www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สมุทรสาคร >> อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์

อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์

 อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ ตั้งอยู่ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ณ บริเวณสถานที่ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์หัวเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือหัก สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นชาวบ้านนรสิงห์ (ปัจจุบันคืออำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง) รับราชการเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ในคราวที่คัดท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัย เมื่อเรือพระที่นั่งถึงบริเวณคลองโคกขาม คลองคดเคี้ยวมากเป็นเหตุให้หัวเรือชนกิ่งไม้ใหญ่ริมคลองโคกขาม ทำให้โขนเรือหักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลพระเจ้าเสือให้ประหารชีวิตตามกฎมณเฑียรบาล

 พระเจ้าเสือทรงจำฝืนพระทัยตามพระราชกำหนดที่วางไว้จึงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ และให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา แล้วนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยที่หักขึ้นพลีกรรมไว้บนศาล เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี ภายในอุทยานเป็นที่ตั้งของศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งต่อมากรมศิลปากรได้สร้างศาลขึ้นใหม่แทนหลังเก่าที่พังลงมา ภายในศาลมีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ เป็นที่นับถือของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

และบริเวณใกล้เคียงสามารถเยี่ยมชมหอพระ ศาลแม่ศรีนวล (ภรรยาของพันท้ายนรสิงห์) รวมทั้งไม้ตะเคียนซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นหลักประหารเก่า
 ในบริเวณอุทยานยังมีเส้นทางเดินศึกษาสภาพป่าชายเลนที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ มีซากเรือโบราณที่ขุดพบบริเวณหมู่ 6

การเดินทางจากถนนพระราม 2 บริเวณกิโลเมตรที่ 16-17 เข้าซอยข้างวัดพันท้ายไประยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม โทร. 0 3475 2847-8
http://www.tourismthailand.org/samutsongkhram

แก้ไขล่าสุด 2017-06-26 21:35:21 ผู้ชม 72755

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดศาลพันท้ายนรสิงห์

วัดศาลพันท้ายนรสิงห์ การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังศาลพันท้ายนรสิงห์ใช้เส้นทางพระราม 2 หรือทางหลวงหมายเลข 35 มุ่งหน้าสมุทรสาคร เมื่อข้ามทางยกระดับข้ามถนนกาญจนาภิเษก หรือวงแหวนอุตสาหกรรม ไปอีก 7 กิโลเมตรจะมีทางแยกซ้ายมือเรียกว่าซอยข้างวัดพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งหลายคนอาจจะสับสนว่าเป็นวัดที่ตั้งของศาลพันท้ายนรสิงห์ ความจริงแล้วชื่อวัดคล้ายกันมาก แต่วัดที่ใกล้กับที่ตั้งของศาลพันท้ายนรสิงห์นั้นชื่อวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ จากปากทางซอยข้างวัดพันท้ายนรสิงห์เข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยว แต่ก็มีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ จนสุดทางจะถึงวัดศาลพันท้ายนรสิงห์นี้ จะผ่านหน้าศาลพันท้ายนรสิงห์ก่อน แต่ผมเลือกที่จะทำบุญไหว้พระก่อนจึงมุ่งหน้ามาที่วัด ประตูหลักของวัดอยู่ด้านทิศตะวันตกเมื่อเข้ามาในวัดจึงมองเห็นอุโบสถจากทางด้านหลัง หากไม่รู้ทิศทางคงคิดว่าเป็นด้านหน้า จุดเด่นของอุโบสถคือมีรูปปั้นพันท้ายนรสิงห์อยู่ตรงประตูทางเข้า อุโบสถวัดศาลพันท้ายนรสิงห์สร้างบนฐานสูงด้านล่างกำลังก่อสร้างศาลาเอนกประสงค์ใต้ฐานอุโบสถ เมื่อเดินขึ้นบันไดไปยังอุโบสถจะมองเห็นบริเวณวัดโดยรอบ จุดเด่นหนึ่งของวัดคือพระจุฬามณีเจดีย์ ประดับด้วยกระจก สวยงามแต่ก็มองเห็นถึงความเก่าที่สร้างมานานหลายปีจนมีบางส่วนที่กระจกเริ่มหลุดออก ด้านขวามือเป็นมณฑปแก้ว จากการก่อสร้างลักษณะนี้จะทำให้พอรู้ได้ว่าท่านเจ้าอาวาสวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ต้องมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นศิษย์แห่งพระราชพรหมยานหรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุงหรือวัดจันทาราม จ.อุทัยธานี อย่างแน่นอน แต่น่าเสียดายที่วันนี้เป็นวันทอดผ้าป่าของวัดพอดี จึงมีการกางเต็นท์ขนาดใหญ่ในบริเวณวัด จึงไม่สามารถที่จะเก็บภาพความสวยงามของอาคารต่างๆ ในวัดได้อย่างทั่วถึง ก็ถือว่าเอาพอสังเขปว่ามีอะไรน่าสนใจบ้างก็แล้วกัน

ภายในอุโบสถวัดศาลพันท้ายนรสิงห์

ภายในอุโบสถวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ เมื่อเข้ามาภายในอุโบสถจากทางประตูหลังเข้ามากลางอุโบสถไหว้พระสมเด็จองค์ปฐม เป็นพระประธานในอุโบสถวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ มีพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวา จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถเน้นวิถีชีวิตและเหตุการณ์สำคัญๆ ในสมัยพระเจ้าเสือและพันท้ายนรสิงห์ มีภาพหนึ่งเป็นภาพตอนพระเจ้าเสือสั่งประหารพันท้ายนรสิงห์ ส่วนเพดานอุโบสถมีลวดลายสวยงาม เป็นภาพเดียวตลอด

ด้านหน้าอุโบสถวัดศาลพันท้ายนรสิงห์

ด้านหน้าอุโบสถวัดศาลพันท้ายนรสิงห์ ด้านหน้ามีรูปพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำวัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม อุทัยธานี แสดงให้เห็นว่าท่านเจ้าอาวาสวัดศาลพันท้ายนรสิงห์มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หากให้เดาท่านคงเป็นศิษย์และอาจารย์กันนั่นเอง

กำแพงแก้วรอบวัด

กำแพงแก้วรอบวัด เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้วัดศาลพันท้ายนรสิงห์มีความเหมือนกับวัดท่าซุงก็คือกำแพงแก้ว สร้างเป็นแบบ 2 ชั้น ชั้นบนประดิษฐานพระพุทธรูปตามช่องของกำแพง ต่างกันตรงที่วัดศาลพันท้ายนรสิงห์ใช้ชั้นล่างของกำแพงเป็นศาลาสำหรับประกอบพิธีต่างๆ กำแพงแก้วนี้อยู่ทางด้านทิศใต้ของอุโบสถ ส่วนทางทิศเหนือสร้างเป็นศาลาเทพกาญจนาชั้นเดียวสีขาวลวดลายสวยงาม

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ในวัด

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ในวัด ชั้นล่างของฐานอุโบสถวัดศาลพันท้ายนรสิงห์กำลังก่อสร้างให้เป็นศาลาที่มีลักษณะคล้ายกันกับปราสาททองคำ (กาญจนาภิเษก) ของวัดท่าซุง ท่านใดที่สนใจร่วมทำบุญก่อสร้างศาลาในครั้งนี้ก็เชิญได้ที่วัดเลยนะครับ การก่อสร้างยังไม่คืบหน้ามากนักและยังต้องการปัจจัยอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนภาพขวาเป็นยอดมณฑปแก้วของวัดที่มีลักษณะการสร้างเหมือนวัดท่าซุงอีกเช่นกัน หลังจากที่ได้ไหว้พระขอพรกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้เวลาพาไปชมศาลพันท้ายนรสิงห์กันแล้วครับ ขับรถย้อนออกมาจากวัดประมาณ 500 เมตร จะมีลานจอดรถกว้างใหญ่หน้าศาลพันท้ายนรสิงห์ที่เราผ่านเลยไปในตอนแรก

ศาลพันท้ายนรสิงห์

ศาลพันท้ายนรสิงห์ ที่เห็นอยู่ในรูปนี้เป็นศาลที่ได้สร้างขึ้นมาใหม่โดยกรมศิลปากร มีการสร้างป้ายที่ใหญ่และแข็งแรงสวยงามหน้าศาลพันท้ายนรสิงห์ เป็นภาพแรกที่ได้เห็นหลังจากที่ได้จอดรถเป็นที่เรียบร้อยแล้วเดินเข้ามา ข้างป้ายมีไก่ขนาดใหญ่ยืนอยู่ทั้ง 2 ข้าง เป็นที่ประหลาดใจสำหรับเราที่ได้มาเป็นครั้งแรก และคงจะรวมถึงทุกๆ คนที่ไม่รู้ประวัติพันท้ายนรสิงห์มาก่อนถัดจากป้ายลึกเข้าไปเป็นลานกว้างมีน้ำพุอยู่กลางลาน หน้าน้ำพุยังมีรูปปั้นไก่ประดับด้วยกระจกสีทอง 1 ตัว และสีเงินของกระจกอีก 1 ตัว

ไก่ทองไก่เงิน

ไก่ทองไก่เงิน เนื่องจากความสงสัยถึงที่มาของไก่โดยเฉพาะภาพนี้ที่มีไก่ขนาดใหญ่ประดับกระจกสวยงามทั้ง 2 ตัว จึงได้ไปถามชาวบ้านที่มาเปิดร้านที่หน้าศาลพันท้ายนรสิงห์ว่าทำไมจึงมีไก่มากมายขนาดนี้ ได้ความจากชาวบ้านเล่าว่า พันท้ายนรสิงห์ชื่นชอบกีฬาชนไก่เป็นอย่างมาก มีคนมาบนบานศาลพันท้ายนรสิงห์ก็จะถวายไก่เมื่อสิ่งที่บนไว้สำริดผล ภายนอกที่เห็นมีเพียง 2 คู่ใหญ่ๆ แต่ในศาลพันท้ายนรสิงห์มีไก่ตัวเล็กบ้างใหญ่บ้างล้อมรอบบริเวณฐาน ซึ่งเราคงได้เห็นในไม่ช้า

ไหว้ศาลพันท้ายนรสิงห์

ไหว้ศาลพันท้ายนรสิงห์ ถัดจากลานกว้างที่มีน้ำพุกับไกทองไก่เงินเข้ามา มีศาลาให้เป็นที่จุดเทียนธูปไหว้ศาลพันท้ายนรสิงห์ ธูปเทียนทองคำเปลวมีให้บริการที่นี่ เมื่อจุดเทียนธูปเสร็จแล้วก็นำทองคำเปลวไปปิดรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ที่ในศาล

ทางขึ้นศาลพันท้ายนรสิงห์

ทางขึ้นศาลพันท้ายนรสิงห์ ศาลพันท้ายนรสิงห์สร้างแบบศาลาทรงไทยจตุรมุข มีบันไดทางขึ้นลงทั้ง 4 ทิศ ด้านหน้ามีสัตว์ในวรรณคดีประดับ นอกจากจุดนี้แล้วยังมีที่จุดอื่นๆ รอบบริเวณประดับเป็นเสาไฟส่องสว่างรอบๆ ศาล นอกเหนือจากสัตว์ในวรรณคดีจะมีรูปปั้นไก่จำนวนมากเรียงรายอยู่รอบฐานรูปวงกลมของศาลพันท้ายนรสิงห์

ศาลพันท้ายนรสิงห์

ศาลพันท้ายนรสิงห์ ภาพเต็มๆ แสดงให้เห็นลักษณะของการก่อสร้างศาลาทรงไทยแบบจตุรมุขอย่างสวยงามที่กรมศิลปากรสร้างขึ้นมาใหม่ กับไก่ที่ยืนเรียงรายรอบฐานจนแทบมองไม่เห็นช่องว่างที่จะวางไก่เพิ่มเติมได้อีก

รูปปั้นไก่รอบฐานศาลพันท้ายนรสิงห์

รูปปั้นไก่รอบฐานศาลพันท้ายนรสิงห์ นี่เป็นภาพรอบๆ บริเวณส่วนฐานให้เห็นกันว่ามีไก่จำนวนมากขนาดไหน จากข้อมูลที่สอบถามมาว่ามีคนมาบนบานเมื่อสำเร็จได้อย่างประสงค์แล้วจะมีการนำไก่มาแก้บน ถ้าเป็นดังนั้นจริงคงมีคนจำนวนนับไม่ถ้วนที่มาบนแล้วสำเร็จตามที่ขอจึงได้มีไก่อยู่มากมายขนาดนี้ รูปไก่ที่นำมาแก้บนก็มีหลากหลายแบบทั้งตัวผู้แบบไก่ชนและตัวเมียก็มีเหมือนกัน แบบไก่แจ้ก็มีให้เห็นด้วย

รูปปั้นพันท้ายนรสิงห์

รูปปั้นพันท้ายนรสิงห์ เข้ามาภายในศาล มีรูปปั้นขนาดเท่าคนจริง ของพันท้ายนรสิงห์ถือคัดท้าย ยืนอยู่บนฐานยกสูงขึ้นไปอีก ทั่วทั้งรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์มีผู้คนมาปิดทองกันเป็นจำนวนมากจนมองแทบไม่เห็นช่องว่างของแผ่นทองคำเปลวบนรูปปั้น การปิดทองปิดได้เรียบเสมอกันดูงดงามมาก มีผู้คนพยายามจะขึ้นมาปิดทองตลอดทั้งวันจนภายในศาลดูขับแคบแน่นไปหมด

บ่อน้ำพุเสี่ยงโชค

บ่อน้ำพุเสี่ยงโชค ด้านข้างศาลพันท้ายนรสิงห์ มีเรือโบราณและบ่อน้ำพุเสี่ยงโชคนี้ ยอดของน้ำพุทำเป็นรูปเรือให้อธิษฐานเสี่ยงโยนเหรียญให้ลงในเรือลำเล็กๆ บนยอดของน้ำพุ ก็มีคนจำนวนมากมาเสี่ยงโยนเหรียญกันจนมีเหรียญมากมายให้เห็นที่ก้นน้ำพุ

เรือโบราณ

เรือโบราณ เป็นเรือขุดจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ มีความยาว 19.47 เมตร กว้าง 2.09 เมตร สูง 1 เมตร และกาบเรือหนา 7.5 ซ.ม. คาดว่ามีอายุกว่า 300 ปี ขุดพบที่หมู่ 6 ต.พันท้ายนรสิงห์ ในที่ดินของนายไล้-นางสมจิตร แตงถมยา ซึ่งเจ้าของเรือได้นำมาบริจาคไว้ที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ ชาวบ้านแถบนี้เชื่อว่าเรือลำนี้อาจจะเป็นเรือในขบวนเสด็จ หรืออาจจะเป็นเรือลำเลียงทหารในอดีต ปัจจุบันมีการสร้างอาคารคลุมเรือลำนี้ไว้เพื่อเก็บรักษาให้คงอยู่ในสภาพนี้ต่อไป ชาวบ้านและประชาชนที่เดินทางมาที่ศาลพันท้ายนรสิงห์จะวางเหรียญลงไปในลำเรือจนมีจำนวนมากมาย ตามความเชื่อของแต่ละคน

แม่ย่านางเรือและเรือโบราณ

แม่ย่านางเรือและเรือโบราณ ด้านหัวเรือมีการนำหุ่นแม่ย่านางเรือมาตั้งให้กราบไหว้บูชาเพราะเชื่อกันว่าเรือทุกลำจะมีแม่ย่านางประจำเพื่อปกปักรักษาผู้ที่อยู่ในเรือ โดยเฉพาะเมื่อพบเรือโบราณอายุมากๆ และสร้างจากไม้ขนาดใหญ่โดยเฉพาะไม้ตะเคียน

หลักประหารพันท้ายนรสิงห์

หลักประหารพันท้ายนรสิงห์ จากอาคารเรือโบราณจะมีทางแยกเดินมายังหลักประหารพันท้ายนรสิงห์ เป็นหลักที่เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระเจ้าเสือสั่งประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอเพื่อให้เป็นไปตามกฏมณเฑียรบาล บริเวณนี้จะมีศาลพันท้ายนรสิงห์ดั้งเดิมที่สร้างด้วยไม้เป็นศาลเล็กๆ มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ใต้ต้นโพธิ์มีศาลเพียงตาที่สร้างขึ้นเพื่อนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยที่หักขึ้นพลีกรรมไว้บนศาล เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี มีศาลแม่ศรีนวลภรรยาของพันท้ายนรสิงห์ เป็นบริเวณหนึ่งที่คนจะมากราบไหว้กันไม่ได้ขาด

หลักประหารและศาลเพียงตา

หลักประหารและศาลเพียงตา หลักประหารเก็บรักษาโดยการครอบด้วยพลาสติกใสให้เห็นภายในได้ ส่วนภาพขวาเป็นศาลเพียงตาที่เชื่อกันว่าให้อธิษฐานขอพรก่อนแล้วเดินลอดศาลนี้ 3 รอบ จะสำเร็จสมปรารถนา ในแต่ละวันจึงได้เห็นประชาชนเดินทางมาลอดศาลเพียงตาแห่งนี้จำนวนมาก บรรยากาศของสถานที่ที่มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ทำให้รู้สึกร่มรื่นกว่าบริเวณอื่นๆ ควันธูปจากประชาชนจำนวนมากที่มาจุดไว้ศาลพันท้ายนรสิงห์ตลบอบอวลไปทั่ว

หมวกทหารสมัยโบราณ

หมวกทหารสมัยโบราณ บนศาลเพียงตาซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่นำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยที่หักขึ้นพลีกรรมไว้บนศาล ปัจจุบันมีหมวกทหารเก็บรักษาด้วยพลาสติกใสครอบไว้เชื่อว่าเป็นหมวกของพันท้ายนรสิงห์

ศาลาหุ่นจำลองเหตุการณ์

ศาลาหุ่นจำลองเหตุการณ์ เป็นศาลาหลังเล็กๆ ภายในมีหุ่นที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองเหตุการณ์ในวันประหารพันท้ายนรสิงห์ อยู่ในบริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์เดิม

ด้านข้างของศาลพันท้ายนรสิงห์หลังใหม่

ด้านข้างของศาลพันท้ายนรสิงห์หลังใหม่ ให้ดูจำนวนไก่ที่นำมาวางเรียงบนฐานของศาลไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าด้านข้างด้านหลัง มีไก่อยู่เต็มไปหมดจริงๆ

บริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์

บริเวณศาลพันท้ายนรสิงห์ เดินมาทางทิศตะวันตกของศาลจะเห็นมีศาลา 2 หลัง สร้างในรูปแบบเดียวกัน หลังหนึ่งประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนอีกหลังหนึ่งแสดงวิดีทัศน์ให้ได้ศึกษาประวัติพันท้ายนรสิงห์โดยใช้ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในอดีตที่นำแสดงโดยคุณสรพงษ์ ชาตรี ให้เข้าชมได้ฟรีตลอดวัน จากนั้นเดินออกมาทางด้านหน้าจะมีสวนหย่อมจัดไว้ให้นั่งพักผ่อนตามร่มไม้อันร่มรื่นรอบๆ บริเวณและเป็นทางเดินกลับลานจอดรถ รอบๆ ลานจอดรถมีร้านค้าหลายร้านมีของกินหลายอย่างให้เลือก เครื่องดื่มก็มีมากมายเช่นเดียวกัน ของกินที่ไม่ควรพลาดก็คือหมึกย่าง พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ดที่นี่อร่อยมาก ไม้เล็กๆ ราคา 5 บาท สมกับเป็นเมืองประมง หมึกสดราคาไม่แพง

ทิวทัศน์ขากลับ

ทิวทัศน์ขากลับ ภาพวิวสวยๆ มาฝากปิดท้ายการเดินทางมายังศาลพันท้ายนรสิงห์ เป็นภาพข้างทางระหว่างเดินทางกลับ ขากลับเราออกทางวัดสหกรณ์ (ไม่ย้อนออกทางเดิม) เพราะจะได้ไปทำบุญที่วัดอื่นๆ กันต่อ ว่างๆ อย่าลืมไปชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยกันนะครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร
ชาน เล รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
แกรนด์ อินเตอร์ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ยูเฮาส์ เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านนพเก้า เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดิเอท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
พรกระจ่างเพลซ เซอร์วิส อพาร์ตเมนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเซ็นทรัลเพลส สมุทรสาคร
  20.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
Sugar Place เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
เบน เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
เบนเพลซ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร
อุทยานประวัติศาสตร์พันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนน้ำพันท้ายนรสิงห์ (Jurassic Water Park)
  0.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติบ้านโคกขาม
  6.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร
  7.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานแดง สะพานชมโลมา สมุทรสาคร
  8.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลเจ้าพ่อมัจฉานุ
  8.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชาน 'เล รีสอร์ท
  8.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
คลองโคกขาม สมุทรสาคร
  8.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดโคกขาม สมุทรสาคร
  8.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานการเรียนรู้พันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร
  9.45 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com