www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กรุงเทพมหานคร >> วัดปากน้ำ

วัดปากน้ำ

 วัดปากน้ำ ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ริมคลองหลวงหรือ คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวรารามและ กลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

   เนื่องจากวัดตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวงอีกทีหนึ่ง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า วัดปากน้ำ ซึ่งชื่อนี้มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๕๓ และ พ.ศ. ๒๔๗๔ ว่า วัดสมุทธาราม แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกันอย่างนั้น คงเรียกว่า วัดปากน้ำ มาโดยตลอด ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่ ข้างวัดด้านทิศตะวันตก วัดจึงมีลำน้ำหลักล้อมอยู่ทั้ง ๓ ด้าน ส่วนด้านใต้เป็นคลองเล็กแสดงอาณาเขตของวัดในสมัยก่อน

 วัดปากน้ำ เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ( ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๑๗๒) สถาปนาโดยพระราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัด เป็นวัดประจำหัวเมืองธนบุรี ปรากฏในตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง สถาปนาว่าเป็นพระอารามหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา อันหมายถึงพระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสีทรงสถาปนาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ได้พบร่องรอยคลองเล็กด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของวัด ที่โบราณขุดไว้เป็นแนวเขตที่ดินของวัดหลวงสมัยอยุธยา ที่ตั้งของวัดปากน้ำจึงมีลักษณะเป็นเกาะรูปสี่เหลี่ยมมีน้ำล้อมอยู่ทุกด้าน สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่อยู่คู่วัดมาเช่น หอพระไตรปิฏก ตู้พระไตรปิฎกทรงบุษบก ล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และตัวพระอุโบสถก็ใช้เทคนิคการก่อสร้างในสมัยนั้น ได้ค้นพบนามเจ้าอาวาส ๑ รูป ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) คือ พระครูธนะราชมุนี วัดปากน้ำ ได้มีบทบาทสำคัญมาแต่โบราณเพราะได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงที่อยู่นอกกรุง ศรีอยุธยา เป็นวัดสำคัญประจำหัวเมืองหน้าด่านทางทะเล

 ในจดหมายเหตุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคถวายผ้าพระกฐินหลวง ณ วัดปากน้ำ ตลอดรัชกาลวัดปากน้ำได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด คือ ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการซ่อมหลังคา พระอุโบสถคราวหนึ่ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้

 ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทางวัดได้รับพระบรมราชานุญาตให้พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำพร้อมทั้งอุบาสกและอุบาสิกาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เกือบทั้งอารามโดยให้อนุรักษ์ศิลปะเดิมไว้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์นำพระกฐินหลวงมาถวายตลอดรัชกาล

 ในสมัยรัชกาลที่ ๖ วัดปากน้ำได้ชำรุดทรุดโทรมลง ไม่มีเจ้าอาวาสประจำพระอาราม มีแต่ผู้รักษาการที่อยู่ในอารามอื่น ทางเจ้าคณะปกครองได้ส่ง พระสมุห์สด จนฺทสโร จาก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งท่านได้กวดขันพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญได้มีการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งสำนักเรียนทั้งนักธรรมและบาลี สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ทำให้พระภิกษุสามเณร และสาธุชนเข้ามาขอศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดจึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ กลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับ สมณศักดิ์สุดท้ายในพระราชทินนามที่ พระมงคลเทพมุนี แต่ผู้คนทั่วไปรู้จัก และเอ่ยขานนามท่านว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำ

 ในสมัยสมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณณสิริ) ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส วัดปากน้ำได้รับการปรับปรุงทัศนียภาพและบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ช่างได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเครื่องบนเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์เกือบทั้ง อาราม แต่ตัวรากฐานและอาคารยังคงเป็นของโบราณแต่เดิมมา

 ถึงสมัยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญโญ ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำรูปปัจจุบัน วัดปากน้ำได้พัฒนาอย่างมากในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม มีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคในนามวัดปากน้ำเป็นจำนวนมาก และการปฏิบัติภาวนาตามแนวหลวงพ่อวัดปากน้ำก็ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มี สถานที่ปฏิบัติ คือ หอเจริญวิปัสสนาเป็นเอกเทศ มีผู้เข้าปฏิบัติเป็นจำนวนมากทุกวัน และได้มีการสร้างพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ปรับปรุงทัศนียภาพในหลายๆ ด้าน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของวัดปากน้ำ

 วัดปากน้ำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐๐ ถนนรัชมงคลประสาธน์ (เดิมเลขที่ ๘ ถนนเทอดไท) แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๖๐
 มีเนื้อที่ ๒๐ ไร่เศษ โดยมีอาณาเขตดังนี้
 - ทิศเหนือ จรดคลองบางกอกใหญ่
 - ทิศตะวันออก จรดคลองด่าน
 - ทิศใต้ จรดคลองโบราณขนาดเล็กที่แบ่งเขตกับวัดอัปสรสวรรค์
 - ทิศตะวันตก ด้านเหนือจรดคลองภาษีเจริญและทางสาธารณะ
 - ทิศตะวันตก ด้านใต้ติดกับโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ และโรงเรียนสุภาคมศึกษา

 ที่มาข้อมูล เว็บไซต์วัดปากน้ำ http://www.watpaknam.org/ เรียบเรียงใหม่โดยทัวร์ออนไทยดอทคอม

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 74856

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
จุดเริ่มต้นในวัดปากน้ำ

จุดเริ่มต้นในวัดปากน้ำ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญที่มักมีคนเรียกรวมกันว่า วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ อยู่ท่ามกลางชุมชน ถนนหนทางเข้ามาในวัดมีบางช่วงค่อนข้างแคบจนรถวิ่งสวนกันไม่ได้ ต้องค่อยๆ หลบกันเข้ามา เมื่อมาถึงภายในวัด มีลานจอดรถไว้ให้ด้านในสุดของวัด แต่ไม่กว้างขวางมากนักหลายคนที่มาจะต้องขับรถวนหลายรอบกว่าจะเจอที่จอดรถ ใกล้ๆ ลานจอดรถมีป้ายชื่อวัดขนาดใหญ่ในภาพบนซ้าย และอยู่ใกล้ๆ กับศาลาสดจึงขอเริ่มต้นชมวัดปากน้ำตั้งแต่ตรงนี้เข้าไป

ศาลาสด

ศาลาสด ภายใต้พื้นที่ในศาลาการเปรียญหลังแรกของวัดเป็นอาคารทรงไทยทำด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้อง เป็นหลังคาสองซ้อน ประด้บช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ มีความชำรุดทรุดโทรมลงมากจนต้องซ่อมแซมหลายครั้ง ต่อมาพระมงคลเทพมุนี หรือ หลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงได้สร้างศาลาหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ชื่อว่า "ศาลาสด" ลักษณะขอบหรือซุ้มบานหน้าต่างมีประดับปูนปั้นสวยงามเหมือนกันทั้งหลัง เมื่อเดินเข้ามาในศาลาไม้สักหลังเก่าจะมองเห็นเสาไม้ขนาดใหญ่หลายต้นเรียงรายกัน เป็นลักษณะชั้นล่างโล่ง ชิดกับศาลาสดพอดี
แม้ว่าวัดปากน้ำจะมีพื้นที่กว้างขวางแต่ก็มีอาคารน้อยใหญ่สร้างขึ้นมากมายจนดูหนาแน่นไปหมดเพื่อรองรับจำนวนนักปฏิบัติธรรมที่ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางเข้ามาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก

ศาลาการเปรียญหลังเก่า

ศาลาการเปรียญหลังเก่า จากจุดนี้เดินเลี้ยวไปตามทางเดินหัวมุมศาลาสดจะเป็นสถานที่พำนักของนักปฏิบัติธรรม ซึ่งบุคคลภายนอกไม่ควรเข้าไป

ทางเดินด้านหลังพระอุโบสถ

ทางเดินด้านหลังพระอุโบสถ จากศาลาการเปรียญไม้สัก เราสามารถเดินเลียบข้างพระอุโบสถเข้ามายังส่วนอื่นๆ ของวัด แต่เนื่องจากเวลาที่เราเดินทางไปเป็นช่วงเย็นซึ่งทางวัดจะมีพิธีทำวัตรเย็น มีพระภิกษุสงฆ์ และนักปฏิบัติธรรมจำนวนมากในพระอุโบสถ เราจึงเลือกเดินกลับไปทางลานจอดรถแล้วอ้อมไปอีกด้านหนึ่งจนถึงทางเดินเลี้ยวเข้ามาในวัดทางด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นทางเดินไปสักการะรูปเหมือนหลวงพ่อสด พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งประดิษฐานอยู่หน้าสำนักงานประชาสัมพันธ์ของวัด เป็นที่สาธุชนเดินทางมากราบไหว้บูชา ระหว่างทางเดินประดับด้วยโคมหลายสีสวยงามตลอดทาง

พระพุทธรูปหลังพระอุโบสถ

พระพุทธรูปหลังพระอุโบสถ ระหว่างช่องประตูด้านหลังของพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับนั่งปางสมาธิ

หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎก

หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎก หอไตร หรือ หอพระไตรปิฎกของวัดปากน้ำ เป็นของโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีขนาดด้านสกัดกว้าง 4 วา ยาว 6 วา อยู่ในสระน้ำ ยาว 7 วา กว้าง 5 วา เป็นไม้จำหลักทั้งหลังเครื่องบนเป็นหลังคามุขประเจิดทั้งสองด้าน พบเอกสารการขอพระบรมราชานุญาตบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยซ่อมแบบอนุรักษ์ของเดิมไว้
นายประยูร อุชุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ได้กล่าวชมหอไตรของวัดปากน้ำไว้ใน หนังสือศิลปกรรมในบางกอกดังนี้
“...หอไตรข้างพระอุโบสถ ฝีมือช่างสมัยพระนารายณ์ ศิลปวัตถุที่ทำด้วยไม้ซึ่งมีอายุคงทนน่ามหัศจรรย์มาก ฝีมือสลักไม้รูปกระจัง ซู้มประตู หน้าต่าง หน้าบันงามวิเศษเหลือเกิน...”

เมื่อปี พ.ศ. 2529 หอไตรอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก ทางวัดมีความประสงค์จะบูรณะปฏิสังขรณ์แบบอนุรักษ์ของเดิมทุกประการ แต่เมื่อถอดหลังคาและสลักไม้ออกทีละชิ้น ปรากฏว่าไม้หมดสภาพไปเกือบหมดแล้ว จึงได้รื้อทำใหม่ทั้งหลังถอดแบบเท่าของเดิม ทำลวดลายเหมือนเดิม ฝาผนังด้านนอกลงรักปิดทองทึบทั้งหลัง ส่วนด้านในเขียนภาพ บนฝ้าเพดานทั้งด้านในและด้านนอกปิดทองทึบ เสาทุกต้นติดกระจกประดับลาย และจารึกอักษรไว้ด้านนอกทางทิศใต้ว่า
“เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก พระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530”

นอกจากนี้ที่พื้นด้านล่างใต้หอไตรมีน้ำและเต่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เหตุที่ต้องสร้างหอไตรไว้กลางน้ำเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะรักษาหอไตรและพระคัมภีร์ พระไตรปิฎก เอกสารสำคัญๆ ต่างๆ ไม่ให้ปลวกขึ้น

รูปเหมือนหลวงพ่อสด

รูปเหมือนหลวงพ่อสด สถานที่ที่ประชาชนจะเดินทางมากราบไหว้บูชาสักการะหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มีเชิงเทียน กระถางธูปไว้ให้ สำหรับรูปหล่อหลวงพ่อสดมีประชาชนมาปิดทองจนหนาทั่วไปทั้งองค์ ด้านข้างมีประตูทางเข้าสู่หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต

หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต

หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต ประชาชนสามารถเข้าสักการะสังขารหลวงพ่อสดได้ ในบางวันอาจจะมีนักปฏิบัติธรรมนั่งวิปัสนาที่หน้าหีบบรรจุสังขารของหลวงพ่อ

หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต

หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต หอสังเวชนียมงคลนิรมิต เป็นสถานที่ประดิษฐานสังขารของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ศูนย์รวมจิตใจชาววัดปากน้ำและคณะศิษยานุศิษย์
ประวัติความเป็นมา
หลังจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำมรณภาพลง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 คณะศิษยานุศิษย์ได้ประดิษฐานศพของหลวงพ่อไว้ที่ห้องโถงชั้น 3 ด้านทิศตะวันออก ของโรงเรียนพระปริยัติธรรมภาวนานุสนธิ์ เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจากงานซ่อมพระอุโบสถ และผูกพัทธสีมาใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะศิษย์อันมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต เป็นประธาน ได้ปรึกษาและตกลงใจเป็นเอกฉันท์ว่าจะต้องสร้างที่ประดิษฐานศพของหลวงพ่อขึ้นใหม่แทนที่จะตั้งไว้บนชั้น 3 ของโรงเรียนตลอดไป จึงได้สร้างตึกทรงไทยสองชั้นขึ้น ณ บริเวณซึ่งเป็นกุฎิไม้ที่หลวงพ่อเคยอยู่มาก่อน

การก่อสร้างสถานที่ประดิษฐานศพของหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นเอกเทศโดยไม่ต้องปะปนกับเสนาสนะอื่นๆ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เพราะไม่สูงชันและไม่ลำบากต่อผู้สูงอายุ สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2507
หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิรมิต ได้กลายเป็นศูนย์รวมใจของชาววัดปากน้ำ ในการประกอบบุญกุศลต่างๆ เป็นสถานที่รองรับสายธารศรัทธาของสาธุชนที่มีความเลื่อมใส ในพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ เปิดให้สาธุชนมาเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรมถวายหลวงพ่อเป็นประจำทุกวัน มีการเจริญสมาธิภาวนาทุกวันพฤหัสบดีเวลาบ่ายสองโมง ทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ซึ่งพระองค์เคยรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นเวลา 6 ปี และยังประดิษฐานรูปหล่อเหมือนของพระภาวนาโกศลเถร (ธีระ คล้อสุวรรณ) ศิษย์เอกของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ที่มีความเชี่ยวชาญในการเจริญสมถวิปัสสนาอีกรูปหนึ่ง

ศาลาสตมานุสรณ์

ศาลาสตมานุสรณ์ เมื่อสักการะสังขารหลวงพ่อสดแล้วเดินลงมา ไปตามทางเดินด้านหลังรูปหล่อหลวงพ่อ เป็นทางเดินไปยังสวนกาญจนาภิเษก จะพบศาลาสตมานุสรณ์อยู่ซ้ายมือ

ศาลาสตมานุสรณ์

ศาลาสตมานุสรณ์

ศาลาสตมานุสรณ์

ศาลาสตมานุสรณ์ ศาลาหลังนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2526 เป็นศาลาทรงไทย 2 ชั้น สร้างเป็นที่ระลึกครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2527 ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ใช้เป็นที่ประชุมกิจกรรมของคณะสงฆ์ในวัด และกิจกรรมทางการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในกาลอันสมควร

สวนกาญจนาภิเษก

สวนกาญจนาภิเษก เป็นสวนสาธารณะของวัดปากน้ำ ตั้งอยู่ริมน้ำ ด้านตะวันออกจรดคลองด่าน (ปัจจุบันเรียกคลองบางขุนเทียน) ด้านทิศเหนือจรดคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง
ในอดีตตั้งอยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันได้ตื้นเขินเป็นแผ่นดินเหลือเป็นลำคลองซึ่งใช้สัญจรทางน้ำ ด้านทิศตะวันตกจรดคลองด่าน สวนนี้มีน้ำล้อมทั้งสามด้าน เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีบ้านติดกับชายน้ำ ต่อมามีผู้มีศรัทธาซื้อถวายวันเป็นหลังๆ ซึ่งที่แต่ละแปลงมีโฉนดรวมทุกแปลงมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ปัจจัยที่นำมาซื้อก็ได้จากญาติโยมผู้มีศรัทธาโดยทั่วไป

เมื่อปี พ.ศ. 2537 ที่แปลงนี้ก็เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดปากน้ำ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีความประสงค์ที่จะเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการที่พระองค์ท่านจะครองราชย์ครบ 50 ปี

วันที่ 9 มิถุนายน 2539 จึงมีบัญชาให้ พระมหาบุญยัง ปริปุณฺโณ ในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการในการปลูกต้นไม้ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่านชอบให้วัดมีต้นไม้ และชอบที่จะทำให้เป็นสวนป่า เพราะสวนป่านั้นให้ความร่มรื่นและร่มเงา ต้นไม้ที่นำมาปลูกนั้นมีผู้มีจิตศรัทธาถวายบ้าง ที่ซื้อก็มี ส่วนหินนั้นได้มาจากวัดถ้ำพุว่า จังหวัดกาญจนบุรี

บรรยากาศในสวนกาญจนาภิเษก

บรรยากาศในสวนกาญจนาภิเษก มีศาลาริมน้ำที่กำแพงวัดแต่ไม่เปิดให้เดินขึ้นบนศาลา มีเรือสัญจรไปมา ฝั่งตรงข้ามของคลองมีบ้านเรือนปลูกริมน้ำ เป็นสวนที่ค่อนข้างเงียบสงบนอกจากเสียงของเรือที่แล่นผ่านไปมาเท่านั้น สระน้ำเล็กๆ ในสวนยังเป็นที่อาศัยของกบจำนวนมากจนน่าแปลกใจว่าทำไม่กบเหล่านี้จึงได้อาศัยอยู่ในสระเล็กๆ โดยไม่หนีไปไหน บางตัวใหญ่กว่าขนาด 2 กำมือ

พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล

พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล เป็นเจดีย์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและกำหนดให้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2555 สูงใหญ่เด่นตระหง่านแต่ไกล ภาพนี้ถ่ายจากลานจอดรถ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล เป็นสิ่งที่เราเห็นตั้งแต่แรก แต่เพื่อให้ลำดับการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นขั้นเป็นตอนในแต่ละสถานที่จึงได้นำภาพพระมหาเจดีย์มหารัชมงคลมาไว้ส่วนท้ายสุด แม้ว่าในปัจจุบัน (มิถุนายน 2554) จะยังคงมีการก่อสร้างและมีป้ายประกาศเป็นเขตก่อสร้างแต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังเดินทางมาชมความสวยงามของพระมหาเจดีย์อยู่ตลอด

นามพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ

นามพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ คำว่า พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล เป็นนามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้ตั้งขึ้น โดยได้ให้ความหมายไว้ว่า
คำว่า “มหารัช” แปลว่า “แผ่นดินที่ยิ่งใหญ่” กล่าวคือรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติพระศาสนาและประชาชนได้อย่างยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้งความหมายหนึ่งยังหมายถึงนามสมณศักดิ์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ อีกด้วย
คำว่า “มงคล” มาจากราชทินนามของ “พระมงคลเทพมุนี” สมณศักดิ์หลวงพ่อวัดปากน้ำ ผู้เทิดทูนพระพุทธศาสนา มหาปูชนียาจารย์ ผู้เผยแผ่วิชชาธรรมกาย

ประวัติความเป็นมาพระมหาเจดีย์

ประวัติความเป็นมาพระมหาเจดีย์ วัดปากน้ำสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยามากมาย ตามประวัติเคยกล่าวไว้ว่า “ภายในกำแพงแก้วพระอุโบสถมีพระเจดีย์ถึง ๒๒ องค์ รอบพระวิหารก็มีพระเจดีย์นับสิบองค์”
สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ อยู่ประมาณ ๖ ปี นับแต่หลวงพ่อวัดปากน้ำมรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ได้บันทึกไว้ว่า “..ระยะนั้นได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดปากน้ำ แต่ช่างไม่มีความชำนาญเรื่องการอนุรักษ์โบราณวัตถุและขัดสนด้วยเรื่องของปัจจัยในการดูแลรักษา อีกทั้งเจดีย์ส่วนใหญ่ก็ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงจำเป็นต้องรื้อออกเสียทั้งหมด..” หลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นนักอนุรักษ์ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม จึงบ่นเสียดายมาตราบเท่าทุกวันนี้

“พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล” สูง ๘๐ เมตร กว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เจ้าพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้เป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลา ๐๖.๐๙ น.
จากนั้นได้มีการดำเนินการก่อสร้างโดยมี ศาสตราจารย์กี ขนิษฐานันท์ เป็นสถาปนิก อาจารย์วิวัฒน์ ธรรมาภรณ์พิลาส เป็นวิศวกร พระวิเชียรกวี (พุ่ม อคฺคธมฺโม) และนายดำเกิง จินดาหรา ไวยาวัจกรวัดปากน้ำ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

วัตถุประสงค์ในการสร้างพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ นับเป็นปีอันเป็นศุภวาระมงคลของพสกนิกรชาวไทย เป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ดังนั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ จึงมีความดำริที่จะสร้างอนุสรณ์สถานเฉลิมพระเกียรติ หลังจากที่ได้พัฒนาวัดปากน้ำมาจนครบแทบทุกด้านแล้วจึงดำริที่จะสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่โดยมี วัตถุประสงค์ในการสร้างดังนี้
๑. เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และสังฆบูชา
๒. เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจพระบรมราชินีนาถ
๓. เพื่อบูชาพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ผู้เป็นมหาปูชนียาจารย์
๔. เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน เจริญศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
๕. เพือเชิดชูศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ให้เป็นสมบัติของแผ่นดินสืบไป

ต้นแบบของพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล
พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ได้รูปแบบมาจากเจดีย์ของวัดโลกโมฬี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประมาณ พ.ศ. ๒๐๗๑ สมัยพระเมืองเกษเกล้า เจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ ๑๕ ของราชวงศ์มังราย เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลม

รูปแบบพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล
พระมหาเจีย์มหารัชมงคล สถาปนิกได้ออกแบบเพิ่มฐานเป็น ๙ ชั้น และให้มีพื้นที่ใช้สอยบริเวณด้านในของส่วนฐานล่างพระเจดีย์ ๕ ชั้น ขนาดกว้าง ๕๒ เมตร รอบตัว
ชั้นที่ ๕ : ประดิษฐานเจดีย์แก้ว พระบรมสารีริกธาตุ ดวงแก้ว พระจตุรเถร หลวงพ่อทองคำ
ชั้นที่ ๔ : ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อทองคำองค์ใหญ่
ชั้นที่ ๓ : ประดิษฐานพระพุทธรูป และสิ่งของบางส่วน ถือเป็นพิพิธภัณฑ์
ชั้นที่ ๒ : สำหรับปฏิบัติธรรม
ชั้นที่ ๑ : พิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน
ความสูงจากพื้นดินถึงยอดพระมหาเจดีย์ ๘๐ เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตกแต่งด้วยวัสดุที่งดงามและคงทนถาวร

จารึกพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล

จารึกพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล

ศุภมัสดุพระพุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่วันปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นล่วงแล้วได้ ๒๕๔๗ พรรษา จ.ศ. ๑๓๖๖ ร.ศ. ๒๒๓ สัมฤทธิศก ลุถึงวันศุกร์ที่ ๒๗ สิงหาคม ตรงกับวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ เวลา ๐๙.๕๙ น. เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (นามเดิม ช่วง นามสกุล สุดประเสริฐ นามฉายา วรปุญฺโญ วิทยฐานะ ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ประธานคณะพระธรรมจาริก เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แม่กองบาลีสนามหลวง กรรมการมหาเถรสมาคม คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชนเป็นจำนวนมาก ได้ร่วมกันประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมผสมทรงกลม มีฐาน ๙ ชั้น มีรูปทรงที่แตกต่างจากเจดีย์โดยทั่วไป เป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะยุครัตนโกสินทร์กับศิลปะยุคล้านนาเข้าด้วยกัน โดยที่ตอนล่างตั้งแต่ส่วนกลางลงมาถึงฐานพระมหาเจดีย์เป็นศิลปะยุครัตนโกสินทร์ ตอนบนตั้งแต่ส่วนกลางขึ้นไปถึงยอดพระมหาเจดีย์ เป็นศิลปะยุคล้านนา ซึ่งมีต้นแบบมาจากเจดีย์วัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากฐานถึงยอด ๘๐ เมตร กว้าง ๕๐ เมตร ยาว ๕๐ เมตร ส่วนปลียอดพระมหาเจดีย์นี้หุ้มด้วยทองคำหนัก ๑๐๐ กิโลกรัม โดยมีวัตถุประสงค์แห่งการสร้าง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในมงคลวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ และเพื่อบูชาพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ

พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลนี้ สร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีสมโภชในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ใช้งบประมาณการก่อสร้าง ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (สามร้อยล้านบาท) มีเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานจัดสร้าง มีอาจารย์ตรีธา เนียมขำ แม่ชีธัญญาณี สุดเกษ ฝ่ายจัดหาทุน มีอาจารย์กี ขนิษฐานันท์ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ มีอาจารย์วิวัฒน์ ธรรมาภรณ์พิลาส เป็นวิศวกร มีพระวิเชียรกวี (พุ่ม อคฺคธมฺโม ป.ธ.๔, น.ธ.เอก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และคุณดำเกิง จินดาหรา ไวยาวัจกรวัดปากน้ำ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
สตูดิโอ อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 32 ตร.ม. – ธนบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบีรพันธ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านตลาดพลู เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเบด บาย บีเอสที เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
Real photo close to bts 110 m.by walking with pool เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
อะเฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
Apartment for long stays cheaper than rent hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 167 ตร.ม. – ธนบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
เมยอน ฮอลิเดย์ อพาร์ตเมนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
Cana Mansion เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดประดู่ฉิมพลี
  0.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร
  0.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดวรามาตยภัณฑสาราราม (วัดขุนจันทร์) กรุงเทพมหานคร
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
  3.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช กรุงเทพมหานคร
  4.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
  4.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเครือวัลย์วรวิหาร
  5.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร
  5.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชุมชนตรอกกุฎีจีน กรุงเทพ
  5.04 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com