www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พระนครศรีอยุธยา >> วัดพนัญเชิง

วัดพนัญเชิง

 ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลคลองสวนพลู ริมแม่น้ำป่าสักทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง ห่างจากตัวเมืองราว 5 กิโลเมตร หรือเมื่อออกจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปตามถนนประมาณ 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นวัดพนัญเชิงอยู่ทางขวามือ

 วัดพนัญเชิงเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร แบบมหานิกาย เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งซึ่งครองเมืองอโยธยาเป็นผู้สร้างขึ้นตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทานนามวัดว่า "วัดพระเจ้าพระนางเชิง" หรือ "วัดพระนางเชิง"พระวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี เดิมชื่อ "พระพุทธเจ้าพนัญเชิง" (พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "พระพุทธไตรรัตนนายก" (ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโตชาวจีนนิยมเรียกว่าซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 19.13 เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก เบื้องหน้ามีตาลปัตรหรือพัดยศ และพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา

 อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เข้าใจว่าเมื่อสร้างพระองค์ใหม่เสร็จแล้วจึงสร้างพระวิหารหลวงขึ้นคลุมอีกทีหนึ่ง ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อคราวพระนครศรีอยุธยาจะเสียกรุงแก่ข้าศึกนั้น พระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง

 ภายในวัดพนัญเชิงยังจะพบ ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ก่อสร้างเป็นตึกแบบจีนเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายแบบจีน ชาวจีนเรียกว่า "จูแซเนี๊ย" เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีนทั่วไป

ข้อมูลเพิ่มเติม:ศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า โทร. 0 3532 2730-1
http://www.tourismthailand.org/ayutthaya

แก้ไขล่าสุด 2017-05-01 07:27:44 ผู้ชม 64681

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดพนัญเชิง

วัดพนัญเชิง หลังจากที่ได้ฟันฝ่ากับรถติดเป็นแถวยาวอยู่ตรงทางเข้าวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันเทศกาลหยุดยาวๆ จะมีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก บางครั้งรถติดประมาณ ครึ่งชั่วโมงกว่าจะเข้ามาในบริเวณวัดได้ จากนั้นก็ยังต้องหาที่จอดรถว่างๆ สักที่ เมื่อเข้ามาในวัดแล้วจะเห็นพระวิหารที่สูงตระหง่านกว่าอาคารหลังไหนๆ รายล้อมด้วยหลังคาของอาคารน้อยใหญ่อีกหลายหลัง วิหารนั้นก็คือพระวิหารหลวงพ่อโต หรือ พระพุทธไตรรัตนนายก

หลวงพ่อประทานพร วัดพนัญเชิง

หลวงพ่อประทานพร วัดพนัญเชิง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าหากมาขอพรสิ่งใดจะได้สมปรารถนา ประดิษฐานอยู่ในวิหาร ใกล้ๆ ประตูเข้าวัด เป็นสิ่งแรกๆ ที่เราจะได้เห็นด้วย

กำแพงแก้วรอบพระวิหารหลวงพ่อโต

กำแพงแก้วรอบพระวิหารหลวงพ่อโต จากลานจอดรถอันกว้างใหญ่ที่จอดรถได้นับร้อยคัน เดินเ้ข้ามาที่วิหารหลวงพ่อโตจะมีแนวกำแพงที่มีงานปูนปั้นสวยงามหลายรูปเรียงต่อกันไปตามแนวของกำแพง หลายคนไม่ทันสังเกตุเพราะเห็นว่าคนมากก็จะรีบเข้าวิหารแล้วรีบกลับ

เติมน้ำมันตะเกียง-ตักบาตรพระประจำวันเกิด

เติมน้ำมันตะเกียง-ตักบาตรพระประจำวันเกิด เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่งโดยการบูชาน้ำมันมาเติมลงในตะเกียงด้วยความเชื่อว่าจะทำให้เป็นการต่อชะตาเสริมมงคลแก่ชีวิตให้โชติช่วงชัชวาล

พระพุทธไตรรัตนนายก

พระพุทธไตรรัตนนายก หลวงพ่อโต พระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1867 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี เดิมชื่อ พระพุทธเจ้าพนัญเชิง (พระเจ้าพะแนงเชิง) แต่ในรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปองค์นี้ได้พระราชทานนามใหม่ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก (ชาวบ้านนิยมเรียกหลวงพ่อโตชาวจีนนิยมเรียกว่าซำปอกง ผู้คุ้มครองการเดินทางทางทะเล) เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองปางมารวิชัยลงรักปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 19.13 เมตร ฝีมือปั้นงดงามมาก เบื้องหน้ามีตาลปัตรหรือพัดยศ และพระอัครสาวกที่ทำด้วยปูนปั้นลงรักปิดทองประดิษฐานอยู่เบื้องซ้ายและขวา อาจนับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั่งสมัยอยุธยาตอนต้นที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน

บรรยากาศหน้าประตูพระวิหาร

บรรยากาศหน้าประตูพระวิหาร แต่ละครั้งที่เดินทางมายังวัดพนัญเชิงสิ่งหนึ่งที่จะได้เจอแน่ๆ ก็คือบรรยากาศการออ คนเดินทางมามากมายืนออกันที่หน้าประตูพระวิหาร บางคนจะเข้าก็เข้าไม่ได้เพราะมีคนมายืนถ่ายรูปอยู่ บางคนจะออกก็ออกไม่ได้เพราะคนเข้ายืนอยู่เต็มประตู ที่จริงควรจะเดินไปออกประตูหลังจะช่วยได้เยอะเลยครับ

ภาพขวาเป็นหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิงอีกมุมหนึ่งด้านข้างครับ

ภาพสวยๆ หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง

ภาพสวยๆ หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง หากว่าโชคดีมีจังหวะดีๆ หรือเดินทางมาสักการะกราบไหว้หลวงพ่อโตในวันธรรมดาก็อาจจะได้ภาพสวยๆ แบบนี้ติดไม้ติดมือกลับบ้านมาด้วย

การทำบุญในวิหารหลวงพ่อโต

การทำบุญในวิหารหลวงพ่อโต การไหว้หลวงพ่อโตก็จะมีการจุดธูปเทียนกันด้านนอกประตูพระวิหาร โดยแต่ละวันจะมีประชาชนเดินทางมาเนืองแน่นมากหลายคนพยายามที่จะชะเง้อเอากล้องถ่ายรูปหลวงพ่อโตหรือ พระพุทธไตรรัตนนายกแห่งวัดพนัญเชิงนี้ กลับไปเป็นที่ระลึกและความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองจนแน่นประตูพระวิหาร การทำบุญที่ประชาชนที่เดินทางมาที่วัดพนัญเชิงก็ได้แก่ การถวายผ้าจีวรห่มหลวงพ่อโต การบริจาคข้าวสาร ซึ่งทางวัดจัดเป็นโอกาส เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

การเข้าออกพระวิหาร ภาพล่างขวาเป็นภาพบรรยากาศความงดงามในพระวิหารหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง จะเห็นว่ามีคนเดินกันน้อยมากทั้งนี้เพราะเมื่อคนเข้ามาไหว้พระในพระวิหารแล้วมักจะอยากออกประตูเดิมด้านหน้าที่เข้ามา ทั้งๆ ที่ในวิหารมีทางเดินไปทะลุออกด้านหลังได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีคนยืนออกันแน่นที่ประตูหน้า คนจะเข้าก็เข้าไม่ได้คนจะออกก็ออกไม่ได้ติดกันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าหากทุกคนเข้ามาด้านหน้าแล้วเดินไปออกประตูหลังทุกอย่างก็คงจะสบายง่ายขึ้น

ห่มผ้าจีวรหลวงพ่อโต

ห่มผ้าจีวรหลวงพ่อโต เป็นความเชื่อและพิธีที่ประชาชนที่ศรัทธาหลวงพ่อโตที่เดินทางมาวัดพนัญเชิงแห่งนี้จะเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เป็นการถวายผ้าจีวรห่มองค์หลวงพ่อโตโดยมีชายผ้าด้านหนึ่งส่งลงมาให้ผู้ที่เข้าร่วมในพิธีได้ถือไว้โดยมากจะยกขึ้นเหนือศรีษะ ผมเองก็เข้าร่วมในพิธีนี้และได้เก็บภาพในขณะที่ตัวเองอยู่ใต้ผ้าจีวรนี้มาด้วย

ห่มผ้าถวายหลวงพ่อโต

ห่มผ้าถวายหลวงพ่อโต การได้ถวายผ้าห่มองค์พระพุทธรูปองค์ใหญ่นี้เพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากทำพิธีกล่าวคำถวายเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ก็จะนำเอาผ้าที่เราถือไว้ตอนกล่าวคำถวายดึงขึ้นไปห่มหลวงพ่อโต เป็นอันเสร็จพิธี

เมื่อเสร็จพิธีแล้วเจ้าหน้าที่จะเก็บผ้าลงมาเพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่อไปได้ถวายผ้าโดยการทำเหมือนกันทุกๆ รอบ ตลอดวัน วิหารหลวงพ่อโตมีขนาดใหญ่มากก็จริงแต่พื้นที่ไม่กว้างมากพอที่จะให้ประชาชนเข้าไปจำนวนมากๆ ทำให้คนแน่นวิหารไปหมด ต้องให้มีการเข้าออกเป็นรอบๆ ต่อเนื่องกันไป

การทำบุญนอกพระวิหาร

การทำบุญนอกพระวิหาร นอกเหนือจากการไหว้หลวงพ่อโตแล้ว ภายในวัดพนัญเชิงยังมีสถานที่ที่น่าสนใจให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะ ร่วมทำบุญกันอีก ได้แก่เต็นท์ที่เห็นอยู่หน้าทางเข้าวิหารด้านหน้า เป็นสถานที่ร่วมทำบุญ ไหว้พระพิฆเณศ เดินถัดเข้าไปทางริมแม่น้ำจะมีวิหารไฉ่สิ่งเอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้ากวนอู เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ฯลฯ เดี๋ยวจะพาไปชมกันแบบทั่วถึงเลยครับ

ไฉ่ สิ่ง เอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ

ไฉ่ สิ่ง เอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ หรือเจ้าพ่อเงิน ฝ่ายบู้ ประวัติความเป็นมา
เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ยที่มีการสักการบูชามีด้วยกัน 2 องค์ คือ ฝ่ายบุ๋น มีชื่เดิมว่า ปีกาน เรียกว่า “บุงไฉ่ซิงเอี้ย” และฝ่ายบู้ มีชื่อเดิมว่า เจ้ากงหมิง เรียกว่า “บูไฉ่ซิงเอี้ย” ฝ่ายบุ๋น หรือปี่กาน เป็นอัครเสนาบดีของจักพรรดิ์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซาง เป็นอัครเสนาบดีที่มีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน มักจะกราบทูลฮ่องเต้ที่กำลังลุ่มหลงในพระสนมให้ว่าราชการแผ่นดินอยู่เป็นเนือง ๆ ฝ่ายพระสนมจึงไม่ค่อยชอบในตัวอัครเสนาบดีปี่กาน ก็เลยหาวิธีกลั่นแกล้ง ทำเป็นล้มป่วย โดยสมคบคิดกับหมอหลวงในราชสำนัก ทูลฮ่องเต้เพื่อขอหัวใจของปี่กานมาทำยารักษาตน เจียงไท้กงเทพอาวุโสบนสวรรค์ล่วงรู้เหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้ให้ยาอมตะแก่อัครเสนาบดีปี่กาน ครั้นเมื่อปี่กานควักหัวใจให้สนมเอก ก็หาได้จบชีวิตอันใดไม่ กลับหมดอาลัยในชีวิตข้าราชการ เดินออกจากวังหลวงเที่ยวโปรยเงินของตนไปทั่วเพื่อแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน

ครั้นสิ้นอายุขัยก็ไปจุติเป็นเซียน เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภในฝ่ายบุ๋น และมีอาวุธวิเศษคู่กายคือ ไข่มุกวิเศษ และเงินทอง ฝ่ายบู้ หรือเจ้ากงหมิง เป็นนักพรตหน้าตาดุดัน บำเพ็ญเพียรยู่บนเขาง้อไบ้จนสำเร็จเป็นเซียน มีเสือโคร่งเป็นบริวาร ทั้งยังมีอาวุธวิเศษคู่กายหลายอย่างเช่น แส้เหล็ก ,ไข่มุกวิเศษ , เชือกล่ามมังกร เมื่อเจ้ากงหมิงรู้ว่า เจียงไท้กงเทพอาวุโสที่อยู่บนสวรรค์มีอำนาจในการแต่งตั้ง “เทพเจ้า” จึงบังคับให้แต่งตั้งตนเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เจียงไท้กงเพลี่ยงพล้ำสู้เจ้ากงหมิงไม่ได้ เลยกล่าวว่า จะมีเทพเจ้าในตำแหน่งเดียว 2 คนได้อย่างไร ถ้าเจ้ากงหมิงได้หัวใจของปี่กานมาได้ ก็จะสถาปนาให้ เจ้ากงหมิงจึงบัญฯชาให้เสือโคร่งไปควักหัวใจปี่กานมา ปรากฏว่าเมื่อเสือโคร่งกระโจนใส่ และฉีกร่างของปี่กานควานหาหัวใจแต่ไม่พบ แต่ในเวลาต่อมาเจียงไท้กงสำนึกได้ว่าตนหลอกเจ้ากงหมิงเพื่อเอาตัวรอด ดังนั้นจึงยอมสถาปนาให้เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภในฝ่ายบู้ เข้าใจว่าการสถาปนาเทพเจ้าถึง 2 องค์ในคราวเดียวกัน น่าจะมาจากความขัดแย้งขงลัทธิเต๋าต่างสำนัก เมื่อครั้งก่อนโน้น ต่อมาจึงประนีประนอมยอมความกันไป

ไฉ่ สิ่ง เอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ

ไฉ่ สิ่ง เอี๊ย เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ลักษณะความเชื่อ เทพาเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) เป็นเทพชั้นสูง ให้คุณทางด้านอำนวยโชคลาภ ความมั่งคั่ง และร่ำรวยแก่ผู้ที่บูชา โดยชาวจีนจะต้องไหว้เป็นองค์แรกของวันตรุษจีนในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะคนที่ทำธุรกิจค้าขาย ยิ่งต้องไหว้เป็นประจำทุกปี โดยในแต่ละปีเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย จะเสด็จมาในทิศทางและเวลาที่ต่างกัน ฉะนั้นจึงมีการตั้งโต๊ะทำพิธีไหว้รับเทพเจ้าแห่งโชคลาภกันโดยทั่วไป เพื่อให้ท่านมาสถิตในเคหสถานบ้านเรือน ร้านค้า เพื่อำนวยความโชคดี มั่งคั่งค้าขายเจริญรุ่งเรือง

เทพเจ้ากวนอู และ เจ้าแม่กวนอิม

เทพเจ้ากวนอู และ เจ้าแม่กวนอิม เดินจากวิหารเทพเจ้าแห่งโชคลาภอีกหน่อย ก็จะเจอศาลเจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่กวนอิม พระสังกัจจายน์
เทพเจ้ากวนอูเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ประวัติความเป็นมา
ตามหลักทางประวัติศาสตร์ในตำนาน “สามก๊ก” และจดหมายเหตุที่สำคัญในอำเภอยุ่นเฉิง มณฑลซานซี มีบันทึกไว้ว่า ในปีที่ 3 แห่งรัชกาลเอี่ยนสี่ สมัยราชวงศ์ตงฮั่น กวนอูได้ถือกำเนิด ณ. หมู่บ้านฉางผิง อำเภอยุ่นเฉิง มณฑลซานซี ซึ่งก็คือปีพุทธศักราช 703 หรือคริสตศักราช 160 ตามประวัติท่านกวนอู แซ่กวน ชื่อ “หวี่” มีสมญาว่า “ฉางเขิน” มีชื่อรองว่า “หยุ่นฉาง” เป็นชาวตำบลเจียเหลียง อำเภอยุ่นเฉิง เมืองเหอตง มีคุณลักษณะคือ เป็นชายรูปร่างสูงใหญ่สูง 6 เซียะ (ประมาณ 198 ซม.) หนวดยาว 1 เซียะครึ่ง (ประมาณ 49.5 ซม.) ใบหน้าแดงเหมือนผลพุทราสุก ริมฝีปากแดงดั่งแต้มชาด คิวเหมือนตัวหนอนไหม ตายาวดั่งนกการะเวก ลักษณะท่าทางองอาจทรงอำนาจ

ตามตำนานสามก๊กซึ่งอ้างอิงถึงประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความแตกแยกของแผ่นดินจีน โดยตามตำนานบทบาทของกวนอู เป็นผู้มีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม เป็นผู้มีคุณธรรม รอบรู้การทหาร และชอบสู้กับคนที่เก่งกว่า โดยไม่รังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า ซื่อสัตย์ และกตัญญูยิ่ง อาวุธคู่กายคือ ง้าวรูปจันทร์เสี้ยว ประดับลายมังกรยาว 11 เซียะ (ประมาณ 3 เมตร 63 ซม.) หนัก 82 ชั่ง (65.6 กิโลกรัม) ง้าวนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “ชิงหลง เยี่ยน เย เตา” หรือ “ง้าวมังกรเขียวจันทร์เสี้ยวระรื่น หรือ ง้าวนิลมังกรจันทร์ฉงาย” โดยมีม้าคู่กายชื่อ “ซิกเธา” สำหรับซิกเธา โจโฉได้มอบม้าซิกเธาให้แก่กวนอู เนื่องจากโจโฉต้องการให้กวนอู สวามิภักต่อตน จึงฆ่าลิโป้แล้วยึดเอาม้าของลิโป้มามอบให้แก่กวนอู โดยม้าซิกเธามีลักษณะเด่นคือ เป็นม้าที่มีความสง่างามมาก แข็งแรง และวิ่งเร็ว สามารถเดินทางได้ไกลถึงวันละหมื่นลี้ กวนอูมีความผูกพันต่อม้าซิกเธาเป็นอย่างมาก โดยเมื่อถึงคราวที่กวนอูถูกประหาร ม้าซิกเธาก็ล้มป่วยและตรอมใจตายในเวลาต่อมา

กวนอูได้ถูกขนานนามว่าเป็นเทพเจ้าครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ชิง หลังจากยุคสามก๊กไปแล้วพันกว่าปี โดยผู้ที่แต่งตั้งกวนอูให้เป็น “จงอี้เหยินหย่งเสินต้าตี้” ซึ่งแปลว่า “มหาเทพผู้ซื่อสัตย์ จงรักภักดี มีความเป็นธรรม มนุษสยธรรม และกล้าหาญยิ่ง” คือ พระเจ้าเฉียนหลง จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิงนั่นเอง เนื่องจากว่า จักรพรรดิเฉียนหลง ต้องการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องของความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ต่อเจ้านายให้เกิดขึ้นกับอาณาประชาราษฎร์ของตน เป็นเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง และด้วยบทบาทที่เป็นตัวเอกในฝ่ายธรรมมะ จึงทำให้กวนอู เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป และยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์สืบต่อมานั่นเอง สำหรับเทพเจ้ากวนอูของวัดพนัญเชิงวรวิหาร เรียกว่าปางชนะศึก คือหมายถึงเป็นปางที่ชนะศึกจากการรบนั่นเอง

ลักษณะความเชื่อ ด้วยบทบาทของกวนอู ซึ่งถูกยกให้เป็นตัวละครเอกในฝ่ายธรรมะ ในเรื่องของความมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ จงรักภักดี จึงทำให้มีผู้ที่ศรัทธากราบไหว้ ด้วยมีความเชื่อว่า การได้บูชาเทพเจ้ากวนอู จะทำให้ได้ประสบพบแต่ความซื่อสัตย์ มีคนจงรักภักดีต่อผู้ที่บูชา ปราศจากคนปองร้าย และเชื่อว่าจะสามารถฝ่าฟัน หรือต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตไปได้ด้วยดี คิดการวางแผนหน้าที่การงานใดๆ ก็จะประสบความสำเร็จ

เซียนหน้าศาลเจ้าพ่อกวนอู

เซียนหน้าศาลเจ้าพ่อกวนอู ด้านหน้าศาลเจ้าพ่อกวนอูยังมีรูปปั้นเซียนอีก ถัดจากจุดนี้ไปอีกไม่กี่เมตรก็เป็นตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

ตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เป็นช่องประตูขนาดไม่ใหญ่มากเข้าไปด้านใน ตรงที่มีเชิงเทียนกระถางธูปตั้งไว้ให้จุดบูชาเจ้าแม้สร้อยดอกหมากมีประชาชนมาจุดเทียนธูปกันมากมาย จนทำให้บริเวณภายในดูแคบไปเลย

ปุนเถ่าม่า ปุนเถ่ากง

ปุนเถ่าม่า ปุนเถ่ากง ภายในตึกเจ้าแม่สร้อยดอกหมากยังมีเทพเจ้าอีกมากมาย ประชาชนจะมาจุดเทียนธูปสักการะเทพเจ้ามากมายจะควันตลบอบอวนไปทั่ว

เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก ประวัติความเป็นมา แต่โบราณนานมาแล้ว มีเด็กหญิงเล็กๆคนหนึ่ง เกิดอยู่ในจั่นหมากพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงนำมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และได้ให้นามนางว่า “นางสร้อยดอกหมาก” เมื่อนางสร้อยดอกหมาก เจริญวัยขึ้น นางมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก พระเจ้ากรุงจีนทรงโปรดให้โหรทำนายว่า ในกาลภายหน้า พระนางสร้อยดอกหมากจะคู่ควรกับกษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูแล้วกล่าวว่า คู่ของนางจะเป็นกษัตริย์กรุงไทย อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นผู้มีบุญญาอภินิหารมากนัก พระเจ้ากรุงจีนได้ฟังคำโหรทำนายดังนั้น ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทางด้านกรุงไทย ขณะนั้นกำลังว่างผู้ปกครองแผ่นดินและไม่มีรัชทายาทจะสืบราชสมบัติ ต่อมาบรรดาเสนาอำมาตย์และสมณชีพราหมณ์ จึงทำพิธีเสี่ยงเรือสุวรรณหงส์เอกชัย เพื่อเสาะหาผู้มีบุญวาสนามาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเรือแล่นไปถึงยังที่แห่งหนึ่งที่ริมฝั่ง มีเด็กเลี้ยงโคกำลังเล่นกันอยู่ เรือสุวรรณหงส์เอกชัยจอดหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนอีกต่อไป แม้เหล่าฝีพายจะพยายามสักเท่าไรเรือก็ไม่เคลื่อนที่ เหล่าอำมาตย์เห็นเช่นนั้น รู้สึกอัศจรรย์ใจและเกิดสังหรณ์ใจ จึงเดินเข้าไปในกลุ่มเด็กเลี้ยงโคที่กำลังเล่นกันอยู่ พบเด็กชายคนหนึ่งท่าทางฉลาดพูดจาตอบโต้ฉาดฉาน เหล่าอำมาตย์ต่างก็คิดว่า “ชะรอยเด็กคนนี้คงเป็นผู้มีบุญ กิริยาท่าทางจึงต่างกับเด็กคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด แม้การเจรจากับเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ฉลาดหลักแหลม”

เมื่อคิดดังนั้นแล้วเหล่าอำมาตย์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญเด็กชายคนนั้น มาเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงไทยต่อไป เมื่อพระเจ้ากรุงไทยพระองค์ใหม่ได้ขึ้นปกครองแผ่นดิน ทรงปกครองบ้านเมืองเป็นปรกติสุข ครั้งหนึ่งพระองค์โปรดให้ยกขบวนพยุหยาตราไปทางชลมารคพร้อมกับเหล่าเสนาบดี เมื่อเสด็จมาถึงยังหัวแหลมวัดปากคลอง เป็นเวลาน้ำขึ้น จึงตรัสสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทรงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบันของโบสถ์จึงทรงดำริว่า “จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ด้วยเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เพื่อจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทนกำแพงแก้วนั้นเถิด” เมื่อตรัสจบน้ำผึ้งก็หยดลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งยกขึ้นไปถึงที่ทันที เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ตาของเสนาบดีน้อยใหญ่ พระเจ้ากรุงไทยจึงเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร โดยเปลื้องพระภูษาทรงสักการะพระพุทธปฏิมากร เสร็จแล้วจึงเสด็จลงเรือประทับพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิม บรรดาภิกษุสงฆ์และเหล่าเสนาบดีต่างก็พากันถวายพระพรชัยและถวายพระนามพระเจ้ากรุงไทยว่า “พระเจ้าสายน้ำผึ้ง” ครั้นถึงเวลาน้ำลง พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงมีรับสั่งให้เหล่าเสนาบดีกลับไปรักษาพระนคร ส่วนพระองค์นั้นเสด็จไปโดยเรือพระที่นั่งเอกชัยเพียงลำเดียว เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยอำนาจแห่งราชกุศลที่สร้างมาแต่ปางหลัง จึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัย จนกระทั่งลุถึงกรุงจีน ชาวจีนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงนำความขึ้นทูลว่าพระเจ้าแผ่นดินไทยองค์นี้มีบุญญาธิการมาก พระเจ้ากรุงจีนจึงรับสั่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ไปสืบดูว่าพระเจ้ากรุงไทยมีบุญญาธิการจริงหรือไม่ เสนาบดีจีนออกไปทูลเชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่อ่าวนาค ซึ่งเป็นที่ที่มีภยันตรายมาก ตกเพลาค่ำเสนาบดีจีนใช้ทหารไปสอดแนมดูว่า “เหตุการณ์ร้ายแรงอันใดจะเกิดขึ้นหรือไม่” มีแต่เสียงดุริยางค์ดนตรีเป็นที่ครึกครื้น ในคืนต่อมาเสนาบดีจึงทูลเชิญเสด็จพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่มีอันตรายมากขึ้นไปอีก เหตุการณ์ยังเหมือนคืนก่อนเมื่อพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก

จึงมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง และให้ราชาภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง เมื่อเวลาผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงจีนกลับพระนคร พระเจ้ากรุงจีนให้นำสำเภาห้าลำพร้อมด้วยเครื่องอุปโภคเป็นอันมาก เมื่อถึงปากน้ำพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อน เมื่อจัดตำหนักซ้ายขวาเสร็จก็จัดขบวนมารับพระนางสร้อยดอกหมากจากเรือ โดยพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย พระนางสร้อยดอกหมากจึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ กล่าวว่า “มาด้วยพระองค์ก็โดยยากเมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับก็จะไม่ไป” เสนาบดีนำเนื้อความไปกราบทูล พระเจ้าสายน้ำผึ้งคิดว่านางหยอกเล่นจึงกล่าวสัพยอกว่า “เมื่อมาถึงแล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด” เมื่อพระนางทราบเนื้อความจึงสำคัญว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งพูดจริง จึงน้อยพระทัยและเศร้าพระทัยยิ่งนัก ครั้นรุ่งเช้าเมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งจัดกระบวนแห่มารับ และเสด็จมาด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จขึ้นไปบนสำเภา พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่าพระองค์ พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เอาละ เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้น ด้วยความน้อยพระทัยนางจึงกลั้นพระทัยตายทันที พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงเสียพระทัยมาก โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพของพระนางขึ้นมาพระราชทานเพลิง ท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนชาวจีนและชาวไทย

จึงทรงสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระนางสร้อยดอกหมาก และได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระนางเชิญ” แต่นั้นมา ตำนานเรื่อง “เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก” จึงเป็นตำนานแห่งการสร้างวัด พนัญเชิง หรือวัดพระเจ้าแพนงเชิง หรือวัดพระนางเชิญ ก็มี วัดนี้เป็นวัดสำคัญเก่าแก่แต่โบราณของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ได้รับความเคารพนับถือของชาวไทยและจีน ทุกปีจะมีงานฉลองตามประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้ และในปี ๒๕๔๔ พระธรรมญาณมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัด และพระพิพัฒน์วราภรณ์ รองเจ้าอาวาสในสมัยนั้น (ในปัจจุบันได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชรัตนวราภรณ์ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบัน) ได้ให้มีการบูรณะศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากขึ้นใหม่จนมีความสวยงามเป็นยิ่งนักฯ

ลักษณะความเชื่อ เนื่องจากตำนานเจ้าชายสายน้ำผึ้ง และพระนางสร้อยดอกหมาก เป็นตำนานแห่งการสร้างวัดพนัญเชิง หรือพแนงเชิง ซึ่งแปลว่า “พระนางผู้มีแง่งอน” และเป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งมีประวัติกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเหนือของจีน โดยอ้างอิงถึงของไทยด้วย จึงมีผู้มาสักการะ ทั้งชาวไทยและชาวจีนรวมถึงชาวต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย ด้วยมีความเชื่อกันว่า เจ้าแม่สร้อยดอกหมากสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่กราบไหว้ได้สมปรารถนาดังที่ขอไว้ได้ทุกเรื่องทุกประการ บ้างก็มีการบนบานสานกล่าวด้วยผ้าแพร ไข่มุก เรือสำเภา หรือนำสิงโตมาเชิด เมื่อได้สมหวังดังที่ปรารถนา ก็มาแก้บนดังที่ได้บนบานสานกล่าวเอาไว้ บ้างก็มีความเชื่อในเรื่องของความรัก คู่ครอง และการขอบุตรจากเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เมื่อได้สมหวังดังที่ขอ ก็มีการบอกต่อหรือเล่าขานต่อๆ กันมา จนเป็นความเชื่อ และมีผู้ศรัทธาหลั่งไหลเข้ามากราบไหว้กันอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ จนเป็นที่รู้จักสืบต่อกันมา โดยถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีคือ เมื่อมานมัสการองค์หลวงพ่อโตในพระวิหารเสร็จ จะต้องแวะมาสักการะเจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วยนั่นเอง

ถวายธรรมทานสร้างหนังสือธรรมะกับกลุ่มอิ่มบุญ

ถวายธรรมทานสร้างหนังสือธรรมะกับกลุ่มอิ่มบุญ น้องแนทประธานในพิธีจุดเทียนธูป ที่วัดพนัญเชิง วัดแห่งแรกที่เราเลือกในโปรแกรม ทัวร์ออน-อิ่มบุญ เพื่อถวายสังฆทานและหนังสือธรรมะ ไหว้พระ 9 วัด ในพระนครศรีอยุธยา และทำการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล

ร้านอาหารในวัดพนัญเชิง

ร้านอาหารในวัดพนัญเชิง จะมีอาหารบริการโดยเปิดเป็นร้านขนาดเล็กๆ จำนวนมากเรียงกันเป็นแถว อาหารมีหลายอย่างให้เลือก ที่นิยมก็ได้แก่ก๋วยเตี๋ยวเรือ เพราะมาถึงอยุธยาแล้วก็ต้องลองเมนูขึ้นชื่อกันบ้าง ข้างร้านอาหารสร้างเป็นห้องน้ำเรียงแถวยาวตามกำแพงวัดไปเกือบถึงโรงเรียน มีหลายห้องสำหรับบริการประชาชนที่เดินทางกันมามากมายในช่วงเทศกาล

จบการนำทางชมสถานที่สำคัญในวัดพนัญเชิงไว้เท่านี้ก่อนครับ ขอบคุณข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมากจากวัดพนัญเชิง http://www.watphananchoeng.com/

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา
ริเวอร์วิว เพลส โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
อยุธยา ริเวอร์ วิว โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
11:11 Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
วรบุรี อโยธยา คอนเวนชั่น รีสอร์ท
  1.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมพร้อมสุข เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
คลองสวนพลู รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
Nutta River Home เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
อยุธยา เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
วรบุรี อยุธยา รีสอร์ต แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
สบายเฮ้าส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดพนัญเชิง พระนครศรีอยุธยา
ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก พระนครศรีอยุธยา
  0.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
ล่องเรือรอบเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา
  0.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป้อมและปราการรอบกรุง พระนครศรีอยุธยา
  0.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา
  0.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
โบราณสถานวัดนางกุย พระนครศรีอยุธยา
  1.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกล้วย พระนครศรีอยุธยา
  1.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพิชัยสงคราม พระนครศรีอยุธยา
  1.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
หมู่บ้านโปรตุเกส พระนครศรีอยุธยา
  2.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
หมู่บ้านญี่ปุ่น พระนครศรีอยุธยา
  2.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา
  2.33 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com