2 เมตร สูง 0.8 เมตร ตรงกลางใช้ดินลูกรังหรือศิลาแลงเม็ดเล็กๆ อัดแน่น ก่อสร้างศิลาแลงแล้วประดับด้วยลายปูนปั้น ถัดไปเป็นฐานชั้นบนกว้าง 23.7 เมตร ยาว 44.8 เมตร มีทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออกบนฐานชั้นนี้เป็นลานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 6.5 เมตร ยาว 10 เมตร

ฐานตั้งรูปเคารพหรือเทวรูป

ฐานตั้งรูปเคารพหรือเทวรูป จะมีลักษณะเหมือนกันหมดทุกชิ้นไม่ว่าจะตั้งเทวรูปองค์ใด และโบราณสถานหมายเลข 1 และ หมายเลข 2 จะมีลักษณะแบบเดียวกัน จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 2 นี้พบแท่นฐานประติมากรรมหินทรายเป็นจำนวนมากตั้งอยู่ในโคปุระและตามแนวระเบียงคด และที่ซุ้มทิศนอกจากนี้ยังพบประติมากรรมหินทราบรูปพระโพธิสัตว์กวนอิมอวโลกิเตศวร พระพุทธรูป นาคปรก นางปรัชญาปารมิตา พระพิมพ์ดินเผาจำนวนมาก

โบราณสถานหมายเลข 2

โบราณสถานหมายเลข 2 ลักษณะตัวอาคารของโบราณสถานหมายเลข 2 มีลักษณะไม่สมดุลกัน ไม่ว่าจะเป็นฐานของโคปุระด้านทิศตะวันออกซึ่งแต่ละด้านย่อมุมไม่เหมือนกัน หรือฐานของเนวระเบียงด้านทิศใต้ที่ไม่อยู่ในลักษณะของเส้นตรงเหมือนกับฐานของแนวระเบียงคดด้านทิศเหนือ หรือโคประด้านทิศเหนือที่มีทางขึ้นด้านข้างแต่กลับไม่พบที่โคปุระด้านทิศใต้ สิ่งเหล่านี้อาจจะแสดงให้เห็นว่าโบราณสถานหมายเลข 2 นี้ อาจจะยังสร้างไม่เสร็จหรือมีการก่อนสร้างเพิ่มเติมจนทำให้อาคารมีลักษณะดังกล่าว

ศูนย์แสดงโบราณวัตถุเมืองสิงห์

ศูนย์แสดงโบราณวัตถุเมืองสิงห์ อยู่ตรงลานจอดรถด้านข้างของโบราณสถานหมายเลข 1 และโบราณสถานหมายเลข 2 จอดรถตรงนี้แล้วเดินชมโบราณสถานทั้ง 2 แห่งระยะประมาณ 200 เมตร ข้างลานจอดรถมีร้านค้าอาหารและเครื่องดื่มบริการ แต่ถ้าเดินทางไปวันธรรมดาร้านค้าอาจจะไม่เปิดก็เป็นได้

ลานแสดงชิ้นส่วนของปราสาท

ลานแสดงชิ้นส่วนของปราสาท เป็นลานเล็กๆ ที่รวบรวมชิ้นส่วนของปราสาทแบบด่างๆ มาตั้งแสดงไว้ ส่วนอีกด้านหนึ่งจะมีฐานรูปเคารพ (โยนิโสรณะ) ลานนี้จะแสดง ฐานรูปเคารพ (โยนิโสรณะ) ปกติจะพบอยู่ภายในห้องกลางหรือห้องครรภ์ของปราสาท เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุดของศาสนสถาน นำมาตั้งเรียงไว้หน้าอาคารเช่นเดียวกัน

เมืองสิงห์จำลอง

เมืองสิงห์จำลอง อยู่ด้านข้างของศูนย์แสดงโบราณวัตถุ จำลองโบราณสถานที่พบในเมืองสิงห์ไว้โดยรอบ นอกจาก โบราณสถานหมายเลข 1 และโบราณสถานหมายเลข 2 ที่เอามาเล่าในทริปนี้แล้วยังมีโบราณสถานอีกมากมายในพื้นที่กว่า 600 ไร่ เดินชมประวัติศาสตร์พร้อมศึกษาความเป็นมาของคนไทยใช้เวลาให้คุ้มค่าลองไปที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ดูครับ จะได้อะไรกลับมาอีกมาก

รีวิว อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กาญจนบุรี


 ""

Somjai Jai Jangkrajang
2019-05-22 15:55:33

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กาญจนบุรี


 "ไม่ได้มาหลายปีดูเหมือนทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ดูแลรักษาได้ดีมากครับ มี QR Code ให้สแกนหาข้อมูลเพิ่มได้ด้วย"

Tot Farm
2019-05-10 11:32:00

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กาญจนบุรี


9/10 จาก 2 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ กาญจนบุรี
สิงห์ รับเบอร์ ทรี รีสอร์ต แอนด์ สปอร์ต คลับ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
หาดบ้านดิน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทายัน รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
บานาน่า รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
แทมารินด์ โฮม รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
จังจา ฮัท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
เขาน้ำนา บูติก รีสอร์ท
  13.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
แฮปปี้เนส รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
แควน้อยริเวอร์พาร์ค รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
เนินอิ่มเอม โฮมสเตย์ กาญจนบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.98 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com