www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ชลบุรี >> หอพระพุทธสิหิงค์

หอพระพุทธสิหิงค์

 หอพระพุทธสิหิงค์ ตั้งอยู่บนถนนวชิรปราการ ในตัวเมือง ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง (องค์จริงประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) ทำด้วยเงินบริสุทธิ์ มีพุทธลักษณะงดงาม และมีขนาดเท่าองค์จริงทุกประการ หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้สักการะทุกวัน ระหว่างเวลา 8.00–16.00 น. ในวันสงกรานต์จะอัญเชิญองค์พระแห่รอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. พัทยา โทร. 0 3842 7667, 0 3842 8750 Call Center 1337
http://www.tourismthailand.org/pattaya

แก้ไขล่าสุด 2017-03-28 09:09:33 ผู้ชม 26531

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
หอพระพุทธสิหิงค์ชลบุรี

หอพระพุทธสิหิงค์ชลบุรี ภาพจากด้านข้างนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของเราที่จะแนะนำข้อมูลหอพระพุทธสิหิงค์ชลบุรี ให้ละเอียด รอบๆ บริเวณหอพระมีพื้นที่กว้างขวางแต่ไม่มีที่ที่เตรียมไว้สำหรับเป็นลานจอดรถอย่างเป็นทางการ ถนนรอบๆ หอพระพุทธสิหิงค์ดูเหมาะจะเป็นทางเดินมากกว่า แต่ก็กว้างพอที่รถจะผ่านไปได้ สำหรับในวันที่ไม่ค่อยมีคนเดินทางมามากก็พอจะหาที่จอดรถเหมาะไม่ขวางทางได้อยู่บ้างแต่ก็จอดได้ไม่กี่คัน หลังจากนั้นเดินเข้าหอพระพุทธสิหิงค์จากด้านข้างที่มีสะพานเชื่อมไป

หอพระพุทธสิหิงค์

หอพระพุทธสิหิงค์ ภาพด้านหน้าของหอพระพุทธสิหิงค์ชลบุรี หอพระที่มีความสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

แผ่นจารึกหอพระพุทธสิหิงค์ชลบุรี

แผ่นจารึกหอพระพุทธสิหิงค์ชลบุรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามมินทราธิราชบรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงเปิดหอพระนี้ เมื่อวันเสาร์ ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2509 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง จุลศักราช 1327

หอพระนี้สร้างด้วยความร่วมมือของข้าราชการ และประชาชนชาวจังหวัดชลบุรี วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2508 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 จุลศักราช 1327 สร้างเสร็จเมื่อ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2508 ตรงกับเดือนอ้าย จุลศักราช 1327

พระพุทธสิหิงค์ชลบุรี

พระพุทธสิหิงค์ชลบุรี ประวัติความเป็นมาของพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เริ่มตั้งแต่การสร้างและประดิษฐานในลังกา 1,150 ปี นอกจากนี้ได้ไปประดิษฐานยังเมืองต่างๆ ของประเทศไทยอีกหลายแห่ง
พระพุทธสิหิงค์ เป็นพุทธศิลป์ที่สร้างในลังพระสรีระได้สัดส่วนและงดงามที่สุด เป็นพระพุทธรูปสวยงามศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาติไทย เป็นสิริมงคลและหลักใจของพุทธศาสนิกชน มีอานุภาพสามารถบำบัดทุกข์ในใจให้เหือดหาย เมื่อท้อแท้หมดมานะแล้วได้มาสักการะ จะทำให้ดวงจิตที่เหี่ยวแห้งกลับสดชื่นมีความเข้มแข็ง จิตที่เคยหวาดกลัวจะกลับกล้าหาญ จิตที่เกียจคร้านจะมีวิริยะ ผู้หมดหวังจะมีกำลังใจ

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปซึ่งตามประเพณีจะมีพิธีอัญเชิญเสด็จออกให้ประชาชนทำการสักการะบูชาสรงน้ำ ตามจารีตประเพณีของไทยในวันสงกรานต์อันเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณทุกปี

พระพุทธสิหิงค์ ประวัติความเป็นมาปรากฏตามตำนานของพระโพธิรังษี พระเถระปราชญ์ชาวเชียงใหม่ ซึ่งเป็นไว้เป็นภาษามคธ ราวปี พ.ศ.1960 กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์นี้เจ้าแห่งลังกา 3 พระองค์ได้ร่วมพระทัยกันพร้อมด้วยเหล่าพระอรหันต์ในเกาะลังกาสร้างขึ้นราว พ.ศ. 700 ถ้านับอายุถึงเวลานี้ก็เกือบ 2000 ปีมาแล้ว และประดิษฐานอยู่เกาะลังการาว 1,150 ปี ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช (พ.ศ.1820-1860) ซึ่งเป็นสมัยต้นที่ประเทศสยามกำเนิดขึ้น พระองค์ด้ทรงทราบถึงพุทธลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จากพระภิกษุชาวลังกาที่เข้ามาสู่ประเทศไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครศรีธรรมราชแต่งทูตเชิญพระราชสาส์น ไปขอประทานพระพุทธสิหิงค์ จากพระเจ้ากรุงลังกา พระองค์ได้ถวายมาตามพระราชประสงค์ ในคราวนั้นพ่อขุนรามคำแหงฯ เสด็จฯ ไปรับองค์พระพุทธสิหิงค์ ถึงเมืองนครศรีธรรมราช แล้วอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (ราว พ.ศ.1850)

ต่อมาราว พ.ศ. 1920 กรุงสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง พญาไสลือไทยจึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองพิษณุโลก จนพระไสลือไทยสิ้นพระชนม์ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองพิษณุโลก 5 ปี
ราว พ.ศ. 1925 สมเด็นพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาอยู่ได้ราว 5 ปี
ราว พ.ศ. 1930 พระยายุธิษฐิระ ราชบุตรเลี้ยงของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ผู้ครองเมืองกำแพงเพชร ได้มีอุบายร่วมกับพระมารดาทูลขอพระพุทธรูปไปบูชาและได้ให้สินบนขุนพลพุทธบาล จึงเลือกพระพุทธสิหิงค์ส่งไป และพอถึง พ.ศ. 1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เสด็จสวรรคต
ในปี พ.ศ. 1930 เจ้ามหาพรหมผู้ครองนครเชียงราย ได้ชวนเจ้ากือนา พระเชษฐาผู้ครองนครเชียงใหม่ ยกทัพไปเมืองกำแพงเพชร และทรงขู่ขอพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธสิหิงค์จึงได้ไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงราย ในปี พ.ศ. 1931 ราว 20 ปี
พอถึง พ.ศ. 1950 นครเชียงใหม่กับเมืองเชียงรายเกิดวิวาทถึงกับรบกัน เชียงใหม่ชนะ เจ้าแสนเมืองมาผู้ครองนครจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานอยู่ที่นครเชียงใหม่ และอยู่นานถึง 255 ปี
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2204 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงตีเมืองเชียงใหม่ได้ จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา อยู่ราว 105 ปี ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 เชียงใหม่เข้ากับพม่า จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปนครเชียงใหม่อีกครั้งใน พ.ศ.2310 คราวนี้อยู่นานถึง 28 ปี

ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2338) ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพไปขับไล่พม่าให้พ้นจากนครเชียงใหม่ และทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงเทพฯ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
จนถึงรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394 โปรดให้อัญเชิญกลับมาไว้ที่วังหน้าอีกครั้งหนึ่งต่อมามีพระราชประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ ณ วัดบวรสิทธาวาส (วัดพระแก้ว วังหน้า) จึงโปรดให้ช่างเขียนตำนานพระพุทธสิหิงค์ที่ฝาผนังข้างในพระอุโบสถ ยังมิทันเสร็จก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน พระพุทธสิหิงค์จึงประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จนมาถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ในเมืองไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ คือพระพุทธสิหิงค์องค์ข้างต้น พระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในหอพระพระพุทธสิหิงค์บริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช และพระพุทธสิหิงค์ในวิหารลายคำในวัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 3 องค์ พุทธศาสนิกชนในท้องถิ่นนั้นๆ ต่างก็เคารพนับถือว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์ที่แท้จริงกันทั้งนั้น ส่วนนักโบราณคดีก็ได้พากันวินิจฉัยว่าองค์ไหนจะเป็นองค์จริงตามตำนานปรากฏว่ายังไม่สามารถที่จะลงมติเป็นเอกฉันท์ได้
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทรงวินิจฉัยพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ไว้ในเรื่อง "พุทธศิลปในประเทศไทย" ว่าพระพุทธสิหิงค์ นั้นตามตำนานได้มาจากเกาะลังกา จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าโดยเหตุที่เคยไปประดิษฐานหลายๆ แห่ง จึงอาจจะถูกขัดแต่งจนกลายเป็นพระพุทธรูปแบบฝีมือไทย หรือองค์เดิมสูญหายไปเสีย จึงสร้างแทนขึ้นในสมัยหลัง
ส่วนพระพุทธสิหิงค์องค์ที่อยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นั้นพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบนายขนมต้ม ซึ่งเป็นพุทธศิลปโดยเฉพาะของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือพุทธศิลปโดยทั่วๆ ไป เหมือนพุทธศิลปสมัยเชียงแสน (ล้านนา) เป็นแต่ตรงสังฆาฏิต่างกันคือ สังฆาฏิสั้นๆ หลายอันซ้อนกัน ที่เรียกว่าสังฆาฏิแฉก
สำหรับพระพุทธสิหิงค์ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีพุทธลักษณะแบบสิงห์ ๑ (ล้านนา)
ดังนั้นนักโบราณคดีส่วนใหญ่จึงปักใจเชื่อว่า พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ คือองค์ที่ปรากฏอยู่ในตำนานที่พระโพธิรังษี พระเถระชาวเชียงใหม่แต่ไว้เมื่อ 600 ปี มาแล้ว...

พระพุทธสิหิงค์ชลบุรี

พระพุทธสิหิงค์ชลบุรี สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงพระกรุณาทำพิธีถวายพระนามพระพุทธสิหิงค์องค์นี้ว่า "พระพุทธสิหิงค์มิ่งมงคลสิรินาถ พุทธบริษัทราษฎร์กุศลสามัคคีชลบุรีปูชนียบพิตร" เป็นพระประจำเมืองชลบุรี ชาวชลบุรีได้ริเริ่มร่วมแรงร่วมใจกันสร้างให้เป็นพระประจำเมืองชลบุรี มาตั้งแต่ พ.ศ.2502 และในปี พ.ศ. 2503 ได้มีการหล่อรูปองค์พระพุทธสิหิงค์ด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์ จัดหล่อโดยกรมศิลปากร ซึ่งถือได้ว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์ที่สร้างด้วยเนื้อเงินบริสุทธิ์เป็นองค์แรก และองค์เดียวในประเทศไทย ที่จัดสร้างโดยกรมศิลปากร องค์พระเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์หนักถึง 53 กิโลกรัม ฐานพระเป็นทองสำริดหนัก 73 กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ มีพระพุทธลักษณะงดงามดึงดูดศรัทธาจากผู้พบเห็นและยังเป็นพระพุทธรูปที่นิยมใช้แห่แหนเป็นประเพณี ในพิธีวันสงกรานต์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดหอพระพุทธสิหิงค์ เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2509 ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ในบริเวณหอพระ เพื่อความร่มเย็นเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นวันที่ 15 กันยายน พงศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายนมัสการพระพุทธสิหิงค์อีกครั้งหนึ่ง ทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ และการจัดสร้างศาลารายรอบหอพระพุทธสิหิงค์ นับว่าชาวชลบุรีได้บุญบารมีได้พระคู่บ้านคู่เมืองมีพระพุทธสิหิงค์อันศักดิ์สิทธิ์มีหอพระที่สง่างาม

ลวดลายบนหน้าต่างหอพระ

ลวดลายบนหน้าต่างหอพระ หน้าต่างแต่ละบานของหอพระพุทธสิหิงค์เป็นช่องเปิดปิดด้วยกระจก มีบานหน้าต่างไม้ลวดลายสวยงามอยู่ 2 บานต่อหนึ่งช่องหน้าต่าง

ต้นไม้รอบหอพระพุทธสิหิงค์

ต้นไม้รอบหอพระพุทธสิหิงค์ รอบบริเวณหอพระพุทธสิหิงค์ จะปลูกต้นไม้ไว้หลายชนิด จะมีชื่อของต้นไม้นั้นให้ได้ศึกษา หนึ่งในจำนวนนี้มีต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกไว้ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2509 เป็นต้นโพธิ์พุทธคยา ประเทศอินเดีย ลำต้นสูงประมาณ 9 นิ้ว ปัจจุบันเป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ในบริเวณหอพระพุทธสิหิงค์ชลบุรี

รีวิว หอพระพุทธสิหิงค์ ชลบุรี


 "มีโอกาสไปกราบนมัสการพระพุทธสิหิงค์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 กับทีมงาน NBT เขต 7 จันทบุรี เพื่อบันเทปรายการ อป.มช.หัวเห็ด ซึ่งจะออกอากาศในช่วงเดือน เมษายน 2561 มีโอกาศได้ไปไหว้พระใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ด้วย ( ดูภาพประกอบ )"

หนุ่มเมืองชล คนยโส
2018-03-16 16:39:44

หอพระพุทธสิหิงค์ ชลบุรี


5/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ หอพระพุทธสิหิงค์ ชลบุรี
โรงแรมนาโน เพลซ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
เลิร์นนิ่ง รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
เอกคอนโดวิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
เอ็มทีปาร์ค เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมชลอินเตอร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
Shore residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
Shore residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
Shore residence เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
Rattanachol Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ หอพระพุทธสิหิงค์ ชลบุรี
วัดใหญ่อินทราราม ชลบุรี
  0.97 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดประมงท่าเรือพลี ชลบุรี
  2.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดธรรมนิมิตต์ ชลบุรี
  4.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานชลมารควิถี
  6.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเขาพระพุทธบาทบางทราย ชลบุรี
  6.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
แกรนด์แคนยอน คีรีนคร ชลบุรี
  6.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
มหาธาตุเจดีย์มิ่งโมลีศรีบูรพา
  7.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชลบุรี
  7.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป่าชายเลน ชลบุรี
  7.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดนินจา​ อมตะชลบุรี
  10.43 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com