www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พิษณุโลก >> วัดจันทร์ตะวันตก

วัดจันทร์ตะวันตก

 เป็นวัดแห่งหนึ่งริมแม่น้ำน่านตั้งอยู่บริเวณสะพานสุพรรณกัลยา อยู่ตรงข้ามกับวัดจันทร์ตะวันออกโดยมีแม่น้ำน่านกั้นกลาง หมู่บ้านวัดจันทร์ตะวันตกจะก่อตั้งเกิดขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดแต่พอจะทราบได้จากบันทึกและคำบอกกล่าวเล่าต่อๆ กันมาพอจะสรุปเป็นสังเขปได้ดังนี้

 ประมาณปีพ.ศ. 2400 เดิมทีที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งนี้เป็นป่าดงในอดีตมีวัดรังเงิน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาก ผู้รู้เล่าขานกันมาว่าวัดรังเงินสร้างขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างเมืองพิษณุโลก ประชากรที่อาศัยอยู่รอบๆ วัดเป็นลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ ต่อมาเกิดเหตุเพลิงไหม้เผาผลาญบ้านเรือนของผู้อุปถัมภ์วัดที่อยู่รอบๆ วัดเสียหายหมด ชาวบ้านไม่สามารถดับไฟได้เพราะในหมู่บ้านมีแต่บ่อน้ำที่ขุดใช้เองทำให้มีน้ำไม่เพียงพอที่สู้ภัยจากไฟได้
 เหตุการณ์ที่เกิดเพลิงไหม้ครั้งนั้นได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก เนื่องจากหมู่บ้านอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำน่าน จึงร่วมกันคิดขึ้นมาว่าควรจะหาสถานที่ตั้งวัดติดกับแม่น้ำ นายเทศ นางทองคำ มีจิตศรัทธาได้มอบที่ดินของตนให้กับวัดจำนวน 16 ไร่ 3 งาน เมื่อดำเนินการก่อสร้างวัดแล้วเสร็จ นิมนต์หลวงพ่อเสือที่อยู่วัดรังเงินมาอยู่ที่วัดสร้างใหม่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันนี้และได้ตั้งชื่อว่าวัดจันทร์เมื่อ พ.ศ. 2400 เหตุผลที่ตั้งชื่อว่าวัดจันทร์นั้นเพราะว่าในวัดมีตันจันทร์ใหญ่อยู่ 1 ต้น และมีต้นจันทร์เล็กๆ อีกหลายต้นขึ้นอยู่ในวัด
 ในปี พ.ศ. 2481 ตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นใช้ศาลาของวัดเป็นโรงเรียน และได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาได้ย้ายโรงเรียนจากวัดฯ มาตั้งอยู่ที่วัดรังเงิน ซึ่งร้างว่างเปล่าอยู่นานแล้วและใช้ชื่อโรงเรียนว่า "โรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตกมิตรภาพที่ 73" อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนวัดจันทร์ตะวันตก ได้ก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น 1 หลัง ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมาเมื่อ 19 มีนาคม 2490 สำนักสงฆ์แห่งนี้จึงได้รับนามว่า วัดจันทร์ตะวันตก โดยสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา
 ที่มา ข้อมูลชุมชนวัดจันทร์ตะวันตก

ประวัติศาสตร์ของวัดจันทร์ตะวันตก มีดังนี้

 วัดนี้เข้าใจว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้ เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาหลายตอนซึ่งตรงสมัยกรุงธนบุรี ตอนอแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่ายกทัพมาล้อมเมืองพิษณุโลก เมื่อราว ๒๐๐ ปีล่วงมาแล้ว จะขอยกกล่าวเป็นบ้างตอนดังนี้

 "...ครั้น ณ วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ กลางคืนเพลาสี่ทุ่ม จึงเสด็จทัพหลวงขึ้นไป ณ ค่ายมั่นใกล้วัดจันทร์ดำรัสให้กองพระยายมราช และพระยานครราชสีมา พระยาพิชัยสงคราม ยกไปช่วยพระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งค่ายประชิดโอบค่ายพม่า ณ วัดจันทร์นั้น..."

 และอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

 "...แล้วให้กองพระยาธรรมายกหนุนขึ้นไปช่วยพระยามหามนเฑียร และพระยานครสวรรค์ ซึ่งไปตั้งค่ายประชิดโอบหลังค่ายพม่า ณ วัดจันทร์ฟากตะวันตก..."

 จะเห็นได้ว่าในตอนแรกนั้นกล่าวถึงวันจันทร์ตะวันออกนั้นเอง ส่วนที่กล่าวถึงในตอนหลัง คือวัดจันทร์ตะวันตก แสดงว่าวัดทั้งสองมีมาแล้วเมือ ๒๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว

 ที่มา วัดจันทร์ตะวันตก

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.พิษณุโลก โทร.0 5525 2742-3, 0 5525 9907, 0 5523 1063
http://www.tourismthailand.org/phitsanulok

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 37599

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดจันทร์ตะวันตก

วัดจันทร์ตะวันตก ขอเปิดภาพวัดจันทร์ตะวันตกด้วยป้ายชื่อวัดที่กำแพงตรงกับสะพานสุพรรณกัลยาการเดินทางมายังวัดจันทร์ตะวันตกจากนครสวรรค์มีทางแยกขวามือมีป้ายบอกเข้าวัดจันทร์ตะวันตก ถึงก่อนตัวเมืองพิษณุโลก ทางแยกแรกถนนประชาอุทิศขับตามทางสายหลักไปเรื่อยๆ ก็ถึงวัดจันทร์ตะวันตก หรือแยกถนนไชยานุภาพ (กรณีที่ขับเลยแยกแรกไปแล้ว) ขับตามทางถึงวัดได้เลยเหมือนกัน หรือหากมาจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารหลังจากไหว้พระพุทธชินราชแล้วกลับรถข้ามสะพานแม่น้ำน่าน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวังจันทร์ก็มาถึงวัดจันทร์ตะวันตกได้เหมือนกัน หากวางแผนไหว้พระพุทธชินราชแล้วกินข้าวเที่ยงก่อนหากไม่ไปก๋วยเตี๋ยวห้อยขาที่ใกล้ๆ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จะมาหาอาหารกินแบบบรรยากาศถึงพิษณุโลกก็มาตามถนนพุทธบูชา (เลียบแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก) ใกล้สะพานสุพรรณกัลยามีแพร้านอาหารหลายร้านให้เลือก หากจะให้แนะนำขอแนะนำแพภูฟ้าไทย เป็นแพที่ผมไปกินทุกครั้งที่อยากกินอาหารบนแพ รสชาดรับรองได้เลยอร่อย ส่วนราคาก็ตามมาตรฐานครับไม่แพงจนเกินไป กินข้าวเสร็จก็ขับข้ามสะพานไปวัดจันทร์ตะวันตกได้เลย ภาพที่เห็นจากสะพานสุพรรณกัลยาคือกำแพงวัดที่สวยงามสะดุดตามากๆ จนอดไม่ได้ที่จะจอดรถลงมาถ่ายรูป

กำแพงวัดจันทร์ตะวันตก

กำแพงวัดจันทร์ตะวันตก ต่อด้วยภาพอีกชุดหนึ่งของกำแพงวัดให้เห็นกันหลายๆ มุม กำแพงวัดแห่งนี้ยาวมากและสร้างแบบเดียวกันตลอดสวยงามมากรูปเทพพนมถือดอกบัวทุกช่อง ใน 1 ช่วงของกำแพงมี 5 ช่องเท่ากันตลอดด้านในมีลวดลายสวยงามแบบเดียวกันตลอด จากนั้นก็เข้าไปหาที่จอดรถในวัด ภายในวัดมีต้นไม้ร่มรื่นบางส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่โล่งกว้างประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อทองไหลมา ซึ่งจะกล่าวถึงในอันดับต่อไป สถานที่จอดรถที่หาได้ง่ายหน่อยอยู่ใกล้ๆ กุฎิเจ้าอาวาสจะเห็นว่ามีคนเดินทางมาทำบุญกันต่อเนื่องตลอดทั้งวันเนื่องจากตอนนี้ทางวัดกำลังสร้างสมเด็จองค์ปฐมและมหาวิหารสมเด็จองค์ปฐม พระนามว่าสมเด็จพระพุทธสิกขีที่ 1 เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกของโลก การก่อสร้างก็ดำเนินไปเรื่อยๆ กำลังสร้างส่วนฐานอยู่ครับท่านใดสนใจก็เชิญที่วัดกันเลยครับ

พระพุทธเจดีย์สระหลวง

พระพุทธเจดีย์สระหลวง เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและประดิษฐานพระไภษัชยคุรุไพฑูรยประภาตถาคต และเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวิหารหลวงปู่สุ่น มีรูปหลวงปู่สุ่นด้านหน้าพระพุทธรูป มีคำจารึกด้านหลังว่า จารึกสระหลวง ศุภมัสดุพระพุทธศาสนกาลล่วงได้ 2549 ปี ด้วยฯข้าฯ นาวาเอกจุลินทร์ เหลือนาค คนบ้านจอมทอง จังหวัดพิษณุโลก ผู้เชื่อและมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในบวรพระพุทธศาสนาพร้อมด้วยพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ และคุณเปรมฤดี ชามพูนท ผู้เป็นกัลยาณมิตรได้พร้อมใจกันอาราธนาพระคุณเจ้าพระอุบาลี อตุโล เป็นองค์อุปถัมภ์ร่วมกันก่อสร้างพระพุทธเจดีย์สระหลวง เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ วัดจันทร์ฝั่งตะวันตก กับทั้งอุทิศมหากุศลนี้ ถวายแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินสยามเป็นอเนกประการ ด้วยพระบรมเดชานุภาพของทั้งสามพระองค์กับทั้งผลแห่งบุญกุศลครั้งนี้ จงดลบันดาลให้แผ่นดินสยามร่มเย็นเป็นปึกแผ่น และผู้ร่วมกองการมหากุศลครั้งนี้จงได้บรรลุพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเทอญ

พระพุทธเจดีย์สระหลวง

พระพุทธเจดีย์สระหลวง ภาพชุดนี้แสดงให้เห็นความสวยงามกันรอบด้าน ตั้งแต่ด้านหน้าภาพซ้ายบน ด้านข้างภาพขวาบน มุมเฉียงในภาพล่างซ้าย และด้านหลังซึ่งปรากฏคำจารึกสระหลวง ภาพพระพุทธเจดีย์สวยงามมากแต่เนื่องจากเวลาที่มาถึงวัดช่วงบ่าย 3 โมง ทำการถ่ายภาพได้ยากในบางมุมที่ต้องเจอปัญหาการย้อนแสง โดยหลักการแล้วการถ่ายภาพวัดต้องคำนึงถึงเวลาในช่วงเช้าเป็นหลักเพราะศาสนสถานจะสร้างให้หันออกไปด้านทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่

พระไภษัชยคุรุไพฑูรยประภาตถาคต

พระไภษัชยคุรุไพฑูรยประภาตถาคต คำบูชาพระไภษัชยคุรุไพฑูรยประภาตถาคต

นะโม ภาคะวะเต ไภษัชะเย คุรุ ไพฑูรยะปะระภะ ราชายะ ตะถาคะตายะ อะระหะเต สัมยัก สัมพุทธายะ ตัทยะถา
โอม ไภษัชะเย ไภษัชะเย มะหาไภษัชะเย ราชา สมุทคะเต สะวาหา
คำแปลพระคาถา ขอนมัสการพระไภษัชะ คุรุ ไพฑูรรย์ประภา ผู้ทรงฤทธานุภาพ มีแสงสว่างงามดังแก้วไพฑูรย์ เป็นราชาบรรลุถึงจริงแท้แห่งความหลุดพ้น สู่ความเป็นพระพุทธเจ้า โดยประการฉะนี้ ขอพระไภษัช มหาราชา ผู้เป็นเจ้าแห่งสมุทร จงดลบันดาลให้เกิดความสุขความเจริญแก่ข้าพเจ้าเทอญ

หลวงพ่อทองไหลมา

หลวงพ่อทองไหลมา เป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรประทับยืนสูงมาก อยู่กลางลานกว้างของวัด เป็นที่สะดุดตาประชาชนที่เดินทางผ่านไปมาตามถนนข้างวัด ลักษณะการสร้างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรสูงๆ และการสร้างวิหารสมเด็จองค์ปฐม ทำให้เกิดความเกี่ยวโยงกันกับวัดจันทาราม หรือวัดท่าซุงจังหวัดอุทัยธานี และเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำด้วย ทั้งนี้ผมยังไม่ได้สอบถามหรือศึกษาประวัติท่านเจ้าอาวาส แต่น่าจะเป็นศิษย์ในสายหลวงปู่ปานและหลวงพ่อฤๅษีลิงดำครับ

พระอุโบสถวัดจันทร์ตะวันตก

พระอุโบสถวัดจันทร์ตะวันตก ปกติไม่ได้เปิดให้เข้าชมครับ ประชาชนที่เดินทางมาส่วนใหญ่จะไหว้พระที่หลวงพ่อทองไหลมา และพระพุทธเจดีย์สระหลวงมากกว่า

วิหารเทวาลัยพระพิฆเณศ

วิหารเทวาลัยพระพิฆเณศ เป็นวิหารที่อยู่นอกกำแพงวัด ตั้งอยู่เชิงสะพานสุพรรณกัลยาฝั่งตะวันตก ซึ่งตรงกับประตูทางเข้าวัดจันทร์ตะวันตกอีกด้านหนึ่ง หากเดินทางโดยใช้เส้นทางข้ามสะพานสุพรรณกัลยาจะเป็นวิหารเทวลัยพระพิฆเณศโดดเด่นมากเพราะมีขนาดที่ใหญ่มาก อยู่ใกล้กับพระพุทธเจดีย์สระหลวงแต่เจดีย์อยู่ภายในกำแพงวัด หากมีโอกาสได้ไปที่วัดแห่งนี้ขอเชิญร่วมทำบุญสร้างมหาวิหารสมเด็จองค์ปฐมกันครับ จากแบบที่ท่านเจ้าอาวาสได้ออกแบบไว้และเขียนเป็นภาพจำลองออกมาจะเห็นว่ามีความสวยงามมากๆ ครับ ลักษณะพระพุทธศิลป์ขององค์สมเด็จองค์ปฐมเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามมาก
จากข้อมูลของทางวัดอานิสงส์ของการสร้างสมเด็จองค์ปฐมและมหาวิหารสมเด็จองค์ปฐม คือได้นิพพานเร็ว ไปนิพพานเร็วมากเพราะเข้าบัญชีสีทอง ไม่ใช่ตัวหนังสือทอง บัญชีทั้งเล่มเป็นทอง นั้นหมายถึงกลับไม่ได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ต้องโมทนาหมด พระอาจาย์อุบาลี อตุโล ได้กว่าวถึงอานิสงส์ในการสร้างสมเด็จองค์ปฐมและการสร้างมหาวิหารไว้ดังนี้ ท่านที่ได้ทำบุญถ้ายังไม่ถึงซึ่งพระนิพาน ก็จะได้เป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายในชาตินั้น เพียบพร้อมด้วยบริวาร เกิดทุกชาติจะสมบูรณ์ทุกอย่างพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมาย เกิดทุกชาติย่อมพบพระพุทธศาสนา และได้บำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง เกินทุกชาติย่อมพบแต่บัณฑิต นักปราชญ์ให้ทานฟังธรรม เกิดทุกชาติย่อมบริบูรณ์ด้วยบริวารสมบัติ มนุษย์สมบัติ ย่อมบันเทิงในสวรรค์สมบัติเพียบพร้อมด้วยบริวารนับแสน

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดจันทร์ตะวันตก พิษณุโลก
สตูดิโอ 15 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 19 ตร.ม. – วัดจันทร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภัทธารา รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ วิวพอยต์ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมน่านเจ้า เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม ชินะปุระ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
หรรษนันท์ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
สยาม แอปเปิ้ล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฮอป อินน์ พิษณุโลก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะ พาร์ค เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
นนทรี เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.10 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com