www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> เวียงกุมกาม

เวียงกุมกาม

 เวียงกุมกาม เป็นเมืองโบราณที่พญามังราย (พ่อขุนเม็งราย) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1829 โดยให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้านเพื่อไขน้ำแม่ปิงให้ขังไว้ในคูเวียง โบราณสถานที่ปรากฎอยู่ในเวียงกุมกาม และใกล้เคียง จากการสำรวจพบว่ามีอยู่ 20 แห่ง ทั้งที่เป็นซากโบราณสถาน และเป็นวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ แต่ละแห่งอยู่กระจัดกระจายกัน มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 21-22

    ปัจจุบันเวียงกุมกาม อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่ ประมาณกิโลเมตรที่ 3-4 ถนนเชียงใหม่-ลำพูน ในเขตตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี และอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก การเดินทาง เข้าทางตู้ยามหนองหอยและตรงมาจนทะลุแยกเกาะกลางป่ากล้วยตรงต่อไปจนถึงตู้ยามเจดีย์เหลี่ยม

    ชาวบ้านจัดบริการรถราง และรถม้า เพื่อพานักท่องเที่ยวชมโบราณสถานเวียงกุมกามจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดธาตุน้อย วัดช้างค้ำ วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดพระเจ้าองค์ดำ กู่ป้าด้อม วัดปู่เปี้ย วัดหนานช้าง และวัดอีก้าง ใช้เวลานำชมประมาณ 45 นาที ค่าบริการรถม้า 250 บาท รถรางคนละ 15 บาทหรือเหมาคันประมาณ 400 บาท นอกจากนี้ยังรับจัดกิจกรรมเลี้ยงขันโตกและสาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้านบริเวณเวียงกุมกาม

    สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 08 6193 5049, 08 1027 9513

ประวัติเวียงกุมกาม
แว่นแคว้นแห่งลุ่มน้ำแม่ระมิงค์ เรื่องราวของผู้คนและบ้านเมืองในภาคเหนือตอนบนนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะปรากฏอยู่ในหนังสือพงศาวดารหรือตำนานทางพุทธศาสนา หรือไม่ก็นิทานพื้นบ้านปรัมปรา แฝงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ความศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีบุญมาเกิด เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ทวยราษฎร์ให้เล่าขานสืบต่อกันมา เรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของ พญามังราย ซึ่งมีมูลเหตุน่าเชื่อถือได้ว่า เป็นเหตุการณ์ในยุคสร้างบ้านแปงเมืองในดินแดนแถบนี้

 เชื่อกันว่า พญามังราย บรรพกษัตริย์ผู้ครอบครอง และสืบทอดราชวงศ์ลวจังกราช เหนือราชบัลลังก์เมืองหิรัญนครเงินยาง แห่งแคว้นโยนโรบราณอันกว้างใหญ่ แถบลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำสาย และแม่น้ำกก ได้เสด็จเร้อมด้วยไพร่พลมาที่ดอยจอมทอง ซึ่งตั้งอยู่ตรงทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ริมแม่น้ำกกที่ไหลมาแต่เทือกเขาสูงทางทิศเหนือ ณ ดอยแห่งนี้ พระองค์โปรดให้สร้างเวียงแห่งใหม่ขึ้น เมื่ประมาณปี พ.ศ.1806 มีนามว่า เชียงราย หรือเวียงแห่งพญามังราย

 เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพและขยายอาณาเขตพระองค์จึงเสด็จขึ้นไปทางเหนือไปรวบรวมรี้พล และสร้างเวียงฝางไว้เป็นเมืองหน้าด่าน อีกมั้งยังได้สำรวจเส้นทางในลุ่มน้ำแม่ระมิงค์หรือสายน้ำแห่งชาวรามัญเพื่อขยายดินแดน ลงมาทางใต้เพราะทรงทราบถึงเกียรติศัพท์อันร่ำลือว่า หริภุญไชยเป็นแคว้นใหญ่ร่มเย็นด้วยพุทธศาสนา บ้านเมืองสงบสุขมั่งคั่ง มีศิลปะวิทยาการเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีตกาลครั้งพระนางจามเทวี จึงทรงปรารถนาที่จะรวมแคว้นหริภุญไชยให้อยู่ในเขตขัณฑสีมาแห่งพระองค์ ในที่สุด พระองค์ก็ยกกำลังพลเข้ายึดครองหริภุญไชยได้เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 1824

 อีก 2 ปี ต่อมา ทรงดำริว่า หริภุญไชยเป็นเวียงศูนย์กลางพุทธศาสนา มีความคับแคบเกินไป การจะขยายเวียงเพื่อรองรับชุมชนจำนวนมากทำได้ยาก จึงทรงมอบเวียงหริภุญไชยให้อ้ายฟ้าดูแล แล้วนำกำลังรี้พลพร้อมด้วยราษฎรไปตั้งมั่นอยู่ที่ บ้านแซว หรือ ชแว เพื่อพิจารณาทำเลที่เหมาะสมสำหรับสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ ให้เป็นศูนย์กลางการปกครองและการค้าขาย ตลอดจนมีพื้นที่เหมาะสมกับการเกษตรกรรม ทรงเลือกพื้นที่บ้านกลาง บ้านลุ่มและบ้านแห้ม โปรดให้สร้างเวียงใหม่ขึ้นปี พ.ศ. 1829 ณ บริเวณที่แม่น้ำปิงหรือน้ำแม่ระมิงค์ไหลผ่านทางด้านทิศเหรือ และทิศตะวันออก ด้วยพิเคราะห์ว่าแม่น้ำปิงสายนี้จะเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญระหว่างดินแดนทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ทรงให้ขุดคูเวียง 3 ด้าน ใช้น้ำแม่ระมิงค์เป็นคูเวียงธรรมชาติด้านทิศเหนือ ก่อกำแพง 4 ด้าน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า พร้อมสร้างที่ประทับเรือนหลวงภายในเวียงด้วยฐานะที่เป็นเมืองหลวงควบคุมดูแลการเมืองการปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ เวียงนี้จึงได้ชื่อเรียกขานกันทั่วไปว่า "เวียงกุ๋มก๋วม" หรือ "เวียงกุมกาม" ในเวลาต่อมา

 อาจด้วยเพราะเวียงกุมกามตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มบริเวณคุ้งน้ำเมื่อย่างเข้าหน้าฝน พื้นที่โดยรอบก็จะชุ่มแฉะ คราวใดที่แม้น้ำปิงมีปริมาณน้ำสูงมาก ก็จะถาโถมเข้าท่วมเวียงได้ง่าย หลักฐานจากชั้นดินในการขุดค้นทางโบราณคดีและการขุดแต่งโบราณสถานในเวียงกุมกาม ยืนยันความจริงว่าเวียงกุมกามประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วม ทั้งนี้เห็นได้จาก โบราณสถานวัดร้างหลายแห่งพบอยู่ทั้งในเวียงและนอกเวียงนั้น ถูกดินเหนียวร่วนปนกรวดทราย ซึ่งเป็นตะกอนน้ำพัดพา กลบฝังอยู่ลึกประมาณ 1.50-2.00 เมตร ส่งผลเสียหายแก่บ้านเมืองอยู่เป็นประจำ เป็นเหตุให้พญามังรายทรางย้ายมาสร้างเวียงใหม่ ณ บริเวณที่พระองค์พร้อมด้วยพระสหาย คือ พ่อขุนรามคำแหง แห่งเมืองสุโขทัย และพญางำเมือง แห่งเมืองพะเยา พิจารณาร่วมกันว่าบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม มีความลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกอยู่ระหว่างอุสุจบรรพตหรือดอยสุเทพทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กับแม่น้ำปิงซึ่งไหลผ่านมาทางด้านทิศตะวันออกนั้น เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม จึงโปรดให้สร้างเวียงแห่งใหม่ มีชื่อว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาแทนเวียงกุมกามเมื่อปี พ.ศ.1839

 แม้ศูนย์กลางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ ศิลปะ และวิทยาการต่างๆ จะย้ายมาอยู่ที่เชียงใหม่แล้วในช่วงเวลานั้น เวียงกุมกามก็ยังคงความสำคัญโดยเฉพาะกับราชวงศ์มังราย มีผู้คนอยู่อาศัยสืบต่อกันมา เห็นได้จากเมื่อครั้งที่ มีงานอภิเษกแต่งตั้งพระนางปายโคขึ้นเป็นราชเทวี และงานฉลองยศอุปราชเจ้าพญาไชยสงครามราชโอรส พญามังรายโปรดให้มีการเฉลิมฉลองทั้งเวียงเชียงใหม่และเวียงกุมกามถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน เมื่อครั้งประชวรก็โปรดที่จะเสด็จมาประทับพักผ่อนที่เวียงกุมกาม ครั้นสิ้นสมัยของพญามังรายแล้ว มีเรื่องเล่ากันว่า นางจีมคำ พระราชเทวีของพญาแสนภู ได้เสด็จเยี่ยมเวียงกุมกามโดยข้ามน้ำแม่โทอยู่บ่อยครั้ง จนได้เรียกบริเวณนี้ว่า ขัวจีมคำ หรือสะพานจีมคำ ล่วงมาถึงสมัยพญากือนา ซึ่งมีความกล่าวไว้ในศิลาจารึกพบที่วัดพระยืนว่า มีผู้คนจำนวนมากจากหริภุญไชย เชียงใหม่ และเวียงกุมกาม ร่วมกันเป็นศรัทธาทำบุญถวายทาน แด่พระสุมนเถระที่พญากือนาอาราธนามาแต่เมืองสุโขทัย เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา จนถือได้ว่าเป็นการเริ่มยุคทองของพุทธศาสนาในอาณาจักรล้านนา ต่อมาในสมัยพญาแสนเมืองมา พระองค์เสด็จมาเวียงกุมกามเพื่อหล่อพระพุทธรูปเจ้าสิกขี 1 องค์ แล้วให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดกานโถมช้างค้ำ กลางเวียง

 เวียงกุมกาม เริ่มประสบปัญหาความยุ่งยาก เมื่อท้าวมหาพรหมเจ้าเมืองเชียงราย ได้นำกำลังพลจำนวนหนึ่งเข้ามากวาดต้อนผู้คนที่เวียงกุมกาม เพื่อเข้าตีเวียงเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถต้านกำลังรบของพญาแสนเมืองมาได้ จึงยกทัพกลับไป เวียงกุมกาม ใช่จะมีความสำคัญเพราะเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของเวียงเชียงใหม่เท่านั้น แต่ชื่อ กุมกามดูเหมือนจะเป็นชื่อที่คุ้นเคย ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อราชบุตรของพญาแสนเมืองมา คือ ท้าวยี่กุมกาม ด้วย อย่างไรก็ตามในสมัยพญาติโลกราช เวียงกุมกามมีฐานะเป็นเพียงพันนาหนึ่งของเวียงเชียงใหม่ โดยมีหมื่นกุมกาม เป็นผู้ปกครองดูแลต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว พระองค์เสด็จมาบำเพ็ญกุศลสร้างวิหาร และอัญเชิญพระประติมาทองสำริด มาประดิษฐานบนแท่นชุกชีที่วัดกุมกามทีปาราม หรือ วัดเกาะกุมกามด้วย

 ในปี พ.ศ.2101 เชียงใหม่เสียแก่พม่า ผลของสงครามและฐานะของความไร้อิสระภาพ ประกอบกับอุทกภัยทางธรรมชาติหลายครั้งหลายหน อาจมีส่วนทำให้เวียงกุมกามหมดความสำคัญสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ตลอดสมัยการปกครองของพม่าที่ยึดครองล้านนาอยู่ 216 ปี แม้ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เวียงกุมกามคงเป็นแค่ตำนานของผู้คนในเวียงเชียงใหม่ ครั้งเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยพระยาจ่าบ้านได้ยกทัพมาต่อสู้กับพม่าที่ ท่าวังตาล ยังไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงชื่อ กุมกาม ตราบจนตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเวียงเชียงใหม่พระองค์แรก ได้ฟื้นฟูบ้านเมืองโดยใช้นโยบาย "เก็บผักใส่ผ้า เก็บข้าใส่เมือง" ทำให้ผู้คนมาตั้งถิ่นฐานในเวียงเชียงใหม่มากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงบริเวณเวียงกุมกามด้วย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีบันทึกชัดเจนว่า ผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยเป็นชุมชนขนาดเล็กที่ "บ้านช้างค้ำ ท่าวังตาล" กระทั่งปี พ.ศ.2527 เป็นต้นมา กรมศิลปากรสำรวจและขุดค้นพบโบราณสถาน วัดร้างหลายแห่ง มิติของเมืองในตำนานเริ่มฉายภาพเด่นชัดขึ้น จนกระทั่งเป็นข้อยุติว่า ท่าวังตาล คือ ที่ตั้งแห่ง "เวียงกุมกาม รุ่งอรุณแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"

เวียงที่สูญหายและหวนคืน เวียงกุมกามปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าวังตาล องค์การบริหารส่วนตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหอย อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 5 กิโลเมตร จากการศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและการสำรวจทางโบราณคดี มีร่องรอยแนวกำแพงเวียงทางทิศใต้คูเวียงทางทิศเหนือและทิศตะวันออก สันนิษฐานตามสภาพว่า เวียงมีลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 600 เมตร ยาว 850 เมตร โดยประมาณ สำนักงานศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ กรมศิลปากร ดำเนินการขุดค้นขุดแต่ง และอนุรักษ์โบราณสถาน ทั้งภายในและนอกเวียงแล้ว จำนวน 42 แห่ง ยืนยันว่าฐานโบราณสถานทุกแห่งถูกทับถมด้วยตะกอนน้ำท่วม ในระดับ 1-2 เมตร เวียงกุมกามในปัจจุบันจึงมีสภาพดังเช่น "นครโบราณใต้พิภพ" ที่ถูกเปิดเผยออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้

ศิลปกรรมในเวียงกุมกาม โบราณสถานที่โดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรม ล้วนเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนา ได้แก่ เจดีย์เหลี่ยม ที่พญามังรายโปรดให้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 โดยถ่ายแบบสถาปัตยกรรมมาจาก เจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน องค์เจดีย์มีฐานสี่เหลี่ยมประดับซุ้มพระโดยรอบ ซ้อนชั้นลดหลั่นกันขึ้นไป อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2451 มีการบูรณะซ่อมแซมใหญ่ โดยช่างชาวพม่า ทำให้ลวดลายปูนปั้น และประติมากรรมพระพุทธรูปในซุ้มเป็นศิลปะแบบพม่า
 เจดีย์ที่วัดหัวหนอง มีช้างหมอบคู้ขาหน้าล้อมรอบฐานเจดีย์ลักษณะเดียวกันกับช้างล้อมที่เจดีย์รุวันเวลิ ในประเทศศรีลังกา เป็นอิทธิพลศิลปะสุโขทัย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 19-20
 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมในเวียงกุมกาม ได้พัฒนาเป็นศิลปะล้านนาอย่างแท้จริง โดยสร้างเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม มีเรือนธาตุสูง ประดับลูกแก้วอกไก่และชุดมาลัยเถามียอดเป็นองค์ระฆังขนาดเล็ก เช่น เจดีย์ที่วัดกู้ไม้ซ้ง วัดธาตุขาว วัดอีก้าง วัดกู่ขาว เป็นต้น เจดีย์บางองค์มีเรือนธาตุสูง และประดับซุ้มพระ 4 ด้าน โดยมีชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดเล็ก เช่นเจดีย์ที่วัดปู่เบี้ย
 วัดวาอารามบางแห่งที่เพิ่งถูกค้นพบในปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมาไม่ปรากฏยอดเจดีย์ แต่มีฐานเจดีย์ วิหาร กำแพงแก้ว ผังจมอยู่ใต้พื้นดิน 1-2 เมตร ยังคงรักษางานลวดลายปูนปั้นที่วิจิตร งดงามไว้เป็นอย่างดี เช่นหัวบันไดมกรคายนาค ลายประดับสิงห์ เหมราช กิเลน ที่วัดหนานช้าง หงส์ ที่วัดหัวหนอง เทวดาปูนปั้นแบบนูนสูงและลวดลายปูนปั้นมกรคายมังกร ที่วัดกู่ป้าด้อม เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุ เช่น พระพิมพ์ดินเผาสกุลช่างหริปุญไชย เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง-ชิง และชิ้นส่วนพระพุทธรูป ซึ่งข้อมูลโดยละเอียดรับทราบได้จาก "ศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม"

 วิถีชีวิตของผู้คนในเวียงกุมกาม ย่อมหนีไม่พ้นกระแสโลกาภิวัฒน์ แต่ด้วยจารีตประเพณีอันสืบเนื่องมาจากข้อกฏหมายโบราณที่เรียกว่า "มังรายศาสตร์" ซึ่งเป็นหลักยึดเหนี่ยว เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชนมาแต่โบราณกาล ทำให้กลิ่นอายของล้านนายังคงอบอวลอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้คนที่เรียกตนเองว่า "คนเมือง"
 ประจักษ์พยานเห็นได้จาก งานรื่นเริง และงานบุญในเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนา ที่ประกอบด้วยพิธีกรรม การแต่งกาย ศิลปะการแสดง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่คงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
 กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมโดยความร่วมมือของฝ่ายการเมือง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น กำลังดำเนินการฟื้นฟู และอนุรักษ์เวียงกุมกามให้คืนสู่บรรยากาศในอดีตที่รุ่งเรืองของ รุ่งอรุณแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็น "เมืองประวัติศาสตร์" ที่มีวิถีชีวิตของผู้คนอยู่ร่วมกันกับโบราณสถานอย่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 2017-04-25 22:01:53 ผู้ชม 36676

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดธาตุน้อย

วัดธาตุน้อย จุดเริ่มต้นเดินทางท่องเวียงโบราณเวียงกุมกาม (อันที่จริงเนื่องจากเวียงกุมกามมีขนาดกว้างใหญ่ มีวัดอยู่มากมายในพื้นที่จะเริ่มจากจุดไหนก็ได้ แต่เนื่องจากวัดธาตุน้อยและวัดช้างค้ำ มีลานกว้างจอดรถบริการเช่นรถม้าได้จึงเหมาะแก่การเริ่มต้น) ที่ลานกว้างแห่งนี้สามารถเลือกจอดรถไว้แล้วใช้บริการรถม้าหรือรถบริการนำเที่ยว หรือจะขับรถไปเองก็ได้ แต่การขับรถไปเองจะผ่านเส้นทางวกไปเวียนมาและอาจจะเสียเวลามากกว่า

เมื่อจอดรถได้แล้วก็เดินมาที่วัดธาตุน้อยในภาพบนซ้ายก่อน เป็นวัดที่มีโบราณสถานหลงเหลืออยู่ไม่มาก แล้วจากนั้นก็เดินเข้าไปในวัดกานโถม (ช้างค้ำ) ซึ่งหน้าวัดมีรถม้าจอดรอให้บริการอยู่ เข้าไปในวัดมีบริการนวดแผนโบราณ ฝีมือเยี่ยม นวดตามอาการที่ต้องการ ปวดเมื่อยตรงไหนก็บอกไป ในทริปนี้มีสมาชิกหลายคนที่ลงมาจากวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพแล้วเกิดอาการคลื่นเหียนวิงเวียนเมารถ ก็เลยลองนวดแก้อาการเมารถ ปรากฏว่านวดขมับกับต้นคอ ไม่นานก็หายจากอาการเมารถเป็นปลิดทิ้ง อาการปวดหลังปวดเอวของคนขับรถก็หายเหมือนกัน

ประวัติวัดธาตุน้อย วัดธาตุน้อยนี้ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของวัดกานโถม (ช้างค้ำ) ไม่ปรากฎประวัติความเป็นมาในตำนานทางประวัติศาสตร์ และเอกสารใด จึงเรียกชื่อโบราณสถานตามลักษณะของเจดีย์ที่มีขนาดเล็ก เดิมมีดินปกคลุมสูงประมาณ 60-70 เซนติเมตร กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งและบูรณะระหว่าง พ.ศ.2528-2529 พบโบราณสถานประกอบด้วย วิหารและเจดีย์
วิหารตั้งหันหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าและด้านข้างอีก 1 แห่ง พื้นวิหารปูอิฐ พบร่องรอยฐานเสาทำจากศิลาแลงและก่ออิฐด้านบน ท้ายวิหารก่อเป็นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระประธานปูนปั้น ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนฐานของซุ้มและส่วนหน้าตักของพระประธานกว้าง 2 เมตร เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร คงเหลือหลักฐานเพียงชั้นหน้ากระดานสี่เหลี่ยมชั้นล่าง โบราณวัตถุสำคัญที่พบจากการขุดแต่งได้แก่ พระพิมพ์ดินเผา ปูนปั้นรูปเศียร เทวดา ยักษ์ และสัตว์ต่างๆ เช่น นาค กินนร นก หรือ หงส์ เป็นต้น พิจารณาจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สามารถกำหนดอายุวัดนี้ได้ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 19-20

เวียงกุมกามวัดกานโถม (ช้างค้ำ)

เวียงกุมกามวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เมื่อนวดกันจนหายเมารถ หายปวดเมื่อยแล้วต่อจากนี้ก็เดินชมภายในวัดกานโถม โบราณสถานที่ขุดพบที่นี่มีเพียงส่วนฐาน โคนเสา หลงเหลืออยู่ไม่มาก แต่ก็มีสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ หลายอย่าง เพราะวัดกานโถม (ช้างค้ำ) เป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษา มีการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนหลายหลัง

หอพญามังราย

หอพญามังราย เป็นอาคารไม้ขนาดไม่ใหญ่มากนักอยู่เยื้องกับโบราณสถานวัดกานโถม ใกล้กับต้นศรีมหาโพธิ์

ประวัติหอพญามังราย พญามังราย ปฐมกษัตริย์ของแคว้นล้านนา ผู้สร้างเวียงกุมกาม เมื่อ พ.ศ. 1829 และสถาปนาวัดกานโถมเมื่อ พ.ศ. 1831 หอหรือศาลพญามังรายนี้เป็นที่สถิตย์ของเทพและเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในละแวกนี้มาแต่โบราณกาล

พระรูปพญามังราย

พระรูปพญามังราย ภายในหอพญามังรายมีพระรูปอยู่ภายใน ด้านหน้าหอพญามังรายวัดกานโถมแห่งเวียงกุมกาม มีควันธูปขโมงไปทั่วบริเวณ เพราะประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาที่เวียงกุมกามนี้จะสักการะพญามังรายด้วยความศรัทธาเคารพอย่างมาก

ต้นศรีมหาโพธิ์และพระธาตุช้างค้ำ

ต้นศรีมหาโพธิ์และพระธาตุช้างค้ำ ภาพซ้าย พระศรีมหาโพธิ์นี้เชื่อว่าเป็นแขนงที่เหลืออยู่ของพระศรีมหาโพธิ์ที่พญามังรายทรงโปรดให้หมู่พระมหาเถระไปบูชา และนำพันธุ์มาจากลังกาประเทศ จำนวน 4 ต้น โดยต้นหนึ่งทรงโปรดให้นำไปปลูกเมืองฝาง ตำบลรั้วนางต้นหนึ่ง เวียงพันนาทะการ(เวียงท่ากาน) ต้นหนึ่ง และต้นดังกล่าวนี้ทรงถวายพระราชมารดาของพระองค์ให้ปลูกไว้ ณ วัดกานโถม (วัดช้างค้ำ)

ภาพขวา พระธาตุช้างค้ำ อยู่ห่างจากต้นศรีมหาโพธิ์ไม่ไกลนัก โดยมีพระวิหารอยู่ด้านหน้า และมีพระพุทธรูปปางประทานพรประดิษฐานอยู่

พระธาตุช้างค้ำ

พระธาตุช้างค้ำ คำไหว้พระธาตุช้างค้ำ (กานโถม) เวียงกุมกาม
ตั้งนะโม 3 จบ
อะหัง วันทามิ อิธะ ปติฎฐิตา
พุทธะ ธาตุโย ตัสสานุภาเวนะ
สะทา โสตถี ภะวันตุเม
ข้าพเจ้าน้อมนมัสการกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประดิษฐานอยู่ ณ ที่เวียงกุมกาม ด้วยอานุภาพแห่งกุศลผลบุญนี้ ขอให้ข้าพเจ้าประสพแต่ความสุขสวัสดีตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

สัตว์ในวรรณคดี

สัตว์ในวรรณคดี ภายในวัดช้างค้ำ หรือว่าวัดกานโถมมีรูปปั้นปูนเป็นสัตว์ในวรรณคดีอยู่หลายแห่ง เช่น รอบโบสถ์โบราณหลังเก่า ทางเดินหน้าหอพญามังราย หน้าพระวิหาร ซึ่งลักษณะลานปูนปั้นสวยงามแต่ละจุดเป็นสัตว์ไม่เหมือนกัน ทำให้ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องสัตว์ในวรรณคดีเหล่านี้ได้

วิหารวัดกานโถม

วิหารวัดกานโถม ถัดจากพระธาตุช้างค้ำเป็นพระวิหารซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ซุ้มประตูและหน้าต่างสร้างแบบเดียวกันทุกช่องบันไดนาคสร้างสวยงามทั้ง 2 ด้าน มีกระถางธูปเชียงเทียนให้จุดได้ที่ด้านหน้าเท่านั้น ภายในวิหารวัดกานโถมไม่ให้จุดธูปเทียน

หน้าบันวิหารวัดกานโถม พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์บนฐานลดหลั้นกันลงมาประดับด้วยงาช้างตามแบบอย่างโต๊ะหมู่บูชาชาวเหนือ

พระอุโบสถโบราณวัดกานโถม

พระอุโบสถโบราณวัดกานโถม จากพระวิหารของวัด เดินย้อนกลับออกมาที่ทางเข้าหน้าวัดจะพบพระอุโบสถโบราณวัดกานโถม เป็นอุโบสถเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ.1834 ที่อยู่ในสภาพดีมาได้อย่างทุกวันนี้เนื่องจากการบูรณะซ่อมแซมอย่างดีมาโดยตลอด จุดเด่นของอุโบสถหลังนี้ยังมีสัตว์ในวรรณคดียืนล้อมรอบ 4 มุม หันหน้าเข้าหาอุโบสถ โดยสร้างเป็นสัตว์แบบเดียวกัน 2 คู่ คู่หน้าและหลังโบสถ์

ภาพขวา สัตว์ในวรรณคดีข้างหน้าหอพญามังราย

พระอุโบสถโบราณวัดกานโถม

พระอุโบสถโบราณวัดกานโถม ปัจจุบันด้านในของอุโบสถหลังนี้ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์เล็กๆ และไม่ค่อยได้ใช้ในพิธีกรรมมากนัก เนื่องจากมีขนาดเล็กสามารถเข้าไปด้านในได้ไม่กี่คน

วัดศรีบุญเรือง

วัดศรีบุญเรือง ในวัดศรีบุญเรืองนี้ไม่ได้มีการพบโบราณสถานแต่อยู่ในพื้นที่เวียงกุมกามและหากขับรถไปเองก็จะเป็นทางผ่าน ปัจจุบันเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา สถานที่ที่น่าสนใจของวัดศรีบุญเรืองได้แก่ วิหารที่สร้างได้อย่างสวยงามทั้งด้านหน้า (ภาพบนขวา) และด้านข้าง (ภาพบนซ้าย) เดินเข้าไปด้านในวัดจะเห็นวิหารพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (พระแม่กวนอิม) โดยมีสะพานเดินเชื่อมต่อไปถึงวิหาร

พระเจดีย์วัดศรีบุญเรือง

พระเจดีย์วัดศรีบุญเรือง อยู่ด้านข้างของวิหาร เป็นเจดีย์ประดับกระจกสีทองย่อมุมไม้ยี่สิบ ล้อมด้วยกำแพงแก้ว มีฉัตรที่มุมทั้งสี่

พระเจดีย์วัดศรีบุญเรือง

พระเจดีย์วัดศรีบุญเรือง รอบกำแพงแก้วที่ล้อมรอบทั้งสี่ด้านมีประตูเข้าได้ด้านเดียว ภายในเป็นลานประทักษินขนาดไม่กว้างขวางนัก แต่ก็พอที่จะเดินทักสินาได้รอบพระเจดีย์

พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี

พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี เดินเข้ามาด้านในของวัดมากขึ้นจะพบพระธาตุเกตุแก้จุฬามณี ที่สวยงามมาก ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วใบเสมาขนาดกว้างขวาง องค์พระธาตุสีทองสวยงามสะดุดตา

ข้อมูลการสร้าง "...ภิกษุศรัทธาวัดศรีบุญเรืองร่วมสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในวาระครบ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ในบริเวณเดียวกันมีการสร้างกำแพงล้อม มีพระพุทธรูปประทับยืน ประดิษฐานบนฐานยกสูงจากพื้นประมาณ 2.5 เมตร..."

วัดเจดีย์เหลี่ยม

วัดเจดีย์เหลี่ยม จากวัดศรีบุญเรืองเดินทางต่อมาอีกหน่อยก็จะถึงวัดเจดีย์เหลี่ยมอันเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่เหลืออยู่ของเวียงกุมกาม เนื่องจากองค์เจดีย์ที่ยังคงความสมบูรณ์ได้อย่างมากที่สุดในบรรดาวัดทั้งหมด เข้ามาที่ลานจอดรถข้างวิหารจากนั้นก็เดินชมรอบๆ บริเวณวัดสิ่งหนึ่งที่เห็นคือพระเจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ เด่นตระหง่านอยู่ในวัด

ประวัติวัดเจดีย์เหลี่ยม
วัดเจดีย์เหลี่ยม หรือ เจดีย์กู่คำ สร้างขึ้นในรัชสมัยของพญามังราย เมื่อปี พ.ศ. 1831 กล่าวคือ หลังจากที่พระองค์ได้ยกทัพมาตีเมืองลำพูนแล้วทรงมอบเมืองลำพูนให้อำมาตย์คนสนิทชื่อ อ้ายฟ้า ครองเมืองแทน ส่วนพระองค์ก็ยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ได้ 5 ปี จึงยกทัพไปสร้างเมืองใหม่อยู้ใกล้ฝั่งแม่น้ำปิง เมื่อปี พ.ศ. 1820 ให้ชื่อเมืองนี้ว่าเวียงกุมกาม จนถึงปี พ.ศ. 1830 พระองค์ทรงให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์มาจากวัดจามเทวีลำพูน เพื่อนำมาสร้างให้เป็นที่สักการะแก่คนทั้งหลาย
หลังจากนั้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี วัดนี้ได้ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2451 มีคหบดีชาวพม่าคนหนึ่งได้มาเห็นเข้า เกิดความเลื่อมใส ได้บูรณะขึ้นใหม่ โดยให้ช่างชาวพม่าเป็นผู้ดำเนินการ จึงมีศิลปแบบพม่าเข้ามาแทนที่ศิลปแบบขอม ซึ่งเป็นแบบดั้งเดิม คงมีแต่โครงสร้างที่ยังเป็นรูปเดิมอยู่เท่านั้น

ยอดเจดีย์วัดเจดีย์เหลี่ยมและพระพุทธรูปศิลปะพม่า

ยอดเจดีย์วัดเจดีย์เหลี่ยมและพระพุทธรูปศิลปะพม่า แผ่นทองคำที่ปิดส่วนยอดขององค์เจดีย์ได้สั่งรีดจากศรีลังกา แผ่นทองนี้มีชื่อเรียกเฉพาะ *ข้อมูลจากไกด์ท้องถิ่น

วัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม

วัดเจดีย์เหลี่ยม เวียงกุมกาม พระพุทธรูปบนเจดีย์ องค์เจดีย์มีขนาดใหญ่สามารถประดิษฐานพระพุทธรูปได้จำนวนหลายองค์ในแต่ละด้าน ไกด์ท้องถิ่นเล่าว่าองค์เจดีย์ขนาดใหญ่นี้มีขนาดใหญ่มากจนต้องใช้ช่างจำนวนมากในการสร้างพระพุทธรูปแต่ละองค์รวมทั้งลักษณะของซุ้มก็มาจากฝีมือของช่างแต่ละคนซึ่งมีฝีมือและความถนัดต่างกันไปทำให้มองเห็นความแตกต่างขององค์พระและลักษณะของซุ้มในแต่ชั้นได้

นอกจากนี้สิงห์ที่อยู่ที่มุมพระเจดีย์ทั้งสี่ ยังมีความแตกต่างกันเล็กน้อยโดยบางมุมเป็นสิงห์ศิลปแบบพม่า

ภาพล่างขวาเป็นลานกว้างที่สามารถจอดรถได้ในวัดเจดีย์เหลี่ยมใกล้กับวิหารของวัด โดยมีรถม้ามาคอยบริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะนั่งรถม้าชมเวียงกุมกาม หากเดินทางด้วนรถส่วนตัว อาจจะพบกับเส้นทางวกวนและไปไม่ครบวัดสำคัญๆ ในเวียงกุมกาม

พระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม

พระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม เป็นอาคารที่สร้างแบบล้านนาได้อย่างสวยงาม อยู่ด้านข้างพระวิหารหลังใหญ่ของวัดเจดีย์เหลี่ยม บันไดนาคทั้งสองข้างตรงด้านหน้าทางเข้าพระอุโบสถมีลักษณะที่สวยงามรับกับหน้าบัน

พระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม

พระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม อาคารหลังเล็กๆ ที่สร้างได้อย่างสวยงามสะดุดตาเป็นอย่างมาก เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกมากเป็นอันดับสองรองจากพระเจดีย์เหลี่ยมเลยทีเดียว ลักษณะลวดลายที่งดงามของซุ้มเหนือช่องหน้าต่างแต่ละช่อง ประดับด้วยนกยูงอันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือ วัดสำคัญๆ หลายแห่งในภาคเหนือจึงพบเห็นรูปนกยูงประดับอยู่ที่ประตูหรือหน้าต่าง พระวิหาร หรือ พระอุโบสถหลายแห่ง

พระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยมมีกำแพงแก้วล้อมรอบไม่สูงมากนัก ประตูทางเข้ากำแพงแก้วมีมอม ทั้ง 2 ข้าง (มอม เป็นสัตว์ในวรรณคดีแบบล้านนา มักพบเห็นอยู่ที่ทางเข้าพระวิหารหรือพระอุโบสถของวัดในภาคเหนือหลายแห่ง การสร้างมอมได้รับอิทธิพลมาจากจีน)

พระประธานพระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม

พระประธานพระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม สำหรับพระอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม รวมทั้งภายในกำแพงแก้วที่ล้อมรอบองค์พระเจดีย์ เป็นเขตห้ามสุภาพสตรีเข้าภายใน ด้วยความเชื่อในการสร้างวัด อุโบสถ หรือพระเจดีย์ จะมีการฝังวัตถุมงคล ไว้ที่ฐานเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมแก่สถานที่ รวมทั้งสุภาพสตรีเอง จึงไม่ควรเข้าภายในเขตที่ทางวัดกำหนดไว้

หน้าบันที่สวยงามของอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม

หน้าบันที่สวยงามของอุโบสถวัดเจดีย์เหลี่ยม

วัดอีค่าง

วัดอีค่าง หลังจากได้เดินทางชมเวียงกุมกามที่วัดหลักๆ 2 วัด คือวัดกานโถม และวัดเจดีย์เหลี่ยม ซึ่งหากขับรถไปเองก็อาจจะหาวัดอื่นๆ ไม่พบหรือเสียเวลามากเพราะเส้นทางค่อนข้างวกวน จึงเปลี่ยนแผนมาใช้วิธีเดินทางด้วยรถม้าชมเวียงกุมกาม และได้พบกับวัดหลายแห่งที่คนขับรถม้าจะพาผ่านไปตามเส้นทางอย่างชำนาญและประหยัดเวลา

ประวัติวัดอีค่าง แต่เดิมเป็นป่ารกร้าง มีฝูงลิงค่างอาศัยอยู่มาก คำว่า "ค่าง" ตามภาษาท้องถิ่นออกเสียงว่า "อีก้าง" ซึ่งใช้เรียกเป็นชื่อวัดสืบต่อมา กรมศิลลปากรเข้าดำเนินงานขุดแต่ง โบราณสถานวัดอีค่างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๒๙ พบเจดีย์ตั้งอยู่หลังวิหารซึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือสู่ลำน้ำสาขาของแม่น้ำปิง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๔๖ มีการขุดตรวจพบแนวกำแพงแก้วในพื้นที่ทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ และจะมีการขุดค้นขุดแต่งต่อไป

เจดีย์วัดอีค่างยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานบัวลูกแก้วสูง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกับวิหาร และมีลานกว้างสำหรับประทักษินรอบเจดีย์ วิหารคงเหลือเพียงฐานขนาดใหญ่ พบร่องรอยฐานเสาบนพื้นอาคารถึง ๑๖ ต้น มีบันไดทางขึ้น-ลงด้านหน้าวิหารและด้านข้างบริเวณลานประทักษิน ซึ่งประดับปูนปั้นรูปตัวเหงาที่หัวบันได

การวิเคราะห์ตะกอนวิทยาของชั้นดินจากวัดอีค่าง ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาประเด็นเรื่องน้ำท่วมเวียงกุมกาม จากการศึกษาหลักฐานบ่งบอกให้ทราบถึงการเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ซึ่งมีความรุนแรงพอที่จะพัดพาตะกอนมาทับถม ประกอบกับการเกิดน้ำท่วมเป็นระยะๆ ทำให้ชั้นดินมีตะกอนทรายหยาบสลับทรายละเอียดและสลับกับกรวด ได้พบโบราณวัตถุที่มีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ เช่นเศษภาชนะดินเผาจากเตาสันกำแพง และเตาเวียงกาหลงถูกขัดสีจนสึกกร่อนและขอบบนทับถมรวมกันอยู่ในชั้นตะกอนทราย แสดงว่าการเกิดน้ำท่วมซึ่งพัดพาตะกอนทรายและโบราณวัตถุมาทับถมน่าจะเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ หรือหลังจากนั้น

พิจารณาจากรูปแบบทางสถาปัตยกรรม วัดนี้น่าจะมีอายุประมาณพุทธศตวรรษ ที่ ๒๑-๒๒ การพบจารึกอักษรฝักขามและอักษรธรรมล้านนาเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าวัดนี้มีการดำรงอยู่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

โบราณสถานอื่นๆ ในเวียงกุมกาม

โบราณสถานอื่นๆ ในเวียงกุมกาม ตามเส้นทางที่รถม้าพาไปชมนั้นยังมีวัดอีกหลายแห่งที่จะพบได้ระหว่างทาง ได้แก่
วัดปู่เปี้ย ถือเป็นวัดที่มีความงดงามแห่งหนึ่งในเวียงกุมกาม รูปแบบผังการสร้างวัด และ รูปแบบเจดีย์ประธานมณฑปมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารสร้างยกพื้นสูง เจดีย์ อุโบสถ ศาลผีเสื้อ และแท่นบูชา พร้อมทั้งมีลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์ที่สวยงามมาก

วัดพระธาตุขาว (วัดธาตุขาว) ที่เรียกกันว่าวัดธาตุขาวเนื่องมาจากแต่เดิมนั้นตัวเจดีย์ยังคงปรากฏผิวฉาบปูนสีขาวนั่นเอง โบราณสถานประกอบด้วยวิหาร เจดีย์ อุโบสถ และมณฑป โดยมีการก่อสร้างขึ้นมา 2 ระยะคือ ระยะแรกก่อสร้างเพียงเจดีย์ วิหาร อุโบสถ แต่ต่อมาเกิดการชำรุดจึงต่อเติมฐานเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้น ระยะที่สองมีการก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

วัดพระเจ้าองค์ดำ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกาม โดยอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนมีการขุดแต่งนั้นเป็นสวนลำไย มีพื้นที่เป็นเนินดิน 2 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า เนินพญามังราย และเนินพระเจ้าดำ และสันนิษฐานว่าที่เรียกวัดพระเจ้าองค์ดำนี้ เพราะวัดแห่งนี้เคยมีพระพุทธรูปสีดำประดิษฐานอยู่ โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นวิหารหลายหลัง มีซุ้มประตูโขงและแนวกำแพง ถัดจากซุ้มโขงเข้ามามีวิหารและเจดีย์

วัดพญามังราย ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับวัดพระเจ้าองค์ดำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวัดพญามังรายนี้เป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัดนี้ แต่เมื่อพิจารณาจากการที่เห็นว่าตั้งอยู่ใกล้วัดพระเจ้าองค์ดำมากที่สุดจนดูเหมือนเป็นวัดเดียวกัน เอกลักษณ์ของวัดนี้อยู่ที่การสร้างพระวิหารที่ไม่มีทางขึ้นลงหลักไว้ที่ด้านหน้า แต่สร้างไว้ที่ด้านซ้าย (กรณีที่หันหน้าไปทางหน้าวัด) ในส่วนพระเจดีย์พบร่องรอยการตกแต่งปูนปั้นลายช่องกระจกสอดไส้

วัดหัวหนอง ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามใกล้กับกำแพงเมืองทางด้านเหนือ ภายในประกอบด้วยซุ้มโขงประตูใหญ่ อุโบสถ มณฑป วิหารและเจดีย์ มีลวดลายปูนปั้นประดับซุ้มประตูวัดเป็นรูปกิเลน สิงห์ หงส์ที่มีความงดงาม

วัดกุมกาม ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศเหนือของวัดกานโถม สิ่งก่อสร้างภายในวัดประกอบด้วยวิหารพร้อมห้องมูลคันธกุฏี และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม

วัดไม้ซ้ง ตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ภายในเวียงกุมกาม บริเวณรอบวัดเป็นทุ่งนา สถาพก่อนการขุดแต่งเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีต้นไม้ใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่าไม้ซ้งอยู่ (เป็นที่มาของชื่อวัด) โบราณสถาน ประกอบด้วยวิหารเจดีย์แปดเหลี่ยม และฐานซุ้มประตูโขงพร้อมกำแพง

วัดกู่ขาว ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาพรอบๆ วัดก่อนการขุดแต่งพบเจดีย์มีความสูงประมาณ 5 เมตร และรอบๆ องค์เจดีย์เป็นเนินดิน หลังจากขุดลอกดินที่ทับถมอยู่ได้พบโบราณสถาน 3 แห่งคือ กำแพงแก้วและซุ้มประตูอยู่หลังเจดีย์, เจดีย์ประธานเป็นศิลปะล้านนา เรือนธาตุมีลักษณะสูงก่อทึบตันทั้ง 4 ด้าน (ไม่ทำซุ้มพระ) ส่วนยอดเจดีย์เป็นฐานบัวแปดเหลี่ยมรองรับองค์ระฆัง และวิหารที่มีมุมฐานบัวลูกแก้ว ฐานชุกชีเดิม และลายกลีบบัว

วัดกู่ป่าด้อม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้นอกเวียงกุมกาม ชื่อของวัดนี้ได้ตั้งชื่อตามเจ้าของที่ดิน โบราณสถานของวัดมีขนาดใหญ่ประกอบด้วย วิหารฐานใหญ่ มีบันไดทางขึ้นวิหาร มีราวบันไดด้านปลายเป็นรูปตัวเหงา ส่วนเจดีย์เหลือเพียงฐานเท่านั้น มีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบโบราณสถาน กำแพงแก้วด้านหน้าทางเข้าวิหารมีซุ้มโขง วัดแห่งนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22

วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกนอกเวียงกุมกาม โบราณสถานประกอบด้วยวิหารซึ่งเหลือเพียงฐาน และเจดีย์มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส

วัดกู่อ้ายหลาน เป็นวัดขนาดเล็กตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเวียงกุมกาม ชื่อวัดเรียกตามเจ้าของที่ที่ชื่ออ้ายหลาน โบราณสถานประกอบด้วยวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส แท่นบูชา กำแพงแก้ว และซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก

วัดกู่อ้ายสี เป็นวัดขนาดเล็ก โบราณสถานประกอบด้วย วิหาร เจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน และแท่นบูชา

วัดกู่มะเกลือ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านทิศตะวันออก เรียกชื่อวัดตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้นบนโบราณสถาน หลังจากทำการขุดลอกดินออกแล้ว พบเจดีย์และวิหารตั้งอยู่บนฐานเดียวกันและหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

วัดกู่ลิดไม้ ตั้งอยู่ภายในเวียงกุมกามด้านใต้ วัดนี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันเนื่องจากมีต้นเพกา (ต้นลิดไม้) ขึ้นอยู่บนเนินวัด โบราณสถานประกอบด้วยวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ด้านหลังวิหารเหลือเพียงฐาน และเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม มีซุ้มประตูโขงและกำแพงแก้ว

วัดกู่จ๊อกป๊อก ตั้งอยู่นอกกำแพงเวียงกุมกามทางทิศตะวันออกฉียงใต้ โบราณสถานประกอบด้วยวิหารและเจดีย์ ซึ่งเหลือเพียงฐาน

วัดเสาหิน ตั้งอยู่เขตท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานที่บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวของวัดนี้ในอดีต

วัดหนองผึ้ง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกถนนเชียงใหม่-ลำพูน ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นวัดในสมัยเวียงกุมกาม-เชียงใหม่ หรือบางทีอาจจะมีสภาพเป็นวัดดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณวัตถุประเภทพิมพ์แบบลำพูน สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดนี้คือ วิหารพระนอน เป็นองค์พระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ขนาดยาว 38 ศอก (39 เมตร)

วัดข่อยสามต้น อยู่ในบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเขตเวียงกุมกาม ชื่อวัดนี้ตั้งตามจุดสังเกตที่เป็นต้นข่อยจำนวน 3 ต้น ที่ขึ้นเจริญเติบโตในพื้นที่บริเวณวัด และไม่ปรากฏความเป็นมาในเอกสารและตัวแทนทางประวัติศาสตร์

วัดพันเลา อยู่ในท้องที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดร้างขื่อดั้งเดิมที่ชุมชนเรียกสืบทอดต่อกันมา คาดว่ามาจากชื่อวัดที่มีคำนำหน้าว่า “พัน” นำหน้านั้น น่าจะหมายถึง ยศทางทหาร หรือขุนนาง ที่เดิมวัดนี้อาจเป็นวัดอุปถัมภ์ของนายทหารหรือขุนนางชื่อ “เลา” ตั้งอยู่ริมถนนท่าวังตาลซึ่งอยู่นอกเวียงกุมกามทางด้านทิศเหนือ สภาพโบราณสถานมีการก่ออิฐกระจายหลายแห่ง พบชิ้นส่วนของพระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นอะไร และยังคงคาดว่ามีอีกหลายวัดที่จมอยู่ใต้พื้นดิน และบ้านเรือนของชาวบ้านที่กำลังรอการบูรณะขึ้นมา

วัดหนานช้าง

วัดหนานช้าง โบราณสถานข้างหน้านี้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบออกร่องรอยของอุทกภัยที่มีผลต่อเวียงกุมกามในอดีตกาล ชั้นตะกอนทรายและชั้นดินที่ทับถมหนาถึง 1.80 เมตร ได้ถูกขุดค้นในปี พ.ศ. 2545-2546 เปิดเผยให้เห็นซากของอาคารต่างๆ ที่เหมือนกันกับวัดอื่นๆ ในเวียงกุมกาม จะต่างกันคือที่นี่มีการสร้างทับซ้อนกันอย่างน้อย 2 สมัย
สมัยแรกสร้างซุ้มประตูโขงและแนวกำแพงแก้วล้อมรอบวิหารและเจดีย์ สมัยต่อมามีการขยายขอบเขตของวัดออกไปอีกด้วยการรื้อกำแพงแก้วด้านหลังออกและสร้างอาคารต่างๆ ภายนอกเพิ่มเติมขึ้นมา โดยเฉพาะซากของอาคารทรงมณฑปหลังที่มีราวบันไดทางขึ้นเป็นปูนปั้นรูปมกรคายนาค ทับอยู่บนส่วนของกำแพงแก้วที่รื้อออกแล้วสร้างกำแพงแก้วต่อขยายออกไปล้อมอาคารต่างๆ ไว้โดยรอบ
วัดนี้มีชื่อว่าวัดหนานช้าง เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่บรรพบุรุษของเจ้าของที่ดิน ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ วัดนี้หันหน้าไปทางทิศเหนือ ต่างจากวัดส่วนใหญ่ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาจเพราะสร้างเพื่อหันหน้าไปสู่เส้นทางสัญจรทางน้ำที่เรียกว่า "ปิงห่าง"
ศิลปกรรมปูนปั้นสวยงามที่พบ นอกจากมกรคายนาคที่กล่าวมาแล้วได้พบลายปูนปั้นรูปสัตว์ในเทพนิยายเช่น กิเลน เหมราช สิงห์ บริเวณท้องไม้ด้านตะวันตกของฐานชุกชี บนวิหารหลังใหญ่
นอกจากนั้นได้พบเครื่องลานครามสมัยราชวงศ์หมิงของจีน (พ.ศ.1911-2187) จำนวน 2 กลุ่ม รวม 55 ใบ กลุ่มหนึ่งจำนวน 47 ใบ บรรจุอย่างเป็นระเบียบในไหและฝังอย่างตั้งใจ บริเวณระหว่างอาคารทรงมณฑปกับอาคารอื่นๆ อาจด้วยเหตุเพราะต้องอพยพจากไปเพราะภัยสงครามก่อนหน้าถูกตะกอนทราบทับถมในเวลาต่อมา หนึ่งในจำนวนภาชนะกลุ่มนี้เป็นผลิตภัณฑ์จากเตาเผาหลวงในสมัยจักรพรรดิ์ต้าหมิงวันลี่ (พ.ศ.2116-2162) ซึ่งตรงกับสมัยที่มาปกครองเชียงใหม่ ภาชนะอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 8 ใบถูกฝังอยู่ในชั้นตะกอนทรายบริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นผนังดินกั้นน้ำทางทิศเหนือของวัด นับเป็นหลักฐานที่แสดงความสัมพันธ์กับจีนและสามารถไขปัญหาได้หลายประการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเวียงกุมกาม
กำหนดอายุของวัดนี้ในราวพุทธศตวรรษที่ 21-22

บ้านโบราณล้านนา

บ้านโบราณล้านนา นั่งรถม้าชมโบราณสถานเวียงกุมกามจำนวน 10 แห่ง ได้แก่ วัดเจดีย์เหลี่ยม วัดธาตุน้อย วัดช้างค้ำ วัดธาตุขาว วัดพญามังราย วัดพระเจ้าองค์ดำ กู่ป้าด้อม วัดปู่เปี้ย วัดหนานช้าง และวัดอีก้าง ใช้เวลานำชมประมาณ 45 นาที หลังจากนั้นรถม้าจะมาส่งที่จุดเริ่มต้นคือวัดกานโถม นอกเหนือจากบริเวณศาสนสถานที่น่าสนใจหลายอย่างในวัด ยังมีบ้านล้านนาโบราณที่สร้างเหมือนกับในอดีตไว้ให้ชมเป็นความรู้ นอกจากนี้ยังมีตลาดที่จำหน่ายสินค้ามากมายหลายอย่าง ที่เด่นๆ คือผ้าลายสวยๆ หลายแบบ บริการนวดแผนโบราณและร้านไส้อั่วที่รสชาดอร่อยสุดยอดมีคนสั่งซื้อโดยส่งทางรถไฟทั่วประเทศทีเดียว

จบการนำเที่ยวเวียงกุมกามไว้เท่านี้ก่อนครับหากมีอัพเดตใหม่ๆ จะเอามาลงเพิ่มให้ได้ชมกันอีก

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ เวียงกุมกาม เชียงใหม่
อี โฮม รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
เวียงกุมกามรีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอ เวียงกุมกาม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟลอรัล โฮเทล ชีก อิสตานา เชียงใหม่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
วิลลา เดอ โบราณ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมชีค อิซทานา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลานนา ไรซ์ บาร์น โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมมารายา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
Sabai Riverside เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปังวรา เพลส
  1.48 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com