www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> วัดโลกโมฬี

วัดโลกโมฬี

ตำนานวัดโลกโมฬี
วัดโลกโมฬี มีความหมายว่าเป็นวัดสูงสุดของโลกอยู่ห่างจากประตูหัวเวียง (ช้างเผือก) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 400 เมตร เป็นพระอารามเก่าแก่ ตั้งอยู่นอกคูเมืองและกำแพงโบราณด้านทิศเหนือบนนถนนมณีนพรัตน์ อำเภอเมือง เชียงใหม่ จุดเด่นของวัดนี้คือองค์พระเจดีย์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างในสมัยพญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงปี พ.ศ. 1910-1931 (ค.ศ. 1367-1388) ส่วนองค์พระเจดีย์น่าจะสร้างภายหลัง ซึ่งตั้งตระหง่านเด่นสง่างามครอบคลุมบริเวณพื้นที่แห่งนี้

 วัดโลกโมฬีเคยเป็นวัดร้างในช่วงปี พ.ศ. 2318-2339 (สมัยอยู่ใต้การปกครองของพม่า และถึงแม้ว่าจะตีเมืองคืนได้หลายครั้งแต่พม่าก็ยังลอบโจมตีบ่อยครั้ง) ก่อนที่พญากาวิละจะกลับมากู้ฟื้นฟูเมือง สมัยนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าดิบ ขาดผู้คนอาศัย เป็นที่อยู่ของสัตว์ปานานาชนิด วัดโลกโมฬีช่วงนั้นถูกปล่อยให้องค์พระเจดีย์ตั้งเด่นสง่าอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางป่าพนาสัณฑ์ แม้ว่าระยะหลังที่พญากาวิละจะมาฟื้นฟูแต่ก็พัฒนาได้ไม่มากนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ปัจจุบันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสวยงาม นักท่องเที่ยวที่มาเชียงใหม่จะแวะมาชมองค์พระเจดีย์รูปทรงระฆังที่สวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนามีอายุกว่า 600 ปี

ประวัติการสร้างวัดโลกโมฬี
 ในอดีตไม่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวัดโลกโมฬีโดยละเอียดเป็นการเฉพาะไว้ จึงไม่มีหลักฐานแสดงชัดเจนว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด แต่ก็สันนิษฐานว่าวัดโลกโมฬี สร้างในสมัยราชวงศ์มังราย โดยมีเหตุผลดังนี้
 ในปี พ.ศ. 1910 พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งราชวงศ์มังรายทรงประสงค์จะฟื้นฟูปรับปรุงพระพุทธศาสนาในล้านนาให้เจริญและมั่นคง พระองค์จึงได้ส่งผู้แทนไปยังเมืองพัน ประเทศมอญ (ปัจจุบันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของพม่า) เพื่อขอนิมนต์พระมหาอุทุมพร บุปผมหาสวามี ผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎกเพื่อให้มาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในล้านนา เนื่องจากพระมหาอุทุมพร บุปผมหาสวามี ได้ชราภาพมากแล้ว ท่านจึงได้ส่งพระอนันตเถระ พร้อมกับพระลูกศิษย์อีก 10 รูปมายังล้านนา (เชียงใหม่) พญากือนาจึงได้จัดวัดโลกโมฬีไว้รับรองแขกเมืองจากต่างประเทศ เนื่องจากวัดโลกโมฬีตั้งอยู่ใกล้วัง จึงสะดวกสบายและง่ายต่อการดูแลและปรนนิบัติมวลพระเถระเหล่านั้น

 อีกประการหนึ่งคือในช่วงสมัยของพญาติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่ 9 พระองค์ได้จัดประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกของโลกครั้งที่ 8 ที่วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) ในปีพ.ศ. 2020 โดยได้นิมนต์พระเถระที่แตกฉานในพระไตรปิฎกจากวัดต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมาเข้าร่วมประชุม ซึ่งต้องใช้เวลาประชุมและแก้ไขประมาณ 1 ปีเศษจึงแล้วเสร็จ บรรดาพระเถระที่มาร่วมประชุม พญาติโลกราชได้จัดให้พักอยู่ที่วัดโลกโมฬี

ผู้ฟื้นฟูวัดโลกโมฬีคนแรก
 ในอดีตมีกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายหลายพระองค์ที่เข้ามาทำนุบำรุงวัดโลกโมฬีอยู่ตลอด พญาเมืองเกศเกล้า หรือพญาเกศเชษฐราช กษัตริย์องค์ที่ 12 และ 14 แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราช 2 ครั้ง) เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งที่ได้เข้ามาดูแลเอาใจใส่วัดโลกโมฬีมากเป็นพิเศษ ได้ทรงเจริญรอยตามวิถีทางแห่งบูรพกษัตริย์อย่างต่อเนื่องในการพัฒนาส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มั้นคง พญาเกศเชษฐราช ขึ้นครองราชย์ในปีพ.ศ. 2068 จากนั้นไม่นานพระองค์ก็ขึ้นไปบูรณะองค์พระธาตุดอยสุเทพโดยขยายให้ใหญ่ขึ้นคือจากเดิม เป็นสูง 11 วา กว้าง 6 วา ดังปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2069 พระองค์ได้สร้างพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ 1 องค์ พระนามว่า พระเจ้าล้านทอง ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าล้านทอง อำเภอพร้าว ในปีพ.ศ. 2070 พระองค์ได้ยกมอบบ้านหัวเวียงให้เป็นบริเวณหนึ่งของวัดโลกโมฬี และต่อมาในปี พ.ศ. 2071 พระองค์ได้สร้างมหาเจดีย์และวิหารขึ้นในวัดโลกโมฬี

 พญาเกศเชษฐราชสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ. 2088 รวมพระชนมายุได้ 48 พรรษา จากนั้นนางจิรประภา ได้รับความไว้วางใจจากเหล่าขุนนางทั้งหลายสถาปนาขึ้นเป็นกษัตรีย์ องค์ที่ 15 ของเชียงใหม่ หลังจากที่ได้ถวายพระเพลิงศพของพระราชบิดาแล้วพระนางได้สร้างกู่เก็บพระอัฐิของพระราชบิดาไว้ในวัดโลกโมฬี ชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับวัดโลกโมฬีแห่งนี้ได้รับการเล่าสืบต่อกันมาว่าอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของมหาเจดีย์ห่างไปประมาณ 150 เมตร (พื้นที่ของวัดโลกโมฬีเดิมมี 70 ไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 10% เท่านั้นเพราะชาวบ้านได้เข้ามาอาศัยอยู่ในระหว่างที่วัดโลกโมฬีเป็นวัดร้าง ในสมัยนั้นสถานที่ก่อสร้างกู่บรรจุพระอัฐิก็เป็นส่วนหนึ่งของวัด) ปัจจุบันกู่นั้นมีอยู่จริงท่ามกลางหมู่บ้านแออัดหลังอาคารพาณิชย์

 หลังจากนั้นมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงยกทัพมาช่วยพญากาวิละขับไล่พม่าออกไปในปีพ.ศ. 2325 หลังจากนั้นพม่าได้เข้ามาลอบโจมตีบ่อยๆ จนพญากาวิละต้องพาราษฎรทิ้งเมืองไปแอบซ่องสุมฝึกกำลังพลแล้วกลับมายึดเชียงใหม่คืนได้อย่างมั่นคง พญากาวิละจึงได้เป็นเจ้าครองนครเชียงใหม่เป็นองค์แรกในทั้งหมด 9 องค์ การฟื้นฟูวัดโลกโมฬีที่สำคัญๆ มีอยู่ในสมัยเจ้าครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 8 คือเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ช่วงปีพ.ศ. 2440-2452 (ค.ศ. 1897-1909) ต่อมาในสมัยเจ้าครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายเจ้าแก้วนวรัฐ ได้มีการสร้างพระพุทธรูปและธรรมาสน์ถวายไว้ที่วัดโลกโมฬี สมัยนั้นมีเจ้าอาวาสครองวัด 4 รูป หลังจากนั้นวัดโลกโมฬีก็กลายเป็นวัดร้างอีกครั้ง และในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดโลกโมฬีก็เป็นวัดร้างเช่นกัน จนกระทั่งในปี พ.ศ.2544 พระญาณสมโพธิ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ (ปัจจุบันคือพระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่) ได้มาทำการฟื้นฟูวัดโลกโมฬีอีกครั้ง เป็นการฟื้นฟูครั้งสำคัญครั้งที่ 3

 ปีพ.ศ. 2544 พระเทพวรสิทธาจารย์ ได้รับการแต่ตั้งให้เป็นรักษาการเจ้าอาวาสวัดโลกโมฬี มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา และมีการพัฒนาวัดแห่งนี้ขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้
 ปีพ.ศ. 2545 วัดโลกโมฬีได้ทำการสร้างกำแพงและวิหาร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับทราบข่าวได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 400,000 บาท เพื่อสมทบทุนสร้างพระวิหาร
 ปีพ.ศ. 2546 สมเด็จพระสังฆราชแห่งลังกาได้ประทานพระบรมธาตุแก่วัดโลกโมฬี และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานพระบรมธาตุให้อีก 1 องค์ พระเทพวรสิทธาจารย์ ได้เป็นประธานในการหล่อพระพุทธรูปเป็นองค์ประธานในพระวิหารพระนามว่า "พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ" โดยได้อัญเชิญพระบรมธาตุทั้งสองบรรจุไว้ในองค์พระพุทธรูป
 ปีพ.ศ. 2547 สร้างอนุสาวรีย์พระนางจิรประภาผู้ได้ทำนุบำรุงวัดโลกโมฬี เพื่อให้อนุชนได้ทราบถึงองค์อุปถัมป์ในอดีต
 ปีพ.ศ. 2548 สร้างยอดฉัตรทองขององค์พระเจดีย์ขึ้นทดแทนของเดิมที่หักหายไป
 ปีพ.ศ. 2549 สร้างกุฎิสงฆ์ คุ้มพญาเกศ ทรงรูปแบบล้านนาเป็นอนุสรณ์แก่พญาเกศเชษฐราช
 ปีพ.ศ. 2551 ท่านเจ้าคุณพระเทพวรสิทธาจารย์ สร้างศาลาศูนย์แสดงศิลปล้านนา และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น "พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสล่าเมือง" สามารถเข้าชมและเรียนรู้การเป็นช่าง(สล่า)ฝีมือ งานศิลปแกะสลัก ฯลฯ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 31192

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เริ่มต้นจากลานจอดรถ

เริ่มต้นจากลานจอดรถ การเดินทางมายังวัดโลกโมฬีในวันนี้นั้นต้องยอมรับเลยครับว่าไม่ได้ตั้งใจจะมาตั้งแต่แรก ในช่วงเวลา 2-3 วันที่ผมได้เดินทางไปที่เชียงใหม่และพักอยู่ในตัวเมือง เช้าวันหนึ่งผมออกมาหาข้าวเช้ากินขับรถวนไปวนมารอบๆ คูเมือง แล้วมาสะดุดที่วัดแห่งนี้เข้า ด้วยความสวยงามของพระวิหารและความสูงเด่นเป็นสง่าของพระเจดีย์ทำให้ผมเลี้ยวรถเข้าจอดพร้อมกับกล้องคู่กาย ลานจอดรถของวัดรองรับรถได้ไม่มากนัก มีนักท่องเที่ยวเข้า-ออกตลอดเวลาส่วนใหญ่จะจอดขนานกับวิหารเพื่อให้เดินเข้าวิหารได้ใกล้ที่สุดส่วนผมจอดตรงอีกด้านหนึ่งใกล้ๆ กุฎิคุ้มพญาเกศ เพราะจำเป็นต้องถ่ายรูปวิหารจะจอดขนานกับวิหารรถก็บังแย่

หลังจากที่ได้ถ่ายภาพชุดนี้ผมบูชาหนังสือตำราวัดโลกโมฬีจากวัดมานั่งอ่านถึงได้เห็นข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือว่า หากใครได้ผ่านมาเห็นวัดโลกโมฬีก็อยากจะเข้ามาชมภายในวัดกันทั้งนั้น ช่างเหมือนกับที่ผมเป็นอยู่ในตอนที่ขับรถผ่านมาเลย

กุฎิคุ้มพญาเกศ

กุฎิคุ้มพญาเกศ จากข้อมูลที่ให้ไว้ในเบื้องต้นที่คัดออกมาจากหนังสือตำนานวัดโลกโมฬีเกี่ยวกับกุฎิแห่งนี้ เพียงแค่เห็นครั้งแรกก็รู้สึกได้เลยว่ามีอายุไม่มากแต่สร้างออกมาได้สวยงามมากติดต่อสอบถามเรื่องใดเกี่ยวกับวัดโลกโมฬีเชิญในกุฎินี้ได้เลยครับถ้าท่านเจ้าอาวาสท่านอยู่จะได้สนทนากับท่าน
ลานกว้างหน้ากุฎิหลังนี้ถูกแบ่งออกด้วยอ่างบัวเล็กๆ แต่ยาวตรงไปยังกุฎิเสมือนเป็นขอบทางเดิน ส่วนที่เห็นด้านซ้ายในภาพนี้เป็นวิหารเจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
กุฎิแห่งนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2549 ทรงรูปแบบล้านนาเป็นอนุสรณ์แก่พญาเกศเชษฐราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังรายเป็นองค์อุปถัมภ์ฟื้นฟูวัดโลกโมฬีหลายครั้ง

ด้านหน้ากุฎิคุ้มพญาเกศ

ด้านหน้ากุฎิคุ้มพญาเกศ ภาพมุมนี้จะปรากฏให้เห็นอยู่อีกหลายๆ เว็บหรือบล็อคต่างๆ ที่เขียนเกี่ยวกับวัดโลกโมฬี ศิลปะการก่อสร้างแบบล้านนาเน้นลวดลายคล้ายงานแกะสลักแต่ทำด้วยปูน ส่วนหน้าบันขึ้นไปประดับได้สวยงามมากเข้ากันอย่างลงตัวกับส่วนอาคารที่มีลวดลายแบบเดียวกัน

วิหารเจ้าแม่กวนอิม

วิหารเจ้าแม่กวนอิม สร้างด้วยรูปบบสถาปัตยกรรมเดียวกันกับกุฎิคุ้มพญาเกศ และอยู่ติดกันเลยดูกลมกลืนกันอย่างสวยงามผมไม่ลืมที่จะเก็บภาพมาหลายๆ มุมแต่ก็ต้องมีด้านหน้าตรงเพื่อให้เห็นลายละเอียดได้มากๆ ความแตกต่างของกุฎิคุ้มพญาเกศกับวิหารเจ้าแม่กวนอิมนี้คงมีตรงบริเวณส่วนหลังคาที่มีลักษณะแบบจีนผสมผสานกันอย่างลงตัว

ดอกบัวขาวแสนสวย

ดอกบัวขาวแสนสวย ท่ามกลางแสงแดดที่แรงกล้ามีร่มเงาของต้นไม้ให้หลบร้อนได้บ้างเล็กน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ในวัดโลกโมฬีแห่งนี้เป็นที่โล่งครับ โดดเด่นที่สถาปัตยกรรมอาคารต่างๆ อย่างวิหาร พระเจดีย์ และกุฎิคุ้มพญาเกศ บางเวลาที่เมฆกลุ่มใหญ่ลอยมาบังแสงอาทิตย์เป็นช่วงเวลาที่ถ่ายภาพวิหารหรืออาคารต่างๆ ได้ยากเพราะผมชอบท้องฟ้าสดใสแดดจัดมากกว่า เวลาเหล่านั้นเอามาเก็บภาพดอกบัวในวัดรอไปก่อน

อนุสาวรีย์พระนางจิรประภา

อนุสาวรีย์พระนางจิรประภา สำหรับผมแล้วความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ไม่ค่อยจะมี หากไม่อ่านประวัติของวัดความเป็นมาที่ยาวนานกว่า 600 ปี ในหนังสือผมก็คงไม่รู้ว่าพระนางจิรประภามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับวัดแห่งนี้ ทางวัดจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมา อนุสาวรีย์พระนางจิรประภาสร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2547 พระนางจิรประภา (กษัตรีแห่งราชวงศ์มังรายองค์ที่ 15) เป็นผู้ได้ทำนุบำรุงวัดโลกโมฬี วัตถุประสงค์ในการสร้าง เพื่อให้อนุชนได้ทราบถึงองค์อุปถัมป์ในอดีต บ้างก็เชื่อกันว่าการได้มาไหว้อนุสาวีย์พระนางจะทำให้สมหวังในความรัก

อนุสาวรีย์พระนางจิรประภา

อนุสาวรีย์พระนางจิรประภา มองจากไกลๆ เห็นรูปทรงการสร้างวิหารแห่งนี้เป็นศาลาเรียบๆ ง่ายๆ อยู่มุมสุดของเขตวัดในปัจจุบัน (ในอดีตวัดนี้มีพื้นที่ใหญ่กว่าที่เห็นในปัจจุบันเยอะมาก)

คำไหว้พระนางจิรประภามหาเทวี
มหาเทวีจิรประภา วันทามิ สิระสา สะทาโสตถี ภะวันตุ เมฯ ข้าพเจ้าของไหว้พระแม่จิรประภาด้วยความนอบน้อมความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อเทอญ

วิหารวัดโลกโมฬี

วิหารวัดโลกโมฬี แน่นอนอยู่แล้วครับว่าการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะศาสนสถานอย่างเช่นวัดเป็นต้นจะต้องมีมุมมหาชนอยู่ที่หนึ่งแต่ไม่ใช่มุมนี้แน่นอน สำหรับภาพด้านข้างของวิหารนี้เพื่อให้ได้เห็นว่าการก่อสร้างวิหารแบบล้านนาที่เน้นส่วนหลังคาให้สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ด้านข้างมีทางเดินเข้า-ออกวิหารได้ แต่ที่นิยมกันจะเดินเข้าทางประตูหน้ามากกว่าเพราะด้านหน้ามีความสวยงามมาก
เนื่องจากวัดโลกโมฬีมีความสวยงามมากและมีพระเจดีย์ที่โดดเด่นมองเห็นได้แต่ไกลทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาตลอดทั้งวัน ผมนั่งรอจังหวะและโอกาสดีๆ ที่รถจะเคลื่อนออกไปจากด้านข้างของวิหารและเก็บภาพเหล่านี้ได้

วัดโลกโมฬี

วัดโลกโมฬี มุมมหาชนวัดโลกโมฬีมีให้เห็นได้บ่อยๆ แต่ผมก็ลองเดินหามุมอื่นๆ ดูแล้วจะถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ออกมาได้ยังไงก็คงเป็นมุมด้านนี้จะแตกต่างกันบ้างก็คงไม่มาก ภาพที่ใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายและพยายามให้พระเจดีย์เอียงน้อยที่สุดนี้ต้องใช้เวลานานมากครับ จังหวะดีๆ จะมีมาให้ไม่บ่อย เท่าที่ผมรอว่ารถจะออกจากข้างวิหารหมดทุกคันแบบนี้ พอมีเวลาไม่นานจะมีรถคันใหม่เลี้ยวเข้ามาในวัดและจอดข้างวิหารก็อดได้ภาพและต้องรอต่อไป

คิดๆ ดูแล้วคนที่เลี้ยวรถเข้ามาหลายๆ คนคงมีความรู้สึกคล้ายๆ กันคือทีแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาแต่ขับรถผ่านมาแล้วอดใจไม่ได้ ในหนังสือเรื่องตำนานวัดโลกโมฬีก็กล่าวไว้อย่างเดียวกันว่าหากได้เห็นวัดแห่งนี้แล้วจะต้องมีความรู้สึกอยากเข้ามาเยี่ยมชมกันเสมอ

ด้านหน้าวิหารวัดโลกโมฬี

ด้านหน้าวิหารวัดโลกโมฬี แล้วผมก็กลับมาใช้มุมที่ตัวเองถนัดที่สุดคือมุมด้านหน้าตรง มุมนี้ก็เป็นมุมมหาชนเหมือนกันครับมีนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่ในวันที่ผมไปเป็นชาวต่างชาติชางเอเซียครับชาวตะวันตกหรือฝรั่งมีมาเหมือนกันแต่น้อยกว่า
อย่าลืมนะครับว่ามาวัดให้มาช่วงเช้าไม่งั้นย้อนแสงแล้วจะอดได้ภาพสวยๆ กลับบ้าน

ส่วนหน้าบันของวิหารมีการประดับด้วยภาพขนาดเล็กๆ หลายภาพเป็นเรื่องราวต่างๆ และมีภาพพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรอยู่ 2 ด้าน

บันไดของวิหารมีไม่กี่ขั้นภายนอกที่มีแสงแดดแรงกล้าแบบนี้เมื่อเดินเข้าไปในวิหารจะพบว่ามีแสงน้อยมากครับ

พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ

พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ พระพุทธรูปปางสมาธิขนาดใหญ่ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในวิหารสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 บรรจุพระบรมธาตุไว้ภายในองค์พระ 2 องค์ พระบรมธาตุองค์หนึ่งได้รับการประทานมาจากสมเด็จพระสังฆราชแห่งลังกา ความสวยงามของวิหารหลังนี้นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมภายนอกแล้ว ยังมีภาพและลวดลายบนเพดานวิหารที่สวยงามอีกด้วย

พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ (ต่อ)

พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ (ต่อ) ลองขยับเข้าไปใกล้มากขึ้นเพื่อที่จะได้ภาพที่ชัดกว่าภาพแรก เบื้องหน้าองค์พระมีธรรมาสน์สำหรับใช้ในกิจกรรมทางศาสนาภายในวิหาร

เพดานวิหารวัดโลกโมฬี

เพดานวิหารวัดโลกโมฬี เมื่อไหว้พระประธานภายในวิหารเสร็จแล้วลองแหงนหน้าขึ้นมองบนเพดานของวิหาร ปกติผมไม่ได้คิดว่าจะมีการประดับวิจิตรพิสดารบนเพดานของวิหารหรือพระอุโบสถของทุกวัด บางครั้งอาจจะพบภาพจิตรกรรมที่สวยงามบนนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เพดานของวิหารวัดโลกโมฬีมีสิ่งที่แตกต่างไปยิ่งกว่า นั่นก็คือภาพนูนต่ำพระพุทธประวัติสีทอง รายล้อมด้วยภาพเทวดาตกแต่งได้งดงามมาก

ภาพพระพุทธประวัติเพดานวิหารวัดโลกโมฬี

ภาพพระพุทธประวัติเพดานวิหารวัดโลกโมฬี ขยายให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกหน่อย ภาพล่างเป็นภาพเรื่องประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชดำเนินได้ 7 ก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ

ประตูวิหารจากภายใน

ประตูวิหารจากภายใน หลังจากที่ได้เก็บภาพส่วนต่างๆ ของวิหาร และพระพุทธรูปองค์ประธานในวิหารเรียบร้อยแล้วจะเดินหันหลังกลับออกมาจากวิหารเห็นสภาพแสงที่ส่องเข้ามาจากด้านหน้าตัดกับเสาและผนังวิหารที่สร้างจากไม้มองออกไปถึงกำแพงวัดตรงกันกับประตูของวิหารมีซุ้มประตูวัดสำหรับให้คนเดินเข้า-ออก (ประตูใหญ่สำหรับรถ) ซุ้มประตูเองก็สร้างได้สวยงามกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัด

โพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง

โพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง ต้นโพธิ์สองต้นที่อยู่ด้านหน้าวิหารมีใบเป็นสีเงินและสีทองอย่างละต้น คนที่นำใบโพธิ์มาติดจะเขียนชื่อตนเองลงบนใบโพธิ์คนละใบๆ จนเต็มต้นอย่างที่เห็น การทำเช่นนี้เชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

พระเจดีย์วัดโลกโมฬี

พระเจดีย์วัดโลกโมฬี เดินชมบริเวณด้านหน้าของวัดรอบวิหารมาพักใหญ่ ได้เวลาเดินเข้ามายังพระเจดีย์บ้าง จากที่เห็นในภาพจะเห็นว่าพระเจดีย์องค์นี้ยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก มีเพียงส่วนยอดที่หักลงมาและได้ทำการบูรณะใหม่ในปีพ.ศ. 2548 ระหว่างพระเจดีย์กับวิหารมีทางถนนคั่นอยู่ตรงกลางและมีกำแพงกั้นรอบพระเจดีย์ เป็นสิ่งที่ผมยังไม่เคยเห็นมาก่อน ปกติการสร้างวิหารและเจดีย์ตามแบบวัดของชาวเหนือ เจดีย์จะอยู่ด้านหลังของวิหาร หรืออุโบสถแบบชิดกันเสมอ แต่วิหารหลังนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ในภายหลังปีพ.ศ. 2545 ผมคิดเอาเองว่าในตอนนั้น ถนนหรือทางเดินสายนี้คงมีมาอยู่ก่อนแล้วจึงสร้างวิหารให้แยกออกไปต่างหาก

ซุ้มประตูพระเจดีย์

ซุ้มประตูพระเจดีย์ ในการที่จะเข้าไปสักการะบูชาพระเจดีย์ซึ่งมีกำแพงล้อมอยู่จะต้องผ่านซุ้มประตูแห่งนี้ ลวดลายการสร้างงดงามเหมือนกับซุ้มประตูแห่งอื่นๆ ในวัด มีการประดับด้วยกระจกสีเป็นวงกลมเล็กๆ หลายสีบนลวดลาย มีนกยูงอยู่ทั้ง 2 ข้าง สำหรับนกยูงนั้นถือว่ารูปนกยูงเป็นสัญลักษณ์ของเจ้านายฝ่ายเหนือซึ่งมองดูวิจิตรและสง่างาม เป็นจุดเด่นหนึ่งบนหน้าบันวิหารวัดพันเตา

พระสิวลีกับเสาพญานาค 12 นักษัตร

พระสิวลีกับเสาพญานาค 12 นักษัตร ด้านหน้าเยื้องมาทางขวาขององค์พระเจดีย์ที่มีอายุกว่า 600 ปี องค์นี้มีพระสิวลีประดิษฐานบนแท่นที่สร้างด้วยอิฐสูงขึ้นไปไม่มากนัก ด้านหลังมีแท่นฐานสร้างด้วยอิฐแบบเดียวกันกับฐานพระสิวลีแต่ความสูงต่างกันเล็กน้อย มีเสาที่ทำจากไม้แกะสลักรูปพญานาคมีสามเศียร 2 ตัวพันกันขึ้นไปด้วยระยะการเกี้ยวพันกันของพญานาคมีช่องขนาดเท่าๆ กัน 12 ช่อง แกะสลักเป็นสัญลักษณ์ 12 ปี 12 นักษัตรจนสุดตรงปลายหางพอดี นับเป็นฝีมือการแกะสลักที่สวยงามและยากยิ่ง ความสูงของเสาต้นนี้นั้นประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของพระเจดีย์เลยทีเดียว

ลอดซุ้มประตูพระเจดีย์

ลอดซุ้มประตูพระเจดีย์ ภาพถ่ายจากมุมลอดซุ้มประตูให้ชมบริเวณพระเจดีย์ได้ทั่วถึงอีกภาพ เป็นมุมที่ทำให้เราได้เห็นว่าบริเวณฐานพระเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์โดยรอบ สถานที่สำหรับจุดเทียนธูปบูชาองค์พระเจดีย์กลางร่มไว้ให้ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ให้ตักบาตรพระประจำวันเกิดด้วยครับ

ซุ้มประตูด้านนอกวัดโลกโมฬี

ซุ้มประตูด้านนอกวัดโลกโมฬี เมื่อสักการะพระเจดีย์ของวัดแล้ว เข้าชมในวิหารแล้ว ก็เป็นเวลาของการเดินหารายละเอียดอื่นๆ เพื่อไม่ให้ตกหล่นจะได้มีภาพมาให้ชมกันได้ทั่วบริเวณของวัด คราวนี้ผมเดินย้อนออกมาด้านหน้าและออกมาด้านนอกของวัด ส่วนกำแพงที่ได้เห็นตั้งแต่แรกเป็นสิ่งที่สะดุดตาผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาได้อย่างดีเหมือนกันเพราะมีความสวยงามมาก

กำแพงและซุ้มประตูนี้สร้างขึ้นในภายหลังแต่รูปแบบการสร้างด้วยอิฐให้กลมกลืนลงตัวกับพระเจดีย์เก่าแก่ของวัดเป็นซุ้มประตูสำหรับให้คนเดิน-ออกอยู่ตรงกันกับหน้าวิหารล้านนา ข้างซุ้มประตูด้านนอกมียักษ์ยืนถือกระบอง ทั้งสองข้าง

วิหารทรงล้านนาจากด้านนอกกำแพง

วิหารทรงล้านนาจากด้านนอกกำแพง เมื่อออกไปข้างนอกแล้วก็กลับเข้ามาด้านในเห็นภาพนี้มีซุ้มประตูของกำแพงวัดที่หนาพอสมควรและก็เห็นวิหารที่สวยงามอยู่ตรงกลางพอดีนักท่องเที่ยวหลายคนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจะมาถ่ายภาพวิหารจากมุมนี้กันหลายคน (แต่คงไม่ได้เอาซุ้มประตูมาเป็นกรอบภาพแบบนี้) ก่อนที่จะเดินเข้าไปชมวิหาร เพราะนักท่องเที่ยวเหล่านั้นใช้วิธีการเดินชมเมืองเชียงใหม่คล้ายๆ กันกับการเดินชมรอบๆ กรุงเทพฯ แต่มีนักท่องเที่ยวบางคนเดินมาถามผมเหมือนกันว่ามีร้านเช่าจักรยานหรือเปล่า ผมก็สอบถามคนในวัดให้เพราะผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน สุดท้ายคนในวัดก็บอกว่ามีร้านเช่าจักรยานอยู่ห่างจากวัดโลกโมฬีไปตามคูเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร (โหงั้นคงไม่ไปเช่าแล้วละครับเดินชมเมืองเชียงใหม่ต่อดีกว่า) ชาวต่างชาติก็คงไม่ได้คิดว่าเมืองเชียงใหม่จะใหญ่ขนาดนี้และถ้าอยากเที่ยวชมวัดให้ได้หลายๆ แห่งต้องเดินกันจนหมดแรงไปข้างละครับ

บันไดทางเดินเข้าวิหาร

บันไดทางเดินเข้าวิหาร เพราะส่วนใหญ่การถ่ายภาพวิหารหลังนี้มีมุมมหาชนอยู่ที่มุมเฉียงมองเห็นพระเจดีย์ กับมุมด้านหน้าตรงแต่ถ่ายให้เห็นครบทุกส่วน ผมก็เลยลองถ่ายเฉพาะส่วนที่จะเห็นบันไดกับราวบันไดให้ชัดๆ มาฝากอีกภาพที่จริงก็อยากให้เห็นชัดไปจนถึงลวดลายบนหน้าบันของวิหารแต่พอย่อลงแล้วรายละเอียดปราณีตขนาดนั้นก็คงจะไม่ชัดเจนเหมือนเดิม แบบนี้คงต้องไปดูกันด้วยตัวเองครับ

พระพรหม

พระพรหม ภาพสุดท้ายของการพาเที่ยวชมวัดโลกโมฬีในวันนี้แต่ในวัดนี้ยังมีสถานที่สำคัญๆ อีกเช่นศูนย์แสดงศิลปล้านนา และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น "พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาสล่าเมือง" สำหรับพระพรหมเองก็กำลังมีโคงการก่อสร้างวิหารพระพรหมหรือศาลพระพรหมกันอยู่ครับ ท่านใดมีจิตศรัทธาหรือมีโอกาสได้ไปเชียงใหม่อย่าลืมแวะไปชมวัดที่สง่างามวัดหนึ่งของเชียงใหม่ แล้วจะไม่ผิดหวัง
ที่ลานจอดรถบริเวณนี้มีร้านกาแฟสดของวัดโลกโมฬีด้วยขอไปซื้อกาแฟแล้วกลับที่พักก่อนนะครับติดตามชมสถานที่อื่นๆ ที่น่าสนใจในเชียงใหม่ได้ใน ข้อมูลเที่ยวเชียงใหม่

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดโลกโมฬี เชียงใหม่
ฮูก้า โฮสเทล เชียงใหม่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
ครอสทู เชียงใหม่ นอร์ธ เกท วิลล่า เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟรานโก้ไทย เพลซ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจน เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
Time Inn Chiangmai เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
เชียงใหม่ ซุ่นหลิน โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิสคัฟเวอร์รี่ ยูธ โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
168 เชียงใหม่ เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
มิสเตอร์แจ๊ค เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอ เกสต์เฮาส์
  0.19 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com