www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

 วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อยู่ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินล้านนามานับแต่อดีต พญาผายูกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนี้ขึ้น ในปีพ.ศ. 1888 พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์สูง 24 ศอกองค์หนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา มีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่องค์หนึ่งคือพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร

    ตามประวัติของพระพุทธสิหิงค์นั้นเล่าไว้ว่า พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์เม็งราย ผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงรายเพื่อไปประดิษฐานไว้ยังวัดสวนดอก แต่พอราชรถมาถึงวัดลีเชียง ก็ปรากฎว่าติดขัดไม่สามารถเดินทางต่อไปได้อีก ดังนั้นพระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัดลีเชียงนี้ ประชาชนนิยมเรียกพระพุทธสิงหิงค์สั้นๆ ว่า พระสิงห์ จึงได้เรียกชื่อวัดพระสิงห์

    เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้แห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำโดยทั่วกัน ในวิหารลายคำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ยังมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์ และสังข์ทองซึ่งพบเพียงที่นี่แห่งเดียว ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถตกแต่งแบบศิลปะล้านนา หอไตรประดับด้วยรูปปูนปั้นเทวดา และเจดีย์ทรงกลมแบบล้านนา

    ความเชื่อและวิธีการบูชา พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มานมัสการอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 2017-04-25 22:03:29 ผู้ชม 20470

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วิหารวัดพระสิงห์วรวิหาร

วิหารวัดพระสิงห์วรวิหาร เดินทางมาเชียงใหม่ทริปนี้นอกเหนือจากการขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุดอยสุเทพบนเขาแล้ว เป็นครั้งแรกที่เรามาหาที่พักในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะละเว้นการเข้ามาสักการะไหว้พระขอพรวัดพระสิงห์ ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ในเมืองเชียงใหม่ไปไม่ได้ การเดินทางมาที่วัดพระสิงห์ใช้ถนนอินทรวโรรส จากคูเมืองด้านทิศตะวันตกใกล้ที่สุด แต่เราใช้ถนนราชดำเนินจากคูเมืองด้านทิศตะวันออกตรงเข้ามาจนถึงหน้าวัดพระสิงห์ เลี้ยวขวาไปจอดข้างวัดที่ถนนอินทรวโรรส แล้วเดินเข้าประตูข้างวัดจะตรงกับประตูวิหารลายคำด้านตรงข้ามกับรูปนี้ แต่เวลานั้นถ่ายรูปหน้าบันสวยๆ ไม่ได้ เพราะเป็นทางย้อนแสงเลยเดินมาด้านนี้เพื่อเก็บภาพสวยๆ

ด้านซ้ายในภาพเป็นพระเจดีย์ ที่พญาผายูกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์มังรายโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมกับวัดตั้งแต่ปี พ.ศ.1888 พระเจดีย์สูง 24 ศอก เพื่อใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา

ส่วนด้านขวาเป็นพระอุโบสถหลังใหญ่มีความวิจิตรบรรจงสวยงามในการก่อสร้างไม่แพ้เสนาสนะอื่นในวัด แต่ในวันปีใหม่มีงานทำบุญประเพณีของทางวัด จึงไม่มีโอกาสได้เข้าไปเก็บภาพด้านใน

วิหารวัดพระสิงห์วรวิหาร

วิหารวัดพระสิงห์วรวิหาร เป็นหน้าบันด้านทิศเหนือที่เรารอเวลาเย็นจนไม่ย้อนแสงจนเกินไปเพื่อที่จะเก็บภาพจากด้านนี้ให้ได้

วิหารลายคำวัดพระสิงห์วรวิหาร

วิหารลายคำวัดพระสิงห์วรวิหาร วิหารลายคำหลังนี้สร้างอยู่ด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ เป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระสิงห์วรวิหาร วิหารลายคำหลังนี้สร้างได้สวยงามมากแต่คงต้องมาชมด้วยตนเองสักครั้ง เพราะมองจากในภาพลวดลายบนหน้าบันของวิหารไม่ค่อยจะชัดเจน

พระแก้วมรกตจำลอง

พระแก้วมรกตจำลอง ภายในวิหารวัดพระสิงห์วรวิหารประดิษฐานพระแก้วมรกตองค์จำลอง บนฐานลักษณะจตุรมุขมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่รอบด้าน โดยมีหุ่นขี้ผึ้งของพระเกจิอาจารย์ ผู้เป็นพระสุปฏิปันโณ พระภิกษุผู้ปฏิบัติชอบ เป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั้งประเทศ

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ "เชียงแสนสิงห์หนึ่ง"

ตำนานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีป ทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา เจ้านครศรีธรรมราชได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา

ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานานถึง 105 ปี

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338

ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล โดยจะมีพิธีเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ ส่วนพระสิงห์ที่ประดิษฐานที่วัดแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปจำลอง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์ เป็นภาพที่เก่าแก่มากและดูเลือนลางเต็มทีครับ ถ้ายังไม่ได้ไปควรต้องรีบไปชมกันเสียแต่ตอนนี้เลย

บริเวณวิหารและพระเจดีย์

บริเวณวิหารและพระเจดีย์ ประวัติวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร
พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า "วัดลีเชียงพระ" สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย เมื่อขบวนช้างอัญเชิญมาถึงหน้าวัด ช้างก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระเจ้าแสนเมืองมา จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐาน ณ วัดลีเชียงพระ ประชาชนทางเหนือนิยมเรียกพระพุทธสิหิงค์ ว่า "พระสิงห์" จึงเป็นที่มาของชื่อ "วัดพระสิงห์" ในปี พ.ศ. 2360 พระญาธัมมลังกา หรือพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระอนุชาของพระเจ้ากาวิละ โปรดให้บูรณะพระอุโบสถและพระเจดีย์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์สุดท้าย พร้อมด้วยครูบาศรีวิชัย และประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ร่วมกันบูระฃณะปฏิสังขรณ์วัดพระสิงห์อีกครั้ง และได้มีการขุดพบสิ่งของมีค่ามากมาย อาทิ แผ่นทองคำจารึกเรื่องราวต่างๆ โกศบรรจุอัฐิพระญาคำฟู แต่สิ่งของเหล่านี้สูญหายไปในช่วงสงครามเอเชียบูรพา และในปี พ.ศ. 2493 วัดพระสิงห์(ศาสนา) ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

http://th.wikipedia.org/wiki/วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

หอไตรวัดพระสิงห์

หอไตรวัดพระสิงห์ อีกหนึ่งจุดน่าสนใจของงานสถาปัตยกรรมในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร รูปปูนปั้นรอบหอไตรชั้นล่าง มีรายละเอียดสวยงามมาก หอไตรนี้อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ใกล้ประตูด้านทิศตะวันออก (ตรงกับถนนราชดำเนิน)

บรรยากศงานปีใหม่

บรรยากศงานปีใหม่ ในช่วงวันปีใหม่ ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหารจะมีงานทำบุญใหญ่เป็นประจำทุกปี มีการออกร้านจัดงานข้างพระอุโบสถ โดยมากจะเป็นร้านอาหาร มีอาหารมากมายหลายเมนู เป็นอาหารจานเดียวเพื่อความสะดวก เริ่มแรกทีเดียวเราก็ไม่ได้วางแผนว่าจะอยู่ที่วัดพระสิงห์นานนัก อยากจะไปชมวัดอื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่อีกหลายแห่ง แต่เมื่อมาเห็นความสวยงามของวิหาร พระพุทธสิหิงค์ที่งดงาม (แม้ว่าจะเป็นองค์จำลองก็ยังคงความงดงามอยู่มาก) ทำให้เราอยู่เก็บภาพจนถึงช่วงเย็น เพราะอยากได้ภาพใน 2 บรรยากาศ ทั้งกลางวันกลางคืนในวันเดียวกัน

เหตุที่ว่ามานี้เราก็ต้องหาอาหารกินกันเอาแบบง่ายๆ ในวัดที่มีงานพอดีแบบนี้ละครับ แต่ละร้านก็มีเมนูเด็ดรสอร่อยกันทุกร้านทีเดียว

ของฝากงานปีใหม่วัดพระสิงห์

ของฝากงานปีใหม่วัดพระสิงห์ เป็นโคมไฟที่มีลวดลายงดงามมาก ดูครั้งแรกคิดว่าเป็นเครื่องเงิน พอเข้าไปดูใกล้ๆ เจ้าของร้านบอกว่าไม่ใช่เงิน เพราะหากทำด้วยเงินราคาจะสูงมาก แต่ทำด้วยโลหะอื่นที่ราคาถูกกว่าและดูเหมือนเงินเท่านั้น

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่
ภูเวียง เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเบด พระสิงห์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
Salee Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมวรรณมาศ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
สลีป วอล์คเกอร์ โพชเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
Lucky House เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan guesthouse (Sunday night market) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
แน็ปบ็อซ โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
99 เดอะ เฮอริเทจ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ศิลา บูทิค เบด แอนด์ เบรคฟาสต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.23 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com