ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานครนายก (นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว) โทร. 0 3731 2282, 0 3731 2284
http://www.tourismthailand.org/nakhonnayok
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
เส้นทางสู่ปราสาทสด๊กก๊อกธม การเดินทางอยู่ห่างตัวเมืองพอสมควรทีเดียว 2 ข้างทางเป็นเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน ขับรถกินลมชมธรรมชาติไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะค่อนข้างห่างไกลความเจริญ แต่ถนนเข้าปราสาทค่อนข้างดี ราดยางตลอดสาย ถือว่าใช้ได้สำหรับการมาเที่ยวในต่างจังหวัด
การบูรณะปราสาทสด๊กก๊อกธม หลายปีก่อนที่ได้เดินทางเข้ามาชมปราสาทแห่งนี้ พบว่ากรมศิลปากรได้ทำการบูรณะปราสาทใหม่ทั้งหลัง ด้วยการเอาเศษหินที่หล่นพังลงมากองกันรอบปราสาท มาวางเรียงก่อขึ้นเสียใหม่ สำหรับหินก้อนไหนที่สูญหายไป ก็ได้ทำการจำลองหินขนาดเท่ากันด้วยวัสดุแบบเดียวกันขึ้นมาใหม่ ตามระเบียบว่าด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ของกรมศิลปากร วัสดุที่จะนำมาแทนชิ้นที่ขาดหายไปต้องเป็นวัสดุเดียวกัน แต่ต้องให้มีสีต่างกัน ว่าเป็นชิ้นที่ทำขึ้นมาใหม่ เราจึงเห็นว่าปราสาท ณ ปัจจุบัน มีหินที่มีสีต่างกันอยู่จำนวนมาก การบูรณะแบบนี้เรียกว่า วิธีอนัสติโลซีส (ANASTYLOSIS) เป็นวิธีการบูรณะที่ใช้เวลานานมากทีเดียว
เล่ากันว่าปราสาทอยู่กลางป่าดงดิบ ปราสาทถูกพบตั้งแต่ก่อนพ.ศ. 2404 โดยชาวพื้นเมืองเข้ามาพบ โดยชาวพื้นเมืองได้เดินหลงมาในป่า เข้ามาถึงราวกับเป็นเมืองลับแล ชาวพื้นเมืองเดินเข้ามาเห็นต้นมะพร้าวขึ้นเป็นดงเต็มไปหมด จึงคิดว่าจะมาเก็บมะพร้าวแต่พอมาดูอีกวันกลับไม่พบต้นมะพร้าว สันนิษฐานว่าเป็นมนต์ที่ทำให้มาพบปราสาทหลังนี้ และเป็นที่มาของชื่ออีกชื่อหนึ่งของปราสาทว่า ปราสาทเมืองพร้าว ลุงมัคคุเทศก์ที่ทำหน้าที่นำทางบรรยายให้ความรู้แก่พวกเรายังบอกด้วยว่า ตำราที่เขียนเรื่องราวปราสาทหลังนี้มีหลายเล่ม มีเนื้อหาหลายส่วนที่ไม่ตรงกันดังนั้น จึงต้องยึดถือเอาเล่นใดเล่มหนึ่งที่สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีมากที่สุด ในตำราเล่มนั้นได้เขียนถึงชื่อของปราสาทหลังนี้ว่า แต่เดิมชื่อ ปราสาทภัทรริเกตณะ แปลว่า ที่อยู่ที่อาศัยที่ดี ชื่อดังกล่าวพบในหลักศิลาจารึก ส่วนสด๊กก๊อกธม นั้น เป็นคำเรียกของชาวบ้านที่หมายถึง ป่ากกในหนองน้ำใหญ่ เท่านั้น
ต่อมาปราสาทได้พังลงเมื่อปี พ.ศ. 2507 เนื่องจากมีกลุ่มพ่อค้าวัตถุโบราณจ้างชาวบ้านมาโจรกรรมชิ้นส่วนสำคัญของปราสาท และเนื่องจากปราสาทเป็นสถาปัตยกรรมขอมที่ใช้วิธีการสร้างที่เรียกว่า หินเหยียบ (วางหินซ้อนกันไว้เฉยๆ หินจะกดทับกันเองและไม่ตกลงมา เหมือนการสร้างสะพานลอยในปัจจุบัน) พ.ศ. 2518 กัมพูชาเกิดสงคราม ประชาชนกัมพูชาหนีอพยพมาอยู่ที่ปราสาทเป็นจำนวนมาก ทำให้ปราสาทยิ่งเกิดความเสียหาย ต่อมาปี พ.ศ.2533 สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพานักเรียนนายร้อยฯ มาทัศนศึกษา ในช่วงที่ท่านเสด็จมาปราสาทพังลงอย่างมาก ต่อมา พ.ศ.2536 ได้มีการรายงานขึ้นไปให้ทำการบูรณะปราสาท
เมื่อก่อนเราเข้ามาชมปราสาทสามารถจอดรถใกล้ๆ ปราสาทเดินมานิดเดียวก็ถึง ทุกวันนี้จะมีป้ายบอกทางให้เราไปจอดในลานจอดรถที่จัดไว้ให้ มีห้องน้ำบริการอย่างดี แต่ต้องเดินมาที่ปราสาทประมาณ 200 เมตร ทางเข้าหน้าปราสาทเราจะเป็นเสาตั้งเป็นคู่ๆ เรียกว่าเสานางเรียง ก่อนการบูรณะจะเหลือเสาไม่กี่ต้นส่วนใหญ่หักเหลือแต่ฐานเสา เสานางเรียงนี้ใช้เป็นจุดยืนของสาวบริสุทธิ์ มายืนโปรยดอกไม้เมื่อพระราชาเสร็จมาทำพิธีที่ปราสาท สิ่งที่เราเห็นต่อจากเสานางเรียงเป็นระเบียงคดชั้นนอก
โคปุระ เป็นคำเรียกซุ้มประตูของปราสาทขอมโบราณ ระเบียงคดชั้นนอกและชั้นในจะมีโคปุระให้เราเดินข้ามเข้ามา ส่วนระเบียงคดซ้ายและขวาของโคปุระมีทางเดินไปได้นิดหน่อยก็เป็นทางตันไม่ทะลุตลอดถึงกันทุกด้าน ปัจจุบันซุ้มโคปุระเหลืออยู่เพียง 2 ด้านคือด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของปรางค์ประธาน
ระเบียงคดชั้นใน พอเข้ามาในโคปุระของระเบียงคดชั้นนอก ก็จะเป็นมีระเบียงคดอีกชั้น มีโคปุระเหมือนกัน แต่ยอดของซุ้มโคปุระชั้นในจะสูงกว่ามาก จากตรงนี้ไปก็ยังคงมีเสานางเรียงอีกหลายคู่ การสร้างปราสาทหลังนี้ เชื่อกันว่าเป็นการจำลองจักรวาลโดยมีปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นศูนย์กลาง การมาเที่ยวที่นี่จะมีไกด์คอยบรรยายรายละเอียดความรู้เกี่ยวกับปราสาทให้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับหาความรู้ด้านปราสาทขอมเป็นอย่างมาก จากประวัติที่พบในศิลาจารึก ปราสาทสด๊กก๊อกธมนับเป็นปราสาทขอมที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในไทย สร้างก่อนปราสาทหินพนมรุ้งเสียอีก
ทับหลัง ก่อนที่เราจะก้าวต่อไป ลุงที่ดูแลปราสาทและเป็นมัคคุเทศก์ของเราได้ชี้ให้เราดูบนซุ้มหน้าต่างใกล้ๆ โคปุระ แล้วเล่าเรื่องราวว่าภาพนี้มีความหมายอย่างไร
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในปราสาทขอมทุกแห่ง คือแห่นหินที่นำมาสร้างเป็นซู้มประตู ซุ้มหน้าต่าง เรียกกันว่าทับหลัง ในปราสาทสด๊กก๊อกธม ก็มีทับหลังหลายแผ่นด้วยกัน ลวดลายที่มักจะแกะสลักลงบนแผ่นหินในปราสาทขอมจะมีอยู่ลายหนึ่งที่มีอยู่แทบทุกปราสาท คือ นารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนา เช่นเดียวกันกับที่เราจะเป็นพระพุทธประวัติอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ ภาพนี้เป็นภาพที่พระนารายณ์นอนบรรทมบนหลังพญาอนันตนาคราช มีพระพรหมจุติขึ้นจากสายสะดือของพระนารายณ์ โดยมีดอกบัวรองรับ แผ่นหินแกะสลักชิ้นนี้แตกหักเสียหายตรงบริเวณลำตัวของพระนารายณ์จึงไม่เห็นรายละเอียดที่กล่าวมา
พอเดินมาถึงโคปุระของระเบียงคดชั้นใน ตรงช่องประตูเราจะมองเห็นปราสาทประธานหลังใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง สร้างในรูปแบบมียอด 5 ชั้น แต่ละชั้นมีย่อมุมที่สวยงาม ลวดลายบนหินส่วนใหญ่ชำรุดเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย จากโคปุระตรงไปยังปราสาทก็ยังมีเสานางเรียงอีกหลายคู่ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แห่งนี้ และพิธีกรรมอันมีขั้นตอนมากอีกด้วย
พอเดินเข้ามาด้านในจากปราสาทมองย้อนกลับไปทางซุ้มโคปุระที่เราเข้ามา เราจะเห็นว่าช่องประตูจะเรียงตรงกันทั้งหมด ด้านหน้าของปราสาทประธานจะมีอาคารอีก 2 หลังอยู่ซ้ายและขวา ทางเดินเข้าตัวปราสาทปูด้วยศิลาแลง เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่คนโบราณได้สร้างปราสาทและอาคารทั้งหมดนี้ด้วยการนำหินมาวางซ้อนกันเท่านั้นไม่มีการยึดใดๆ ทั้งสิ้น
ปราสาทประธานมีทางเข้าด้านหน้าทางเดียว แต่มีบันได้ศิลาแลงหลายด้าน ส่วนด้านบนตรงตำแหน่งประตูสร้างเป็นประตูหลอกเอาไว้ รอบปราสาทประธานมีเสาแบบเดียวกันกับเสานางเรียงที่ทางเดินแต่มีขนาดเล็กกว่าตั้งอยู่ห่างกันเป็นระยะๆ อีก 16 ต้น
บนปราสาทประธานเป็นที่ประดิษฐานพระศิวลึงค์ ซึ่งได้สูญหายไปจากการขโมย
ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นกลุ่มอาคารที่ก่อสร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง หันหน้าไปทางตะวันออก เป็นที่ตั้งของบารายหรืออ่างเก็บน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ หนองน้ำนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อสด๊กก๊อกธม ที่หมายถึงป่ากกในหนองน้ำใหญ่แต่ก่อนคงจะมีกกขึ้นหนาแน่นมากแต่ทุกวันนี้ไม่มีต้นกกเหลือให้เห็นอย่างในอดีต ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลางก่อด้วยหินทรายสีขาวตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ ฐานกว้างประมาณ 10.4 เมตร สูง 10.8 เมตรโดยประมาณ เป็นห้องครรภคฤหะ ที่ใช้ประกอบพิธีเพียงห้องเดียว ส่วนฐานศิลาแลงมีบันไดขึ้น 4 ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหินทรายส่วนเรือนธาตุมีการทรุดตัวจมลงไปในฐานศิลาแลงเนื่องจากน้ำหนักมหาศาลของอาคารกดลงมา อาคารส่วนบนพังเป็นส่วนใหญ่เหลือผนังให้เห็นเฉพาะด้านทิศตะวันตกและทิศใต้เท่านั้น ส่วนประตูเป็นประตูหลอก
สิ่งก่อสร้างของปราสาทล้อมรอบชั้นนอกด้วยกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 120 เมตร ยาว 127 เมตร มีประตูทางเข้าออกเพียงสองทาง คือโคปุระด้านตะวันออกเป็นทางเข้าหลัก และช่องประตูเล็กทางตะวันตก ด้านหน้ามีทางดำเนินยกพื้นปูศิลาแลงประดับด้วยเสานางเรียงตลอดทาง เชื่อมต่อไปยังบารายที่ด้านข้างของทางดำเนิน ทิศเหนือมีสระน้ำขนาดเล็กกว้างประมาณ 20-30 เมตร พร้อมร่องรอยศิลาแลงเหลืออยู่บางส่วน ส่วนช่องประตูทางเข้าด้านตะวันตกแม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีหน้าบันหินทราย โคปุระตะวันออกของกำแพงแก้วชั้นนอกเป็นอาคารขนาดใหญ่สร้างด้วยหินทรายถัดเข้าไปจะมีสระน้ำรูปปีกกาล้อมรอบปราสาทชั้นในไว้ เว้นช่องทางเดินด้านตะวันออกและตะวันตกไว้สองด้าน
ถัดจากสระน้ำรูปปีกกา เป็นระเบียงคดชั้นในสร้างจากศิลาแลงและหินทราย ส่วนฐานเป็นศิลาแลงทั้งหมด ผนังด้านนอกส่วนใหญ่เป็นศิลาแลงยกเว้นส่วนที่มีการสลักเป็นลวดบัวกรอบประตูหน้าต่างและส่วนที่มีการแกะสลักอื่นๆ จะใช้หินทราย ผนังด้านในของระเบียงคตเป็นช่องเปิดก่อด้วยหินทราย ระเบียงคดกว้างประมาณ 36.5 เมตร ยาว 42.5 เมตร ที่กึ่งกลางกำแพงระเบียงคดด้านตะวันออกมีโคปุระชั้นใน มีช่องประตู 3 ประตู ผนังด้านข้างทำเป็นหน้าต่างหลอกประดับด้วยเสาลูกมะหวดไว้ทั้ง 2 ข้าง ภายในอาคารทำเป็นห้องแต่ไม่สามารถทะลุออกไประเบียงคดได้ โคปุระชั้นในด้านตะวันออกแสดงให้เห็นว่าเป็นอาคารสำคัญ นอกจากขนาดของอาคารซึ่งใหญ่กว่าโคปุระอีก 3 ด้าน ส่วนหลังคายังมีการก่อซ้อนชั้นขึ้นไปเป็นพิเศษ แต่ในช่วงหลังการขุดแต่งยังไม่ทราบว่ารูปทรงเป็นอย่างไร เนื่องจากเหลือแต่หินผนังด้านในที่ยังอยู่ในที่ วัสดุก่อสร้างยกเว้นส่วนฐานศิลาแลงเป็นหินทรายทั้งหมด ในขณะที่โคปุระเหนือ ใต้ และตะวันตก ใช้ศิลาแลงเป็นหลัก
จากการสำรวจของหลวงชาญนิคมได้พบศิลาจารึกสำคัญที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้แก่ จารึกสด๊กก๊อกธม ๒ เป็นจารึกขนาดใหญ่มี 4 ด้าน เขียนด้วยอักษรขอมโบราณ ในภาษาสันสกฤตและเขมร โดยหลวงชาญนิคมได้จัดทำสำเนาจารึกขึ้นและได้บันทึกไว้ว่า
"อักษรโบราณนี้ได้ก๊อปปี้มาจากเสาศิลาจารึกซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าปราสาทเมืองพร้าว ใกล้กับเขตแดนฝรั่งเศส หลักศิลาจารึกนี้ตั้งอยู่ตรงหน้าปราสาทด้านทิศเหนือเป็นรูป 4 เหลี่ยม มีอักษร 4 ด้าน กว้างประมาณ 1 ศอก หนาประมาณ 18 นิ้ว สูงจากพื้นดินประมาณ 3 ศอก ลิกลงไปในดินประมาณเท่ากัน ขณะที่ได้พบเห็นเสาศิลาเอน ได้ความว่า ประมาณ 20 มาแล้ว ฝรั่งเศสได้ให้คนมาขุดและเอาช้างฉุด เพื่อที่จะเอาศิลานี้ไป แต่หาเอาขึ้นได้ไม่ จึงยังอยู่จนทุกวันนี้ เห็นว่าเป็นของสำคัญจึงได้พยายามใช้กระดาษฟุสแก็ปก๊อปปี้ โดยจะหาเครื่องมืออย่างอื่นดีกว่านี้ไม่ได้ ได้ก๊อปปี้เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2463 ศิลาจารึกนี้ เข้าใจว่าเป็นอักษรขอม แต่ให้ผู้ที่รู้ขอมอ่านก็ไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ความว่ามีเรื่องราวอย่างใด"
เป็นจารึกที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1595 จารึกอักษร 4 ด้านด้านที่ 1 มี 60 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 77 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 84 บรรทัด ด้านที่ 4 มี 119 บรรทัด จารึกหลักนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่ 2 ในโอกาสที่ได้สร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมนี้สำเร็จ เนื้อความในจารึกนอกจากจะกล่าวสรรเสริญพระมหากษัตริย์แล้วยังเป็นหลักฐานเกี่ยวกับประวัติอารยธรรมด้านการศาสนา ที่มีกษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์คุ้มครอง โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำทางศาสนา เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับกษัตริย์ และบันทึกประวัติการสืบสายสกุลพราหมณ์ผู้เป็นประธานในการประกอบพิธีเทวราช โดยกำหนดว่าทายาทผู้สืบทอดตำแหน่งต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสกุลเดียวกัน โดยถือข้างฝ่ายสตรีเป็นสำคัญ ปฐมสกุลพราหมณ์ได้แก่ เสตงอัญศิวไกวัลย์ ในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ที่ได้ทรงโปรดให้มีการประกอบพิธีประดิษฐานเทวราชขึ้นเป็นครั้งแรกในอาณาจักรเขมรโบราณ
ปิดท้ายการนำเที่ยวปราสาทสด๊กก๊อกธมด้วยภาพมุมสวยจากสระน้ำที่ขุดเป็นตัว U ผ่าซีก ล้อมปราสาทชั้นในเอาไว้ คุณลุงบอกว่าเป็นมุมที่สวยที่สุดของการถ่ายภาพปราสาทแห่งนี้ ในช่วงหน้าฝนดอกกระดุมเงินกระดุมทองจะบานสวย ถ้ามาก่อนเที่ยงบัวก็จะบานสวยด้วย หลังจากการบูรณะครั้งใหญ่ที่ผ่านมาปราสาทแห่งนี้ก็เหมือนฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง นักท่องเที่ยวก็เริ่มแวะเวียนเข้ามาชมกันมากขึ้นๆ การเดินทางเข้ามาชมปราสาทแห่งนี้ก็จะเหมือนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชน และปราสาทก็จะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีต่อไป
ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครนายก ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลการสนับสนุนการเดินทางในทริปนี้ครับ
"แถลงข่าว \"มาฆปูรมีศรีสระแก้ว\" และงาน\"มาฆบูชาอาเซียน สานสัมพันธไมตรี ในมิติพระพุทธศาสนา\"
จ.ส.ต.สกล ทองคำ ผอ.ททท.สำนักงานนครนายกคนใหม่ออกแถลงข่าวงานแรก
ภาพ หนึ่งในไทยแลนด์เวิลด์"
Akkasid Tom Wisesklin
2017-02-04 02:42:14
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ