www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

 การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Base Tourism) ค่อนข้างเป็นคำใหม่บางทีอาจเข้าใจยากไปสักหน่อย แต่ถ้าจะพูดสั้นๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายๆ ก็คือการไปอยู่ไปนอนร่วมใช้ชีวิตกับชุมชนโดยมีคนในชุมชนเป็นคนนำเที่ยวสถานที่น่าสนใจในชุมชน หรือการไปพักโฮมสเตย์ แต่ไม่ได้พักเฉยๆ มีกิจกรรมให้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้นๆ ด้วย ที่เราจะพาไปเที่ยวกันนี้ชื่อบ้านห้วยฮ่อม ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา ถือว่าเป็นการไปพักผ่อนหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมือง ใช้ชีวิตแบบ Slow Life กันสักพัก บ้านห้วยฮ่อมเป็น 1 ใน หมู่บ้านของเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดูแลโดยกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเหล่อชอ (แปลว่าหินสามก้อนบนเตาไฟ ที่เราเรียกกันว่าเตาสามเส้า เหล่อชอ ออกเสียงลำบากสักหน่อยบางทีก็กลายเป็นคำผวนว่า หล่อเชอ ไปซะงั้น) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ดูแลการท่องเที่ยว 3 หย่อมบ้านได้แก่ บ้านห้วยครก บ้านดอยตุง ส่วนบ้านห้วยฮ่อมนั้นชุมชนนี้อยู่ห่างจากวัดจันทร์ ไปประมาณ 5 กิโลเมตร ในหมู่บ้านมีประมาณ 70 หลังคาเรือน ทางเข้าหมู่บ้านยังเป็นลูกรัง แต่บดแน่นถ้าไม่ใช่ช่วงฝนตกหนักทางจะเรียบดี กิจกรรมของชุมชนบ้านห้วยฮ่อม คือการได้ท่องเที่ยวชมการทำไร่หมุนเวียน การทำนาขั้นบันได เดินป่าศึกษาธรรมชาติและชมน้ำตกต่าลอโป่โกล๊ะ การทอผ้า การตีมีด

    นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มท่องเที่ยวหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีอยู่หลายชุมชนด้วยกันได้แก่ บ้านดงสามหมื่น บ้านเสาแดง บ้านวัดจันทร์ 

    การเดินทางมาตำบลบ้านจันทร์ บอกเลยว่ามาทางเดียวกันกับโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ หรือป่าสนวัดจันทร์ นั่นเอง ปกติใช้เส้นทางแม่มาลัย-ปาย แล้วเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกที่จะไป อ.กัลยาณิวัฒนา ก่อนเข้าเขตตัวเมืองปาย สำหรับคนที่ชอบลุยๆ มีรถโฟร์วีลมาทางแม่สะเมิงก็ได้เหมือนกัน แต่ต้องบอกก่อนว่าทางไม่ธรรมดาจริงๆ ส่วนรถโดยสารมีที่เชียงใหม่มาถึงกัลยาณิวัฒนา เค้าใช้เส้นทางสะเมิง

    ในกรณีที่มารถโดยสารหรือมารถตู้ ให้จอดไว้ที่อบต.บ้านจันทร์ จากนั้นโทร.ติดต่อกลุ่มท่องเที่ยวเหล่อชอจะมีรถมารับเข้าหมู่บ้าน เบอร์โทร. คุณฤทธิศักดิ์ ศรวันเพ็ญ 080-859-2978

    ค่าใช้จ่าย

ที่พักโฮมสเตย์ 150 บาท/คน

ค่าอาหาร 70 บาท/มื้อ

ค่าผู้นำเที่ยวชุมชน 300 บาท/วัน/กลุ่มไม่เกิน 10 คน

ค่านำเที่ยวเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 600 บาท/วัน/กลุ่มไม่เกิน 5 คน

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 14553

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางสู่บ้านห้วยฮ่อม

การเดินทางสู่บ้านห้วยฮ่อม อันดับแรกที่เราต้องทำก็คือการเดินทางมาที่บ้านวัดจันทร์ ภาพเล็กบนซ้ายคือองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านจันทร์ ถ้าไม่ค่อยคุ้นชื่อนี้ ก็ลองคิดถึงชื่อ ป่าสนวัดจันทร์ นั่นแหละ อบต.อยู่ห่างจากป่าสนประมาณ 2 กิโลเมตร หาไม่ยากถ้าหาไม่เจอไปเริ่มต้นที่วัดจันทร์เลยก็ได้เพราะเวลามาบ้านวัดจันทร์จะผ่านแยกวัดจันทร์เสมอ ที่วัดจันทร์เป็นที่ตั้งของศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวตำบลบ้านจันทร์และอำเภอกัลยาณิวัฒนาเลยก็ว่าได้ ก่อนจะเดินทางมาเชียงใหม่ติดต่อกับทีมงานท่องเที่ยวชุมชนเหล่อชอเอาไว้ก่อนก็จะดี นัดเวลาที่จะมาเจอกันที่อบต. เค้าจะเอารถกระบะมารับ ในกรณีที่เรามารถโดยสารหรือรถตู้หรือขับรถเก๋งมาก็ตามแต่ ทางจากอบต.ไปบ้านห้วยฮ่อมเป็นทางลูกรัง ถ้าไม่ใช่หน้าฝนอาจจะเรียบก็จริง แต่ถ้าหน้าฝนรถอื่นๆ ที่ไม่ใช่รถกระบะจะไปไม่ได้ เบอร์ติดต่อกับท่องเที่ยวชุมชนเหล่อชอก็ได้แก่ เบอร์พี่เช 080-859 2978 พี่เชจะพาเราไปที่วัดห้วยฮ่อม แต่เดิมเป็นอาศรม ต่อมาก็มีการสร้างโบสถ์ มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นพระธาน ยกฐานะขึ้นเป็นวัด


ที่วัดห้วยฮ่อมเราจะเข้าไปทำความรู้จักกับชาวปกากญอที่เป็นเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์ที่เราจะเข้าไปอาศัยนอนคืนนี้ และได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของอีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ปกติเวลามาเที่ยวเหนือก็ไปเดินถ่ายรูปชาวเขา แม้ว ม้ง กะเหรี่ยง เรื่อยเปื่อยไม่เคยได้พูดคุยกัน หรือเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของเขาจริงๆ สักที บอกเลยว่ามันตื่นเต้นดีเหมือนกันที่เราจะได้เจอกับสิ่งแปลกใหม่ที่เราไม่รู้มาก่อน เรามากันทั้งหมด 9 คน ผู้หญิง 5 ผู้ชาย 4 มีโฮมสเตย์ 3 หลัง เลยให้ผู้ชายนอนหลังใหญ่ ส่วนผู้หญิงนอนหลังเล็กแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 1 หลัง โฮมสเตย์ของชุมชนห้วยฮ่อม มีการจัดการที่เป็นระบบต้องติดต่อมาจากส่วนกลางแล้วกระจายไปนอนตามลำดับ จึงไม่มีเรื่องผลประโยชน์ใดๆ ที่จะทำให้เกิดการแตกแยกของกลุ่มท่องเที่ยวเหล่อชอ

โบสถ์วัดห้วยฮ่อม

โบสถ์วัดห้วยฮ่อม บรรยากาศของชาวบ้านครอบครัวของผู้เป็นเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์มาต้อนรับเราที่วัดห้วยฮ่อม มาทำความรู้จักกันเอาไว้ว่าใครจะนอนหลังไหน ใครเป็นเจ้าของบ้าน จะได้นอนอย่างสบายใจดีกว่าไปเห็นหน้าที่บ้านเลย พี่เชชาวปกากญอที่นั่งอยู่หน้าสุด เล่ารายละเอียดของวัดและหมู่บ้านห้วยฮ้อมให้ฟังคร่าวๆ ชาวบ้านที่นี่มีทั้งคนที่นับถือพุทธ และนับถือคริสต์ แต่ทั้ง 2 ศาสนาจะนับถือผีด้วย ความเชื่อเรื่องราวของผียังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องราวรายละเอียดไว้ค่อยไปเล่าทีละภาพจะง่ายกว่า หลังจากที่ฟังประวัติของหมู่บ้านเสร็จเรียบร้อย จากที่วัดจะเดินไปที่บ้านก็ใช่ว่าจะใกล้ รถกระบะที่เรานั่งมาก็จะไปส่งให้ถึงบ้าน แต่ไหนๆ ก็มาแล้วขอเดินชมหมู่บ้านไปเรื่อยๆ ดีกว่า ระหว่างเดินลงมาจากวัด (วัดอยู่บนเนินส่วนหมู่บ้านอยู่ด้านล่าง) ผ่านมาเจอบ้านหลังหนึ่งตรงทางลงพอดี กำลังจัดงานแต่งาน เลยได้เข้าไปชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมของการจัดงานแต่งงานที่นี่ ชาวปกากญอเวลาจะแต่งงานผู้หญิงเป็นฝ่ายขอผู้ชาย เดินเข้าไปในหมู่บ้านเห็นบ้านไหนเลี้ยงหมูป่าแสดงว่าบ้านนั้นมีลูกสาว พี่กิจเจ้าของบ้านที่เราพักเล่าให้ฟังตอนที่เราไปถึงบ้านแล้ว ทุกวันนี้ประเพณีเหล่านี้ก็มีปรับเปลี่ยนกันไปบ้างตามความเหมาะสม ตอนนี้ทุกบ้านทั้งบ้านที่มีลูกชายและลูกสาวจะเลี้ยงหมูเอาไว้ เวลาแต่งงานกันก็จะได้ออกกันคนละครึ่ง 



บ้านที่จัดงานแต่งจะต้องเตรียมสำรับกับข้าวเอาไว้ให้มากๆ ข้าวหุงสุกแล้วจัดแจงมัดใส่ห่อ ที่นี่ใช้ใบไม้ห่อข้าวเวลากินก็กินในใบไม้หรือจะใส่จานก็ได้แต่ไม่ค่อยทำกัน กินเสร็จใบไม้นั้นก็ไม่ต้องมาล้าง สะดวกกันทั้งสองฝ่าย สอบถามเรื่องราวของงานแต่งกันพอสมควรเราก็ต้องเดินต่อเข้าบ้านพักของเรา น่าเสียดายที่บ้านพักอยู่ห่างจากบ้านงานแต่งมาก จะเดินมาร่วมงานตอนกลางคืนก็คงไม่ไหวเพราะในหมู่บ้านนี้จะมืดมาก

เต๊อะหว่า บ้านไม้ไผ่

เต๊อะหว่า บ้านไม้ไผ่ เดินออกจากงานแต่งงานไปตามทางเพื่อที่จะเข้าบ้านพักโฮมสเตย์ บ้านของกลุ่มสาวๆ ถึงก่อน ก็แยกย้ายกันเข้าบ้านไป จากนั้นเวลาอาหารมื้อเย็น กับมื้อเช้าก็กินบ้านใครบ้านมันสุดแท้แต่เจ้าของบ้านพักแต่ละหลังจะทำอะไรให้เรากิน แล้วค่อยมาคุยกันว่าได้กินอะไรเข้าไปบ้าง ส่วนบ้านโฮมสเตย์ของผู้ชายอยู่บนเนินเขาค่อนข้างสูง กว่าจะเดินมาถึงเล่นเอาหอบ ตั้งแต่เข้ามาถึงหมู่บ้านของชาวปกากญอ สิ่งที่เราจะเห็นอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านก็คือบ้านที่สร้างจากไม้ไผ่ ยกใต้ถุนสูง มองจากภายนอกคิดว่าเป็นบ้าน แต่พอเข้าไปข้างในถึงรู้ว่าเป็นครัวมากกว่าเป็นบ้านที่อาศัย แต่ก็มีพื้นที่กว้างพอถ้าจะนอนก็นอนได้ พื้นที่ที่ว่างจากการทำอาหารนั้นเตรียมไว้สำหรับทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีประจำบ้าน 

ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

ภายในเต๊อะหว่า พื้นที่ส่วนหนึ่งประมาณ 1 ใน 4 แบ่งเป็นที่หุงหาอาหาร ตรงพื้นบ้านทำเป็นช่องแล้วปูด้วยไม้แผ่นเนื้อแข็งให้ต่ำกว่าพื้นบ้านนิดหน่อย รองด้วยใบไม้ผสมดินรดน้ำหมาดๆ จนหนาพอประมาณ จากนั้นก็ทำอาหารก่อไฟได้ไม่ติดไฟ พอมีขี้เถ้าก็เอามาปูชั้นบนสุดก็จะยิ่งทนไฟมากขึ้นอีก รอบๆ พื้นที่ที่เว้นช่องไว้เป็นเตาจะมีเสา 4 ต้นตรงมุม แล้วมีชั้นวางของสานด้วยไม่ไผ่อยู่สูงจากเตาประมาณ 60 เซนติเมตร เสาต้นหนึ่งของเตาจะมีอุปกรณ์สำหรับใส่ข้าวใส่อาหารเล็กๆ ทำพิธีไหว้ผีแขวนไว้ ส่วนของเตาเป็นส่วนสำคัญสำหรับชาวปกากญอ ชาวปกากญอที่ยังคงรักษาจารีตประเพณีความเชื่อดั้งเดิมจะใช้หินสามก้อนมาทำเป็นเตา หินนี้ต้องไปหาเอาตามธรรมชาติ เชื่อกันว่าในหินนี้ก็มีผีอยู่ ดังนั้นเวลาไปหาหินต้องระวังอย่าเอาหินที่เคยใช้งานแล้วมาทำเป็นเตา ยุดหลังๆ หลายบ้านก็ได้เปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นแทนหินสามก้อน แต่ในครอบครัวนั้นต้องมี 1 บ้านที่มีหินสามก้อนนี้อยู่ เพราะเวลาทำพิธีการเซ่นไหว้ผีต้องทำในบ้านไม้ไผ่ที่มีหินสามก้อน โดยมากเต๊อะหว่าของบ้านที่มีผู้อาวุโสสุดในครอบครัวจะมีหินสามก้อนนี้เพราะเป็นผู้ทำพิธี ส่วนลูกหลานที่แยกครอบครัวไปสร้างบ้านใหม่มีเต๊อะหว่าของตัวเองก็อาจจะไม่มีหินสามก้อนก็ได้ บ้านของพี่กิจมีพี่กิจเป็นผู้อาวุโสรองลงมาจากพ่อตาและต้องดูแลลูกๆ พี่กิจจึงเป็นผู้ทำพิธีไหว้ผีในยามที่ลูกหรือคนในครอบครัวเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ชาวปกากญอจะทำพิธีกันเองในบ้าน ทุกคนต้องเรียนรู้วิธีการทำพิธีบวงสรวงไหว้ผีเอาไว้ ไม่ว่าชาวปกากญอคนนั้นจะนับถือพุทธหรือคริสต์ ความเชื่อเรื่องหินสามก้อนนี้ก็ยังมีอยู่ ภาษาปกากญอเรียกหินสามก้อนหรือเตาสามเส้าว่า เหล่อชอ จึงเป็นที่มาของกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนเหล่อชอนั่นเอง

    เต๊อะหว่าหรือบ้านไม้ไผ่ที่มีครัวอยู่ข้างในนี้ ตรงประตูจะมีเครื่องรางป้องกันสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้าบ้าน ไม่ให้มายุ่งกับท้องไร่ท้องนา และสัตว์เลี้ยง เรียกว่าตะแหลว ติดอยู่บนวงกบประตูด้านบนของเต๊อะหว่า สิ่งสำคัญต่อมาก็คือการต้มน้ำ ปกติชาวบ้านยุคใหม่จะใช้กาต้มน้ำ แต่ในวาระพิเศษหรือบนกระท่อมปลายนาการต้มน้ำจะใช้กระบอกไม้ไผ่เจาช่องระบายความร้อนและช่องสำหรับใส่น้ำ วาระพิเศษก็ได้แก่การชงชาต้อนรับแขกผู้มาเยือนบ้าน เราที่มาพักโฮมสเตย์บ้านเขาย่อมนับว่าเป็นแขกคนสำคัญที่จะได้ดื่มชาที่ต้มจากกระบอกไม้ไผ่ น้ำชาบ้านพี่กิจคือสมุนไพรบางอย่างที่มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย และล้างสารพิษในร่างกาย อย่างแรกแก้ปวดเมื่อยเราไม่สามารถเดาได้ว่าเป็นสมุนไพรอะไร แต่ล้างสารพิษในร่างกายเราเดาว่ามันน่าจะเป็นรางจืด ทั้งสองสมุนไพรตากให้แห้งเก็บไว้ในบ้าน พอจะชงชาก็ใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ต้มน้ำให้เดือด

เหล่อชอ

เหล่อชอ เอาละเมื่อทำความรู้จักกับเรื่องราวความพิเศษของชาวปกากญอที่เราไม่เคยรู้มาก่อนไปแล้ว หลังจากที่พักผ่อนจนหายเหนื่อยเก็บข้าวของเข้าบ้าน อาบน้ำอาบท่า ต่อจากนี้ก็จวนได้เวลามื้อเย็นของวันแรกสำหรับชีวิตแบบปกากญอของพวกเรา กับข้าวเจ้าของบ้านได้เตรียมไว้ให้เราเสร็จสรรพ แต่ก่อนจะได้เวลามื้อเย็นเราอยากกินกาแฟสักถ้วยคืนนี้เผื่อจะได้นั่งเขียนเรื่องราวที่เราได้พบเห็นเอาไว้กันลืม พี่กิจเอากาต้มน้ำมาตั้งบนเตาสามเส้า เหล่อชอ (เพราะไม่รู้ว่าเราจะกินกาแฟตอนกลางคืนเลยไม่ได้เตรียมกระบอกไม้ไผ่เอาไว้) จากนั้นก็เล่าเรื่องราวความเป็นมาของบ้านห้วยฮ่อม ซึ่งเป็นชาวปกากญออพยพมาจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนหลายชั่วอายุคนแล้ว พออพยพมาอยู่สักพักก็ลงไปทำไร่ทำนาไปเจอเอาซากวัดโบราณที่ตอนนี้เหลือแต่อิฐกระจายอยู่ที่ปลายนา คาดว่าจะเป็นวัดร้างที่สร้างโดยชาวลั๊วะซึ่งไม่รู้ว่าสร้างกันมาตั้งแต่ปีไหน จาก 3 ครอบครัวที่อพยพมาในช่วงแรกต่อมาก็เริ่มย้ายตามกันมาเรื่อยๆ ตอนนี้ในหมู่บ้านมีประมาณ 70 หลังคาเรือน อยู่กินกันโดยพึ่งพาอาศัยป่า หาของกินในป่า ทั้งล่าสัตว์และพืชผักสมุนไพร ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่รู้จักสมุนไพรหลายชนิด เวลาโดนพิษ หรือเจ็บป่วยก็เข้าไปหาตามป่ามาใช้ พี่กิจไม่ใช่คนที่นี่แต่กำเนิดแต่มาชอบพอกับสาวที่นี่ก็มาจีบอยู่พักใหญ่พอตกลงปลงใจว่าจะแต่งงานกัน ฝ่ายสาวต้องไปขอพี่กิจ แล้วพี่กิจก็ได้มาอยู่ที่นี่ในที่ดินเขตบ้านพ่อตาแต่สร้างบ้านของตัวเองขึ้นมาใหม่ ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้หลายๆ บ้านสร้างบ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นบ้านอิฐ แล้วพอเริ่มมีโครงการนำเที่ยวโดยชุมชน บ้านที่มีชั้นล่างเป็นตึกก็เปิดเป็นโฮมสเตย์ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความสบายใจของคนที่มาพัก

เก็บใบส้มปี้

เก็บใบส้มปี้ ตกเย็นวันแรกที่เราเข้ามาถึงบ้าน พี่กิจพาไปเก็บใบส้มปี้บนเนินเขา บ้านของพี่กิจเป็นบ้านที่อยู่ติดชายป่าเดินขึ้นเนินเขาไม่สูงเท่าไหร่ก็จะมีของป่ามากมายหลายอย่างให้เลือกเก็บ อย่างใบส้มปี้ก็เป็นผักชนิดหนึ่งมีรสอมเปรี้ยวฝาดๆ ไม่ใช่ของหายากมากมายภาคอื่นก็อาจจะเคยเห็นตามท้องตลาดแต่เรานึกชื่อมันไม่ออก พี่กิจบอกว่าจะทำยำปลากระป๋องให้กินโดยใช้ใบส้มปี้ที่เก็บกันวันนี้เป็นเครื่องยำ อาหารการกินบนเขาอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างยกเว้นปลาเพราะแหล่งน้ำที่ใหญ่ๆ กว้างๆ บนเขานั้นแทบไม่มีเลยส่วนใหญ่เป็นลำธารต้นน้ำ ไม่ค่อยมีปลาอาศัยอยู่ ชาวเขาจึงรู้จักปลากระป๋องกับปลาทูเป็นอย่างดี เพราะมีรถเอาขึ้นมาขายถึงบนเขา แต่อย่างหนึ่งที่เราชอบตรงที่อยากกินผักอะไรก็แค่เดินขึ้นเนินเขาไป ถ้าบนเขาผักตามธรรมชาติไม่มากพอหรืออยู่ไกลก็ปลูกเพิ่มเข้าไป สวนผักของพี่กิจจึงมีพื้นที่เป็นร้อยๆ ไร่ สบายไปเลย จากเนินเขาตรงนี้มองลงไปจะเห็นหมู่บ้านห้วยฮ่อมตั้งอยู่กระจายห่างๆ อยู่ด้านล่าง

    พี่กิจก็มีลูก 2 คน มีลูกสาวและลูกชายอย่างละคนต่อไปในอนาคตลูกๆ จะต้องแต่งงานพี่กิจก็ต้องเลี้ยงหมูป่าเอาไว้ตรงทางเดินขึ้นเขา ถึงเวลาจัดงานแต่งงานจะได้เสียเงินน้อยเพราะใช้หมูที่เลี้ยงเตรียมไว้อยู่แล้ว นอกจากนั้นก็ยังมีลิงป่าคนเอามาเลี้ยงแล้วก็เคยเอาไปปล่อยป่า แต่ลิงหากินไม่เป็นก็กลับมาอยู่ในหมู่บ้านเหมือนเดิม พี่กิจเลยเอาลิงมาเลี้ยงไว้หลังบ้านแต่มันซนมากเข้ามารื้อของในครัวเลยต้องล่ามโซ่เอาไว้ ลิงตัวนี้เชื่องถ้าไปเที่ยวแวะไปเกาหลังให้มันหน่อยนะมันอยู่ตัวเดียวไม่เคยมีลิงตัวอื่นมาหาเหาให้พอเราไปจับหัวจับหลังมันมันจะนอนนิ่งๆ เหมือนให้เราหาเหาตามสัญชาตญาณของมัน

มื้อเย็นสไตล์เหล่อชอ

มื้อเย็นสไตล์เหล่อชอ อาบน้ำอาบท่าเย็นๆ ระบบน้ำของหมู่บ้านห้วยฮ่อมมาจากน้ำในลำธารธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงผู้คนทั้งระบบการใช้ในบ้านและการเกษตร พี่กิจรับประกันว่ามาเที่ยวบ้านห้วยฮ่อมน้ำไหลตลอด 24 ชั่วโมงแน่นอนไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนไฟฟ้าก็มีตลอดเหมือนกัน แต่ปกติชาวบ้านไม่ค่อยเปิดไฟตอนดึกๆ ทุกบ้านปิดไฟเกือบหมดทำให้หมู่บ้านมืดสนิทมากๆ บ้านพี่กิจมีผู้ชายนอน 4 คน มีห้องน้ำ 2 ห้อง แต่เราไม่ค่อยรีบใช้ห้องเดียวผลัดกันอาบไปเรื่อยๆ หน้าฝนอากาศไม่หนาวมากมายแต่น้ำเย็นจัดสะใจจริงๆ คนที่เข้าไปอาบก่อนก็บอกตรงกันทุกคนทำเอาหวั่นๆ เหมือนกันว่าจะอาบหรือไม่อาบ แต่พออาบแล้วมันก็สดชื่นดีเหมือนความเหนื่อยของวันนี้มันไหลออกไปตามน้ำ ออกจากห้องน้ำมากับข้าวก็เสร็จเรียบร้อย ไม่มียำปลากระป๋องใบส้มปี้เพราะเมนูนั้นจะเป็นมื้อเช้า ส่วนวันนี้มีน้ำพริกฟักแม้วต้ม แกงจืด ใข่เจียว ใข่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องไปซื้อ เพราะว่าไก่ที่เลี้ยงเอาไว้ในแต่ละบ้านเป็นไก่พันธุ์เนื้อไม่เหมาะสำหรับเลี้ยงเพื่อเอาใข่ 

เก็บฟักแม้ว

เก็บฟักแม้ว อากาศที่เย็นสบายนอนหลับสนิททั้งด้วยความเพลียของการเดินทางที่กว่าจะถึงบ้านพักเมื่อวาน วันนี้เลยตื่นแต่เช้าอย่างสดชื่น ออกไปเดินเล่นในหมู่บ้านดูว่าชาวบ้านทำอะไรบ้างในตอนเช้า ไอหมอกสีขาวจางๆ ลอยอยู่ตามไหล่เขา หลายคนเริ่มออกเดินมุ่งหน้าทางทุ่งนาป่าเขา ด้วยชะลอมผูกติดหลังเหมือนอย่างที่เราเคยเห็นเวลาไปเที่ยวหมู่บ้านชาวเขา บางคนไม่ได้ออกไปไกลก็เดินเก็บฟักแม้วหน้าบ้านตัวเองที่ปลูกเหมือนเป็นรั้วประจำบ้าน แทบทุกหลังคาเรือนจะมีแนวรั้วที่ใช้ต้นไม้ทั้งไม้ดอกไม้ผลและผักสวนครัวตามแต่ว่าบ้านไหนจะชอบแบบไหน บางบ้านมีต้นสาลี่เป็นรั้ว พอลูกมันเก็บกินได้ก็มาเก็บเห็นแล้วอิจฉาเหมือนกันเราอยู่ในเมืองจะกินอะไรสักอย่างมีแต่ต้องซื้อสถานเดียว

อาหารเช้าแบบง่ายๆ

อาหารเช้าแบบง่ายๆ เดินเล่นรอบหมู่บ้านเรียบร้อยๆ หลายๆ คนพยายามทักทายกับเรา เราก็สวัสดีตอบไป ถ้าเราถามอะไรนอกเหนือจากการสวัสดีบางคนเค้าจะตอบเราไม่ค่อยได้ ดังนั้นแล้วต้องคอยสังเกตุอย่าถามอะไรต่อถ้าเค้าจะตอบลำบาก จากนั้นเราก็กลับมาอาบน้ำเตรียมตัวกินข้าวเช้า น้ำที่ว่าเย็นๆ ตอนที่อาบเมื่อวานเช้านี้ยิ่งเย็นเข้าไปอีกแต่หลังจากอาบเสร็จก็สดชื่นดี มาที่เต๊อะหว่าครัวไม้ไผ่หลังเดิมอาหารของเราวันนี้คือยำปลากระป๋องใส่ใบส้มปี้อย่างที่พี่กิจบอกว่าจะทำตอนไปเก็บใบส้มปี้ อีกเมนูหนึ่งคือไก่ต้ม ไก่ที่ต้มอยู่ในชามนี้เป็นไก่พันธุ์เนื้อที่เลี้ยงเอาไว้เป็นอาหารไก่พันธุ์นี้ได้รับพระราชทานจากในหลวง เป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ เช่นเดียวกับสายพันธุ์ของข้าวที่ปลูกอยู่ในนา ถั่วที่ปลูกเอาไว้รอบๆ กระท่อมปลายนา เหล่านี้ล้วนแต่มาจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรให้อยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน สิ่งที่เราเห็นที่บ้านห้วยฮ่อมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการหลวงวัดจันทร์ทั้งหมด ถ้าอยากจะเห็นเยอะกว่านี้คงต้องไปเที่ยวหมู่บ้านอื่นๆ กันต่ออีก สำหรับไก่ที่เอามาทำอาหารตอนเชือดไก่ไม่ได้ไปดูเพราะสงสารไก่แต่พออยู่ในหม้อกินเกลี้ยงไม่เหลือแม้แต่น้ำ ความเป็นอยู่ที่นี่เน้นเรียบง่ายแต่ละมื้อก็จะมีเมนูต่างๆ เตรียมให้แขกที่มาพักพยายามให้ไม่ซ้ำกัน ต่อจากอาหารเช้าพี่กิจทำน้ำชาสูตรพิเศษ คือชาสมุนไพรในกระบอกไม้ไผ่อย่างที่เล่าไปตอนแรก เจ้าของบ้านจัดแจงไปตัดไม้ไผ่มาใหม่ๆ สดๆ ปรากฏว่าสดไปหน่อยเวลาต้มน้ำเลยเดือดช้า สรรพคุณแก้ปวดเมื่อย และล้างสารพิษออกจากร่างกายของสมุนไพรที่ใส่ลงไปในกระบอก พี่กิจเล่าว่าที่ผ่านมาเคยมีชาวปกากญอกินยาฆ่าแมลงฆ่าตัวตาย ก็เอาสมุนไพรนี้ให้กินปรากฏว่าล้างพิษได้และยังมีชีวิตอยู่จนทุกวันนี้ นับว่าไม่ธรรมดาจริงๆ น้ำชาสมุนไพรต้มด้วยกระบอกไม้ไผ่จะมีกลิ่นหอมและรสหวานของพืชหลายๆ ชนิดรวมๆ กัน กินเป็นน้ำชาหรือจะเอาไปชงกาแฟก็ได้ เรื่องนี้ยากจะไปหาที่ไหนจากชีวิตในเมือง อยากรู้ต้องมาสัมผัสเองจริงๆ

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านห้วยฮ่อม

เส้นทางศึกษาธรรมชาติบ้านห้วยฮ่อม เสร็จจากมื้อเช้าเรามารวมตัวกันตอน 8.30 น. เพื่อออกเดินทางด้วยรถกระบะจากหมู่บ้านไปยังทุ่งนาขั้นบันได พี่เชเอารถมารอรับอยู่แล้วต่อจากนี้เราจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการเกษตร การทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และจะได้เดินขึ้นไปจนถึงน้ำตกต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวห้วยฮ่อมและอีกหลายๆ พื้นที่ทางปลายน้ำ นั่นหมายถึงพวกเราที่อยู่ในเมืองด้วยนั่นเองเพราะน้ำเหล่านี้ไหลลงไปผ่านอีกหลายจังหวัดจนถึงทะเลอ่าวไทยเลย น้ำตกนี้มีชื่อว่าน้ำตกต่าลอโป่โกล๊ะ ระยะทางเดินเท้าลัดเลาะผ่านทุ่งนาประมาณ 3 กิโลเมตร ทุ่งนาที่ชาวบ้านปลูกข้าวอยู่นี้อยู่ตรงเชิงเขา ไม่อยากจะบอกเลยว่ามีทากด้วยแต่มีน้อย โอกาสเจอทากมีไม่มากแต่พวกเราก็เจอกัน 2 ตัว แต่ไม่มีใครโดนกัดเพราะเห็นมันก่อน ผืนนาที่กว้างใหญ่มีเจ้าของ 3 คน ไม่มีหลักหรือรั้วกั้นเขตว่านาใครอยู่แค่ไหนแต่เจ้าของนาจะรู้ พี่เชเล่าว่าการไม่ปักรั้วกั้นเขตนาก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาวปกากญอไม่มีการแตกแยกไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ทุกคนอยู่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว การปักเขตแบ่งแยกของเอ็งของสูของข้า เป็นการผิดผี

ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งของชาวนาที่นี่คือกระท่อมปลายนาหรือบางพื้นที่เรียกว่าเถียงนา กระท่อมปลายนาของชาวปกากญอมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับเต๊อะหว่า คือนอกจากเป็นที่พักผ่อนจากการทำนาไร่ ที่ประกอบอาหาร ชาวปกากญอจะใช้กระท่อมปลายนานี้เป็นที่กระทำพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงผีที่ดูแลที่นาของตัวเอง คล้ายๆ กับการทำขวัญข้าว การจะปลูกจะเกี่ยวข้าวต้องมีพิธีกรรม

บนกระท่อมปลายนานอกจากจะมีเหล่อชอหรือเตาสามเส้าแล้ว ยังมีชั้นวางของที่ไม่เหมือนกับเต๊อะหว่า คือไม่มีเสา 4 ต้นที่มุมแล้วทำชั้นวางของพาด แต่ชั้นวางของที่กระท่อมปลายนาจะอยู่บนผนังด้านหนึ่ง ชั้นวางของนี้เชื่อกันว่าถ้าออกไปทำนาสวนแล้วฝนตกตัวเปียกห้ามให้ส่วนที่ต่ำกว่าเอวขึ้นไปบนชั้นวางของคือห้ามนั่งบนชั้นวางของนั่นเองแต่ถ้าตัวแห้งก็ไม่เป็นไร รายละเอียดของเครื่องใช้ในการกระทำพิธียังมีอีกหลายเรื่อง แต่จะเล่าซะหมดคงจะยาว

    ความสำคัญของกระท่อมปลายนายังไม่หมดเท่านี้ ชาวปกากญอเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าแต่ละคนจะมีผีคุ้มครองของใครของมัน กระท่อมปลายนาที่สร้างขึ้นมาเพื่อเซ่นไหว้ทำพิธีกรรมต่างๆ จะใช้ร่วมกันไม่ได้ เมื่อพ่อเสียชีวิตลงไปที่นากลายเป็นของลูก ลูกก็ต้องสร้างกระท่อมปลายนาขึ้นมาหลังใหม่เป็นของตัวเอง เหมือนกับเตาสามเส้าที่จะใช้หินที่คนอื่นเคยใช้แล้วไม่ได้

กระท่อมปลายนา

กระท่อมปลายนา เราเดินข้ามทุ่งนาขั้นบันไดมุ่งหน้าไปสู่ป่าบนเนินเขา ก่อนที่จะเข้าถึงพื้นที่ป่าเขายังมีกระท่อมปลายนาที่สร้างเอาไว้อีกหลายหลัง ระหว่างทางเราจะได้เรียนรู้กับต้นไม้อีกหลายชนิด อันไหนกินได้อันไหนกินไม่ได้ แล้วที่กินได้มีสรรพคุณยังไง อย่างมะแฟง ลูกกลมๆ ดูภายนอกคล้ายมะขามป้อมรสเปรี้ยวคล้ายๆ กัน กินได้ชุ่มคอแก้กระหายในระหว่างการเดินทาง ต่อมาก็จะมีกระท่อมญาติ ของพี่กิจเลี้ยงไก่ไว้หลายตัวออกลูกออกหลานเต็มไปหมด ชาวบ้านเลี้ยงไก่ที่กระท่อมปลายนาเพราะรู้ว่าไม่มีใครมาขโมย นอกจากนั้นไก่ก็หากินไปตามธรรมชาตินานๆ จะได้มาให้อาหารสักที พอเห็นคนเดินมาไก่ก็วิ่งเข้ามาหาเพราะคิดว่าจะมีอาหารมาให้ เลี้ยงไก่แบบนี้สบายจริงๆ มันหากินของมันเองได้ไม่ต้องให้อาหารทุกวันก็ได้ เวลาจะจับมันก็วิ่งเข้ามาหาเองไม่ยากเย็นอะไร เดินต่อไปอีกหน่อยก็เจอกระท่อมของคนอื่นๆ บ้าง เค้าปลูกถั่วปลูกข้าวโพด ข้าวโพดที่นี่ฝักใหญ่มาก ที่ต้องล้อมรั้วไม่ใช่การปักเขตแดนแต่กันควายเข้ามาเหยียบพืชผักที่ปลูกเอาไว้

เมตอซู

เมตอซู ของว่างอย่างหนึ่งของชาวปกากญอเป็นอาหารรองท้องและของกินเล่นที่ตอนนี้เริ่มสูญหายไปจากหมู่บ้านเพราะขนมสมัยใหม่ในท้องตลาดหาซื้อง่ายกว่า และด้วยความที่กล้วยไม้ชนิดนี้ก็ขยายพันธุ์ไม่รวดเร็วเท่ากับจำนวนของคน ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มที่หันมาสนใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรมเดิมๆ และของว่างชนิดนี้ให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ พร้อมๆ ไปกับหาทางขยายพันธุ์กล้วยไม้ชนิดนี้ไปในตัวด้วย ขั้นตอนการทำขนมเมตอซู คือการหากล้วยไม้แบบนี้มาตัดหัวออกล้างยางออกให้สะอาด ใส่ข้าวเหนียวลงไปใส่น้ำให้เต็มแช่ไว้ 1 คืน จากนั้นเอามาปิ้งพอสุกแล้วจะได้ข้าวเหนียวสีม่วงที่เป็นสีของเปลือกด้านในของฝักกล้วยไม้ติดอยู่ที่ข้าวเหนียว กินเป็นของว่างรองท้องและโดยเฉพาะเวลาที่มาทำนาทำไร่ เท่านี้ก็อยู่ได้ 1 มื้อ ต้มน้ำด้วยกระบอกไม้ไผ่ใส่สมุนไพรลงไปตามสูตรได้น้ำชามากินคู่กัน อร่อยอย่าบอกใคร สำหรับชาวเมืองอย่างเราเข้าไปเขาก็จะใส่กะทิและน้ำตาลเข้าไปบ้างเพื่อให้มีรสหอมหวานมันอร่อยถูกปากคนเมือง เป็นสูตรที่เราได้แลกเปลี่ยนความรู้กันเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารดั้งเดิมนี้ เราก็ได้เมตอซูมาแบ่งกันคนละอันแล้วก็เดินทางกันต่อไปตามเส้นทางแห่งวิถีชาวปกากญอ

ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

จากกระท่อมหลังที่เราขึ้นไปทำเมตอซูกินกัน ที่จริงเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติบ้านห้วยฮ่อมยังต้องไปต่อ คือเดินเข้าไปในป่าขึ้นเขาไปชมน้ำตกต่าลอโป่โกล๊ะ แต่ด้วยความที่พวกเราดื่มด่ำกับธรรมชาติของท้องนาขั้นบันไดมากไปหน่อยเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว 3 ชั่วโมง จนไม่พอที่จะเดินเข้าไปที่น้ำตก เพราะเรายังต้องกลับไปกินข้าวเที่ยงพร้อมออกเดินทางไปหมู่บ้านต่อไป จึงอดได้เห็นน้ำตกต้นน้ำแห่งปกากญอห้วยฮ่อม เราเปลี่ยนแผนเดินกลับหมู่บ้านผ่านเนินเขาที่เป็นจุดชมวิวนาขั้นบันไดที่สวยที่สุดของหมู่บ้านใช้เวลาอีก 15 นาทีถ่ายรูปจนพอใจแล้วค่อยเดินกลับหมู่บ้าน แม้ว่าจะเสียดายที่ถ่ายรูปมุมนี้ยังไม่จุใจก็ตาม

ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

ชาวปกากญอ

ชาวปกากญอ ระหว่างนั่งรถกระบะกลับหมู่บ้าน เจอชาวปกากญอที่ออกมาหาของป่าไปทำอาหาร เส้นทางเดินเกือบ 1 กิโลเมตรนี้แถมยังไม่รู้ว่าเดินเข้าป่าไปอีกลึกแค่ไหนชาวบ้านก็จะใช้วิธีการเดินทั้งนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมชาวเขาถึงได้แข็งแรงและอายุยืน เพราะวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นการออกกำลังกายทุกวันแบบนี้ชาวเมืองอย่างเราน้อยนักที่จะได้ทำ เพราะขนาดรถเมล์ยังขอลงตรงปากซอย ถ้าจอดห่างแค่ 20 เมตรก็โวยวายแล้วเลย สะพานลอยมีก็ไม่ข้าม

การทอผ้าของชาวปกากญอ

การทอผ้าของชาวปกากญอ บทเรียนเรื่องต่อไปและเป็นเรื่องสุดท้ายที่เราจะได้เรียนรู้จากหมู่บ้านห้วยฮ่อมคือการทอผ้า ศูนย์เรียนรู้เรื่องการทอผ้าของหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆ บ้านผู้ใหญ่บ้าน ปกติเวลาไปเที่ยวหมู่บ้านชาวเขาจะเห็นเสื้อผ้าลวดลายสวยๆ มาวางขาย บางส่วนมาจากที่อื่น แต่ส่วนที่มาจากการทอมือจริงๆ ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน โดยเฉพาะที่หมู่บ้านห้วยฮ่อมแห่งนี้ การทอผ้ายังคงเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดรุ่นสู่รุ่น สาวๆ ที่เกิดมาในหมู่บ้านนี้อาจจะได้ไปเรียนหนังสือในเมือง แต่กลับมาหมู่บ้านก็ยังคงได้เรียนรู้เรื่องของการทอผ้า เสื้อของชาวปกากญอที่เราเคยสงสัยว่าทำไมต้องทำข้างหน้ากับข้างหลังให้มันเหมือนกัน จนไม่รู้ว่าจะใส่ข้างไหนดี ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ชาวปกากญอเป็นคนจริงใจ ต่อหน้ายังไงลับหลังก็อย่างนั้น เสื้อที่ทอเลยเหมือนกันทั้ง 2 ด้าน เป็นคติเตือนใจและเอกลักษณ์ของชาวปกากญอโดยแท้ ส่วนเด็กที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุดสีขาว คนที่แต่งงานแล้วก็ใส่ชุดสีดำ ผู้ชายเริ่มมีการใส่กางเกงเพื่อความคล่องตัวแต่ผู้หญิงยังคงใส่ผ้าถุงแบบเดิม

ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม

จบการนำเที่ยวประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยสัมผัสก่อนจากชาวปกากญอเอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน เรายังมีอีกมากมายหลายเรื่องที่ยังไม่ได้สัมผัส ถ้าอยากจะซึมซับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายเหล่านี้มากๆ คงต้องอยู่หลายๆ วัน สำหรับชาวเมืองอย่างเรายังคงต้องกลับไปทำงานเวลาที่มีที่เราได้ใช้ร่วมกับชาวบ้านที่นี่ จะยังคงเป็นเรื่องราวที่เราจะจดจำเอาไว้นานแสนนาน ไว้มีโอกาสเราคงได้กลับมาอีกอย่างแน่นอน

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคเหนือ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานเชียงใหม่ , กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนเหล่อชอ มา ณ โอกาสนี้ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม เชียงใหม่
Nupdaw Twin Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.88 km | แผนที่ | เส้นทาง
Nupdaw Family Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
กะเหรี่ยง ฮิลล์ไทร์บ ลอดจ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
โยทะกา แอท ปาย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวน เฮือนศิลป์ เนเจอร์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  33.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะควินลินส์ปาย
  41.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเพื่อน ปาย วิว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  43.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
บูระ ลำปาย วิลลา
  43.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
ครามปาย รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  43.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
บุระ ลำปาย รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  43.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ชุมชนบ้านห้วยฮ่อม เชียงใหม่
ป่าสนบ้านวัดจันทร์ เชียงใหม่
  10.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
โป่งน้ำร้อนเมืองแปง แม่ฮ่องสอน
  19.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานโขกู้โส่ สะพานบุญ บ้านแพมบก
  40.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกะเหรี่ยงแม่ปิง แม่ฮ่องสอน
  42.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
กองแลน ปายแคนยอน
  43.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านยอดดอย (หมู่บ้านแม้วไมโครเวฟ) แม่ฮ่องสอน
  43.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย แม่ฮ่องสอน
  43.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
โป่งน้ำร้อนท่าปาย แม่ฮ่องสอน
  45.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
แม่น้ำปาย แม่ฮ่องสอน
  46.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
จุดชมวิวหยุนไหล แม่ฮ่องสอน
  47.99 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com