www.touronthai.com

หน้าหลัก >> หนองคาย >> พระธาตุบังพวน

พระธาตุบังพวน

 ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 23 กิโลเมตร โดยเดินทางจากตัวเมืองหนองคายมาตามทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) ประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 211 ทางไปท่าบ่อ ถึงกม. 10 วัดอยู่ด้านขวามือ

 พระธาตุบังพวนเป็นเจดีย์เก่าแก่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านาน ตัวองค์พระธาตุเดิมสร้างด้วยอิฐเผา ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น เป็นสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เนื่องจากฐานทรุด เจดีย์องค์ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เป็นรูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆัง มีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร ชั้นที่ 6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งฉัตร สูงจากพื้นดิน 34.25 เมตร ชาวหนองคายจัดงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 11 ค่ำเดือนยี่ของทุกปี ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ได้แก่

สัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติหลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้วและได้เสด็จประทับเสวยวิมุติสุขแห่งละ 7 วัน และสระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งเจ้าเมือง ก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานอุดรธานี 0 4232 5406-7
http://www.tourismthailand.org/udonthani

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 29518

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ซุ้มประตูทิศใต้วัดพระธาตุบังพวน

ซุ้มประตูทิศใต้วัดพระธาตุบังพวน เดินทางตามเส้นทางอุดรธานี-หนองคายจะผ่านแยกที่เขียนบอกว่าทางไปวัดพระธาตุบังพวนอยู่ซ้ายมือ ก่อนถึงตัวหนองคายประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปตามถนนหมายเลข 211 ประมาณ 10 กิโลเมตรก็จะเห็นซุ้มประตูนี้ จากซุ้มประตูนี้มองลึกเข้าไปในวัดจะเห็นเจดีย์เก่าดูเหมือนวัดนี้ไม่มีอะไรมาก แต่เมื่อขับเข้าไปจนถึงกลางวัดก็จะมองเห็นพระธาตุบังพวนเด่นตระหง่านท่ามกลางสัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติ

วิหารหลวงพ่อทันใจ

วิหารหลวงพ่อทันใจ หลังจากเลี้ยวเข้ามาในประตูวัดพระธาตุบังพวน ขับตรงเข้ามาตามถนนเรื่อยๆ มาจอดตรงหน้าวิหารหลวงพ่อทันใจ เพราะเป็นสถานที่ที่มีลานกว้างๆ อยู่ด้านหน้า จอดรถตรงนี้ก็จะเดินไปยังพระธาตุบังพวนที่อยู่หลังวิหารได้ไม่ไกลมากด้วย

หลวงพ่อทันใจ (พระศรีอาริยเมตตรัย)

หลวงพ่อทันใจ (พระศรีอาริยเมตตรัย) ประดิษฐานอยู่ในศาลาไม้เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา อยู่ห่างจากพระธาตุบังพวนประมาณ 20 เมตร ก่อนหน้านี้หลวงพ่อทันใจประดิษฐานอยู่ในศาลาหลังเล็กๆ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางนาคปรกสีขาว เมื่อมีการสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นแทนศาลาหลังเก่า ก็บูรณะองค์หลวงพ่อทันใจด้วยสีทอง มีความงดงามมากขึ้น ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วค่อยเดินเข้าไปในบริเวณอื่นๆ และสักการะพระธาตุบังพวนครับ

บริเวณสัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติ

บริเวณสัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติ สร้างเป็นแบบจำลองมาจากสถานที่จริง อยู่โดยรอบพระธาตุบังพวน

รัตนจงกรมเจดีย์

รัตนจงกรมเจดีย์ สถานที่พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ 7 วันเพื่อแสดงปาฏิหาริย์บรรเทาความกังขาของเหล่าเทวดาโดยเนรมิตร รัตนจงกรมทางทิศเหนือ

สัตตมหาสถานมีด้วยกัน 7 แห่ง อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กับรัตนจงกรมเจดีย์ ก็คือ โพธิบัลลังก์ เจดีย์ทรงกลมที่ตอนนี้มองเห็นเพียงส่วนฐาน เป็นสถานที่จำลองจากที่ที่พระพุทธเจ้าประทับตรัสรู้ได้ 7 วันจึงเสด็จจากวัชรอาสน์ มายืนทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์

พระวิหาร

พระวิหาร สภาพเดิมพบร่องรอบของแนวอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในมีเสาก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ขนาดใหญ่ 4 ต้น ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปัจจุบันได้รับการก่อสร้างใหม่โดยการปูพื้นและทำโครงหลังคาคลุมวิหารเดิมไว้

พระพุทธรูปในพระวิหาร

พระพุทธรูปในพระวิหาร ลักษณะของเสาพระวิหารของเดิมที่ถูกสร้างหลังคาคลุมไว้ทั้งหมด

พระพุทธรูปเก่าแก่ในพระวิหาร

พระพุทธรูปเก่าแก่ในพระวิหาร ยังคงประดิษฐานเป็นพระปฏิมาประธานในวิหารดูเข้มขลังด้วยอายุที่เก่าแก่มาก หลายคนที่ได้มาสักการะกราบไหว้ จะชื่นชมประทับใจที่ได้เห็นพระพุทธรูปในพระวิหารเก่าแก่ในภาคอิสาน ที่ไม่ได้มีอยู่มากมายดังในพื้นที่ของภาคอื่นๆ

พระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ เก็บไว้ในตู้กระจกใสมองเห็นด้านในให้ประชาชนได้สักการะบูชา อยู่ข้างๆ พระพุทธรูปในพระวิหาร

สระมุจลินท์ สระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค

สระมุจลินท์ สระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค สระมุจลินท์ (บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ประจำจังหวัด) สระมุจลินท์หรือสระพญานาค ในหนังสือใบลานที่เขียนเป็นภาษาเขมร เรียกชื่อว่า "สระมังคละน้ำเที่ยงหมั่น" เมื่อครั้งสถาปนาพระธาตุบังพวนไว้ที่ภูลวงแห่งนี้ แล้วได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรรจุไว้ในองค์พระธาตุ พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุนามว่า พระมหาเทพหลวง และพระมหาเทพพล ได้สังเกตเห็นน้ำพวยพุ่งออกมาเป็นสายตลอดเวลาจากปากปล่องภูพญานาคที่เฝ้ารักษาองค์พระธาตุบังพวน จึงได้ชักชวนญาติโยมขุดสระรองรับน้ำเอาไว้
ครั้นถึงสมัยพระเจ้าวิชุลราช (พ.ศ.2043-2063) กษัตริย์ล้านช้างได้เสด็จมานมัสการองค์พระธาตุ โปรดให้มีการปรับปรุงตกแต่งสระน้ำแห่งนี้ และนิมนต์พระคุณเจ้าจัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษก ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์และนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ไปใช้ในพิธีสำคัญในราชสำนักล้านช้างตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์สระน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ในสมัยต่อๆ มา โดยเฉพาะสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐา (พ.ศ.2093-2115) กษัตริย์ล้านช้างโบราณโปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธรูปนาคปรก 9 เศียร ไว้ในบริเวณใกล้เคียงด้วย
น้ำจากสระมุจลินท์แห่งนี้ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เคยถูกนำมาเข้าพิธีสรงมูรธราชาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพิธีสำคัญๆ ในรัชกาลปัจจุบันเป็นประจำ

สระมุจลินท์ สระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค

สระมุจลินท์ สระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค อีกมุมหนึ่งของสระมุจลินท์ สระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค ทแยงมุมสระ สระมุจลินท์ สระปัพพฬนาค หรือสระพญานาค เป็นสระที่มีขนาดใหญ่มาก ประมาณ 30 x 30 เมตรเห็นจะได้ (ประมาณคร่าวๆ จากที่เห็น)

มุจลินทเจดีย์

มุจลินทเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์หนึ่งอยู่ข้างสระมุจลินท์ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ และสร้างหลังคาคลุมไว้ องค์พระประธานมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกที่ดูแตกต่างจากที่เคยเห็นในการสร้างพระปางนาคปรกองค์อื่นๆ และที่น่าสนใจคือ อายุของพระพุทธรูปที่ดูจะเป็นการสร้างพระพุทธรูปที่เก่าแก่มาก

เจดีย์หน้าพระวิหาร

เจดีย์หน้าพระวิหาร เป็นเจดีย์ที่มีร่องรอบการขุดลงไปลึกรอบฐาน อยู่ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของพระวิหาร

ช่อฟ้าใบระกาและลูกนิมิต

ช่อฟ้าใบระกาและลูกนิมิต วัดพระธาตุบังพวน กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง พระอุโบสถหลังใหม่ริมสระน้ำขนาดใหญ่ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหาร ที่พระวิหารจึงมีลูกนิมิตและช่อฟ้าให้ประชาชนร่วมทำบุญปิดทองลูกนิมิต

รอยพระพุทธบาทจำลองวัดพระธาตุบังพวน

รอยพระพุทธบาทจำลองวัดพระธาตุบังพวน ด้านหลังของรอยพระพุทธบาทที่มองเห็นในรูปนี้คือ อนิมมิสเจดีย์ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จยืนทอดพระเนตรโพธิบัลลังก์ 7 วัน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์

พระธาตุบังพวน

พระธาตุบังพวน เป็นเจดีย์เก่าแก่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านาน ตัวองค์พระธาตุเดิมสร้างด้วยอิฐเผา ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่น เป็นสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เนื่องจากฐานทรุด เจดีย์องค์ปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เป็นรูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆัง มีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร ชั้นที่ 6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี เหนือขึ้นไปเป็นที่ตั้งฉัตร สูงจากพื้นดิน 34.25 เมตร ชาวหนองคายจัดงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 11 ค่ำเดือนยี่ของทุกปี

พระธาตุบังพวนทิศเหนือ

พระธาตุบังพวนทิศเหนือ

สัตตมหาสถานวัดพระธาตุบังพวน

สัตตมหาสถานวัดพระธาตุบังพวน เป็นเจดีย์ที่อยู่ใกล้ๆ ประตูวัดพระธาตุบังพวน เกล็ดความรู้เกี่ยวกับสัตตมหาสถาน

สัตตมหาสถาน คือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข หลังจากได้ทรงตรัสรู้ธรรมวิเศษแล้วเป็นเวลาแห่งละ 1 สัปดาห์ เรียงตามลำดับดังต่อไปนี้

สัปดาห์ที่ 1 เสด็จประทับภายใต้ร่มไม้มหาโพธิ์ ทรงเสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน
สัปดาห์ที่ 2 เสด็จประทับ ณ อนิมิสเจดีย์ ทรงยืนจ้องพระเนตรดูต้นมหาโพธิ์ โดยมิได้กะพริบพระเนตรตลอด 7 วัน
สัปดาห์ที่ 3 เสด็จประทับ ณ รัตนจงกรมเจดีย์ ทรงนิมิตจงกรมขึ้น แล้วเสด็จจงกรมอยู่ที่นี้เป็นเวลา 7 วัน
สัปดาห์ที่ 4 เสด็จประทับ ณ รัตนฆรเจดีย์ เสด็จไปทางทิศพายัพ แห่งต้นศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดสมาธิในเรือนแก้วซึ่งเทวดานิรมิตถวาย ทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน
สัปดาห์ที่ 5 เสด็จไปประทับใต้ร่มไม้ไทร โดยมีชื่อว่า อชปาลนิโครธ ซึ่งเป็นที่พักของคนเลี้ยงแกะ
สัปดาห์ที่ 6 เสด็จไปประทับนั่งขัดสมาธิภายใต้ร่มไม้จิก โดยมีชื่อว่า มุจลินท์ ทางทิศอาคเนย์แห่งต้นมหาโพธิ์
สัปดาห์ที่ 7 เสด็จไปประทับภายใต้ร่มไม้เกดโดยมีชื่อว่า ราชายตนะ ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน

หอระฆัง

หอระฆัง ในวัดพระธาตุบังพวนกำลังจะมีการก่อสร้าง ขึ้นอีกหลายอย่างซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้มีจิตศรัทธาสร้างหอระฆัง และห้องน้ำ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ ในวัดพระธาตุบังพวนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างเป็นแบบจตุรมุข หากท่านใดสนใจร่วมสร้างอุโบสถหลังนี้ก็เดินทางกันไปได้ที่วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคาย หรือติดต่อทางวัดได้เลยนะครับ

ศาลากลางน้ำ

ศาลากลางน้ำ อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอุโบสถ มีทางเดินไปถึงศาลาและพญานาคเลื้อยที่ราวทางเดิน รอบสระน้ำนี้มีกุฎิหลังเล็กๆ สำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมหลายหลัง เพื่อความสงบในการปฏิบัติวิปัสสนาจึงสร้างให้มีระยะห่างกันพอสมควร

หน้าบันอุโบสถ

หน้าบันอุโบสถ อุโบสถหลังนี้จะสร้างแบบยกพื้นสูงจึงมีบันไดที่ยาวเป็นพิเศษด้านหน้าเป็นสระน้ำ บันไดทางขึ้นลงมี 3 ทาง คือด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศใต้

พญานาค 5 เศียร ราวบันไดอุโบสถ

พญานาค 5 เศียร ราวบันไดอุโบสถ

ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของวัด

ซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกของวัด ขอจบการนำเที่ยววัดพระธาตุบังพวนไว้เพียงเท่านี้ก่อนครับ พาเดินชมตั้งแต่ซุ้มประตูทิศใต้ซึ่งเรียกว่าอยู่ด้านตะวันตกสุดของวัด จนมาถึงด้านตะวันออกสุด ยังมีอาคารหลายหลังที่ยังไม่ได้พาไปดู ส่วนมากจะเป็นศาลาต่างๆ แต่เท่านี้ก็เรียกได้ว่าละเอียดพอสมควรสำหรับการศึกษาและทำบุญ ณ วัดพระธาตุบังพวนแล้วละครับ
สำหรับสัตตมหาสถาน หรือ สถานที่สำคัญ 7 แห่งในพุทธประวัติ หากมีโอกาสคงได้ไปเก็บภาพมาให้ครบทั้งหมด หรือว่าหากสมาชิกท่านใดได้ไปที่วัดนี้ก็ขอเก็บภาพมาฝากกันบ้างนะครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พระธาตุบังพวน หนองคาย
แม่โขง ธาราวดี 4 เบดรูม วิลลา
  15.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิซุนัล รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
บัวลิน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะการ์เด็น รีสอร์ต หนองคาย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
Tawan Shine parkview Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
JS Place Thabo เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
SEESAN RESORT เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านต้นน้ำ เรสซิเดนซ์ แอนด์ รีสอร์ท
  18.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
เช็คอิน โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนหลวง การ์เดน วิว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.78 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com