www.touronthai.com

หน้าหลัก >> นครปฐม >> วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร

 วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม เป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จังหวัดนครปฐมได้ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัด พระปฐมเจดีย์ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2396 โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีฐานแบบโอคว่ำและมียอดปรางค์อยู่ข้างบน สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 4 เนื่องจากรูปร่างของเจดีย์แบบโอคว่ำ มีลักษณะคล้ายกับสาญจีเจดีย์ในอินเดียซึ่งสร้างสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

 การก่อสร้างเจดีย์ครอบองค์ใหม่เสร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2413 รวมเวลาก่อสร้าง 17 ปี พระเจดีย์องค์ใหม่มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม รูประฆังคว่ำแบบลังกา มีความสูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ 3 เส้น 1 คืบ 10 นิ้ว (หรือประมาณ 120.5 เมตร) ฐานวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 17 วา 3 ศอก (หรือประมาณ 233 เมตร) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้น และถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 พระปฐมเจดีย์

 เปิดตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. ค่าเข้าชมชาวต่างประเทศ 40 บาท ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดประโยชน์และรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ โทร. 0 3424 2143

 ความเชื่อและวิธีการบูชา การนมัสการพระปฐมเจดีย์ถือเป็นสิริมงคลและได้อานิงส์อย่างมาก เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ชาวนครปฐมเชื่อว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก หากใครอธิษฐานขอพรสิ่งใดก็มักจะได้รับสิ่งนั้นสมดังปรารถนาในทุกประการ

 งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) รวม 9 วัน 9 คืน

นอกจากนี้ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ดังนี้

พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ประดิษฐานในซุ้มวิหารทางทิศเหนือหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2456 แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านทิศเหนือตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร และที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ตั้งอยู่บริเวณชั้นลดด้านทิศตะวันออกตรงข้ามพระอุโบสถ ภายในเก็บวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จากสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดนครปฐมทั้งสมัยบ้านเชียง สมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูป หินบดยา ลูกประคำดินเผา กำไลข้อมือ เงินโบราณ ฯลฯ และยังเป็นที่เก็บหีบศพของย่าเหลและโต๊ะหมู่บูชาซึ่งใช้ในพิธีศพของย่าเหลซึ่งเป็นสุนัขที่รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดปรานมากและถูกคนลอบยิงตาย พระองค์ทรงเสียพระทัยมาก โปรดฯให้สร้างอนุสาวรีย์ไว้อาลัย

 พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-16.30 น. (ปิดช่วงเวลา 12.00–13.00)

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานราชบุรี 032 919176-8

แก้ไขล่าสุด 2016-05-11 12:17:01 ผู้ชม 35197

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์ ด้านหน้าขององค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธปูชนียบพิตร ไม่ได้เป็นทางเข้าที่เข้ามาในตอนแรก ทุกๆ ครั้งที่เดินทางมายังพระปฐมเจดีย์เราจะเข้าทางถนนหน้าพระ ซึ่งเป็นทางที่ตรงที่สุดจากถนนเพชรเกษมเข้าสู่พระปฐมเจดีย์ และมักจะเข้าทางทิศใต้ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร และเรียกกันว่าด้านหลังขององค์พระปฐมเจดีย์ แต่เพื่อให้ลำดับภาพได้ง่ายเราจึงขับรถรอบองค์พระปฐมเจดีย์ไปครึ่งรอบ จอดที่ลานจอดรถด้านหน้าทางทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์แล้วเดินเข้ามาเก็บภาพนี้เป็นภาพแรก
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นปูชนียสถานอันสำคัญของประเทศไทย อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีประวัติความเป็นมายาวนานในแผ่นดินสุวรรณภูมิ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมาก่ออิฐ ถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ กำแพงแก้ว 2 ชั้น เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า เป็นที่เคารพสักการบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน 12 รวม 9 วัน 9 คืน เป็น ประจำทุกปี

ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ของแผ่นดินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้ อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้น เมื่อคราวที่พระสมณทูต ในพระเจ้าอโศกมหาราช เดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิ ก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิม มีลักษณะทรงโอคว่ำ หรือทรงมะนาวผ่าซีก แบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ฯ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับความในศิลาจารึกหลักที่ 2 (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ของ พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านทรงได้แวะมาบูรณะพระธมเจดีย์องค์นี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับเมืองราด เมื่อคราวที่ท่านเสด็จกลับจากศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์ ด้วยทรงเชื่อ ว่านี่คือเจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ นั่นเอง

ในเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีบางท่าน ได้ระบุว่า พระปฐมเจดีย์ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดของสุวรรณภูมิ แต่เป็น พระมหาธาตุหลวง ในยุคทวารวดี มากกว่า เนื่องด้วยเหตุผลประกอบหลายประการ โดยเฉพาะ การค้นพบเจดีย์ ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระธมเจดีย์ และหลักฐานลายลักษณ์อักษร ที่ระบุว่า " พระเจดีย์องค์นี้ เดิม ขอมเรียก พระธม " ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวขอมจริงๆ หรือชาวลวรัฐ ซึ่งสมัยนั้นเราก็เรียกว่าขอม เช่น ขอมสบาดโขลญลำพง คำว่า ธม สำหรับชาวขอมนั้น แปลว่า ใหญ่ ตรงกับคำเมืองว่า หลวง ซึ่งเราก็เรียกพระนครธม ว่า พระนครหลวง ด้วยเหตุผลเดียวกัน

นอกจากนี้พระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และฐานพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามที่มีพระบรมราชโองการสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรม ต่อมา ในพุทธศักราช 2529 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอังคารของ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 ไปบรรจุไว้เคียงข้างพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 6 ที่ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์

http://th.wikipedia.org/wiki/พระปฐมเจดีย์
หลังจากที่ได้รู้จักกับองค์พระปฐมเจดีย์กันแล้วคราวนี้จะเข้าไปชมภายในกันครับ

ศาลาพระข้างบันได

ศาลาพระข้างบันได เดินขึ้นบันไดสู่องค์พระปฐมเจดีย์จะเห็นศาลา 2 หลังสร้างเหมือนกันทั้ง 2 ด้าน

พระสังกัจจายน์-พระอุตตระเถระ

พระสังกัจจายน์-พระอุตตระเถระ ในศาลาทั้ง 2 ข้าง ข้างซ้ายเป็นพระสังกัจจายน์มหาลาภ แกะสลักจากไม้ขนุนพราย อายุกว่า 155 ปี ประชาชนมากราบไหว้สักการะเพื่อความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า หนุนนำโชคลาภ หนุนนำยศตำแหน่ง และหนุนนำกิจการค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง
ส่วนด้านขวามือเป็นพระอุตตระเถระ มีประวัติดังนี้ ในการทำสังคายนาครั้งที่ 3 พ.ศ. 235 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมป์ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน ที่วัดอโศการาม กรุงปาตลีบุตร ได้จัดส่งพระภิกษุปัญจวัคคี ๙ คณะๆ ละ ๕ รูป เพื่อเป็นพระสมณทูต นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานยังเมืองต่างๆ พระอุตตระเถระ เป็นหัวหน้าพระสมณทูตนำพระพุทธศาสนา มาประกาศในดินแดนสุวรรณภูมิ เดือน 12 พ.ศ.235

พระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระร่วงโรจนฤทธิ์ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะนมัสการเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

พระร่วงโรจนฤทธิ์

พระร่วงโรจนฤทธิ์ ปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระยุพราช เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทอดพระเนตร พระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย (จังหวัดสุโขทัย) กอปรด้วยพระลักษณะงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมากเหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์และพระบาท จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานครฯ

พระร่วงโรจนฤทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของ พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วไป ชื่อเต็มก็คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 แต่ประชาชนทั่วไป จะเรียกว่า หลวงพ่อพระร่วง หรือ พระร่วงโรจนฤทธิ์

พระร่วงโรจนฤทธิ์ มีขนาดความสูงวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร หรือราว 12 ศอก 4 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะแบบสุโขทัย ประทับยืนอยู่บนฐาน โลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยมนิ้วพระหัตถ์ และพระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นออกไปข้างหน้าระดับพระอุระ เป็นกิริยาห้าม มีพระอุทรพลุ้ยออกมา ห่มจีวรบางคลุม แนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ทำด้วยโลหะทองเหลือง หนัก 100 หาบ

การอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457 จำเป็นต้องแยกชิ้นมาและมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐมแล้วเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตแล้วตามความในพระราชพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่าให้ บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ใต้ฐานพระร่วงฯ ที่องค์พระปฐมเจดีย์ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469 จึงได้ทำพิธีบรรจุ พระบรมราชสรีรังคาร ณ ใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร ตาม พระประสงค์ทุกประการ

ประชาชนสามารถสักการะพระอังคารของรัชกาลที่ ๖ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในวิหารด้านในหลังองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์ นอกจากนี้ภายในยังมีพระพุทธรูปปางประสูติ พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ อีกด้วย

หอระฆังพระปฐมเจดีย์

หอระฆังพระปฐมเจดีย์ รอบองค์พระปฐมเจดีย์ด้านนอกพระระเบียงคด มีหอระฆังสีขาวตั้งอยู่ตามแนววงกลมตามพระระเบียงคด มองจากด้านบนเหมือนตัวเลขบนหน้าปัดนาฬิกา มีทั้งหมด 24 จุดด้วยกัน

ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง

ศาลเจ้าพ่อปราสาททอง มีลักษณะคล้ายถ้ำ อยู่บริเวณรอบนอกของพระระเบียงคด

พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์

พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นอาคารที่อยู่ลดชั้นลงมาจากลานประทักษินรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ด้านทิศตะวันออก

บานหน้าต่างพระอุโบสถ

บานหน้าต่างพระอุโบสถ ลายรดน้ำปิดทอง ซุ้มเหนือบานหน้าต่างรูปหงส์หันหน้าเข้าหากัน

พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์

พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ เป็นอาคารที่มีความสูงมากเมื่อเทียบกับวิหารทิศด้านอื่นๆ และมีความยาวมากกว่า

องค์พระปฐมเจดีย์

องค์พระปฐมเจดีย์ พระระเบียงคดรอบองค์เจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ กันมากกว่า 100 องค์ควรค่าแก่การศึกษา แต่ในวันที่ไปเก็บภาพมานั้นมีการบูรณะทำสีใหม่รอบพระระเบียงคด ช่างทาสีจึงได้คลุมพระพุทธรูปด้วยพลาสติกใสทั้งหมด โอกาสหน้าคงได้ไปเก็บภาพเพิ่มเติมมาให้ได้ชมกันครับ

ถ้ำลับแลและถ้ำตะเคียนทอง

ถ้ำลับแลและถ้ำตะเคียนทอง มีตะเคียนพี่-ตะเคียนน้อง ตะเคียนพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แม่พระธรณี พระแก้ว พระกาญ อยู่ภายในถ้ำ

พระปฐมเจดีย์จำลองจากองค์เดิม

พระปฐมเจดีย์จำลองจากองค์เดิม อยู่รอบๆ บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ลดชั้นลงไป ใกล้ๆ กับองค์ปฐมเจดีย์จำลองจากองค์เดิม มีพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชจำลองด้วย

วิหารทิศด้านทิศใต้

วิหารทิศด้านทิศใต้ มีภาพจิตรกรรมประวัติศาสตร์องค์พระปฐมเจดีย์ 3 สมัย รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 ประวัติการสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ ให้ศึกษาอยู่ภายในวิหารแต่ห้ามถ่ายรูป ด้านหน้ามีพระบรมรูปอยู่ตรงกลางระหว่างช่องประตูทางเข้าทั้ง 2

พระพุทธนรเชษฐ์

พระพุทธนรเชษฐ์ มีพระนามเต็มว่า พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร

เป็นพระพุทธรูปที่มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างซับซ้อน เรื่องราวเริ่มขึ้นจากเมื่อกรมศิลปากรทำการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดทุ่งพระเมรุหรือวัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐมเมื่อปลายปี ๒๔๘๑ ถึงปี ๒๔๘๒ ได้พบสถูปสมัยทวารวดีองค์ใหญ่มีร่องรอยว่ามีมุขประจำ ๔ ทิศและในแต่ละมุขทิศเคยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งห้อยพระบาทประจำอยู่

เมื่อสืบความดูก็ทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการขุดพบพระพุทธรูปที่ว่านี้แล้วองค์หนึ่งได้อัญเชิญไปเป็นประธานที่วัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ก็ได้พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปแบบเดียวกันอีกจำนวนหนึ่ง จึงมีการรวบรวมไปเก็บรักษาไว้ที่พระระเบียงคดด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งก็ยังไม่ครบจำนวนสี่องค์ที่ควรจะปรากฏ ถึงปี ๒๕๐๑ กรมศิลปากรจึงติดตามพบว่าพระพุทธรูปองค์หนึ่งถูกเชิญไปไว้ยังวัดพระยากง ตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพบชิ้นส่วนองค์พระอีกจำนวนหนึ่งจากวัดขุนพรหม ตำบลเดียวกันรวมทั้งพบเศียรพระที่ร้านค้าของเก่าอีก ๒ ร้าน

หลังจากรวบรวมพระพุทธรูปและชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั้งหมดมาแล้วจึงนำมา ประกอบกันขึ้นได้เป็นพระพุทธรูปศิลาขาว ๓ องค์ เชิญไปไว้ยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ๑ องค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ๑ องค์และที่บริเวณลานชั้นลดด้านทิศใต้ พระปฐมเจดีย์อีก ๑ องค์ ซึ่งได้รับขนานนามโดยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๑๐) ว่าพระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร

พุทธลักษณะ ศิลปะทวารวดี ปางแสดงปฐมเทศนา ประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวายกจีบเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายวางแตะพระชานุ ขนาดสูง ๑๔๘ นิ้ว หรือ ๓.๗๖ เมตร วัสดุ ศิลาขาว

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร นครปฐม
กมลธารา อพาร์ทเม้นท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเซน นครปฐม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไมด้า ทวารวดีแกรนด์ นครปฐม
  2.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
ราชพฤกษ์ พาวิเลียน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะพราว เอ็กซ์คลูซีฟ โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
พอช 39 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมไมด้า ทวารวดี แกรนด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านจำปา เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านจันทรา เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเทรนดี้ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.21 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com