www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ

วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ

 วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เดินทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้เป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่โบราณกาล นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาที่จังหวัดนี้จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุกันทุกคน ถ้าหากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่ ตามประวัติแห่งดอยสุเทพนั้นเชื่อกันว่า เดิมภูเขาแห่งนี้เป็นที่อยู่ของฤาษีนามว่า "สุเทวะ" ซึ่งตรงกับคำว่าสุเทพอันเป็นที่มาของชื่อดอยสูงแห่งนี้ โดยวัดพระธาตุดอยสุเทพนี้สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย

    ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล โดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากช้างเชือกนั้นหยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ โดยทำทักษิณาวรรตสามรอบก่อนที่จะล้มลง (ตาย) ดังนั้นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชจึงทรงรับสั่งให้สร้างพระบรมธาตุอันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดดอยสุเทพ อยู่คู่ฟ้าคู่ดินเชียงใหม่มานับแต่นั้น วัดพระธาตุดอยสุเทพตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ผู้ที่เดินทางมาสักการะที่วัดแห่งนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดนาคไป 300 ขั้น เพื่อไปยังวัด หรือใช้บริการรถกระเช้าขึ้น-ลงดอยสุเทพได้ ระหว่างเวลา 05.30-19.30 น.

    งานประเพณีเตียวขึ้นดอยเพื่อสักการะพระธาตุดอยสุเทพจัดเป็นประจำทุกปี โดยมีขึ้นก่อนหน้าวันวิสาขบูชา 1 คืน ในงานจะมีขบวนแห่น้ำสำหรับสรงพระธาตุโดยมีพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่าง ๆ มาร่วมขบวนแห่ขึ้นดอยเป็นจำนวนมาก

    ความเชื่อและวิธีการบูชา เชื่อกันว่าหากมาสักการะและอธิษฐานขอพรพระธาตุดอยสุเทพ จะมีแต่ความสำเร็จสมหวังดังปรารถนา แคล้วคลาด ผ่านอุปสรรคนานาไปได้ ในการสักการะพระธาตุนั้น ควรเตรียมข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนแล้วเดินเวียนขวา 3 รอบ พร้อมกล่าวคำนมัสการพระธาตุ โดยตั้งจิตอธิษฐานขอให้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา และควรไหว้พระธาตุให้ครบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งให้อานิสงส์ที่ต่างกัน คือ ทิศเหนือขอให้มีปัญญาดุจพระจัทร์เพ็ญ ทิศใต้ ขอให้ได้เป็นพระภิกษุสงฆ์ได้บวชในบวรพุทธศาสนา ทิศตะวันออกขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ ทิศตะวันตกเป็นการเคารพบูชาสูงสุดต่อพระธาตุ

    สิ่งที่ไม่ควรพลาดเมื่อได้มานมัสการพระธาตุดอยสุเทพแล้ว ควรมากราบอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ประดิษฐานอยู่ตรงเชิงดอยสุเทพเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

    การเดินทาง จากตัวเมืองสามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางผ่านหน้ามหาวิทยาลัยและสวนสัตว์เชียงใหม่ สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถส่วนตัวสามารถเดินทางมาที่วัดโดยรถสองแถวประจำทางจากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้านถนนห้วยแก้ว ซึ่งบริการระหว่างเวลาประมาณ 05.00-17.00 น.

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 2016-04-21 12:45:22 ผู้ชม 34730

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
จุดชมวิวดอยสุเทพ

จุดชมวิวดอยสุเทพ ขึ้นดอยสุเทพทีไรก็จะต้องอยากแวะจุดชมวิวตรงนี้ทุกที การเดินทางมาเชียงใหม่กล่าวกันว่าหากไม่ได้มาไหว้พระธาตุดอยสุเทพก็เหมือนยังมาไม่ถึงเชียงใหม่ และเมื่อขึ้นพระธาตุดอยสุเทพก็มักจะแวะจุดชมวิวจุดนี้ไปด้วย บางครั้งมาถึงเชียงใหม่ช่วงเช้าตรู่ก็จะเห็นหมอกปกคลุมเมืองเชียงใหม่ทั้งเมือง

จุดชมวิวดอยสุเทพ

จุดชมวิวดอยสุเทพ ทีมงานของเราก็จัดแจงถ่ายรูปที่ระลึกการได้มาเยือนจุดชมวิวดอยสุเทพกันตามระเบียบ

ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ

ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ เมื่อเดินทางขึ้นมาถึงบริเวณวัดก็จะได้เห็นสถานที่สำคัญๆ ได้แก่

ภาพบนซ้าย ศาลาชัยมงคลรับเสด็จ เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ด้วยลักษณะการสร้างของศาลาแบบชาวเหนือ

ภาพบนขวา ฆ้องใหญ่หน้าวัด เป็นฆ้องที่สร้างขึ้นถวายเป็นพุทธบูชา พระบรมธาตุดอยสุเทพ ขนาดใหญ่มาก สร้างขึ้นถวายในปี 2552 นี้เอง

ภาพล่างซ้าย ครูบาศรีวิชัย เป็นเกจิอาจารย์ที่ชาวเชียงใหม่และชาวเหนือศรัทธาอย่างกว้างขวาง หลายๆ วัดในภาคเหนือจะมีรูปครูบาศรีวิชัยอยู่ สำหรับวัดพระธาตุดอยสุเทพก็เช่นเดียวกัน นักท่องเที่ยวสามารถแวะไหว้ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยก่อนขึ้นเขามา หรือว่าหากไม่ได้แวะจะมาไหว้ที่วัดเลยก็ได้ครับ

ภาพล่างขวา ลานจอดรถของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ มีร้านค้ามากมายขายสินค้าหลายอย่างให้เลือกตามความชอบ ที่เด่นๆ ก็จะมีเสื้อผ้า กับพลอย นอกจากนี้ก็มีร้านอาหารมากมายหลายร้าน และที่ขาดกันไม่ได้ก็คือร้านกาแฟสดและกาแฟโบราณ ลานจอดรถแห่งนี้กว้างใหญ่มากแต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าจะมีรถมาจอดกันจนเต็มได้ในบางวัน

บันไดดอยสุเทพ

บันไดดอยสุเทพ ภาพเมื่อครั้งยังไม่มีรถรางไฟฟ้าบนดอยสุเทพ ทุกคนที่เดินทางมาสักการะพระธาตุจะต้องเดินขึ้นบันไดนี้ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะขึ้นถึงด้านบน ที่เห็นอยู่นี้คือซุ้มกาญจนาภิเษก ใกล้ๆ กันนี้จะมีศาลาชัยมงคลรับเสด็จ

เดินขึ้นบันไดตรงนี้ผ่านซุ้มกาญจนาภิเษกจะมีบันไดอีกช่วงหนึ่งอยู่ขวามือเป็นบันไดที่เดินขึ้นเขาของจริงที่หลายคนคงไปสัมผัสกันมาแล้ว

บันไดพระธาตุดอยสุเทพ

บันไดพระธาตุดอยสุเทพ บันไดนาค เป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งหนึ่งของวัดพระธาตุดอยสุเทพ มีความงดงามทางด้านศิลปะที่ทรงคุณค่า และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ นักท่องเที่ยวผู้มานมัสการพระบรมธาตุ มักจะต้องถ่ายภาพเป็นที่ระลึกที่ด้านของบันไดนาค ซึ่งมีทัศนียภาพงดงามและมีเสน่ห์เมื่อมองขึ้นไปตามขั้นได นักท่องเที่ยวที่มาเยือนครั้งแรก มักจะเดิน ขึ้นหรือเดินลงบันไดนาคเสมอ แต่ส่วนใหญ่มักจะเดินลง ส่วนตอนขึ้นนั้นมักจะขึ้นทางลิฟท์หรือรถรางไฟฟ้า

ประวัติการสร้างบันไดนาค
บันไดนาค สร้างขึ้น ในปี พ.ศ.2100 (ค.ศ.1557) โดยมีพระมหาญาณมงคลโพธิ ้เป็นประธานก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดความยาว 306 ขั้น จากล่างถึงบน ประกอบด้วยพญานาคทั้ง 2 ข้าง ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งอย่างปราณีต พญานาคแต่ละตัวมี 7 หัว บันไดนาคนี้สร้างมานานกว่า 400 ปี มีการชำรุดไปบ้างแต่ก็ได้รับการบำรุงซ่อมแซมอยู่ตลอดเวลา จนทำให้พวกเราทุกคนได้เห็นบันไดนาคอยู่ในสภาพเดิมตราบเท่าทุกวันนี้

ขึ้นบันไดดอยสุเทพ

ขึ้นบันไดดอยสุเทพ หลังจากการเดินไม่นานเท่าไหร่ก็มาถึงปลายทางของบันไดดอยสุเทพ ภาพที่เห็นเบื้องหน้าสร้างความภาคภูมิใจว่าอย่างน้อยเราก็เคยเดินขึ้นดอยสุเทพมาก่อน สำหรับคนที่ใช้รถรางไฟฟ้า แม้จะเดินอ้อมมาถ่ายรูปหน้ามณฑปเหนือบันไดคล้ายๆ ว่าเดินขึ้นมาได้ก็ตามแต่ความรู้สึกก็ต่างกัน

รถรางไฟฟ้าดอยสุเทพ

รถรางไฟฟ้าดอยสุเทพ ในเมื่องทริปนี้ใช้ลิฟท์ก็จะเอาภาพบรรยากาศการขึ้นลิฟท์มาฝาก ลิฟท์แต่ละตัวจุผู้โดยสารได้ประมาณ 10 คน มี 4 ตัว วิ่งขนานกัน ขึ้นลงอิสระไม่ต้องรอกัน แต่ละตัวมีคนรอคิวนาน ที่ห้องขึ้นลิฟท์มีที่นั่งให้นั่งแต่คนจะไม่ค่อยนั่งเพราะจะไปยืนต่อแถวเข้าลิฟท์ กันยาวเหยียด สำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่หัดขึ้นลิฟท์ดอยสุเทพจะไม่รู้ว่าแถวขึ้นลิฟท์ตัวที่ 4 อยู่ตรงไหน ทำให้แถวที่ 4 มันดูสั้นๆ ลิฟท์ตัวที่ 4 จะดูเหมือนทางไปห้องน้ำ แถวที่ต่อกันยาวออกมาเหมือนคนรอคิวเข้าห้องน้ำไม่คิดว่าเป็นแถวเข้าคิวขึ้นลิฟท์

นี่เป็นแถวที่ 2 และ 3 ยาวออกไปถึงห้องขายตั๋ว ส่วนแถวที่ 4 สั้นนิดเดียว หลายคนเข้าใจว่าการเข้าแถวๆ ที่ 4 เป็นแถวสำหรับคนเข้าห้องน้ำ เลยมาบอกกล่าวกันไว้ว่าขึ้นรถรางไฟฟ้าดอยสุเทพมี 4 แถว รถรางไฟฟ้าสร้างเป็นรางคู่ ตัวที่ 1 คู่กับตัวที่ 2 มองเห็นกันได้จากหน้าต่าง ส่วนตัวที่ 3 ก็คู่กับตัวที่ 4

การขึ้นรถรางไฟฟ้าได้รับความนิยมมากจากนักท่องเที่ยวที่ประหยัดเวลาและประหยัดกำลังให้ไม่ต้องเหนื่อยมาก ไม่ได้มีเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แม้จะเห็นคนรอรถรางไฟฟ้ามากมายขนาดนี้ แต่ที่เลือกการเดินขึ้นทางบันไดก็ยังคงมีอยู่มาก

ต้นพระศรีมหาโพธิ์อินเดีย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์อินเดีย หากเดินทางมาโดยรถรางไฟฟ้าเมื่อเดินออกมาจากสถานีจะถึงบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้เป็นอันดับแรกๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์มีประวัติดังนี้

ในปี พ.ศ.2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ส่งผู้แทนพิเศษไปอินเดีย โดยมี ฯพณฯ ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อขอให้รัฐบาลอินเดีย ช่วยแบ่งกิ่งตอนต้นโพธิ์ให้แก่ประเทศไทย และรัฐบาลอินเดียก็ได้รีบจัดส่งต้นโพธิ มาให้ประเทศไทยทางเครื่องบิน จำนวน 5 ต้น โดยรัฐบาลได้แบ่งต้นโพธิปลูกที่วัดพระศรีมหาธาตุกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ต้น ส่วนที่เหลืออีก 3 ต้น ได้จัดส่งไปปลูกที่ต่างจังหวัด ราม 3 แห่ง คือ 1. จังหวัดนครศรีธรรมราช ปลูกที่วัดพระมหาธาตุ 2. จังหวัดนครพนม ปลูกที่วัดพระธาตุพนม 3. จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พิธีปลูกต้นโพธิ์ในแต่ละจังหวัดนั้น มีสมเด็จมหาวีรวงศ์ สังฆนายกเป็นประธานในพิธีทุกครั้ง

ต้นโพธิ์อินเดียถึงจังหวัดเชียงใหม่
ต้นโพธิ์ต้นที่ 5 ถูกส่งมาทางรถไฟ ถึงสถานีเชียงใหม่ วันที่ 2 กรกฎาคม 2486 เวลาบ่าย 3 โมง มีประชาชนจากทั่วสารทิศ มาต้อนรับต้นโพธิ์เต็มสถานีรถไฟหมด ขบวนต้อนรับได้เคลื่อนจากสถานีรถไฟไปยังวัดพระสิงห์ผ่านถนนเจริญเมือง-ถนนท่าแพและราชดำเนินตลอดเส้นทางได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม ต้นโพธิ์ได้มาพักฉลองสมโภชที่วัดพระสิงห์เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน

เนื่องจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ ที่พุทธคยาอินเดีย ชาวพุทธจึงเคารพนับถือต้นโพธิ์และถือว่าเป็นต้นไม้ที่สำคัญและประเสริฐยิ่ง เส้นทางขบวนผ่านจากสถานีรถไฟถึงวัดพระสิงห์ ซึ่งยาวถึง 4 กิโลเมตรกว่า ประชาชนต่างพร้อมใจกันมาต้อนรับและกราบไหว้ต้นโพธิ์อย่างเนืองแน่น เต็มท้องถนนมากเป็นประวัติการณ์ งานสมโภชต้นโพธิ์จัดขึ้นที่วัดพระสิงห์รวม 5 คืน จนถึง วันที่ 7 ก.ค.86 ต้นโพธิ์ก็ถูกนำขึ้นรถยนต์ มุ่งหน้าขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เวลา 9.30 น. เพื่อทำพิธีปลูกที่วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่งยังคงมีให้เห็นอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้

ถึงดอยสุเทพ

ถึงดอยสุเทพ เมื่อลงจากรถรางไฟฟ้า ก็เดินออกมาชมบริเวณวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ อีกสักพักก็ถึงทางเข้าองค์พระธาตุ อ้อลืมไปว่าราคาค่าโดยสารรถรางไฟฟ้าคนละ 20 บาท ไม่มีเด็กไม่มีผู้ใหญ่ครับ เท่ากันหมด จะได้บัตรมาคนละใบ ถือไว้เพราะจะตรวจตอนลงครับ

ที่เห็นอยู่ในภาพนี้ก็คือ วิหารครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่ด้านนอกของเขตพระบรมธาตุด้านทิศตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ผู้นำการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ และรูปหล่อของอดีตเจ้าอาวาสพระธาตุดอยสุเทพ เช่น ครูบาเถิ้ม พระราชรัตนากร เป็นต้น
แต่ละวัน มีประชาชนมากราบนมัสการรูปปั้นครูบาศรีวิชัยและอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ มิได้ขาด ด้วยระลึกถึงพระคุณของพระมหาเถระทั้งหลายที่มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาและวัดพระธาตุดอยสุเทพตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา

มณฑประฆัง

มณฑประฆัง ภาพซ้าย มณฑประฆังอยู่ลานด้านนอกวิหารคดรอบองค์พระธาตุ เมื่อขึ้นรถรางไฟฟ้าขึ้นมาแล้ว มณฑปนี้ก็เป็นสิ่งแรกๆ ที่จะได้เห็น สำหรับมณฑปที่เห็นอยู่ตรงนี้มีด้านหนึ่งแขวนฆ้องขนาดใหญ่มากไว้ ภายในเป็นระฆังใบใหญ่ขนาดเท่าๆ กันกับฆ้องนี้อยู่ ฆ้องนี้ห้ามลูบและให้ตีเพียงเบาๆ ครับ

ภาพขวา เป็นการแสดงของน้องนักเรียนที่หาทุนสำหรับซื้อเครื่องดนตรีเข้าโรงเรียน โดยจะแสดงอยู่ลานกว้างใกล้ๆ กับมณฑประฆัง

การแสดงศิลปะเพื่อทุนการศึกษา

การแสดงศิลปะเพื่อทุนการศึกษา น้องๆ วัยเรียนหลายคนมาแสดงการฟ้อนตามแบบที่เรียนมาบริเวณด้านหน้าทางเข้าองค์พระธาตุดอยสุเทพ เพื่อหาทุนการศึกษาและการซื้อเครื่องดนตรีประกอบการเรียน การแต่งกายและการฟ้อนที่อ่อนช้อยงดงามทีเดียว

พระธาตุดอยสุเทพ

พระธาตุดอยสุเทพ พระบรมธาตุดอยสุเทพ ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล โดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากช้างเชือกนั้นหยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ โดยทำทักษิณาวรรตสามรอบก่อนที่จะล้มลง (ตาย) ดังนั้นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชจึงทรงรับสั่งให้สร้างพระบรมธาตุอันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดดอยสุเทพ อยู่คู่ฟ้าคู่ดินเชียงใหม่มานับแต่นั้น วัดพระธาตุดอยสุเทพตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ ผู้ที่เดินทางมาสักการะที่วัดแห่งนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ได้อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นบันไดนาคไป 300 ขั้น เพื่อไปยังวัด หรือใช้บริการรถกระเช้าขึ้น-ลงดอยสุเทพได้ ระหว่างเวลา 05.30-19.30 น.

ส่วนฉัตรที่เห็นอยู่ที่มุมของพระธาตุเจดีย์ สร้างโดยพระเจ้ากาวิละ

พระธาตุดอยสุเทพช่วงบูรณปฏิสังขรณ์

พระธาตุดอยสุเทพช่วงบูรณปฏิสังขรณ์ ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2552 พระธาตุดอยสุเทพอยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งพระธาตุอายุในช่วงเดียวกันนี้ มีหลายองค์ที่ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วงเดียวกัน จากข้อมูลล่าสุด ปี พ.ศ. 2554 การบูรณะได้เสร็จสิ้นลงแล้ว หากได้ไปก็คงจะได้พบพระธาตุที่สมบูรณ์สวยงามดังเดิม

ประชาชนที่เดินทางไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพมักจะเดินเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ 3 รอบ หรือการกระทำทักษินา กันทุกคน โดยรอบองค์พระธาตุจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หลายองค์ล้วนเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม

ไหว้พระหน้าองค์พระธาตุดอยสุเทพ

ไหว้พระหน้าองค์พระธาตุดอยสุเทพ เมื่อเดินเข้ามาถึงพระธาตุดอยสุเทพก่อนเดินเวียนเทียนรอบองค์พระธาตุก็จะจุดธูปเทียนบูชาพระธาตุและพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานรอบองค์พระธาตุ

วิหารพระพุทธ

วิหารพระพุทธ วิหารพระพุทธชินสีห์สุวรรณเจดีย์ เป็นวิหารอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมธาตุ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนาของพระภิกษุสงฆ์ เช่นทำวัตร สวดมนต์ ตลอดพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ทางศาสนา ข้างในประกอบด้วยพระประธาน พระพุทธชินราช และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ด้านฝาผนังของวิหาร มีภาพเขียนเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นภาพเก่า
พระวิหารพระพุทธ สร้างขึ้นโดยพระเจ้ากาวิละ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ นอกจากนั้น พระเจ้ากาวิละยังทรงได้สร้างฉัตรประจำมุมพระธาตุอีกด้วย

ตักบาตรพระประจำวันเกิด

ตักบาตรพระประจำวันเกิด รอบๆ องค์พระธาตุดอยสุเทพมีพระพุทธรูปประจำวันเกิดประดิษฐานอยู่ บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ

พระศรีสุคตนพบุรีและวิหารพระพฤหัส

พระศรีสุคตนพบุรีและวิหารพระพฤหัส ในวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพมีพระพุทธรูปมากมายหลายองค์ เป็นปางต่างๆ กันและประดิษฐานอยู่ในวิหารต่างๆ ภายในวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงาม อย่างในภาพซ้ายมือ คือพระศรีสุคตนพบุรี ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้ากือนา ซึ่งพระญาณสมโพธิ (ธงชัย สุวรรณศิริ) อธิบดีสงฆ์วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ลำดับ 7 มีเจตน์จำนงประสงค์จะได้พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางลีลารูปแบบล้านนาเพื่อประดิษฐาน ณ ซุ้มในวิหารพระเจ้ากือนา คณะผู้มีกุศลจิตทราบถึงเจตน์จำนงดังกล่าวอันประกอบด้วย นางณัฐพร โรจตระการ, นางยุนิต เตชุไพบูลย์, นางนารี ทองสวัสดิ์ โดยมีนายบุญธรรม ยศบุตร เป็นผู้ประสานงาน จึงได้เชิญชวนญาติมิตรร่วมกันจัดทำรูปแบบเสนอพระญาณสมโพธิ เมื่อท่าน เห็นชอบแล้วจึงได้จัดพิธีหล่อพระขึ้น เมื่อเดือน พฤศจิกายน 2544 ส่วนผสมประกอบด้วย เงิน 65 ก.ก. ทองแดง 130 ก.ก. ดีบุก 4 ก.ก. ประกอบพิธีพุทธภิเษก ในพระวิหารหลวงวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เมื่อวันมาฆบูชาที่ 26 กุมภาพันธ์ 2545 โดยพระเกจิอาจารย์ในจังหวัดเชียงใหม่ 59 รูป สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) เพื่ออนุวัตรตามเจตนารมณ์ในการสร้างวิหารพระเจ้ากือนา พระผู้อัญเชิญพระบรมธาตุประดิษฐาน ณ สุเทวบรรพตแห่งนี้ดีแล้ว ดังนั้น พระญาณสมโพธิ จึงได้ขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระศรี สุคตนพบุรี"

ประวัติวิหารพระเจ้ากือนา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 โดยพระราชรัตนากร (คำ ธมมจาโร) อดีตผู้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ลำดับที่ 6 ได้ดำเนินการสร้างวิหารขึ้นหลังหนึ่งเป็นวิหารไม้สักทั้งหลัง รูปแบบลักษณะคล้ายวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ มีขนาดกว้าง 8 วา ยาว 12 วา เพื่อเป็นราชานุสรณ์และกตัญญูกตเวทิตธรรม แด่พระเจ้ากือนาพร้อมด้วยพระมหาสุมนเถระ พระผู้อัญเชิญพระบรมธาตุประดิษฐานบนหลังพญาช้างขึ้นมาถึงยอดสุเทวบรรพต ก่อเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุอันเป็นปฐมเหตุให้สถานที่แห่งนี้เจริญรุ่งเรืองเป็นศรีแก่นพบุรีมาตราบเท่าทุกวันนี้การก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปก่อน ต่อมาพระญาณสมโพธิ (ธงชัย สุวรรณสิริ) ผู้เป็นอธิบดีสงฆ์ลำดับที่ 7 ได้สืบสานเจตนารมณ์ ดำเนินการก่อสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2545 สิ้นค่าใช้จ่าย 5,000,000 (ห้าล้านบาทถ้วน) ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูป นามว่า "พระศรีสุคตนบุรี" วิหารหลังนี้ให้ชื่อว่า "วิหารพระเจ้ากือนา"

ส่วนภาพขวามือคือพระพุทธรูปในวิหารพระพฤหัส เป็นวิหารอยู่ด้านทิศเหนือของพระบรมธาตุ ด้านในประกอบด้วยพระประธาน พระพุทธชินราช รูปเหมือนครูบาศรีววิชัย และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ ด้านฝาผนังของวิหาร มีภาพเขียนเรื่องราวตำนานพระธาตุดอยสุเทพ
นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปกราบสักการะบูชาพระประธานในพระวิหารได้ หรือการถ่ายภาพเป็นที่ระลึกก็ดูน่าศักดิ์สิทธิ์ แต่ทางวัดขอความร่วมมือให้นั่งลงขณะถ่ายภาพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

นอกเหนือจากวิหารที่กล่าวมาแล้วยังมีวิหารสำคัญๆ อีกได้แก่ วิหารพระเจ้าทันใจ วิหารหลวงพ่ออุ่นเมือง เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ภาพบนซ้ายเป็นมณฑปที่อยู่เหนือขั้นบนสุดของบันไดขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ หากเดินขึ้นบันไดมาจะมาที่จุดนี้ ภาพบนขวาเป็นอนุสาวรีย์ช้างเผือก สร้างไว้เป็นอนุสรณ์ถึงการเดินทางมายังดอยสุเทวบรรพต และพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่มาของการสร้างวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพอย่างทุกวันนี้

ภาพล่างคืออีกด้านหนึ่งของบริเวณวัดซึ่งเป็นจุดชมวิวที่สวยงามของเมืองเชียงใหม่

ของฝากวัดพระธาตุดอยสุเทพ

ของฝากวัดพระธาตุดอยสุเทพ มาถึงช่วงท้ายของการนำเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพของเราแล้วครับ ที่บริเวณวัดมีร้านของฝากของที่ระลึกมากมายหลายอย่างให้เลือก นอกจากนี้ยังมี ร้านกล้วยไม้หยก ORCHID JADE FACTORY THE LARGEST COLLECTION OF IMPERIAL AND LAVENDER ยังเคยได้ตีพิมพ์ใน NEW YORK TIMES ปี 1987 ด้วย สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเครื่องประดับประเภทหยก และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม คลิกไปที่ http://www.orchidjade.com/ ร้านนี้อยู่ด้านหนึ่งของลานจอดรถ

ส่วน 2 ภาพด้านล่างเป็นดอกไม้สวยๆ ที่ประดับไว้ที่บริเวณวัด

กล้วยไม้หน้าร้านกล้วยไม้หยก

กล้วยไม้หน้าร้านกล้วยไม้หยก ร้านกล้วยไม้หยก หรือ ORCHID JADE FACTORY ก็สมชื่อของร้านเลยครับ เมื่อตั้งชื่อร้านว่ากล้วยไม้ก็เลยมีกล้วยไม้หลายชนิดประดับอยู่หน้าร้านซึ่งมีที่นั่งพักผ่อนให้ลูกค้าด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ http://www.doisuthep.com/

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระธาตุดอยสุเทพ วรวิหาร
BAIYOKE CIAO CHIC MODERN HOTEL (FORMERLY NIMMAN VIENGPING) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
Clean & Good Location - 4 Bedroom Villa in Chiang Mai เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิม บีบี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
Bite-size room near Chiang Mai University เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
เชียงใหม่ ดี โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
DCondo Campus Resort Chiangmai เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
5stories, Big, cozy house, 15min from Airport เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
JW Residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนันญภูมิ เซอร์วิซ อพาร์ตเมนต์
  5.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
Apartment Cozy Pool Gym Coffee Shop 2Pax Queen Bed เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดพระธาตุดอยสุเทพ วรวิหาร
วัดผาลาด เชียงใหม่
  2.36 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ เชียงใหม่
  4.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เชียงใหม่
  4.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนสัตว์เชียงใหม่
  4.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ เชียงใหม่
  4.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนรุกขชาติห้วยแก้ว เชียงใหม่
  5.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
กาดหน้ามอ จ.เชียงใหม่
  5.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เชียงใหม่
  5.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดอุโมงค์ สวนพุทธธรรม เชียงใหม่
  6.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านม้งดอยปุย จ.เชียงใหม่
  6.81 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com