www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สุรินทร์ >> วนอุทยานพนมสวาย

วนอุทยานพนมสวาย

 วนอุทยานพนมสวาย ตั้งอยู่ที่ตำบลนาบัว อำเภอเมือง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 22 กิโลเมตร ใช้เส้นทางสุรินทร์-ปราสาท (ทางหลวงหมายเลข 214) ระยะทาง 14 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นภูเขาเตี้ย ๆ มียอดเขาอยู่ 3 ยอด

ยอดที่ 1 มีชื่อว่ายอดเขาชาย (พนมเปราะ) สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมสวาย มีบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้นถึงวัด ระหว่างทางเรียงรายไปด้วยระฆังจำนวน 1,080 ใบให้ผู้มาเยือนเคาะเพื่อความเป็นสิริมงคล มีสระน้ำกว้างใหญ่และร่มรื่นด้วยต้นไม้ บนเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล เป็นพระพุทธรูปสีขาว ปางประทานพร ภปร. ขนาดหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 21.50 เมตร มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุที่บริเวณพระนาภี

ยอดที่ 2 มีชื่อว่ายอดเขาหญิง (พนมสรัย) สูงระดับ 228 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม ทางวัดได้จัดสร้างพระพุทธรูปองค์ขนาดกลางประดิษฐานบนยอดเขา และยังมี สระน้ำโบราณ 2 สระที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของ เต่าศักดิ์สิทธิ์

ยอดที่ 3 มีชื่อว่าเขาคอก (พนมกรอล)พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ได้จัดสร้างศาลาอัฏฐะมุข เป็นอนุสรณ์ฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง จากยอดเขาชายมาประดิษฐานไว้ในศาลา โดยเริ่มทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2524 และสำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2525 ใกล้กันนั้นมีสถูปที่เก็บอัฐิธาตุพระราชวุฒาจารย์ หรือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระเกจิสายวิปัสสนา วัดพนมศิลาราม และศาลเจ้าแม่กวนอิม ให้ประชาชนได้เคารพบูชา

ในอดีตบรรพบุรุษชาวสุรินทร์ถือว่าเขาพนมสวายเป็นสถานที่แสวงบุญ โดยการเดินทางไปขึ้นยอดเขาในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันหยุดงานตามประเพณีของชาวจังหวัดสุรินทร์มาแต่โบราณกาล และจวบจนปัจจุบันชาวสุรินทร์ยังถือปฏิบัติเรื่อยมา ผู้ที่มาเยือนเขาพนมสวายจะได้สักการะ9สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล คือพระใหญ่หรือพระพุทธ สุรินทรมงคล รอยพระพุทธบาทจำลอง อัฐิหลวงปู่ดุล อตุโล พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน ปราสาทหินพนมสวาย ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าศักดิ์สิทธิ์ และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานสุรินทร์ (สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ) 0 4451 8152
http://www.tourismthailand.org/surin

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 46622

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


ทางเข้าวนอุทยานพนมสวาย

ทางเข้าวนอุทยานพนมสวาย เป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จังหวัดและคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธ โดยร่วมกันจัดหาระฆัง 1,080 ใบ จากวัดทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์ 1,070 วัด และวัดสำคัญในกรุงเทพมหานคร 10 วัด เพื่อติดตั้งบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในวนอุทยานพนมสวายแห่งนี้ ให้มีภูมิทัศน์สวยงามยิ่งขึ้น และให้นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป ที่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้เคาะระฆังบูชาพระรัตนตรัยเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนและครอบครัว วนอุทยานพนมสวายมีพื้นที่ 1,975 ไร่ ประกอบด้วยยอดเขา 3 ลูกคือ
ยอดที่ 1 ชื่อพนมเปร๊าะ หรือเขาชาย สูง 220 เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล
ยอดที่ 2 ชื่อพนมสรัย หรือเขาหญิง สูง 210 เมตร เป็นที่ตั้งวัดพนมศิลาราม
ยอดที่ 3 ชื่อพนมกรอล หรือเขาคอก สูง 150 เมตร เป็นที่ตั้งสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ยอดพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนา

วนอุทยานพนมสวายตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 18,145 ไร่ มีสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่งเริ่มต้นตั้งแต่ซุ้มประตู เป็นซุ้มที่สลักลวดลายสวยงาม สถาปัตยกรรมขอมโบราณ สร้างขึ้นในปี 2548-2549 ถัดเข้าไปจะมีผาดอกบัว ตามเส้นทางลึกเข้าไปมีเสาหินจำหลักแบบเดียวกันตั้งเรียงรายเป็นแนวอย่างสวยงาม ข้างทางยังมีทางแยกเข้าไปชมสถานที่ต่างๆ ได้แก่ น้ำตกโตงใหญ่ รอยเท้าหลวงตาพรม บ่อสัมฤทธิ์ ลานหินล้านปี บ่อขมิ้น บ่อสกัด คอกโบราณหรือที่เรียกว่า กรอล ฯลฯ

ทางเข้าสถูปอัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล

ทางเข้าสถูปอัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล หลังจากที่เดินทางผ่านซุ้มประตูของวนอุทยานพนมสวายเข้ามาได้สักระยะหนึ่งเราก็ได้เจอลานจอดรถใกล้สถูป มีซุ้มขายเครื่องดื่ม มีธูปเทียนดอกไม้ บริการที่นี่ ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมีไม้สำหรับเคาะระฆัง ราคา 50 บาท เพื่อใช้เคาะระฆัง 1,080 ใบ ในวนอุทยานพนมสวาย ระฆังที่เราเห็นอยู่ที่ทางเข้าสถูป และสถานที่อื่นๆ ทั้งหมด จะมีลายสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ดังนั้นถ้าจะเคาะระฆังเหล่านี้ควรใช้ไม้เท่านั้น เพื่อไม่ให้ลวดลายบนระฆังเกิดความเสียหาย

ทางเข้าสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล และบริเวณรอบๆ จะแขวนระฆังไว้เป็นเสมือนกำแพง โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าระฆังที่นี่มี 540 ใบ อีก 540 ใบจะอยู่ที่ทางขึ้นเขาชายที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล

ระฆังสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

ระฆังสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเพื่อให้ได้เห็นภาพกันชัดเจนขึ้นก็เลยถ่ายลวดลายบนระฆังมาให้ชมกันจะได้เข้าใจว่าทำไมจึงต้องใช้ไม้เท่านั้นในการเคาะระฆัง ระฆังทั้งหมด 1,080 ใบมีลวดลายแบบเดียวกันทั้งหมดครับ

สถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล

สถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดุลย์ อตุโล และเมื่อเดินตามทางเข้ามาเรื่อยๆ จะเห็นสถูปได้ชัดๆ เป็นการก่อสร้างที่สวยงามด้วยทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ประตูทางเข้าออกได้ 4 ทาง ลานประทักษินปูด้วยอิฐเป็นบริเวณกว้างโดยจะเห็นแนวระฆังที่แขวนไว้รอบๆ ได้

ซุ้มประตูสถูป

ซุ้มประตูสถูป ชมภายนอกกันแล้วก็มาที่ภายในก่อนที่จะเดินก้าวเข้าไปในซุ้มประตู เอาภาพลวดลายที่สวยงามบนซุ้มมาฝากกันด้วยครับ

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เมื่อเข้ามาด้านในแล้วก็เอาธูปเทียนที่ทำบุญบูชามาจากด้านหน้าทางเข้าสถูปมาจุดสักการะหลวงปู่ดุลย์ เกจิอาจารย์ที่ได้รับความเคารพศรัทธาอย่างสูงสำหรับชาวสุรินทร์ และทั่วประเทศ

บันไดนาคเขาคอก

บันไดนาคเขาคอก ออกจากสถูปบรรจุอัฐิหลวงปู่ดุลย์แล้ว ก็ได้เวลาสำรวจสถานที่อื่นๆ บนยอดเขาคอก จะมีบันไดนาคแห่งนี้ที่สะดุดตาอยู่นานแล้วและคิดว่าคงเป็นทางเดินไปไหนได้อีกแน่ๆ เลยเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า บันไดนาคนี้เป็นทางเดินขึ้นไปบนยอดเขา ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลาอัฐะมุข และศาลเจ้าแม่กวนอิม ยังเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นยอดเขาชายได้ด้วย

สระน้ำข้างบันไดนาค

สระน้ำข้างบันไดนาค เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่สามารถจะทำได้เมื่อมาเที่ยวที่วนอุทยานพนมสวาย คือการให้อาหารปลา ซึ่งซื้อจากซุ้มที่บริการนักท่องเที่ยวอยู่ สระน้ำนี้มองดูขนาดไม่ใหญ่มากนักแต่มีปลาหลายชนิดอาศัยอยู่ชุกชุม รายล้อมด้วยต้นไม้แน่นขนัดดูครึ้มไปทั่วบริเวณ

ศาลาอัฐะมุข

ศาลาอัฐะมุข เป็นศาลาที่ตั้งอยู่บนพนมกรอล หรือเขาคอกแห่งนี้ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2525 โดยพุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ เป็นอนุสรณ์ครบรอบ 200 ปี แห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง

ศาลาอัฐะมุขนี้สร้างเป็นทรงแปดเหลี่ยม มีประตูทางเข้าออกได้ 4 ทาง แต่ปัจจุบันจะเปิดเฉพาะด้านหน้าและด้านข้าง เท่านั้น

รอยพระพุทธบาทจำลอง

รอยพระพุทธบาทจำลอง ภายในศาลาอัฐะมุข เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2470 เดิมประดิษฐานอยู่บนเขาชาย หลังจากสร้างศาลาอัฐะมุขแล้วจึงย้ายมาประดิษฐานที่นี่

ศาลเจ้าแม่กวนอิม

ศาลเจ้าแม่กวนอิม อยู่ห่างจากศาลาอัฐะมุขเพียงเล็กน้อยโดยมีทางเดินเชื่อมถึงกันได้ ภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมที่งดงาม ผนังด้านในหลังเจ้าแม่กวนอิมมีภาพเทพเจ้าตามความเชื่อแบบมหายาน

พระพุทธสุรินทรมงคล

พระพุทธสุรินทรมงคล พระพุทธรูปสีขาวขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาชายจากเขาคอกที่เราเดินลงมาจากศาลาอัฐะมุขจะมองเห็นพระพุทธรูปองค์นี้ได้ชัดเจน จากตรงนี้เราจะเดินทางไปยังเขาชาย ก็คงต้องใช้รถ เพราะระยะทางแม้จะไม่ไกลมากแต่ก็ไม่ควรจะจอดรถไว้ตรงนี้แล้วเดินไปแน่ๆ

เก็บตกเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะเดินทางต่อ ที่เขาคอกแห่งนี้มีห้องน้ำบริการ เป็นห้องน้ำเล็กๆ ที่สร้างได้สวยงามมาก มีการรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี โดยหญิงชราอายุ 74 ปี

บันไดขึ้นเขาชาย (พนมเปร๊า๊ะ)

บันไดขึ้นเขาชาย (พนมเปร๊า๊ะ) เขาชายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล อยู่บนยอดเขา มีบันไดทางเดินประมาณ 200 กว่าขั้น เดินเพียงไม่นานก็ถึงยอดเขา 2 ข้างทางเดินแขวนระฆังเรียงรายกันเป็นระดับไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จากข้อมูลที่ได้มาจากเจ้าหน้าที่ก็จะมีระฆังทั้งหมด 540 ใบ รวมกับรอบสถูปอัฐิหลวงปู่ดุลย์ ก็เป็น 1,080 ใบพอดี ซึ่งแต่ละใบก็จะมีลวดลายสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาทั้งสิ้น

เมื่อเดินขึ้นไปจะพบกับศาลาหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ

ระฆังจากวัดระฆังโฆสิตาราม

ระฆังจากวัดระฆังโฆสิตาราม ภาพซ้ายมือเป็นระฆังจากวัดระฆังที่มอบให้วนอุทยานพนมสวาย มีสัญลักษณ์ ฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี

ส่วนภาพขวามือเป็นระฆังที่มีจำนวนน้อยใน 1,080 ใบ ที่มีการลงสีทองไว้และหลุดร่อนไปบ้างบางส่วน

ศาลาพระพุทธรูปองค์ดำ

ศาลาพระพุทธรูปองค์ดำ อยู่ด้านหน้าของพระพุทธสุรินทรมงคล เป็นศาลาที่สร้างด้วยลวดลายสลักงดงามศิลปะแบบขอมโบราณ

พระพุทธสุรินทรมงคล

พระพุทธสุรินทรมงคล พระพุทธรูปสีขาวองค์ใหญ่เด่นสง่ามองเห็นได้แต่ไกล เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ศูนย์รวมจิตใจชาวเมืองสุรินทร์ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางประทานพร หน้าตักกว้าง 15 เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามไว้ โดยสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือน มกราคม พ.ศ. 2520 ดำเนินการสร้างโดยพุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์

พระพุทธรูปองค์ดำ

พระพุทธรูปองค์ดำ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2532 มีหน้าตักกว้าง 120 เซนติเมตร สูง 104 เซนติเมตร

วิวสวยพนมเปร๊าะ

วิวสวยพนมเปร๊าะ ยอดเขาชายหรือพนมเปร๊าะ เป็นยอดเขาที่มีจุดชมวิวที่สวยงามของท้องทุ่งนาเขียวขจีของชาวสุรินทร์ได้กว้างไกล จุดชมวิวนี้อยู่เบื้องหลังของพระพุทธสุรินทรมงคล มีบันไดทางเดินลงซึ่งต้องปีนก้อนหินบ้างเล็กน้อย

วิวสวยพนมเปร๊าะ

วิวสวยพนมเปร๊าะ อีกภาพหนึ่งของท้องทุ่งนาสวยๆ ที่อยู่ระหว่างการดำนา ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของกระบวนการปลูกข้าว

วัดพนมศิลาราม

วัดพนมศิลาราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมสรัย หรือเขาหญิง วัดแห่งนี้เป็นวัดที่ค่อนข้างสงบ กุฎิสงฆ์สร้างอยู่ห่างออกไปในป่าค่อนข้างห่างจากอุโบสถ (ภาพบนซ้าย)

วัดพนมศิลารามมีอุโบสถที่โดดเด่นขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะเป็นชั้นบนของอาคาร ส่วนชั้นล่างใช้เป็นวิหารและศาลา ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์พระครูพนมศิลคุณสร้างไว้ข้างสระน้ำ

ด้วยความสงบของวัดพนมศิลารามมีสัตว์เดินไปเดินมาอย่างสบายอารมณ์ไม่เกรงกลัวคนที่เข้ามาในวัด นอกจากแพะตัวนี้จะเดินเข้ามาหาโพสต์ท่าสุดเท่ห์ให้ถ่ายรูปสบายๆ นอกจากนี้ยังมีแมว สุนัข กระรอก ให้ได้เห็น

บริเวณวัดพนมศิลาราม

บริเวณวัดพนมศิลาราม สิ่งที่น่าสนใจในวัดแห่งนี้ยังมีพระพุทธรูปปางประสูติที่สร้างใหญ่มาก ในร่มเงาของต้นไม้ใหญ่เป็นบริเวณที่แสนสงบเหมาะแก่การเจริญสมาธิวิปัสสนา
หอระฆังวัดพนมศิลารามเป็นหอระฆังที่สร้างมานานมากเมื่อเทียบกับอาคารอื่นๆ ของวัด ใกล้ๆ หอระฆังมีวิหารพระสังกัจจายน์ ให้ประชาชนได้กราบไหว้

เจดีย์บรรจุอัฐิพระยาสุรินทร์ภักดีศรีผไทสมัน

เจดีย์บรรจุอัฐิพระยาสุรินทร์ภักดีศรีผไทสมัน เจดีย์บรรจุอัฐิพระยาสุรินทร์ภักดีศรีผไทสมัน (จรัณย์) เจ้าเมืองสุรินทร์คนที่ 8 (พ.ศ. 2438) อยู่ในบริเวณวัดพนมศิลาราม ใกล้ๆ ซุ้มประตูและบันไดนาคของวัด

บริเวณรอบๆ ที่น่าสนใจในวนอุทยานพนมสวาย

บริเวณรอบๆ ที่น่าสนใจในวนอุทยานพนมสวาย ภาพบนซ้าย เป็นศาลาซึ่่งเป็นชั้นล่างของอาคารหลังใหญ่และเป็นอุโบสถของวัด มีพระประธานที่มีพุทธลักษณะงดงาม ผนังเบื้องซ้ายขององค์พระประธานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด และมีภาพเขียนฝาผนังที่สวยงาม

ภาพบนขวา เป็นบันไดนาคจากวัดเดินลงไปยังเชิงเขาซึ่งไม่สูงนักมีเส้นทางไปยังหินรูปเต่าศักดิ์สิทธิ์

ภาพล่างซ้าย หินรูปเต่าศักดิ์สิทธิ์ ห่างจากวัดพนมศิลารามประมาณ 500 เมตร โดยมีถนนลาดลงมาถึงเดินทางโดยรถยนต์ได้ รอบๆ เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่หาปลาทำมาหากินของชาวบ้านรอบๆ วนอุทยานพนมสวาย ทำให้เราได้เห็นภาพวิถีชีวิตที่สวยงาม

หนองน้ำแห่งชีวิต

หนองน้ำแห่งชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในบริเวณวนอุทยานพนมสวายเป็นที่พึ่งของชีวิตหลายชีวิต ทั้งคนและสัตว์ สมควรที่จะได้รับการดูแลและอนุรักษ์ไว้เพื่อลูกหลาน
จบการนำเที่ยวชมวนอุทยานพนมสวายด้วยรูปนี้เลยครับ นอกจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด วนอุทยานพนมสวายยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอื่นๆ อีกได้แก่
รอยเท้าหลวงตาพรหม เป็นปรากฏการทางธรณี ที่ไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจน ตามตำนานเล่าว่า หลวงตาพรหมเป็นคนโบราณที่มีรูปร่างใหญ่โตมาก ได้หาบหินผ่านมาถึงบริเวณเขาสวายไม้คานเกิดหัก หินที่หาบมาก็หล่นมากองกันจนกลายเป็นเขาสวาย รอยเท้าหลวงตาพรหมในอดีตได้มีผู้คนค้นพบหลายจุดด้วยกันแต่ในปัจจุบันไม่มีใครทราบทางชัดเจน
ลานหินล้านปี เป็นพื้นที่ลานหินกว้างท่ามกลางโอบกอดของป่าแคระ มีหินเรียงรายติดต่อกันเป็นจำนวนมากทำให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม
บ่อขมิ้น เป็นบ่อหินธรรมชาติกว้างประมาณ 1 เมตร ลึก 1 เมตร ในอดีตจะมีน้ำสีเหลืองทองคล้ายขมิ้นขังอยู่ตลอดปี โดยไม่ทราบที่มา กระทั่งเมื่อมีผู้คนเดินทางมาชมบ่อขมิ้นเป็นจำนวนมาก บางคนก็โยนสิ่งของลงไปในบ่อ ทำให้สีของน้ำที่เหมือนขมิ้นจางหายไปในที่สุด

เหตุที่ไม่ได้เข้าไปชมให้หมดทุกที่นั้นก็เพราะเวลาสำหรับทริปนี้เราสั้นไปหน่อยยังต้องเดินทางต่อไปชมงานแห่เทียนพรรษาที่อุบลราชธานี ไม่งั้นคงได้เห็นภาพทั้งหมดแน่นอนครับ แต่ยังไงๆ ถ้ามีโอกาสเราจะไปเก็บภาพมาเพิ่มให้ได้แน่นอนครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วนอุทยานพนมสวาย สุรินทร์
เกษมการ์เดน โฮเต็ล สุรินทร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
เภตรา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนป่า รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ โมเดิร์นโฮม รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
เลอ เบียง รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิ วัน เพลส ปราสาท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุรินทรา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
อินเลิฟ แอต สุรินทร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
Sorin Boutique Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  29.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
มายเฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  29.19 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com